ฉบับร่าง:โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่ริมถนนกำแพงเพชร 6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เกิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปในต่างจังหวัดและท้องถิ่นทุรกันดาร และต่อมายังทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงทรงทราบถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยของประชาชนที่ด้อยโอกาส และทรงเล็งเห็นถึงปัญหาโรคมะเร็งว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง พระองค์จึงทรงมีพระปณิธานในการช่วยเหลือประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เมื่อปี พ.ศ. 2552 พระองค์จึงมีพระดำริจัดตั้ง "โรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง" สังกัดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง ขนาด 100 เตียง[1] และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547[2] โดยต่อมาได้พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเสด็จพระดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552[3] โดยมีภารกิจในการช่วยเหลือบำบัดดูแลรักษาและบรรเทาความเดือดร้อนทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ภายใต้การศึกษาวิจัยเพื่อค้นคว้าองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ควบคู่กับการส่งเสริมป้องกันมะเร็งให้แก่ประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ทรงโปรดฯ ให้ขยายขอบข่ายการบริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ครอบคลุมการรักษาทุกโรค เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเห็นว่าควรมีการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนพอเพียง จึงทรงมีพระดำริให้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้เป็น วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาและบริการทางการแพทย์แบบครบวงจร พร้อมแผนรองรับการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีศักยภาพโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการวิจัย โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยฯ อันประกอบด้วย “ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์” “ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ” “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” และมีพระวินิจฉัยให้ร่วม “สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์” ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือ โดยรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้องค์กรที่พระราชทานนามว่า... “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”

อ้างอิง[แก้]

  1. "60 พรรษา 'เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์' ทรงวางรากฐาน 'รพ.จุฬาภรณ์' สู่ 'วิทยาลัยการแพทย์'". มติชน. 2017-07-04. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "6 ปี รพ.จุฬาภรณ์ มุ่งพัฒนาก้าวสู่สถาบันการแพทย์ครบวงจร". เดลินิวส์. 2015-11-02. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เสด็จเปิดโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็ง". คมชัดลึก. 2009-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]