สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระพุฒาจารย์

(เขียว จนฺทสิริ)
ส่วนบุคคล
เกิด7 มกราคม พ.ศ. 2376 (80 ปี 55 วัน ปี)
มรณภาพ2 มีนาคม พ.ศ. 2456
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 8 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบทพ.ศ. 2358
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ) เป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะกลางและเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

ประวัติ[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่าเขียว เกิดเมื่อวันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2376 เป็นบุตรคนโตของหมื่นพร (น่วม) กรมพระตำรวจขวา กับนางทรัพย์ เมื่ออายุได้ 11 ปี โยมมารดาได้ฝากท่านไว้กับพระสมุห์รอด วัดสมอราย[1] หลังโกนจุกเมื่ออายุ 13 ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรโดยมีพระสมุห์รอดเป็นพระอุปัชฌาย์ ปีต่อมาได้บรรพชาซ้ำในคณะธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเล่าเรียนภาษาบาลีกับพระอริยกวี (ทิง) และได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะอายุ 17 ปี[2]

เมื่ออายุย่าง 23 ปี ตรงกับต้นปีเถาะ จ.ศ. 1217 (พ.ศ. 2358) จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ โบสถ์แพ หน้าวัดสมอราย โดยพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดยิ้ม จนฺทรํสี และพระมหาเหมือน สุมิตฺโต เป็นคู่กรรมวาจาจารย์[2] เมื่อพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) ย้ายไปครองวัดโสมนัสราชวรวิหาร ท่านได้ติดตามไปอยู่ด้วย

ท่านได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมอีกครั้งในปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 แปลเพิ่มได้อีก 3 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค และในปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ได้เข้าสอบที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้เพิ่มอีก 1 ประโยค เป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค และเข้าสอบครั้งสุดท้ายในปีชวด พ.ศ. 2419 ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 1 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค[1]

การปกครองคณะสงฆ์[แก้]

เมื่อวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นิมนต์ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส และได้ปกครองวัดนี้ตราบจนมรณภาพ[2] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2448 ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่าท่านชราและทุพพลภาพมากจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงโปรดให้ท่านพ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง แต่ยังดำรงสมณศักดิ์ ราชทินนาม นิตยภัต และฐานานุกรมตามเดิมสืบต่อไป[3]

สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2420 เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์[1]
  • พ.ศ. 2443 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลาง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป มีนิตยภัตเดือนละ 6 ตำลึง มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมุนีศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[4]
  • พ.ศ. 2448 เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป มีนิตยภัตเดือนละ 10 ตำลึง มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏพิเศษว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธิ์จริยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลมัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี[5]

อัธยาศัย[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ) มีอัธยาศัยสงบ สันโดษ ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร แต่ก็ไม่ละทิ้งหน้าที่ในการสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอ เช่น เป็นอุปัชฌาย์ในการบรรพชาและอุปสมบทกุลบุตร แสดงพระธรรมเทศนา เป็นต้น[2]

มรณภาพ[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ) อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2455[1] (นับแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2456) ปีชวด เวลา 2 ยาม 25 นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จไปสรงน้ำศพ พระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุศพ และให้พระสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 1 เดือน[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 146-9. ISBN 974-417-530-3
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า, เถรประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว). ประวัติวัดราชาธิวาสวิหาร. กรุงเทพฯ : วัดราชาธิวาส, 2545. 300 หน้า. หน้า 157-63. ISBN 974-85891-1-7 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ ง, ๒๙ มกราคม ๒๔๕๓, หน้า ๒๖๗๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๕, ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓, หน้า ๔๘๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเลื่อนตำแหน่งสมณศักดิ์, เล่ม ๒๒, ตอน ๕๒, ๒๕ มีนาคม ๒๔๔๘, หน้า ๑๑๘๖
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม ๒๙, ตอน ง, ๙ มีนาคม ๒๔๕๕, หน้า ๒๗๓๕-๖