สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตราสัญลักษณ์สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พื้นที่กระจายเสียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอีก 16 จังหวัดใกล้เคียง
ความถี่101.5 MHz (เมกะเฮิรตซ์)
การเป็นเจ้าของ
เจ้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้ประกอบธุรกิจ
ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติ
เริ่มกระจายเสียงพ.ศ. 2501
ข้อมูลทางเทคนิค
พิกัดสถานีส่งอาคารวิทยพัฒนา ชั้น 7 จุฬาฯ ซอย 12 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ละติจูด 13.74203895123559

ลองติจูด 100.52694416427077
ลิงก์
เว็บไซต์curadio.chula.ac.th/v2022/

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกโดยย่อว่า "วิทยุจุฬาฯ" เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศด้วยคลื่นความถี่ 101.5 เมกะเฮิรตซ์ ในระยะแรกสถานีวิทยุแห่งนี้ป็นสถานที่ทดลองส่งคลื่นวิทยุกระจายเสียงที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น โดยทดลองทำเครื่องส่งสัญญาณขึ้นเองจนสามารถใช้งานได้จริง[1] ในปัจจุบันวิทยุจุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นสถานีวิทยุฯ ทางวิชาการ มีเนื้อหาของรายการที่ให้ความรู้แก่สาธารณะชน เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงความรู้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ สถานีกระจายเสียงของวิทยุจุฬาฯ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 7 อาคารวิทยพัฒนา ซอยจุฬาลงกรณ์ 12 ในบริเวณพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[2]

ประวัติ[แก้]

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดจากการทดลองทำเครื่องส่งคลื่นวิทยุกระจายเสียงของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จนสำเร็จ สามารถส่งสัญญาณได้ จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชมรมแสงและเสียงสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานภายใต้องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อบจ.) มีสถานะเป็น “สถานีวิทยุทดลอง” ของนิสิต เป็นสถานีวิทยุที่ไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498[3] มีสถานที่ทำการอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ชั้น 2 หรือหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ในยุคสงครามเวียดนามสถานีวิทยุจุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวคือให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงคราม ทำให้สามารถขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการประกอบกิจการวิทยุจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา(United States Operation Mission) ได้สำเร็จ โดยหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ให้เช่าอุปกรณ์คือ United States Information Service (USIS)[1] ปัจจุบันรู้จักกันในนาม United States Information Agency (USIA) อุปกรณ์ที่ได้จากหน่วยงานสหรัฐฯ คือ เครื่องส่ง Medium Wave ระบบ AM (Amplitude Modulation) แบบ BC-610 กำลังส่ง 250 วัตต์ ความถี่ 1080 กิโลไซเคิล มาใช้งาน เป็นแบบเดียวกับกองทัพอากาศไทย[4] ด้วยสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลา 99 ปี และค่าเช่าเครื่องปีละ 1 เหรียญสหรัฐ[1] แต่เมื่อวิทยุจุฬาฯ ได้รับความสนใจ มีผู้ฟังมากขึ้นจนเป็นผลต่อการเคลื่อนไหวและความคิดเห็นของสังคมผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงควบคุมให้จำกัดเวลาออกอากาศ จนกระทั่งปิดสถานีในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2505[1]

อาคารวิทยพัฒนาและเสาส่งสัญญาณวิทยุ

3 ปีให้หลังการยุติการกระจายเสียง สถานีวิทยุจุฬาฯ กลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 และเปลี่ยนสถานะจากการเป็นสถานีวิทยุของนิสิตเป็นของมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ตลอดจนความบันเทิง เริ่มมีโครงสร้างการบริหารงานอย่างเป็นทางการ และได้รับการอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ด้วยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในระบบ FM (Frequency Modulation) Stereo Multiplex ความถี่ 101.5 MHz. กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ (Kilowatt) เสาอากาศสูง 48 เมตร ตั้งอยู่ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2520 เริ่มได้รับรายได้จากการกระจายเสียงโฆษณาและการให้บริการธุรกิจและมีบทบาทเป็นสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้ มีการจัดหาเครื่องส่งใหม่ที่มีกำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ (Kilowatts) และปรับปรุงเสาให้สูง 120 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายเสียง ย้ายสถานที่ตั้งมาที่อาคาร วิทยพัฒนา ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2535 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วิทยุจุฬาฯ เป็นสื่อนำเสนอข่าวการเมืองอย่างสม่ำเสมอจนได้รับรางวัลสื่อดีเด่นประเภทรายการวิทยุ จากมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ ในยุคนี้วิทยุจุฬาฯ มีความร่วมมือกับสถานีวิทยุต่างประเทศคือ Voice of America (VOA) และปรับปรุงเสาส่งกระจายเสียงให้มีความสูงเพิ่มขึ้นจาก 120 เมตร เป็น 150 เมตร

ปี พ.ศ. 2547 วิทยุจุฬาฯ ได้เพิ่มช่องทางการรับฟังผ่านทางเว็บไซต์ www.curadio.chula.ac.th สถานีวิทยุจุฬาฯ ยังได้ร่วมมือกับ “สถานีวิทยุ CRI ปักกิ่ง ประเทศจีน” ผลิตรายการ “สานสัมพันธ์ไทยจีน” ทำให้สถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นสถานีวิทยุการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการผลิตและออกอากาศรายการวิทยุร่วมกับสถานีวิทยุแห่งชาติของประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ปี พ.ศ. 2552 วิทยุจุฬาฯ พัฒนาจนผ่านการตรวจรับรองการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 9001: 2008 อีกมาตรฐานหนึ่ง ภายหลังจากได้รับมาตราฐานจาก Bureau Veritas หรือ BVQI ประเทศฝรั่งเศสมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2543 และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ทำเนียบนายสถานี / ผู้อำนวยการสถานี ปี 2508 - ปัจจุบัน สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[แก้]

สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์
ลำดับ รายชื่อ หัวหน้าสถานี และ กรรมการผู้อำนวยการ ตำแหน่ง ปี พ.ศ
1 ศาสตราจารย์ สำเภา วรางกูร หัวหน้าสถานี 2508-2520
2 ศาสตราจารย์ อาภรณ์ เก่งพล หัวหน้าสถานี 2520-2533
3 รองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี กรรมการผู้อำนวยการ 2534-2559
4 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ 2559-2560
5 นางสาวสิริลักษณ์ พัฒนลีลาวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ 2561-2562
6 อาจารย์ ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ 2563-2564
7 นายตรีเทพ ไทยคุรุภัณฑ์ กรรมการผู้อำนวยการ 2564-2565
8 รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ 2565-2566
9 รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสถานี 2566-ปัจจุบัน


รูปแบบรายการ[แก้]

ปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงออกอากาศผ่านทางคลื่นวิทยุเช่นในอดีต แต่ได้พัฒนาองค์กรให้สามารถผลิตสื่อความรู้สู่สังคมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เช่น การถ่ายทอดรายการวิทยุสดผ่านทางอินเทอร์เน็ต และยังผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน

รายการ[แก้]

มีรายการที่ออกอากาศคู่ขนานระหว่างสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น ยูทูบ ช่อง CU Radio Channel กับวิทยุกระจายเสียงดังนี้

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Radio) FM 101.5 MHz. "กว่าจะเป็น...วิทยุจุฬาฯ (History of CU Radio) - สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz." สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz คลื่นความรู้สู่ประชาชน - Digital Media Center - Live Radio - Radio On Demand - New Media - News - Knowledge - Education - Music. Accessed May 19, 2017. http://www.curadio.chula.ac.th/History.php เก็บถาวร 2017-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  2. สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Radio) FM 101.5 MHz. "ติดต่อเรา (Contact Us) - สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz." สถานีวิทยุจุฬาฯ (CU Radio) FM 101.5 MHz คลื่นความรู้สู่ประชาชน - Digital Media Center - Live Radio - Radio On Demand - New Media - News - Knowledge - Education - Music. Accessed May 19, 2017. http://www.curadio.chula.ac.th/Contact-Us.php เก็บถาวร 2017-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. ราชกิจจานุเบกษา. (8 กุมภาพันธ์ 2498). พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498. เรียกใช้เมื่อ 20 พฤศภาคม 2560 จาก เว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/A/011/237.PDF
  4. "ประวัติความเป็นมา." สำนักงานคณะกรรมการบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองทัพอากาศ. Accessed May 20, 2017. http://119.46.201.173/rtafbc/?page_id=65[ลิงก์เสีย].