บึงสีไฟ
บึงสีไฟ | |
---|---|
รูปปั้นพญาชาลวัน | |
ที่ตั้ง | ภาคกลางตอนบน |
พิกัด | 16°25′29.154″N 100°19′56.892″E / 16.42476500°N 100.33247000°E |
ชนิด | ทะเลสาบรูปแอก |
แหล่งน้ำไหลเข้าหลัก | แม่น้ำน่าน |
ประเทศในลุ่มน้ำ | ประเทศไทย |
พื้นที่พื้นน้ำ | 8.624 ตารางกิโลเมตร (5,390 ไร่) |
ความลึกโดยเฉลี่ย | 1.5–2 m (4–6 ft) |
ความลึกสูงสุด | 2 m (6 ft) |
เมือง | ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร |
บึงสีไฟ เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร โดยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็น[1] อันดับห้าของประเทศ[2] รองจาก บึงบอระเพ็ด ทะเลสาบหนองหาน บึงละหานและ กว๊านพะเยา ตามลำดับ โดยบึงสีไฟมีเนื้อที่ 5,390 ไร่ ซึ่งลดลงมาภายหลังจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ที่เดิมบึงสีไฟมีเนื้อที่มากกว่า 10,000 ไร่ บึงสีไฟเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด แหล่งอาศัยของนกหลายชนิด และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของจังหวัดพิจิตรด้วย บึงสีไฟเป็นทะเลสาบรูปแอก ซึ่งเกิดจากแม่น้ำน่าน[3] [4][5]
บึงสีไฟถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งแรกของจังหวัดพิจิตร ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมือง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดพิจิตรไปทางทิศตะวันตกเพียง 1 กิโลเมตร บึงแห่งนี้มีอาณาเขตติดต่อกับ 4 ตำบลในอำเภอเมืองพิจิตร ได้แก่ ตำบลท่าหลวง ตำบลโรงช้าง ตำบลคลองคะเชนทร์ และตำบลเมืองเก่า บึงมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1.5–2 เมตร ซึ่งถือว่าไม่ลึกมากนัก
ภายในบริเวณบึงสีไฟ
[แก้]มีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง ดังนี้
- สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ พิจิตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2527 มีเนื้อที่ 170 ไร่ เป็นสวนพักผ่อนริมบึงสีไฟ มีสะพานทอดลงน้ำสู่ศาลาใหญ่ที่จัดไว้เป็นที่พักผ่อน นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารปลาและชมอาทิตย์อัสดง
- รูปปั้นพญาชาลวัน ตามตำนานเรื่องไกรทอง ที่เล่าว่ามีจระเข้ใหญ่ชื่อพญาชาลวัน เคยอาละวาดกินผู้คน และในที่สุดถูกไกรทองปราบลง รูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของบึงสีไฟ จัดสร้างเป็นอาคารขนาดย่อม มีความยาวถึง 38 เมตร กว้าง 6 เมตร สูง 5 เมตร ภายในตัวจระเข้นี้ทำเป็นห้องประชุมขนาด 25-30 ที่นั่ง และยังเป็นรูปปั้นจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
- สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ศาลาเก้าเหลี่ยม เป็นอาคารรูปดาวเก้าแฉก ยื่นลงไปในบึงสีไฟ ภายในประกอบด้วยตู้แสดงพันธุ์ปลามากกว่า 20 ชนิด และมีการสับเปลี่ยนชนิดของปลาเป็นประจำ นอกจากนั้นตรงส่วนกลางของอาคารยังทำเป็นช่องเปิด สำหรับชมปลาในบึงสีไฟ ซึ่งมีพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ อยู่ในความดูแลของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิจิตร
- ศาลากลางน้ำ คือศาลาที่ตั้งอยู่บนบึงสีไฟ มีทั้งหมด 4 ศาลา นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารสัตว์น้ำบนศาลาแห่งนี้ โดยเฉพาะศาลาใหญ่ และยังใช้เป็นคูหาเลือกตั้งของจังหวัดพิจิตรอีกด้วย
- บ่อจระเข้ ในบริเวณเขตบึงสีไฟยังมีบ่อจระเข้ตั้งอยู่ด้วย โดยมีบ่อจระเข้ถึง 2 บ่อ คือ บ่อเก่า และบ่อใหม่ ซึ่งปัจจุบันบ่อจระเข้เก่าซึ่งมีขนาดเล็กได้ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว เพราะมีการสร้างบ่อจระเข้ใหม่ขึ้นมาแทนที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นในบริเวณเขตบึงสีไฟเช่นเดียวกัน
- ภาพวาดพญาชาละวัน และภาพวาดน้ำตก เป็นงานศิลปะบนพื้นดิน เพื่อให้ถ่ายภาพให้เหมือนภาพสถานที่จริงแบบสามมิติ
- สนามจักรยานสราญจิตมงคลสุข รอบบึงสีไฟ มีความยาวทั้งสิ้น 10.28 กิโลเมตร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "บึงสีไฟ จากจังหวัดพิจิตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-24. สืบค้นเมื่อ 2010-10-20.
- ↑ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 267 พ.ค. 2550 หน้า 172
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-28. สืบค้นเมื่อ 2019-01-30.
- ↑ https://guru.sanook.com/14808/
- ↑ การประชุมคณะรัฐมนตรี ข้อมูลสำหรับสื่อมวลชนจังหวัดพิจิตรและจังหวัดนครสวรรค์ 11-12 มิถุนายน พ.ศ. 2561
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บึงสีไฟ เก็บถาวร 2010-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์จังหวัดพิจิตร
- บึงสีไฟจากเว็บกาญจนาภิเษก เก็บถาวร 2009-09-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน