พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ | |
---|---|
ประสูติ | 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395 กรุงเทพพระมหานคร ประเทศสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 16 มีนาคม พ.ศ. 2478 (83 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
หม่อม | หม่อมตลับ ชุมสาย ณ อยุธยา |
ราชสกุล | ชุมสาย |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม |
พระมารดา | หม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา |
ลายพระอภิไธย |
นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395[1] – 16 มีนาคม พ.ศ. 2478[2]) เป็นอดีตอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ผู้มีบทบาทสำคัญทางการทูตของไทยในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้นำคณะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทูลเกล้าฯ ถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดทีปทุตตมาราม ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ขณะผนวชเป็นพระภิกษุ ในฉายา "พระชินวรวงศ์"
พระประวัติ
[แก้]ปฐมวัยและการศึกษา
[แก้]นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ประสูติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394 (แบบสากล พ.ศ. 2395) ที่วังท่าพระ เป็นพระโอรสองค์สุดท้ายในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม อธิบดีกรมช่างศิลป์หมู่และช่างศิลา กับหม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา (สกุลเดิม ภมรมนตรี) อดีตหม่อมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อประสูติมีพระยศที่ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์
หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเรียนหลวงเสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับพระราชอนุชาในรัชกาลที่ 5 อีกหลายพระองค์ จากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 และเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน (King's College London) มหาวิทยาลัยลอนดอน ในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ [3]เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับสยามในปี พ.ศ. 2419 แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยราชการในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ต่อมาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้ทรงขอกลับไปศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษในด้านวิศวกรรมโยธา และด้านการจัดการโรงกษาปณ์ [4]
รับราชการ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2423 ขณะมีชันษาได้ 29 ปี ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นล่ามและตรีทูตในคณะของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตไทยคนแรกประจำราชสำนักเซนต์เจมส์แห่งอังกฤษ และประจำประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริการวมถึง 12 ประเทศ ได้เป็นผู้แทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการีและพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส พร้อมทั้งรับพระราชทานสถาปนาพระอิศริยยศเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ 1 มหาสุราภรณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อปี พ.ศ. 2426 ขณะมีพระชันษาได้ 32 ปี[5]
ในปี พ.ศ. 2428 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระชันษาได้ 34 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้แสดงความเห็นต่อการเสียเอกราชของพม่าจากสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สาม และแนวการปรับปรุงการปกครองของสยามเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทำนองเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถวายความคิดเห็นเป็นการส่วนพระองค์ แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้นำพระราชหัตถเลขาและคำกราบบังคมทูลดังกล่าวไปประชุมปรึกษาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และข้าราชการผู้ใหญ่ในสถานทูต และได้ตกลงกันว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นรวมกันทั้ง 4 พระองค์ พร้อมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก 7 คน อันเป็นที่มาของคำเสนอให้ปฏิรูปการเมืองการปกครอง หรือ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103" ซึ่งสาระสำคัญคือขอให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบประชาธิปไตย [4]
หลังการทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 พระองค์ และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เสด็จกลับสยาม แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยังไม่เสด็จกลับทันที ด้วยทรงติดภารกิจในการลงพระนามให้สยามเป็นสมาชิกในสหภาพสากลไปรษณีย์ และจัดพิมพ์แสตมป์สยามในระบบสากลเป็นครั้งแรก (โปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในการดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428)[6] หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับสยามพร้อมกับพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429
กล่าวกันว่าเพราะการทำเกินพระราชประสงค์ในการถวายความคิดเห็นครั้งนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงไม่เป็นที่โปรดปรานนับแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเสด็จกลับมาถึงสยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้ารับราชการในกรมไปรยสนีย์แลโทรเลข[7] ซึ่งกำลังอยู่ในระยะเริ่มจัดตั้ง โดยทรงรับตำแหน่งเป็นจางวางกรมไปรยสนีย์แลโทรเลข และยังได้ทรงปฏิบัติราชการอื่นที่สำคัญอีกหลายอย่าง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2432 ในระยะนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงประสบปัญหาส่วนพระองค์ด้านการเงินอย่างหนัก และถูกเรียกคืนบ้านหลวงเนื่องจากทรงมีปัญหาในการบริหารจัดการเงินงบประมาณกรมไปรยสนีย์แลโทรเลข และทรงพยายามจะบรรจุพระอนุวงศ์พระองค์หนึ่งเข้ารับราชการในกรมโยธาธิการ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงาน (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีส่วนร่วมในการร่างแผนจัดตั้งหน่วยงานด้วย) เพื่อตอบแทนเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งได้ประทานความช่วยเหลือทางการเงินแก่พระองค์[8] พระองค์จึงคิดว่ามีศัตรูที่คอยจ้องเล่นงานพระองค์อยู่ตลอดเวลาและเกิดความท้อใจที่จะรับราชการต่อไป
ลาออกจากราชการและผนวช
[แก้]ในปี พ.ศ. 2434 ขณะมีพระชันษาได้ 40 ปี พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างทางเสด็จกลับ ขบวนเสด็จได้แวะที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพระประชวรอย่างกะทันหันและจำเป็นต้องพักรักษาพระองค์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ตัดสินพระทัยลาออกจากราชการโดยไม่มีการบอกกล่าวและทรงทิ้งจดหมายกราบบังคมทูลลาออกไว้ ก่อนจะเสด็จไปยังเมืองต่าง ๆ ในต่างประเทศ เพื่อหางานทำ ทั้งที่ไซ่ง่อน (โคชินไชนา) กรุงพนมเปญ (กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส)[9] รัฐเปรัก (อาณานิคมมลายูของอังกฤษ)[10] จนกระทั่งได้เสด็จไปที่ประเทศศรีลังกาและทรงผนวชเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2439 ขณะมีพระชันษาได้ 45 ปี โดยมีพระวัสกะฑุเว ศรีสุภูติ (Waskaḍuwe Śrī Subhūti) พระสังฆนายกแห่งกรุงโคลัมโบ เป็นพระอุปัชฌาย์[11] ทรงได้รับพระฉายาว่า "ชินวรวงฺโส ภิกขุ" หรือ "พระชินวรวงศ์" (ในเอกสารภาษาต่างประเทศ ทรงใช้พระนามว่า Bhikkhu P.C. Jinavaravamsa) ภายหลังทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดทีปทุตตมาราม เป็นวัดไทยวัดแรกในกรุงโคลัมโบ ระหว่างปี พ.ศ. 2448 - 2453[12]
ระหว่างที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ดำรงสมณเพศเป็นพระภิกษุชินวรวงศ์นั้น ได้มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุภายในซากโบราณสถานกรุงกบิลพัสดุ์ที่ประเทศอินเดียในปี พ.ศ. 2439 เมื่อพระชินวรวงศ์ทรงทราบข่าวดังกล่าวจึงเสด็จไปที่นั่นเพื่อตรวจสอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ[13] และทรงแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอินเดีย (บริติชราช) ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[14] เพราะเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในสมัยนั้นที่เป็นพุทธมามกะ ต่อมาเมื่อทางสยามตอบรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษ และมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุในปี พ.ศ. 2442 ปรากฏว่าพระชินวรวงศ์ได้เกิดความขัดแย้งกับพระยาสุขุมนัยวินิตอย่างรุนแรง เนื่องจากพระองค์ได้บอกกับพระยาสุขุมนัยวินิตว่า ทรงแอบหยิบเอาพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรที่รัฐบาลอังกฤษรวบรวมไว้จากการค้นพบดังกล่าวมาองค์หนึ่ง หากรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็จะนำพระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเสียเอง พระยาสุขุมนัยวินิตซึ่งมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีเป็นอย่างดี จึงแจ้งแก่พระชินวรวงศ์ว่าพระองค์ได้ต้องอาบัติปาราชิกข้อ "อทินนาทานสิกขาบท" (คือ การลักทรัพย์ การถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้) ไปแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ณ นาทีที่กระทำเช่นนั้นแล้ว และได้รายงานเรื่องดังกล่าวไปยังทางสยาม[15][16]
เมื่อทางสยามทราบเรื่องพระชินวรวงศ์ต้องอาบัติปาราชิกตามที่พระยาสุขุมนัยวินิตได้รายงานไปก็เห็นด้วยเช่นนั้น และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ได้มีโทรเลขไปยังพระชินวรวงศ์ผ่านกงสุลสยามในโคลัมโบว่า พระชินวรวงศ์จะเข้าไปสยามแบบเป็นพระไม่ได้ เพราะต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ในเวลานั้นพระชินวรวงศ์มีแผนการจะเสด็จกลับสยามเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงได้รับโทรเลขดังกล่าวจึงทรงล้มเลิกแผนการเสด็จกลับ และภายหลังแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสกรุงโคลัมโบระหว่างทางเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2450 แต่พระชินวรวงศ์ก็ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าฯ ทั้งในสมณเพศ เพราะรัฐบาลสยามยังคงตั้งเงื่อนไขไว้ว่าพระชินวรวงศ์จะเข้าเฝ้าได้ก็ต่อเมื่อลาสิกขาออกเป็นฆราวาสแล้วเท่านั้น[16]
อนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุที่สยามได้รับมาจากรัฐบาลอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และแบ่งไปยังประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา
ลาสิกขาและบั้นปลายพระชนม์ชีพ
[แก้]พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เสด็จกลับประเทศสยามในปลายปี พ.ศ. 2453 (แต่ปฏิทินสากลเปลี่ยนเป็น ค.ศ. 1911 แล้ว) ขณะมีพระชันษาได้ 60 ปี เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสด็จกลับสยามครั้งนี้กลายเป็นการเสด็จกลับอย่างถาวร เพราะพระองค์จำต้องลาสิกขาออกเป็นฆราวาสตามเงื่อนไขของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ[16] และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2453 เพื่อให้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ แต่หลังจากเสร็จพระราชพิธีพระบรมศพแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผนวชและกลับไปศรีลังกาอีกครั้ง[17] เนื่องจากทางการสยามยังคงเห็นว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องอาบัติปาราชิกจากเรื่องทรงแอบหยิบเอาพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น จึงไม่สามารถกลับเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาได้อีกตลอดชีวิต รวมเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ 14 พรรษา
หลังจากลาสิกขาแล้วทรงทำงานเป็นบรรณาธิการแผนกภาษาไทยให้กับหนังสือพิมพ์ "สยามออบเซิร์ฟเวอร์" ของพระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด คุณะดิลก) อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นประทับอยู่ในตรอกกัปตันบุช ทรงหาเลี้ยงพระชนม์ชีพด้วยการรับจ้างสอนภาษาอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้งที่กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่ในเวลานั้นมีพระชันษาได้ 72 ปีแล้ว พระองค์รับราชการได้ไม่นานก็ทรงถูกให้ออกจากราชการ (สำนวนในยุคนั้นเรียกว่า "ถูกดุลย์") เช่นเดียวกับข้าราชการหลาย ๆ คนในเวลานั้น เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในงบประมาณแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงบันทึกไว้ว่าถูกให้ออกจากราชการในปี พ.ศ. 2467)[18]
ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงย้ายไปพำนักอยู่ในตรอกวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร ดำรงพระชนม์ชีพด้วยเงินเบี้ยหวัดในฐานะพระอนุวงศ์และมีพระญาติส่วนหนึ่งให้ความอุปการะ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงพระชนม์ชีพ อีกทั้งพระองค์ยังมีพระโรครุมเร้า ประชวรเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ดังข้อความในตอนท้ายของหนังสือพระประวัติซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงนิพนธ์ไว้เอง ระบุว่า
ข้าพเจ้าก็มีร่างกายทุพพลภาพ โรคภัยต่าง ๆ ก็ตามมาผะจญซ้ำเติม ป่วยไข้เรื่อยมาโดยความอัตคัดจนกาลบัดนี้ เป็นตุ๊กตาล้มลุกลงนอนอยู่บ้าง ลุกขึ้นเต้นรำตะกุยตะกายหาใส่ท้องบ้าง เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาเบื่อระอาบ้าง ไปอยู่โรงพยาบาลบ้าง เรื่อยมา จนได้แพทย์สวรรค์มาช่วยให้ลุกขึ้นเต้นไปได้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้เขียนประวัติตัวเอง ซึ่งแม้ตัวเองก็อดเห็นแปลกประหลาดไม่ได้
— พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ด้วยความยากไร้เช่นนี้ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2477 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2478)ขณะมีพระชันษาได้ 84 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 โดยพระศพของพระองค์ได้รับการบรรจุในโกศราชวงศ์อย่างเก่า[19] คือเป็นโกศไม้สี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดโกศเป็นรูปฉัตร 3 ชั้น และไม่มีเครื่องประกอบใด ๆ[20]
ชีวิตส่วนพระองค์
[แก้]พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหม่อมคนหนึ่ง ชื่อ หม่อมตลับ ที่เสกสมรสกันก่อนเสด็จไปทรงศึกษาที่ยุโรป แต่ทั้งสองมิได้มีพระโอรสธิดาด้วยกัน ในงานเขียนของ ดับเบิลยู. เอส. บริสโทว์ (W.S. Bristowe) ได้อ้างว่าหม่อมต่างด้าวคนหนึ่งที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงคบหาเมื่อครั้งอยู่ในลอนดอนเป็นน้องสาวของนาย เจ. สตีเวนส์ (J. Stevens) นายไปรษณีย์คนแรกของเมืองเชียงใหม่ และกล่าวอีกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีสัมพันธ์สวาทกับสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างมีครอบครัวแล้ว[21] แต่ปรากฏด้วยหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งหม่อมตลับตามไปอยู่ในฐานะภรรยาราชทูตที่ปารีสในปี พ.ศ. 2427 และในที่สุดผู้กล่าวหาพระองค์ได้มีหนังสือไปขอขมาในขณะที่เป็นสังฆราชที่นครโคลัมโบ
พระเกียรติยศ
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2426)
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พ.ศ. 2426 – 16 มีนาคม พ.ศ. 2477)[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงได้รับพระราชทานทั้งสยามและต่างประเทศ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม
[แก้]- พ.ศ. 2426 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[22]
- พ.ศ. 2432 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[23]
- พ.ศ. 2429 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[24]
- พ.ศ. 2425 – เหรียญสตพรรษมาลา (ส.ม.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- ปรัสเซีย :
- บริเตนใหญ่ :
- พ.ศ. 2423 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญไมเคิลและจอร์จ ชั้นที่ 3
- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2423 – เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นที่ 5
- ฮาวาย :
- โปรตุเกส :
- พ.ศ. 2428 – เครื่องเสนาอิสริยาภรณ์แห่งพระคริสต์ ชั้นที่ 1[25]
- เนเธอร์แลนด์ :
- พ.ศ. 2432 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตเนเธอร์แลนด์ ชั้นที่ 1[26]
- ออสเตรีย-ฮังการี :
- พ.ศ. 2432 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ชั้นที่ 1[27]
- เบลเยียม :
- พ.ศ. 2432 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์เลออปอล ชั้นที่ 1[26]
- อิตาลี :
- พ.ศ. 2431 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญมอริซและลาซารัส ชั้นที่ 3[28]
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2433 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 1
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ The Life and Time of Prince Prisdang(ฉบับแปลไทย)
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
- ↑ ปฤษฎางค์, พระองค์เจ้า. 2472. ประวัติย่อนายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. กรุงเทพฯ. 10-12. https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b2209972 . http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=clra56_0058
- ↑ 4.0 4.1 เรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๓" หนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 12 วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546
- ↑ 5.0 5.1 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ (2481). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๔ (เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๔๕). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2562.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานอำนาจให้พระวงษเธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปประชุมสากลโทรเลข" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 1 (ตอน 34): หน้า 298. 16 สิงหาคม 2432. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พิพัฒน์ ชูวรเวช, พ.ต.อ. นายแพทย์. ตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม. กรุงเทพ : อรุณการพิมพ์, พ.ศ. 2546. 264 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-91019-9-5
- ↑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๗) ล้างภาพใหญ่โตหมดสิ้น - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
- ↑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๑๑) มูลเหตุวิบากหลากหลาย - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
- ↑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๑๒) ร่อนเร่พเนจรร้อนกาย - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
- ↑ by Indrajith, Saman “Temple that keeps Thai - Sri Lanka ties strong”, The Island, 16.08.2003. Accessed on 15.2.2018 on http://www.island.lk/2003/08/16//satmag01.html
- ↑ ศรีลังกา : กฐินพระราชทาน ณ วัดทีปทุตตมาราม ปฐมฤกษ์ครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา[ลิงก์เสีย]
- ↑ เพ็ญนภา หงษ์ทอง (23 พฤศจิกายน 2555). "ตามรอยพิสูจน์พระบรมสารีริกธาตุ จากกบิลพัสดุ์สู่บรมบรรพต". Life Style กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๔) เคว้งคว้างเวหาคว้าลม - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "ค้นหาพระพุทธเจ้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-04. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2562.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 16.0 16.1 16.2 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๕) หล่นลงโคลนตมจมดิน - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
- ↑ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (20 ธันวาคม 2561). "ทำไม ร.5 ทรงห้าม "พระองค์เจ้าปฤษฎางค์" เหยียบแผ่นดินรัชกาลพระองค์จนชีวิตยากไร้". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ชีวิตลับที่ทรงเผยไม่ตลอด (เว็บบอร์ดเรือนไทยดอตคอม)
- ↑ กรมศิลปากร. page=122 สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาค 4. พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ม.ป.ป.. หน้า 122.
- ↑ กรมศิลปากร. page=164 สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาค 4. พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ม.ป.ป.. หน้า 158.
- ↑ จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 147-149
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราเครื่องราชอิสริยยศ, เล่ม ๑ ตอนที่ ๖๔ หน้า ๕๕๘, ๘ เมษายน ๑๒๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีฉัตรมงคล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๔ หน้า ๒๘๖, ๒๔ พฤศจิกายน ๑๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีพระราชทานตราเครื่องราชอิสริยยศ, เล่ม ๓ ตอนที่ ๔๗ หน้า ๓๙๓, ๒๒ มีนาคม ๑๒๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยยศต่างประเทศ, เล่ม ๑ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๒๙๘, ๑๖ สิงหาคม ๑๒๔๗
- ↑ 26.0 26.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๕ หน้า ๒๑๔, ๒๒ กันยายน ๑๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรีย, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๑ หน้า ๑๗๖, ๒๕ สิงหาคม ๑๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยยศ, เล่ม ๕ ตอนที่ ๕ หน้า ๔๑, ๒ มิถุนายน ๑๒๕๐
บรรณานุกรม
[แก้]- ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับ ‘คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103’.” ใน ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. น. 164-187. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.
- บุญพิสิฐ ศรีหงส์. สัมพันธภาพระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จากหลักฐานชั้นต้นสู่คำถามต่อนักวิชาการและนักเขียนประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2554), หน้า 1-81.
- สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. ๑๗๖๒ - ๒๕๐๐. กรุงเทพ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, พ.ศ. 2547. 801 หน้า. ISBN 974-92371-5-3
- Loos, Tamara. Bones Around my Neck: The Life and Exile of a Prince Provocateur. Ithaca, NY and London, 2016.
- Loos, Tamara. “Renegade Royalist: Autobiography and Siam’s Disavowed Prince Prisdang.” in Maurizio Peleggi (ed.), A Sarong for Clio: Essays on the Intellectual and Cultural History of Thailand--Inspired by Craig Reynolds. pp. 63-77. Itaca, NY: Southeast Asia Program, Cornell University, 2015.