ถนนอโศกมนตรี
ถนนอโศกมนตรี (อักษรโรมัน: Thanon Asok Montri) เป็นถนนสายสั้น ๆ ในกรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่แยกอโศกมนตรีซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนสุขุมวิทกับถนนรัชดาภิเษก (ที่มุ่งหน้ามาจากเขตคลองเตย) มุ่งไปทางทิศเหนือในพื้นที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ข้ามคลองแสนแสบ เข้าพื้นที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ไปสิ้นสุดที่แยกอโศก-เพชรบุรีซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนเพชรบุรี ปัจจุบันถนนเส้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนรัชดาภิเษก และตรงไปเป็นถนนอโศก-ดินแดง
ถนนอโศกมนตรีเดิมมีชื่อเรียกว่า "ซอยสุขุมวิท 21 (ซอยอโศก)" และ "ถนนอโศก" โดยกรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547 ตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พระอโศกมนตรี (เรียม เศวตเศรณี) ซึ่งเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้อุทิศที่ดินร่วมกับเจ้าของที่ดินรายอื่นและซื้อที่ดินที่เป็นตลาดเดิมมอบให้เทศบาลนครกรุงเทพสร้างถนนสายนี้[1]
สถานที่สำคัญบนถนนสายนี้ มีโรงพยาบาลจักษุรัตนิน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อาคารสภาวิชาชีพบัญชีฯ และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
ประวัติ
[แก้]ทุ่งบางกะปิ
[แก้]แต่เดิมพื้นที่บริเวณถนนอโศกมนตรีเรียกว่า ทุ่งบางกะปิ มีขุนนางและคหบดีเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านเรือนเนื่องจากจะได้ที่ดินแปลงใหญ่เหมาะสมกับขนาดครัวเรือนและราคาไม่สูงมากเพราะห่างจากตัวเมืองอยู่พอสมควร ผู้คนเดินทางทางเรือโดยใช้คลองแสนแสบจากนั้นต่อรถเจ๊กหรือเดินเท้ามายังบ้านอีกต่อหนึ่ง[2]
เมื่อโรงเรียนกุลสตรีวังหลังเริ่มเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2417 (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช) มิสเอ็ดนา เซระห์ โคล ครูใหญ่ในสมัยนั้น คิดจะย้ายโรงเรียนกุลสตรีวังหลังจากท่าน้ำวังหลังมายังทุ่งบางกะปิ โดยเมื่อ พ.ศ. 2457 ท่านได้วางแผนโดยการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในตำบลบางกะปิด้านเหนือติดคลองแสนแสบ เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ แหม่มโคลได้จ้างจีนขุดที่ริมคลอง ยกเป็นร่องปลูกต้นไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ฝรั่ง และกล้วย กับผักต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงนักเรียน แล้วปลูกต้นมะพร้าวล้อมไว้ประมาณ 200 ต้น ต่อมา พ.ศ. 2462 มีการก่อสร้างอาคารหลังแรก เรียกว่า อาคารเรียน 1919 ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยตั้งอยู่ซอยวัฒนา (สุขุมวิท 19) ถือเป็นอาคารหลังแรกและเป็นการตัดซอยแรกในย่านสุขุมวิท[3]
เมื่อ พ.ศ. 2474 นายอะหมัด อิบราฮีม นานา (Ahamad Ebrahim Nana) ได้มอบที่ดินขนาด 3 ไร่ บริเวณถนนอโศกมนตรีให้แก่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างเป็นอาคารหอประชุมและห้องสมุด ออกแบบโดย เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) สถาปนิกชาวอังกฤษ ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476[4]
พ.ศ. 2477 พี่น้องวสุวัตได้เริ่มสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียง (บริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิทปัจจุบัน) เป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ นับเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงสมบูรณ์แบบแห่งแรกของไทย[5] แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 ตั้งชื่อโรงถ่ายว่า ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ก่อนจะต้องยุติกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ลง เพราะผลกระทบที่ได้รับจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง[6]
ตัดถนนสุขุมวิท
[แก้]จนเมื่อ พ.ศ. 2479 ได้มีการเปิดใช้ถนนสายใหม่เชื่อมกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ภายหลังชื่อถนนสุขุมวิท พื้นที่ริมถนนสุขุมวิทได้รับการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม บริเวณช่วงปากซอยเกิดตลาดสดปากซอยอโศก ประกอบกับมีหน่วยงานราชการแห่งใหม่เข้ามาตั้งในพื้นที่คือ วิทยาลัยครูประสานมิตร ต่อมา พ.ศ. 2503 มีการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่พร้อมกับขยายถนนอโศกมนตรีเพื่อเชื่อมต่อถนนสุขุมวิทกับถนนเพชรบุรี หลังจากนี้การพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชัดเจนขึ้น เริ่มมีการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และปลูกบ้านให้เช่า[7] ในช่วงปี พ.ศ. 2510 มีการสร้างสะพานข้ามคลองแสนเสบเพื่อเชื่อมถนนเพชรบุรีกับถนนสุขุมวิท
ในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันเดินทางเข้ามาเช่าห้องพักบริเวณถนนสุขุมวิท เกิดสถานบริการและสถานบันเทิงเช่นย่านซอยคาวบอย ในช่วงนี้บริเวณถนนอโศกมนตรีเป็นแหล่งสินค้าเพื่อทหารต่างชาติ รวมทั้งแกเลอรีศิลปะ มีแกเลอรีศิลปะที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น เช่น บางกะปิแกลเลอรี[8]
ย่านธุรกิจกลาง
[แก้]มีการตัดถนนรัชดาภิเษกต่อจากถนนอโศกมนตรีช่วงจากถนนสุขุมวิทถึงถนนสุนทรโกษา ความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2531[9] เป็นถนนวงแหวนเชื่อมต่อหลายทาง ทำให้พื้นที่บริเวณถนนอโศกมนตรีเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น[10] บริเวณตรงสี่แยกอโศกมนตรีเป็นที่ตั้งของร้านอาหารซีฟูดพาเลซ เป็นร้านอาหารทะเลขนาดใหญ่[11] อาคารตึกแถวส่วนใหญ่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535–2539 ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่จึงเกิดบริษัทข้ามชาติเข้ามาทำให้ย่านนี้เกิดสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรมและห้างสรรพสินค้า มีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ได้แก่ อาคารอโศกทาวเวอส์ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2528 อาคารซิโน-ไทย สร้างเสร็จ พ.ศ. 2529 อาคารโอเชียนทาวเวอร์ 2 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2536 และอาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เพลส สร้างเสร็จ พ.ศ. 2542[12] ภายหลังเมื่อราว พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้โครงการสำนักงานต่าง ๆ ที่กำลังสร้างต้องหยุดชะงักลง พอหลังจากเศรษฐกิจฟื้นอาคารเหล่านี้เปลี่ยนแปลงมาเป็นคอนโดมีเนียมแทน[13]
เมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอสมีสถานีอโศกบริเวณแยกอโศกมนตรี ต่อมารถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลเปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 มีสถานีสุขุมวิทและสถานีเพชรบุรีผ่านบนเส้นทางถนนอโศกมนตรี
เทอร์มินอล 21 อโศก บริเวณแยกอโศกมนตรีเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 มีจุดเด่นเรื่องศูนย์อาหารราคาถูก[14]
ปัจจุบันถนนอโศกมนตรีเป็นย่านธุรกิจกลางที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นที่ตั้งสำนักงานจำนวนมาก มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดตัดของสถานีรถไฟฟ้ามีปริมาณการใช้บริการเป็นอันดับที่สองของกรุงเทพมหานครรองจากสถานีสยาม ยังมีโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่มีทั้งอยู่ในซอยและอยู่ติดถนนอโศก ได้แก่ Grand Mercure Bangkok Asoke Residence, Pullman Bangkok, Grande Sukhumvit และ Grande Centre Point Terminal 21 เป็นต้น[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, 431-432
- ↑ "เปิดประวัติศาสตร์ความศิวิไลซ์ของที่ดินย่านสุขุมวิทตอนต้น".
- ↑ "ประวัติอาคารเรียนมัธยมศึกษาเดิม (1919) อาคารประวัติศาสตร์".
- ↑ "ความเป็นมา". สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์.
- ↑ "ยุคภาพยนตร์เสียงศรีกรุง". ArtBangkok. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-05-21.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่)". หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน).
- ↑ สกาวเนตร สะใบ. "แนวทางการออกแบบเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างสาธารณะและกึ่งสาธารณะตามแนวถนน : กรณีศึกษาย่านอโศก-นานา ถนนสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ "พิพิธภัณฑ์และแกลลอรี g23". สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-10. สืบค้นเมื่อ 2022-05-22.
- ↑ "โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก จังหวัดกรุงเทพมหานคร". พอเพียง.
- ↑ "สภาพทั่วไปของถนนรัชดาภิเษก".
- ↑ สตีฟ แวน บีค. "การท่องเที่ยวในวันวาน". p. 63.
- ↑ "อโศก ทำเลทอง ที่ทุกคนอยากสร้างตึกสูง บนถนนนี้". ลงทุนแมน.
- ↑ เจนการ เจนการกิจ. "ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม ในย่านสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ "แก่นของการมองต่าง แปลงขาดทุนเป็นกำไร เปิดโอกาสธุรกิจเดินหน้าเหนือกว่าได้?". ไทยรัฐ.
- ↑ ทูล นำพันธุ์วิวัฒน์. "การศึกษาความเป็นไปได้ของที่ดินบนถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21)" (PDF). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนอโศกมนตรี
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์