ข้ามไปเนื้อหา

การลงคะแนนแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Plurality voting)

การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (อังกฤษ: plurality voting) เป็นระบบการลงคะแนนซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครได้เพียงรายเดียว และผู้สมัครรายใดที่ได้รับคะแนนมากกว่ารายอื่นจะเป็นผู้ชนะการเลือกไป โดยในระบบที่ใช้สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียว (single-member districts) อาจเรียกว่า ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first-past-the-post, ย่อ FPTP) ระบบการลงคะแนนแบบตัวเลือกเดียว (single-choice voting) ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าอย่างง่าย (simple plurality) หรือ ระบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (relative/simple majority) ส่วนในกรณีที่ใช้ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนหลายคน อาจเรียกเป็น แบบผู้ชนะกินรวบ (winner-takes-all) หรือ ระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ (bloc voting)

ระบบนี้ยังใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือผู้นำฝ่ายบริหารในหลายประเทศ เช่น ในการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดในสหรัฐ สภาล่างในอินเดีย (โลกสภา) สภาสามัญชนในอังกฤษ และการเลือกตั้งท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส (แบบสองรอบ) และแคนาดาในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐ

การลงคะแนนในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าหรือคะแนนเสียงที่เหนือกว่าแตกต่างจากระบบเสียงข้างมากซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งจำเป็นจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) จากคะแนนเสียงทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าผู้ชนะจะมีคะแนนเสียงมากกว่าผู้สมัครรายอื่น ๆ ทุกรายรวมกัน ส่วนในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าหรือคะแนนเสียงที่เหนือกว่าผู้ชนะแค่ต้องได้รับคะแนนที่มากกว่าผู้สมัครรายอื่นจึงจะชนะการเลือกตั้ง

ในทั้งระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าและเสียงข้างมากอาจจะใช้สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ในกรณีหลัง อาจจะเรียกว่าเป็นระบบบัตรลงคะแนนหลายรอบ (exhaustive ballots) ซึ่งจะสามารถหาผู้ชนะได้รอบละคนและเริ่มการนับใหม่จนได้ผู้ชนะครบทุกที่นั่ง

ในบางกรณี รวมถึงฝรั่งเศส และในรัฐลุยเซียนาและรัฐจอร์เจียของสหรัฐ ใช้การลงคะแนนระบบสองรอบ (two-ballot) หรือระบบตัดเชือก (runoff-election) ซึ่งอาจจะต้องใช้การนับคะแนนถึงสองรอบในการหาผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงที่เหนือกว่า หากในการนับคะแนนรอบแรกไม่มีผู้สมัครรายได้คะแนนเสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด ในรอบที่สองนั้นจะคัดเหลือเพียงผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรกเข้าชิงตำแหน่งเท่านั้น

ในเกณฑ์อื่นที่พบได้ คือ ผู้สมัครทุกคนจะต้องมีคะแนนเสียงถึงจำนวนขั้นต่ำที่ต้องการ ในรอบแรกจึงจะสามารถเข้าไปแข่งขันในรอบที่สองได้ ในกรณีที่ยังมีผู้สมัครมากกว่าสองคนในรอบที่สอง จะใช้หลักคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในการตัดสินผู้ชนะ

ในวิชารัฐศาสตร์ การใช้ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวหรือหลายคนเพื่อเลือกตั้งองค์การใด ๆ ที่มีสมาชิกหลายคนนั้นเรียกว่า single-member district plurarity (SMDP) ซึ่งในหลายครั้งถูกเรียกว่า "ผู้ชนะกินรวบ" เพื่อให้แตกต่างชัดเจนกับระบบสัดส่วน

วลี "ผู้ชนะกินรวบ" นั้นบางครั้งอาจหมายถึงการเลือกตั้งผู้แทนหลายคนพร้อม ๆ กันในเขตเลือกตั้งเดียวในระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ หรือเรียกอีกอย่างว่าระบบลงคะแนนยกชุด (bloc voting) หรือ MMDP ซึ่งในระบบนี้ใช้ในการลงคะแนนเลือกคณะผู้เลือกตั้งในระดับรัฐเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ

การลงคะแนน

[แก้]

การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าใช้ในการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศใน 43 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เคยมีความเกี่ยวพันกับสหราชอาณาจักร สหรัฐ แคนาดา และอินเดีย[1]

ในแบบที่ใช้เลือกผู้สมัครคนเดียวนั้น ผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนได้เพียงแค่ผู้สมัครเพียงรายเดียว และการตัดสินผู้ชนะนั้นใช้เกณฑ์จำนวนคะแนนเสียงที่มีมากที่สุด (คะแนนเสียงที่เหนือกว่า) จึงทำให้การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่านี้เป็นระบบที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ลงคะแนนและกรรมการผู้นับคะแนน (อย่างไรก็ตามการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นมักจะเป็นข้อโต้แย้งอยู่เสมอในระบบนี้)

ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่มีผู้แทนคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้ลงคะแนนที่อยู่ในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ จะสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เพียงรายเดียวจากจำนวนผู้สมัครทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้น ในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งจะถือเป็นผู้แทนของเขตเลือกตั้งนั้นโดยปริยาย

ในการเลือกตั้งเพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียวในระดับประเทศ เช่น ประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดี ใช้ระบบการลงคะแนนแบบในเดียวกันซึ่งผู้ชนะเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด

ในการลงคะแนนระบบสองรอบนั้น โดยปกติจะให้ผู้สมัครเพียงสองรายที่ได้รับคะแนนสูงสุดในรอบแรกเข้าไปสู่รอบที่สอง หรือเรียกอีกอย่างว่า "รอบตัดเชือก"

ในการลงคะแนนเพื่อหาผู้แทนที่มากกว่าหนึ่งคนต่อเขตเลือกตั้ง ผู้ชนะเหล่านั้นคือผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด (จำนวนขึ้นอยู่กับการจัดที่นั่งในเขตเลือกตั้ง) โดยกฎที่ใช้มีทั้งผู้ลงคะแนนสามารถเลือกได้เพียงคนเดียว หรือหลายคนแต่ไม่เกินกี่คน หรือจำนวนใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้

บัตรลงคะแนน

[แก้]
ตัวอย่างของบัตรลงคะแนน

โดยทั่วไป บัตรลงคะแนนในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบหลัก แบบง่ายที่สุดประกอบด้วยช่องว่างซึ่งเว้นไว้เพื่อเขียนชื่อผู้สมัครที่ต้องการด้วยลายมือ แบบที่เป็นระเบียบมากขึ้นจะมีรายชื่อผู้สมัครและมีช่องว่างข้างหน้าชื่อผู้สมัครสำหรับการกาเครื่องหมายเลือกผู้สมัครรายเดียว (หรือหลายรายในบางระบบ)

ตัวอย่างการลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า

[แก้]

การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร

[แก้]

ในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับแคนาดา และสหรัฐ ใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวในการเลือกตั้งระดับประเทศ ซึ่งในแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียว ผู้สมัครรายใดที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในเขตนั้นจะได้รับเลือก (คะแนนเสียงที่เหนือกว่าชนะ) โดยไม่จำเป็นจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เมื่อค.ศ. 1992 พรรคเสรีประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหนึ่งในสกอตแลนด์โดยมีคะแนนเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น ในระบบเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวที่ใช้ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในการเลือกผู้ชนะนั้นมักจะทำให้เกิดพรรคใหญ่เพียงสองพรรค ในประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนในการเลือกตั้งนั้นในทางกลับกันไม่เป็นประโยชน์ที่จะลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใหญ่ จึงทำให้เกิดระบบการเมืองแบบหลายพรรคขึ้น

ในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร แต่ในการเลือกตั้งในระดับสภาของตนนั้นใช้แบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง ในสหราชอาณาจักรทั้งหมดใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนในการเลือกตั้งสภายุโรป

ประเทศที่ได้รับมรดกทางการเมืองมาจากบริเตนใหญ่นั้นล้วนจะมีสองพรรคใหญ่ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เช่นในสหรัฐซึ่งมีพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ส่วนในแคนาดานั้นถือเป็นข้อยกเว้น โดยมีพรรคการเมืองใหญ่หลัก ๆ ถึงสามพรรค ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ใหม่ ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย พรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายขวา และพรรคเสรีนิยม ซึ่งอยู่ตรงกลางค่อนไปทางซ้าย ส่วนพรรคในลำดับที่สี่ซึ่งไม่ถือเป็นพรรคการเมืองหลักในปัจจุบันได้แก่ พรรคบล็อกเกเบกัวซึ่งสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐเกแบ็ก และเป็นพรรคประจำเขตซึ่งลงแข่งขันเพียงแค่ในการเมืองระดับรัฐ ส่วนในนิวซีแลนด์นั้นเคยใช้ระบบเดียวกับบริเตนใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคเช่นกัน ซึ่งทำให้พลเมืองชาวนิวซีแลนด์ไม่พอใจเพราะปัญหาของพวกเขาไม่ได้รับการแก้ไขจึงทำให้รัฐสภานิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายใน ค.ศ. 1993 ไปใช้ระบบการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเยอรมนี ซึ่งใช้ระบบสัดส่วน (PR) โดยมีที่นั่งจำนวนหนึ่งมาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่อมาจึงทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีการเมืองแบบหลายพรรค[2]

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร ใน ค.ศ. 2015 มีข้อเรียกร้องจากพรรคเอกราชสหราชอาณาจักรในการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้เป็นแบบสัดส่วนเนื่องจากพรรคฯ ได้รับคะแนนเสียงทั้งประเทศถึง 3,881,129 คะแนน แต่ได้ที่นั่งในสภาไปเพียงแค่ที่นั่งเดียว[3] ส่วนพรรคกรีนนั้นร่วมชะตากรรมเดียวกันคือที่นั่งกับคะแนนเสียงไม่สัมพันธ์กัน ในขณะที่พรรคชาติสกอตนั้นได้คะแนนเสียงเพียง 1,454,436 คะแนน แต่ได้ที่นั่งถึง 56 ที่นั่งเนื่องจากแรงสนับสนุนท่วมท้นในเขตเลือกตั้งของสกอตแลนด์

ตัวอย่าง

[แก้]

ใช้จำนวนประชากรเป็นร้อยละโดยนำมาจากรัฐเทนเนสซีในสหรัฐเป็นตัวอย่างประกอบ

Tennessee and its four major cities: Memphis in the south-west; Nashville in the centre, Chattanooga in the south, and Knoxville in the east

สมมติว่ารัฐเทนเนสซีกำลังจะจัดการเลือกตั้งเพื่อเลือกเมืองหลวงของรัฐ โดยประชากรในรัฐเทนเนสซีนั้นกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักทั้งสี่เมืองซึ่งตั้งอยู่ในแต่ละฝั่งของรัฐ ในตัวอย่างนี้ให้สมมติว่าเขตเลือกตั้งทั้งเขตนั้นอยู่ในเขตเมืองทั้งสี่นี้ และประชาชนทุกคนต้องการเลือกให้อาศัยอยู่ใกล้เมืองหลวงมากที่สุด

รายชื่อเมืองผู้สมัครเข้ารับตำแหน่งเมืองหลวงได้แก่

  • เมมฟิส ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ มีผู้ลงคะแนนมากถึงร้อยละ 42 แต่ตั้งอยู่ไกลจากเมืองอื่นๆ
  • แนชวิลล์ มีผู้ลงคะแนนร้อยละ 26 ตั้งอยู่ใจกลางรัฐ
  • น็อกซ์วิลล์ มีผู้ลงคะแนนร้อยละ 17
  • แชตตานูกา มีผู้ลงคะแนนร้อยละ 15

การแบ่งจำนวนเสียงข้อผู้ลงคะแนนสามารถจำแนกได้ดังนี้

42% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับเมมฟิส)
26% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับแนชวิลล์)
15% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับแชตตานูกา)
17% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับน็อกซ์วิลล์)
  1. เมมฟิส
  2. แนชวิลล์
  3. แชตตานูกา
  4. น็อกซ์วิลล์
  1. แนชวิลล์
  2. แชตตานูกา
  3. น็อกซ์วิลล์
  4. เมมฟิส
  1. แชตตานูกา
  2. น็อกซ์วิลล์
  3. แนชวิลล์
  4. เมมฟิส
  1. น็อกซ์วิลล์
  2. แชตตานูกา
  3. แนชวิลล์
  4. เมมฟิส

หากผู้ลงคะแนนแต่ละคนในแต่ละเมืองนั้นเลือกได้เพียงเมืองเดียว (ชาวเมมฟิสเลือกเมมฟิส ชาวแนชวิลล์เลือกแนชวิลล์ เป็นต้น) เมมฟิสจะได้รับเลือกเนื่องจากมีคะแนนเสียงมากที่สุด (ร้อยละ 42) ซึ่งในระบบนี้ไม่ได้ใช้เกณฑ์คะแนนเสียงข้างมากในการเลือกผู้ชนะ เมมฟิสเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเนื่องจากได้คะแนนเสียงมากที่สุดถึงแม้ว่าอีกร้อยละ 58 ของผู้ลงคะแนนจะไม่เลือกเมมฟิสก็ตาม ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นหากมีการใช้ระบบสองรอบในการลงคะแนนซึ่งแนชวิลล์ก็จะเป็นผู้ชนะแทน (ในทางปฏิบัติแล้วผู้ลงคะแนนในแชตตานูกาและนอกซ์วิลล์จะใช้กลยุทธ์ในการเลือกตั้งและเลือกเมืองแนชวิลล์แทน)

ข้อเสีย

[แก้]

การลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์

[แก้]

เช่นเดียวกับระบบการลงคะแนนอื่นๆ ระบบการลงคะแนนแบบคะแนนเสียงเหนือกว่านั้นง่ายต่อเกิดการลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์ เช่น "การรอมชอม" (compromising) ผู้ลงคะแนนทั้งหลายจะถูกกดดันให้ลงคะแนนให้กับผู้สมัครรายเดียวจากสองรายที่มีโอกาสชนะมากกว่าถึงแม้ความชอบที่แท้จริงของผู้ลงคะแนนนั้นอาจจะไม่ใช่ทั้งสองคน เพราะว่าคะแนนเสียงที่ออกให้ผู้สมัครรายอื่นนั้นมีโอกาสที่จะทำให้ผู้สมัครรายที่ชอบไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่จะไปช่วยลดการสนับสนุนแก่ผู้สมัครหลักคนใดคนหนึ่งจากทั้งสองพรรคหลักที่ผู้ลงคะแนนอาจชอบมากกว่าอีกคนหนึ่งแทน พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยดังนั้นจะสามารถดึงคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อผู้ลงคะแนนเลย พรรคการเมืองที่เหลืออื่นๆ จะต้องเริ่มสร้างความนิยมและความน่าเชื่อถือผ่านการเลือกตั้งในหลายสมัยจนกว่าจะได้รับการพิจารณาโดยผู้ลงคะแนน

ในตัวอย่างกรณีรัฐเทนเนสซี หากผู้ลงคะแนนทั้งหมดของแชตตานูกาและน็อกซ์วิลล์ทำการลงคะแนนให้แก่แนชวิลล์แทน แนชวิลล์ก็อาจจะชนะการเลือกตั้ง (ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 58) โดยแนชวิลล์นั้นอาจจะเป็นตัวเลือกลำดับสามของผู้ลงคะแนนเหล่านี้ แต่หากทำการลงคะแนนให้กับลำดับความชอบแรกแล้ว (เมืองของตนเอง) จะส่งผลให้เมืองที่ชอบเป็นอันดับสุดท้าย (เมมฟิส) ชนะการเลือกตั้งแทน

จำนวนพรรคการเมืองน้อย

[แก้]
แผนภูมิแท่งแสดงความแตกต่างระหว่างคะแนนเสียงรวมกับจำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองได้รับในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2005 ในสหราชอาณาจักร

จากกฎของดูว์แวร์แฌ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงการเลือกตั้งที่ใช้ระบบแบ่งเขตเบอร์เดียวนั้นจะทำให้ประเทศกลายเป็นการเมืองแบบสองพรรคเมื่อเวลาผ่านไป[4]

การลงคะแนนระบบคะแนนนำนี้มักจะทำให้พรรคการเมืองลดจำนวนเหลือเพียงสองพรรคใหญ่มากกว่าระบบอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนทำให้พรรคการเมืองเดียวสามารถมีคะแนนเสียงข้างมากในสภาได้ (ในสหราชอาณาจักร จากการเลือกตั้งทั่วไป 21 ครั้ง จากทั้งหมด 24 ครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1922 เป็นต้นมา ทำให้มีพรรคการเมืองเดียวกุมเสียงข้างมากในสภาได้)

การลงคะแนนในระบบนี้ซึ่งก่อให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่ซ้ำ ๆ จากพรรคหลักเพียงไม่กี่พรรค ทำให้เกิดรัฐบาลที่ไม่ได้มีมุมมองแตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก โดยเป็นไปได้ที่ผู้ลงคะแนนอาจเล็งเห็นว่าพรรคการเมืองใหญ่แต่ละพรรคนั้นล้วนมีนโยบายและมุมมองในปัญหาคล้ายกัน จึงทำให้ผู้ลงคะแนนไม่ได้มีความรู้สึกอยากลงคะแนนอย่างมีความหมายสำคัญเพียงพอ

เนื่องจากมีตัวเลือกน้อยให้ผู้ลงคะแนนเลือก โดยถึงแม้ว่าอาจจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรายนั้นในขณะที่ความรู้สึกของผู้ลงคะแนนนั้นยังไม่พอใจในผู้สมัคร แต่เหตุที่เลือกเพราะเนื่องจากผู้ลงคะแนนรู้สึกชอบผู้สมัครรายอื่นน้อยกว่าแทน ดังนั้นจึงทำให้ผู้แทนนั้นไม่สัมพันธ์กับมุมมองทางการเมืองของผู้ลงคะแนน

นอกจากนี้ การนำโดยพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวนั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้อย่างทันใดถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อาจจะได้รับความเห็นชอบจากแค่เพียงกลุ่มคนที่เลือกมา (ซึ่งอาจจะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลงคะแนน) แต่ในทางกลับกันในระบบหลายพรรคนั้นจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

คะแนนเสียเปล่า

[แก้]

คะแนนเสียเปล่า (wasted votes) เป็นคะแนนเสียงที่ออกเพื่อเลือกตั้งผู้สมัครที่มีแนวโน้มที่จะแพ้การเลือกตั้ง และรวมถึงคะแนนเสียงเกินซึ่งเป็นคะแนนที่เกินจากจำนวนคะแนนเสียงที่ต้องการสำหรับการชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร ค.ศ. 2005 คะแนนเสียงถึงกว่าร้อยละ 52 นั้นลงไปให้ผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้ง และกว่าอีกร้อยละ 18 เป็นคะแนนเสียงเกิน ซึ่งรวมกันกว่าร้อยละ 70 เป็นคะแนนเสียเปล่า ดังนั้นจึงเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องระบบการลงคะแนนนี้เพราะเสียงข้างมากนั้นอาจจะไม่มีความหมายใด ๆ เลยในผลลัพธ์การเลือกตั้ง มีระบบการลงคะแนนอื่น ๆ อีกมากที่แก้ปัญหานี้เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงมีประสิทธิภาพในการสร้างผลลัพธ์ซึ่งคือการลดปัญหาคะแนนเสียเปล่า

การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ

[แก้]

เนื่องจากการลงคะแนนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (FPTP) ทำให้เกิดคะแนนเสียเปล่ามาก ซึ่งการเลือกตั้งภายใต้ระบบนี้จะง่ายต่อการถูกเอาเปรียบจากการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม (Gerrymandering) เว้นแต่จะมีกลไกป้องกันอย่างเป็นระบบ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบนี้ พรรคการเมืองที่ยังอยู่ในอำนาจสามารถจัดการกำหนดเขตเลือกตั้งเพื่อให้ได้เปรียบกับพรรคการเมืองของตัวเองในสมัยเลือกตั้งถัดไปได้

โดยสรุปแล้วหากพรรคการเมือง G ซึ่งมีอำนาจในรัฐบาลต้องการที่จะลดจำนวนที่นั่งที่คิดว่าพรรคฝ่ายค้าน O จะได้รับในการเลือกตั้งสมัยถัดไป สามารถกระทำได้โดยกำหนดจำนวนเขตเลือกตั้งใหม่ในบริเวณที่พรรค O นั้นมีคะแนนเสียงข้างมากอยู่ ซึ่งพรรค O ย่อมจะชนะที่นั่งเหล่านี้ไปโดยปริยายในขณะที่คะแนนเสียงส่วนมากที่ออกให้พรรค O จะเสียเปล่าไป ดังนั้นเขตเลือกตั้งที่เหลือนั้นย่อมถูกออกแบบให้พรรค G ได้คะแนนข้างมากเพียงเล็กน้อย ซึ่งคะแนนเสียงที่ออกให้แก่พรรค G นั้นเสียเปล่าน้อยกว่า และพรรค G จะชนะที่นั่งด้วยคะแนนนำจำนวนน้อยกว่า ผลของการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ ที่นั่งที่ชนะโดยพรรค O จึงมึต้นทุนคะแนนเสียงที่มากกว่าที่นั่งที่ชนะโดยพรรคการเมือง G

เสียงแตก

[แก้]

ปัญหาเสียงแตก (Spoiler effect) เป็นผลกระทบจากคะแนนเสียงที่แตกออกให้แก่ผู้สมัครหลายคนที่มีนโยบายคล้ายคลึงกัน โดยผู้สมัครที่อาจใช้เป็นตัวล่อ (Spoiler) ในการเลือกตั้งนั้นจะแย่งคะแนนเสียงจากผู้สมัครหลักที่มีนโยบายทางการเมืองแนวเดียวกัน ซึ่งมักจะเป็นเหตุให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อผู้สมัครจากพรรคการเมืองคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามได้ พรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนหลายพรรคสามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ของการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดได้โดยมีความจงใจทำลายสมดุลของระบบสองพรรคการเมืองโดยทำให้เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ในสเปคตรัมการเมืองซึ่งทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงลดลงจากคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดเปลี่ยนไปเป็นเพียงคะแนนนำเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือพรรคการเมืองที่มีความนิยมน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการลงคะแนนที่ใช้ระบบสัดส่วนจะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ชนะได้จากส่วนแบ่งตามสัดส่วนผู้แทนที่พึงได้รับ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Global Distribution of Electoral Systems". Aceproject.org. 2008-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-08.
  2. Roskin, Michael, Countries and Concepts (2007)
  3. "Reckless Out Amid UKIP Frustration At System". สืบค้นเมื่อ 2015-05-08.
  4. Bernard Grofman; André Blais; Shaun Bowler (5 March 2009). Duverger's Law of Plurality Voting: The Logic of Party Competition in Canada, India, the United Kingdom and the United States. Springer Science & Business Media. ISBN 978-0-387-09720-6.