โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2
โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 Suratthani 2 School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ส.ธ.๒ / S.T.2 |
ประเภท | รัฐ |
หน่วยงานกำกับ | กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ |
สี | ชมพู เขียว |
เพลง | เพลงมาร์ชโรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 |
โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 หรือ โรงเรียนจังหวัด 2 (อังกฤษ: Suratthani 2 School) เริ่มก่อตั้งใน เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2537 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนสุราษฎร์ธานี สาขาท่าเพชร และเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2539 สุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มีประกาศจัดตั้ง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี สาขาท่าเพชร เป็น โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ซึ่งสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันเปิดทำการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แบบสหศึกษา แผนจัดชั้นเรียนเต็มรูป 10-10-10 / 6-6-6
ข้อมูลทั่วไป
[แก้]- สถานที่ตั้ง : เลขที่ 164 หมู่ที่ 5 ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
- เนื้อที่ : 27 ไร่ 3 งาน 37.7 ตารางวา
- อักษรย่อ : ส.ธ.๒
- สีประจำโรงเรียน : ชมพู - เขียว
- ปรัชญา : คิดเป็นธรรม ทำเป็นธรรม แก้ปัญหาเป็นธรรม
- คติพจน์ : นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตญญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
- เข็มประจำโรงเรียน : ตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งพระราชทานอนุญาตให้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2
- ตราประจำโรงเรียน : พระบรมธาตุไชยาลอยอยู่เหนือเมฆ ช้างสามเศียร ดวงประทีป เอราวัณทรงเครื่อง ประกอบกันภายในวงกลมล้อมรอบด้วยอักษรคติพจน์ของโรงเรียน
- พระพุทธรูปประจำโรงเรียน : เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเบิกพระเนตรพระพุทธรูปประจำโรงเรียน พร้อมพระราชทานนามพระพุทธรูปประจำโรงเรียนว่า “พระพุทธบารมีสุราษฎร์ธานีพิพัฒน์” [1]
ประวัติโรงเรียน
[แก้]กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้โรงเรียนสุราษฎร์ธานีเปิดสาขาขึ้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า “โรงเรียนสุราษฎร์ธานีสาขาท่าเพชร” โดยใช้ที่ดินที่ซื้อไว้เพื่อใช้ในการเรียนวิชาเกษตรกรรมของโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2537
การรับนักเรียนรุ่นที่ 1 ทางโรงเรียนเปิดรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 101 คน แยกออกเป็น 2 ห้องเรียน โดยมี นายอภินันท์ พาหะมาก ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานีในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหาร และนายอภินันท์ พาหะมาก ได้มอบหมายให้ นายสุวิทย์ เทโหปการ อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนสุราษฎร์ธานีเป็นผู้ดูแล
การจัดการเรียนการสอนในช่วงแรกได้ใช้ครูโรงเรียนสุราษฎร์ธานีมาปฏิบัติการสอน การวัดผล การประเมินผล และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนของโรงเรียนสุราษฎร์ธานี
ดำเนินการรับนักเรียน ม.1 รุ่นที่ 2 ของโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2538 จำนวน 155 คน มีครู - อาจารย์ย้ายเข้ามาประจำที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี สาขาท่าเพชร จำนวน 10 คน สุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มีประกาศจัดตั้งโรงเรียนสุราษฎร์ธานีสาขาท่าเพชรเป็น “โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2” สังกัดกรมสามัญศึกษา เป็นลำดับที่ 44 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 30 เมษายน 2539 และให้ นายสาธร ลิกขะไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานีในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหาร และได้มอบหมายให้ นายสุวิทย์ เทโหปการ เป็นผู้ดูแลเช่นเดิม
โรงเรียนได้ดำเนินรับนักเรียนเข้า ม.1 ประจำปีการศึกษา 2539 ทั้งสิ้น 199 คน กรมสามัญศึกษาจึงได้จัดสรรงบประมาณให้สร้างอาคารเรียนเบ็ดเสร็จ แบบ ก. ข. และ ค. ด้วยงบประมาณ 9,834,000 บาท ทั้งนี้ยังมีสนามบาสเกตบอล ห้องน้ำ บ้านพักครู และบ้านพักภารโรง อย่างละ 1 หลัง
กรมสามัญศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายวิรัช เศวตศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานีในขณะนั้น ให้ปฏิบัติหน้าที่ครูใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2539
นายวิรัช เศวตศิลป์ ครูใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ได้นำคณะครู อาจารย์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงเบิกพระเนตรพระพุทธรูปประจำโรงเรียน พร้อมพระราชทานนามพระพุทธรูปประจำโรงเรียนว่า “พระพุทธบารมีสุราษฎร์ธานีพิพัฒน์” ในวันที่ 23 มีนาคม 2540
โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อขอพระราชทานนามอาคาร ก ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียนว่า “อาคารสมเด็จพระญาณสังวร ๘๔” และพระราชทานอนุญาตให้ใช้ตรา “ญสส” ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ ให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน และเข็มติดหน้าอกเสื้อเครื่องแบบของนักเรียน
กรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้งให้ นายวิรัช เศวตศิลป์ ครูใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540
ชมรมสังสรรค์สามัคคีสุราษฎร์ธานี (3ส) ได้มอบเสาธงให้แก่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 ค่าก่อสร้าง 116,073 บาท
ต่อมากรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้งให้ นายวิรัช เศวตศิลป์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ในวันที่ 30 ธันวาคม 2542
กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 สร้างอาคารเรียนแบบ 342 (ล)/41 (หลังคาทรงไทย) 1 หลัง งบประมาณ 19,837,000 บาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543
กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 สร้างหอประชุม/โรงอาหาร (อาคารสมเด็จฯ 91) งบประมาณ 7,194,000 ในปี พ.ศ. 2546
กระทรวงศึกษาธิการได้ ประกาศให้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 เป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทาน ขนาดใหญ่ ระดับประเทศ ในปี พ.ศ. 2546
กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 สร้าง อาคารเรียนแบบ 108 ล/30 งบประมาณ 4,360,583 บาท ในปี พ.ศ. 2547
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่งตั้ง นายบัญญัติ สุขขัง มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน[2]
อนุสรณ์จากศิษย์เก่า
[แก้]ศิษย์เก่า ม.ต้น รุ่นแรก (รุ่นกาญจนาอภิเษก) ได้ร่วมกันหารายได้สร้างศาลากาญจนาภิเษก มอบให้แก่โรงเรียน เพื่อเป็นอนุสรณ์ งบประมาณ 140,000 บาท
ศิษย์เก่า ม.ต้น รุ่น 2 (สสร.) และศิษย์เก่า ม.ต้น รุ่น 3 (เอเชี่ยนเกมส์) ได้ก่อสร้างป้ายชื่อโรงเรียนให้แก่โรงเรียน ค่าก่อสร้าง 305,330 บาท
ศิษย์เก่า ม.ต้น รุ่นที่ 4 (เทิดพระเกียรติ 72 พรรษา) ได้สมทบเงินก่อสร้างห้องโสตเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา ค่าก่อสร้าง 183,000 บาท
ศิษย์เก่า ม.ต้น รุ่นที่ 5 (100 ปี สมเด็จย่า) ได้สมทบเงินก่อสร้างห้องพยาบาล 100 ปี สมเด็จย่า มูลค่า 185,000 บาท[3]