เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)
เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) | |
---|---|
![]() | |
สมุหนายก | |
กษัตริย์ | สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม |
ก่อนหน้า | ออกญาจักรี |
ถัดไป | เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) |
จุฬาราชมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2145 – พ.ศ. 2170 | |
กษัตริย์ | สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม |
ถัดไป | พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | เชค-อะหมัด กุมมี หรือ ชัยคอะหมัด กุมมี (شیخ احمد قمی) [1] กุนี,เมืองอัสตะราบาด จักรวรรดิซาฟาวิยะห์ (อิหร่าน) พ.ศ. 2086 |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2174 (88 ปี) กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
เชื้อชาติ | เปอร์เซีย |
คู่สมรส | ท่านเชย |
บุตร | เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) |
ศาสนา | อิสลาม นิกายชีอะฮ์ |
เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด กุมมี (شیخ احمد قمی) เป็นมุสลิมชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ (สิบสองอิมาม) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2086 ณ ตำบลกุนี (گونی) ในเมืองอัสตะราบาด (استرآباد) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองกอร์กัน (گرگان) ตั้งอยู่แถบทะเลแคสเปียน ในประเทศอิหร่าน[2]
การเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยา[แก้]
ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นยุคที่โปรตุเกสเรืองอำนาจทางทะเลในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทำให้พ่อค้าชาวพื้นเมืองต้องใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกเป็นช่วง ๆ เส้นทางที่เป็นไปได้ในการเดินทางจากอิหร่านเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น คือเดินเท้าจากเมืองแอสตะราบาดเข้าสู่แคว้นคุชราตในอินเดียตะวันตก จากนั้น เดินเท้าตัดข้ามประเทศอินเดียมายังฝั่งตะวันออกทางด้านโจฬมณฑล จากนั้นลงเรือข้ามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันมายังเมืองตะนาวศรีหรือเมืองมะริด แล้วจึงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัดและมหฺหมัดสะอิด (محمد سعيد) พร้อมบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากายี ท่านค้าขายจนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังมหฺหมัดสะอิดได้เดินทางกลับเปอร์เซีย ท่านสมรสกับคุณหญิงเชย มีบุตร 2 คนและธิดา 1 คน ได้แก่
- เป็นชายชื่อ ชื่น ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) สมุหนายก ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง
- เป็นชายชื่อ ชม ถึงแก่กรรมแต่เมื่อยังเป็นหนุ่ม
- เป็นหญิงชื่อ ชี เป็นสนมเอกในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ภายหลังแต่งงานกับพระยาศรีเนาวรัตน์ (อากามะหะหมัด آقا محمد) บุตรของมหฺหมัดสะอิด
ปฐมจุฬาราชมนตรี[แก้]
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ มาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ
สายสกุล[แก้]

ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเฉกอะหมัดซึ่งมีอายุ 87 ปี เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกจางวางกรมมหาดไทย ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2174 รวมอายุ 88 ปี ท่านเฉกอะหมัดนี้ท่านเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุลและสกุลบุนนาค เป็นต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา อาทิ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) เจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) และมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 ท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รวมทั้งเป็นต้นสกุลของสายสกุลที่มีความสำคัญต่อการปกครองประเทศตลอดมา สถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัด ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
อ้างอิง[แก้]
- พิทยา บุนนาค. มุสลิมผู้นำ"ปฐมจุฬาราชมนตรี" คนแรกในสยาม. กทม. มติชน. 2548
- ↑ สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน ย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-เปอร์เซีย. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. หน้า 138
- ↑ "เฉกอะหมัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-09-07.