ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215 เป็นทางหลวงในความดูแลของแขวงทางหลวงนนทบุรี กรมทางหลวง

ถนนบางกรวย-ไทรน้อย สายหลัก[แก้]

ประวัติ[แก้]

ถนนบางกรวย-ไทรน้อยก่อสร้างขึ้นในช่วงที่นายสอาด ปายะนันทน์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี หลังจากที่จอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เดินทางมาตรวจราชการและมีนโยบายพัฒนาจังหวัดนนทบุรีให้เจริญก้าวหน้าโดยเร็วในทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะด้านการคมนาคมและด้านความเป็นอยู่ของราษฎร โดยเริ่มตัดถนนขึ้นเป็นทางลาดยาง (พร้อมกับถนนเทอดพระเกียรติซึ่งเป็นทางลัดไปออกบางบำหรุ) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503[1] จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2506[2] ระยะทางบางช่วงของถนนสายนี้สร้างขึ้นบนคันดินเดิมและตามทิศทางเดิมของทางรถไฟสายบางบัวทอง นอกจากนี้ยังมีประชาชนในพื้นที่ร่วมกันอุทิศที่ดินให้ตัดถนนเป็นทางสาธารณะด้วย และเนื่องจากมีแนวเส้นทางยาวและคดเคี้ยวมากจึงมีระยะทางรวมตลอดสายประมาณ 35 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการตัดถนนอยู่ที่ประมาณ 7,500,000[2]-8,000,000 บาท[1]

ถนนบางกรวย-ไทรน้อยเป็นถนนที่มีขนาดตั้งแต่ 2 ช่องจราจรไปจนถึง 6 ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลาง ปัจจุบันเส้นทางตั้งแต่กิโลเมตรที่ 9+550 (ตำบลบางกร่าง เขตเทศบาลเมืองบางศรีเมือง) เป็นต้นไปได้ขยายช่องทางจราจรจากเดิม 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทาง และตั้งแต่เข้าเขตอำเภอบางบัวทองจนถึงช่วงก่อนถึงโค้งสามวังได้ขยายเป็น 4-6 ช่องทาง นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2544 กรมทางหลวงได้เริ่มขยายผิวการจราจรระหว่างกิโลเมตรที่ 21+560 ถึงกิโลเมตรที่ 34+798 (ตั้งแต่ก่อนถึงโค้งสามวังจนถึงทางแยกเข้าตัวอำเภอไทรน้อย) จากเดิม 2 ช่องทางให้เป็น 6 ช่องทาง และปรับปรุงผิวถนนเดิมเป็นถนนแอสฟัลต์คอนกรีตเสริมเหล็ก เพิ่มเกาะกลางถนน ปรับปรุงระบบการระบายน้ำ ทางเท้า และเสาไฟฟ้าตลอดสองข้างทางให้สมบูรณ์ รวมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบางบัวทองขนาด 4 ช่องจราจร[3] เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนและรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่

รายละเอียดเส้นทาง[แก้]

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215
Nonthaburi - Bangbuathong.jpg
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว24.736 กิโลเมตร (15.370 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2503–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศใต้ ถ.จรัญสนิทวงศ์ ใน อ.บางกรวย
  ถ.บางกรวย-จงถนอม/ถ.เทอดพระเกียรติ ใน อ.บางกรวย

ถ.นครอินทร์ ใน อ.บางกรวย
ถ.บางศรีเมือง ใน อ.เมืองนนทบุรี
ถ.ราชพฤกษ์ ใน อ.เมืองนนทบุรี
ทางหลวง นบ.ถ 1-0010 ใน อ.บางใหญ่
ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ใน อ.บางใหญ่
ถ.รัตนาธิเบศร์ ใน อ.บางบัวทอง

ถ.กาญจนาภิเษก ใน อ.บางบัวทอง
ปลายทางทิศเหนือสุดระยะที่ กม. 34+798 ใน อ.ไทรน้อย
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

เขตอำเภอบางกรวย[แก้]

เริ่มจากถนนจรัญสนิทวงศ์ที่ปากทางบางกรวย (ใกล้เชิงสะพานพระราม 7) ในพื้นที่ตำบลบางกรวย โดยอยู่ในความควบคุมของเทศบาลเมืองบางกรวยตั้งแต่จุดนี้ (มีรหัสสายทางว่า นบ.ถ 4-0001) ไปทางทิศตะวันตก ผ่านวัดเชิงกระบือ จนถึงปากซอยบางกรวย-ไทรน้อย 9 (ร่วมใจ) จึงโค้งไปทางทิศเหนือ ถึงปากซอยบางกรวย-ไทรน้อย 8 (ทิพยเนตร) โค้งไปทางทิศตะวันตก ถึงปากซอยบางกรวย-ไทรน้อย 13 (สมชายพัฒนา) โค้งไปทางทิศเหนือ ไปทางทิศตะวันตก ผ่านวัดจันทร์และวัดโพธิ์เผือก ไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดกับซอยบางกรวย-ไทรน้อย 17 (ภาณุรังษี) และซอยบางกรวย-ไทรน้อย 18 (เฉลิมศักดิ์) ที่ทางแยกวัดสำโรง ข้ามคลองบางบำหรุเข้าพื้นที่ตำบลวัดชลอ และยังมุ่งไปทางทิศเดิมจนถึงทางแยกเทอดพระเกียรติ (จุดตัดกับถนนเทอดพระเกียรติและถนนบางกรวย-จงถนอม) จึงมุ่งขึ้นทางทิศเหนือ ผ่านวัดชลอ ข้ามคลองบางกรวย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนกระทั่งถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 5.7 จึงเข้าเขตตำบลบางสีทองและเข้าเขตควบคุมขององค์การบริหารส่วนตำบลบางสีทอง (มีรหัสสายทางว่า นบ.ถ 36-001) ผ่านปากซอยบางกรวย-ไทรน้อย 26 (วัดโคนอน) โค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลยปากซอยบางกรวย-ไทรน้อย 23 (สวนเกษรา) จึงโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงปากซอยบางกรวย-ไทรน้อย 30 (วัดรวกบางสีทอง) โค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนนครอินทร์ที่ทางแยกบางสีทอง ไปทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามคลองวัดแดงที่กิโลเมตรที่ 8+475 เข้าเขตตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี

เขตอำเภอเมืองนนทบุรี[แก้]

เริ่มจากสะพานข้ามคลองวัดแดงที่กิโลเมตรที่ 8+475 เข้าเขตควบคุมของหมวดการทางบางใหญ่ สำนักงานบำรุงทางนนทบุรี โดยถือเป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215 สายต่อทางของอำเภอบางกรวย - ต่อเขตเทศบาลตำบลราษฎร์นิยม หมายเลขควบคุม 0101 ตอนต่อทางของอำเภอบางกรวย - ต่อเขตเทศบาลตำบลราษฎร์นิยม ตั้งแต่จุดนี้ แนวเส้นทางยังคงมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในพื้นที่ตำบลบางกร่าง ตัดกับถนนบางศรีเมือง จากนั้นไปทางทิศตะวันตก ข้ามคลองวัดบางกร่าง ผ่านวัดปราสาท ตัดกับถนนราชพฤกษ์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จนกระทั่งสุดเขตอำเภอเมืองนนทบุรีและเข้าเขตอำเภอบางใหญ่

เขตอำเภอบางใหญ่[แก้]

อยู่ในพื้นที่ตำบลบางเลนตลอดสาย โดยมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือต่อเนื่องมาจากเขตตำบลบางกร่างในอำเภอเมืองนนทบุรี ตัดกับทางหลวงท้องถิ่น นบ.ถ 1-0010 สายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการฯ-วัดสวนแก้ว วกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อย (สายแยกเข้าบางใหญ่เก่า) เมื่อผ่านปากซอยบางเลน ซอย 8 (วัดศรีราษฎร์) จึงโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับซอยบางเลน ซอย 5 (วัดสวนแก้ว) จากนั้นตรงไปทางทิศเดิมจนกระทั่งข้ามคลองอ้อม สุดเขตอำเภอบางใหญ่และเข้าเขตอำเภอบางบัวทอง

เขตอำเภอบางบัวทอง[แก้]

เริ่มจากสะพานข้ามคลองอ้อม ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในพื้นที่ตำบลบางรักใหญ่ ตัดกับถนนรัตนาธิเบศร์ที่ทางแยกบางพลู ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเขตตำบลบางรักพัฒนา และไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านปากซอยเทศบาล 11 (จันทร์ทองเอี่ยม) จากนั้นไปทางทิศเดิมจนเข้าเขตตำบลพิมลราช เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 19+973 (บริเวณหน้าที่ทำการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ) จึงเข้าเขตควบคุมของเทศบาลเมืองบางบัวทอง จากนั้นเข้าเขตตำบลโสนลอย ข้ามคลองบ้านกล้วย ตัดกับถนนเทศบาล 3 ข้ามคลองพระพิมล เข้าเขตตำบลบางบัวทอง โค้งขึ้นทางทิศเหนือ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 21+560 จึงเข้าเขตทางหลวงแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง โดยอยู่ในความควบคุมของหมวดการทางบางบัวทอง สำนักงานบำรุงทางนนทบุรี ก่อนวกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนกาญจนาภิเษกที่ทางแยกบางบัวทอง มุ่งไปทางทิศเดิมจนกระทั่งข้ามคลองตาคล้าย สุดเขตอำเภอบางบัวทองและเข้าเขตอำเภอไทรน้อย

เขตอำเภอไทรน้อย[แก้]

เริ่มจากสะพานข้ามคลองตาคล้ายและคลองลากค้อน ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเขตตำบลไทรน้อย จนกระทั่งข้ามคลองห้าร้อยเข้าเขตตำบลคลองขวางและตัดกับถนนแยกเข้าที่ว่าการอำเภอไทรน้อย[# 1] บริเวณกิโลเมตรที่ 34+798 จึงสุดระยะถนนบางกรวย-ไทรน้อยและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215 โดยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องไปคือทางหลวงท้องถิ่น นบ.ถ 1-0018 สายบ้านไทรน้อย-บ้านคลองนาหมอน ซึ่งเป็นทางลัดไปออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 (ปทุมธานี-บางเลน) ที่ทางแยกไทรน้อยได้

ถนนสายใกล้เคียง[แก้]

สถานที่สำคัญ[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. เมื่อเข้าเขตเทศบาลตำบลไทรน้อยมีชื่อเรียกว่า "ถนนเทศบาล 2"

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จังหวัดนนทบุรี. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนนทบุรี 2525. นนทบุรี: โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงบ้านปากเกร็ด, 2526.
  2. 2.0 2.1 ไพรัตน์ สุขมะโน, ผู้รวบรวม. ภาพเก่าเล่าเรื่องบางบัวทอง. นนทบุรี: จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552, หน้า 53.
  3. ประชาชาติธุรกิจ. "ทางหลวงทุ่ม 900 ล้านอัพเกรด ′ถนนบางบัวทอง-ไทรน้อย′ เป็น 6 เลน คาด 2 ปีเสร็จ ไม่ต้องเวนคืน-บ้านจัดสรรเฮรับ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1277182859 2553. สืบค้น 17 กันยายน 2555.