พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 3 พระองค์เจ้าชั้นตรี
ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์
ส่วนบุคคล
ประสูติ
หม่อมเจ้ากระจ่าง

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2386
สิ้นพระชนม์28 ธันวาคม พ.ศ. 2444 (58 ปี)
ศาสนาพุทธ
บุพการี
ราชวงศ์ลดาวัลย์ (ราชวงศ์จักรี)
นิกายเถรวาท
สำนักธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 5 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จังหวัดพระนคร
อุปสมบทพ.ศ. 2406
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พรรษา39
ตำแหน่งเจ้าคณะอรัญวาสี
เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์[1] (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2386 – 28 ธันวาคม พ.ศ. 2444) เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุลลดาวัลย์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ดำรงสมณศักดิ์สุดท้ายที่สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าคณะอรัญวาสี เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง เจ้าอาวาสพระองค์แรกของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดราชบพิธ

พระประวัติ[แก้]

ชาตกาล[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าชายกระจ่าง เป็นพระโอรสลำดับที่ 3 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมหรั่ง เมื่อวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล จ.ศ. 1204 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2385 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2386) เวลา 5:23 น. ที่วังถนนราชินีและถนนมหาราชตรงที่เป็นกระทรวงเศรษฐการหรือกระทรวงพานิชย์ปัจจุบัน (ปัจจุบันเป็นมิวเซียมสยาม) เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาในพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ในรัชกาลที่ 5 และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ในรัชกาลที่ 7[2]

บรรพชา-อุปสมบท[แก้]

เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 ขณะพระชันษา 16 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระศีลาจารย์ ผนวชแล้วประทับที่วัดโสมนัสราชวรวิหารจนพระชันษาครบ 20 ปีจึงลาผนวชเพื่อทำการสมโภชตามประเพณีเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเดือน 8 ปีกุน พ.ศ. 2406 โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า "อรุโณ"

ต่อมาทรงทำทัฬหีกรรมที่วัดโสมนัสวิหาร โดยมีสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วประทับที่วัดโสมนัสวิหารจนถึง พ.ศ. 2413[3] จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกและจำพรรษาที่นี่ตราบสิ้นพระชนม์[4]

การศึกษา[แก้]

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาอักขรสมัยภาษาไทยและภาษาบาลีที่วัง เมื่อบรรพชาแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร และพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ขณะทั้ง 2 รูปยังเป็นมหาเปรียญ และทรงสอบที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ในปี พ.ศ. 2407 ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับพระราชทานตาลปัตรพื้นตาดเปรียญ 5 ประโยคมาแต่ครั้งนั้น

พระกรณียกิจ[แก้]

การอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ ถัดมาทางขวาคือหม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามพระองค์แรก จึงมีพระภาระสำคัญในการอำนวยการก่อสร้างพระอารามให้ยิ่งใหญ่สวยงามสมเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาล ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับกุลบุตรที่เป็นพระราชวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งเป็นคณปูรกะและพระอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวผนวชในปี พ.ศ. 2416 ทรงเป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[5] ทรงเป็นแม่กองตรวจชำระพระสุตตันตปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[6] เป็นพระผู้ก่อตั้งและอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธเมื่อปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับ รัตนโกสิทร์ศก 104 หรือปี พ.ศ. 2428 ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 139 ทรงเป็นผู้ช่วยอธิบดีในการสอบไล่พระไตรปิฎกในปี พ.ศ. 2437[7] และในปี พ.ศ. 2443 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีในการสอบพระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมณศักดิ์[แก้]

วันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย พ.ศ. 2412 (ตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2413 ตามการนับแบบปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าพระกระจ่าง อรุโณ เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่าหม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร[4]

วันศุกร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน พ.ศ. 2430 (ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระธรรมไตรโลก[8]

วันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน พ.ศ. 2430 (ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน) ทรงได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงษเธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สุนทรวิสุทธิพรต อาคาริยยศราชวรพงษ ธำรงสมณคุณวิบุลยศักดิ อรรคปริยัติอรรถโกศล โสภณธรรมาลังการภูสิต คณฤศราธิบดี ทรงศักดินา 3000 ไร่ มีสมณศักดิ์เสมอพระพรหมมุนี[9]

วันพุธ แรม 6 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2436 (ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน) ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เพิ่มพระอิศริยยศเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย มีราชทินนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สุนทรวิสุทธิพรต อาคาริยยศราชวรพงษ์ ธำรงสมณคุณวิบุลยศักดิ์ อรรคปริยัติอรรถโกศล วิมลธรรมยุติกคณานุนายก สาสนดิลกบพิตร"[10]

วันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด พ.ศ. 2443 (ตรงกับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ตามการนับในปัจจุบัน) ทรงได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะอรัญวาสีและเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง มีราชทินนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สุนทรวิสุทธิพรต อาคาริยยศราชวรพงษ ธำรงสมณคุณวิบุลยศักดิ อรรคปริยัติอรรถโกศล วิมลยติโยคนายก สาสนดิลกบพิตร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธจริยาสมบัติ ไตรปิฎกอรรถธรรมโกศล วิมลธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณาธิปัติ มัชฌิมคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสีบพิตร"[11]

การสิ้นพระชนม์[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประชวรด้วยพระโรคเดียวกับพระขณิษฐาคือพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา เมื่อทรงทราบว่าพระอัครชายาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ (ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2444) ทำให้ทรงสลดพระทัยจนพระอาการทรุดลงตาม มีพระอาการวิงเวียน อาเจียน อ่อนเพลีย เสียดพระนาภี พระบังคลผิดปกติ เสวยพระกระยาหารไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดโดยตลอด[12] พระอาการยังทรงกับทรุดจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคอุจจาระธาตุพิการ[13] เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2444 แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู สิริพระชันษาได้ 58 ปี 306 วัน ดำรงสมณเพศได้ 39 พรรษา[14] ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445[15]

อ้างอิง[แก้]

  • ร่มฉัตร หนังสือพิมพ์ ราชบพิธ ปีที่ 22 ฉบับที่ 71 ประจำเดือน กันยายน - มีนาคม 2548
  1. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
  2. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม ๒ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) , กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2538, หน้า 240-243
  3. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 148
  4. 4.0 4.1 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 141-6. ISBN 974-417-530-3
  5. ประวัติคณะธรรมยุต, กรุงเทพ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547, หน้า 127
  6. ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่องเชิญเสด็จอาราธนาพระราชาคณะประชุมสอบไล่พระไตรปิฎก, เล่ม 11, หน้า 445
  8. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะแลเปรียญที่แปลพระปริยัติธรรม, เล่ม 4 ,หน้า 178-9
  9. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งพระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร, เล่ม 4 ,หน้า 255-6
  10. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 10, หน้า 392
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 17, หน้า 727-8
  12. ประมวลเอกสารจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๕ เรื่อง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553, หน้า ๒๘๔
  13. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 151
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ พระวรวงษเธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์, วันที่ 5 มกราคม ร.ศ. 120, เล่ม 18, หน้า 788
  15. ราชกิจจานุเบกษา, การเมรุท้องสนามหลวง, วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 120, เล่ม 18, หน้า 890