วัดผ่องพลอยวิริยาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดผ่องพลอยวิริยาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดผ่องพลอยวิริยาราม, วัดผ่องพลอย, วัดใหม่วิริยสังฆาราม
ที่ตั้งเลขที่ 229 ซอยลาซาล 46 ถนนลาซาล แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุต
เจ้าอาวาสพระครูวิริยานุวัตร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดผ่องพลอยวิริยาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันมีพระครูวิริยานุวัตรเป็นเจ้าอาวาส

วัดผ่องพลอยวิริยารามเดิมมีชื่อว่า วัดใหม่วิริยสังฆาราม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 ตามเจตนารมณ์ของคุณตาผ่องและคุณยายพลอย บัวรอด ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมรดก โดยนายสะอาดและนางสุภาพ ศรีพงษ์ ซึ่งเป็นทายาทของคุณตาผ่องและคุณยายพลอย บัวรอด ได้บริจาคที่ดินมรดกจำนวนประมาณ 9 ไร่ ตามความประสงค์ของบิดาและมารดา และนายสายและนางล้วนรัตน์ หุตะเจริญ บริจาคที่ดินสมทบอีกประมาณ 1 ไร่เศษ รวมเป็นที่ดินทั้งสิ้น 10 ไร่ 42 ตารางวา

ผู้บริจาคที่ดินสร้างวัดมีความศรัทธาในพระญาณวิริยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร; ปัจจุบันคือสมเด็จพระญาณวชิโรดม เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร) ให้สร้างวัด พระญาณวิริยาจารย์จึงได้อนุญาตให้คณะผู้ศรัทธาสร้างวัดได้ตามความประสงค์ ในครั้งนั้นพื้นที่ยังคงเป็นที่รกร้างท้องนา ไม่มีผู้คนหนาแน่นเหมือนปัจจุบัน การเดินทางเข้าออกก็มีความลำบากพอสมควร โดยได้เริ่มจัดสร้างกุฏิไม้ทรงไทย ยกพื้นสูง หน้าจั่ว หลังละ 3 ห้อง จำนวน 23 หลัง และศาลาการเปรียญทรงไทยหน้าจั่ว ครึ่งไม้ครึ่งปูน กว้าง 14 ยาว 40 เมตร 1 หลัง ผู้ดำเนินการหลักคือนายสะอาดและนางสุภาพ

จากนั้นได้ทำการดำเนินขอจัดตั้งวัดและได้รับอนุญาตให้สร้างหรือจัดตั้งวัดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2513[1] ในชื่อว่า "วัดผ่องพลอยวิริยาราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณตาผ่องและคุณยายพลอย บัวรอด

พระญาณวิริยาจารย์เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างทั้งหมด จากนั้นได้จัดสร้างอุโบสถ พระญาณวิริยาจารย์ได้นำพาคณะทูลเชิญเสด็จ และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระปฏิมาประธานอุโบสถวัด ในครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฐยี) ร่วมเสด็จมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ด้วย

จากนั้นวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฐายี) ได้เสด็จมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง บริเวณพื้นที่วิสุงคามสีมาที่ได้รับพระราชทานกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร อุโบสถมีลักษณะทรงไทย

ภายในวัดมีรูปปั้นจำลองพระพุทธโสธรซึ่งเป็นที่สักการะของประชาชนทั่วไป สภาพภายในบริเวณวัดมีความร่มรื่นจากพันธุ์ไม้นานาชนิดในลักษณะวัดชนบท และยังเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนา รวมไปถึงการปฏิบัติกรรมฐานอีกด้วย[2] วัดมีกิจกรรมของสถาบันพลังจิตตานุภาพของสมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร นับเป็นสาขาที่ 10

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระมหาสวัสดิ์ ฐานสิริ พ.ศ. 2511–2512
  • พระอรุณ เขมิโย พ.ศ. 2512–2519
  • พระไสว โสภิโต พ.ศ. 2519–2522
  • พระครูปภัสสราธิคุณ พ.ศ. 2522–2564
  • พระครูวิริยานุวัตร พ.ศ.2564-ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ตั้งวัดผ่องพลอยวิริยาราม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  2. "วัดผ่องพลอยวิริยาราม". สำนักงานเขตบางนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-16. สืบค้นเมื่อ 2021-01-15.