ปาราชิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปาราชิก คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติปาราชิก

คำศัพท์ว่า ปาราชิกนั้น แปลว่า ยังผู้ต้องพ่าย หมายถึง ผู้ต้องพ่ายแพ้ในตัวเองที่ไม่สามารถปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ได้

ปาราชิก มี 4 ข้อ อยู่ใน ศีล 227 ได้แก่

  1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น)
  2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา 5 มาสก (5 มาสกเท่ากับทองคำ 1 บาท)
  3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การแท้งเด็กในครรภ์
  4. กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่จริง อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวเองว่า เรารู้อย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)ยกเว้นเข้าใจตัวเองผิด

อาบัติปาราชิกทั้ง 4 นี้เป็นอาบัติหนักที่เรียกว่า อเตกิจฉา คือแก้ไขไม่ได้เลย

โทษของอาบัติปาราชิก[แก้]

พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ เมื่อขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นหรือคณะหมู่สงฆ์ได้เลย ต้องลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุทันที มิฉะนั้นจะกลายเป็นพวกอลัชชี (แปลว่า ผู้ไม่ละอาย[1]) นอกจากนั้นจะไม่สามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ได้เลยตลอดชีวิต แม้จะบวชเข้ามาได้ก็ไม่ใช่พระภิกษุที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

อกรณียกิจ 4[แก้]

นอกจากอาบัติปาราชิกทั้ง 4 ที่มีอยู่ในพระวินัยนี้แล้ว ยังมีคำสอนต้องห้ามสำหรับพระภิกษุที่เหมือนกับอาบัติปาราชิกซึ่งก็คือ อกรณียกิจ 4 คือกิจที่สมณะไม่ควรทำซึ่งอยู่ในส่วนของคำสอนอนุศาสน์ 8 ประการ ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์จะต้องมีหน้าที่บอกอกรณียกิจ 4 ประการแก่กุลบุตรผุ้ที่กำลังจะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุใหม่ทันที เพราะมันล่อแหลมทำให้ต้องอาบัติง่ายๆจนขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที และนอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่คอยระลึกเตือนใจภิกษุเก่าผู้บวชมาก่อนว่าสิ่งนั้นทั้งสี่ข้อไม่ควรทำ

อ้างอิง[แก้]