เส้นทางการเดินทางในเพชรพระอุมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เส้นทางการเดินทางในเพชรพระอุมา เป็นเส้นทางการเดินทางของตัวละครภายในเพชรพระอุมาที่เกิดจากจินตนาการของพนมเทียน ในการกำหนดเส้นทางการเดินทางของตัวละครในภาคแรกและภาคสมบูรณ์ โดยที่มีจุดเริ่มต้นจากหมู่บ้านหนองน้ำแห้งของรพินทร์ ไพรวัลย์ หมู่บ้านหล่มช้างจนถึงเมืองมรกตนครในภาคแรก และจากหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง อาณาจักรนิทรานครจนถึงเมืองมรกตนครในภาคสมบูรณ์

เส้นทางการเดินทางในเพชรพระอุมาภาคแรก[แก้]

การเดินทางในช่วงที่ 1[แก้]

การเดินทางในเพชรพระอุมาเริ่มต้นจากรพินทร์ ไพรวัลย์ได้พบกับคณะนายจ้างจากพระนคร ที่สถานีกักสัตว์ของบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ (Thai Wild Life) โดยนายประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทและนายอำพล พลการ ผู้อำนวยการบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ ได้แนะนำคณะนายจ้างให้รพินทร์ได้รู้จัก และบอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการมาพบ รพินทร์ตกลงรับจ้างเป็นพรานนำทาง พร้อมกับเล่าเรื่องราวของขุมทรัพย์เพชรพระอุมา รวมทั้งข่าวคราวล่าสุดของพรานชดที่ได้พบเจอแก่คณะนายจ้าง

เมื่อตกลงทำสัญญาระหว่างรพินทร์และคณะนายจ้าง ที่มีพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะในการเดินทาง ทางคณะนายจ้างได้จัดเตรียมสัมภาระในการเดินทางมายังหมู่บ้านหนองน้ำแห้งภายหลังจากวันที่ตกลงทำสัญญา เป็นระยะเวลาประมาณ 20 วัน ก่อนออกเดินทางในกลางเดือนมีนาคม จากจุดแรกของเส้นทางการเดินทาง รพินทร์นำคณะนายจ้างเดินทางมุ่งหน้าสู่เขาโล้น เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร[1] ก่อนที่จะบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมุ่งสู่โป่งกระทิง หุบชะมด ห้วยยายทอง ทุ่งช้าง ป่าหวาย [2] และหล่มช้างตามลำดับ

แต่ในขณะของการเดินทางตั้งแต่หุบชะมดไปสู่ป่าหวายนั้น คณะเดินทางได้แยกเป็นสองขบวนคือขบวนเกวียนที่นำโดยบุญคำ จัน และเส่ย และขบวนล่าพญาช้างไอ้แหว่ง ซึ่งแยกตัวออกมาจากขบวนเกวียน ประกอบด้วยนายจ้างทั้งสาม รพินทร์ แงซาย และเกิด ในช่วงจากหุบชะมดนี้ คณะล่าไอ้แหว่งได้เดินทางผ่านห้วยยายทอง ห้วยแม่เลิง สันเขาหุบหมาหอน เขานางนอน และลงไปสมทบกับขบวนเกวียนที่ป่าหวาย

การเดินทางในช่วงที่ 2[แก้]

ก่อนออกเดินทางจากโป่งกระทิง คณะเดินทางได้ถูกผีโขมดดงทำร้าย ลูกหาบเสียชีวิตก่อนเดินทางต่อมายังโป่งน้ำร้อน[3] และจะเดินทางถึงหุบชมดในตอนเที่ยง ห้วยยายทองในตอนพลบค่ำและถึงโป่งผีสิงในวันรุ่งขึ้น ก่อนจะออกเดินทางจากห้วยแม่เลิง ยึดสันเขามุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดระยะเวลาในการเดินทาง[4] และพักในหุบเขากลางดงกล้วย[5] ไต่ขี้นสันเขาดอยนาง และไต่ถึงร่องอกของเต้าถันสองข้างของดอยนางนอนในช่วงระยะเวลาก่อนเที่ยง[6]และเริ่มมองเห็นพื้นที่บริเวณป่าหวายอยู่เบื้องล่างก่อนถึงป่าหวายในช่วงพลบค่ำ

จากจุดนี้คณะเดินทางของรพินทร์พบกับไอ้แหว่ง ช้างเกเรที่ปะทะกับคณะเดินทางในการบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร คณะเดินทางถูกไอ้แหว่งถล่มที่พัก เชษฐาได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องผ่าตัดช่วยชีวิตด่วน คณะเดินทางหยุดพักรักษาอาการของเชษฐาและมุ่งหน้าไปอีก 5 กิโลเมตร บนเนินแห่งหนึ่งเพื่อเป็นชัยภูมิในการพักแรม[7]และออกตามล่าไอ้แหว่งเป็นเวลาประมาณ 7 วัน ก่อนที่ดารินจะล้มไอ้แหว่งได้สำเร็จ[8] ออกเดินทางมุ่งหน้าหล่มช้างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[9] ในช่วงเวลาเย็น คณะเดินทางผ่านพุเตย ซึ่งเป็นหมู่บ้านร้างที่คนในหมู่บ้านเสียชีวิตทั้งหมดด้วยโรคอหิวาห์[10]และถึงหล่มช้างในเวลาประมาณเที่ยง หล่มช้างถูกงูยักษ์บุกมาอาละวาด รพินทร์และแงซายปราบงูยักษ์ด้วยธนูติดระเบิดไนโตรกลีเซอรีน คณะเดินทางพักอยู่ที่หล่มช้างประมาณหนึ่งเดือนก่อนออกเดินทางต่อ

การเดินทางในช่วงที่ 3[แก้]

คณะเดินทางบ่ายหน้าไปยังเขาหัวแร้งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และอีก 3 วันถึงจะเข้าเขตนรกดำ ในช่วงเวลาเย็นของการเดินทาง รพินทร์ค้นพบหลักฐานที่พักของพรานชด คือซองบุหรี่ลักกี้สไตรค์เก่า ๆ กับลูกปืน .450 ไนโตรเอ็กซเปรสส์[11]และพบร่องรอยของสางเขียว[12]และถึงปากทางเขาหัวแร้งในตอนเที่ยง พบเจอกับ ดร.ฮอฟมันที่ถูกสางเขียวฆ่าด้วยหอกที่ลำธารและมาเรีย ฮอฟมัน ภรรยาสาวที่ถูกสางเขียวจับตัวไป[13]

ภายหลังจากถล่มหมู่บ้านสางเขียวและแย่งชิงตัวมาเรียกลับคืนมา มุ่งหน้าขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ โดยเส้นทางถูกบีบบังคับให้แคบลง ตัดทิวเขาใหญ่มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขาหัวแร้งและขึ้นเหนือไปทุ่งมรณะ[14] ซึ่งในขณะนี้คณะเดินทางทั้งหมดอยู่เหนือรัฐกะยา[15]ซึ่งเป็นตอนใต้ของรัฐไทยใหญ่ ถ้าคณะเดินทางตั้งเข็มทิศไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะพบกับพรมแดนไทยส่วนใดส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่[16]และพักที่เขาก็องกอยโดยตั้งใจจะลงจากเขาในวันมะรืน[17]โดยที่รพินทร์วางแผนจะพาคณะเดินทางบ่ายหน้าขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่รพินทร์พาคณะเดินทางขึ้น ๆ ลง ๆ จนถึงพลบค่ำและมุ่งหน้ากลับลงทางทิศใต้ก่อนหยุดพักแรมและจับผีก็องกอยได้ในช่วงเวลาค่ำ โดยผีก็องกอยขอร้องให้ช่วยเหลือโดยการมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะเวลา 2 วัน 2 คืน จะพบกับปริศนาความลับที่ซ่อนอยู่กลางป่าลึก[18] คืนนั้นคณะเดินทางถูกรมยาด้วยหนังคางคกภูเขา รุ่งเช้าแงซายหายไปพร้อมกับแผนที่เดินทาง จึงต้องออกติดตามร่องรอยที่แงซายทิ้งไว้เป็นระยะๆ โดยเบี่ยงมาทางทิศตะวันตก 45 องศา[19]และมุ่งหน้าไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามเขาที่เป็นทิวต่ำลงไปเบื้องล่างสามยอดเรียงกันเป็นทุ่งโล่งที่มีชื่อว่าทุ่งมรณะ พบเจออาณาจักรนิทรานครที่ล่มสลายและจอมผีผีดิบมันตรัย ช่วยปลดปล่อยวิญญาที่ถูกจองจำในคัมภีร์มายาวิน ปราบมันตรัยได้สำเร็จและได้ตัวแงซายกลับคืนมา

คณะเดินทางได้นำแผนที่จากแงซายมาพิจารณาปริศนา "ปิ่นพระศิวะฉายแสงเรืองรองเมื่อใด ถันพระอุมาจะปรากฏ ในคืน 5 ค่ำเดือน 12" ซึ่งขณะนั้นเป็นวันที่ 11 ตุลาคม (ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11) และวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 คือวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน[20] และรพินทร์บอกกล่าวแก่คณะเดินทางถึงตำแหน่งที่พักคือเขตเหนือสุดของรัฐว้า ก่อนออกเดินทางต่อมุ่งเขาเกือกม้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของนิทรานคร เข้าเขตป่าหินใกล้เขาเกือกม้าและมุ่งหน้าสู่ทะเลสาบมรณะ ต้องเดินขึ้นเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันตก 20 องศา รพินทร์พบร่องรอยของพรานชดคือกิ่งกระบองเพชรที่ถูกรอยมีดตัดไว้[21] พบเจอกับไทรันโนซอรัส เร็กซ์เกิดการต่อสู้ระหว่างไดโนเสาร์กินเนื้อและคณะเดินทาง

คณะเดินทางมุ่งหน้าใกล้เขตป่าหิน แต่พบเจอไทรันขวางทางจนเกิดการต่อสู้ ไทรันบาดเจ็บสาหัสและตายด้วยระเบิดติดไนโตรกลีเซอรีนในเวลาต่อมา คณะเดินทางมุ่งหน้าช่องเขาขาดเลาะตามขอบทะเลสาบมรณะ[22] โดยเลาะขอบทะเลสาบไปทางด้านทิศตะวันออก เพื่ออ้อมไปทิวเขาปีกครุฑ ถึงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของขอบทะเลสาบในเวลาบ่ายโมง ก่อนหยุดพักที่เนินหินทางด้านทิศตะวันออกของทะเลสาบ คืนนั้นคณะเดินทางถูกลิงไร้หางปลดอาวุธพร้อมกับควบคุมไว้เป็นเชลยในกระท่อมและถูกควบคุมตัวไปยังหุบเขานิลกาญจน์ในตอนบ่ายแก่ของวันรุ่งขึ้น[23] ดารินช่วยรักษาวายา มนุษย์วานรเจ้าแห่งลิงที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสพร้อมกับได้นมัสการฤๅษีโกฑัญญะ[24] รพินทร์ แงซายช่วยวายาและสมุนลิงปราบตัวสามเขาจนสำเร็จ ก่อนกราบลาฤๅษีโกฑัญญะโดยถือฤกษ์เดินทางคือเวลาเก้านาฬิกา[25]

ภายหลังจากกราบลาฤๅษีโกฑัญญะและออกเดินทางโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง คณะเดินทางก็พบแอ่งการเวก[26] พบเจอกับพายุลูกเห็บในทุ่งลมกรดและหลบพักในโพรงหมาป่า[27]และโอเอซีสที่เป็นป่าเกิดใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 300 ปี[28] แต่คณะเดินทางก็ยังค้นพบช่องประตูผาไม่เจอจนระยะเวลาเกือบเที่ยง[29] ซึ่งช่องประตูผานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการไปหาหลุมอุกกาบาตที่หนึ่ง ซึ่งจะต้องมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 5 - 6 ชั่วโมง และคณะเดินทางมาถึงอุกกาบาตที่หนึ่ง ในเวลาบ่ายโมงครึ่ง[30] และหลุมอุกกาบาตที่สองในเวลาก่อนพลบค่ำ[31]

คณะเดินทางออกเดินทางต่อจนถึงป่าหินและภูเขาเตี้ย ๆ อันเป็นบริเวณเชิงทิวป่า[32]ก่อนจะพบหลุมอุกกาบาตที่สามในวันศุกร์ที่ 30 เดือนตุลาคม ขึ้นหนึ่งค่ำ วันขึ้น 5 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 3 นับจากนี้เป็นต้นไป คณะเดินทางจะเหลือระยะเวลาในการเดินทางอีก 4 วันครึ่ง[33]พบกับหิมะในเทือกเขาพระศิวะในคืนแรก[34]ก่อนออกเดินทงในตอนสายของวันรุ่งขึ้น[35]มุ่งหน้าเนินพระจันทร์และถึงในตอนบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน แงซายพบหลักฐานการเดินทางจนถึงเนินพระจันทร์ของพรานชด และเมื่อพระจันทร์เสี้ยวของคืน 5 ค่ำ ส่องแสงสว่างเขาพระศิวะก็เกิดปรากฏการณ์ประหลาด ถันพระอุมาปรากฏขึ้นเป็นระยะเวลาเที่ยงคืนสามสิบห้านาที

การเดินทางในช่วงที่ 4[แก้]

คณะเดินทางใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการไต่เขาจนพบกับเทือกเขาพระศิวะ และทันทีที่ทั้งหมดย่างก้าวเข้าสู่บริเวณหัวถนนของเมืองมรกตนคร วันและเวลาก็หยุดอยู่ที่วันที่ 4 พฤศจิกายน เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง และเดินตัดตามถนนที่ลาดชันลงมาเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และหยุดพักบริเวณใต้ร่มต้นไม้ข้างลำธารจนรุ่งเช้า และพบว่าแงซายและอาวุธปืนหายไปรวมทั้งถูกจับตัวเป็นเชลยจากกองทัพทหารของชาวเมืองมรกตนครที่นำกองทัพโดยรหัสยะ คณะเดินทางถูกควบคุมตัวผ่านสองข้างทางของมรกตนคร ซึ่งระยะทางจากสามแยกไปเมืองมรกตใช้เวลาเดินครึ่งวัน ตกดึกได้มีการปล้นชิงตัวเชลยที่ร่วมเดินทางกับคณะเดินทางจากต่างถิ่นโดยเมยานี ลูกสาวของอรชุน

คณะเดินทางถูกนำตัวมาถึงเมืองมรกตนครในช่วงเวลาพลบค่ำ แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในตัวเมืองได้ และถูกนำตัวมารอที่สนามชัยจนเที่ยงก่อนเข้าเฝ้ากษัตริย์สิงหราในช่วงบ่าย ในเวลาประมาณเที่ยงคืน สุกรีกับพวกอีก5คนและเมยานีมุดทางลับใต้ดินมาขึ้นที่คุกที่คุมขังคณะเดินทาง และนำตัวเชลยต่างแดนทั้งหมดไปที่ถ้ำเหมราชและพบกับแงซายหรือจักราชที่รออยู่[36]

รุ่งเช้าคณะเดินทางทั้งหมดช่วยเหลือแงซายในการเปิดศึกกับสิงหราในการชิงราชบัลลังก์คืน ปราบแม่มดวาชิกาที่อยู่บนยอดปราสาท[37] แงซายได้ขึ้นครองราชสมบัติในพระนาม "สมเด็จพระเจ้าจักราธิราช"[38] คณะเดินทางพร้อมด้วยแงซายและทหารเมืองมรกตนคร ออกเดินทางด้วยม้าจากเมืองมรกตในเวลาประมาณตอนบ่าย พักระหว่างทางหนึ่งคืน และเดินทางถึงบริเวณปลายถนนในเวลาประมาณสามโมงเช้าตามเวลาของเมืองมรกตนคร แงซายมอบตราของราชวงศ์เทพให้แก่รพินทร์[39] และเมื่อคณะเดินทางเลาะบริเวณขอบถนนถึงป่าสน นาฬิกาก็เริ่มเดินอีกครั้ง[40] รพินทร์นำคณะเดินทางตัดตรงไปยังหุบเขานิลกาญจน์ โดยหลีกเลี่ยงไม่ผ่านหลุมอุกกาบาตก่อนมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านหล่มช้าง

เส้นทางการเดินทางในเพชรพระอุมาภาคสมบูรณ์[แก้]

ภายหลังเดินทางกลับจากเมืองมรกตนคร เวลาประมาณห้าโมงเย็น นายประเสริฐ ผู้จัดการบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ ได้ตามตัวรพินทร์ ไพรวัลย์ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงงานสำคัญของทางหน่วยงานราชการ[41]คือการกู้ซากเครื่องบิน บี 52 พร้อมระเบิดนิวเคลียร์ แต่ไม่สามารถค้นหาพบ จึงว่าจ้างรพินทร์เพื่อเป็นพรานนำทางในอัตราค่าจ้าง 1 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อตอบตกลงรับเป็นพรานนำทาง และเงินอีก 1 ล้านเหรียญเมื่อค้นพบสิ่งที่ต้องการ เมื่อรพินทร์ตอบรับในการเป็นพรานนำทาง และนัดหมายคณะนายจ้างชุดใหม่ให้เดินทางมาถึงหมู่บ้านหนองน้ำแห้งก่อนออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น โดยมุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ซับบอนเป็นจุดหมายแรกของการเดินทาง

คณะเดินทางถึงซับบอนในช่วงเวลาใกล้ค่ำ พักแรมหนึ่งคืนและบ่ายหน้าขึ้นเหนือสู่โป่งน้ำ ไต่ไปตามสันเขาและไหล่เขาก่อนถึงโป่งน้ำร้อนในเวลาใกล้ค่ำ และพรานบุญคำพบซากคนที่ถูกเสือคาบมากินและทิ้งไว้[42] รพินทร์ช่วยปราบเสือกินคนสำเร็จ แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือเยื้องไปทางทิศตะวันตก โดยตั้งใจจะให้ถึงตะเคียนทองในเวลาประมาณบ่ายสี่โมงครึ่ง แต่คณะเดินทางปะทะกับโขลงช้างที่มีไอ้งาดำเป็นจ่าโขลงในเวลาประมาณเที่ยง ลูกหาบได้รับบาดเจ็บและหยุดพักแรมหนึ่งคืน

รุ่งเช้ารพินทร์นำคณะเดินทางออกจากป่าไผ่ บ่ายหน้าสู่ตะเคียนทอง คาดว่าจะถึงตอนบ่ายกว่า ๆ[43] คณะเดินทางรับทราบจากรพินทร์ในตำแหน่งการเดินทางที่ออกนอกประเทศไทย มุ่งหน้าเข้าสู่สหภาพพม่าไปทางต้นน้ำสาละวิน[44] ถึงป่าหินในเวลาประมาณเที่ยง[45] ผ่านป่าหิน เข้าเขตตะเคียนทองในระยะทางอีกประมาณ 7 - 8 ไมล์[46] และถึงตะเคียนทองที่ปราศจากผู้คนในเวลาประมาณใกล้ค่ำ

คณะเดินทางพักที่ตะเคียนทองและพบกับเหล่าบริวารของมันตรัย รพินทร์เสียท่าถูกบริวารของมันตรัยล่อตกเหว และคณะเดินทางถูกเหล่าบริวารมันตรัยถล่มปางพักตอนกลางคืน บุญคำช่วยปฐมพยาบาลจนรพินทร์หายเป็นปกติ และออกเดินทางมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านภูเขาหลังเต่าและเข้าเขตทางตอนใต้ของหุบหมาหอนในเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ถึงหุบหินตัด แบ่งคณะเดินทางออกเป็น 2 ฝ่ายเพื่อล่อมันตรัย และหยุดพักแรมที่เนินสักดำในเวลากลางคืน แต่พรานบุญคำและพรานจันผลัดหลงกับคณะนายจ้างคือคริสตินา กรูบิลและพันตรีเชิดวุธ ไกรรณยุทธ รพินทร์ออกติดตามค้นหาและให้คณะเดินทางที่เหลือมุ่งหน้าห้วยเสือร้องไปก่อน จนพบทั้งคู่และช่วยเหลือออกจากถ้ำและลัดเลาะสันเขาขอบของแอ่งหุบหมาหอนมุ่งหน้าห้วยเสือร้องในตอนเย็น

ออกเดินทางต่อในช่วงเวลาสาย ๆ จากห้วยเสือร้อง บ่ายหน้าสู่เขานกอินทรีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[47] ถึงทุ่งแฝกในเวลาประมาณบ่ายโมงและถึงที่ผาใต้ปีกนกอินทรีในตอนเช้า[48] หยุดพักหนึ่งคืน พบตัวสางห่าและไต่เลียบลงจากยอดเขานกอินทรี บ่ายหน้าขึ้นเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[49] ถึงทางแยกลงเนินป่าสนในตอนเที่ยง[50] ตัวสางห่าหรือนาคเทวีเปิดทางให้ โดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกโดยเดินลงเขาตลอดจะพบสระโบกขณี คณะเดินทางหยุดพักก่อนบ่ายหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ อ้อมทะเลสาบใหญ่เข้าสู่ดงทึบ

รุ่งเช้ารพินทร์นำคณะเดินทาง บ่ายหน้าเข้าสู่เขตป่าดงดิบ โดยนำไต่เขาลงมาเป็นระยะ[51] หยุดพักตอนเที่ยงท่ามกลางป่าไม้ในยุคดึกดำบรรพ์ และออกเดินทางต่อในเวลาประมาณบ่ายโมง ผ่านทุ่งอันแห้งแล้งและหยุดพักแรมโคนต้นไทรในเวลาใกล้ค่ำ ตอนดึกที่พักของคณะเดินทางถูกบริวารของมันตรัยล้อมรอบและถูกฝูงหมาป่าถล่มที่พัก รพินทร์พาอิสซาเบล มูร์หลบหนีไปตามลำห้วยแห้งและพบรูปปั้นสิงโตมีปิกของอาณาจักรนิทรานคร และปราสาทจิตรางคนางค์ รพินทร์ขอให้คณะเดินทางทำลายเพื่อปิดปากทางเข้าออกของปราสาทจิตรางคนางค์[52] รพินทร์ต้องการย่นระยะทางในการเดินทาง มุ่งหน้าสู่เนินพระจันทร์โดยไม่ผ่านหุบเขานิลกาญจน์ หลุมอุกกาบาตและทะเลสาบมรณะและเข้าสู่เขตแดนของเมืองมรกตนคร มุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[53] ถึงทะเลสาบมรณะทางฝั่งตะวันตกในเวลาเที่ยง ตัดทางจากทะเลสาบมรณะ อ้อมหุบเขานิลกาญจน์ ผ่านป่าหินอันแห้งแล้ง ไต่ขึ้นที่ราบสูงจนถึงขอบหน้าผาสูงในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง และมองเห็นเนินพระจันทร์อยู่เบื้องล่างก่อนหยุดพักหนึ่งคืน

เช้าวันรุ่งขึ้นออกเดินทางถึงทางแยกของถนนในเมืองมรกตนครในตอนเที่ยง มุ่งหน้าเดินทางถึงเมืองมรกตนครในตอนบ่าย ได้รับการต้อนรับจากอรชุนที่บริเวณหัวถนน เข้าพักที่ปราสาทรับรองด้านหน้าอุทยานในตอนเที่ยงคืน รุ่งขึ้นคณะเดินทางได้พบกับจักรราชและเครื่องบินพร้อมกับระเบิดนิวเคลียร์ และออกเดินทางจากเมืองมรกตนครในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 221, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 221
  2. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 924, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 924
  3. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 3 หน้า 988, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 988
  4. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 4 หน้า 1564, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1564
  5. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1929, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1929
  6. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1767, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1767
  7. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1926, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1926
  8. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2144, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2144
  9. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2182, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2182
  10. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2195, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2195
  11. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2754, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2754
  12. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2818, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2818
  13. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 4 หน้า 2965, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2965
  14. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3487, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3487
  15. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3488, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3488
  16. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3489, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3489
  17. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3478, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3478
  18. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3643, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3643
  19. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 3664, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3664
  20. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนอาถรรพณ์นิทรานคร เล่ม 2 หน้า 5702, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 5702
  21. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนอาถรรพณ์นิทรานคร เล่ม 3 หน้า 6240, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 6240
  22. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 1 หน้า 6907, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 6907
  23. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 2 หน้า 7309, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7309
  24. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 2 หน้า 7340, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7340
  25. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 3 หน้า 7793, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7793
  26. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 3 หน้า 7747, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7747
  27. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 3 หน้า 7769, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7769
  28. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 3 หน้า 7874, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7874
  29. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 3 หน้า 7880, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 7880
  30. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 3 หน้า 8008, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8008
  31. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 4 หน้า 8148, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8148
  32. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 4 หน้า 8150, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8150
  33. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 4 หน้า 8206 - 8207, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8206 - 8207
  34. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 4 หน้า 8252, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8252
  35. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนป่าโลกล้านปี เล่ม 4 หน้า 8292, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 8292
  36. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 9704, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9704
  37. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 9964, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 9964
  38. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 10036, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 10036
  39. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 10069 - 10070, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 10069 - 10070
  40. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแงซายจอมจักรา เล่ม 4 หน้า 10073, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 10073
  41. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 1 หน้า 129, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 129
  42. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมพราน เล่ม 3 หน้า 843 - 844, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 843 - 844
  43. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไอ้งาดำเล่ม 1 หน้า 1308, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1308
  44. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไอ้งาดำ เล่ม 1 หน้า 1459, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1459
  45. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไอ้งาดำ เล่ม 1 หน้า 1503, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1503
  46. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไอ้งาดำ เล่ม 2 หน้า 1658, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1658
  47. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจิตรางคนางค์ เล่ม 3 หน้า 3467, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3467
  48. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจิตรางคนางค์ เล่ม 3 หน้า 3975, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3975
  49. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนนาคเทวี เล่ม 2 หน้า 4369, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 4369
  50. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนนาคเทวี เล่ม 2 หน้า 4399, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 4399
  51. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแต่ปางบรรพ์ เล่ม 1 หน้า 5456, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 5456
  52. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแต่ปางบรรพ์ เล่ม 4 หน้า 6442, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 6442
  53. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนแต่ปางบรรพ์ เล่ม 4 หน้า 6621, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 6621