ความคิดเชิงไสยศาสตร์
ความคิดเชิงไสยศาสตร์ (อังกฤษ: Magical thinking) หรือ ความคิดเชิงเวทมนตร์ เป็นการยกการกระทำหนึ่ง ๆ ว่าเป็นเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่สมเหตุผลและไม่สมกับสิ่งที่สังเกตได้ มีตัวอย่างในความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อพื้นบ้าน และความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งมักอ้างว่าข้อวัตร การสวดมนต์หรือการสวดอ้อนวอน การบูชายัญ หรือการเว้นจากสิ่งต้องห้าม สัมพันธ์กับประโยชน์หรืออานิสงส์ที่จะได้จากการกระทำเช่นนั้น
ในจิตวิทยา ความคิดเชิงไสยศาสตร์อาจทำให้บุคคลกลัวที่จะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกลัวที่จะคิดอะไรบางอย่าง เพราะเชื่อว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้นเนื่องกับการกระทำหรือการคิดนั้น อนึ่ง ความคิดเชิงไสยศาสตร์อาจทำให้บุคคลเชื่อว่า เพียงแค่ความคิดเท่านั้นก่อผลต่าง ๆ ในโลกได้[1] นี้เป็นวิธีการคิดหาเหตุ (causal reasoning) แบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลวิบัติโดยเหตุ (causal fallacy) ที่บุคคลพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์สองอย่างที่เกิดขึ้นต่อ ๆ กันหรือพร้อมกัน คือระหว่างการกระทำกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ไม่ได้เป็นเหตุผลกับกันและกันจริง ๆ
ในจิตเวช ความคิดเชิงไสยศาสตร์เป็นความผิดปกติทางความคิดด้านเรื่องที่คิด (content) เป็นความเชื่อผิด ๆ ว่า ความคิด การกระทำ หรือคำพูดของตนเป็นเหตุหรือเป็นตัวป้องกันผลอะไรบางอย่างโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ไม่เข้ากับเหตุผลทางธรรมชาติซึ่งเข้าใจกันอย่างสามัญแล้ว
ส่วนความคิดเชิงไสยศาสตร์เสมือน (Quasi-magical thinking) หมายถึง "กรณีที่เรามีพฤติกรรมเหมือนกับเชื่อผิด ๆ ว่า การกระทำของตนมีอิทธิพลต่อผลที่เกิดขึ้น แม้ว่าจริง ๆ แล้ว ตนจะไม่ได้เชื่ออย่างนั้น"[2]
Associative thinking
[แก้]![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
นักวิชาการชาวตะวันตกสมัยวิกตอเรียกำหนด "associative thinking" (ความคิดเชื่อมโยง) ว่าเป็นรูปแบบเฉพาะอย่างหนึ่งของความคิดไร้เหตุผล (ซึ่งมักจะเห็นได้ในกลุ่มนักไสยศาสตร์) แต่ว่า ก็เหมือนกับรูปแบบต่าง ๆ ของความคิดเชิงไสยศาสตร์ทั้งหมด การหาเหตุผลโดยความเชื่อมโยงหรือโดยความเหมือน ไม่ใช่เรื่องที่มีเฉพาะกับนักไสยศาสตร์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การแพทย์โบราณของชาวตะวันตกมีหลักอย่างหนึ่ง (doctrine of signatures) ที่เชื่อว่า ส่วนของพืชที่มีรูปร่างคล้ายกับอวัยวะในร่างกาย จะสามารถใช้รักษาโรคในอวัยวะนั้นได้ ความคิดเชื่อมโยงเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการประยุกต์ใช้ representativeness heuristic (ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน) ของมนุษย์[3]
นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษเอ็ดวาร์ด ไทเลอร์บัญญัติคำว่า "associative thinking" (ความคิดเชื่อมโยง)[4] ว่าเป็น ความเขลาของผู้ทรงไสย (magician's folly) ในการถือเอาผิด ๆ ว่า ความเชื่อมโยงที่จินตนาการเอาเป็นเรื่องจริง คือ ผู้ทรงไสยคิดว่า วัตถุ/สิ่งของ/เหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน สามารถมีอิทธิพลต่อกันและกันได้[5] ยกตัวอย่างเช่น คนอะซานด์ (Azande) ในแอฟริกากลางเหนือ[6] จะถูฟันจระเข้ที่ต้นกล้วยเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เพราะว่า ฟันจระเข้มีรูปร่างโค้งคล้ายลูกกล้วย และจะงอกใหม่ถ้าหลุดออก คนอะซานด์เห็นความคล้ายคลึงกันเช่นนี้ และต้องการที่จะสร้างความงอกใหม่ได้ให้กับต้นกล้วย จึงพยายามที่จะถ่ายทอดลักษณะฟันจระเข้ให้กับต้นกล้วย
ต่อมาชาวสก็อตเจมส์ เฟรเซอร์ ที่นับถือกันว่าเป็นบิดาของสาขามานุษยวิทยาปัจจุบันได้ต่อยอดหลักนี้ โดยแบ่งเวทมนตร์ (ไสยศาสตร์) ออกเป็นแบบ contagious (แบบติด) และแบบ sympathetic แบบติดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสัมผัสกัน คือ สิ่งที่เคยติดกันจะยังมีความเชื่อมโยงต่อกันและกันแม้ว่าจะแยกจากกันแล้ว เช่น การทำร้ายผู้อื่นโดยทำการต่อผมที่หลุดออกมาแล้วของคนนั้น ส่วนไสยศาสตร์แบบ Sympathetic และการแพทย์ทางเลือกแบบ homeopathy ทำงานโดยหลักที่อ้างว่า "สิ่งที่เหมือนกันจะมีอิทธิพลต่อสิ่งที่เหมือนกัน" หรือว่า เราสามารถถ่ายทอดลักษณะของวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่งที่คล้ายกันได้ เฟรเซอร์เชื่อว่า บุคคลเหล่านี้คิดว่า โลกทั้งหมดทำงานโดยอาศัยหลักการซึ่งล้อเลียนกันแบบนี้[7]
ในปี ค.ศ. 1925 นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส (Lucien Lévy-Bruhl) กล่าวว่า ชาวพื้นเมืองหรือคนดั้งเดิมที่มีวัฒนธรรมง่าย ๆ มี "ความคิดที่ไม่มีการแยกแยะละเอียดพอที่จะสามารถพิจารณาไอเดียหรือวัตถุสิ่งของว่า เป็นคนละส่วนกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุเกิดของไอเดียนั้น หรือเป็นผลเกิดสืบเนื่องจากไอเดียนั้น"[8] แล้วอธิบายว่า ชาวพื้นเมืองมีเหตุผลวิบัติโดย Post hoc ergo propter hoc ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราสังเกตเหตุว่าเหตุการณ์ "ข" เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ "ก" แล้วสรุปอาศัยความสืบเนื่องเช่นนี้อย่างเดียวว่า "ก" เป็นเหตุของ "ข"[9] นักปราชญ์ท่านนี้เชื่อว่า เหตุผลวิบัติเช่นนี้เป็นหลักสำคัญในวัฒนธรรมคนพื้นบ้าน และเกิดขึ้นเป็นปกติและบ่อย ๆ
แม้ว่าจะมีมุมมองเช่นนี้ว่า ความคิดเชิงไสยศาสตร์ไม่ประกอบด้วยเหตุผลและเป็นการหาเหตุผลที่ไม่ดี ในปี ค.ศ. 1966 นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสเสนอว่า วิธีการทางไสยศาตร์บางอย่างมีอิทธิผลโดยเปรียบเทียบในการควบคุมสิ่งแวดล้อม มุมมองเช่นนี้ได้นำไปสู่ทฤษฎีทางเลือกอื่น ๆ ที่อธิบายความคิดทางไสยศาสตร์ โดยเป็นกระบวนการทางสัญลักษณ์ หรือกระบวนการทางจิตวิทยา ซึ่งลดความแตกต่างกันระหว่างกระบวนการความคิดของ "คนมีการศึกษา" และ "คนวัฒนธรรมง่าย ๆ" ดังที่นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน (Richard A. Shweder) กล่าวไว้ในปี ค.ศ. 1977 ว่า "กระบวนการทางสติปัญญาทั่วไปของเราไม่ได้มีความคิดเชิงไสยศาสตร์น้อยไปกว่าวิธีการรักษาของชาวอะซานด์"[10][n 1]
รูปแบบอื่น ๆ
[แก้]ในปี ค.ศ. 1954 นักมานุษยวิทยาชาวโปแลนด์มัลลินาฟสกี้ กล่าวถึงความคิดเชิงไสยศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ที่เชื่อว่าคำและเสียงของคำ สามารถที่จะทำให้เกิดผลในโลกโดยตรง[11] ความเชื่อว่าสิ่งที่ตนหวังจะสำเร็จโดยประการเช่นนี้ อาจมีผลเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นกลัวว่าพูดถึงความเจ็บป่วย แล้วจะทำให้เกิดความเจ็บป่วย) เป็นการใช้คำเกลื่อนเพื่อจะหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อหรือคำใดคำหนึ่งโดยตรง หรือความเชื่อว่า การรู้ "ชื่อจริง" จะทำให้เกิดอำนาจเหนือสิ่งนั้น หรือว่า การสวดมนต์หรือการใช้คำอาคม จะมีผลในโลกจริง ๆ และโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว จะเป็นความคิดเชิงไสยศาสตร์ถ้าเราถือเอาสัญลักษณ์ (เช่นชื่อ เสียง สิ่งของที่เป็นตัวแทน เป็นต้น) ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนกับเป็นสิ่งนั้นจริง ๆ
ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เชื่อว่า ความคิดเชิงไสยศาสตร์เกิดจากองค์ประกอบบางอย่างทางประชานในวัยพัฒนาการ เขากล่าวว่า นักไสยศาสตร์มองเห็นสภาวะจิตใจของตนส่งไปปรากฏในโลกภายนอก คล้ายกับช่วง ๆ หนึ่งในวัยพัฒนาการของเด็ก[12] คือ ในช่วงที่เริ่มเดินได้จนถึงวัยไปโรงเรียน เด็ก ๆ มักจะเชื่อมโยงโลกภายนอกกับสภาวะจิตใจของตน เช่น "ฝนกำลังตกเพราะฉันรู้สึกเศร้าใจ"
คำอธิบาย
[แก้]ใช้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
[แก้]แนวทางทฤษฎีเกี่ยวกับความคิดเชิงไสยศาสตร์อีกอย่างหนึ่งเป็นแนวคิดทางสัญลักษณ์ นักวิชาการที่มีแนวคิดนี้เชื่อว่า ไสยศาสตร์มีไว้เพื่อใช้แสดงออก ไม่ได้ใช้ทำให้เกิดผล เป็นการใช้สิ่งที่คล้ายกันอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะแสดงออกว่าต้องการจะให้อะไรเกิดขึ้น คล้ายกับการใช้คำอุปมา[13]
คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในการตีความเช่นนี้ก็คือว่า แล้วสัญลักษณ์เพียงเท่านั้นจะทำให้เกิดผลทางกายภาพได้อย่างไร คำตอบที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งอาจจะมาจากไอเดียเกี่ยวกับ performativity ที่การกล่าวอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งทำสิ่งนั้นให้เป็นจริง เช่นพิธีการสาบานรับตำแหน่ง หรือพิธีการแต่งงาน (ของชาวตะวันตก)[14] ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ อีกที่เสนอว่า ไสยศาสตร์ทำให้เกิดผลในโลกจริง ๆ ได้เพราะว่า สัญลักษณ์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาวะร่างกาย-จิตใจ (psycho-physical states) ได้ และอ้างว่า เพียงแค่การแสดงออกถึงความวิตกกังวล หรือความต้องการ จะทำให้เกิดผลที่แก้หรือทำคืนสภาวะเหล่านั้น[15]
เป็นกระบวนการทำงานของจิต
[แก้]
ส่วนนักวิชาการท่านอื่นเชื่อว่า ไสยศาสตร์มีผลทางจิตใจจริง ๆ โดยอ้างถึงปรากฏการณ์ยาหลอกและโรคโซมาโตฟอร์มเป็นต้น ว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความมีอำนาจของจิตใจเหนือสภาวะทางร่างกาย[16] นักวิชาการท่านอื่นเสนอว่า การใช้พิธีทางไสยศาสตร์ในการรักษาอาจจะช่วยปดเปลื้องความวิตกกังวล ซึ่งอาจจะมีผลดีทางกายอย่างมีนัยสำคัญ ในสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีวิธีการรักษาพยาบาลที่ได้ผลทางกายภาพจริง ๆ ผลที่ว่านี้อาจจะมีบทบาทสำคัญ ซึ่งสามารถช่วยอธิบายความยั่งยืนและความนิยมของวิธีรักษาแบบนี้[17][18]
ตามทฤษฎีปลดเปลื้องและควบคุมความวิตกกังวล มนุษย์จะเข้าไปพึ่งความเชื่อทางไสยศาสตร์ เมื่อมีความรู้สึกไม่มั่นใจ เมื่อมีภัยที่อาจเกิดขึ้น และเมื่อไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้ ไสยศาสตร์จะช่วยสร้างความรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ มีผลงานวิจัยที่สนับสนับสนุนทฤษฎีนี้ว่า จะมีพฤติกรรมทางไสยศาสตร์บ่อยครั้งในเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความตึงเครียด โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มบุคคลผู้มีความต้องการที่จะควบคุมเหตุการณ์ในระดับสูง[19][20]
แต่ว่า ก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกว่า ทำไมพิธีกรรมทางไสยศาสตร์จึงยังสามารถดำรงอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน เช่น เมื่อเกิดความคิดที่ทำให้รู้สึกว่าตนไม่ปลอดภัย พิธีกรรมที่ทำให้ถูกต้อง เป็นขั้นเป็นตอนนั้นแหละจะสามารถช่วยลดความความคิดที่ทำให้เกิดความกังวลนั้นได้[21] การกระทำซ้ำ ๆ ของคนไข้โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) อาจใช้เป็นแบบจำลองทางคลินิกของความคิดเชิงไสยศาสตร์ได้ มีนักวิชาการที่เสนอว่า คนไข้โรคย้ำคิดย้ำทำลดความสำคัญของจุดมุ่งหมายในการกระทำลง โดยย้ายความสนใจไปที่การกระทำในระดับอิริยาบถที่เล็กน้อยที่สุดที่มีความเป็นไปไม่สมกับจุดมุ่งหมาย ยกตัวอย่างเช่น การทำความสะอาดแบบย้ำคิดย้ำทำ อาจจะไปมุ่งมั่นในลำดับ ทิศทาง และจำนวนการเช็ด เพื่อที่จะทำความสะอาด คือ จุดมุ่งหมายกลายเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการกระทำที่ใช้เพื่อให้ถึงจุดมุ่งหมาย ซึ่งก็จะอธิบายได้ว่า ทำไมบุคคลจึงยังคงใช้พิธีการทางไสยศาสตร์แม้จะไม่มีประสิทธิผล คือเพราะว่า จุดมุ่งหมายกลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญไปแล้ว[21]
เป็นประสบการณ์ตามอัตวิสัยหรือเป็นนิสัย
[แก้]มีนักวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจความคิดทางไสยศาสตร์จากมุมมองที่เป็นอัตวิสัย โดยการศึกษาทางประสบการณ์และทางปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) มีท่านหนึ่งเสนอว่า นักไสยศาสตร์มีความรู้สึกที่นักวิจัยเรียกว่า "magical consciousness" (จิตทรงมนต์) หรือ "magical experience" (ประสบการณ์ทรงมนต์) ซึ่งเกิดจาก "ความรู้ความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงกันของสิ่งทั้งปวงในโลก ผ่านความรู้สึกทางประสาทสัมผัสที่ไม่ซับซ้อนแต่ว่าละเอียดอ่อน"[22]
ส่วนแบบจำลองทางปรากฏการณ์วิทยาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ "การทำตามนิสัยไม่ใช่ความคิด" (habit is unthinking) นักวิชาการคนหนึ่งเชื่อว่า ผู้เล่นไสยศาสตร์ไม่ได้พยายามที่จะคิดถึงคำอธิบายการกระทำของตน มากไปกว่าบุคคลธรรมดา ๆ จะพยายามทำความเข้าใจถึงการทำงานของยาแก้ปวดที่ตนเองทาน[23] คือ เมื่อบุคคลทั่วไปทานยาแก้ปวด บุคคลนั้นจะไม่รู้ว่ายานั้นมีปฏิกิริยาทางเคมีอย่างไร แต่จะทานโดยถือเอาว่า การทานยานั้นจะมีผล และโดยคล้าย ๆ กัน ผู้เล่นไสยศาสตร์เป็นจำนวนมาก จะไม่รู้สึกว่ามีความจำเป็นเพื่อที่จะเข้าใจคำอธิบายในเรื่องนั้น ๆ
เป็นการอธิบายธรรมชาติที่แตกต่างกัน
[แก้]มีนักวิชาการที่เสนอว่า วัฒนธรรมที่เน้นความคิดทางวิทยาศาสตร์และที่เน้นความคิดทางไสยศาสตร์ แตกต่างกันโดยการใช้คำอธิบายที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในโลก คือจริง ๆ แล้ว วัฒนธรรมทั้งสองจะมีการใช้สามัญสำนึกเหมือนกันในการตั้งทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ว่า จะมีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือทางไสยศาสตร์เพื่อตรวจสอบเหตุผลของทฤษฎี ในวัฒนธรรมที่ใช้วิทยาศาสตร์ เราจะหันหน้าไปพึ่งผู้ชำนาญทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนั้น ๆ ส่วนในวัฒนธรรมที่ใช้ความคิดทางไสยศาสตร์ เราก็จะหันหน้าไปพึ่งนักไสยศาสตร์ในทำนองเดียวกัน นักวิชาการท่านนี้เสนอว่า วัฒนธรรมทั้งสองมีการใช้ตรรกะและสามัญสำนึกที่เหมือนกัน แต่มีวิธีการตรวจสอบว่าอะไรเป็นจริงอะไรไม่เป็นจริงที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะทำให้วัฒนธรรมทั้งสองต่างมองกันและกันว่า มีความคิดที่ไม่สมเหตุผล นักวิชาการอธิบายว่า "หลักการของคนทั่วไปที่ยอมรับแบบจำลอง (ของความจริงตามธรรมชาติ) จากนักวิทยาศาสตร์ บ่อยครั้งไม่แตกต่างจากเด็กชาวแอฟริกายอมรับแบบจำลองจากผู้ใหญ่"[24]
โดยคล้าย ๆ กัน นักวิชาการอีกท่านหนึ่งพบว่า คนเผ่า Aguaruna ในประเทศเปรูมองไสยศาสตร์ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นอะไรที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติกว่าเครื่องมืออย่างอื่น ๆ เขาพบว่า คนเผ่านี้ใช้ไสยศาสตร์คล้ายวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น พวกเขาจะโยนทิ้งก้อนหินที่ถือว่าขลัง หลังจากสังเกตว่าไม่ได้ให้อิทธิผลตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ความคิดทางไสยศาสตร์อาจจะเป็นวิธีการอธิบายที่แตกต่างกันเท่านั้น[25]
ทฤษฎีเหล่านี้ มักจะทำไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และความเชื่อทางศาสนา ให้กลายเป็นสิ่งที่มีกำหนดขอบเขตคลุมเครือ โดยยืนยันว่า มีความคล้ายคลึงกันระหว่างวิธีการปฏิบัติทางไสยศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางความเชื่อศาสนา[26]
ความแตกต่างจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
[แก้]ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ก็คือ วิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาปฏิบัติแบบเปิด และไสยศาสตร์เป็นการศึกษาปฏิบัติแบบปิด นักวิชาการท่านหนึ่งเสนอว่า ทัศนคติเกี่ยวกับโลกทางวิทยาศาสตร์ต่างจากทัศนคติทางไสยศาสตร์ โดยระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์และโดยความเป็นวิมตินิยม (skepticism) คือคำอธิบายธรรมชาติจะเรียกว่าเป็นสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นเปิดต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เขาให้ข้อสังเกตว่า ในชุมชนที่เชื่อมั่นทางไสยศาสตร์ "ไม่มีการรับรู้ผ่านการพัฒนาถึง(ทฤษฎี)ทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือไปจากทฤษฎีจากแหล่งความรู้ที่มีอยู่แล้ว"[27] เพราะว่า ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นในสังคมที่ตั้งมั่นอยู่ในความคิดทางไสยศาสตร์ ดังนั้น ทฤษฎีทางไสยศาสตร์จึงไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบได้อย่างเป็นกลาง ๆ ว่าเป็นจริงหรือไม่ เปรียบเทียบกับคำอธิบายธรรมชาติทางวิทยาศาสตร์ซึ่งในเรื่องบางเรื่อง อาจจะมีคำอธิบายหลายอย่างที่เสนอใช้ไปพร้อม ๆ กัน จึงต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่า คำอธิบายไหนถูกต้องกว่า
ในเด็ก
[แก้]ความคิดเชิงไสยศาสตร์จะปรากฏโดยมากในเด็ก ๆ อายุระหว่าง 2-7 ขวบ ในช่วงวัยนี้ เด็กจะมีความเชื่อที่มีกำลังว่า ความคิดของตนมีผลโดยตรงต่อโลก ดังนั้น ถ้าเด็กประสบกับเรื่องเศร้าที่ตนไม่เข้าใจ เช่น ความตาย เด็กก็จะสร้างเหตุผลว่าตนมีส่วนรับผิดชอบ ฌ็อง ปียาแฌ นักจิตวิทยาเชิงพัฒนาการ เป็นผู้ตั้งทฤษฎีว่าเด็กมีการพัฒนาการสี่ช่วง เด็กช่วง 2-7 ปีเป็นช่วง Preoperational Stage ในช่วงนี้เชื่อว่า เด็กจะไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ความคิดและคำอธิบายของเด็กมักจะจำกัดอยู่ที่ลักษณะทางกายภาพ นั่นหมายความว่า ถ้าบอกเด็กว่า สุนัขที่บ้านได้ตายแล้ว เด็กอาจจะไม่เข้าใจว่า ไม่มีสุนัขตัวนั้นอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น ความคิดเชิงไสยศาสตร์จะปรากฏชัดเจนในช่วงนี้ คือเด็กอาจจะเชื่อว่า สุนัขไปอยู่ที่อื่นเพียงชั่วคราวเท่านั้น คือไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สุนัขที่ตายแล้วไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก และดังนั้น ความคิดเชิงไสยศาสตร์จะช่วยให้เด็กเข้าใจยอมรับได้
เด็กที่กำลังไว้ทุกข์
[แก้]เด็กที่ปรากฏว่ามีความคิดเชิงไสยศาสตร์มักจะรู้สึกว่าตนมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น หรือว่าตนสามารถเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นั้นโดยคิดถึงมันแล้วตั้งใจอธิษฐานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งได้[28] จะสังเกตได้ว่า การคิดเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเด็กวัยนี้ และบางครั้งจะใช้เป็นวิธีอธิบายสิ่งที่อธิบายไม่ได้[29][30]
ตามคำของปียาแฌ เด็กวัยนี้มักจะมีความคิดที่มีตนเป็นศูนย์ (egocentric) คือเชื่อว่า สิ่งที่ตนประสบและรู้สึก จะเป็นสิ่งที่คนอื่นประสบและรู้สึกเช่นเดียวกัน[31] นอกจากนั้นแล้ว เด็กยังขาดความเข้าใจว่า อาจจะมีคำอธิบายอื่น ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากที่ตนคิดได้ ดังนั้น ถ้าจะอธิบายเรื่องที่เด็กไม่เข้าใจ จะต้องใช้เรื่องที่เด็กเข้าใจแล้วในการอธิบาย และเด็กจะยังไม่สามารถเข้าใจแนวคิดทางนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างได้อย่างเต็มที่[31]
ความคิดเชิงไสยศาสตร์จะพบได้โดยเฉพาะในคำอธิบายของเด็กเกี่ยวกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของสมาชิกครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ความเจ็บป่วยหรือความใกล้จะถึงความตายของตน ประสบการณ์เหล่านี้มักจะเป็นเรื่องใหม่ต่อเด็กเล็ก ๆ ดังนั้น เด็กจึงยังไม่มีประสบการณ์ว่าจะมีผลเช่นไรที่จะเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์นั้น[32] เด็กอาจจะรู้สึกว่าตนมีส่วนรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เช่นตนอาจจะมีความไม่พอใจในผู้ตาย หรือว่าได้เล่นกับสัตว์เลี้ยงหนักมือเกินไป และอาจจะมีไอเดียอีกด้วยว่า ถ้าตนตั้งความหวังหรือทำการอธิษฐานเพียงพอ หรือทำอะไรที่ถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลหรือสัตว์นั้น อาจจะเลือกที่จะกลับมามีชีวิตอีก[33] เมื่อคิดถึงความเจ็บป่วยหรือความใกล้จะตายของตนเอง เด็กบางคนอาจจะรู้สึกว่ากำลังถูกลงโทษเพราะได้ทำอะไรผิด หรือไม่ได้ทำอะไรที่ควรทำแล้ว และดังนั้นจึงเกิดความเจ็บป่วย[34] ถ้าแนวคิดของเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ไม่ตรงกับความจริงเพราะเป็นความคิดเชิงไสยศาสตร์ อาจะเป็นไปได้ว่า เด็กอาจจะเกิดความเชื่อในระยะยาว และมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหาให้เด็กเมื่อโตขึ้น[35]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ เช่น มีวิธีการรักษาโรคลมชัก (epilepsy) ของชาวอะซานด์โดยการทานกะโหลกศีรษะที่ไหม้แล้วของลิงประเภทหนึ่ง (red bush monkey) เพราะว่าอาการชักของโรคมีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของลิงประเภทนี้ (Evans-Pritchard 1937, p. 487)
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ Colman, Andrew M. (2012). A Dictionary of Psychology (3rd ed.). Oxford University Press.
- ↑ Shafir, E.; Tversky, A. (1992). "Thinking through uncertainty: Nonconsequential reasoning and choice". Cognitive Psychology. 24 (4): 449–74. doi:10.1016/0010-0285(92)90015-T. PMID 1473331.
- ↑ Nisbet, D.; Ross, L. (1980). Human Inference: Strategies and Shortcomings of Social Judgment. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall. pp. 115–8.
- ↑ Glucklich, Ariel (1997). The End of Magic. Oxford University Press. pp. 32–3.
- ↑ Evans-Pritchard, E. E. (1977). Theories of Primitive Religion. Oxford University Press. pp. 26–7.
- ↑ Evans-Pritchard, E. E. (1937). Witchcraft, Magic, and Oracles Among the Azande. Oxford: Clarendon Press.
- ↑ Frazer, James (1915) [1911]. The Golden Bough: A Study in Magic and Religion (3rd ed.). London: Macmillan.
- ↑ Lévy-Bruhl, Lucien (1925). How Natives Think. Knopf. p. 36.
- ↑ Lévy-Bruhl 1925, p. 76
- ↑ Shweder, Richard A. (1977). "Likeness and likelihood in everyday thought: Magical thinking in judgments about personality". Current Anthropology. 18 (4): 637-58 (637). doi:10.1086/201974. JSTOR 2741505.
- ↑ Glucklich 1997, pp. 59–61, 205–12
- ↑ Glucklich 1997, pp. 53–5
- ↑ Brown, Michael F. (1993). Thinking About Magic. Greenwood Press. pp. 5–7.
- ↑ Glucklich 1997, pp. 60–2
- ↑ Glucklich 1997, pp. 49–53
- ↑ Glucklich 1997, pp. 50–68
- ↑ Horton, Robin (1967). "African traditional thought and western science: Part I. From tradition to science". Africa: Journal of the International African Institute. 37 (1): 50–71. doi:10.2307/1157195. JSTOR 1157195. S2CID 145507695.
- ↑ Horton, Robin (1967). "African traditional thought and western science: Part II. The 'closed' and 'open' predicaments". Africa: Journal of the International African Institute. 37 (2): 155–87. doi:10.2307/1158253. JSTOR 1158253. S2CID 245911255.
- ↑ Keinan, Giora (2002). "The effects of stress and desire for control on superstitious behavior". Personality and Social Psychology Bulletin. 28 (1).
- ↑ Keinan, Giora (1994). "The effects of stress and tolerance of ambiguity on magical thinking". Personality and Social Psychology. 67 (1): 48–55. doi:10.1037/0022-3514.67.1.48.
- ↑ 21.0 21.1 Boyer, Pascal; Liénard, Pierre (2008). "Ritual behavior in obsessive and normal individuals". Current Directions in Psychological Science. 17 (4): 291–94. doi:10.1111/j.1467-8721.2008.00592.x.
- ↑ Glucklich 1997, p. 12 "the awareness of the interrelatedness of all things in the world by means of simple but refined sense perception"
- ↑ Lewis, Gilbert. The Look of Magic. University of Cambridge.
- ↑ Horton 1967b, p. 171
- ↑ Brown, Michael F. (1986). Tsewa's Gift: Magic and Meaning in an Amazonian Society. University of Alabama Press.
- ↑ Brown 1993, p. 2
- ↑ Horton, Robin. "African thought and western science". Rationality: 153.
- ↑ Nielson, D. (2012). "Discussing death with pediatric patients: Implications for nurses". Journal of Pediatric Nursing. 27 (5): e59–e64. doi:10.1016/j.pedn.2011.11.006. PMID 22198004.
- ↑ Samide, L.; Stockton, R. (2002). "Letting go of grief: Bereavement groups for children in the school setting". Journal for Specialists in Group Work. 27 (2): 192–204. doi:10.1177/0193392202027002006.
- ↑ Webb, N. (2010). "The child and death". ใน Webb, N.B. (บ.ก.). Helping Bereaved Children: A Handbook for Practitioners. New York: Guildford. pp. 5–6.
- ↑ 31.0 31.1 Biank, N.; Werner-Lin, A. (2011). "Growing up with grief: Revisiting the death of a parent over the life course". Omega. 63 (3): 271–290. doi:10.2190/om.63.3.e. PMID 21928600. S2CID 37763796.
- ↑ Webb 2010, p. 51
- ↑ Schoen, A.; Burgoyen, M.; Schoen, S. (2004). "Are the developmental needs of children in America adequately addressed during the grief process?". Journal of Instructional Psychology. 31: 143–8.
- ↑ Schonfeld, D. (1993). "Talking with children about death". Journal of Pediatric Health Care. 7 (6): 269–74. doi:10.1016/s0891-5245(06)80008-8. PMID 8106926.
- ↑ Sossin, K.; Cohen, P. (2011). "Children's play in the wake of loss and trauma". Journal of Infant, Child and Adolescent Psychotherapy. 10 (2–3): 255–72. doi:10.1080/15289168.2011.600137. S2CID 146429165.
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Hood, Bruce (2009). SuperSense: Why We Believe in the Unbelievable. HarperOne. ISBN 9780061452642.
- Horton, Robin (1970). "African traditional thought and western science". ใน Wilson, Bryan R. (บ.ก.). Rationality. Key Concepts in the Social Sciences. Oxford: Basil Blackwell. pp. 131-171. ISBN 9780631119302. Abridged version of Horton (1967a) and Horton (1967b).
- Hutson, Matthew (2012). The 7 Laws of Magical Thinking: How Irrational Beliefs Keep Us Happy, Healthy, and Sane. Hudson Street Press. ISBN 9781594630873.
- Serban, George (1982). The Tyranny of Magical Thinking. New York: E. P. Dutton. ISBN 978-0525241409. This work discusses how and why the magical thinking of childhood can carry into adulthood, causing various maladaptions and psychopathologies.
- Vyse, Stuart (1997). Believing in Magic: The Psychology of Superstition. Oxford University Press. ISBN 9780195136340.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Hutson, Matthew (2008). "Magical thinking". Psychology Today. Vol. March–April. pp. 89–95.
- Stevens, Phillips Jr. (November–December 2001). "Magical thinking in complementary and alternative medicine". Skeptical Inquirer. 25 (6). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-03. สืบค้นเมื่อ 2010-09-22.