การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย พ.ศ. 2567

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปฏิทินการเลือก[1]
11 พ.ค.พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง สว. มีผลบังคับใช้
13 พ.ค.วันเลือกและรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา
9 มิ.ย.วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ
16 มิ.ย.วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด
26 มิ.ย.วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ
2 ก.ค.วันประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย พ.ศ. 2567 เป็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการใช้วิธีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแบบใหม่ คือ เป็นการเลือกกันเองของประชาชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในกลุ่มต่าง ๆ จำนวน 20 กลุ่ม ใน 3 ระดับ คือระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

กลุ่มบุคคล[แก้]

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จำแนกกลุ่มบุคคลในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไว้ จำนวน 20 กลุ่ม ดังนี้[2]

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  3. กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  5. กลุ่มอาชีพเกษตรกรทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  7. กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์การสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  20. กลุ่มอื่น ๆ

ลักษณะอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน ในที่นี้ เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา (26 เมษายน)[3]

ขั้นตอนการเลือก[แก้]

หลังจากวาระของวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 สิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในวันเดียวกัน จะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอเมื่อวันที่ 23 เมษายน โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พฤษภาคม

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังอนุมัติแผนการจัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครในวันที่ 13 พฤษภาคม และจะมีการรับสมัครเป็นเวลา 5 วัน คือจนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม จากนั้นอีก 5 วัน (22 พฤษภาคม) จะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และถัดมาได้กำหนดให้ในวันที่ 9 มิถุนายน จะเป็นวันเลือกระดับอำเภอ, กำหนดให้วันที่ 16 มิถุนายน เป็นวันเลือกระดับจังหวัด และวันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันเลือกระดับประเทศ จากนั้นกำหนดให้วันที่ 2 กรกฎาคม เป็นวันประกาศผลผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา[1]

เมื่อทำการเลือกในระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่ม เป็น 60 คน โดยอำเภอทั่วประเทศ คือ 928 อำเภอ เมื่อรวมแล้วจะมี 55,680 คน ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด เพื่อเลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นการเลือกระดับประเทศจะเหลือ 200 คน จำนวน 20 กลุ่มๆ ละ 10 คน[4]

ก่อนการเลือก[แก้]

ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 คณะก้าวหน้า ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw - ไอลอว์) ได้ดำเนินการส่งผู้สมัคร สว. เข้าประกอบในทุกพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และลดอำนาจองค์กรอิสระ โดยมีการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกประมาณ 100 คนทั่วประเทศ[5] โดยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการเปิดตัวผู้ที่สนใจลงสมัคร อาทิ[6]

หลังจากนั้น ทั้งคณะก้าวหน้าและไอลอว์ยังดำเนินการรณรงค์เพิ่มเติม โดยไอลอว์ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ได้เปิดเว็บไซต์ https://senate67.com/ ขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เพื่อให้ผู้ที่สนใจลงสมัคร สว. มาแนะนำตนเอง และตรวจสอบคุณสมบัติ[7] ส่วนคณะก้าวหน้าได้ออกไปรณรงค์ให้ประชาชนลงสมัคร สว. ตามพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงหลังวันสงกรานต์ และเริ่มต้นแคมเปญนี้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 22 เมษายน[8] พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ปฏิเสธว่า แคมเปญนี้ของคณะก้าวหน้าไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อผลิต "สว. สีส้ม" แต่อย่างใด[9]

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 26 เมษายน ว่า การรณรงค์ของคณะก้าวหน้าและไอลอว์ข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูล และพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว และหากเห็นว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย จะดำเนินการในทันที จึงขอให้ยกเลิกและยุติการกระทำดังกล่าว[10] แต่ไอลอว์ออกมาปฏิเสธทันทีว่าเป็นการข่มขู่ประชาชนด้วยข้อมูลเท็จ เนื่องจากได้ตรวจสอบแล้ว ไม่พบข้อห้ามดังกล่าวในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561[11] อย่างไรก็ตามในวันเดียวกัน กกต. ได้ออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดมาคือ 27 เมษายน[12] ส่งผลให้เว็บไซต์ https://senate67.com/ ต้องยกเลิกการเปิดเผยข้อมูลผู้สมัครในวันเดียวกันทันที

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ครม.เคาะไทม์ไลน์เลือก สว.รับสมัคร 13 พ.ค.-ประกาศผล 2 ก.ค." ไทยพีบีเอส. 23 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "สมัคร สว. ชุดใหม่ ใครกลุ่มไหนใน 20 กลุ่ม". เดอะสแตนดาร์ด. 19 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "ราชกิจจาฯเผยแพร่ ประกาศ กกต. ตีความลักษณะ 20 กลุ่มอาชีพสมัคร สว". ประชาชาติธุรกิจ. 26 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "กกต.เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง ส.ว. เดือน ก.ค.2567 ได้ตัวจริง 200 คน". ฐานเศรษฐกิจ. 4 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "'ก้าวหน้า-ไอลอว์' ส่งคนชิง สว.สกัดขั้วอำนาจเก่า สื่อ-นักวิชาการเพียบ". กรุงเทพธุรกิจ. 23 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "'พนัส' พร้อมกลุ่มเพื่อน 29 คนเปิดตัวชิง สว. ลุยแก้ รธน.-รื้อองค์กรอิสระ". กรุงเทพธุรกิจ. 27 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "ข้อมูลจากเว็บ 'senate67.com' ผู้ประสงค์แสดงตัวสมัคร สว. เกิน 1,000 คนแล้ว". ประชาไท. 21 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "ธนาธร กางไทม์ไลน์ ชวนประชาชนลงเลือกตั้งสว. ร่วมแกะปมปัญหาการเมือง". ประชาไท. 22 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "เบื้องหลังกลยุทธ์ "ประชาชนจัดตั้งกันเอง" ก่อนคณะก้าวหน้าโดดร่วมแคมเปญเลือก สว. 67". บีบีซีไทย. 7 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "กกต. สั่งหยุดแคมเปญชวนสมัครลงเลือก สว. ยันผิดกฎหมาย โทษจำคุกสูง 10 ปี". ไทยรัฐ. 26 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "ไอลอว์ สวน กกต.เผยข้อมูลเท็จประกาศไม่สามารถจูงใจ-ชวนลงสมัคร ส.ว.ได้ อ้าง กม.ไร้ข้อห้าม". ผู้จัดการออนไลน์. 26 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ราชกิจจาฯ แพร่ประกาศระเบียบ กกต. แนะนำตัว สว. ห้ามออกสื่อทุกช่องทาง". ข่าวสด. 26 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]