ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส

พิกัด: 48°51′10″N 2°21′0″E / 48.85278°N 2.35000°E / 48.85278; 2.35000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Notre Dame de Paris)
อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส
Cathédrale Notre-Dame de Paris
ด้านหน้าอาสนวิหารทางฝั่งตะวันตก
แผนที่
48°51′11″N 2°20′59″E / 48.85306°N 2.34972°E / 48.85306; 2.34972
ที่ตั้งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์www.notredamedeparis.fr
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอทิกแบบฝรั่งเศส
ปีสร้างค.ศ. 1163
แล้วเสร็จค.ศ. 1345
ความสูงอาคาร69 เมตร (226 ฟุต)
ขนาดอื่น ๆกว้าง 69 เมตร (226 ฟุต)
ยาว 128 เมตร (420 ฟุต)
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1862)
"ครีบยันลอย" (flying buttress) ที่ยื่นออกไปรอบบริเวณร้องเพลงด้านหลังโบสถ์

อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส[1] (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Paris [nɔtʁə dam də paʁi] ( ฟังเสียง)) เป็นอาสนวิหารประจำอัครมุขมณฑลปารีส ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คำว่า Notre Dame แปลว่า แม่พระ (Our Lady) ซึ่งเป็นคำที่ชาวคาทอลิกใช้เรียกพระนางมารีย์พรหมจารี ปัจจุบันอาสนวิหารก็ยังใช้เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกและเป็นที่ตั้งคาเทดราของอาร์ชบิชอปแห่งปารีส อาสนวิหารน็อทร์-ดามถือกันว่าเป็นโบสถ์ที่สวยงามที่สุดในลักษณะกอทิกแบบฝรั่งเศส โบสถ์นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก ผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส

การก่อสร้างเป็นแบบกอทิก นับเป็นอาสนวิหารแรกที่สร้างในลักษณะนี้ และการก่อสร้างก็ทำต่อเนื่องมาตลอดสมัยกอทิก ประติมากรรม และหน้าต่างประดับกระจกสี (stained glass) มีอิทธิพลจากศิลปะแบบแนทเชอราลลิสม์ ทำให้แตกต่างจากศิลปะโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนหน้านั้น

น็อทร์-ดามเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งก่อสร้างแรกที่ใช้ "ครีบยันลอย" ตามแบบเดิมไม่ได้บ่งถึงกำแพงค้ำยันรอบอาสนวิหาร "บริเวณร้องเพลงสวด" หรือ รอบบริเวณกลางโบสถ์ เมื่อเริ่มสร้างกำแพงโบสถ์สูงขึ้นกำแพงก็เริ่มร้าวเพราะน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง เพราะสถาปนิกสมัยกอทิกจะเน้นการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สูง บาง และโปร่ง เมื่อสร้างสูงขึ้นไปกำแพงก็ไม่สามารถรับน้ำหนักและความกดดันของกำแพงและหลังคาได้ทำให้กำแพงโก่งออกไปและร้าว สถาปนิกจึงใช้วิธีแก้ด้วยการเติม "กำแพงค้ำยัน" ที่กางออกไปคล้ายปีกนกด้านนอกตัววัด เพื่อให้กำแพงค้ำยันนี้หนุนหรือค้ำกำแพงตัวโบสถ์เอาไว้ เมื่อทำไปแล้วนอกจากจะมีประโยชน์ทางการใช้สอยแล้วยังกลายเป็นเครื่องตกแต่งที่ทำให้สิ่งก่อสร้างความสวยงามขึ้น ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของโบสถ์ที่สร้างแบบกอทิกไปในตัว

ในปี ค.ศ. 1793 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส โบสถ์ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประติมากรรมและศิลปะทางศาสนาถูกทำลายไปมาก อาสนวิหารได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนมีสภาพเหมือนก่อนหน้าที่ถูกทำลาย

เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 เกิดเหตุเพลิงไหม้อาสนวิหาร สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยไฟได้โหมไหม้ตรงด้านบนของอาสนวิหาร (สาเหตุเพลิงไหม้ คาดว่าเกิดมาจากการบูรณะวิหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 จนถึงปัจจุบัน) บริเวณยอดแหลมของอาสนวิหารได้พังลง กระจกสีเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูและคริสต์ประวัติได้รับความเสียหาย งานศิลปะบางส่วนก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เหลือทิ้งไว้เพียงโครงเหล็ก และคาดการณ์ว่าไฟอาจจะลามมายังอาสนวิหารทางฝั่งตะวันตกได้ โดยทางโฆษกของอาสนวิหารน็อทร์-ดามระบุว่า โครงสร้างทั้งหมดกำลังไหม้ และ "จะไม่มีอะไรเหลือ"[2][3]

วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2019 หลังจากการระดมกำลังร่วมกันดับไฟที่โหมกระหน่ำอยู่ภายในอาสนวิหาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว โดยสามารรักษาโครงสร้างหลักของอาสนวิหารเอาไว้ได้ ซึ่งกางเขนและแท่นมิซซาที่อยู่ภายในไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ทางด้านประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นายแอมานุเอล มาครง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อขณะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายว่า "จะบูรณะอาสนวิหารให้กลับมามีสภาพดังเดิม โดยอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ และจะจัดตั้งกองทุนระดมเงินสำหรับการบูรณะในครั้งนี้" พร้อมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทุกนายที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

การก่อสร้าง

[แก้]

เมื่อปี ค.ศ. 1160 บิชอปมอริส เดอ ซูว์ลี (Maurice de Sully) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งปารีส ท่านเห็นว่าโบสถ์ที่ตั้งอยู่เดิมไม่สมฐานะ จึงสั่งให้รื้อทิ้งไม่นานหลังจากที่ท่านได้รับตำแหน่งใหม่ ตามตำนานว่ากันว่าบิชอปเห็นภาพลักษณ์ของอาสนวิหารแห่งปารีสอันสวยงาม ท่านจึงรีบร่างแบบที่เห็นไว้บนทรายนอกโบสถ์เดิม ก่อนจะสร้างวิหารใหม่ก็ต้องรื้อบ้านเรือนบริเวณนั้นออกไปหลายหลัง และต้องสร้างถนนใหม่เพื่อจะได้สะดวกต่อการขนวัสดุก่อสร้างได้สะดวก

อาสนวิหารเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1163 ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ส่วนผู้วางศิลาฤกษ์นั้นไม่แน่ชัด บางหลักฐานก็ว่าบิชอปซุลยีเอง บางหลักฐานก็ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เป็นผู้วาง แต่ที่แน่คือทั้งสองคนเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ และตั้งแต่นั้นมาบิชอปซุลยีก็อุทิศชีวิตให้กับการสร้างอาสนวิหารนี้

เริ่มการก่อสร้างทางด้านหน้าหรือด้านตะวันตก (west front) ซึ่งมีหอคอยสองหอ เมื่อราวปี ค.ศ. 1200 ก่อนที่จะสร้างโถงกลางของตัวโบสถ์เสร็จ ซึ่งไม่ตรงกับหลักการสร้างสิ่งก่อสร้างตามแบบฉบับ โบสถ์นี้มีสถาปนิกหลายคนที่มีส่วนในการก่อสร้าง จะเห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงของรูปทรงไปตามสมัยนิยมของสถาปนิก เป็นต้นว่าหอสองหอทางด้านตะวันตกจะไม่เท่ากัน

ระหว่างปี ค.ศ. 1210 ค.ศ. 1220 สถาปนิกคนที่สี่เป็นผู้ดูแลการสร้างระดับหน้าต่างกลมและโถงภายใต้หอ หอสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1245 และอาสนวิหารสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1345

เหตุการณ์สำคัญ

[แก้]
  • ค.ศ. 1160 บิชอปซูว์ยีสั่งรื้อวิหารเดิม
  • ค.ศ. 1163 วางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้าง
  • ค.ศ. 1182 มุขโค้งด้านสกัด (apse) และบริเวณร้องเพลงสวด (choir) เสร็จ
  • ค.ศ. 1196 ตัวโบสถ์เสร็จ บิชอปซูว์ยีถึงแก่อนิจกรรม
  • ค.ศ. 1200 เริ่มสร้างด้านตะวันตก
  • ค.ศ. 1225 ด้านหน้าโบสถ์ (façade) ทางตะวันตกเสร็จ
  • ค.ศ. 1250 หอด้านตะวันตกและหน้าต่างกลมเสร็จ
  • ค.ศ. 1250–1345 เสร็จ
  • ค.ศ. 1991 อาสนวิหารและสิ่งก่อสร้างจำนวนหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำแซน ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ปารีส ริมฝั่งแม่น้ำแซน"
  • ค.ศ. 2019 เหตุเพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่บริเวณหลังคาของอาสนวิหาร

อ้างอิง

[แก้]
  1. ตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
  2. "Paris' Notre Dame Cathedral on fire". CNBC (ภาษาอังกฤษ). 15 April 2019. สืบค้นเมื่อ 15 April 2019.
  3. https://www.bbc.com/thai/international-47940254

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

48°51′10″N 2°21′0″E / 48.85278°N 2.35000°E / 48.85278; 2.35000