ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาเอสเปรันโต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาเอสเปรันโต
la Lingvo Internacia
ออกเสียง[espeˈranto]
สร้างโดยแอล. แอล. ซาเมนฮอฟ
วันที่ค.ศ. 1887
การจัดตั้งและการใช้นานาชาติ: พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก
ผู้ใช้ภาษาแม่: ประมาณหนึ่งพันคนหรือมากกว่า  (2011)[1]
ภาษาที่สอง: ประมาณ 30,000–180,000 คน (2017)[2]
จุดประสงค์
รูปแบบก่อนหน้า
ภาษาเอสเปรันโตดั้งเดิม
  • ภาษาเอสเปรันโต
ระบบการเขียนอักษรละติน (ชุดตัวอักษรเอสเปรันโต)
อักษรเบรลล์เอสเปรันโต
อักษรซีริลลิก[3]
ที่มารากศัพท์มาจากกลุ่มภาษาโรมานซ์กับกลุ่มภาษาเจอร์แมนิก, ระบบไวยากรณ์มาจาก กลุ่มภาษาสลาฟ
สถานภาพทางการ
ผู้วางระเบียบAkademio de Esperanto
รหัสภาษา
ISO 639-1eo
ISO 639-2epo
ISO 639-3epo
นักภาษาศาสตร์epo
Linguasphere51-AAB-da
Esperantujo: จำนวนสมาชิก UEA ต่อประชากรล้านคนใน ค.ศ. 2020
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด

ภาษาเอสเปรันโต (อักษรโรมัน: Esperanto) หรือชื่อเดิม Lingvo Internacia เป็นภาษาประดิษฐ์ในกลุ่มภาษาช่วยในการสื่อสารสากล (International auxiliary language) ที่ใช้กันมากที่สุดในโลก[4] เป็นหนึ่งในภาษาที่มีกลุ่มผู้ใช้น้อยกลุ่มหนึ่งของโลก โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครื่องสื่อสารทางเลือกและเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอย่างหนึ่ง[5] ในปี พ.ศ. 2555 ภาษาเอสเปรันโตได้รับการเพิ่มเข้าไปในกูเกิลแปลภาษา[6] ในปี พ.ศ. 2559 ปรากฏชื่อภาษาเอสเปรันโตในลิสต์รายชื่อภาษาที่เป็นที่รู้จักและเรียนมากในประเทศฮังการี[7] ชื่อภาษาเอสเปรันโตมาจากนามปากกา “D-ro Esperanto„ ในหนังสือของ แอล.แอล. ซาเมนฮอฟ (L.L. Zamenhof) จักษุแพทย์ชาวยิว ซึ่งเป็นหนังสือพื้นฐานของภาษานี้เล่มแรก (โดยมักเรียกชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า Unua Libro ซึ่งเขียนในภาษารัสเซีย ได้รับการอนุญาตจำหน่ายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 โดยต้องการให้ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาที่เรียนรู้ได้ง่าย และเป็นภาษาที่สอง

ประมาณการกันว่ามีผู้พูดภาษาเอสเปรันโตมากกว่า 2,000,000 คน และที่ไม่เหมือนกับภาษาประดิษฐ์อื่นคือมีผู้ที่พูดภาษานี้มาตั้งแต่เกิดประมาณ 2,000 คน สมาคมเอสเปรันโตสากล (Universala Esperanto-Asocio) มีสมาชิกอยู่ในมากกว่า 120 ประเทศ

การประชุมใหญ่เอสเปรันโตสากล (Universala Kogreso de ESperanto) เป็นการประชุมของผู้พูดภาษาเอสเปรันโตในระดับนานาชาติอันหนึ่งที่มีประวัติยาวนาน โดยจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ.1905) ที่เมืองบูลอน ซู แมร์ ในประเทศฝรั่งเศส

วันที่ 15 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันฉลองของภาษาเอสเปรันโต ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของซาเมนโฮฟ ซึ่งในวันนี้ผู้ใช้ภาษาเอสเปรันโตจะรวมตัวกันในฤดูหนาว และเลี้ยงฉลองกัน โดยบางคนจะซื้อหนังสือภาษาเอสเปรันโตเล่มใหม่ในวันนี้

ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาเดียวที่มีธงประจำภาษา โดยทั่วไปแล้วภาษาอื่น ๆ จะไม่ใช้ธงชาติมาเป็นธงประจำภาษา เนื่องจากชาติหรือประเทศหนึ่งอาจมีได้หลายภาษา และภาษาหนึ่งอาจพูดในหลายชาติหรือประเทศ ธงประจำภาษาเอสเปรันโต พื้นธงเป็นสีเขียว มีรูปดาวสีเขียวบนพื้นที่สีเหลี่ยมสีขาวอยู่มุมบนซ้าย นอกจากธงแล้วยังมีเพลงประจำภาษาเอสเปรันโตอีกด้วย ชื่อเพลงว่า La Espero แปลว่า ความหวัง ซึ่งมีชื่อเหมือนกับเพลงชาติของอิสราเอล

ประวัติ

[แก้]

ภาษาเอสเปรันโตคิดค้นขึ้นช่วงปลาย คริสต์ทศวรรษ 1870 และต้น คริสต์ทศวรรษ 1880 โดยซาเมนฮอฟในช่วงเวลาพัฒนา 10 ปีนั้น ซาเมนฮอฟได้ใช้เวลาในการแปลวรรณกรรมต่าง ๆ มาเป็นภาษาเอสเปรันโต รวมทั้งการเขียนและพัฒนาหลักไวยกรณ์ต่าง ๆ ของภาษา โดยหนังสือไวยกรณ์เล่มแรกในภาษาเอสเปรันโต ชื่อ Международный языкъ. Предисловіе и полный учебникъ หรือที่เรียกกันว่า อูนูอาลิโบร (Unua Libro ความหมายในภาษาเอสเปรันโตว่า หนังสือเล่มแรก) ตีพิมพ์ที่ กรุงวอร์ซอว์ ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2430 ซึ่งหลังจากนั้นจำนวนผู้ใช้ภาษาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 20 ปีต่อมา โดยเริ่มต้นจากจักรวรรดิรัสเซีย และ ยุโรปตะวันออก และได้เข้าสู่ ยุโรปตะวันตก อเมริกา ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 การประชุมเอสเปรันโตสากล ได้จัดตั้งขึ้น โดยจัดครั้งแรกที่เมืองบูลอญ-ซูร์-แมร์ (Boulogne-sur-Mer) ในประเทศฝรั่งเศส และหลังจากนั้นมีการจัดประชุมกันทุกปี (ยกเว้นช่วงสงครามโลก) โดยเปลี่ยนสถานที่จัดไปทั่วโลก

ในปัจจุบันภาษาเอสเปรันโตไม่ได้เป็นภาษาทางการของประเทศใด แต่ได้มีการเรียนการสอนในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 บริเวณฉนวนโมเรสเนต (Neutral Moresnet, 2359-2462) ได้ถือว่าเป็นรัฐแรกที่ใช้ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาทางการ

ในปี พ.ศ. 2511 สาธารณรัฐโรสไอส์แลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งอิตาลี ประมาณ 11 กม. ได้ประกาศตั้งตัวเป็นประเทศเอกราช และได้ใช้ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาทางการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรสไอแลนด์ ไม่ถือว่าเป็นประเทศจากชาติอื่น

ในปี พ.ศ. 2454 ระหว่างช่วงการปฏิวัติซินไฮ่ ในประเทศจีน ได้มีนโยบายในการเปลี่ยนภาษาทางการจากภาษาจีน เป็นภาษาเอสเปรันโต ด้วยเหตุผลที่ว่าให้ประเทศเป็นสากล แต่ได้ถูกยกเลิกไป

ในปี พ.ศ. 2467 ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการใช้ภาษาเอสเปรันโตสำหรับวิทยุสื่อสาร โดยคาดหวังว่าจะใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่สุดท้ายไม่ได้รับการนิยมและได้ยกเลิกไป

การศึกษาภาษาเอสเปรันโต

[แก้]
หนังสือ Unua Libro ฉบับภาษารัสเซีย, 2430

ในปัจจุบันมีอยู่บางโรงเรียนที่มีการสอนภาษาเอสเปรันโต มีมากใน จีน ฮังการี บัลแกเรีย และ ออสเตรเลีย นอกจากนี้คนส่วนมากเรียนรู้ภาษา โดยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมีการสอนโดยอาสาสมัครต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่นเว็บไซต์ lernu!

นักวิจัยหลายท่านได้ศึกษาว่าการเรียนรู้ภาษาเอสเปรันโต ช่วยให้ผู้ที่ใช้ภาษาในภาษากลุ่มอินโดยูโรเปียน (เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน) เรียนภาษาอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจเนื่องมาจาก รูปแบบของภาษา ไวยากรณ์ และคำศัพท์ต่าง ๆ[8] การวิจัยพบว่า เปรียบเทียบกลุ่มนักเรียน 2 กลุ่ม โดย กลุ่มแรก เรียนภาษาเอสเปรันโต 1 ปี และภาษาฝรั่งเศส 3 ปี กับกลุ่มที่สอง เรียนภาษาฝรั่งเศส 4 ปี ผลออกมาว่า กลุ่มแรกสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง ที่เรียนภาษาฝรั่งเศสมากกว่าหนึ่งปี

ตัวอักษร

[แก้]

ภาษาเอสเปรันโตใช้ตัวอักษรละติน ประกอบด้วยตัวอักษร 28 ตัว ซึ่งมีรูปทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก โดย 22 ตัวเหมือนตัวอักษรในภาษาอังกฤษ โดยไม่มีรูป Q, W, X และ Y และบนตัวอักษรบางตัวมีเครื่องหมายพิเศษ ตัวอักษรทั้งหมดมีดังนี้

A B C Ĉ D E F G Ĝ H Ĥ I J Ĵ K L M N O P R S Ŝ T U Ŭ V Z
a b c ĉ d e f g ĝ h ĥ i j ĵ k l m n o p r s ŝ t u ŭ v z

อย่างไรก็ตาม รหัสแอสกีไม่มีสัญลักษณ์ที่ใช้แทนตัวอักษรเหล่านี้ Ĉ, Ĝ, Ĥ, Ĵ, Ŝ, Ŭ จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียนให้เป็น CH, GH, HH, JH, SH, U หรือ CX, GX, HX, JX, SX, UX ตามลำดับ เมื่อต้องการพิมพ์หรือบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันนี้ปัญหาดังกล่าวไม่มีแล้วเนื่องจากใช้รหัสยูนิโคดแทน

ไวยากรณ์เบื้องต้น

[แก้]

ไวยากรณ์เบื้องต้นของภาษาเอสเปรันโต ประกอบด้วย รากคำ ที่มีความหมายในตัวของมันเอง แล้วนำอักษรบางตัวไปต่อท้ายเพื่อเปลี่ยนหน้าที่ของคำในประโยค ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้[9]

คำนำหน้าคำนาม

[แก้]
  • คำนำหน้าคำนาม (Artikolo) มีเพียง la ที่ใช้กล่าวถึงสิ่งเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีความหมายคล้ายกับ the ในภาษาอังกฤษ
    • La leono estas danĝera besto.
      • สิงโต (ตัวนั้น) เป็นสัตว์ที่อันตราย
    • leono estas danĝera besto.
      • สิงโต (ทั่วไป) เป็นสัตว์ที่อันตราย

คำนาม

[แก้]
  • คำนาม (Substantivo) ลงท้ายด้วย -o ส่วนคำนามที่เป็นพหูพจน์ให้เติม -j ต่อท้าย และหากคำนามนั้นทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค หรือนำหน้าคำบุพบท เช่น de ซึ่งแปลว่า ของ (ขึ้นอยู่กับความหมาย) ให้เติม -n ต่อท้ายเข้าไปอีก
    • La hundo persekutis la katojn de la knaboj al la domo per bojado.
      • สุนัขวิ่งไล่ (รูปอดีต) แมว (หลายตัว) ของเด็ก (หลายคน) เข้าไปในบ้านโดยการเห่า

คำคุณศัพท์

[แก้]
  • คำคุณศัพท์ (Adjektivo) ลงท้ายด้วย -a รวมไปถึงจำนวนที่บ่งบอกลำดับที่ หรือคำนามอื่นที่ทำหน้าที่ขยายคำนามนั้น และเติม -j กับ -n ให้เหมือนคำนามที่ขยายด้วย คำคุณศัพท์จะวางไว้หน้าคำนามเสมอ
    • La bruna hundo persekutas la nigrajn katojn.
      • สุนัขสีน้ำตาลกำลังวิ่งไล่แมวสีดำ (หลายตัว)
  • คำคุณศัพท์ขั้นกว่า ให้ใช้ pli นำหน้าคำคุณศัพท์แล้วตามด้วยคำสันธาน ol เหมือนการใช้ more...than ในภาษาอังกฤษ
    • La bruna hundo estas pli granda ol la nigraj katoj.
      • สุนัขสีน้ำตาลตัวใหญ่กว่าแมวสีดำ (หลายตัว)
  • คำคุณศัพท์ขั้นสุด ให้ใช้ plej นำหน้าคำคุณศัพท์นั้น
    • Sed la homo estas la plej granda el ĉiuj.
      • แต่มนุษย์ตัวใหญ่ที่สุดกว่าใครทั้งหมด

จำนวน

[แก้]

จำนวน (Numeralo)

nul unu du tri kvar kvin ses sep ok naŭ dek cent mil
0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 100 1000
  • จำนวนโดยพื้นฐานให้นำค่าของ 1-9 เขียนต่อด้วยค่าประจำหลัก เหมือนภาษาไทย
    • Mil naŭcent naŭdek kvin
      • (หนึ่ง) พันเก้าร้อยเก้าสิบห้า
  • จำนวนที่บ่งบอกลำดับที่ (ordinal) ให้เติม -a หลังจำนวนแล้วนับเป็นคำคุณศัพท์
    • La kvina trono
      • บัลลังก์ที่ห้า
  • จำนวนที่บ่งบอกความหลากหลาย ให้เติม -obl แล้วนำไปทำเป็นคำนามหรือคำคุณศัพท์
    • Duobla eraro
      • ความผิดพลาดซ้ำสอง
  • จำนวนที่บ่งบอกเศษส่วน ให้เติม -on แล้วนำไปทำเป็นคำนามหรือคำคุณศัพท์
    • Tri kvaronoj
      • เศษสามส่วนสี่ (เศษหนึ่งส่วนสี่ จำนวนสามหน่วย)
  • จำนวนที่บ่งบอกถึงการรวบรวม ให้เติม -op แล้วนำไปทำเป็นคำนามหรือคำคุณศัพท์
    • Duopo
      • (หนึ่ง) คู่
  • จำนวนที่บ่งบอกถึงการแบ่งเป็นส่วน ให้ใช้คำบุพบท po นำหน้า มีความหมายว่า แต่ละ หรือ ที่อัตรา
    • Mi donis po tri pomojn al ili.
      • ฉันให้แอปเปิลสามผลแก่พวกเขา (แต่ละคน)
    • Mi rapidis po cent kilometrojn en horo.
      • ฉันกำลังเร่งความเร็ว (รูปอดีต) ที่อัตรา ร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง

คำสรรพนาม

[แก้]

บุรุษสรรพนาม (Persona Pronomo)

เอกพจน์ พหูพจน์
บุรุษที่ 1 mi (ฉัน) ni (พวกเรา)
บุรุษที่ 2 ci (คุณ, ไม่นิยมใช้ มักใช้ vi แทน) vi (พวกคุณ)
บุรุษที่สาม เพศชาย li (เขาผู้ชาย) ili (พวกเขา, พวกมัน)
เพศหญิง ŝi (เขาผู้หญิง)
ไม่ระบุเพศ ĝi (มัน)
ไม่เจาะจง oni (ใคร ๆ , คนหนึ่ง)
สรรพนามสะท้อนบุรุษที่ 3 si (เขาเอง, มันเอง)
  • คำสรรพนาม (Pronomo) ใช้แทนบุคคล สัตว์ สิ่งของ ซึ่งเป็นบุรุษที่ 1, 2, 3 ในประโยค และสามารถเติม -n เมื่อทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค
    • Mi amas vin.
      • ฉันรักคุณ
    • Mi razas min kaj vi razas vin.
      • ฉันโกนหนวดตัวฉันเอง และคุณก็โกนหนวดตัวคุณเอง
    • Oni diras, ke li amas ŝin.
      • (มี) ใครคนหนึ่งบอกว่า เขารักหล่อน
  • คำสรรพนามที่แสดงความเป็นเจ้าของให้เติม -a หลังคำสรรพนามแล้วนับเป็นคำคุณศัพท์
    • Mia hundo amas vian katon.
      • สุนัขของฉันชอบแมวของคุณ

คำกริยา

[แก้]
  • คำกริยา (Verbo) จะไม่แปรผันรูปตามประธาน แต่จะแปรผันตามกาลและน้ำเสียงของประโยค คำกริยาที่แปรผันตามกาล ให้เติม -as สำหรับปัจจุบันกาล -is สำหรับอดีตกาล และ -os สำหรับอนาคตกาล
    • Mi amas vin.
      • ฉันรักคุณ (ปัจจุบันกาล ซึ่งรักกันอยู่)
    • Mi amis vin.
      • ฉันเคยรักคุณ (อดีตกาล ซึ่งเกิดขึ้นในอดีต)
    • Mi amos vin.
      • ฉันจะรักคุณ (อนาคตกาล ซึ่งปัจจุบันยังไม่รัก)
  • คำกริยาที่แปรผันตามน้ำเสียง ให้เติม -us เพื่อแสดงถึงการให้เงื่อนไขหรือการสมมติ -u เพื่อแสดงถึงการออกคำสั่งหรือการขอร้อง -i เพื่อแสดงถึงคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม (infinitive)
    • Se vi gajnus la loterion, mi amus vin.
      • ถ้าคุณถูกรางวัลล็อตเตอรี ฉันก็จะรักคุณ
    • Mi deziras, ke vi amu min; do amu min!
      • ฉันต้องการให้คุณรักฉัน ดังนั้นรักฉันสิ!
    • Koni lin estas ami lin.
      • รู้จักเขา นั่นคือ รักเขา

การออกเสียง

[แก้]

ซาเมนฮอฟได้แนะนำว่า การออกเสียงภาษาเอสเปรันโต ใช้หลักการใกล้เคียงกับภาษาอิตาลี(?) และอักษรเอสเปรันโตมีลักษณะใกล้เคียงกับสัทอักษรสากล (IPA : International Phonetic Alphabet ) ซึ่งการออกเสียงมีลักษณะใกล้เคียงกัน

พยัญชนะ สระ และ สระผสม
ตัวอักษร เทียบได้กับ IPA ตัวอักษร เทียบได้กับ IPA
b /b/ a อา /a/
c つ (tsu) ในภาษาญี่ปุ่น (ตฺซ) /t͡s/ e เอ /e/
ĉ ch ในภาษาอังกฤษ (ตฺช) /t͡ʃ/ i อี /i/
d /d/ o โอ /o/
f /f/ u อู /u/
g /g/
ĝ j ในภาษาอังกฤษ (จฺย) /d͡ʒ/ aj อาย /ai̯/, /ɑi̯/
h /h/ อาว /au̯/, /ɑu̯/
ĥ ch ในภาษาเยอรมัน (คฺฮ) /x/ ej เอย์ /ei̯/, / ɛi̯/
j /j/ เอว /eu̯/, /ɛu̯/
ĵ s ในคำว่า pleasure (ชฺย) /ʒ/ oj โอย /oi̯/, / ɔi̯/
k /k/ uj อูย /ui̯/, /ʊi̯/
l /l/
m /m/ ŭ ใช้ร่วมกับ a และ e เท่านั้น /u̯/
n /n/
p /p/
r r ในภาษาอังกฤษ (สะบัดลิ้น) /ɾ/
s /s/
ŝ sh ในภาษาอังกฤษ (ซฺช) /ʃ/
t /t/
v v ในภาษาอังกฤษ (ฟฺว) /v/
z z ในภาษาอังกฤษ (ซฺซ) /z/

ตัวอย่างประโยค

[แก้]

ตัวอย่างประโยคสนทนาในภาษาเอสเปรันโต

ภาษาไทย ภาษาเอสเปรันโต IPA
สวัสดี Saluton [sa.ˈlu.ton]
ใช่ Jes [ˈjes]
ไม่ใช่ Ne [ˈne]
อรุณสวัสดิ์ Bonan matenon [ˈbo.nan ma.ˈte.non]
สายัณสวัสดิ์ Bonan vesperon [ˈbo.nan ves.ˈpe.ron]
ราตรีสวัสดิ์ Bonan nokton [ˈbo.nan ˈnok.ton]
แล้วพบกันใหม่ (ลาก่อน) Ĝis (la) revido [ˈdʒis (la) re.ˈvi.do]
คุณชื่ออะไร Kio estas via nomo? [ˈki.o ˌes.tas ˌvi.a ˈno.mo]
ฉันชื่อมาร์ก Mia nomo estas Marko [ˌmi.a ˈno.mo ˌes.tas ˈmar.ko]
คุณเป็นอย่างไรบ้าง Kiel vi fartas? [ˈki.el vi ˈfar.tas]
ฉันสบายดี Mi fartas bone [mi ˈfar.tas ˈbo.ne]
คุณพูดภาษาเอสเปรันโตใช่ไหม Ĉu vi parolas Esperante? [ˈtʃu vi pa.ˈro.las ˌes.pe.ˈran.te]
ฉันไม่เข้าใจคุณ Mi ne komprenas vin [mi ˌne kom.ˈpre.nas ˌvin]
ดีมาก Bone [ˈbo.ne]
ถูกต้อง Ĝuste [ˈdʒus.te]
ขอบคุณ Dankon [ˈdan.kon]
ไม่เป็นไร Ne dankinde [ˌne.dan.ˈkin.de]
ได้โปรด Bonvolu [bon.ˈvo.lu]
ขอโทษ Pardonu min [par.ˈdo.nu ˈmin]
ขอให้มีสุขภาพดี Sanon! [ˈsa.non]
ยินดีด้วย Gratulon [ɡra.ˈtu.lon]
ผมรักคุณ Mi amas vin [mi ˈa.mas ˌvin]
ขอเบียร์ 1 ขวด Unu bieron, mi petas [ˈu.nu bi.ˈe.ron, mi ˈpe.tas]
ห้องน้ำอยู่ไหน Kie estas la necesejo? [ˈki.e ˈes.tas ˈla ˌne.tse.ˈse.jo]
นั้นคืออะไร Kio estas tio? [ˈki.o ˌes.tas ˈti.o]
นั้นคือสุนัข Tio estas hundo [ˈti.o ˌes.tas ˈhun.do]
พวกเราจะรัก Ni amos! [ni ˈa.mos]
ขอให้มีความสันติสุข Pacon! [ˈpa.tson]
ฉันเป็นผู้เริ่มเรียนภาษาเอสเปรันโต Mi estas komencanto de Esperanto [mi ˈes.tas ˌko.men.ˈtsan.to de ˌes.pe.ˈran.to]

ภาษาเอสเปรันโตในประเทศไทย

[แก้]

สำหรับภาษาเอสเปรันโตในประเทศไทยนั้น เริ่มเข้ามาเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว (2559) โดยชาวจีนที่เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย[10]

ภาษาเอสเปรันโต เริ่มมีสอนเป็นวิชาเสริมในหมวดวิชาบูรณาการที่โรงเรียนเด็กสายรุ้ง อ. กำแพงแสน จ. นครปฐม ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6) ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับระบบภาษาตะวันตกอื่น ๆ ก่อนที่เด็ก ๆ แต่ละคนจะสามารถเลือกภาษาตะวันตกตามที่ตัวเองสนใจ สำหรับเรียนต่อไปในอนาคตได้[11]

ภาษาเอสเปรันโตในภาพยนตร์

[แก้]

รายชื่อภาพยนตร์บางส่วนที่มีภาษาเอสเปรันโต

อ้างอิง

[แก้]
  1. Harald Haarmann, Eta leksikono pri lingvoj, 2011, archive date March 4, 2016: Esperanto … estas lernata ankaŭ de pluraj miloj da homoj en la mondo kiel gepatra lingvo. ("Esperanto has also been learned by several thousand people in the world as a mother tongue.")
  2. 63,000 −50%/+200%: "Nova takso: 60.000 parolas Esperanton" [New estimate: 60.000 speak Esperanto] (ภาษาเอสเปรันโต). Libera Folio. February 13, 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2017. สืบค้นเมื่อ February 13, 2017.
  3. "Esperanto Cyrillic (Есперанто-цирила)". Omniglot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 19, 2021. สืบค้นเมื่อ December 19, 2021.
  4. Byram, Michael (2001). Routledge Encyclopedia of Language Teaching and Learning. Routledge. pp. 464. ISBN 0-415-33286-9.
  5. Nia tradukarto vekis grandan intereson en PEN HeKo, nro 682 7-B, la 22-an de Junio 2018.
  6. Google Translate Blog (2012) Tutmonda helplingvo por ĉiuj homoj
  7. Oktatási Hivatal: Nyelvvizsga-statisztikák. Nyelvvizsgáztatási Akkreditációs Központ. จากต้นฉบับเมื่อวันที่ 2016-07-05.
  8. Williams, N. (1965) 'A language teaching experiment', Canadian Modern Language Review 22.1: 26-28
  9. "The Sixteen Rules of Esperanto Grammar". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-01. สืบค้นเมื่อ 2006-12-01.
  10. El Popola Ĉinio 1987 N-ro 8 p.33
  11. รัชอำนวยวงษ์, เน. "'โรงเรียนเด็กสายรุ้ง' วิชาบูรณาการความคิด ติดอาวุธทักษะเด็กไทย ให้เป็นพลเมืองโลก". The KOMMON (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]