ข้ามไปเนื้อหา

ปลาเทพา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาเทพา
ปลาเทพาแบบปกติ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาหนัง
วงศ์: Pangasiidae
สกุล: ปลาสังกะวาด

Smith, 1931
สปีชีส์: Pangasius sanitwongsei
ชื่อทวินาม
Pangasius sanitwongsei
Smith, 1931
ชื่อพ้อง[1]
  • Pangasius beani Smith, 1931
  • Pangasius sanitwangsei Smith, 1931

ปลาเทพา หรือที่ในภาษาอีสานเรียกว่า ปลาเลิม เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius sanitwongsei อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae) ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้ตั้งโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก เพื่อเป็นเกียรติแด่หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันและบุกเบิกให้มีหน่วยงานทางด้านการศึกษาและจัดการสัตว์น้ำในประเทศ ซึ่งก็คือกรมประมงในปัจจุบัน

ถิ่นที่อยู่

[แก้]

ปลาเทพาพบเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขงเท่านั้น แต่ปัจจุบันหาได้ยากมากในแหล่งน้ำธรรมชาติเนื่องจากการทำประมงเกินขนาดและมลพิษทางน้ำ อย่างไรก็ตาม กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้แล้วด้วยวิธีผสมเทียม

ลักษณะ

[แก้]

ปลาเทพามีส่วนหัวและปากกว้างกว่าปลาชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน มีหนวดยาวพอประมาณใต้ปากล่าง 1 คู่ มุมปาก 1 คู่ ใช้หาอาหาร มีฟันแหลมคม รูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ไม่มีเกล็ด ส่วนหลังยกสูง รูปร่างคล้ายปลาสวายเว้นแต่มีปลายก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอก และครีบท้องยื่นเป็นเส้นยาว ครีบไขมันมีขนาดเล็ก ครีบหางเว้าลึก มีแถบสีจางตามแนวยาวทั้ง 2 แฉก ปลาวัยอ่อนมีสีเทาคล้ำ ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำแนวเฉียง ท้องสีจาง ครีบมีแต้มสีดำ ส่วนปลาตัวเต็มวัยมีลำตัวสีเทาคล้ำ ท้องสีจาง ครีบสีคล้ำ ครีบก้นตอนหน้ามีแถบสีคล้ำตามแนวยาว

ปลาเทพาได้รับฉายาว่า "เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา" เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำสายนี้ โดยเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 1–1.25 เมตร ขนาดใหญ่สุดพบยาวกว่า 3 เมตร[2] และมีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ทั้งยังมีลักษณะโดดเด่นตรงที่มีก้านครีบขนาดใหญ่และปลายครีบเป็นเส้นยาว เวลาว่ายน้ำจะตั้งชันเหมือนครีบปลาฉลาม ทำให้ปลาชนิดนี้ดูสง่างามกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน

พฤติกรรม

[แก้]

ปลาวัยอ่อนกินปลาเล็กเป็นอาหาร ปลาวัยโตกินซากสัตว์อื่นและปลาเล็ก

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

[แก้]

เนื้อปลาเทพามักถูกนำมาขายแทนเนื้อปลาบึก (Pangasinodon gigas) ซึ่งหายากและมีราคาแพงกว่า นอกจากนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นปลาพิการที่ลำตัวสั้นกว่าปกติจะมีราคาสูงมาก

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Jenkins, A.; Kullander, F.F. & Tan, H.H. (2009). "Pangasius sanitwongsei". The IUCN Red List of Threatened Species. IUCN. 2009: e.T15945A5324983. doi:10.2305/IUCN.UK.2009-2.RLTS.T15945A5324983.en.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 581.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]