ดงมรณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดงมรณะ
ภาพปกเพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1
รายละเอียด
ผู้ประพันธ์นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
จำนวนเล่ม4 เล่ม
ความยาว1,692 หน้า
ออกแบบปกสามารถ จงเจษฎากุล
ภาพประกอบปกสมชาย ปานประชา
ศิลปกรรมฝ่ายศิลปกรรม
ณ บ้านวรรณกรรม กรุ๊ป
บรรณาธิการรักษ์ชนก นามทอน
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ปีที่พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2538
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2541
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2547
เล่มก่อนหน้าไพรมหากาฬ
เล่มถัดไปจอมผีดิบมันตรัย

ดงมรณะ เป็นตอนที่สองของเพชรพระอุมาจำนวน 4 เล่ม ได้แก่ดงมรณะ เล่ม 1 - 4

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

ดงมรณะ เล่ม 1[แก้]

ภายหลังจากรพินทร์นำคณะนายจ้างผ่านดงทากมาถึงยังแม่น้ำใหญ่ ในขณะที่กำลังหาวิธีข้ามก็พบกับอุปสรรคในการเดินทาง เนื่องจากในแม่น้ำมีจระเข้ขนาดใหญ่จำนวนมาก รพินทร์จึงหาวิธีข้ามแม่น้ำ บริเวณที่แคบที่สุดด้วยการยิงตัวสมเสร็จเพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อความสนใจ[1]จนสามารถข้ามได้สำเร็จ และหยุดพักค้างแรมในหุบเขากลางดงกล้วย[2] ในตอนเย็นรพินทร์แสดงฝีมือการทำอาหาร คือลูกหมูหันบ้านป่า ยัดไส้ด้วยใบกล้วยให้คณะนายจ้างได้ลองชิม [3] คืนนั้นระหว่างพักผ่อน เกิดอาถรรพณ์ป่ากับปางพักของคณะนายจ้าง ขณะที่ไชยยันต์อยู่ยามเกิดตาฝาดมองเห็นเสือดาวขนาดใหญ่กลายเป็นหญิงสาวแรกรุ่น นั่งห้อยเท้าอยู่บนเถาวัลย์ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายชิงช้า ไชยยันต์คิดว่าตนเองไม่สบาย จึงปลุกเชษฐามาอยู่ยามต่อ และเล่าเหตุการณืที่เกิดขึ้นให้เชษฐาฟัง เมื่อเชษฐาอยู่ยา เชษฐาได้พบเห็นหญิงสาวเช่นเดียวกับไชยันต์เช่นกัน โดยหญิงสาวได้เดินเข้ามาหาเกือบจะถึงบริเวณเขตที่พัก แต่สิ่งที่ทำให้เชษฐาตกใจคือ หญิงสาวมีหน้าตาถอดแบบดารินออกมาทุกกระเบียดนิ้ว [4] [5] รพินทร์ที่เฝ้าดูเหตุการณ์ตลอดเข้าช่วยเหลือด้วยการยิงแสกหน้าเสือดาวด้วยปืน.458

เมื่อเชษฐาได้สติ จึงได้เห็นหญิงสาวแรกรุ่นที่มีใบหน้าเหมือนดารินกลายเป็นเสือดาวขนาดใหญ่ก็ตกใจ รพินทร์พยายามจะโน้มน้าวใจให้คณะนายจ้างคิดว่าเป็นเพียงตาฝาดเท่านั้น ส่วนพรานเกิดเชื่อว่าเป็น "เสือสมิง" ที่เกิดจากการฆ่าและกินมนุษย์เป็นอาหาร ทำให้วิญญาณสิงสู่อยู่ในร่างของเสือดาวและสามารถสร้างภาพมายาหลอกล่อให้มนุษย์ติดกับดักได้เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครู่ เมื่อถึงเวลาเช้าทุกคนตื่นมาดูเสือดาวที่ถูกยิงตาย พรานเกิดได้ทำการกรีดบริเวณหนังตรงหน้าผาก ให้เป็นชิ้นเท่าฝ่ามือแล้วชโลมด้วยขี้เถ้าเก็บไว้[6] ก่อนออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น รพินทร์นำคณะนายจ้างไต่สันเขาดอยนางขึ้นไปจนถึงเวลาประมาณเที่ยง ก็เริ่มมองเห็นบริเวณของป่าหวายอยู่เบื้องล่าง[7] ก่อนหยุดพักผ่อนชั่วครู่และลงจากดอยนางในช่วงเวลาประมาณบ่ายเศษ ๆ และพบเจอกับร่องรอยเกวียนที่รพินทร์ให้พรานบุญคำเป็นผู้ควบคุมและมอบหมายให้เดินทางล่วงหน้ามาก่อน

คณะเดินทางทั้งหมดพบซากควายที่ใช้ในการเทียมเกวียนนอนตายเนื่องจากถูกงูจงอางกัด[8] รพินทร์นำคณะนายจ้างและลูกหาบเดินทางต่อจนเข้าใกล้เขตป่าหวายในตอนค่ำ แต่เกิดปะทะกับโขลงช้างของไอ้แหว่ง พญาช้างสารเกเรที่เคยมาป้วนเปี้ยนแถวปางพัก รพินทร์มีโอกาสเผชิญหน้ากับไอ้แหว่งซึ่ง ๆ หน้า แต่ในขณะที่เหนี่ยวไกปืนเพื่อเล็งบริเวณเนินน้ำเต้า แต่กระสุนในปืนไรเฟิลของรพินทร์หมด ทำให้เสียโอกาสในการพิชิตพญาคชสารและเป็นการเปิดโอกาสให้ไอ้แหว่งและเหล่าบริวารหนีรอดไปได้ คณะนายจ้างทุกคนปลอดภัยไม่ได้รับอันตรายจากการปะทะในครั้งนี้ แต่ต้องสูญเสียลูกหาบจำนวน 3 คน[9]และเกวียนจำนวน 3 เล่ม ที่ถูกโขลงช้างของไอ้แหว่งถล่มเสียราบคาบ ทำให้ลูกหาบที่ติดตามคณะเดินทางสูญเสียขวัญและกำลังใจ เชษฐาในฐานะหัวหน้าคณะเดินทาง ปลุกปลอบขวัญของบรรดาลูกหาบที่ขวัญหนีดีฝ่อจากการปะทะกับไอ้แหว่ง ด้วยการให้สัญญาจะจ่ายเงินค่าคำขวัญให้แก่ลูกหาบที่เสียชีวิต รายละหนึ่งหมื่นบาทเมื่อเดินทางกลับพร้อมด้วยพรานชดและถึงหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง โดยจะฝากหนังสือลายมือของเชษฐาไปถึงคุณอำพล เมื่อคณะเดินทางแยกทางกับลูกหาบตามสัญญาว่าจ้างที่หมู่บ้านหล่มช้าง[10]

รพินทร์และคณะนายจ้างตั้งใจจะหยุดพักการเดินทางหนึ่งวัน เพื่อพักผ่อนตามอัธญาศัย และในวันมะรืนจะบ่ายหน้ามุ่งไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อพักแรมและสร้างปางพักถาวรบริเวณไหล่เขาริมหน้าผา เชษฐานำปืนไรเฟิลที่เตรียมไว้สำหรับในการเดินทาง ออกมาแจกจ่ายให้แก่ลูกหาบเพื่อใช้ในการป้องกันตัวจากอันตราย ดารินเปลี่ยนปืนที่ใช้จากเดิมคือ .470 มาเป็นบีเวอร์ .300 แม็กนั่มแทน เพราะปืนขนาดเล็กอานุภาพในการยิงน้อยไม่สามารถใช้ต่อสู้กับสัตว์ใหญ่ได้ ตกดึกดารินฝันว่าเจ้าป่านุ่งขาวห่มขาว หนวดเครายาวมาทวงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ดารินจึงแก้บนตามที่ขอไว้ด้วยสก็อตวิสกี้[11] ตกดึกประมาณตีสอง ปางพักของคณะเดินทางได้ถูกล้อมด้วยโขลงช้างบริวารของไอ้แหว่ง รพินทร์นำคณะนายจ้างและลูกหาบหลบหนีการโจมตีขึ้นไปตั้งหลักบนเนินเขา ไชยยันต์และแงซายช่วยกันฝังระเบิดไนโตรกลีเซอรีนบริเวณเนินเขาทั้ง 4 ด้าน[12] ผลจากการปะทะครั้งใหญ่กลางดึกนี้ ทำให้ลูกหาบเสียชีวิตจากการถูกหินที่เกิดจากแรงระเบิดหนึ่งคน แต่ที่ร้ายแรงมากที่สุดคือเชษฐา ที่ได้รับบาดเจ็บที่ขาอ่อนเหนือเข่าด้านซ้ายขึ้นไปเล็กน้อย เป็นแผลฉกรรจ์ ลึกและยาว ศีรษะแตกอีกสองแห่ง สูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ชีพจรเต้นอ่อนและหมดสติ

ดารินทำการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิต แต่เชษฐาสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากต้องให้เลือดโดยด่วน ดารินต้องการเลือดกรุ๊ป เอ เนกาทีฟที่หายากและไม่มีในกรุ๊ปเลือดที่นำติดตัวมา แงซายเสนอตัวเข้าช่วยเหลือด้วยการให้เลือดแก่เชษฐา ซึ่งเป็นกรุ๊ปเดียวกัน ภายหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น เชษฐาหลับด้วยฤทธิ์ยาจนค่ำถึงรู้สึกตัว และรับรู้ถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตนเองจนไม่สามารถเดินได้ชั่วคราว แต่ขวัญและกำลังใจของเชษฐากลับดีเยี่ยม ไม่หวั่นแม้แต่น้อยในการเตรียมวางแผนออกตามไล่ล่าไอ้แหว่งในวันรุ่งขึ้น รพินทร์นำคณะนายจ้างเดินทางต่อไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรจนถึงเนินเขาแห่งหนึ่งจึงหยุดพัก และจัดตั้งเป็นกองบัญชาการชั่วคราวในการโจมตีกับโขลงช้างของไอ้แหว่งหากเกิดการปะทะกันโดยไม่คาดฝัน [13] ในขณะพรานพื้นเมือง แงซายและลูกหาบช่วยกันสร้างปางพัก รพินทร์ออกเดินสำรวจรอบบริเวณปาง พบร่องรอยของไอ้แหว่งที่ขาหลังด้านซ้ายหักและมุ่งหน้าพาร่างที่บาดเจ็บของมันกลับไปยังเขานาง[14] รพินทร์ ไชยยันต์และแงซาย ออกติดตามร่องรอยของไอ้แหว่งตามที่มันทิ้งไว้ มุ่งหน้าไปทางเขานาง รพินทร์ติดตามไอ้แหว่งอยู่ 6 วันก็ไม่พบเจอตัวแม้แต่เงา จึงย้อนกลับมาเพราะพบร่องรอยของไอ้แหว่งที่หวนย้อนกลับมาปางพัก พร้อมกับวางแผนในการออกติดตามใหม่ เชษฐาที่อาการดีขึ้นมากพร้อมที่จะออกตามล่าไอ้แหว่งกับรพินทร์โดยมีดารินขอติดตามไปด้วย

รพินทร์และคณะนายจ้างแกะรอยไอ้แหว่งประมาณ 5 - 6 ชั่วโมงจากป่าหวาย[15] เกิดปะทะกับโขลงของไอ้แหว่ง ดารินยิงสุ่มสี่สุ่มห้าใส่โขลงช้างที่ดาหน้าเข้าหาอย่างประสงค์ร้ายด้วย .300 เวเธอร์บี แม็กนั่ม ผลปรากฏว่ากระสุนนัดนั้นโดนไอ้แหว่งเข้าที่ท้องอย่างจัง เป็นบาดแผลฉกรรจ์หลบหนีไป[16] รพินทร์ติดตามรอยไอ้แหว่งไปจนถึงน้ำตกใหญ่และค้นพบด่านทางลับเข้าหุบหมาหอน ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายหลังน้ำตก[17]

ดงมรณะ เล่ม 2[แก้]

แงซายเป็นคนนำพาทั้งหมดผ่านเข้ามาภายในถ้ำโดยอ้างว่าเป็นการบอกกล่าวจากพระธุดงค์ที่เลี้ยงดูมา ดารินพบซากพญาคชสารยืนตายอย่างสมศักดิ์ศรีที่บริเวณช่องแคบภายในถ้ำ[18] ก่อนจะอโหสิกรรมทุกสิ่งทุกอย่างให้ ภายหลังจากปราบไอ้แหว่งสำเร็จ รพินทร์นำคณะนายจ้างออกเดินทางจากป่าหวายมุ่งหน้าหมู่บ้านหล่นช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ระยะเวลา 3 วันในการเดินทางด้วยเกวียน แต่ถ้าตัดทางขึ้นเขาก็จะร่นระยะเวลาเหลือเพียง 2 วัน[19] ระหว่างการเดินทางพบเจอโขลงของแม่แปรก แต่ไม่เกิดเหตุร้ายใด ๆ ก่อนถึงหมู่บ้านพุเตยในเวลาเย็นและหยุดพักแรมหนึ่งคืน รพินทร์พบความผิดปกติของหมู่บ้านพุเตยที่ปราศจากผู้คน กลายเป็นหมู่บ้านร้าง

เชษฐารู้สึกถึงความผิดปกติรอบนอกบริเวณปางพักและหมู่บ้านพุเตย ยิ่งตกดึกเสียงหมาเห่าและหอนที่โหยหวนสร้างความหวาดกลัวให้แก่บรรดาลูกหาบและดาริน ดังไปทั่วราวกับเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น รพินทร์อธิบายถึงสาเหตุของหมู่บ้านพุเตยที่ร้างเพราะอหิวาต์ ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านต้องพากันอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย และซากศพของผู้ที่เสียชีวิตถูกห่อด้วยเสื่อตามหน้าบ้านและขั้นบันได รวมถึงยะขิ่น ลูกสาวของผาเอิงที่เสียชีวิตด้วย ก่อนจะวางเวรยามกำหนดในแต่ละจุดเพื่อดูแลความปลอดภัยแก่คณะนายจ้าง พรานเกิดกับพรานเส่ยเป็นเวรยามผลัดแรก ในขณะทำหน้าที่เวรยามพรานเส่ยเห็นยะขิ่น หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงคู่รักของตนเองมาหา พร้อมกับชักชวนให้ไปด้วยกัน พรานเส่ยพยายามจะตามยะขิ่นไปแต่ถูกพรานเกิดขัดขวางเนื่องจากมองไม่เห็นยะขิ่น จึงออกอุบายหลอกล่อพรานเกิดจนสำเร็จและหนียามไปพรอดรักกับยะขิ่น[20] รพินทร์ที่ตรวจสอบความเรียบร้อยรอบปางพักพบว่าพรานเส่ยหายตัวไปในขณะเข้าเวรยาม จากการสอบถามพรานเกิดทำให้รู้ว่าพรานเส่ยถูกผียะขิ่นพาตัวไป จึงออกติดตามค้นหาเพื่อนำตัวกลับ ก่อนจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตของพรานเส่ย โดยมีคณะนายจ้างและพรานพื้นเมืองคู่ใจอีก 3 คนติดตามไปด้วย

ตลอดเส้นทางการเดินทางจากปางพักมุ่งหน้าเข้าภายในหมู่บ้านพุเตย เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็นของซากศพที่นอนเกลื่อนกลาด เสียงนกแสกและเสียงเห่าหอนยังคงดังต่อเนื่อง ไชยยันต์หวาดผวากับสภาพโดยรอบของหมู่บ้านพุเตยและถูกเหล่าวิญญาณผู้ตายภายในหมู่บ้านหลอกหลอน ทำให้ขวัญเสียขลาดกลัวขาดสติยั้งคิดถึงกับยิงปืนเข้าใส่ลูกมะพร้าวที่เต็มไปด้วยขนรุงรังเนื่องจากมองเห็นเป็นศีรษะมนุษย์ รพินทร์มาหยุดที่หน้าบ้านของผาเอิง ก่อนก้าวขึ้นเรือนก็พบกับพรานเส่ยที่ถูกผียะขิ่นสิงสู่ และพยายามต่อสู้ขัดขวางทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้นำตัวพรานเส่ยจากไป รพินทร์พยายามหว่านล้อมให้ยะขิ่นปล่อยตัวพรานเส่ยแต่ก็ไร้ผล เพราะต้องการเอาตัวพรานเส่ยไปอยู่ด้วยกัน พร้อมกับแสดงอิทธิฤทธิ์จนรพินทร์ต้องเผาหมู่บ้านพุเตยเพื่อช่วยเหลือพรานเส่ยออกมา วันรุ่งขึ้นรพินทร์นำคณะนายจ้างเดินทางมาประมาณชั่วโมงเศษ ๆ ก็เริ่มขึ้นเนิน การเดินทางเริ่มลำบากขึ้นตามลำดับจนรพินทร์รู้สึกตัวว่านำพาคณะนายจ้างมาผิดทาง จึงย้อนกลับไปอ้อมเขาอีโก้และหยุดพักแรม แต่คืนนั้นเกิดเหตุการณ์ประหลาดแก่ปางพัก งูขนาดใหญ่มีหงอนได้ปรากฏตัวขึ้น ควายที่ใช้เทียมเกวียนในการเดินทางถูกงูใหญ่คาบหายไปหนึ่งตัว[21]

รพินทร์และคณะนายจ้างออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น ถึงหมู่บ้านหล่มช้างในตอนสาย ๆ และพบกับเจ้ามุ ลูกชายของคะหยิ่นหัวหน้ากะเหรี่ยงหมู่บ้านหล่มช้างที่ถูกหมูขวิดจนไส้ไหล[22] ดารินช่วยปฐมพยาบาลและเย็บบาดแผลที่ท้องให้แก่เจ้ามุ ก่อนเดินทางถึงหมู่บ้านหล่มช้างในตอนเที่ยง ภายหลังรพินทร์และเชษฐาได้ทราบจากแงซายถึงเรื่องราวเมื่อครึ่งปีก่อน ที่มีหมอสอนศาสนามิชชันนารีสองสามีภรรยาถูกคะหยิ่นฆ่าตาย เนื่องจากรับคำท้าในการรักษาโรคให้หายภายใน 3 วันแต่กลับรักษาไม่หาย[23] ภายหลังพบกับคะหยิ่น ดารินรู้สึกหมั่นไส้ในคำโอ้อวด จึงท้าด้วยการยิงมะขวิดด้วยปืน .300[24] จนคะหยิ่นยอมรับในฝีมือของดารินและยกย่องให้เป็นแม่มด ที่หมู่บ้านหล่มช้าง รพินทร์และคณะนายจ้างพบเกวียนของพรานชด ที่ฝากไว้กับคะหยิ่นก่อนออกเดินทางต่อเพื่อค้นหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมา จอดไว้ใต้ต้นตะแบกบริเวณลานหน้าบ้านของคะหยิ่น[25] คะหยิ่นช่วยเหลือคณะเดินทางของเชษฐาที่ยังบาดเจ็บด้วยการเกณฑ์ลูกบ้านไปตัดไม้สร้างบ้านให้พักชั่วคราว ระหว่างการก่อสร้าง ลูกบ้านของคะหยิ่นถูกงูใหญ่มีหงอนจำนวนสองตัวออกอาละวาด รพินทร์และคณะนายจ้างอาสาช่วยปราบงูใหญ่ให้เป็นการตอนแทน โดยวางแผนการโจมตีด้วยการใช้ธนูติดระเบิด

แงซายใช้ไม่ไผ่ทั้งลำมาทำธนู ขึ้นสายด้วยริ้วหนังวัว หางสำหรับตัดลมใช้หางนกเงือก ลูกธนูที่ใช้ยาวหนึ่งหลา ติดระเบิดไนโตรกลีเซอรีนประมาณ 7 นิ้ว วัดจากหัวธนูเข้ามา ก่อนใช้งานจริงได้ทดลองยิงก่อนหนึ่งดอก ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ รุ่งขึ้นงูใหญ่มีหงอนทั้งสองตัวออกอาละวาด ตัวหนึ่งถูกเชษฐายิงด้วย .458 กระสุนเข้าที่ตาซ้ายบอดสนิททันที[26] ได้เลื้อยหลบหนีไป รพินทร์ ดาริน ไชยยันต์ แงซาย พรานบุญคำและคะหยิ่นออกติดตามร่องรอยของหยดเลือดที่ไหลจากบาดแผลไป คะหยิ่นนำทั้งหมดลัดเลาะไปตามแนวเขา และพบกับเหวซึ่งเบื้องล่างเป็นบ่อโคลน คะหยิ่นจึงใช้วิธีการเลื้อยเหมือนงูไปบนผิวใบไม้จำนวนมากที่ปกคลุมพื้นโคลนนั้นเข้าไปขึงเชือกกับต้นไม้และให้ทุกคนไต่เชือกตามไป[27]

ดงมรณะ เล่ม 3[แก้]

คะหยิ่นนำคณะไปจนเจองูใหญ่ โดยลอดเข้าไปในระหว่างช่องเขาซึ่งงูใหญ่ตัวนั้นนอนพาดขวางอยู่ เกิดการปะทะกันขึ้นกับงูใหญ่ทั้งสองตัว แงซายปะทะกับงูใหญ่มีหงอนตัวผู้ด้วยการยิงธนูติดระเบิดจำนวน 2 ดอก ดอกแรกเข้าที่บริเวณกลางลำตัว[28] ดอกที่สองปักติดแน่นที่เพดานปากด้านบน[29] ส่วนงูใหญ่ตัวเมียโดนที่บริเวณกลางลำตัวและใกล้กับส่วนคอ แหลกละเอียดตายคาที่ทั้งสองตัว ไชยยันต์เก็บเกล็ดงูใหญ่ซึงมีขนาดเกือบเท่ากระด้งกลับมาฝากเชษฐา เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าสามารถปราบงูยักษ์ทั้งสองตัวได้สำเร็จ

ภายหลังจากปราบงูใหญ่ได้สำเร็จตามสัญญา คณะเดินทางทั้งหมดพักอยู่ที่หมู่บ้านหล่มช้างราวหนึ่งเดือน รอจนกระทั่งอาการของเชษฐาดีขึ้นจนเกือบปกติ จึงออกเดินทางต่อโดยมีแต่รพินทร์ คณะนายจ้าง แงซายและพรานพื้นเมืองคู่ใจอีก 4 คนเท่านั้น ส่วนพวกลูกหาบให้เดินทางกลับหนองน้ำแห้ง ฝ่ายคะหยิ่นนั้นขอสวามิภักดิ์และติดตามไปกับคณะเดินทางด้วยด้วยความสำนึกในบุญคุณและความสามารถ เชษฐาจึงมอบปืนลูกซองเรมิงตัน โมเดล 870 แบบปั๊มแอคชั่นให้คะหยิ่นเป็นปืนคู่มือ[30]

หลังจากส่งคณะลูกหาบกลับหนองน้ำแห้ง ราว 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น รพินทร์ก็นำคณะนายจ้างออกเดินทางจากหล่มช้าง บ่ายหน้าสู่เขาหัวแร้งทางตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางราว 20 กิโลเมตร โดยตั้งใจจะให้ถึงในเที่ยงของวันรุ่งขึ้น[31] แงซายบอกว่าตนได้เคยผ่านเขาหัวแร้งเข้าไปในป่านรกดำแล้ว ราวเที่ยงวัน พบหลักฐานการเดินทางผ่านมาของพรานชดและหนานอิน และบทกลอนตัดพ้อชีวิตที่พรานชดเขียนไว้ที่แผ่นหินด้วยถ่าน พร้อมชื่อ วันเวลาที่พรานชดแวะพักแรม เช้าของวันต่อมาก็พบร่องรอยของมนุษย์ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหนและเป็นใคร จนในที่สุด รพินทร์ แงซาย และพรานบุญคำก็ลงความเห็นว่าเป็นชนเผ่าสางเขียว คนป่าเผ่าดุร้ายหลงสำรวจ

นอกจากนี้คณะเดินทางยังได้พบร่องรอยการตั้งที่พักของมะราบรี (ชนเผ่าตองเหลือง) และการปะทะกันระหว่างสางเขียวและมราบรีในบริเวณใกล้ๆกัน และยังได้ปะทะกับกลุ่มสางเขียวซึ่งกำลังรุมฆ่ามราบรีสองคนอีกขนานใหญ่ ซึ่งรพินทร์สามารถช่วยชีวิตมราบรีคนหนึ่งไว้ได้ ส่วนลูกสาวของมราบรีคนนั้นถูกฆ่าตาย

ระหว่างออกเดินทางต่อ รพินทร์และคณะนายจ้างพบกับส่างปา พรานต่องสูผู้นำทางและคนรับใช้ของฝรั่งผิวขาว ที่หลงทางและกำลังหาทางเข้าประเทศไทย โดยเดินทางตัดผ่านทางแม่ฮ่องสอน และพบฝรั่งสองสามีภรรยา มาเรีย ฮอฟมัน และ ดร.สเตเกล ฮอฟมัน นักสำรวจสมุนไพร ฝ่ายรพินทร์เตือนดร.ฮอฟมันถึงเผ่าสางเขียว แต่ดร.ฮอฟมันไม่สู้จะใส่ใจนัก ทั้งสองคณะตกลงกันว่าจะพักอยู่ร่วมกันวันหนึ่ง แล้ววันมะรืนค่อยแยกทางกันต่อไป แต่แล้วในราวเที่ยงของวันถัดมานั่นเองก็เกิดเหตุร้ายขึ้น ขณะที่ดร.ฮอฟมันและมาเรียลงไปอาบน้ำที่ลำธาร และคณะเดินทางของเชษฐาพักผ่อนอยู่บนที่พัก ก็เกิดเสียงปืนดังขึ้นมาจากลำธารสองนัด

ดงมรณะ เล่ม 4[แก้]

รพินทร์และคณะนายจ้างพุ่งลงไปที่ลำธารทันที และพบว่า ดร.ฮอฟมันถูกสางเขียวฆ่าด้วยหอกที่ลำธาร และมาเรียผู้เป็นภรรยาถูกจับตัวไป ส่างปาเข้าต่อสู้เพื่อช่วยเหลือนายสาวแต่ถูกธนูอาบยาพิษจากเผ่าสางเขียว ได้คะหยิ่นช่วยแก้พิษให้[32] คณะเดินทางปะทะกับเผ่าสางเขียวจนกระทั่งแงซายยิงธนูติดระเบิดขึ้น ขับไล่สางเขียวแตกหนีไป รพินทร์และคณะนายจ้างต่างมีความเห็นตรงกันในการออกติดตามช่วยเหลือและชิงตัวมาเรียกลับมาจากพวกสางเขียว พร้อมกับฆ่าสางเขียวตายเป็นจำนวนมาก ตกดึกคืนนั้น ปางพักของเชษฐาได้ถูกเจ้าลู ลูกชายของหัวหน้าเผ่าสางเขียวใช้ยารมด้วยหนังคางคกตากแห้งเพื่อทำให้สลบ แต่รพินทร์และเชษฐาคอยระวังตัวอยู่แล้วจากแผนการที่เจ้าเกอะ มราบรีที่รพินทร์ช่วยชีวิตเอาไว้ และเป็นพ่อของนางเที๊ยะ ที่ถูกสางเขียวฆ่าตายพร้อมกับกินหัวใจ [33]

รพินทร์จับเจ้าลูเป็นตัวประกันโดยติดต่อสื่อสารด้วยภาษาว้า[34] และบังคับให้พาไปยังถิ่นของสางเขียว เพื่อเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนตัวกับมาเรีย แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ซูซูผู้พ่อของเจ้าลูยอมแลกตัวกับมาเรีย แต่มุมบาหมอผีประจำเผ่าสางเขียวไม่ยอม จึงเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นระหว่างรพินทร์ คณะนายจ้างและเผ่าสางเขียว รพินทร์บุกเข้าชิงตัวมาเรียจากแท่นบูชายัญ มุมบาโดนเจ้าเกอะเอาหอกแทงตายแต่เจ้าเกอะก็โดนสางเขียวตัดหัวในทันทีเช่นกัน แงซายพลาดท่าโดนหอกของสาวเขียวที่สะบัก ทั้งหมดพากันหลบหนีจากถิ่นของสางเขียวเมื่อได้ตัวมาเรียกลับคืนมาแล้ว รพินทร์และคณะนายจ้างพากันถอยกลับอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ทันการเพราะฝ่ายสางเขียวยิงตอบโต้ด้วยธนูเพลิง เผาสะพานเชือกข้ามเหว เชษฐา ไชยยันต์และคนอื่นข้ามฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย เหลือเพียงรพินทร์และดารินที่ข้ามมาไม่ทัน

รพินทร์เกิดเป็นไข้จับสั่น แต่ก็พยายามพาดารินหลบหนีฝูงหมาในจำนวนมากที่ตามไล่ล่า ดารินเห็นผีนางเที๊ยะมาช่วยเหลือด้วยการนำทางไปหลบในถ้ำที่หน้าผาแห่งหนึ่ง ตลอดทั้งคืนดารินคอยดูแลรพินทร์และคอยระวังตัวจากฝูงหมาไน เจ้าลูพาสางเขาพยายามปีนขึ้นไปยังถ้ำแต่ก็ถูกดารินยิงเสียชีวิตด้วยปืนและกระสุนที่เหลือติดตัว รุ่งขึ้น แงซาย ไชยยันต์และคะหยิ่นข้ามฝั่งมาเพื่อช่วยเหลือและถล่มหมู่บ้านสางเขียวจนราบเป็นหน้ากลองด้วยธนูติดระเบิด ซูซูหัวหน้าเผ่าโดนระเบิดตาย สางเขียวที่เหลือขอยอมแพ้จึงเป็นการยุติการต่อสู้โดยสิ้นเชิง แงซายช่วยเหลือรพินทร์และดารินจากถ้ำที่หลบซ่อนตัวอย่างปลอดภัย ก่อนเดินทางกลับไปยังเขาหัวแร้ง

เมื่อกลับถึงปางพัก มาเรียขอติดตามร่วมเดินทางไปกับคณะเดินทางด้วย เชษฐามอบปืน .460 เวเธอร์บี แมกนั่มของ ดร.ฮอฟมันให้แงซายเป็นผู้ถือแทนปืน .375 เอฟเอ็น พร้อมกับให้ทดลองทางปืน (ขณะนั้นเหลือกระสุน 35 นัด) ส่วน .375 ของดารินมอบให้ส่างปาเป็นผู้ถือแทน แงซายทดลองทางปืนกับต้นไม้ใหญ่ ซึ่งรู้ภายหลังจากยิงกระสุนนัดแรกว่าเป็นต้นตะเคียน[35] ตกตอนเย็นพรานพรานบุญคำที่ออกไปปลดทุกข์บริเวณนั้น วิ่งกระหืดกระหอบมาแจ้งแก่รพินทร์ถึงรอยปืนที่ต้นตะเคียน มียางไหลซึมออกมาสีแดงคล้ายเลือด

อ้างอิง[แก้]

  1. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1703, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1703
  2. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1929, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1929
  3. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1730 - 1731, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1730 - 1731
  4. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1738, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1738
  5. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1741, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1741
  6. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1766, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1766
  7. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1767, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1767
  8. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1788, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1788
  9. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1814, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1814
  10. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1828, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1828
  11. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1845 - 1846, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1845 - 1846
  12. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1858, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1858
  13. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1926, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1926
  14. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 1931, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1931
  15. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 2031, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2031
  16. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 2075, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2075
  17. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 2091, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2091
  18. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2144, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2144
  19. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2174, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2174
  20. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2210, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2210
  21. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2295, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2295
  22. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2322, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2322
  23. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2345, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2345
  24. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2373, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2544,
  25. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2388, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2388
  26. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2527, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2527
  27. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 2559, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2559
  28. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2549, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2549
  29. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2595, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2595
  30. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2644, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2644
  31. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 2686, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2686
  32. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 4 หน้า 2975, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 2975
  33. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 4 หน้า 3022, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3022
  34. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 4 หน้า 3040, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3040
  35. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 4 หน้า 3362, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 3362