ซอยคาวบอย

พิกัด: 13°44′13″N 100°33′45″E / 13.736806°N 100.5625°E / 13.736806; 100.5625
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซอยคาวบอยในยามราตรี
ซอยคาวบอยในตอนกลางวัน ทางซ้ายมือของภาพจะเห็นร้าน Fanny's, Dollhouse และ Midnite Bar

ซอยคาวบอย เป็นย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทราบกันโดยทั่วไปว่ามีการแอบแฝงค้าประเวณีอยู่ในซอยแห่งนี้ เช่นเดียวกับนานาพลาซ่าและพัฒน์พงษ์ ซอยคาวบอยเป็นซอยสั้น ๆ ประกอบไปด้วยบาร์ต่าง ๆ กว่า 40 บาร์ การบริการเน้นไปที่ลูกค้านักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่มาเมืองไทย

บาร์เกือบทั้งหมดในซอยคาวบอยจะเป็นรูปแบบบาร์อะโกโก้ ซึ่งเหมือนกับที่อื่น ๆ ในประเทศไทย โดยจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่าย และมีผู้หญิงใส่ชุดว่ายน้ำเต้นอยู่บนเวที ในบาร์บางแห่งผู้หญิงเหล่านี้จะเปลือยท่อนบนหรือแม้กระทั่งเปลือยทั้งตัว ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ผู้หญิงที่เต้นนี้ส่วนใหญ่มักจะขายบริการทางเพศด้วย พวกเธอจะดูแลลูกค้าที่จ่ายค่าธรรมเนียมบาร์ (Barfine) ซึ่งเงินส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้กับพวกเธอ ส่วนการบริการทางเพศจะไม่ทำในบาร์ โดยจะทำในห้องโรงแรมของนักท่องเที่ยวหรือแล้วแต่การตกลงกัน ลูกค้าชาวไทยมักจะถูกปฏิเสธให้เข้าบาร์เหล่านี้ ยกเว้นจะมากับชาวต่างชาติ

ที่ตั้ง[แก้]

ซอยคาวบอยตั้งอยู่ระหว่างถนนสุขุมวิท ซอย 21 (ถนนอโศกมนตรี) กับ ถนนสุขุมวิท ซอย 23 สามารถเดินมาจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก และรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสุขุมวิท ใกล้กับโรงแรมแกรนด์มิลเลนเนียม

ที่มาของชื่อ[แก้]

ซอยคาวบอยตั้งชื่อตามทหารอากาศอเมริกันที่เกษียณแล้วคนหนึ่ง ชื่อว่า ที. จี. เอ็ดเวิร์ดส์ ที่มีชื่อเล่นหรือฉายาว่า คาวบอย ซึ่งเช่าพื้นที่ของ นายมนตรี สิงหเสมานนท์ ผู้บุกเบิกถนนสายนี้ มาเปิดกิจการบาร์ชื่อ "คาวบอย" ในซอยนี้ในปี พ.ศ. 2520 เอ็ดเวิร์ดส์เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน (อเมริกันสี) เหตุได้ชื่อเล่นว่า คาวบอย มาจากการที่เขามักจะใส่หมวกคาวบอยเป็นประจำ

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ปี พ.ศ. 2543 วงดนตรีสัญชาตินอร์เวย์ Getaway People ได้แต่งเพลงชื่อ "Soi Cowboy" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับซอยแห่งนี้ ในขณะเดียวกันวงดนตรีร็อกอเมริกัน Sun City Girls ก็มีบทเพลงชื่อ "Soi Cowboy" ในอัลบั้ม 330,003 Crossdressers From Beyond The Rig Veda ออกในปีพ.ศ. 2539

ฮิวจ์ แกรนท์และผู้ติดตามได้ไปที่ซอยคาวบอยในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2546 ขณะที่ถ่ายทำภาพยนตร์อยู่ที่เมืองไทยเรื่อง Bridget Jones: The Edge of Reason ซึ่งสาว ๆ จากซอยคาวบอยบางคนก็ได้แสดงในเรื่องนั้นด้วย แท็บลอยด์ของลอนดอน ชื่อ The Sun ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 กล่าวว่า ฮิวจ์ แกรนท์ได้ถูกผู้หญิงในบาร์ Tilac ไล่ตามซึ่งเขาก็วิ่งหนี [1]

เมื่อช่วงหน้าร้อนปี พ.ศ. 2547 ซีรีส์ตลกดรามาของอังกฤษเรื่อง Auf Wiedersehen, Pet มี 2 ตอนที่บางฉากถ่ายทำที่ซอยคาวบอย

ปี พ.ศ. 2548 บาร์ Moonshine Joint และ Dollhouse ในซอยคาวบอยปรากฏในสารคดีของ Jodan Clark เรื่อง Falang: Behind Bangkok's Smile หรือ Bangkok Girl ซึ่งได้สัมภาษณ์นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางเพศในซอยคาวบอย

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่อง Bangkok Dangerous ถ่ายทำที่ซอยคาวบอย[2]

พ.ศ. 2556 นิกกี้ หรือ สุระ ธีระกล เจ้าของฉายา นิกกี้เก้านิ้ว ได้แต่งและขับร้องบทเพลง G-String ซึ่งเนื้อหาช่วงหนึ่งบอกว่า ตัวนิกกี้เป็นเพลย์บอยที่ยืนอยู่คนเดียวอย่างเปล่าเปลี่ยวที่ ซอยคาวบอย

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′13″N 100°33′45″E / 13.736806°N 100.5625°E / 13.736806; 100.5625