วิสา คัญทัพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิสา คัญทัพ
ไฟล์:Image1456.ท.jpg
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด28 พฤษภาคม 2496(66 ปี)
วิสา คัญทัพ
คู่สมรสไพจิตร อักษรณรงค์
อาชีพนักแต่งเพลง นักดนตรี นักเขียน
ปีที่แสดงพ.ศ. 2516 - ปัจจุบัน
สังกัดอิสระ

วิสา คัญทัพ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน[1] นักคิดนักเขียน กวี ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต อิสระ อดีตเคยเป็น 1 ใน 9 นักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพจนถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 อันเป็นชนวนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียรจนถูกจับเป็น 1 ใน 13 ขบฏรัฐธรรมนูญ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516

ประวัติ

วิสา คัญทัพ เกิดที่ ลพบุรี เติบโตในยุคเผด็จการครองเมือง เรียนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษาจาก โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา แล้วเข้าศึกษาต่อที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้นำนักศึกษาทำกิจกรรมก้าวหน้าในมหาวิทยาลัย จนถูกอธิการบดีในสมัยนั้นสั่งลบชื่อเขาและเพื่อนรวม 9 คน จนเกิดกรณีชุมนุมใหญ่ต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 จากนั้นวิสา คัญทัพเข้าร่วมกับเพื่อนตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" เพื่อเคลื่อนไหวให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย จนถูกจับกุมคุมขังเป็น 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516

วิสาเป็นนักคิด นักเขียน เป็นกวี เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิต เข้าสู่วงการหนังสือโดยเริ่มต้นร่วมกับเพื่อนจัดทำหนังสือ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ต่อมาเริ่มเขียนเพลงครั้งแรกเป็นเพลงแนวที่เรียกว่า "เพื่อชีวิต" เพลงแรกร่วมกับ สมคิด สิงสง และ สุรชัย จันทิมาธร เขียนเพลง "คนกับควาย" เพลงที่สองเขียนเนื้อร้องเพลง "คนภูเขา" ให้สุรชัย จันทิมาธรใส่ทำนอง เพลงที่สามร่วมกับ ประเสริฐ จันดำ เขียนเพลง "จดหมายชาวนา" เพลงที่สี่เขียนคำร้องทำนองด้วยตัวเองเป็นเพลงสุดท้าย ขณะเกิดเหตุการณ์ลอบฆ่าลอบสังหารผู้นำฝ่ายประชาชนจำนวนมาก ชื่อเพลง "น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว" ให้วงคาราวาน โดยมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า "น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว นกเหินหาวสู่สายชล คนดีถูกฆ่ากลางถนน คนชั่วขึ้นนั่งบัลลังก์บน ฟ้าฝนจึงไม่ตกมา"

วิสาเข้าป่าหนีการปราบปรามจากอำนาจรัฐ ใช้ชื่อ "สหายตะวัน" ขณะอยู่ทางภาคเหนือ และ "สหายไพรำ" เมื่ออยู่ทางภาคอีสาน เข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ร่วมกับเพื่อน อดิศร เพียงเกษ "สหายศรชัย" จัดตั้งวงดนตรีและเริ่มร้องเพลงเอง บันทึกเสียงส่งเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุคลื่นสั้น "เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย" มีผลงานเด่น ๆ อาทิ บินหลา, เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน, รำวง 1 ธันวา, ลุงสินป้าไสว, มาลำเลียงเด้อสหาย ฯลฯ

ปลายปี พ.ศ. 2523 ออกจากป่า เริ่มเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์และเพลงเพื่อชีวิตทั่วไป มีเพลงเด่น ๆ ที่เป็นอมตะมากมายเช่น ร้อยบุปผา, รอยอดีต, กำลังใจ, แรงเทียน, ออนซอนเด (เดิมชื่อ "สวรรค์บ้านนา" ประกอบภาพยนตร์ไทยชื่อเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2526[2]), เพลงพิณ, รักที่อยากลืม, กลกามแห่งความรัก, สวรรค์ชั้นเจ็ด ฯลฯ ปัจจุบันวิสา คัญทัพ ยังคงเขียนหนังสือ เขียนเพลง ร้องเพลง และสร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางที่ตนเองเชื่อมั่นและศรัทธา เหมือนตอนหนึ่งในเพลง "กำลังใจ" ที่เขาแต่ง "ชีวิตที่ผ่านพบ มีลบย่อมมีเพิ่ม ขอเพียงให้เหมือนเดิม... กำลังใจ"

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เป็นบทกวีวรรคทองของวิสา คัญทัพ เขาเขียนภายหลังได้รับอิสรภาพจากการจับกุมคุมขังหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วยความประทับใจในพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนบนถนนราชดำเนิน

หยาดน้ำตาประชาไทยในวันนี้ ไหลเกือบท่วมปฐพีแล้วพี่เอ๋ย
ถ้าความจริงสามารถอ้างเหมือนอย่างเคย ก็จะเอ่ยและจะอ้างอย่างไม่กลัว
นี่มีปากก็ถูกปิดจนมิดเม้ม มันแทะเล็มถุยรดและกดหัว
ปัญหาต่างๆนั้นก็พันพัว ไม่อยากโทษใครชั่วเพราะกลัวตาย
ถ้าขอได้จะขอกันในวันนี้ ขอให้สิทธิ์เสรีอย่าสูญหาย
ถ้าเลือดไทยจะหลั่งโลมจนโทรมกาย ก็ขอตายด้วยศักดิ์ศรีเสรีชน

วิสาเขียนบทกวีบทนี้ลงตีพิมพ์ใน ประชาธิปไตยรายวัน ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และบทนี้เป็นข้อความในโปสเตอร์ต่อต้านเผด็จการในครั้งนั้น

วิสา ปัจจุบันยังคงยืนหยัด แสดงจุดยืนชัดเจน "ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ" เหมือนวัยหนุ่มที่ผ่านมา โดยเข้าร่วมกับนปช.ซึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนามหลวง เขาแต่งเพลง "สัญญาใจขับไล่เผด็จการ" ขึ้นเวทีร้องเพลงนี้กับไพจิตร อักษรณรงค์ และเมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 เขาออกรายการ "ตัวจริงชัดเจน" ทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ร่วมกับแอ๊ด คาราบาว ในฐานะศิลปินเพลงเพื่อชีวิต วิสายืนอยู่ตรงข้ามกับแอ๊ด คาราบาวโดยสิ้นเชิง ขณะแอ๊ดเห็นด้วยกับทหาร เทิดทูน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่วิสาต้านการยึดอำนาจของทหาร คัดค้านรัฐประหาร ปรารถนาให้ใช้วิถีทางประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แสดงทัศนะเชื่อมั่นในพลังของภาคประชาชน ดังจะเห็นได้จากเนื้อเพลง "สัญญาใจขับไล่เผด็จการ" ที่วิสาได้ประพันธ์เอาไว้

มา..พวกเรามา ตามสัญญาใจผูกพัน ร่วมพลังฟาดฟัน ใจมุ่งมั่นประชาธิปไตย เมื่อใดที่เผด็จการ รัฐประหาร ปล้นชาติไทย พวกเราจะก้าวออกไป ร่วมกันขับไล่โค่นล้มมันลง เผด็จการต้องออกไป ประชาธิปไตย จงเจริญ

ปัจจุบันวิสาเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ ดำเนินรายการวิทยุ “กุญแจเมืองไทย” ร่วมกับ อดิศร เพียงเกษ และ ไพจิตร อักษรณรงค์ ทาง FM 105 MHz และรายการโทรทัศน์ ทางสถานีประชาธิปไตย D-Station แต่งเพลงสรรเสริญบุญคุณของฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ขับร้องในงานสงกรานต์ไทย-กัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2555[3] ซึ่งงานดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดทาง เอเชียอัปเดต

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 115[4]

ต่อมาเมื่อมีการก่อรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรัฐประหารออกคำสั่งที่ 3/2557 เรียกให้วิสาไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว ศาลทหารจึงออกหมายจับ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. http://www.thaigov.go.th/th/governmental/item/72485-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87.html
  2. Opening Title สวรรค์บ้านนา 720p
  3. MV บุญคุณฮุนเซน, สำนักข่าวทีนิวส์.
  4. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘, ตอน ๒๔ ข, ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๑๓ ไม่รู้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทำไมถึงอยากรับเครื่องราชฯ