สมจินต์ ธรรมทัต
สมจินต์ ธรรมทัต | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 6 มีนาคม พ.ศ. 2547 (73 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | นงเยาว์ กะสิชล |
อาชีพ | นักพากย์ นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียน |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2498 - 2547 |
ผลงานเด่น | หมู่ขัน จากละคร ขุนศึก (2502-2504) |
สังกัด | บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด |
โทรทัศน์ทองคำ | ผู้พากย์ภาพยนตร์ดีเด่นชาย พั้งค์กี้จอมแก่น และ หนูน้อยคอมพิวเตอร์ (2529) |
เมขลา | ผู้แสดงประกอบชายดีเด่น เขาชื่อกานต์ (2524) |
ThaiFilmDb |
สมจินต์ ธรรมทัต (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2547) เป็นนักแสดงชาวไทย นักพากย์ ผู้กำกับการแสดง จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลปธนบุรี และพานิชยการพระนคร เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงจากการทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด หรือช่อง 4 บางขุนพรหม ยุคบุกเบิก มีหน้าที่ต่าง ๆ ตามได้รับมอบหมาย กับงานอัดเสียงผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกาศของบริษัท ต่อมาได้บรรจุเป็นพนักงานประจำฝ่ายจัดรายการ แผนกแผนผัง (แผนผังการออกอากาศ) ซึ่งมี จำนง รังสิกุล ผู้อำนวยการสถานี และ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นหัวหน้าฝ่ายและรองหัวหน้าตามลำดับ และเป็นเจ้าของผลงาน 3 รางวัล ได้แก่ ดาราทองพระราชทาน พ.ศ. 2509, รางวัลเมขลา พ.ศ. 2524 และ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ. 2529
ประวัติ
[แก้]2474–2497: ปฐมวัย
[แก้]สมจินต์ ธรรมทัต เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 (นับแบบใหม่) ที่อําเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรบุตรชายคนโตของ นายศรี และนางเตียง ธรรมทัต (สกุลเดิม; แซ่ฉั่ว) บิดามารดามีอาชีพค้าขายและทำแป้งข้าวหมาก เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้วัดอนงคารามวรวิหาร เด็กชายสมจินต์จึงเข้าสังกัดเป็นเด็กวัดอนงค์ และได้รับใช้หลวงพ่อทับเกจิอาจารย์ชื่อดังในสมัยนั้น ครั้งหนึ่งหลวงพ่อทับได้สร้างพระปิดตาเนื้อเมฆพัตร ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ญาติโยมทั้งหลายจึงมาขออาราธนาไปบูชากันมิได้ขาด บางคราวขณะนั่งนวดขาให้หลวงพ่อที่กำลังจำวัด เขาจะล้วงหยิบกำพระออกจากบาตรที่หลวงพ่อใส่ไว้คราวละหนึ่งองค์สององค์บ้างส่งให้ผู้มารอ โดยไม่เคยเก็บไว้เป็นของตนเองเลย และมีน้องร่วมบิดามารดาอีกสามคน คือ นางสาวสมสอาด ธรรมทัต รับราชการครูสังกัดกรมอาชีวศึกษา, นายสมถวิล ธรรมทัต รับราชการตำแหน่งผู้ประกาศข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ นางเพ็ญศรี (ธรรมทัต) วุฒิวัย
ภายหลังเมื่อมีโอกาสพบญาติโยมบางคนที่ได้พระปิดตาเมฆพัตรไปและเพิ่งทราบว่าสมจินต์เองยังไม่มีพระที่ตนเองเคยหยิบแจกให้ผู้อื่นเลย จึงได้มอบคืนให้ ซึ่งในครั้งนั้นท่านผู้นั้นได้พระปิดตาจากมือของสมจินต์มาหลายองค์ด้วยกัน
เนื่องจากเป็นคนร่างเล็ก สมัยเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี เพื่อน ๆ จึงเรียกว่าเตี้ย เมื่อมีเรื่องทะเลาะวิวาทก็จะสู้คนตัวใหญ่กว่าไม่ได้ จึงได้เข้าฝึกมวยไทยและเพาะกาย เล่นกีฬาฟุตบอลล์ อีกทั้งยังเสาะหาเครื่องรางของขลังเพื่อป้องกันตัวตามสมัยนิยม เคยแอบไปสักกับอาจารย์สักยันต์ แต่ด้วยกลัวบิดาซึ่งดุมากจะทราบ จึงได้เลือกสักน้ำมันที่แผ่นหลัง เมื่อกลับถึงบ้านบิดาก็ทราบจนได้ เพราะถึงรอยสักน้ำมันจะมองไม่เห็น แต่เลือดที่ออกเป็นจุด ๆ ตามรอยเข็มสัก ซึมติดหลังเสื้อนักเรียนสีขาวเป็นรอยสักชัดเจน จึงถูกลงโทษด้วยไม้เรียวตามระเบียบ ครั้งหนึ่งเคยแอบไปเปรียบมวยในงานวัด เพราะต้องการทดลองฝีมือทางหมัดมวย เมื่อได้ขึ้นเวทียังไม่ทันได้ชกก็เห็นบิดาถือไม้เรียวรออยู่ที่ด้านล่างของเวที การชกครั้งนั้นแพ้และเมื่อลงจากเวทียังเจ็บตัวซ้ำสอง แต่การฝึกมวยไทยให้ประโยชน์เมื่อต้องใช้ในการแสดงละครโทรทัศน์
2498–2520: บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ช่อง 4 บางขุนพรหม
[แก้]หลังจบพณิชยการพระนคร ได้ทำงานที่ กรมชลประทาน และ กรมรถไฟ นกระทั่งทราบว่าจะมีสถานีโทรทัศน์แห่งแรกขึ้น เป็นกิจการใหม่ที่ไม่เคยมีในเมืองไทย จึงสนใจมาสมัครทำงานกับ จำนง รังสิกุล [1] ด้วยวุฒิพณิชยการและผลงานชนะการแข่งขันพิมพ์ดีด ได้ทำงานในส่วนกลางของบริษัทไทยโทรทัศน์ตั้งแต่อาคารสถานียังสร้างไม่เสร็จ ต้องนั่งทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ไปพลาง ๆ ก่อน โดยมิได้นึกเลยว่าจะมาเป็นนักแสดง
ยุคเริ่มแรกของบริษัทไทยโทรทัศน์ ทำงานทั่วไปตามที่ได้รับมอบหมาย บางครั้งทำหน้าที่ควบคุมการอัดเสียงผู้ที่มาสมัครเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุ ททท.ซึ่งเปิดดำเนินการก่อนสถานีโทรทัศน์ออกอากาศ ต่อมาได้ทำงานเอกสารในแผนกแผนผังของฝ่ายจัดรายการ ซึ่งนอกจากจะต้องพิมพ์แผนผังการออกอากาศประจำวันแล้ว บางครั้งยังต้องพิมพ์บทละครโทรทัศน์ด้วย และได้เข้าร่วมแสดงเป็น ตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด เช่น ทหารตัวประกอบซึ่งเรียกกันว่า "ทหารเสาหรือเสนา 50" เพราะได้รับค่าตัว 50 บาท ต่อมาจึงได้รับบทที่ต้องมีบทสนทนาในละครหลายเรื่อง จนมาถึงเรื่อง เสือเก่า ส่งให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้ชม ในเรื่องนี้รับบทนักมวยเก่าที่แขวนนวมไปแล้ว มีภรรยา (กัณฑรีย์ นาคประภา สิมะเสถียร) และต้องกลับมาขึ้นชกกับลูกชายของตัวเอง อาคม มกรานนท์ ซึ่งมีโอกาสได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยฝึกชกมวยในการแสดงละครครั้งนี้ด้วย
พ.ศ. 2502 - 2504 แสดงละครหลายตอนจบเรื่อง ขุนศึก บทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม เป็นละครฟอร์มใหญ่เรื่องยาวของสถานี ที่ใช้ผู้แสดงจำนวนมากและออกอากาศนานถึงสองปี บทโทรทัศน์โดย สุมทุม บุญเกื้อ ซึ่งเป็นการขอยืมชื่อน้องชายของ ไม้ เมืองเดิม มาเป็นผู้เขียนบทโทรทัศน์ แต่ความจริงแล้วเขียนโดย รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ซึ่งขณะนั้นถูกจำคุกอยู่ด้วยคดีกบฐเสรีภาพ[2]
รับบทเป็น หมู่ขัน ตัวร้ายของเรื่อง ทำให้มีชื่อเสียงในฐานะ ดาวร้ายจอแก้ว
พ.ศ. 2509 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย[3][4] ได้พิจารณาให้เป็นหนึ่งในรายชื่อเพื่อขอรับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สำหรับผู้มีผลงานในทุกสาขา ทั้งภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ และ นักร้อง โดยมีชื่อรางวัลว่า "ดาราทองพระราชทาน" พิธีพระราชทานรางวัล จัดขึ้น ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2509
ผู้ที่ได้รับรางวัลดาราทองพระราชทานมีรายชื่อดังต่อไปนี้
ภาพยนตร์ มิตร ชัยบัญชา (พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม), พิศมัย วิไลศักดิ์
โทรทัศน์ สมจินต์ ธรรมทัต, สุพรรณ บูรณพิมพ์
วิทยุ วิเชียร นีลิกานนท์, จีราภา ปัญจศีล
นักร้อง ชรินทร์ นันทนาคร, ลินจง บุญนากริน
รางวัลชมเชยพิเศษ ศิริ ศิริจินดา, ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, จีรนันท์ เศวตนันทน์
มีผลงานทางโทรทัศน์ ทั้งแสดงละคร กำกับละคร พากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศ บรรยายสารคดี อ่านข่าว และงานอื่น ๆ อีกมากมาย ตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมากจนตลอดชีวิต และเคยได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น
รางวัลเมขลา ครั้งที่ 2 (2524) ผู้แสดงประกอบชายดีเด่น จาก เขาชื่อกานต์ (ช่อง 3)
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 1 (2529) ผู้พากย์ภาพยนตร์ดีเด่นชาย จาก พั้งค์กี้จอมแก่น และ หนูน้อยคอมพิวเตอร์ (ช่อง 9)
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการรัฐประหารในขณะนั้นโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี และนายดุสิต ศิริวรรณ เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้เลิกกิจการบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด กับเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และได้ตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ขึ้นเพื่อรับช่วงการดำเนินงานต่อโดยให้พนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ สมัครเข้าทำงานในหน่วยงานใหม่
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับผู้บริหารองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยในยุคก่อตั้ง ปฏิเสธที่จะรับอดีตพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัดจำนวนหนึ่งเข้าทำงาน ซึ่งรวมถึง สมจินต์ ธรรมทัต ด้วย นับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นนักแสดงอิสระไม่มีสังกัด
2512–2546: วงการภาพยนตร์
[แก้]ช่วงที่ทำงานฝ่ายจัดรายการ ของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มีระเบียบห้ามนักแสดงสังกัดฝ่ายรายการรับงานแสดงนอกเหนือจากงานของทางสถานี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2512 เมื่อ จำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายรายการ ย้ายกลับกรมประชาสัมพันธ์ต้นสังกัดเดิม และมีการยกเลิกระเบียบดังกล่าว จึงรับงานแสดงภาพยนตร์ สวรรค์วันเพ็ญ เรื่องแรกของ ชรินทร์ นันทนาคร และมีโอกาสได้ร่วมงานกับ มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, แมน ธีระพล, น้ำเงิน บุญหนัก, ล้อต๊อก, สมพล กงสุวรรณ, อดินันท์ สิงห์หิรัญ ฯลฯ
หลังจากนั้นได้ร่วมแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง มักได้รับบทเป็นดาวร้ายที่ถนัดและเป็นที่นิยมของประชาชนจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต เรื่องสุดท้ายคือ เยาวราช
2500–2546: งานให้เสียงภาพยนตร์และสารคดี
[แก้]เริ่มงานพากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศของสถานีตามของสถานีที่มุ่งให้ให้พนักงานในฝ่ายรายการสามารถทำงานทั้งการแสดงละคร การกำกับละคร การพากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศ เรื่องแรกที่ได้พากย์อย่างจริงจังคือ เดอะ โลน เรนเจอร์ (The Lone Ranger) และได้รับความนิยมจากผู้ชมเรื่อยมาทั้งบทพระเอก พระรอง และตัวโกง รวมทั้งแนวตลก เป็นหนึ่งในทีมพากย์แนวหน้าของสถานี ให้เสียงได้หลากหลายบุคลิก เช่น ผู้พันหนุ่มดอน เวส และ หมอสมิธตัวแสบ ใน โลกพิศวง (Lost in Space), ผู้จัดการคู่ปรับเลขาสาวจอมเปิ่น ใน ยอดตลกหญิงของโลก (Lucy Show), คุณตาแดร็กคูล่าจอมเพี้ยน ใน คนผี (The Munsters) และ บทต่าง ๆ ใน มนุษย์ค้างคาว (Batman) เป็นต้น นักพากย์ที่ร่วมงานประจำคือ สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, ดาเรศร์ ศาตะจันทร์, อนุวัตร สุวรรณสโรช ฯลฯ
ผลงานร่วมในทีมพากย์เรื่องอื่น ๆ ที่สร้างชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น คุณอัศว์ (Mister Ed), สายลับลูกทุ่ง (The Wild Wild West) [5], แดนสนธยา (The Twilight Zone), ขบวนการพยัคฆ์ร้าย (Mission Impossible) [6] , ตลุยจักรวาล (Star Trek) [7], สิงห์สำอางค์ (The Saint)[8], โบนันซ่า (Bonanza)[9], แม่มดเจ้าเสน่ห์ (Bewitched) [10], ทรามวัยกายสิทธิ์ (I Dream of Jeannie), ผจญภัยใต้ทะเลลึก (voyage to the bottom) ฯลฯ
พ.ศ. 2518 วันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ได้ซื้อภาพยนตร์เรื่องยาวจากต่างประเทศพ่วงสารคดีชีวิตสัตว์เรื่อง Animals Are Beautiful People (สัตว์โลกผู้น่ารัก)[11]มาด้วย เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมของตลาดภาพยนตร์ในเมืองไทย จึงขอให้ สมจินต์ เป็นผู้บรรยาย เมื่ออัดเสียง (ตามบทแปล) เสร็จเรียบร้อย ทั้งสองก็สรุปร่วมกันว่าคงไม่ประสบความสำเร็จ จึงลองบรรยายใหม่อีกครั้ง คราวนี้ไม่อ่านตามบทแปลทั้งหมดแต่ใส่ลีลาการพากษ์แบบการ์ตูนเข้าไป ตั้งชื่อภาษาไทยว่า "สัตว์โลกผู้น่ารัก " ผลปรากฏว่าพลิกความคาดหมายของทุกคน สารคดีเรื่องนี้ได้รับความนิยมสูงสุดถึงกับต้องยืดเวลาฉายและเพิ่มโรงภาพยนตร์ ส่งผลให้มีชื่อเสียงทางการบรรยายสารคดีที่เกี่ยวกับสัตว์จนได้รับงานพากย์หนังแนวนี้อีกมาก
นอกจากนี้ยังมี ผลงานสารคดีทั่วไปส่วนใหญ่ ของบริษัทรัชฟิล์มทีวี, พาโนรามาดอกคิวเมนทารี่ รวมถึงงานพากษ์หนังต่างประเทศนับพันเรื่องในยุควิดีโอเทปกำลังเฟื่องฟูช่วงทศวรรษ 2520 กับบริษัทคิววิดีโอ จำกัด
โหราศาสตร์
[แก้]ในช่วงวัยรุ่นค่อนข้างเป็นเด็กเกเร บิดามารดาเป็นห่วงจึงพาไปหาพระภิกษุผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์ตรวจดวงชะตา และ ได้รับคำพยากรณ์ว่าเด็กคนนี้จะได้เข้าสู่วงการการแสดง[1] แต่เขาไม่ได้ใส่ใจกับคำพยากรณ์จนเริ่มมีชื่อเสียง จึงสนใจหันมาศึกษาวิชาโหราศาสตร์ด้วยตนเองโดยซื้อตำรามาอ่าน และเสาะแสวงหาอาจารย์ทางโหราศาสตร์เพื่อขอเรียนซึ่งก็ไม่สามารถหาผู้ให้ความรู้ได้ จึงมุมานะเรียนด้วยตนเองจากตำราและทดสอบด้วยตัวเอง จนมีความรู้ความชำนาญในการพยากรณ์ดวงชะตาบุคคล
ชีวิตช่วงหลังได้ใช้วิชาโหราศาสตร์เพื่อสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์โดยไม่รับอามิสสินจ้าง, ทำรายการวิทยุดูดวงชะตา โดยบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ (ผู้อุปถัมภ์) ได้รับความสนใจจากผู้ฟังโดยส่งวันเดือนปีเวลาเกิดมาให้พยากรณ์ดวงชะตาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเขียนบทความการพยากรณ์ดวงชะตาบุคคลในวงการบันเทิงลงหนังสือพิมพ์อินไซด์ทีวี [12] ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี
ผลงาน
[แก้]ผลงานละครโทรทัศน์
[แก้]ละครโทรทัศน์
[แก้]ปี | เรื่อง | รับบท | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
2513 | ชลธีพิศวาส | ช่อง 4 | |
2515 | พันท้ายนรสิงห์ | ช่อง 4 | |
2519 | ผู้ชนะสิบทิศ | ไขลู | ช่อง 5 |
2522 | สามสิงห์ | ช่อง 3 | |
ขุนศึกมหาราช | ช่อง 5 | ||
2523 | เขาชื่อกานต์ | โตมร | ช่อง 3 |
เรือมนุษย์ | เพลา | ช่อง 5 | |
กามนิต-วาสิฏฐี | ช่อง 5 | ||
2524 | อย่าลืมฉัน | วิบูลย์ | ช่อง 3 |
2525 | ปีกทอง | พ่อของภูวดล | ช่อง 3 |
เศรษฐีนี | พร้อม | ช่อง 3 | |
2526 | สาวใช้คนใหม่ | ช่อง 5 | |
2527 | สุดสายป่าน | ช่อง 3 | |
2528 | ฝ้ายแกมแพร | ธวัช | ช่อง 5 |
เบญจรงค์ 5 สี | ช่อง 3 | ||
2529 | เรือมนุษย์ | ช่อง 9 | |
ชายสามโบสถ์ | ช่อง 3 | ||
2530 | ผู้ใหญ่ลีกับนางมา | ช่อง 3 | |
ฟ้าต่ำ | ช่อง 3 | ||
ดาวเรือง | ผู้ใหญ่ผัน | ช่อง 3 | |
2531 | นาคี | ช่อง 3 | |
2532 | ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง | ช่อง 3 | |
รัตติกาลยอดรัก | ช่อง 3 | ||
2536 | แม่พลอยหุง | ช่อง 3 | |
2537 | โสมส่องแสง | ช่อง 3 | |
2538 | เยาวราชในพายุฝน | ช่อง 3 | |
สามใบไม่เถา | ช่อง 3 | ||
2540 | จินตปาตี | นายใหญ่ | ช่อง 3 |
2542 | มือปืน | ช่อง 3 | |
ดาวคนละดวง | ช่อง 7 | ||
เสน่ห์นางงิ้ว | ธานี | ช่อง 3 | |
2543 | หงส์เหนือมังกร | มิสเตอร์เค วอง ชู | ช่อง 5 |
2544 | ซิงตึ๊ง | ช่อง 3 | |
ทอง 5 | พลเอกตุง | ช่อง 7 |
ผลงานแสดงภาพยนตร์
[แก้]- สวรรค์วันเพ็ญ (2512) รับบท นายพร
- เจ้าลอย (2515)
- เหยื่ออารมณ์ (2518) รับบท เจ้าแก้วกรอง
- มหาอุตม์ (2519)
- เจ้าแม่ (2519)
- ศึก 5 เสือ (2520) รับบท คำมูล
- 7 ประจัญบาน (2520)
- เพลงรักบ้านนา (2520) รับบท พร
- โรงเรียนดงนักเลง (2521) รับบท ครูเถินไพรี
- เหนือกว่ารัก (2521) รับบท ส.ต.ท. ทอง
- วัยตกกระ (2521) รับบท พ่อของทรงพล
- บัณฑิตเหลือแดน (2522) รับบท นายอรรถสิทธิ์
- พรุ่งนี้ก็สายเกินไป (2522)
- อยู่อย่างเสือ (2522) รับบท สนาน
- นายอำเภอปฏิวัติ (2522)
- สมิงบ้านไร่ (2522) รับบท โมกขศักดิ์
- ชื่นรัก (2522) รับบท พ่อของต้อย
- ลูกทาส (2522) รับบท พระยาไชยากร
- ผานกเค้า (2522)
- ที่รักของน้องหนู (2522)
- เพลิงตะวันอันตราย (2522)
- ขุนเดช (2523) รับบท พ่อ
- คู่โจร (2523) รับบท จ.ส.ต. หวน
- อาอี๊ (2523)
- มันมือเสือ (2523) รับบท พ่อขี้เมา
- ชั่วฟ้าดินสลาย (2523) รับบท พะโป้
- ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน (2523) รับบท เฒ่าหยอย
- เจ้าแม่สาริกา (2524)
- สาวน้อย (2524)
- 5 คม (2524)
- สิงห์คะนองปืน (2524) รับบท ไอ้ใส
- ขบวนการแก้จน (2524) รับบท นกรู้
- ถล่มแผนจ้าวโลก (2525)
- นักสืบฮาร์ด (2525) รับบท สุขุม
- รักจั๊กจี้ (2525)
- ถล่มค่ายนรกจางซีฟู (2525) รับบท ขุนส่า
- หล่อลากดิน (2525)
- มังกรห้าเล็บ (2526)
- ลูบคมพยัคฆ์ (2526) รับบท ไอ้นาด
- ไอ้ ป.4 ไม่มีเส้น (2526) รับบท เสี่ยบุญมาก
- แหกนรกเวียตนาม (2526) รับบท นายธนาคาร
- ผู้ใหญ่บ้านกลองยาว (2526)
- ลำพูนดำ (2526) รับบท เมฆ
- กระเบนธง (2526)
- ยุทธการกระดูกอ่อน (2527)
- ตีแสกหน้า (2527)
- ดับเจ้าพ่อ (2527)
- ผู้ใหญ่สิงห์กำนันเสือ (2527)
- คาดเชือก (2527) รับบท ผู้กองเพชร
- ผัวเชลย (2528) รับบท นนท์ สรภพ
- ตำรวจเหล็ก (2529)
- อย่าบอกว่าเธอบาป (2530)
- คำพิพากษา (2532) รับบท ครูใหญ่
- คนทรงเจ้า (2532) รับบท ภูใจ
- บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ (2536) รับบท อาเที่ยง (รับเชิญ)
- กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2537) รับบท จำนงค์
- ฉีกป่าล่าคน (2538)
- เยาวราช (2546)
พากย์เสียง
[แก้]- พากย์เสียงรพินทร์ ไพรวัลย์ในภาพยนตร์เรื่องเพชพระอุมาพ.ศ.2514
- ให้เสียงพากย์ภาพยนตร์เพชรตัดเพชร(พ.ศ.2527)
- ให้เสียงพากย์ภาพยนตร์Sentenza / Angel Eyes (ร่วมกับรอง เค้ามูลคดี)
- ให้เสียงพากย์ภาพยนตร์Ted Lawson(ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ)
- ให้เสียงพากย์ภาพยนตร์สามก๊ก(พ.ศ.2537)
- ให้เสียงพากย์ Ed Traxler ในภาพยนตร์ฅนเหล็ก 2029 ทางช่อง 9
- Die Hard 2 พากย์เป็น เอ็ด ทรูโดว์ (เฟร็ด ทอมสัน) และ นายพล รามอน เอสพาแรนซา (ฟรานโก นีโร) เสียงโรง
- คณะเสียงใสไทยทีวี (ของช่อง 4 บริษัทไทยโทรทัศน์)
- คณะเสียงใสการละคร (ของ สุภางค์ ชูโต นงเยาว์ ธรรมทัต)
- คณะ 213 (ของบริษัท สหพัฒนพิบูลย์)
ผลงานกำกับ
[แก้]- 2520: ขุนศึก (ละครโทรทัศน์)
- 2522: ชื่นชีวานาวี (ละครโทรทัศน์)
- 2523: อาอี๊ (ภาพยนตร์)
- 2523: สายรุ้ง (ละครโทรทัศน์)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 [ นิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 3 ฉบับที่ 52 - 31 มีนาคม 2537 ]
- ↑ [ โลกมายาของอารีย์ โดย อารีย์ นักดนตรี - มีนาคม 2546 - ISBN 974-91018-4-7 ]
- ↑ หนังสือพิมพ์ ข่าวสยาม ปีที่ 9 ฉบับที่ 2322 วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2509
- ↑ หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3376 วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2509
- ↑ "THE WILD WILD WEST"
- ↑ "Mission Impossible"
- ↑ "Star Trek"
- ↑ "The Saint"
- ↑ "Bonanza"
- ↑ "Bewitched"
- ↑ Animals Are Beautiful People
- ↑ [ หนังสือพิมพ์อินไซด์ทีวี ปีที่ 7 ฉบับที่ 317 - มีนาคม 2535 ]