อำเภอพะโต๊ะ
อำเภอพะโต๊ะ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Phato |
คำขวัญ: พะโต๊ะ ดินแดนแห่งภูเขาเขียว เที่ยวล่องแพ แลหมอกปก น้ำตกงาม ลือนามผลไม้ | |
แผนที่จังหวัดชุมพร เน้นอำเภอพะโต๊ะ | |
พิกัด: 9°47′30″N 98°46′36″E / 9.79167°N 98.77667°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชุมพร |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 1,017.33 ตร.กม. (392.79 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 24,625 คน |
• ความหนาแน่น | 24.21 คน/ตร.กม. (62.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 86180 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 8606 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ หมู่ที่ 8 ถนนราชกรูด-หลังสวน ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร 86180 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
พะโต๊ะ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชุมพร อยู่ทางด้านใต้สุดของจังหวัดเป็น 1 ใน 2 อำเภอของจังหวัดชุมพรที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล
ประวัติ
[แก้]เมืองพะโต๊ะ เป็นเมืองโบราณในอาณาจักรศรีวิชัย มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุของชาวจูเกาะ พ.ศ. 1766 และในพงศาวดารจีนราชวงศ์ซ่ง พ.ศ. 1503- 1822 ในชื่อเมืองปะตา มีสินค้าสำคัญได้แก่ หวาย ยางกิโนแดง ไม้ดำหอม หมาก และมะพร้าว
ในปี พ.ศ. 2399 พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เจ้าเมืองหลังสวนยกฐานะบ้านพะโต๊ะเป็นหัวเมืองใย มีขุนภักดีราษฎร์ (ใย ภักดี) เป็นเจ้าเมือง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรคุมคดีแพ่งและอาญา ดูแลทุกข์สุขของประชาชน และใน พ.ศ. 2422 ได้มีการจัดทำเหมืองแร่ดีบุกขึ้นที่บ้านปากทรง ทำให้บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากในสมัยนั้น และในปี พ.ศ. 2460 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกท้องที่เมืองพะโต๊ะขึ้นเป็นอำเภอพะโต๊ะ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ขึ้นกับจังหวัดหลังสวน โดยมีหลวงแพ่ง ศุภการ เป็นนายอำเภอคนแรก
ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2480 - 2481 เกิดโรคไข้น้ำระบาด ชาวพะโต๊ะได้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลืออยู่ได้พากันอพยพออกไปอยู่ที่อื่น จนเหลือประชากรน้อย ในที่สุด กระทรวงมหาดไทยจึงได้ลดฐานะอำเภอพะโต๊ะลงเป็นกิ่งอำเภอพะโต๊ะ[1] ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2481 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ปีเดียวกัน และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอขันเงิน (อำเภอหลังสวน) แทน
และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอพะโต๊ะ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ปีเดียวกัน[2] รวมระยะเวลาการเป็นกิ่งอำเภอ 52 ปี นับว่าเป็นกิ่งอำเภอที่ยาวนาน
- วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2474 ยุบจังหวัดหลังสวน รวมเข้ากับจังหวัดชุมพร[3] ทำให้ท้องที่อำเภอพะโต๊ะ โอนมาขึ้นกับจังหวัดชุมพร
- วันที่ 29 สิงหาคม 2481 ยุบอำเภอพะโต๊ะลงเป็น กิ่งอำเภอพะโต๊ะ[1] และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอขันเงิน
- วันที่ 7 มกราคม 2500 จัดตั้งสุขาภิบาลพะโต๊ะ ในท้องที่บางส่วนของตำบลพะโต๊ะ[4]
- วันที่ 19 มิถุนายน 2534 ยกฐานะกิ่งอำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน ขึ้นเป็น อำเภอพะโต๊ะ[2]
- วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลพระรักษ์ แยกออกจากตำบลปังหวาน[5]
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลพะโต๊ะ เป็นเทศบาลตำบลพะโต๊ะ[6]
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอพะโต๊ะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดชุมพร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 110 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอละอุ่น (จังหวัดระนอง)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอหลังสวนและอำเภอละแม
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอท่าชนะ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และอำเภอกะเปอร์ (จังหวัดระนอง)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองระนอง (จังหวัดระนอง)
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอพะโต๊ะแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 46 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[7] |
แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|
1. | พะโต๊ะ | Phato | 19
|
9,170
|
|
2. | ปากทรง | Pak Song | 9
|
5,370
| |
3. | ปังหวาน | Pang Wan | 9
|
5,535
| |
4. | พระรักษ์ | Phra Rak | 9
|
4,651
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอพะโต๊ะประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลพะโต๊ะ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพะโต๊ะ
- องค์การบริหารส่วนตำบลพะโต๊ะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพะโต๊ะ (นอกเขตเทศบาลตำบลพะโต๊ะ)
- องค์การบริหารส่วนตำบลปากทรง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากทรงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลปังหวาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปังหวานทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลพระรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพระรักษ์ทั้งตำบล
ประชากร
[แก้]ประชากรส่วนใหญ่ในอำเภอพะโต๊ะประกอบอาชีพเกษตรกรรม
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]อำเภอพะโต๊ะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ น้ำตก (น้ำตกเหวโหลม น้ำตกเหวตาจันทร์ และน้ำตกเหวรู) และลำน้ำพะโต๊ะ ที่เหมาะสำหรับการล่องแพ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยุบรวมอำเภอ และยุบอำเภอลงเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ง): 1840–1842. 29 สิงหาคม 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
- ↑ 2.0 2.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอทุ่งตะโก อำเภอพะโต๊ะ อำเภอเขาค้อ อำเภอน้ำหนาว อำเภอวังจันทร์ อำเภอนาด้วง อำเภอเต่างอย อำเภอสิงหนคร อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอลำดวน พ.ศ. ๒๕๓๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (107 ก): (ฉบับพิเศษ) 29-32. 19 มิถุนายน 2534. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ ยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48 (0 ก): 576–578. 21 กุมภาพันธ์ 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลพะโต๊ะ กิ่งอำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 74 (4 ง): (ฉบับพิเศษ) 19-20. 7 มกราคม 2500.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าแซะ กิ่งอำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (131 ง): (ฉบับพิเศษ) 72-80. 29 กรกฎาคม 2534.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. 24 กุมภาพันธ์ 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.