พรรณิการ์ วานิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรณิการ์ วานิช
พรรณิการ์ พ.ศ. 2563
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2562 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
โฆษกพรรคอนาคตใหม่
ดำรงตำแหน่ง
27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ถัดไปวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
(พรรคก้าวไกล)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 มกราคม พ.ศ. 2531 (36 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ (2561–2563)
ศิษย์เก่าโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน
อาชีพพิธีกร
นักการเมือง
ชื่อเล่นช่อ

พรรณิการ์ วานิช (เกิด 28 มกราคม พ.ศ. 2531) ชื่อเล่น ช่อ เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25) แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ อดีตโฆษกและคณะกรรมการของพรรคอนาคตใหม่[1] อดีตพิธีกรรายการข่าวทางช่องวอยซ์ทีวี


ประวัติ[แก้]

พรรณิการ์เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2531 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2553 ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ MSc Global Politics, London School of Economics and Political Science (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน) ประเทศอังกฤษ และนอกจากนี้ ยังเคยฝึกงานที่กรมเอเชียใต้, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ

การทำงาน[แก้]

ภายหลังสำเร็จการศึกษา พรรณิการ์ทำงานที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปี พ.ศ. 2560 และได้ดำเนินรายการดังต่อไปนี้

  1. พิธีกรรายการสารคดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยและประเทศอาเซียน iASEAN (ยุติรายการแล้ว)
  2. พิธีกรรรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจ Tonight Thailand (ปัจจุบันคือรายการ Talking Thailand)
  3. พิธีกรรรายการวาไรตี้ ที่มีทั้งเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน แฟชั่น วัฒนธรรม ท่องเที่ยว จากมุมมมองของผู้หญิง Divas Café (ยุติรายการแล้ว)
  4. พิธีกรรายการข่าวต่างประเทศ Voice World Wide (ยุติรายการแล้ว)

โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก คือ บรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศ

การเมือง[แก้]

พรรณิการ์ บนเวทีงานครบรอบ 1 ปี พรรคอนาคตใหม่ เดินไปด้วยกัน

พรรณิการ์ได้สมัครเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค พร้อมกับตำแหน่งโฆษกพรรค โดยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรณิการ์ลงสมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 7 และได้รับเลือกตั้ง[2]

เมื่อมีการเปิดเสนอประชุมสภา พรรณิการ์ลุกขึ้นอภิปรายก่อนลงคะแนนเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อต้องการให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งทั้งสองคน โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ จากพรรคอนาคตใหม่ เข้าชิงกับ สุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ หลังจากนั้นทำให้มี ส.ส. หญิงอีกหลายคนลุกขึ้นสนับสนุนข้อหารือ ทำให้สภาฯ วุ่นวายจนประธานต้องสั่งพักการประชุม[3] ภายหลังได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตนจริงๆ ที่ได้ลุกขึ้นอภิปรายก่อนที่ประธานสภาจะอนุญาต ในฐานะ สส.ใหม่ เธอจะต้องปรับปรุงตัวใหม่

การอภิปรายครั้งสุดท้ายของพรรณิการ์ในสภาผู้แทนราษฎร คือการอภิปรายถึงการย้อนยุค "มืด-ดิบ-เถื่อน" จากอำนาจมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[4]

หลังคำตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี พรรณิการ์และอดีตสมาชิกพรรคอีก 11 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ย้ายมาทำงานที่ คณะก้าวหน้า[5] โดยเน้นการทำงานนอกสภา ปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่น และสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 นอกจากนี้ เธอยังคงทำงานขับเคลื่อนทางความคิดเช่นเดิม โดยการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น ยูทูบ และ ติ๊กต็อก ในการแสดงออก

พรรณิการ์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชานอกสภา โดยอภิปรายว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีของ 1MDB (1Malaysia Development Berhad) หรือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นคดีอาชญากรรมการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการก่อหนี้จำนวนมากในเวลา 6 ปี รวมถึงเกิดการทุจริตยักยอกเงินจากกองทุน[6]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรณิการ์ได้ทำงานในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล[7]

ประวัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.[แก้]

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่

ข้อวิจารณ์[แก้]

พรรณิการ์ถูกพูดถึงในกรณีแต่งกายเข้าสภา 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกนั้นได้แต่งชุดของ POEM ซึ่งเป็นชุดที่ไล่เฉดจากขาวไปดำ ต่อมาได้ถูกพรทิพย์ โรจนสุนันท์ วิจารณ์ว่าไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะชุดไว้ทุกข์นั้นต้องเป็นสีดำทั้งชุด ซึ่งถูกพาดพิงก็ออกมาตอบโต้ว่าชุดที่ตนสวมใส่นั้นเป็นชุดสูท เหมาะสมกับกาลเทศะ[8]

ครั้งที่สองถูกวิจารณ์เรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทยเข้าสภา โดยปารีณา ไกรคุปต์ อ้างว่าไม่เหมาะสม แต่หลังจากนั้น ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาเปิดเผยว่า การแต่งชุดไทยเข้าประชุมสภาถือว่าไม่ผิดระเบียบ เพราะประธานสภาฯ ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบการแต่งกายของสมาชิก อีกทั้งในระเบียบการแต่งกายเข้าประชุมของ ส.ส. ระบุไว้เพียงว่า ให้แต่งตามชุดสากลนิยม ชุดพระราชทาน หรือชุดที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนด ไม่ได้ห้ามให้แต่งชุดไทยแต่อย่างใด ดังนั้นการแต่งกายของสมาชิกจึงขึ้นอยู่กับอำนาจของประธานสภาฯ[9]

คดีความ[แก้]

พรรณิการ์เคยถูกขุดคุ้ยภาพในปี พ.ศ. 2553 โดยเป็นภาพของตนเองและเพื่อนสมัยเป็นนิสิตนักศึกษาที่ถือภาพรัชกาลที่ 9 พร้อมกับมีการบรรยายใต้ภาพว่า ไม่ควรมีคำบรรยาย ต่อมาเธอได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับภาพดังกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากเติบโตในยุครัฐประหาร กระทั่งบางครั้งกลายเป็นสิ่งที่นำมาคุยล้อกันเพื่อสะท้อนความขื่นขันในโศกนาฎกรรมทางการเมืองแต่ก็ยอมรับว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม และขอร้องอย่านำประเด็นสถาบันมาโจมตีทางการเมืองกันอีกเลย[10] ทำให้ถูกยื่นร้องต่อศาล ชี้มูลว่ามีลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2566 ศาลฎีกาสั่งห้ามพรรณิการ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่า ข้อความที่พรรณิการ์โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กของตนเองนั้นมีลักษณะไม่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์[11]

พรรณิการ์กล่าวว่า แม้มีคำตัดสินดังกล่าวออกมา ก็ถือว่าไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากตอนนี้ เพียงแต่ที่เคยคิดว่าจะรออีก 6 ปี พอพ้นโทษตัดสิทธิ์ตอนแรกจะกลับมาเป็น สส. และรับตำแหน่งทางการเมืองต่อ ก็คงไม่ต้องรอแล้ว แต่ยืนยันว่าบทบาทของตนที่ผ่านมาตั้งแต่ในยุคพรรคอนาคตใหม่ จนถึงขณะนี้เป็นอย่างไร ก็จะยังเป็นแบบนั้นทุกประการ ซึ่งในการเลือกตั้ง สส. สมัยหน้า หากพรรคก้าวไกลยังใช้ตนอยู่ ก็จะยังเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคต่อไป รวมถึงการวิจารณ์ วิเคราะห์ ให้ความเห็นทางการเมืองใดๆ ก็จะยังคงทำผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ส่วนเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ ก็ไม่ได้มีความหมายอยู่แล้ว เพราะตนเข้ามาทำงานการเมือง ไม่ได้หวังเป็น สส. และรัฐมนตรีเท่านั้น แต่อยากผลักดันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และยังทำต่อได้นอกสภา[12]

หมายเหตุ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ธนกร วงษ์ปัญญา (2018-05-27). "ปักหมุดก่อรูป 'อนาคตใหม่' ที่ประชุมเลือก ธนาธร หัวหน้า ปิยบุตร เลขาฯ ทหารโผล่รองหัวหน้าพรรค". The Standard. สืบค้นเมื่อ 2019-06-11.
  2. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2019-05-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-06-11.
  3. "ประธานสภาฯ ชั่วคราวสั่งพักการประชุม หลัง พรรณิการ์ วานิช ลุกขึ้นอภิปราย ให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนลงคะแนนเลือกรองประธานสภาฯ". THE STANDARD. 2019-05-26.
  4. อภิปรายครั้งสุดท้ายของ "ช่อ พรรณิการ์" ย้อนยุค "มืด-ดิบ-เถื่อน" จากอำนาจ ม.44 : Matichon TV, สืบค้นเมื่อ 2023-11-13
  5. "คณะก้าวหน้าเปิดโรดแมปนำประเทศออกจากวิกฤต กดดัน พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-11-13.
  6. ""ช่อ" เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ อ้างรัฐบาลไทยอาจเอี่ยวทุจริต 1MDB". www.thairath.co.th. 2020-02-23.
  7. "ธนาธร, ปิยบุตร, ช่อ พรรณิการ์ หวนปราศรัยหาเสียงให้ก้าวไกล ตอกย้ำอุดมการณ์อนาคตใหม่ รื้อโครงสร้างประเทศ แม้สุ่มเสี่ยงยุบพรรคอีก". THE STANDARD. 2023-03-04.
  8. ""ช่อ พรรณิการ์" แจงทุกเรื่อง ดรามาใส่ชุด poem เข้าสภา "ปารีณา" แขวะคอสั้น "งูเห่า" ทุ่มซื้อโหวต 120 ล้าน". mgronline.com. 2019-06-07.
  9. "เฉลยแล้ว ช่อ พรรณิการ์ – ส.ส.หญิงอนาคตใหม่ไม่ผิด แต่งชุดไทยเข้าสภา". 2019-07-05.
  10. "'ช่อ อนาคตใหม่' แจงดราม่า หลังถูกขุดภาพสมัยนักศึกษา". ประชาไท. 2019-06-09.
  11. "ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป! ศาลฎีกาพิพากษา 'ช่อ' คดีฝ่าฝืนจริยธรรม โพสต์หมิ่นสถาบันฯ". สำนักข่าวอิศรา. 2023-09-20.
  12. "'ช่อ พรรณิการ์' ลั่นสะกดคำว่า 'ท้อ' ไม่เป็น". 2023-09-21.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]