แม่น้ำชี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม่น้ำชี
แม่น้ำ
แม่น้ำชี ช่วงคั่นระหว่างจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธร
ต้นกำเนิด
 - ระดับ
ปากแม่น้ำ
 - ตำแหน่ง แม่น้ำมูล, จังหวัดศรีสะเกษ
 - ระดับ
ความยาว 765 km (475 mi)
พื้นที่ลุ่มน้ำ 49,480 ตร.กม. (19,104 ตร.ไมล์)
การไหล for จังหวัดยโสธร
 - เฉลี่ย 290 m3/s (10,241 cu ft/s)
 - สูงสุด 3,960 m3/s (139,846 cu ft/s)
แผนที่แสดงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และพื้นที่ลุ่มน้ำ
แผนที่แสดงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และพื้นที่ลุ่มน้ำ
แผนที่แสดงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และพื้นที่ลุ่มน้ำ

แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 765 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,480 ตร.กม. เป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย[1]

แม่น้ำชี มีต้นกำเนิดจากที่ราบด้านตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์นับตั้งแต่เขาสันปันน้ำ เขาแปปันน้ำ เขาเสลียงตาถาด เขาอุ้มน้ำ เขายอดชี เขาครอก จนถึงเขาเทวดา ซึ่งเป็นแนวภูเขาชายเขตแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยภูมิ โดยมีสาขาหลัก 5 ลำน้ำซึ่งประกอบไปด้วย ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำเซิน ลำน้ำปาว และลำน้ำยัง ไหลผ่านจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ รอยต่อจังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดอุบลราชธานี

ตำนานแม่น้ำชี[แก้]

ชื่อของแม่น้ำชี เกิดจากแม่หม้ายคนหนึ่งอยู่กับลูกสาว สามีของนางเสียชีวิตนานแล้ว วันหนึ่งนางไปหาหน่อไม้บนภูเขาซึ่งมีหน่อไม้มาก วันนั้นนางหาหน่อไม้ได้มากกว่าทุกวันนางจึงได้นำหน่อไม้ที่หาได้ไปขายในตลาดกับลูกสาวของนาง ปรากฏว่าหน่อไม้ของนางขายดีได้เงินมาเป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อได้เงินจากการขายหน่อไม้นางได้พาลูกสาวของนางไปซื้อเสื้อผ้าซื้อของที่ลูกของนางอยากได้ เมื่อนางและลูกสาวซื้อของเสร็จกำลังจะออกจากร้าน เจ้าของร้านก็ได้บอกนางว่า "ผู้หญิงคนนี้สวยจริง ๆ เลย" ต่อมามีคนพูดว่า "ลูกสาวของป้าสวยอย่างนี้ทำไมไม่ให้เข้าไปอยู่ในวังจะได้สบาย" ต่อมานางจึงพยายาม ส่งลูกสาวเข้าไปอยู่ในวังเมื่อลูกสาวของนางได้ไปอยู่ในวังก็เป็นที่หมายปองของชายทั้งหลาย และได้พบรักกับลูกขุนนาง และตกลงใจแต่งงานกัน โดยไม่บอกมารดาด้วยความเป็นห่วง นางรู้แล้วว่าลูกสาวของนางแต่งงานแต่ไม่บอกนาง นางก็ไม่โกรธและได้เข้ามาหาลูกสาวในวัง เมื่อลูกสาวพบหน้ามารดาก็ทำท่าเหมือนไม่รู้จักซ้ำยังไล่เหมือนกับว่าไม่ใช่แม่ สร้างความเสียใจให้แก่ผู้เป็นแม่มาก นางกลับบ้านด้วยความเสียใจ เมื่อกลับถึงบ้านนางยังคงร้องไห้อยู่ทุกวัน เสียใจกับลูกที่นางรักปานแก้วตาดวงใจ ที่ทำกับนางเช่นนี้แม้ชีวิตก็ยอมสละให้ลูกได้ นางคิดว่าในชีวิตของนางไม่เหลืออะไรอีกแล้ว เพราะคนที่นางรักยังไม่สนใจใยดีนางจึงไปวัดไปหาความสงบในชีวิตที่เหลือน้อยเต็มที ในที่สุดก็ตัดสินใจบวชชี และได้เดินทางไปบนภูเขาซึ่งนางเคยหาหน่อไม้กับลูกสาวของนาง และได้นั่งร้องไห้บนภูเขาจนน้ำตาของนางกลายเป็นสายน้ำที่ไหลอยู่ทุกวันนี้และได้จบชีวิตลง ณ ที่แห่งนั้น ชาวบ้านได้เรียกชื่อแม่น้ำสายนี้ว่า "แม่น้ำชี"

ตำนานของแม่น้ำชี ยังมีปรากฏอีกแห่ง ซึ่งอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ซึ่งต้นฉบับดั้งเดิมจารึกไว้เป็นตัวอักษรธรรมอีสานบนแผ่นใบลาน คาดว่าถูกคัดลอกต่อกันมาไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี ซึ่งกรมศิลปากร ได้ปริวรรตเป็นตัวอักษรไทยสยามไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ บรรยายความเกี่ยวกับกำเนิดแม่น้ำสายต่างๆลุ่มน้ำโขงว่า แต่เดิมมีหนองน้ำแห่งหนึ่งชื่อว่า หนองแส (คาดว่าปัจจุบันคือ ทะเลสาบเอ๋อไห่ เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) หนองแสแห่งนี้ มีนาคอาศัยอยู่ด้วยกัน ๘ ตัว คือ พินทะโยนกวตินาค เป็นใหญ่ทางหัวหนอง, ธนะมูนนาค เป็นใหญ่ทางท้ายหนอง, ชีวายะนาค, หัตถีศรีสัตตนาค , สุกขรนาค, ปัพพารนาค,สุวรรณนาค และพุทโธปาปะนาค โดย พินทะโยนกวตินาคและธนะมูนนาค ได้ให้คำสัตย์ต่อกันว่า หาอาหารได้เท่าไร จะต้องแบ่งครึ่งเท่าๆกัน อยู่มาวันหนึ่ง พินทะโยกวตินาค จับเม่นได้เป็นอาหาร และแบ่งครึ่งตามสัญญา ปรากฏว่าธนะมูนนาค กินไม่พออิ่ม เนื่องจากคลางแคลงใจที่ ขนเม่นยาวเป็นศอก จะได้เนื้อมีนิดเดียวได้อย่างไร จึงเกิดเรื่องวิวาทกันระหว่างนาคทั้ง ๒ ฝ่าย ทำให้น้ำในหนองแสขุ่นมัว และสร้างความเดือดร้อนแก่สัตว์อื่นๆที่อยู่ร่วมกัน เรื่องจึงเดือดร้อนถึงสวรรค์ พระอินทร์จึงสั่งให้พระวิสุกรรมเทวบุตร ลงมาปราบนาคทั้ง ๒ ฝ่าย นาคทั้งหลายในหนองแส จึงถูกขับไล่และเหวี่ยงโยนออกจากหนองแส และบางตัวได้เลื้อยแถกแผ่นดิน จนกลายเป็นสถานที่ต่างดังนี้

๑.พินทะโยนกวตินาค และ ชีวายะนาค ถูกเหวี่ยงออกไปตกนอกหนองแส นาคทั้ง ๒ ได้ใช้หน้าอกลำตัวเลี้อยแถกแผ่นดินไปหาแม่น้ำโขง รอยเลื้อยจึงกลายเป็น แม่น้ำอูในลาว ๒.จากนั้น พินทะโยนกวตินาคได้ทางเมืองเชียงใหม่ และแหวกแผ่นดินกลายเป็น แม่น้ำปิง และเมืองโยนกวตินคร ๓.ศรีสัตตนาค หนีไปอยู่ ดอยนันทกังฮี (ยังสรุปไม่ได้ว่า หมายถึงที่ไหน) ๔.สุวรรณนาค หนีไปอยู่ ปู่เวียน (ยังสรุปไม่ได้ว่า หมายถึงที่ไหน) ๕.พุทโธปาปนาค คุ้ยควักแผ่นดินจนกลายเป็น หนองบัวบาน (ยังไม่ชัดเจนว่า จะหมายถึง เมืองหนองบัวลุ่มพู หรือไม่) ๖.ปัพพารนาค หนไปอยู่ภูเขาหลวง (ยังสรุปไม่ได้ว่า หมายถึงที่ไหน) แต่มีเงือกและ พญางูพลัดหลงไปด้วย แต่เงือกและพญางู ทั้ง๒ ได้คุ้ยควักแผ่นดิน จนกลายเป็น แม่น้ำเงือกงู หรือ แม่น้ำงึมในปัจจุบัน (อยู่ลาว) ๗.สุกขรนาค หนีไปอยู่ เวินหลอด (ยังสรุปไม่ได้ว่า หมายถึงที่ไหน) ๘.ธนมูนนาค และบริวาร ตอนแรกพลัดไปอยู่ใต้ดอยกัปปนคีรี (ภูกำพร้า หรือ เมืองธาตุพนม) แต่ธนมูนนาค ได้เลื้อยไปตามลำน้ำโขงต่อลงไปจนถึง ลี่ผี แล้วไม่สามารถเลื้อยต่อไปได้ จึงเลื้อยแถกแผ่นดินไปทางทิศตะวันตก ไปถึงเมืองกุรุนทะนคร รอยแถกแผ่นดิน จึงกลายเป็น "มูนนที" หรือ แม่น้ำมูน ในปัจจุบัน ๙.ชีวายะนาค ได้หนีไปตามเส้นทางของ ธนมูนนาค ก่อนที่จะเลื้อยแถกแผ่นดินไปทางด้านเหนือ โดยอ้อมเมืองพระยามหาสุรอุทก ไปจนถึงเมืองหนองหานหลวง และเมืองหนองหานน้อย รอยเลื้อย จึงได้กลายเป็น "ชีวายะนที"ตามชื่อของ ชีวายะนาค หรือ แม่น้ำชี ในปัจจุบัน

หรืออีกนัยหนึ่งคือ คำว่า "ชี" นั้น มาจากภาษาอีสาน (ลาว) ท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำชีบริเวณต้นน้ำนั้น คือคำว่า "ซี" ซึ่งหมายถึงการเจาะทะลุเป็นรู โดยลักษณะต้นกำเนิดของน้ำชีนั้นมีสายน้ำที่ไหลผ่านลอดใต้เทือกเขาหินปูน ที่เรียกว่า "ซีดั้น" และไหลทะลุลอดผ่านมาอีกฝั่งหนึ่งของเทือกเขา เรียกว่า "ซีผุด" เป็นเช่นนี้เป็นส่วนใหญ่ในบริเวณต้นกำเนิดสายน้ำชี จึงทำให้เรียกลำน้ำสายนี้ตามลักษณะพิเศษที่ลำน้ำไหลซี(ไหลทะลุ)ลอดผ่านใต้เทือกเขานั้นว่า "ลำน้ำซี" ในภาษาถิ่น หรือ ลำนำชี ในภาษากลาง นั่นเอง

ท้องที่ที่แม่น้ำชีไหลผ่าน[แก้]

ลำน้ำสาขา[แก้]

เขื่อนสำคัญในลำน้ำสาขา[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี). (2561). แม่น้ำสายสำคัญของเมืองไทย. เก็บถาวร 2021-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน