มังกยอชวา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
มังกยอชวา (မင်းကြီးစွာ มีนจีซวา) | |
---|---|
พระมหาอุปราชา | |
ดำรงพระยศ | 15 ตุลาคม ค.ศ. 1581 – 8 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 29 ธันวาคม ค.ศ. 1592] 1593 |
ก่อนหน้า | มังเอิง |
ต่อไป | มังรายกะยอชวา |
ประสูติ | 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558 วันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนนะดอ จ.ศ. 920 พะโค, อาณาจักรตองอู |
สวรรคต | 8 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 29 ธันวาคม ค.ศ. 1592] ค.ศ.1593 (34 พรรษา) วันศุกร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนดะโบ่-ดแว 954 ME จังหวัดสุพรรณบุรี, อาณาจักรอยุธยา |
ฝังพระศพ | กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1593 ดะบ้อง จ.ศ. 954 พระราชวังกัมโพชธานี |
คู่อภิเษก | พระนางนัตชินเมดอ (หย่าในปี ค.ศ. 1586) พระนางราชธาตุกัลยา (ค.ศ. 1586–1593) |
ราชวงศ์ | ตองอู |
พระราชบิดา | พระเจ้านันทบุเรง |
พระราชมารดา | หงสาวดีมิบะยา |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
มังสามเกียด[1] หรือ มังกยอชวา[2] (พม่า: မင်းကြီးစွာ; อักษรโรมัน: Mingyi Swa; ออกเสียง: [mɪ́ɰ̃.d͡ʑí.zwà]) เป็นพระมหาอุปราชาหงสาวดี พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามหลายครั้งกับกรุงศรีอยุธยา จนสวรรคตในสงครามยุทธหัตถี
พระราชประวัติ
[แก้]วัยเยาว์
[แก้]มังสามเกียด หรือ มังกยอชวา เสด็จพระราชสมภพที่หงสาวดี พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์มีปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า กับ คำให้การขุนหลวงหาวัด ว่าเดิมทรงมีความสนิทสนมกับพระนเรศวรดี ต่อมาได้มีการชนไก่ระหว่างพระนเรศวรและมังกยอชวา ไก่ของพระนเรศวรชนะไก่ของมังกยอชวา มังกยอชวาจึงกล่าววาจาเหยียดหยามพระนเรศวรทำให้พระนเรศวรรู้สึกเจ็บช้ำพระทัย
การเป็นพระมหาอุปราชา
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2124 ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ มังสามเกียดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชา
ศึกเมืองคัง
[แก้]ในปีที่พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าเมืองคังแข็งเมืองต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนเรศวร พระสังขทัต และพระมหาอุปราชา ไปปราบเมืองคัง หลังจากการตกลงกันมังกยอชวาจึงยกขึ้นไปตีเมืองคังเป็นพระองค์แรกในเดือน 5 ขึ้น 7 ค่ำ ตั้งแต่สี่ทุ่มแต่ไม่สำเร็จ จนรุ่งสางจึงต้องถอยทัพกลับ หลังจากนั้นสองวันพระนเรศวรทรงสามารถตีเมืองคังได้
กบฏพระเจ้าอังวะและการประกาศอิสรภาพของอยุธยา
[แก้]ใน พ.ศ. 2127 พระเจ้าอังวะตะโดเมงสอเป็นกบฏ กล่าวกันว่าเพราะพระมหาอุปราชาวิวาทกับพระชายาซึ่งเป็นธิดาของตะโดเมงสอถึงขั้นทำร้ายตบตีกันจนเลือดตกยางออก ทำให้นางเอาผ้าซับเลือดแล้วใส่ผอบส่งไปให้พระบิดา ทำให้พระเจ้าอังวะแยกตัวออกจากหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพไปปราบด้วยพระองค์เอง ส่วนพระมหาอุปราชาได้อยู่รักษาพระนคร
พระนเรศวรได้ยกทัพตามไปช่วยปราบกบฏอังวะด้วยโดยยกไปช้า ๆ ความตอนนี้ต่างกันในพงศาวดารไทยกับพม่า
- พงศาวดารไทย กล่าวว่าพระมหาอุปราชาวางแผนประทุษร้ายพระนเรศวร ทำให้พระนเรศวรประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนผู้คนก่อนจะหนีกลับกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาจึงจัดทัพตามไป ให้สุรกำมาเป็นกองหน้า เมื่อสุรกำมาถูกพระนเรศวรยิงตายพระมหาอุปราชาจึงยกทัพกลับ
- พงศาวดารพม่า กล่าวว่าพระนเรศวรยกทัพมาถึงเมืองหงสาวดี พระมหาอุปราชาจึงมีรับสั่งให้พระนเรศวรเสด็จไปอังวะ แต่พระนเรศวรไม่ฟังและยกเข้ามาตีหงสาวดีและตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ พระมหาอุปราชาจึงให้ทหารขึ้นประจำเชิงเทินกำแพงเมือง แต่เมืองรู้ข่าวว่าพระเจ้านันทบุเรงกำลังเสด็จกลับมา พระนเรศวรจึงกวาดต้อนผู้คนหนีกลับกรุงศรีอยุธยา
ศึกนันทบุเรง
[แก้]พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาทรงยกทัพมาด้วยแล้วตั้งค่ายที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตะวันออกของพระนคร ได้ทรงให้กองทัพม้าตีทัพพระยากำแพงเพชรที่มาป้องกันผู้คนที่ออกไปเกี่ยวข้าวแตกพ่าย การรบติดพันมาถึง พ.ศ. 2130 พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงยกทัพกลับ พระมหาอุปราชาก็ยกทัพกลับด้วย
พระมหาอุปราชาตีกรุงศรีอยุธยา
[แก้]พ.ศ. 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระมหาอุปราชายกไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่ก็เสียทีจนกองทัพแตกพ่ายจนพระองค์เกือบถูกจับได้ พระมหาอุปราชาเสด็จกลับถึงหงสาวดีเมื่อเดือน 5 พ.ศ. 2134 ทรงถูกพระราชบิดาภาคทัณฑ์ให้ทำการแก้ตัวใหม่
สงครามยุทธหัตถี
[แก้]พระเจ้านันทบุเรงจึงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชมังกยอชวาไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระองค์เสด็จจากหงสาวดีเมื่อ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135
เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เรา จะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
แต่ในมหาราชวงศ์ระบุว่า การยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าเมืองชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์[3]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 116
- ↑ พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา, หน้า 85
- ↑ "คุณพระช่วย". ช่อง 9. 21 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 22 June 2014.
- บรรณานุกรม
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2479. 437 หน้า. หน้า 56-57. [เจ้าภาพพิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2479]
- พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2463. 394 หน้า. [พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธินทร์ โปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาวาดรัชกาลที่ ๕]
- ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล. ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช --กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2549. ISBN 9748813045