ภาษาโวลาปุก
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โวลาปุก | |
---|---|
Volapük | |
สร้างโดย | โจฮานน์ มาร์ติน เชลเยอร์ |
การจัดตั้งและการใช้ | นานาชาติ, ส่วนมากในยุโรป |
จุดประสงค์ | ภาษาประดิษฐ์
|
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | vo |
ISO 639-2 | vol |
ISO 639-3 | vol |
ภาษาโวลาปุก (Volapük) เป็นภาษาประดิษฐ์ คิดค้นโดย โจฮานน์ มาร์ติน เชลเยอร์ ในปี พ.ศ. 2422 – 2423 โดยนำคำศัพท์บางส่วนมาจากภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส โดยเชลเยอร์ได้ฝันไปว่าเทพเจ้าสั่งให้เขาสร้างภาษาประดิษฐ์สากล ถึงแม้ว่าในปี พ.ศ. 2432 จะมีคลับภาษาโวลาปุกมากถึง 283 คลับ มีตำราภาษาโวลาปุกมากถึง 316 เล่ม เขียนอยู่ใน 25 ภาษา และมีผู้เรียนนับล้านคน แต่สุดท้ายถูกแทนที่โดยภาษาเอสเปรันโตไปโดยมาก
อักขรวิธีและการอ่านออกเสียง[แก้]
ภาษาโวลาปุกใช้ตัวอักษรละติน ประกอบด้วยตัวอักษร 27 ตัว ซึ่งมีรูปทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก โดย 24 ตัวเหมือนตัวอักษรในภาษาอังกฤษ โดยไม่มีรูป Q และ W และบนตัวอักษรบางตัวมีเครื่องหมายพิเศษ ตัวอักษรทั้งหมดมีดังนี้
ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ | A | Ä | B | C | D | E | F | G | H | I | J | K | L | M | N | O | Ö | P | R | S | T | U | Ü | V | X | Y | Z |
ตัวอักษรพิมพ์เล็ก | a | ä | b | c | d | e | f | g | h | i | j | k | l | m | n | o | ö | p | r | s | t | u | ü | v | x | y | z |
เสียงตามระบบสัทอักษรสากล | a~ɑ | ɛ~æ | b | tʃ~dʒ | d | e | f | g | h | i | ʃ~ʒ | k | l | m | n | o~ɔ | ø | p | r | s~z | t | u | y | v | ks | j | ts~dz |
เสียงของตัวอักษร ä , ö และ ü เป็นเสียงแบบเดียวกับในภาษาเยอรมัน , C ออกเสียงคล้ายกับตัว ช , J ออกเสียงคล้ายกับตัว จ ตัวอักษร s ออกเสียงเป็นตัวอักษร z เมื่อตามหลังพยัญชนะมีเสียง เช่น bs , ds , gs , ls เหมือนกับในภาษาอังกฤษ
หมายเหตุ:ตัวอักษร ä , ö และ ü ไม่มีรูปแทนที่แบบ ae , oe และ ue เหมือนกับในภาษาเยอรมัน แต่เชลเยอร์เสนอให้ใช้รูปแทนที่ดังตารางต่อไปนี้ โดยตัวอักษรเหล่านี้ถูกบรรจุในรหัสยูนิโคดเวอร์ชัน 7.0 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557
Ä | ä | Ö | ö | Ü | ü |
Ꞛ | ꞛ | Ꞝ | ꞝ | Ꞟ | ꞟ |
ตัวอักษร r[แก้]
โวลาปุกเวอร์ชันของเชลเยอร์หลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษร r เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นเสียงที่อ่านยากสำหรับชาวจีน ดังนั้นรากคำที่มีตัวอักษร r จะถูกเปลี่ยนไปเป็นตัวอักษร l เช่นคำว่า rose ในภาษาอังกฤษถูกเปลี่ยนเป็น lose อย่างไรก็ตาม หน่วยเสียงที่อ่านออกเสียงยากอื่นๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ö /ø/ และ ü /y/ อารี เดอ ยอง เพิ่มตัวอักษร r เข้ามาภายหลัง
วงศัพท์[แก้]
เชลเยอร์พัฒนาวงศัพท์โวลาปุกส่วนใหญ่มาจากภาษาอังกฤษ ผสมกับฝรั่งเศสและเยอรมันอีกเล็กน้อย
ไวยากรณ์[แก้]
ไวยากรณ์ภาษาโวลาปุกมีพื้นฐานมาจากภาษาในยุโรปทั่วๆ ไป
คำนาม[แก้]
คำนามเปลี่ยนแปลงตามจำนวนและตำแหน่ง แต่จะไม่เปลี่ยนตามเพศ
นี่คือคำนามรูปต่างๆ ของคำว่า vol ที่แปลว่าโลก
รูป | เอกพจน์ | พหูพจน์ |
---|---|---|
ประธาน | vol | vols |
คำขยาย | vola | volas |
กรรมรอง | vole | voles |
กรรมตรง | voli | volis |
คำนามในภาษาโวลาปุกมีสี่รูปเหมือนกับในภาษาเยอรมัน
คำคุณศัพท์[แก้]
คำคุณศัพท์สร้างโดยการเติมวิภัตติ -ik โดยทั่วไปตามหลังคำนามที่ขยาย
คำสรรพนาม[แก้]
คำสรรพนามจะขึ้นต้นด้วย o-
การใช้เป็นคำนามทั่วไป[แก้]
คำว่าโวลาปุกยังสามารถแปลว่า ไร้สาระ หรือ เหลวไหล ในหลายๆ ภาษา เช่น สำนวน Det er det rene volapyk for mig (ฉันคิดว่ามันโวลาปุกสุดๆ เลย) ในภาษาดัตช์ คำว่า volapukaĵo ในภาษาเอสเปรันโตยังเป็นคำแสลงหมายถึงสิ่งไร้สาระได้ด้วย สำนวน Tio estas volapukaĵo al mi บางครั้งก็ใช้เหมือนสำนวนอังกฤษที่ว่า "it's Greek to me" (ฉันไม่เข้าใจมันเลย)