ข้ามไปเนื้อหา

รางวัลเสาเสมาธรรมจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เสาเสมาธรรมจักร)
ไฟล์:พ.ม.สมปอง.jpg
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักรแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา

รางวัลเสาเสมาธรรมจักร เป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา บุคคลหรือองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้จะมีสิทธิ์ได้รับเพียงครั้งเดียว เพราะถือว่าเป็นรางวัลทรงเกียรติสูงสุดในชีวิตแล้ว

รางวัลเสาเสมาธรรมจักร สร้างจากวัสดุธรรมดาทั่วไป เป็นรูปกงล้อธรรมจักรประดิษฐานบนเสากลม ภายใต้แนวคิดว่าพระธรรมจักรเป็นเครื่องหมายแห่งการประกาศพระพุทธศาสนา และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาก็ได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ไพศาลยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ปัจจุบัน พิธีพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จัดขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในช่วงงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ของทุก ๆ ปี โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักรแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา[1]

ความเป็นมาของการมอบรางวัลเสาเสมาธรรมจักร

[แก้]

การคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เริ่มในปี 2525 ซึ่งเป็นปีแรกของการคัดเลือก และได้เว้นว่างไป 1 ปี จนถึงปี 2527 ซึ่งเป็นปีที่มีการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กรมการศาสนาร่วมกับศูนย์ส่งเสริม ฯ จึงได้นำโครงการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จากการคัดเลือกผู้ทำคุณต่อพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี 2525 – ปัจจุบัน มีผู้ได้ผ่านการคัดเลือกทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ จำนวน 2,758 รูป/คน[2]

การพิจารณามอบรางวัลเสาเสมาธรรมจักร

[แก้]
รางวัลเสาเสมาธรรมจักร

รางวัลเสาเสมาธรรมจักร เป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่คณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พิจารณามอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมยกย่องคุณความดีและประกาศเกียรติคุณแด่บุคคล องค์กร และหน่วยงาน ที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาให้ปรากฏแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป เป็นแบบอย่างแก่สังคมและเยาวชนของชาติ เป็นเกียรติ เป็นกำลังใจในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ซึ่งได้ผ่านการเสนอชื่อการพิจารณาคัดเลือกกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการ และการอนุมัติจากคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกในโครงการสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา

ผู้ควรแก่รางวัลจะได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร พร้อมด้วยประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จ ฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาล วิสาขบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี

หน่วยงานที่รับผิดชอบการพิจารณามอบรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ปัจจุบันอยู่ที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม โดยจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาผู้สมควรได้รับรางวัลขึ้นใหม่ทุกปี โดยแบ่งพิจารณาเป็น 10 สาขา เช่น สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น การคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลมีสองวิธีการคือ พิจารณาจากผู้ทำประโยชน์ผู้ที่มีชื่อเสียง และคัดเลือกจากเอกสารที่ผู้เสนอขอตามลำดับชั้นจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขึ้นมา โดยแบ่งเป็นจังหวัดละ 1 หรือ 2 รางวัล ตามแต่ขนาดของประชากรในจังหวัด

ประเภทของการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร

[แก้]

สืบเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 – ปัจจุบัน มีการปรับเพิ่มประเภทตามที่คณะกรรมการ ฯ กำหนด ในปี พ.ศ. 2549 คณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้แบ่งประเภทการคัดเลือกออกเป็น 10 ประเภท คือ

  1. ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา
  2. ประเภทการศึกษาสงเคราะห์
  3. ประเภทส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
  4. ประเภทส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
  5. ประเภทส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์
  6. ประเภทสงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
  7. ประเภทส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทยทางพระพุทธศาสนา
  8. ประเภทสื่อมวลชนที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา
  9. ประเภทสมาคม องค์กร มูลนิธิ สถาบัน และหน่วยงานที่มีกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา
  10. ประเภทผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณธรรมและส่งเสริมพระพุทธศาสนา

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมการศาสนา. (2554). รางวัลพระราชทาน เสาเสมาธรรมจักร พ.ศ. 2552. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.dra.go.th/module/attach_media/sheet4520090520112726.pdf เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. โครงการอุดหนุนการส่งเสริมศีลธรรมประชาชนรายการยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52