เพชรพระอุมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แงซายจอมจักรา)

เพชรพระอุมา
หนังสือเพชรพระอุมาฉบับพิเศษปกสีทอง
จำนวน 48 เล่ม พร้อมตู้ไม้สักทอง
รายละเอียด
ผู้ประพันธ์นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
ลิขสิทธิ์นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
ปีที่เริ่มประพันธ์19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507
ปีที่สิ้นสุดการประพันธ์21 มิถุนายน พ.ศ. 2533
ระยะเวลา25 ปี 7 เดือน กับ 3 วัน
ประเภทนวนิยาย
จำนวนเล่ม48 เล่ม ได้แก่
ภาคแรก
ไพรมหากาฬ 1-4 เล่ม
ดงมรณะ 1-4 เล่ม
จอมผีดิบมันตรัย 1-4เล่ม
อาถรรพณ์นิทรานคร 1-4 เล่ม
ป่าโลกล้านปี 1-4 เล่ม
แงซายจอมจักรา 1-4 เล่ม
ภาคสมบูรณ์
จอมพราน 1-4 เล่ม
ไอ้งาดำ 1-4 เล่ม
จิตรางคนางค์ 1-4 เล่ม
นาคเทวี 1-4 เล่ม
แต่ปางบรรพ์ 1-4 เล่ม
มงกุฎไพร 1-4 เล่ม
จำนวนตอน12 ตอน
ความยาว18,048 หน้า
สำนักพิมพ์ณ บ้านวรรณกรรม

เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และนับว่าเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก[1] บทประพันธ์โดย พนมเทียน ซึ่งเป็นนามปากกาของนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี[2] โดยพนมเทียนเริ่มต้นการประพันธ์เพชรพระอุมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน[3]

เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มซ้ำใหม่หลาย ๆ ครั้งในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ก จำนวน 48 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน (เดิมเป็นชนิดปกแข็งจำนวน 53 เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาประมาณ 33 ยก หรือ 16 หน้ายก และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะมีความหนาประมาณ 1,749 ยก แบ่งเป็นสามภาคได้แก่ ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม ภาคสอง จำนวน 15 เล่ม และ ภาคสาม จำนวน 14 เล่ม แต่ปัจจุบันได้รวบรวมเนื้อหาในแต่ละภาคและลดลงคงเหลือเพียงแค่ 48 เล่ม) [4] แบ่งเป็นสองภาคคือภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2541 และทำการปรับปรุงต้นฉบับเดิมพร้อมกับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2544 และตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2547 อีกทั้งยังมีการทำเป็น eBook โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ในปี พ.ศ. 2556

โดยเนื้อเรื่องต่าง ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้นำเค้าโครงเรื่องมาจาก คิงโซโลมอนส์ไมนส์ (King Solomon's Mines) หรือ สมบัติพระศุลี นวนิยายของเซอร์เฮนรี ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ที่ผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบภายในทวีปแอฟริกา[5]

จุดเริ่มต้นของเพชรพระอุมา[แก้]

พนมเทียนเริ่มต้นการเขียนเพชรพระอุมาในปี พ.ศ. 2507 โดยตกลงทำข้อสัญญากับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา (ซึ่งปัจจุบันสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ได้ยุติกิจการไปแล้ว) ในการเขียนนวนิยายแนวผจญภัยในป่าจำนวนหนึ่งเรื่อง โดยมีข้อกำหนดความยาวของนวนิยายเพียงแค่ 8 เล่มจบเท่านั้น แต่กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทำให้ต้องเขียนเพชรพระอุมาเพิ่มเติมต่อจนครบ 10 เล่ม และขอยุติการเขียนตามข้อสัญญา[6] แต่ทางสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยายังไม่อนุญาตให้พนมเทียนยุติการเขียน และได้ขอร้องให้เขียนเพิ่มเติมต่ออีก 5 เล่ม พร้อมกับบอกกล่าวถึงความนิยมของนักอ่านที่มีต่อเพชรพระอุมา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนต้องมีการตีพิมพ์ซ้ำหลาย ๆ ครั้งด้วยกันในระยะปลาย ๆ ของเล่มที่ 10[6] จนสถิติการตีพิมพ์และการจัดจำหน่ายของนวนิยายเรื่องนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้รับการตอบรับจากนักอ่านหลาย ๆ รุ่นเป็นอย่างดีในการช่วยขัดเกลาเนื้อเรื่องของเพชรพระอุมา และแจ้งเตือนแก่พนมเทียนถึงชื่อตัวละครหรือสถานที่ที่ปรากฏในเพชรพระอุมาที่มีการผิดพลาด[7]

เพชรพระอุมาออกวางจำหน่ายในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ก เป็นแบบรายวันคือ 10 วัน ต่อหนังสือ 1 เล่ม และยังคงดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปจนถึงเล่มที่ 40 จนกระทั่งมีความยาวถึง 98 เล่ม เนื้อเรื่องก็ยังไม่สามารถจบลงได้[6] จนกระทั่งเพชรพระอุมาฉบับพ็อตเก็ตบุ๊กเล่มที่ 99 ได้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 จึงได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องใน "จักรวาลรายสัปดาห์" ในปี พ.ศ. 2513 เป็นระยะเวลา 5 ปี และตีพิมพ์ต่อเนื่องใน "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" ในปี พ.ศ. 2518 เป็นระยะเวลาอีก 6 ปี พนมเทียนก็ยังไม่สามารถจบเรื่องราวการผจญกัยในป่าของเพชรพระอุมา จนกระทั่งได้รับการตีพิมพ์ต่อใน "จักรวาลปืน" ในปี พ.ศ. 2525 อีก 8 ปี เรื่องราวทั้งหมดจึงสามารถจบลงได้ในปี พ.ศ. 2533[6]

ระยะเวลาในการเขียน[แก้]

เพชรพระอุมาใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี[8] ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนั้นมาจากการที่พนมเทียนเป็นนักเขียนอาชีพ และยึดถือเอาสิ่งสำคัญที่สุดของงานเขียนก็คือผู้อ่าน[9] โดยตราบใดที่งานเขียนของตนเองยังคงได้รับความนิยมและมีผู้สนใจติดตามอ่าน ตราบนั้นความสุขใจในการเขียนก็เป็นสิ่งที่มีความสุขมากที่สุดของพนมเทียน[9] ทำให้เนื้อเรื่องของเพชรพระอุมาถูกสร้างสรรค์และเขียนแต่งขึ้นตามจินตนาการ ร่วมกับประสบการณ์ในการเดินป่าอย่างละเอียดลออ จนกระทั่งมีความยาวมากทั้งภาคแรกและภาคสมบูรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ สามารถจินตนาการตามตัวอักษรและสร้างอารมณ์ร่วมในการติดตามเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องของตัวละครต่าง ๆ ได้[9]

พนมเทียนนั้นมีวิธีการเขียนเนื้อเรื่องเพชรพระอุมาในรูปแบบการเขียนของตนเอง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยพยายามเขียนบรรยายถึงลักษณะท่าทาง ตลอดจนอากัปกิริยาต่าง ๆ ของตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเพชรพระอุมา โดยไม่ยอมให้เป็นการเขียนที่เรียกได้ว่าเขียนแบบผ่านเลยไป ทำให้ผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาโดยตลอดไม่ได้อรรถรสและความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง[9] แต่พนมเทียนจะเขียนโดยแจกแจงอากัปกิริยาทุกขณะและทุกฝีก้าวของตัวละคร เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นการกระทำต่างหรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่นกระทิงหรือเสือโคร่งถูกรพินทร์ ไพรวัลย์ยิงล้มลง ก็จะเขียนบรรยายเริ่มตั้งแต่รพินทร์และคณะเดินทางพบเจอกับสัตว์ เกิดการต่อสู้หรือติดตามแกะรอยจนถึงประทับปืนและเหนี่ยวไกยิง จนกระทั่งสัตว์นั้นล้มลงเสียชีวิต หรือแม้แต่การพูดจาเล่นลิ้นยั่วยวนกวนประสาทของแงซายและรพินทร์ ไพรวัลย์ จนถึงการพร่ำพรรณนาคำรักหวานซึ้งระหว่างไชยยันต์ อนันตรัยและมาเรีย ฮอฟมัน พนมเทียนก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยมจนสามารถทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าในขณะนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง จนทำให้เพชรพระอุมากลายเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก[9]

ความเป็นมาของโครงเรื่อง[แก้]

ปกหนังสือนวนิยายเรื่องคิงโซโลมอนส์ไมนส์

โครงเรื่องของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้เค้าโครงเรื่องมาจากแนวความคิดของเรื่องคิงโซโลมอนส์ไมนส์ ของ เซอร์ฯ แฮกการ์ด ซึ่งเป็นเค้าโครงของการผจญภัยเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่ง[10] โดยก่อนหน้าที่พนมเทียนจะเขียนเพชรพระอุมาก็ได้มีการวางโครงเรื่องคร่าว ๆ ไว้เช่นเดียวกับงานเขียนอื่น ๆ ซึ่งโครงเรื่องคร่าว ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนวางเอาไว้เพียงเล็กน้อยโดยกำหนดให้เป็นเรื่องราวการผจญภัยในป่าของนายพรานผู้นำทางคนหนึ่งเท่านั้น[10]

และต่อมาภายหลังได้เขียนเนื้อหาสำคัญของโครงเรื่องเพิ่มเติม จนกลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่า ที่รับจ้างวานนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับขุมทรัพย์เพชรพระอุมาอันเป็นตำนานเล่าขาน ก่อนออกเดินทางมีกะเหรี่ยงพเนจรมาขอสมัครเป็นคนรับใช้และขอร่วมติดตามไปกับคณะเดินทางด้วย จนกระทั่งเมื่อบุกป่าฝ่าดงและอันตรายต่าง ๆ ไปถึงจุดหมายปลายทางความจริงก็ปรากฏว่า กะเหรี่ยงลึกลับที่ร่วมเดินทางมาด้วยนั้นกลายเป็นรัชทายาทที่แท้จริงของเมืองมรกตนคร เมืองลับแลที่ไม่ปรากฏในแผนที่ พรานผู้นำทางและคณะเดินทางได้ช่วยกันทวงชิงและกอบกู้ราชบัลลังก์คืนให้แก่กะเหรี่ยงลึกลับได้สำเร็จพร้อมกับได้พบขุมทรัพย์เพชรพระอุมาที่เป็นตำนานเล่าขานมาแต่โบราณ

จากโครงเรื่องเดิมของคิงโซโลมอนส์ไมนส์ เพียงแค่ 4 บรรทัดเท่านั้น[10] แต่พนมเทียนสามารถนำมาเขียนเป็นเพชรพระอุมาโดยเล่าเรื่องราวการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์ รวมทั้งภูมิประเทศในป่าดงดิบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ไปจนจรดชายแดนพม่าและน่าจะล่วงเลยไปถึงแถบเทือกเขาหิมาลัย (เพราะในตอนท้ายเรื่องมีฉากที่ต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีหิมะตก) ในปัจจุบัน โดยดึงประเด็นจุดสำคัญของชีวิตการเดินป่าของตนเองที่เคยผ่านมาก่อนผสมเข้าในไปโครงเรื่องของเพชรพระอุมาด้วย

ต้นแบบของโครงเรื่อง[แก้]

พนมเทียนนำเอาความรู้ความชำนาญในการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์จากประสบการณ์จริงของตนเอง มาเป็นพื้นฐานในการเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา โดยเค้าโครงเรื่องและส่วนประกอบต่าง ๆ ได้นำมาจากเรื่องเล่าขานและสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากนักท่องไพรรุ่นอาวุโส หรือเรื่องเล่ารอบกองไฟของพรานพื้นเมืองต่าง ๆ ยามพักผ่อนภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการล่าสัตว์และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

เพชรพระอุมามีองค์ประกอบหลัก ๆ ที่พนมเทียนนำมาเป็นต้นแบบของโครงเรื่อง ดังนี้[11]

  1. นำมาจากประสบการณ์การเดินป่าของตนเองส่วนหนึ่ง
  2. เก็บเรื่องเล่าจากการล้อมวงรอบกองไฟของพรานพื้นเมืองและนักท่องไพรต่าง ๆ
  3. เรื่องเล่าเก่า ๆ จากบรรพบุรุษ ถึงความลึกลับและอาถรรพณ์ต่าง ๆ ของป่าในวัยเด็ก
  4. เกิดจากแรงสร้างสรรค์และจินตนาการของตนเอง

ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาเขียนเพชรพระอุมา พนมเทียนก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ อารมณ์และจินตนาการของตัวละครในนวนิยายได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งต้นแบบของโครงเรื่อง ก็มาจากประสบการณ์จริงบวกกับจินตนาการของพนมเทียนนั่นเอง

โครงเรื่อง[แก้]

เพชรพระอุมาเป็นนวนิยายที่มีความยาวทั้งสิ้น 48 เล่ม 12 ตอน แบ่งออกเป็นสองภาคคือภาคแรกและภาคสมบูรณ์ ภาคละ 24 เล่ม จำนวน 6 ตอน ซึ่งภาคแรกของเพชรพระอุมาได้แก่ ไพรมหากาฬ, ดงมรณะ, จอมผีดิบมันตรัย, อาถรรพณ์นิทรานคร, ป่าโลกล้านปีและแงซายจอมจักรา สำหรับภาคสมบูรณ์ได้แก่ จอมพราน, ไอ้งาดำ, จิตรางคนางค์, นาคเทวี, แต่ปางบรรพ์และมงกุฎไพร ซึ่งเค้าโครงเรื่องในภาคแรกและภาคสมบูรณ์ของเพชรพระอุมามีดังนี้

ภาคแรก[แก้]

เพชรพระอุมาเป็นเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ เรื่องราวแปลกประหลาดต่าง ๆ ในป่าดงดิบของรพินทร์ ไพรวัลย์ พรานป่าผู้รับจ้างนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายของคณะนายจ้างชาวเมือง ที่มี พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวคนเล็ก และ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย เพื่อนชายคนสนิท โดยมีพรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย พรานป่าคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ จำนวน 4 คน และแงซาย กะเหรี่ยงลึกลับที่มาขอสมัครเป็นคนรับใช้เพื่อขอร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตรายนานาชนิด ที่ทำให้คณะเดินทางต้องเสี่ยงภัยและเผชิญกับสัตว์ร้ายในป่าดงดิบ อาถรรพณ์ของป่า นางไม้ ภูตผีปีศาจหรือแม้แต่สัตว์ประหลาด ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลาในการเดินทาง พลัดหลงเข้าไปในดินแดนลึกลับของอาณาจักรนิทรานคร ต่อสู้กับจอมผีดิบร้ายมันตรัยที่มีพละกำลังกล้าแข็งและมีอำนาจอย่างแรงกล้า ผ่านห้วงเวลาเหลื่อมซ้อนกันจนหลุดผ่านเข้าไปในยุคของโลกดึกดำบรรพ์ และค้นพบปริศนาความจริงของกะเหรี่ยงลึกลับในฐานะคนรับใช้และองค์รักษ์ประจำตัวของดาริน ที่ติดสอยห้อยตามคณะเดินทางมายังเนินพระจันทร์และมรกตนคร ซึ่งฐานะที่แท้จริงของแงซายถูกเปิดเผยและคณะเดินทางของเชษฐาได้พบเจอกับบุคคลที่ออกติดตามค้นหารวมทั้งช่วยกันกอบกู้บัลลังก์คืนให้แก่แงซายจนสำเร็จ

ภาคสมบูรณ์[แก้]

ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางกลับจากเมืองมรกตนครของแงซาย รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้ถูกว่าจ้างให้ออกติดตามหาเครื่องบินที่สูญหายพร้อมด้วยระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้ง รพินทร์จำใจรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินที่สูญหายไปจากแผนที่ประเทศไทย โดยมีชาวต่างชาติจำนวน 4 คน เป็นผู้ว่าจ้าง แต่เมื่อเชษฐาและดารินซึ่งเป็นอดีตนายจ้างของรพินทร์ ได้ทราบข่าวการรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางของรพินทร์ ก็เกรงว่าจะถูกฆ่าทิ้งเมื่อทำงานเสร็จสิ้น เนื่องจากเป็นงานลับขององค์กร จึงออกติดตามคณะนายจ้างใหม่ของรพินทร์

การติดตามค้นหารพินทร์และคณะนายจ้างฝรั่ง คณะเดินทางของเชษฐาได้เผชิญหน้ากับมันตรัยที่ฟื้นคืนชีพที่อาณาจักรนิทรานคร และกับเล่าถึงอดีตชาติของดารินและรพินทร์ที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตในชาติปางก่อน รวมทั้งพยายามล่อลวงเอาตัวดารินไปยังอาณาจักรนิทรานคร เพื่อให้ได้ในตัวของจิตรางคนางค์หรือดารินในชาติปัจจุบัน แต่ก็ได้เชษฐาและไชยยันต์มาช่วยเหลือไว้อย่างทันท่วงที และปราบมันตรัยด้วยบ่วงนาคบาศก์ได้สำเร็จ รพินทร์นำคณะนายจ้างฝรั่งบุกป่าเพื่อค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์จนพบ โดยได้รับความช่วยเหลือจากแงซายในรูปของจิตใต้สำนึก จนภายหลังทั้ง 2 คณะได้เดินทางมาพบกันที่เมืองมรกตนคร แงซายรวบรัดให้ดารินและรพินทร์แต่งงานกันที่เมืองมรกตนคร ก่อนจะอำลากันเป็นครั้งสุดท้ายในการพบกันระหว่างบุคคลทั้งหมด

การตีพิมพ์เพชรพระอุมา[แก้]

เพชรพระอุมาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊กจำนวน 98 เล่ม ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารจักรวาลรายสัปดาห์ โดยตีพิมพ์ต่อเนื่องจากสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยาตั้งแต่เล่มที่ 99 ต่อเนื่องจนถึงเล่มที่ 268 ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 และฉบับรวมเล่มจำนวน 22 เล่ม แบ่งเป็น[12]

  • เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ ฉบับรวมเล่ม จำนวน 4 เล่ม และ
  • เพชรพระอุมา ตอนมรกตนคร ฉบับรวมเล่ม จำนวน 18 เล่ม

ต่อมาได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชวนะบุตร ในปี พ.ศ. 2518 จำนวน 22 เล่ม แบ่งเป็นตอน ๆ รวมทั้งสิ้น 5 ตอน ได้แก่ เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ จำนวน 5 เล่ม, ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม, ตอน อาถรรพณ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม, ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 5 เล่ม และตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม และได้รับการตีพิมพ์เพชรพระอุมาภาคสมบูรณ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ภายหลังจากพนมเทียนเขียนเพชรพระอุมาภาคแรกจบ โดยเริ่มเพชรพระอุมา ตอน จอมพราน ในวันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2525 และได้นำภาคแรกมาตีพิมพ์ซ้ำจนจบในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2527 และตีพิมพ์ภาคสามของเพชรพระอุมา ตอน มงกุฎไพร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2533 โดยนิตยสารจักวาลปืน[13]

เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปัจจุบันตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน แบ่งการตีพิมพ์เป็นสองครั้งด้วยกัน โดยตีพิมพ์ครั้งแรก 48 เล่ม ภาคแรกจำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ 24 เล่ม 5 ตอน ดังนี้

ภาคแรก
  1. ตอน ไพรมหากาฬ จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม
  3. ตอน จอมผีดิบมันตรัย จำนวน 4 เล่ม
  4. ตอน อาถรรพณ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม
  5. ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 4 เล่ม
  6. ตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม
ภาคสมบูรณ์
  1. ตอน จอมพราน จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ไอ้งาดำ จำนวน 5 เล่ม
  3. ตอน นาคเทวี จำนวน 5 เล่ม
  4. ตอน แต่ปางบรรพ์ จำนวน 5 เล่ม
  5. ตอน มงกุฎไพร จำนวน 5 เล่ม

และตีพิมพ์ครั้งปัจจุบัน 48 เล่ม ภาคแรกจำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ 24 เล่ม 6 ตอน ดังนี้

ภาคแรก
  1. ตอน ไพรมหากาฬ จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม
  3. ตอน จอมผีดิบมันตรัย จำนวน 4 เล่ม
  4. ตอน อาถรรพ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม
  5. ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 4 เล่ม
  6. ตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม
ภาคสมบูรณ์
  1. ตอน จอมพราน จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ไอ้งาดำ จำนวน 4 เล่ม
  3. ตอน จิตรางคนางค์ จำนวน 4 เล่ม
  4. ตอน นาคเทวี จำนวน 4 เล่ม
  5. ตอน แต่ปางบรรพ์ จำนวน 4 เล่ม
  6. ตอน มงกุฎไพร จำนวน 4 เล่ม

ปลายปี พ.ศ. 2556 เพชรพระอุมาได้จัดทำเป็นรูปแบบ eBook เป็นครั้งแรกโดยแพรวสำนักพิมพ์ โดยเริ่มเปิดตัวภาคแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 และเริ่มจำหน่ายในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 พร้อมกันที่ร้านนายอินทร์และ Naiin.com โดยแบ่งเป็น 2 ภาค 12 ตอน 48 เล่มเหมือนหนังสือ โดยที่ผู้อ่านต้อง download Application Naiin Pann และใส่ code ของหนังสือแต่ละตอนลงใน Application

คำนิยมเพชรพระอุมา[แก้]

ตลอดระยะเวลาที่เพชรพระอุมาได้รับการตีพิมพ์ฉบับรวมโดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ได้มีคำนิยมของ "เพชรพระอุมา" จากผู้ทรงเกียรติและทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้ให้คำนิยมส่วนตัวแก่นวนิยายที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของนวนิยาย และเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของเมืองไทย ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนักอ่านหลาย ๆ รุ่น[14] ซึ่งได้รับความบันเทิง ความสนุกสนานจากการอ่านเพชรพระอุมา แม้เนื้อเรื่องจะมีความยาวเป็นอย่างมากก็ตาม

คำนิยมของ "เพชรพระอุมา" ในแต่ละเล่มและแต่ละตอน จึงเป็นการรับรองถึงความเป็นนวนิยายที่มีความบันเทิง ตื่นเต้นเร้าใจและการผจญภัยตามแต่จินตนาการของพนมเทียน ที่นอกจากสามารถทำให้นักอ่านได้สนุกสนานไปกับเนื้อเรื่องที่ชวนติดตามและลุ้นระทึกแล้ว ยังได้รับความรู้ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเดินป่า การล่าสัตว์ รวมทั้งอาวุธปืนอีกด้วย[14]

กระแสตอบรับและคำวิจารณ์[แก้]

เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดียิ่ง กระทั่งสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าไม่ยอมให้พนมเทียนยุติการเขียน ถึงขนาดที่ว่า "...ในช่วงที่พนมเทียนกำลังเขียนเรื่องนี้ตีพิมพ์ขายเป็นเล่มพ็อกเก็ตบุ๊กติดต่อกันนั้น ถึงกับมีผู้อ่านมาเข้าคิวรอซื้อกันหน้าโรงพิมพ์เลยทีเดียว..."[15]

ความสำเร็จดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการประพันธ์ของพนมเทียน ซึ่ง ว.วินิจฉัยกุล ได้เอ่ยถึงว่า "...พนมเทียนเป็นผู้พิถีพิถันทั้งในด้านรูปทรง สีสัน แสงและเงา ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่แปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีแม้กระทั่งเสียง ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างวิจิตรบรรจง มีกลิ่นอายของวรรณคดีอยู่ในภาษาที่ใช้ เหมือนกับการแกะสลักลายซ้อนลงไปทีละชั้นจนเป็นหลายชั้นลึกละเอียด ไม่ใช่เพียงแต่ร่างคร่าว ๆ พอให้เป็นรูปขึ้นมาเท่านั้น..." [16] หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียง ตรัสถึงนวนิยายชุดนี้ว่า "เพชรพระอุมาคือมหากาพย์แห่งวรรณกรรมที่ไม่มีหนังสือเรื่องไหนที่จะเทียบได้" [17]

แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพชรพระอุมา ลอกเค้าโครงเรื่องมาจาก King Solomon's Mine หรือ สมบัติพระศุลี เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของตัวละคร วัตถุประสงค์ในการเดินป่า รวมถึงแผนที่ลายแทงของทั้งสองเรื่อง ที่มีเนื้อความใกล้เคียงกันมาก วิทยานิพนธ์ของ สุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจา ได้รายงานการศึกษาเชิงเปรียบเทียบสำหรับวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ ในบทคัดย่อปรากฏความตอนหนึ่งว่า "นวนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่มีลักษณะเป็นแบบฉบับของพนมเทียนเอง เนื่องจากการได้รับอิทธิพลนั้น เป็นการได้รับอิทธิพลแล้วนำอิทธิพลที่ได้รับนั้นมาสร้างสรรค์และขยายเรื่องราวการผจญภัยใน เพชรพระอุมา ให้สนุกสนานและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มประสบการณ์ในการเดินป่า และความรู้ในด้านต่างๆ ของตนเองเข้าไปได้อย่างเหมาะสม" [18] ว.วินิจฉัยกุล ให้ความเห็นว่า "...'เพชรพระอุมา' ภาค 1 เป็นงานที่สร้างยากกว่า King Solomon's Mines และมีลักษณะเฉพาะของตัวเองชัดมาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า การที่สถาปนิกไทยใช้กระเบื้องมุงหลังคาและเสาปูนของฝรั่ง ตลอดจนหน้าต่างกระจกติดเครื่องปรับอากาศ มาสร้างบ้านไทย ก็หาได้ทำให้บ้านไทยนั้นกลายเป็นบ้านฝรั่งไปไม่ และยิ่งเมื่อใช้พื้นไม้สัก ฝาปะกน ฝาเฟี้ยมแบบไทย มีประตูที่มีธรณีประตูสูง มีหย่อง หรือแผ่นไม้สลักใต้หน้าต่าง มีคันทวยสลักค้ำชายคา นอกชานตั้งเขามอ และไม้ดัดตลอดจนอ่างปลาเงินปลาทอง มันก็กลายเป็นบ้านไทยประยุกต์ที่คนไทยคุ้นตากันนั่นเอง..."[19]

เนื้อเรื่อง[แก้]

เนื้อเรื่องทั้งหมดจำนวน 48 เล่ม ความยาวมากกว่า 18,000 หน้า แบ่งเป็นสองภาค ดังนี้

  • ภาคแรก  :ไพรมหากาฬ เล่ม 1 ดำเนินเนื้อเรื่องถึง แงซายจอมจักรา เล่ม 4 (รวม 24 เล่ม)
  • ภาคสมบูรณ์ :จอมพราน เล่ม 1 ดำเนินเนื้อเรื่องถึง มงกุฏไพร เล่ม 4 (รวม 24 เล่ม)

ตัวละครและความเป็นมา[แก้]

ดูบทความหลัก ตัวละครในเพชรพระอุมา และ ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา

แบ่งแยกตามตัวละครหลักและตัวละครรอง ตามแต่ปรากฏในแต่ละภาค ได้แก่ภาคแรกไพรมหากาฬ - แงซายจอมจักรา ในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายและภาคสมบูรณ์จอมพราน - มงกุฎไพร ในการออกติดตามหาเครื่องบิน บี 52 และระเบิดนิวเคลียร์

เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้พนมเทียนต้องสร้างตัวละครขึ้นมาเป็นจำนวนมาก นอกจากตัวละครหลักคือ รพินทร์ ไพรวัลย์ และตัวละครอื่น ๆ ในภาคแรกได้แก่คณะนายจ้างที่มีพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา, หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์, พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย,มาเรีย ฮอฟมัน, แงซาย พรานคู่ใจของรพินทร์ ฯลฯ แล้ว ยังมีตัวละครปลีกย่อยอีกนับไม่ถ้วนที่ปรากฏในแต่ละตอน รวมทั้งในภาคสมบูรณ์ที่ประกอบด้วยคณะนายจ้างชุดใหม่ในการออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์

ตัวละครเหล่านี้ มีลักษณะนิสัยใจคอรวมทั้งบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน จากจินตนาการและบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ โดยหยิบยืมลักษณะนิสัยบางส่วน นำมาแต่งเติม [20] ได้แก่ รพินทร์ ไพรวัลย์, หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์, แงซาย, พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์, พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย, มาเรีย ฮอฟมัน ฯลฯ

องค์ประกอบภายในเพชรพระอุมา[แก้]

เส้นทางการเดินทาง[แก้]

เส้นทางการเดินทางในการออกติดตามค้นหาบุคคลผู้สูญหายและขุมทรัพย์เพชรพระอุมา รวมทั้งระยะเวลาในการออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์ ตามระยะเวลาในบทประพันธ์ของพนมเทียนในช่วงของระยะเวลาในการเดินทางของเพชรพระอุมาภาคแรกคือ 147 วัน โดยแบ่งออกเป็นช่วงระยะเวลาทั้งหมด 4 ช่วงด้วยกันคือช่วงที่ 1 จำนวน 20 วัน นับตั้งแต่รพินทร์ ไพรวัลย์และคณะนายจ้าง ใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัวก่อนเดินทาง ช่วงที่ 2 จำนวน 67 วัน นับตั้งแต่ในการเริ่มการเดินทางจากหนองน้ำแห้ง ช่วงที่ 3 จำนวน 42 วัน นับตั้งแต่คณะเดินทางออกจากหล่มช้าง และช่วงที่ 4 จำนวน 18 วัน นับตั้งแต่คณะเดินทางอยู่บริเวณถันพระอุมาและออกจากเมืองมรกตนคร และช่วงระยะเวลาในการเดินทางของเพชรพระอุมาภาคสมบูรณ์คือ 31 วัน[21]

ซึ่งตลอดเส้นทางการเดินทางของรพินทร์และคณะเดินทาง ตั้งแต่ก้าวแรกของการเดินทางจากหนองน้ำแห้ง ผ่านจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดที่พนมเทียนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาจากจินตนาการและสถานที่จริงบางแห่ง เช่นหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง เป็นสถานที่จริงที่ตั้งอยู่แห่งหนึ่งชื่อหนองแห้งในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านของชาวบ้านป่าที่ไม่มีสำมะโนประชากร [22] พนมเทียนก็ได้เก็บเอาลักษณะของคนภายในหมู่บ้านที่เป็นชาวป่า มีถิ่นอาศัยและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มาถ่ายทอดเป็นหมู่บ้านหนองน้ำแห้งของรพินทร์ ไพรวัลย์

การเดินป่า ล่าสัตว์ แกะรอย[แก้]

พนมเทียนได้กำหนดให้ตัวละครต่าง ๆ เช่น รพินทร์ ไพรวัลย์ แงซาย ดารินหรือบุคคลภายในคณะเดินทาง มีความชำนาญคล่องแคล่วในการล่าสัตว์รวมทั้งมีความสามารถและทักษะในเชิงพรานด้านแกะรอย สามารถระบุถึงชนิดของสัตว์ที่เป็นเจ้าของรอยเท้าที่ปรากฏบนพื้นดิน ระยะเวลาของรอยเท้าที่ปรากฏหรือการสังเกตการฉีกขาดของกิ่งไม้ในที่สูงว่าเกิดจากสาเหตุใด รวมทั้งต้องพบเจอกับเหล่าสัตว์ทั้งหลายจำนวนมากภายในป่า ตลอดจนการต่อสู้ไล่ล่าระหว่างสัตว์และมนุษย์

นอกจากนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของพรานป่าล่าสัตว์ในการดำรงชีวิตในป่า ที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ในความชำนาญเกี่ยวกับถิ่นอาศัยและสภาพแวดล้อมของป่าภายในประเทศไทย ความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศตามแต่ลักษณะของป่า เช่น ป่าดงดิบและป่าผลัดใบ[23] ลักษณะของรอยเท้าและหลักสำคัญในการสะกดรอยตาม โดยทักษะในเชิงพรานทั้งหมดของตัวละคร มาจากการที่พนมเทียนนำเอาทักษะและประสบการณ์จริงของตนเองมาถ่ายทอดลงในนวนิยาย เช่นเทคนิคการสังเกตตำแหน่งของการเดินป่า การสังเกตรอยเท้าของสัตว์ การสังเกตลักษณะของพืชและสัตว์ ตำแหน่งของทิศทาง รวมไปถึงศิลปะในการล่าสัตว์ของพรานป่าในสมัยก่อน[24]

อาวุธปืน[แก้]

พนมเทียนเป็นนักเดินป่าและล่าสัตว์ที่มีประสบการณ์ในการใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนเป็นอย่างดี และได้นำเอาทักษะรวมทั้งประสบการณ์จริงในการเดินป่าของตนเอง มาถ่ายทอดลงในเพชรพระอุมา ให้ตัวละครต่าง ๆ เช่น รพินทร์ ไพรวัลย์ หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ หรือ แงซาย มีความสามารถและความชำนาญในฝีมือการยิงปืน รวมทั้งอาวุธปืนในแต่ละรุ่น วัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่ใช้สำหรับในการเดินทาง เช่นทักษะในการยิงสัตว์ในขณะที่สัตว์กำลังวิ่งหรือเข้าชาร์จผู้ยิง รวมถึงตำแหน่งการวางเป้าปืนของการยิงปืนในแต่ละครั้ง[25]

เพชรพระอุมาได้สะท้อนภาพให้เห็นถึงลักษณะของการใช้อาวุธปืนสำหรับการล่าสัตว์ในแต่ละขนาดเช่น เสือ กวาง กระทิงหรือช้าง เป็นการสะท้อนความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้อาวุธปืนให้เหมาะกับขนาดของสัตว์ที่ล่า ผ่านทางตัวละครในเพชรพระอุมาจำนวน 4 ลักษณะ[26] ด้วยกันคือ

  1. อาวุธปืนที่ใช้สำหรับการล่าสัตว์ปีก
  2. อาวุธปืนสำหรับล่าสัตว์ขนาดเล็ก
  3. อาวุธปืนสำหรับล่าสัตว์ขนาดกลาง
  4. อาวุธปืนสำหรับล่าสัตว์ขนาดใหญ่ และอานุภาพของปืนในแต่ละขนาดสำหรับการยิงสัตว์ชนิดต่าง ๆ

เพชรพระอุมาในรูปแบบอื่น[แก้]

หนังสือการ์ตูนและนิยายภาพ[แก้]

นิยายภาพเพชรพระอุมา

หนังสือการ์ตูน จำนวน 2 ครั้งด้วยกันในอดีต โดยผู้เขียนคือ จุก เบี้ยวสกุล และ ตาโปน[27] ในปี พ.ศ. 2520 และ พ.ศ. 2531[28] ปัจจุบันตีพิมพ์เป็นนิยายภาพอีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม จำนวน 48 เล่ม ผลงานภาพของโอม รัชเวทย์ นักเขียนการ์ตูนไทย ที่มีฝืมือระดับต้น ๆ ของเมืองไทย ซึ่งเคยมีผลงานจากพระมหาชนกและคุณทองแดง โดย ชัย ราชวัตร เป็นผู้ช่วยร่างภาพตัวละครต่าง ๆ และลงรายละเอียด ออกจำหน่ายครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547[29] ในรูปแบบของนิยายภาพขาวดำ

วิทยานิพนธ์[แก้]

บทประพันธ์จากประสบการณ์ในการเดินป่าของผู้ประพันธ์มาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง รวมทั้งความรู้ความสามารถในการเดินป่าและอาวุธปืนในการแกะรอยล่าสัตว์[30] ได้รับความสนใจจากนักศึกษาในการทำวิทยานิพนธ์คือ นางสาวสุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจา และ นางสาวสริญญา คงวัฒน์ เพื่อนำเสนอถึงคุณค่าและสิ่งที่ได้รับจากนวนิยายเรื่องนี้เสนอต่อ มหาวิทยาลัยทักษิณ

  • นางสาวสุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจา ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "นวนิยายแนวผจญภัย:จาก คิง โซโลมอน'ส มายน์ส ล่องไพร จนถึง เพชรพระอุมา (ภาคแรก)" ในปี พ.ศ. 2541
  • นางสาวสริญญา คงวัฒน์ ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "วิเคราะห์ภาพสะท้อนเชิงพรานในนวนิยายเพชรพระอุมา ของพนมเทียน"[31]

รายการแฟนพันธุ์แท้[แก้]

รายการแฟนพันธุ์แท้ โดยบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (Workpoint Entertainment) ดำเนินรายการโดยปัญญา นิรันดร์กุล จัดให้มีการค้นหาผู้เข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมาจากผู้เข้าแข่งขันจำนวนมาก ทางรายการคัดเลือกแฟนพันธุ์แท้จำนวน 5 คน บันทึกเทปโทรทัศน์ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2546 ออกอากาศในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2546 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5[32] ดังนี้

  1. คุณสุชาติ ระพีพัฒน์ชัย
  2. คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน
  3. คุณธีระพงษ์ ชัยพิริยะศักดิ์
  4. คุณชลลดา เกตวัลต์
  5. คุณเพ็ญวรินทร์ คัมมกสิกิจ

ผู้เข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมา ต่างมีความสามารถที่โดดเด่นและแตกต่างกันออกไป โดยสามารถผ่านการแข่งขันไปในแต่ระรอบของรายการจนถึงรอบสุดท้าย คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน คือผู้ที่ผ่านการแข่งขันในแต่ละรอบมาโดยตลอด ซึ่งจะต้องตอบคำถามข้อสุดท้ายของคุณปัญญา นิรันดร์กุล ที่ถามว่า

"เพชรพระอุมา ใช้เวลาเขียนทั้งหมด 25 ปี 7 เดือนกับ 2 วัน ภาคแรกเขียนจบลงในหนังสือจักรวาลรายสัปดาห์ แล้วมาเริ่มเขียนภาคสองตอนจอมพราน ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก ที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์รายวันของนวนิยายเรื่องนี้"[33] โดยที่คำถามว่า

ตอนแรกของภาคนี้ลงตีพิมพ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีพ.ศ.อะไร?

คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน สามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้องคือ "วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2519" และได้รับตำแหน่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมาพร้อมทั้งของรางวัลคือหนังสือพร้อมตู้หนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ พร้อมลายเซ็นคุณพนมเทียนทุกเล่ม, แผ่นทองคำแท้จารึกไว้เป็นหลักฐาน

ภาพยนตร์[แก้]

ใบปิดภาพยนตร์ เพชรพระอุมา

เพชรพระอุมาได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ระบบ 35 มม. ซีเนมาสโคป สร้างโดย วิทยาภาพยนตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2514 หลังซื้อลิขสิทธิ์จากพนมเทียน วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2513 ถ่ายทำเกือบตลอดทั้งเรื่องภายในประเทศไทยและแอฟริกา [34] กำกับโดย ส. อาสนจินดา บทภาพยนตร์โดย ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง ถ่ายภาพโดย พูนสวัสดิ์ ธีมากร เพลงประกอบโดย สุรพล โทณะวณิก เพลงเอกของเรื่อง เพชรพระอุมา ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2514

นำแสดงโดย รพินทร์ ไพรวัลย์ (วิทยา เวสสวัฒน์ ผู้อำนวยการสร้าง) รับบทเป็นรพินทร์ ไพรวัลย์, สุทิศา พัฒนุช รับบทเป็นดาริน วราฤทธิ์, อดุลย์ ดุลยรัตน์ รับบทเป็นเชษฐา วราฤทธิ์, ชนะ ศรีอุบล รับบทเป็นแงซาย, ประจวบ ฤกษ์ยามดี รับบทเป็นไชยยันต์ อนันตรัย

ภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้ใช้เสียงของตัวแสดงจริง แต่ใช้เสียงของนักพากษ์ โดย สมจินต์ ธรรมทัต พากษ์เสียงเป็น รพินทร์ ไพรวัลย์, รอง เค้ามูลคดี พากษ์เสียงเป็น เชษฐา วราฤทธิ์, จุรี โอศิริ พากษ์เสียงเป็น ดาริน วราฤทธิ์, และยังมีพูลสวัสดิ์ ธีมากร ตากล้อง ร่วมพากษ์ด้วย การบันทึกเสียง ภาพเทคนิคพิเศษ และตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำที่สตูดิโอของโตโฮในประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบันมีโครงการสร้างใหม่อีกครั้งโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่ายจากคลับสมาชิกเว็บไซต์พันทิปจำนวนมากภายในห้องเพชรพระอุมา คาดหวังว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก ที่แฟนนวนิยายช่วยกันเขียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต และอาจใช้เวลาในการถ่ายทำยาวนานถึง 4 ปี เฉพาะภาคแรกคือออกติดตามค้นหาพรานชด เนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ภาค ดูคล้ายๆแนวของฮอลลีวู๊ดอย่าง Jurassic Park, Mummy และ Gladiator[35]

ภาคแรก เรื่มที่สถานีกักสัตว์ซึ่งเป็นการเปิดตัวรพินทร์ ไพรวัลย์ให้คณะนายจ้างจากเมืองหลวงได้พบเห็น จนกระทั่งเดินทางถึงหมู่บ้านหล่มช้าง (ไพรมหากาฬ เล่มที่ 1 จนถึงดงมรณะ เล่มที่ 3)

ภาคสอง หลังออกเดินทางจากหมู่บ้านหล่มช้างจนถึงเนินพระจันทร์ (ดงมรณะ เล่มที่ 4 จนถึงป่าโลกล้านปี เล่มที่ 4)

ภาคสาม หลังออกเดินทางจากเนินพระจันนทร์สู่มรกตนคร พร้อมกับนำตัวพรานชดและหนานอินกลับมาจนถึงหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง (แงซายจอมจักรา เล่มที่ 1-4)[36]

อ้างอิง[แก้]

  1. รักษ์ชนก นามทอน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา คำนิยมจากบรรณาธิการ, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544
  2. "จุดเริ่มต้นของเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-25. สืบค้นเมื่อ 2007-05-28.
  3. "แฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  4. อินไซด์เพชรพระอุมา
  5. พนมเทียน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา เค้าโครงเรื่องจากคิง โซโลมอน'ส มายน์ส (King Solomon's Mines), สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2546 หน้า 11
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 พนมเทียน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา ความเป็นมาเบื้องต้น , สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2546 หน้า 6
  7. "เสียงตอบรับจากนักอ่านเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-05. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  8. "ความยาวในการประพันธ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-25. สืบค้นเมื่อ 2007-05-28.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 พนมเทียน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา ความยาวของเนื้อเรื่อง, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2546 หน้า 31 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา ความยาวของเนื้อเรื่อง" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  10. 10.0 10.1 10.2 พนมเทียน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา ที่มาของโครงเรื่อง, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2546 หน้า 37
  11. พนมเทียน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา โครงประกอบของเรื่อง, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2546 หน้า 45
  12. การตีพิมพ์เพชรพระอุมา
  13. การตีพิมพ์เพชรพระอุมาโดยสำนักพิมพ์อื่น
  14. 14.0 14.1 องอาจ โรจนสุพจน์, คำนิยมเพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544
  15. กระแสความนิยมของเพชรพระอุมา
  16. ว.วินิจฉัยกุล, "โลกนวนิยาย" (รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒ ประจำวันที่ ๒๖ – ๓ เมษายน ๒๕๓๙)
  17. คำนิยมของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
  18. สุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจา. นวนิยายแนวผจญภัย : จาก คิง โซโลมอน'ส มายน์ส ล่องไพร ถึงเพชรพระอุมา (ภาคหนึ่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
  19. ว.วินิจฉัยกุล. เพชรพระอุมา ภาค 1 ประติมากรรมระดับยักษ์ของ "พนมเทียน" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  20. พนมเทียน, เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2546 หน้า 76
  21. "ปูมบันทึกการเดินทางในเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-05. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  22. "ที่มาของหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-05. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  23. "ลักษณะของป่าที่ปรากฏในเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-04. สืบค้นเมื่อ 2007-06-22.
  24. "เดินป่า ล่าสัตว์ แกะรอยในเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-31. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  25. "ทักษะความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนในเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  26. "การใช้อาวุธปืนในเพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-05. สืบค้นเมื่อ 2007-06-22.
  27. "เพชรพระอุมาฉบับหนังสือการ์ตูนในอดีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  28. เพชรพระอุมาฉบับหนังสือการ์ตูน โดยจุก เบี้ยวสกุลและตาโปน
  29. เพชรพระอุมาฉบับนิยายภาพในปัจจุบัน
  30. "ความรู้และทักษะประสบการณ์ในเชิงพราน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-05.
  31. "เพชรพระอุมากับวิทยานิพนธ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-05.
  32. "การออกอากาศแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  33. "คำถามตัดสินผู้ชนะเลิศในแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-06.
  34. "ภาพยนตร์เพชรพระอุมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-20. สืบค้นเมื่อ 2007-05-28.
  35. การถ่ายทำภาพยนตร์เพชรพระอุมา
  36. หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ความคิดเห็นที่ 163 ความคืบหน้าในการถ่ายทำเพชรพระอุมา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]