ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอปทุมรัตต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อ.ปทุมรัตต์)
อำเภอปทุมรัตต์
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Pathum Rat
คำขวัญ: 
เมืองดอกบัวแดง แหล่งผ้าไหมชั้นดี ประเพณีบุญคูณลาน จักสานลือเลื่อง ฟูเฟื่องวัฒนธรรม
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอปทุมรัตต์
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอปทุมรัตต์
พิกัด: 15°38′6″N 103°20′36″E / 15.63500°N 103.34333°E / 15.63500; 103.34333
ประเทศ ไทย
จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด356.9 ตร.กม. (137.8 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2567)
 • ทั้งหมด53,274[1] คน
 • ความหนาแน่น132.49 คน/ตร.กม. (343.1 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 45190
รหัสภูมิศาสตร์4503
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ หมู่ที่ 12 ตำบลบัวแดง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด 45190
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ปทุมรัตต์ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด

ประวัติ

[แก้]

อำเภอปทุมรัตต์ ตั้งอยู่ ณ บ้านตลาด ม.9 ตำบลบัวแดง เดิมทีหมู่บ้านนี้ อยู่ในเขตการปกครองของ ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อปี พ.ศ. 2440 ราษฎรมีการอพยพมาจาก อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาตั้งถิ่นฐานและภูมิลำเนา ประกอบอาชีพในการทำไร่และทำสวนเพราะหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ เมื่อสมัยก่อน พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ จึงเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างมาก และทำให้ราษฏรในเขตอำเภอใกล้เคียงดังกล่าว มีความสนใจการประกอบอาชีพในทางเกษตรเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านนี้ประมาณ 35 ครัวเรือน และ ณ หมู่บ้านแห่งนี้มีหนองน้ำธรรมชาติ ขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านมีดอกบัวแดงอยู่ในหนองน้ำเป็น จำนวนมาก จึงขนานนามชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านใหญ่หนองบัวแดง" ทั้งนี้เพื่อให้ชื่อหมู่บ้านสอดคล้องกับหนองน้ำธรรมชาติที่มีดอกบัวแดงจำนวนมากนั่นเอง

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2460 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศแบ่งเขตการปกครอง ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นตำบล อีกตำบลหนึ่ง โดยมีชื่อว่า "ตำบลบัวแดง" มีหมู่บ้านอยู่ในเขตปกครองของตำบลนี้ 14 หมู่บ้าน และอยู่ในเขตความปกครองของ อำเภอเกษตรวิสัย โดยมีขุนบัวแดง ดำริ นายจันทร์ ศาลาแดง เป็นกำนันคนแรกซึ่งตั้งที่ทำการกำนัน ณ บ้านหนองบัวแดง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2502 นายชน กองมณี เป็นกำนัน ราษฏรในตำบลนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และหมู่บ้านได้เพิ่มจาก 14 หมู่บ้าน เป็น 29 หมู่บ้าน ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้ลดน้อยลง เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ ไม่รู้จักการรักษาพื้นดินให้ คงความอุดมสมบูรณ์ให้เพียงพอ เช่น การทำลายป่าไม้ ทำให้เกิดฝนแล้ง ไม่รู้จักการใช้ปุ๋ย เป็นต้น ผลที่เกิดขึ้น คือ ราษฏรอดอยาก ขาดแคลนน้ำ ข้าวบริโภค โจรผู้ร้ายชุกชุมเพราะฝนฟ้าไม่อำนวยให้ตกตามฤดูกาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 - 2504 ประกอบกับหมู่บ้านนี้ อยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอเกษตรวิสัย ราษฏรไปติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอ ต้องใช้เวลาเดินทางแรมคืน เพราะเส้นทางคมนาคมที่ใช้กันเป็นทางเกวียน ทำให้ราษฏรได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ และขณะนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอสำหรับออกไปตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฏรให้ทั่วถึง

ครั้นในปี พ.ศ. 2505 ท่านพระครูปทุมสโรภาส (ครูเฮ้า แพงจันทร์) เจ้าอาวาสวัดสระปทุม (สมัยนั้น) ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคณะ อำเภอปทุมรัตต์ ได้เห็นความยากลำบากของราษฏรในตำบลบัวแดง, ตำบลโนนสวรรค์ และตำบลโพนสูง ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกันและพอที่จะรวมกัน จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอได้ มีความดำริที่จะจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น โดยเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านและคณะสงฆ์ใน 3 ตำบล ที่ประชุมมีมติเห็นชอบที่จะ ก่อสร้างกิ่งอำเภอขึ้น และได้ยื่นคำร้องขอตั้งอำเภอขึ้น ณ บ้านหนองบัวแดง หมู่ 1 ตำบลบัวแดง โดยขอก่อสร้างสถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ และสถานีอนามัย ขึ้นเอง ซึ่งมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด กระทรวงมหาดไทย เห็นความจำเป็นของราษฏร และเพื่ออำนวยความสะดวกของราษฏรทั้ง 3 ตำบล ซึ่งอยู่ห่างไกลจากอำเภอเกษตรวิสัย จึงได้พิจารณาอนุมัติให้สร้างสถานีตำรวจ, ที่ว่าการอำเภอ และสถานีอนามัยตามที่ประชุมร้องขอ ท่านพระครูปทุมสโรภาส จึงได้ลงมือก่อสร้างสถานที่ราชการทั้ง 3 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจในการเสียสละกำลังทรัพย์จากกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, คณะสงฆ์ และราษฏรทั้ง 3 ตำบล จนกระทั่งได้ก่อสร้างสถานที่ราชการทั้ง 3 แห่งเสร็จ ภายในเวลา 115 วัน และคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 305,058 บาท และได้มอบให้เป็นสมบัติของทางราชการในปี พ.ศ. 2505 นั่นเอง โดยเหตุนี้กระทรวงมหาดไทยจึงมีประกาศลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 โดยแบ่งเขตการปกครองอำเภอเกษตรวิสัย ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอโดยมีชื่อว่า "กิ่งอำเภอปทุมรัตต์"[2] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา และนายวิญญู อังคณารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด (สมัยนั้น) เป็นประธานในพิธีตั้งกิ่ง อำเภอปทุมรัตต์ โดยมี 3 ตำบล อยู่ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอปทุมรัตต์ คือ ตำบลบัวแดง, ตำบลโนนสวรรค์ และตำบลโพนสูง

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้มีพระราชกฤษฏีกายกฐานะกิ่งอำเภอปทุมรัตต์ขึ้นเป็น "อำเภอปทุมรัตต์"[3] เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ 2508 และมีตำบลอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอนี้ 4 ตำบล คือ ตำบลบัวแดง ตำบลโนนสวรรค์ ตำบลโพนสูง ตำบลหนองแคน ตำบลดอกล้ำ ตำบลสระบัว ตำบลโนนสง่า และตำบลขี้เหล็ก

การที่ได้ชื่อว่า "อำเภอปทุมรัตต์" ก็โดยที่อำเภอนี้ได้ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองบัวแดง คำว่า "ปทุม" หมายความว่า "ดอกบัว" และคำว่า "รัตต์" หมายความว่า "แดง"

อำเภอปทุมรัตต์ จึงมีความหมายตรงกันกับชื่อหมู่บ้านหนองบัวแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อมิให้มีชื่อตรงกับ อำเภอหนองบัวแดง ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอปทุมรัตต์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอปทุมรัตต์แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 ตำบล 101 หมู่บ้าน

ตำบลของอำเภอปทุมรัตต์
ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน หมู่บ้าน ประชากร [1]
1 บัวแดง Bua Daeng 12 7,935
2 ดอกล้ำ Dok Lam 15 7,952
3 หนองแคน Nong Khaen 14 7,498
4 โพนสูง Phon Sung 9 4,983
5 โนนสวรรค์ Non Sawan 16 6,842
6 สระบัว Sa Bua 17 7,861
7 โนนสง่า Non Sa-nga 10 5,492
8 ขี้เหล็ก Khilek 8 4,711
รวม 101 53,274

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลปทุมรัตต์ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบัวแดงและตำบลโนนสง่า
  • เทศบาลตำบลโพนสูง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพนสูงทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโนนสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบัวแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบัวแดง (นอกเขตเทศบาลตำบลปทุมรัตต์)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดอกล้ำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอกล้ำทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแคน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแคนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสระบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระบัวทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสง่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนสง่า (นอกเขตเทศบาลตำบลปทุมรัตต์)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลขี้เหล็ก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขี้เหล็กทั้งตำบล

ภูมิประเทศ

[แก้]

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอปทุมรัตต์ เป็นพื้นที่ราบ ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการทำนาข้าวแต่มีปัญหาเรื่องดินเค็มจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้อำเภอปทุมรัตต์ ก็ได้พยายามปรับปรุงพัฒนาที่ดินให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อใช้ในการเกษตรให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด เช่น การให้ราษฎรใช้เกษตรอินทรีย์ในการทำการเกษตร

แม่น้ำสายสำคัญของอำเภอปทุมรัตต์ คือ

  1. ลำน้ำเสียว เป็นลำน้ำที่มีต้นน้ำจากอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านอำเภอปทุมรัตต์ ด้านทิศเหนือที่ตำบลหนองแคน ตำบลโพนสูง และตำบล ขี้เหล็ก เป็นลำน้ำที่ใช้ในการแบ่งเขตอำเภอปทุมรัตต์กับอำเภอเกษตรวิสัย
  2. ลำน้ำเตา เป็นลำน้ำที่มีต้นน้ำเกิดที่อำเภอนาดูน และอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านอำเภอปทุมรัตต์ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านตำบลดอกล้ำ และตำบลสระบัว เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอปทุมรัตต์กับอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ภูมิอากาศ

[แก้]
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม

พื้นที่และการใช้ประโยชน์

[แก้]

พื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝน มีบางส่วนของบ้าน โคกทม หมู่ที่ 2, 10 บ้านดอนดู่ หมู่ที่ 8 ตำบลบัวแดง และบ้านจานใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลโพนสูง ที่ได้รับ ประโยชน์จากคลองชลประทาน เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่[4]

การถือครองที่ดิน การออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎร มีรายละเอียดดังนี้

  • โฉนดที่ดิน จำนวน 5,628 แปลง
  • หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำนวน 4,416 แปลง
  • หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) จำนวน 791 แปลง
  • หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล) จำนวน 77 แปลง

ชาวอำเภอปทุมรัตต์ที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "จำนวนประชากร." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1] ข้อมูลประชากร อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด (ธันวาคม 2564) .จาก สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  2. [2] เก็บถาวร 2012-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่การปกครองอำเภอเกษตรวิสัยตั้งเป็นกิ่งอำเภอ
  3. [3] เก็บถาวร 2008-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอไพศาลี อำเภอท่าวังผา อำเภอบ้านกรวด อำเภอเด่นชัย อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอกะเปอร์ อำเภออากาศอำนวย อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอจอมพระ และอำเภอสามโก้ พ.ศ. ๒๕๐๘
  4. สำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาอำเภอเกษตรวิสัยส่วนแยกปทุมรัตต์