ผู้ใช้:Xiengyod/การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
วันที่พ.ศ. 2308 - 7 เมษายน พ.ศ. 2310
สถานที่
ผล
  • อาณาจักรพม่าได้รับชัยชนะ
  • อาณาจักรอยุธยาล่มสลาย
  • การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยาม ...ดูเพิ่ม
คู่สงคราม
อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรพม่า
อาณาจักรล้านนา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ 
พระยาวชิรปราการ

พระมหามนตรี

พระเจ้ามังระ
เนเมียวสีหบดี
มังมหานรธา 
ปกันหวุ่น

สุกี้มอญ

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรพม่า อันนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา เมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน จุลศักราช 1129 ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[1] ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่า มูลเหตุของสงครามมาจากความพยายามของฝ่ายอยุธยาที่เข้าแทรกแซงการปราบกบฏชาวมอญที่แข็งข้อต่อพม่า โดยการให้ความช่วยเหลือชาวมอญอพยพให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา ทำให้อาณาจักรพม่ามีความหวาดระแวงว่าฝ่ายมอญจะมีกำลังเข็มแข็งขึ้นจนพม่าไม่สามารถครอบงำอิทธิพลได้ จึงจำต้องหาทางทำลายกรุงศรีอยุธยาเพื่อตัดปัญหาดังกล่าวเสีย

ยุทธวิธีของกองทัพพม่าคืออาศัยกำลังทหารที่เหนือกว่าโจมตีปล้นสะดมหัวเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรอยุธยาขนาบลงมาทั้งทางเหนือและทางใต้ แล้วทำการปิดล้อมพระนครเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ทหารอยุธยาป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกองทัพพม่าไว้ได้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเสบียงและความแตกสามัคคีภายใน ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้กองทัพพม่าชนะศึก หลังยกทัพมาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นานกว่า 1 ปี 2 เดือน เมื่อสามารถหักเอาเมืองได้แล้ว กองทัพพม่าจึงเผาทำลายกรุงศรีอยุธยาลงเพื่อไม่ให้อาณาจักรสยามกลับมาฟื้นตัวมีความเข้มแข็งได้อีก ทรัพย์สมบัติต่างถูกแย่งชิงหรือถูกทำลาย ชาวเมืองถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปยังพม่า ถูกฆ่าตายหรือไม่ก็หลบหนีไปตามป่าเขาเป็นจำนวนมาก

ผู้นำชาวไทยที่เข้มแข็งตามส่วนต่างๆ ของอาณาจักรอยุธยาเดิม ได้ตั้งตนเป็นเจ้าเพื่อปกครองตนเองหลังรัฐบาลกลางล่มสลาย ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่กลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มของเจ้าตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ที่สามารถระดมพลจนสามารถขับไล่กองทัพพม่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยาเดิมได้สำเร็จในเวลาไม่เกิน 7 เดือน หลังจากนั้นเจ้าตากจึงทรงกระทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ที่เมืองธนบุรี เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายอย่างหนักจนไม่อาจฟื้นฟูได้ และพระองค์ก็มีกำลังพลไม่พอที่จะรักษาเมืองไว้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่กรุงศรีอยุธยาเดิมก็ไม่ได้กลายเป็นเมืองร้างเสียทีเดียว ด้วยยังมีคนที่รักถิ่นฐานบ้านเดิมอาศัยอยู่ และมีราษฎรที่หลบหนีไปอยู่ตามป่ากลับเข้ามาอาศัยอยู่รอบ ๆ เมือง รวมกันเข้าเป็นเมืองจนทางการยกเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา เรียกว่า "เมืองกรุงเก่า"[2]

ภูมิหลัง[แก้]

สถานการณ์ภายในของกรุงศรีอยุธยา[แก้]

ในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 28 และตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ต่อจากราชวงศ์ปราสาททองของแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพยายามสร้างพระราชอำนาจด้วยการลดอำนาจและอิทธิพลของขุนนาง เพื่อสกัดกั้นปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะขุนนางมีอำนาจควบคุมกำลังไพร่พลของตัวเอง นอกจากนั้นยังพยายามขยายอำนาจไปควบคุมหัวเมืองมากขึ้น ซึ่งมักถูกต่อต้านแข็งขืนจากผู้ปกครองหัวเมืองอย่างต่อเนื่อง หลักฐานจากพระราชโองการเก่าหรือพระราชกำหนดเก่าในกฎหมายตราสามดวง กล่าวถึงปัญหาในการบริหารจัดการรายได้และตัดสินความต่าง ๆ ในหัวเมือง ตามมาด้วยการแทรกแซงจากราชธานีเป็นระยะ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นผู้เสนอการอธิบายสาเหตุของความระส่ำระสายจนทำให้อยุธยาต้องพ่ายแพ้สงครามในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น ด้วยการอธิบายถึงการปฏิเสธอำนาจของราชธานีเพราะการควบคุมและช่วงชิงผลประโยชน์เหนือหัวเมือง จนเมื่อข้าศึกรุกราน หัวเมืองเหล่านี้ก็ไม่ให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่การอธิบายในงานเขียนก่อนหน้ามักให้ความสำคัญที่ความสามารถของพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าเอกทัศน์) ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อยุธยาอ่อนแอและต้องพ่ายแพ้ในที่สุด[3]

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงทำพิธีราชาภิเษก เมื่อพระชนมายุ 40 พรรษา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ บรมราชามหากษัตริย์ บวรสุจริต ทศพิธธรรมเรศน์ เชษฐโลกนายก อุดมบรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ราษฎรทั่วไปเรียกว่า "ขุนหลวงขี้เรื้อน" เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นโรคกลากเกลื้อนหรือโรคผิวหนังประจำพระองค์ ทรงมีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีอยู่โดยมาก จึงไม่ทำให้ราษฎรเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

นับแต่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ข้าราชการเกิดความระส่ำระสาย มีบางคนลาออกจากราชการ บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุไว้ในตอนนั้นว่า “... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน (พระราชชายา)ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบถ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น (ตามพงศาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศน์ มีพระมเหสี 4 องค์ มีพระสนม 869 และมีพระญาติอีกกว่า พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น …” [4]

สังคมสมัยพระเจ้าเอกทัศน์มีการกดขี่รีดไถ ข่มเห่งรังแกราษฎรอย่างไม่เป็นธรรมปรากฏอยู่ทั่วมุมเมือง ใครมีเงินใช้ก็ต้องจ่ายค่าคุ้มครองถึงจะอยู่ในสังคมได้ เมื่อขุนนางชั้นผู้น้อยเห็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทำก็เลยเลียนแบบ ทำให้ราษฎรหมดที่พึ่งพิงส่งผลให้แตกความสามัคคี เพราะขาดความยุติธรรมและข้าราชการพลเมืองขาดกำลังใจ

อาณาจักรอยุธยา เกิดจากการรวมตัวของเมืองต่าง ๆ ที่มีผู้ปกครองของตัวเองและยอมรับอำนาจของราชธานี หัวเมืองต่าง ๆ จึงค่อนข้างอยู่อย่างอิสระ เว้นแต่ในบางช่วงเวลาที่ราชธานีพยายามควบคุมมากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ส่งราชนิกูลไปปกครอง หรือให้มีขุนนางยกกระบัตรไปกำกับการทำงานของเจ้าเมืองและกรมการเมืองอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็มักเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่องและอาจถูกต่อต้านจากหัวเมืองในที่สุด มีผลทำให้อยุธยามีอำนาจและความสามารถในการป้องกันตนเองที่จำกัด[5]

สถานการณ์ภายในของอาณาจักรพม่า[แก้]

สงครามอยุธยา - พม่า ในปี พ.ศ. 2303[แก้]

ปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์คองบอง (ครองอำนาจต่อจากราชวงศ์ตองอู) ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สำเร็จเพราะเหตุดังนี้[6]

ลำดับเหตุการณ์การรบ[แก้]

แผนการของฝ่ายพม่า[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระองค์แรกที่กล่าวถึงกองทัพพม่า ที่ยกมาครั้งนี้ว่าเป็นการ “ มาอย่างกองโจร” กล่าวคือขาดกำลังที่จะยกหักเข้าชิงชัยในพระนคร แต่เที่ยวปล้นสะดมอยู่โดยรอบเป็นเวลา 3 ปี กว่าจะสามารถหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ว่า

“ ...กองทัพพม่าเป็นกองทัพโจรมิใช่ทัพกษัตริย์ ขาดแม้แต่เป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะตีกรุงศรีอยุธยา เพราะจุดหมายเดิมเพียงแต่ต้องการปราบปรามเมืองทวาย แต่มาพบว่ากองทัพไทยอ่อนแอ จึงได้ยกล่วงล้ำเข้ามาจนถึงชานพระนคร พระองค์ไม่ทรงรับรองข้อความในพระราชพงศาวดารพม่าที่ว่า พม่ากำหนดแผนการให้มีทัพจากทางเหนือ และทางใต้ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน ทรงเห็นว่าความคิดเช่นนั้นเป็นสิ่งที่พระราชพงศาวดาร พม่าแต่งขึ้นเองในภายหลัง..." [7]

ส่วนทางด้านพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองระบุว่า

"...พระเจ้ามังระโปรดให้เตรียมการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาไว้ก่อนล่วงหน้าอย่าง เป็นระเบียบแบบแผน พระเจ้ามังระถึงกับทรงมีพระราชดำริว่า อาณาจักรอยุธยานั้นยังไม่เคยถึงกาลต้องถูกทำลาย ลงอย่างย่อยยับเด็ดขาดมาก่อน ฉะนั้นจะอาศัยแต่เพียงทัพของเนเมียวสีหบดี (Neimyo Thihapate) ที่ยกไปทางเส้นเชียงใหม่ แต่เพียงทัพเดียว ย่อมยากต่อการกระทำการให้สำเร็จโดยง่าย จำต้องจัดทัพให้มังมหานรธา (Mahanoratha) ยกไปช่วยกระทำการอีกด้านหนึ่ง..."[8]

ลำดับขั้นในการทำสงคราม การทำสงครามครั้งนี้แบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น[9] ได้แก่

  1. กองโจรปล้นสะดมหัวเมืองต่าง ๆ
  2. การตีเมืองหน้าด่านและการเข้าประชิดชานพระนคร
  3. การปฏิบัติการในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก
  4. กรุงแตก

ทัพพม่าที่ยกมาทั้งทางเชียงใหม่และทวายนั้น เป็นทัพใหญ่ที่แม่ทัพคุมลงมากันเองตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการแบ่งกำลังเป็นกองโจรเข้ามากระทำการก่อนล่วงหน้า ทัพพม่าทั้งสองทางใช้กำลังที่ได้เปรียบกว่า ตีกวาดหัวเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพทั้งตอนเหนือ และตอนใต้ทุกหัวเมืองไม่ละเว้น แม้กระทั่งเมืองพิษณุโลก ทัพของเนเมียวที่ยกเข้ามาเส้นทางเชียงใหม่นั้น ไม่เพียงเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่ยังตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ที่เมืองนี้ เพื่อกำหนดแผนการเข้าตีเมืองตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป[10]

ทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธานั้นถึงแม้ว่าจะยกมากระทำการกันคนละทาง แต่ก็มีการปฏิบัติการที่ประสานและเกื้อหนุนแก่กันคือ ต่างร่วมดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อปิดกั้นให้อยุธยาตกอยู่ในสภาพที่จนตรอกคือ ช่วยกันทำลายหรือมิฉะนั้นก็ยึดครองหัวเมืองรอบนอก ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาช่วยกู้กรุงศรีอยุธยา[11]

ทัพเนเมียวสีหบดีนั้น ไม่ได้ผลีผลามเข้าล้อมกรุงโดยอิสระ แต่ยั้งทัพรอทัพของเนเมียวสีหบดีอยู่ ณ หมู่บ้านกานนี (Kanni) เหนือสีกุก (Thigok) จนเมื่อล่วงรู้ว่าทัพของเนเมียวสีหบดีเคลื่อนเข้าสู่ชานพระนครแล้ว จึงเดินทัพออกจากบ้านกานนี มาตั้งประชิดที่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง[12]

การเตรียมการต่อสู้ของอยุธยา[แก้]

แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของกองกำลังฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2309

ในอดีตกรุงศรีอยุธยามีการป้องกันพระนครโดยมีป้อมปราการเป็นกำแพงอิฐและสูงล้อมรอบตัวเมืองที่กว้าง ดังนั้นจึงสามารถกันมิให้ข้าศึกเข้าจู่โจมตีได้อย่างสะดวก ถึงแม้กองทัพพม่าได้รุกล้อมรอบพระนคร อย่างไรก็ตามการป้องพระนครก็กระทำกันอย่างเหนียวแน่นแข็งแรง[13] แต่ยุทธศาสตร์ที่อาศัยพระนครเป็นปราการสำหรับให้ข้าศึกเข้าล้อม รอเวลาที่ทัพจากหัวเมืองมาช่วยตีกระหนาบนั้นใช้ไม่ได้มานานแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่ในการป้องกันตนเอง อย่างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงใช้นั้นเป็นที่ยอมรับ นั่นก็คือต้องผลักดันมิให้ข้าศึกเข้ามาประชิดพระนคร[14] สงครามคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 เป็นศึกครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ผู้นำอยุธยาสามารถรักษากรุงไว้ได้ จนถึงฤดูน้ำหลากตามแผนที่วางไว้ โดยที่ตัวพระนครไม่ต้องตกอยู่ในสภาพบอบช้ำ และราษฎรที่หลบภัยสงครามในกำแพงเมืองไม่ต้องเผชิญกับความฝืดเคืองด้านเสบียงอาหาร[15]

การวางแนวปะทะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กองทัพพม่าซึ่งล้อมกรุงมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 เดือนนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 ไม่สามารถแม้แต่จะบุกเข้าใกล้ตัวกำแพงพระนคร หรือตั้งป้อมประชิดกำแพงเพื่อใช้ปืนใหญ่ระดมยิง เหมือนกับที่เคยเคยทำได้ในศึกอลองพญา พม่าทำได้อย่างมากก็แต่เพียงตั้งค่ายล้อมพระนครอยู่ไกล ๆ เช่น ทางทิศตะวันตกเข้ามาได้ไม่เกินวัดท่าการ้อง[16] ขณะที่กำลังส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กลางทุ่งประเชต และทุ่งวัดภูเขาทอง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาได้ไม่ถึงวัดไชยวัฒนาราม เพราะทางอยุธยาตั้งค่ายใหญ่กันไว้ ทางด้านตะวันออกเข้าได้ ไม่ถึงวัดพิชัย และเป็นไปได้ว่าตลอดลำคูขื่อหน้าจากหัวรอถึงปากน้ำแม่เบี้ย และคลองสวนพลูยังเป็นเขตปลอดจากการยึดครองของพม่า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้จากคลองสวนพลู วัดโปรตุเกส ตลอดไปจนถึงวัดพุทไธศวรรย์ และวัดเซนต์โยเซฟยังตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอยุธยา ส่วนทางทิศเหนือพม่าเข้าได้ไม่ไกลไปกว่าโพธิ์สามต้นและปากน้ำประสบ[17][18]

การรบทางเรือ[แก้]

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสสรุปความสามารถของทหารอยุธยาที่ป้องกันพระนครว่า

"… เมื่อไทยออกต่อสู้พม่าคราวใด ก็สำหรับส่งอาวุธให้ข้าศึกเท่านั้น …"[19]

พวกแม่ทัพนายกองของพม่าร้องทุกข์ต่อมังมหานรธาให้เลิกทัพกลับไปก่อน เพราะฝนตกชุกเดี๋ยวน้ำเหนือก็จะหลากมา แต่มังมหานรธาไม่เห็นด้วย และว่ากรุงศรีอยุธยาขัดสนเสบียงอาหาร และกระสุนดินดำจนอ่อนกำลังจวนจะตีได้อยู่แล้ว ฝ่ายกองทัพพม่าก็ได้ตระเตรียมทำไร่ทำนาหาอัตคัตสิ่งใดไม่ ถ้าเลิกทัพกลับไป อยุธยาจะได้ช่องทางหากำลังมาเพิ่มเติม เตรียมรักษาบ้านเมืองกวดขันกว่าแต่ก่อน ถึงยกมาตีอีกที่ไหนจะตีง่ายเหมือนครั้งนี้ มังมหานรธาจึงไม่ยอมให้ทัพกลับ ให้เที่ยวตรวจหาที่ดอนตามโคกตามวัดอันมีอยู่รอบพระนคร แล้วแบ่งหน้าที่กันให้กองทัพแยกออกไปตั้งค่ายสำหรับที่จะอยู่เมื่อถึงฤดูน้ำ และให้ผ่อนช้างม้าพาหนะไปเลี้ยงตามที่ดอนในหัวเมืองใกล้เคียง แล้วให้เที่ยวรวบรวมเรือใหญ่น้อยมาไว้ใช้ในกองทัพ เป็นจำนวนมาก[20]

หลังจากที่หมดฤดูน้ำหลาก มังมหานรธาก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรม[21] ที่ค่ายบ้านสีกุก แต่สาเหตุที่มังมหานรธาถึงแก่กรรมกลับโทษฝ่ายอยุธยา ด้วยแต่ก่อนมากองทัพพม่าฝ่ายเหนือ กับกองทัพพม่าฝ่ายใต้มักแก่งแย่งกัน ด้วยต่างฝ่ายต่างก็เป็นอิสระมิได้ขึ้นแก่กัน ครั้นมังมหานรธาถึงแก่กรรมลง[22]

หลังจากที่มังมหานรธาถึงแก่กรรมแล้ว เนเมียวสีหบดีก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ขึ้นบังคับบัญชากองทัพทั้งหมดเพียงผู้เดียว ส่งผลให้กองทัพทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้สมทบกันเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ตัวเนเมียวสีหบดีได้ย้ายจากค่ายปากน้ำประสบมาอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น[23]

การตั้งค่ายของอยุธยา[แก้]

ต่อมาฝ่ายไทยได้มีคำสั่งให้ข้ามออกไปตั้งค่ายป้องกันพระนครไว้ทุกด้าน ดังนี้

ทิศเหนือ ตั้งค่ายที่วัดพระเมรุแห่งหนึ่ง ตั้งที่เพนียดแห่งหนึ่ง
ทิศใต้ ตั้งค่ายที่บ้านสวนพลูแห่งหนึ่ง ให้หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีนคุมชาวจีนบ้านนายค่าย (บางฉบับเรียกนายก่าย) 2,000 คน ให้พวกคริสตังตั้งค่ายที่วัดพุทไธสวรรย์แห่งหนึ่ง
ทิศตะวันออก ตั้งค่ายที่วัดเกาะแก้วแห่งหนึ่ง ตั้งที่วัดมณฑปแห่งหนึ่ง ตั้งที่วัดพิชัยแห่งหนึ่งในบังคับของพระยาวชิรปราการ (สิน)
ทิศตะวันตก ให้กรมอาสาหกเหล่า ตั้งค่ายที่วัดไชยวัฒนารามแห่งหนึ่ง

กองทัพอยุธยาที่รักษาพระนครนั้นเริ่มระส่ำระสายด้วยรู้กันว่าหมดช่องทางที่จะเอาชนะพม่าได้ พวกจีนในกองทัพที่ไปตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสวนพลู คิดจะเอาตัวรอดก่อนคบคิดกันประมาณ 300 คน พากันไปยังพระพุทธบาทไปลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อย และแผ่นเงินที่ดาดพื้นพระมณฑปใหญ่มาแบ่งปันกันเป็น อาณาประโยชน์ แล้วเอาไฟเผาพระมณฑปพระพุทธบาท[24]ต่อมาค่ายจีนที่บ้านสวนพลูก็เสียแก่พม่า

ต่อมาพม่ายกเข้าตีค่ายที่เพนียดได้ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าก็เข้ามาตั้งอยู่ที่เพนียด แล้วให้กองทัพพม่าเข้าตีค่าย ทหารอยุธยาที่ออกไปตั้งค่ายป้องกันพระนครข้างด้านเหนือ ถูกตีแตกกลับเข้ามาในกรุงหมดทุกค่าย พม่าเข้ามาตั้งค่ายประชิดพระนคร ด้านเหนือ ที่วัดกุฎีดาว วัดสามพิหาร วัดศรีโพธิ์ วัดนางชี วัดแม่นางปลื้ม วัดมณฑป แล้วให้ปลูกหอรบ เอาปืนขึ้นจังก้ายิงเข้าไปในพระนครทุกวันมิได้ขาด[25]

ส่วนแม่ทัพข้างใต้ก็ยกเข้ามาตีไทยที่วัดพุทไธสวรรย์ แล้วไปตีค่ายที่วัดชัยวัฒนาราม รบกันอยู่ได้ 8-9 วันก็เสียค่ายแก่พม่า[26] แต่ที่ค่ายของพระยาตากสินที่วัดพิชัยนั้น พระยาตากทิ้งค่ายไปเสียก่อนที่พม่าจะยกเข้ามาตี

การขุดอุโมงค์ (อยุธยา หัวรอ พ.ศ. 2309)[แก้]

หลังจากนายทัพพม่ารู้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กองทัพของทางกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลงมาก และประชาชนในเมืองก็อยู่ในสภาพอดยาก จึงตกลงใจเริ่มขุดอุโมงค์ลอดตัวกำแพงอยุธยาทางด้านหัวรอ ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดของคูเมือง อุโมงค์ที่ขุดมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 อุโมงค์ ในจำนวนนั้น 2 อุโมงค์เป็นอุโมงค์ที่ขุดมาหยุดลงตรงใต้ฐานกำแพง จากนั้นก็ขยายแนวขุดไปตามแนวกำแพงทั้งสองด้านเป็นขนาดความยาวประมาณ 350 หลา ด้านใต้อุโมงค์ใช้ไม้ทำขื่อรับฐานกำแพงไว้อีกชั้นหนึ่ง[27]

ส่วนอุโมงค์ที่เหลืออีก 3 อุโมงค์นั้นขุดลอดฐานกำแพงเข้าไปในตัวพระนคร แต่ยังคงเหลือชั้นดินปิดไว้ประมาณ 2 ฟุต การปฏิบัติการขุดอุโมงค์ดังกล่าวมิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะปกติทางฝ่ายอยุธยาบนเชิงเทินใช้ปืนยิงกลุ่มพม่า ที่เข้ามาใกล้แนวกำแพงอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้พม่าต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนคือ การสร้างสะพานในชั้นต้นทำสะพานข้ามคูก่อน จากนั้นจึงสร้างค่ายใหม่ขึ้นอีก 3 ค่ายประชิดแนวคูเมืองด้านทิศเหนือเสร็จแล้วจึงเริ่มขุดอุโมงค์[28] ในขณะที่ฝ่ายอยุธยาไม่ได้เพิกเฉยต่อการปฏิบัติการดังกล่าว ในครั้งนี้พระมหามนตรี ได้อาสาออกไปตีค่ายพม่าที่เข้ามาตั้งประชิดทั้ง 3 ค่าย พระเจ้าเอกทัศน์จึงโปรดให้จัดพลออกไป 50,000 คน ช้าง 500 เชือก ปรากฏว่าในครั้งนี้พระมหามนตรีได้ทำการรบอย่างอาจหาญ สามารถยึดค่ายพม่าได้ทั้ง 3 ค่าย แต่ภายหลังพม่าได้ส่งกำลังหนุนออกมาโอบล้อมทัพไทย จนเป็นเหตุให้พระมหามนตรีต้องนำกำลังถอนกลับเข้าเมือง[29]

ต่อมาพม่ายกเข้ามาเผาพระที่นั่งเพนียด แล้วตั้งค่าย ณ เพนียดคล้องช้างและวัดสามวิหาร วัดมณฑป จากนั้นก็ทำสะพานข้ามทำนบ รอเข้ามาขุดอุโมงค์ที่เชิงกำแพงและตั้งป้อมศาลาดิน ตั้งค่ายวัดแม่นางปลื้ม ต่อป้อมสูงเอาปืนใหญ่ขึ้นยิง แล้วจึงตั้งค่ายเพิ่มขึ้นอีกค่ายหนึ่งที่วัดศรีโพธิ์[30]

กลยุทธ์การเข้าตีพระนครของฝ่ายพม่า[แก้]

กลยุทธ์ที่พม่านำมาใช้ในการรบคราวนี้ก็คือ ปิดล้อมกรุงไว้ แม้น้ำจะท่วมก็ไม่ถอย จัดการดำเนินการ[31]

  1. ยึดและรวบรวมเสบียงเท่าที่จะหาได้รอบ ๆ บริเวณนั้นไว้สำรอง
  2. รวบรวมวัวควายที่ยึดมาได้ ทำการเพาะปลูกในพื้นที่รอบ ๆ
  3. ผ่อนช้างม้าไปไว้ในพื้นที่ที่หญ้าอุดมสมบูรณ์
  4. ทหารที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาให้สร้างป้อมค่ายในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
  5. จัดกองระวังป้องกันระหว่างป้อมเป็นระยะๆ
  6. ถ้ามีกำลังภายนอกเข้ามาก็ช่วยสกัดกั้นไว้

กลยุทธ์ในการเข้าตีกรุงขั้นสุดท้าย พม่าเปลี่ยนจากการเอาบันไดพาดปีนข้ามกำแพง มา เป็นการขุดอุโมงค์มุดลงใต้กำแพง โดยดำเนินการเป็นขั้น ๆ ดังนี้[32]

  1. การสร้างสะพาน
  2. การสร้างป้อมค่าย
  3. การขุดอุโมงค์

การสร้างป้อมค่ายขึ้นใหม่ 3 ป้อมนี้ มีความมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการ คือ[33]

  1. เพื่อประสานงานกับฝ่ายขุดอุโมงค์ ป้องกันมิให้ทหารอยุธยาที่อยู่บนเชิงเทินยิงทำร้าย ทหารพม่าที่กำลังขุดอุโมงค์ได้ถนัด
  2. เพื่อเป็นการเพิ่มการทำลายฝ่ายอยุธยาที่อยู่ในพระนครให้มากขึ้น โดยการยิงถล่มเข้าไป
  3. เพื่อการสนับสนุนทหารที่จะบุกเข้าปีนกำแพงหรือลอดอุโมงค์เข้าไปในพระนคร

การที่กรุงศรีอยุธยามีข้าศึกเข้ามาประชิดติดพันก็นับว่าเป็นภัยร้ายแรงอยู่แล้ว ซ้ำยังมาเกิดอัคคีภัยไหม้บ้านเรือนอีก ความอัตคัดขาดแคลนที่มีอยู่เป็นทุนเดิมก็กลับโถมทับทวียิ่งขึ้น ราษฎรต่างก็ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส บ้านเรือนไหม้ไปกว่า 10,000 หลัง ทำให้ราษฎรไม่มีที่พักอาศัยหลายหมื่นคน เมื่อเห็นว่าราษฎรต้องเผชิญกับความตาย ไร้ที่อยู่ทั้งขาดแคลนอาหาร กำลังใจและกำลังกายก็ถดถอยลง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงเจรจากับพม่าขอเลิกรบ ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าอังวะ แต่แม่ทัพพม่าไม่ยอมเลิก เพราะประสงค์ที่จะตีเอาทรัพย์สมบัติผู้คนไปให้สิ้นเชิง[34]

พม่ายังดำรงความมุ่งหมายเดิมในการรบครั้งนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งน่าจะยุติการรบได้แล้ว ฝ่ายอยุธยาเห็นว่าสภาพการณ์ต่าง ๆ คับขันถึงที่สุดแล้วก็ขอยอมแพ้เป็นเมืองขึ้นของพม่าอย่างที่เคยทำกันมาแต่โบราณกาล แต่พม่าปฏิเสธไม่ยอมรับ เพราะการที่อยุธยายอมแพ้นั้นมิใช่ความมุ่งหมายของฝ่ายพม่า พม่ามุ่งหมายที่จะได้ทรัพย์สมบัติและผู้คนของกรุงศรีอยุธยามากกว่าที่จะได้อาณาจักรอยุธยาเป็นเมืองขึ้น ดังนั้นเมื่ออยุธยายอมแพ้ยอมเป็นเมืองขึ้น พม่าจึงไม่สนใจเสีย[35]

เสียกรุง[แก้]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้ามังระ กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์อลองพญา (รัชสมัยถัดจาก พระเจ้ามังลอก) ได้ยกกองทัพหวังจะตีกรุงศรีอยุธยาให้แตกพ่าย ได้ตั้งป้อมปราการที่วัดหน้าพระเมรุ (ด้วยเหตุนี้วัดหน้าพระเมรุจึงเป็นวัดเก่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาวัดเดียวที่มีสภาพดีอยู่) และทำลายกรุงศรีอยุธยาด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการยิงปืนใหญ่ ลอกทองจากพระพุทธรูป จับผู้คนไปเป็นเชลย ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ก็เสด็จสวรรคตด้วยเหตุที่พระองค์หลบซ่อนจนไม่ได้เสวยพระกระยาหาร

ครั้นถึงวันอังคารเดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน (นพศก จ.ศ.1129) ตรงกับ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เวลา 2 ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง นับเวลาตั้งแต่พม่ายกมาตั้งล้อมพระนครได้ 1 ปี กับ 2 เดือน จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก[36]

พงศาวดารพม่าระบุว่าทัพพม่าตีเข้าพระนครศรีอยุธยาได้ในเวลาตี 4 กว่า ของวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือนเมษายน พุทธศักราช 2310 ตรงกับจุลศักราช 1129[37] โปรดสังเกตว่าวันที่กรุงศรีอยุธยาแตกตามหลักฐานของฝ่ายไทยและพม่าผิดกัน 3 วัน อาจเป็นเพราะการกำหนดเกณฑ์การตีความหมายว่าพม่าเข้ากำแพงเมืองได้หรือยึดวังหลวงได้ หรืออาจมีการจดวันคลาดเคลื่อน[38]

สาเหตุที่นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยา[แก้]

กองทัพอยุธยาได้เว้นจากการทำศึกสงครามมาเป็นเวลานาน ประกอบกับผู้นำอยุธยา ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ คาดคะเนสถานการณ์และยุทธวิธีผิดไป ไม่ว่าจะเป็น การสร้างแนวปะทะกันกองทัพพม่าเข้ามาถึงคูพระนคร หรือระบบการส่งกำลังบำรุงให้การสนับสนุน ก็ดูจะล่าช้ากว่าฝ่ายพม่ามาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ ฝ่ายพม่าเองสามารถเอาชนะยุทธวิธีน้ำหลากที่ฝ่ายอยุธยามักใช้ได้ผลมาแล้วได้เป็นผลสำเร็จ

พม่าได้ปรับยุทธศาสตร์การตีพระนครใหม่ โดยไม่ยอมให้สภาพธรรมชาติมาเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการทางทหาร เมื่อน้ำหลากมาแล้วพม่ายังไม่ยอมถอย ทั้งยังล้อมกรุงอยู่อย่างเหนียวแน่น ทำให้ฝ่ายอยุธยาต้องเผชิญกับภาวะอดอยาก และมีอันต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียกรุงมาจาก "คนทรยศ" ตามคำให้การของชาวกรุงเก่า หน้า 174 บอกว่า "...มีคนไทยชื่อ พระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศาสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาว่าจะเปิดประตูคอยรับเมื่อพม่าเข้าโจมตี และประตูที่พระยาพลเทพ เปิดให้ก็เป็นประตูเมืองทางทิศตะวันออกเข้าใจว่าคงเป็นบริเวณหัวรอ หรือจะห่างจากบริเวณนี้ก็ไม่เท่าใด ซึ่งพม่าก็ได้ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยามาทางนี้ ตามที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ โดยเข้าไปได้ในเวลากลางคืน ส่วนวันตามคำบอกของชาวกรุงเก่านั้น ตรงกับวันที่กรุงแตกดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เชลยไทยได้เห็นในขณะนั้น..."[39]

พงศาวดารหลายฉบับได้กล่าวไว้ว่า

"...เมื่อกรุงใกล้จะแตก ไทยได้เกิดมุมานะต่อสู้อย่างเข้มแข็ง รบจนพม่าแตกกลับไปทุกครั้ง จนพม่าต้องตั้งล้อมนิ่งอยู่คราวหนึ่ง และเมื่อเวลากรุงแตกนั้น คนไทยที่สู้รบตายคาแผ่นดินอยู่บนกำแพงเมือง และตามที่ต่างๆ คงจะเห็นการกระทำของพระยาพลเทพได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่ภายหลังต่อมา เราไม่ทราบชะตากรรมของพระยาผู้ทรยศต่อชาติคนนี้..."[40]

เหตุการณ์ภายหลัง[แก้]

การปล้นสะดมพระนคร[แก้]

ส่วนหนึ่งของสภาพวัดในกรุงศรีอยุธยาหลังจากที่พม่าใช้ไฟจุดเผา เมื่อพ.ศ. 2310

หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พวกพม่าได้บุกเข้ามายังตัวพระนครในตอนกลางคืน[41] แล้วจุดไฟเผาบ้านเรือนของชาวบ้าน ตลอดจนปราสาทราชมณเทียร ทำให้ไฟไหม้ลุกลามแสงเพลิงสว่างดังกลางวัน เมื่อพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใครมาขัดขวางแล้ว ก็เที่ยวฉกชิงและเก็บรวบรวมทรัพย์จับผู้คนอลหม่านทั่วไปทั้งพระนคร

กลางคืนพวกชาวเมืองจึงหนีรอดไปได้มาก พม่าจับได้ประมาณ 30,000 คน และจับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในขณะที่กำลังผนวชอยู่ที่วัดธรรมิกราช พร้อมทั้งเจ้านายทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และพระภิกษุสามเณร ที่หนีไม่พ้นพม่าก็จับเอารวมไปคุมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนผู้คนพลเมืองที่จับได้ก็แจกจ่ายกันไปคุมไว้ ตามค่ายของแม่ทัพนายกอง[42] จากนั้นพม่าก็เที่ยวตรวจเก็บบรรดาทรัพย์สมบัติทั้งสิ่งของของหลวง ของราษฎร ตลอดจนเงินทองของเครื่องพุทธบูชาตามวัดต่างๆ โดยไม่สนใจว่าเป็นของที่จะหยิบยกได้หรือไม่ และยังเอาทรัพย์ซึ่งราษฎรฝังซ่อนไว้ตามวัดวาบ้านเรือนต่อไปอีก เอาราษฎรที่จับไว้ได้ไปชำระซักถาม แล้วล่อลวงให้ส่อกันเอง ใครเป็นโจทย์บอกทรัพย์ของผู้อื่นได้ก็ยอมให้ปล่อยตัวไป ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ถ้าไม่บอกให้โดยดีพม่าก็เฆี่ยนตี และทำทัณฑกรรมต่างๆ เร่งเอาทรัพย์จนถึงกับเสียชีวิต[43]

ถ้าหากราษฎรคนใดไม่ยอมบอกว่าทรัพย์สินเงินทองนั้นอยู่ที่ไหน พวกพม่าก็จะใช้วิธีการทารุณโหดร้าย นั่นคือจับส้นเท้ามาลนไฟ ทั้งยังนำลูกสาวมาข่นขืนกระทำชำเรา ให้ร้องลั่นต่อหน้าบิดามารดาอีกด้วย ทางด้านพระสงฆ์ก็ถูกกล่าวหาว่าซ่อนสมบัติเอาไว้มาก จึงถูกยิงด้วยศรจนปรุและถูกพุ่งด้วยหลาวหรือปลายหอกจนตัวปรุ หลายรูปถูกตีด้วยท่อนไม้จนมรณภาพคาที่ บริเวณวัดวาอารามตลอดจนบริเวณที่กว้างล้วนเต็มไปด้วยซากศพ แม่น้ำลำคลองก็มีซากศพลอยเต็มไปหมดเช่นเดียวกัน ส่งกลิ่นเหม็นจนหายใจไม่ออก เป็นเหตุให้ฝูงแมลงวันต่างพากันมาตอมอยู่อย่างมากมาย ก่อให้เกิดความรำคาญแก่กองทัพพม่าที่เข้าไปตั้งอยู่เป็นอันมาก[44][45]

สภาพวัดไชยวัฒนารามในปัจจุบัน

หลังจากที่กองทัพพม่ายึดกรุงศรีอยุธยาสำเร็จแล้ว จึงพักอยู่ประมาณ 10 วัน พม่าใช้เวลาจุดไฟเผาบ้านเมืองเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน จนรวบรวมเชลยและทรัพย์สมบัติเสร็จแล้วจึงยกทัพกลับไป โดยกวาดต้อนผู้คน ช้าง ม้า แก้ว แหวนเงินทอง และนำสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไปด้วย เนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่พม่าได้ตั้งให้สุกี้มอญ นายกองที่มีความชอบครั้งตีค่ายบางระจันแตก เป็นนายทัพให้มองญาพม่าเป็นปลัดทัพคุมพลพม่าและมอญรวม 3,000 คนตั้งค่ายอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยสืบจับผู้คนและเก็บทรัพย์สิ่งของส่งตามไป แล้วตั้งนายทองอิน (หรือบุญสง) ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เข้าด้วยกับพม่า ให้เป็นเจ้าเมืองธนบุรี แล้วแบ่งแยกกองทัพออกเป็น 3 กองทัพ กองทัพทางเหนือมีเนเมียวสีหบดีแม่ทัพคุม เจ้านายและข้าราชการที่เป็นเชลยกับทรัพย์สิ่งของที่ดีมีราคามากมาย ยกกลับไปทางด่านแม่ละเมาะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดตาก) กองทัพทางใต้ให้เจ้าเมืองพุกามเป็นนายทัพคุมพวกเรือบรรทุก บรรดาทรัพย์สิ่งของอันเป็นของใหญ่หนักๆ ไปทางเมืองธนบุรีและท่าจีน แม่กลองกองหนึ่ง อีกกองหนึ่งยกเป็นกองทัพบกไปเมืองสุพรรณบุรีไปสมทบกับกองเรือที่เมือง กาญจนบุรี รวมกันยกกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ในครั้งนั้นพม่าได้ปืนใหญ่ 1,200 กระบอก ปืนเล็กหลายหมื่นกระบอก รวมทั้งได้ปืนคู่แฝดหล่อด้วยทองสำริด ขนาดยาว 12 ศอก และเรือพระที่นั่งกิ่งอีก 4 ลำด้วย[46]

สำหรับปืนพระพิรุณแสนห่านั้นมีขนาดใหญ่มาก เมื่อตอนใกล้กรุงจะแตกหมดความหวังที่จะชนะพม่าแล้ว ปืนกระบอกนี้ก็ถูกทิ้งลงในสระแก้วในพระราชวังกรุงเก่า ภายหลังพม่าทราบเรื่องเข้า จึงได้นำขึ้นมาจากสระ แล้วตัวปกันหวุ่นแม่ทัพภาคใต้ขนไปทางเรือ จุดหมายปลายทางคือเมืองกาญจนบุรี โดยไปบรรจบกับกองทัพบกที่นั่น ครั้นมาถึงตลาดแก้วเมืองนนทบุรี เห็นว่าปืนใหญ่พระพิรุณแสนห่านี้หนักนักเหลือกำลัง ที่จะเอาไปเมืองอังวะได้ ปกันหวุ่นจึงให้เข็นชักขึ้นจากเรือที่วัดเขมา ให้เอาดินดำบรรจุเต็มกระบอก จุดเพลิงระเบิดเสีย เพียงเท่านั้นยังไม่เป็นที่พอใจ พม่ายังขนชิ้นส่วนที่เป็นทองสำริดกลับไปเมืองอังวะ โดยที่ทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากตีกรุงได้แล้วร่วม 2 เดือน [47]

พม่าได้เชลยไทยจำนวน 30,000 คนเศษ พม่าแยกเชลยออกเป็น 2 พวก

  • พวกที่ 1 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับพระบรมวงศานุวงศ์และชาวเมือง เนเมียวสีหบดีให้กองทัพเหนือ คุมตัวกลับไปทางเหนือ
  • พวกที่ 2 ราษฎรที่เหลือและพวกมิชชั่นนารี ให้ปกันหวุ่นแม่ทัพทางใต้คุมไปทั้งทางบกและทางเรือ ล่องใต้ไปทางเมืองทวาย แล้วไปบรรจบกับพวกแรกที่ทางเหนือของกรุงอังวะ

ส่วนเรื่องเชลยนั้นพม่าจับเชลยคนไทยได้มาก จะจำด้วยโซ่ตรวนหรือเครื่องพันธนาการอื่นใดก็มีไม่เพียงพอกับจำนวนเชลย จึงเจาะบริเวณเอ็นเหนือส้นเท้าแล้วร้อยด้วยหวายติดกันเป็นพวง เพื่อกวาดต้อนเชลยไทยให้เดินทางไปยังกรุงอังวะ ประเทศพม่า นับแต่นั้นมาคนไทยเรียกบริเวณเอ็นเหนือส้นเท้าว่า “เอ็นร้อยหวาย ” ในปัจจุบัน[48] เชลยศึกชาวไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปครั้งนั้น ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณปองเลไต๊ (ตึกปองเล) ใกล้คลองชะเวตาชอง หรือคลองทองคำ แถบระแหงโม่งตีส หรือตลาดระแหง ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ ประมาณ 13 กิโลเมตร มีวัดระไห่ เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน มีตลาดโยเดีย และมีการรำโยเดียที่มีท่ารำชั้นสูง เช่น พรหมสี่หน้าของไทย ในเมืองพม่าปัจจุบันด้วย[49]

พระเจ้าอุทุมพรถูกพระเจ้ามังระบังคับให้ลาผนวช แล้วให้ตั้งตำหนักอยู่ที่เมืองจักกาย (สแคง) ตรงหน้าเมืองอังวะ พร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการไทยก็รวบรวมอยู่ที่นั่นเป็นส่วนมาก พม่าได้ซักถามเรื่องพงศาวดารและแบบแผนราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา จดลงในจดหมายเหตุคือที่ไทยเราได้ฉบับมาแปลพิมพ์เรียกว่า คำให้การขุนหลวงหาวัดหรือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่ส่วนพวกราษฎรพลเมืองที่ถูกกวาดเอาไปเป็นเชลย พม่าแจกจ่ายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ภายหลังหนีคืนมาบ้านเมืองได้ก็มี แต่ก็สาบสูญไปในเมืองพม่าเสียเป็นส่วนมาก พระเจ้าอุทุมพรไม่เสด็จกลับมาเมืองไทยอีก หลักฐานสุดท้ายของเจ้านายพระองค์นี้ที่เหลืออยู่ก็คือ เจดีย์ที่เมืองจักกายเท่านั้น[50][51]

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงของชาติไทย ทหารพม่าไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ทรัพย์สินสมบัติสูญเสียถูกทำลาย ถูกขุดค้นไปทั่วทุกแห่งหน โดยตั้งใจจะไม่ให้ไทยมีทรัพย์สมบัติอะไรเหลืออยู่ แม้แต่วัดวาอารามอันวิจิตรงดงาม เป็นที่เคารพในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาเดียวกับพม่า พม่าก็เอาไฟเผาและเอาไฟสุมพระพุทธรูปพระศรีสรรเพ็ชรดาญาณ[52] เพื่อให้ทองคำหุ้มองค์ละลาย เก็บเอาทองคำที่หุ้มองค์พระพุทธรูปหนัก 286 ชั่ง (238.33 กิโลกรัม) ไปใช้ประโยชน์ที่เมืองพม่า อีกทั้งได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยและทาสยังเมืองพม่า พม่าเอาไฟเผาบ้านเรือนทำลายข้าวของต่าง ๆ อยู่ 15 วัน [53]

บันทึกของผู้ที่เห็นเหตุการณ์ปล้นสะดมพระนคร[แก้]

แอนโทนี โกยาตัน ชาวอาร์เมเนียน อดีต Head of the Foreign Europeans ในสยามและ The Arabian Priest Seyed Ali ซึ่งแต่ก่อนได้พำนักอยู่ในกรุงสยามได้เล่าเรื่องราวให้ Shabandar พี แวน เดอร์ วูร์ต ฟัง ดังนี้คือ

"... หลังจากที่คนรับใช้ของบริษัทได้ออกไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2308 ไม่นานนัก พม่าก็เข้าล้อมกรุงสยามในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม พ.ศ. 2309 หลังจากที่ได้ทำลายเมืองต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ได้แล้ว และพม่าได้วางที่ตั้งยิงปืนใหญ่ขนาดเล็กขึ้นโดยรอบกรุงฯ เพื่อมิให้ผู้ใดเข้าหรือออกได้ สภาพเช่นนี้เป็นไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 ในเวลาที่น้ำขึ้น ท่วมรอบกรุงฯ พม่าได้เคลื่อนที่เข้าไปใกล้กรุงฯ ในเวลากลางคืนด้วยเรือหลายลำ ใช้บันไดพาดกำแพงหลายแห่ง และโยนหม้อดินที่บรรจุดินปืนเข้าไปภายในกำแพงที่ถูกล้อม ครั้นเมื่อยึดกรุงฯ ได้แล้ว พวกพม่าได้ช่วยกันทำลายเมืองลงเป็นเถ้าถ่า น หมด การปฏิบัติในครั้งนี้พวกพม่าได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากพว ก เพื่อนร่วมชาติของตนที่อยู่ภายในกรุงฯ ซึ่งมีจำนวนประมาณห้าร้อยคน (พวกนี้ถูกฝ่ายสยามจับตัวไปได้ในเหตุการณ์ที่แล้วมา) กับพวกพม่าที่ทำการรุกเข้าไปที่สามารถทำการติดต่อกันได้ เรื่องได้มีต่อไปว่า หลังจากที่ได้สังหารประชาชนส่วนมากผู้ซึ่งหนีความโกลาหลไปแล้ว พวกพม่าก็แบ่งคนออกเป็นพวกๆ ตามจำนวนของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ออกเป็นหลายพวกแล้วนำพวกเหล่านี้ไป หลังจากที่ได้ทำการวางเพลิง Lodge of the Company ที่ทำการของบริษัทแล้ว ส่วนกษัตริย์หนุ่มด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เช่นเดียวกันกับ Berquelang ก็รวมอยู่ในหมู่ประชาชนที่ถูกนำไปด้วย ในระหว่างทาง กษัตริย์หนุ่มได้ประชวรสวรรคต และ Berquelang ก็ถึงแก่กรรมด้วยการวางยาพิษตนเอง ผู้ให้การได้กล่าวด้วยว่า กษัตริย์องค์ที่สูงด้วยวัยถูกลอบปลงพระชนม์ ในคืนเดียวกันโดยชาวสยามด้วยกัน..."[54]

ผู้ที่บันทึกพร้อมกับเพื่อนในคณะ ซึ่งมีจำนวนประมาณหนึ่งพันคนประกอบด้วยชาวโปรตุเกส อาร์เมเนียน มอญ สยาม และมาเลย์ ทั้งชาย หญิงและเด็ก ได้ถูกนำตัวมุ่งหน้าไปยังพะโคภายใต้การควบคุมของชาวพม่ากลุ่มเล็ก ๆ เพียงสิบห้าคนเท่านั้น ในระหว่างครึ่งทาง พวกเขาประสบโอกาสจับพวกที่ควบคุมไว้ได้ และพากันหลบหนีมา หลังจากที่ได้บุกป่าฝ่าดงมาแล้ว พวกเขาก็กลับมาถึงแม่น้ำสยามอีกครั้งหนึ่ง

ในจดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสของมองเซนเยอร์บรีโกต์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศความว่า

“… เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือน ทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ 15 วัน และได้ฆ่าฟันผู้คนไม่เลือกว่าคนมีเงินหรือไม่มีเงินก็ฆ่าเสียสิ้น แต่พวกพม่าพยายามฆ่าพระสงฆ์มากกว่าและได้ฆ่าเสียนับจำนวนไม่ถ้วน ข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ในตอนเช้าเวลาเดียวกันเท่านั้นกว่า 20 องค์ …”[55]

M.Turpin ในประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม[56] กล่าวถึงสภาพภายหลังกรุงแตกและการกระทำอย่างบ้าคลั่งของพม่าไว้ว่า

"… กรุงก็ถูกตีแตก สมบัติพัสดุที่ในพระราชวังและตามวัดวาอารามต่างๆ กลายเป็นสิ่งปรักหักพังและเถ้าถ่านไปสิ้น พวกป่าเถื่อนได้ชัยชนะนี้ยิ่งแสดงความโกรธแค้นหนักขึ้นเพราะไม่ได้ทรัพย์ สมบัติ ดังความโลภเพื่อให้หายแค้น ได้แสดงความทารุณโหดร้ายแก่ชาวเมืองทั้งหลาย ถึงกับจับคนมาลนไฟที่ส้นเท้า...

...เพื่อให้บอกว่าได้ซ่อนทรัพย์สมบัติไว้ที่ไหน ทั้งยังนำลูกสาวมาข่มขืนชำเราให้ร้องลั่นอยู่หน้าบิดาด้วย พวกพระก็ถูกหาว่าซ่อนสมบัติไว้มาก จึงถูกยิงด้วยลูกศรจนปรุและถูกพุ่งด้วยหลาวหรือปลายหอกจนตัวปรุ และหลายต่อหลายรูปก็ถูกตีด้วยท่อนไม้ จนตายคาที่ วัดวาอารามตลอดจนบริเวณที่กว้าง ล้วนเต็มไปด้วยซากศพ แม่น้ำลำคลองก็มีซากศพลอยเต็มไปหมดเช่นเดียวกัน ส่งกลิ่นเหม็นจนหายใจไม่ออก เป็นเหตุให้ฝูงแมลงวันต่างพากันมาตอมอยู่อย่างมากมาย ก่อให้เกิดความรำคาญแก่กองทัพพม่าที่เข้าไปตั้งอยู่เป็นอันมาก...

... กองทัพพม่าได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็พักอยู่ประมาณเก้าวันสิบวัน (พม่าจุดไฟเผากรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน,[57] จนพอรวบรวมเชลยและทรัพย์สมบัติสำเร็จแล้วจึงเลิกทัพกลับไป โดยได้กวาดต้อนผู้คน ช้าง ม้า แก้ว แหวนเงินทอง และนำขุนหลวงหาวัด (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ไปด้วย เนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่พม่าได้ตั้งให้สุกี้มอญ (นายกองที่มีความชอบครั้งตีค่ายบางระจันแตก) เป็นนายทัพ ให้มองญาพม่าเป็นปลัดทัพ คุมพลพม่า มอญรวม 3,000 คนตั้งค่ายอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยสืบจับผู้คนและเก็บทรัพย์สิ่งของส่งตามไป แล้วตั้งนายทองอิน (หรือบุญสง ) (ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เข้าด้วยกับพม่า) ให้เป็นเจ้าเมืองธนบุรี แล้วแบ่งแยกกองทัพออกเป็น 3 กองทัพ กองทัพทางเหนือมีเนเมียวสีหบดีแม่ทัพคุมเจ้านายและข้าราชการที่เป็นเชลยกับ ทรัพย์สิ่งของที่ดีมีราคามากมาย ยกกลับไปทางด่านแม่ละเมาะ (จังหวัดตาก) กองทัพทางใต้ให้เจ้าเมืองพุกามเป็นนายทัพคุมพวกเรือบรรทุก บรรดาทรัพย์สิ่งของอันเป็นของใหญ่หนักๆ ไปทางเมืองธนบุรีและท่าจีน แม่กลองกองหนึ่ง อีกกองหนึ่งยกเป็นกองทัพบกไปเมืองสุพรรณบุรีไปสมทบกับกองเรือที่เมือง กาญจนบุรี รวมกันยกกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ …"[58]

จากหลักฐานดังกล่าว สามารถตีความได้ว่า

  1. Shabander หรือ Shabandar นั้น เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย ความหมายเดิมว่า “King of Heaven” พันธกิจมีอยู่ว่า งานแรกของซาแบนดาร์ คือ ดูแลพ่อค้าต่างๆ ที่อยู่ในชาติของตนโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันตลาดและคลังสินค้าก็อยู่ในการจัดการของเขาด้วย เป็นผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบน้ำหนักขนาดและเหรียญต่างๆ และวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างกัปตันเรือต่างๆ และพ่อค้าของเรือของชาติที่เขาเป็นตัวแทนอยู่
  2. เมื่อคนรับใช้ของบริษัทออกไปนั้น เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2308 กองทัพพม่ากำลังปฏิบัติการขั้นที่ 2 เมื่อพม่าเข้าล้อมกรุง นั้น เดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม พ.ศ. 2309 กองทัพพม่ากำลังปฏิบัติการขั้นที่ 3
  3. ในเดือนมีนาคม ระดับน้ำในแม่น้ำรอบๆ กรุงศรีอยุธยาจะลดต่ำตามคำให้การมิได้ระบุวันที่ไว้
  4. วันที่พม่าเข้ากรุงฯ ได้เป็นเดือนมีนาคมตามคำให้การนั้นเป็นวันหนึ่งในเดือนนี้มิได้กำหนดลงไป อย่างแน่นอน แต่ที่ตรวจสอบแล้ววันที่พม่าเข้ายึดได้นี้เป็นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
  5. กษัตริย์หนุ่ม คงหมายถึงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์ที่สูงวัย คงหมายถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ตามหลักฐานการสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ก็แตกต่างไปจากหลักฐานที่ตรวจสอบและ มีอยู่เดิมแล้ว
  6. แม่น้ำสยามก็คือ แม่น้ำเจ้าพระยา
  7. ตามหลักฐานที่ตรวจพบ ได้กล่าวว่ามีคนไทยทรยศ ชื่อ พระยาพลเทพเป็นผู้เปิดประตูเมือง แต่ในคำให้การว่า มีพวกพม่าให้การช่วยเหลือจากทางด้านในกรุงฯ ด้วย อาจจะเป็นการแยกกันปฏิบัติหรือปฏิบัติร่วมกัน หรือกรณีเดียวกันที่ทำให้เกิดความไขว้เขวก็ได้
  8. French Lodge อยู่ที่ธนบุรี [59]

กองทัพพม่ายกกลับ[แก้]

เนื่องจากเนเมียวสีหบดีได้รับคำสั่งให้กลับกรุงอังวะ เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าถูกคุกคามโดยกองทัพจีนที่ได้บุกรุกหัวเมืองชายแดน กองทัพพม่าก็เดินทางกลับอย่างรวดเร็วถึงกรุงอังวะในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2310 พงศาวดารหอแก้วเล่าต่อไปถึงการรุกรานดินแดนของพม่าของกองทัพจีนในระยะ 2-3 ปี ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 กองทัพพม่าต้องสาละวนอยู่กับการขับไล่กองทัพจีน ที่รุกรานดินแดนของตนทั้งนี้มีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิด ระหว่างพ่อค้าจีนกับเจ้าหน้าที่พม่า ตามหัวเมืองชายแดนระหว่างจีนกับพม่า

พงศาวดารหอแก้วกล่าวว่า กองทัพจีนบุกรุกพม่าสี่ครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง เป็นเหตุให้พระเจ้าสินปยูชิน(พระเจ้ามังระ) ไม่สามารถเสด็จยกทัพมาตีเมืองไทยด้วยพระองค์เองได้ ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงทราบว่า ได้มีความพยายามที่จะตั้งราชวงศ์ใหม่และโค่นอำนาจของพม่า ข้อที่ควรสังเกตคือ ข้อความนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดในกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกู้อิสรภาพของไทยได้ภายในเวลา 7 เดือน และทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งที่กรุงธนบุรี ในปีเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยาแตก [60]

เมื่อเนเมียวสีหบดีกลับถึงพม่าแล้ว พระเจ้ามังระทรงแต่งตั้งให้เนเมียวสีหบดีเป็น ศรีอยุธยาหวุ่น และในปีเดียวกันนั้นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทั่วประเทศพม่า ทั้งเจดีย์และสถานที่สำคัญ ๆ โค่นพังทลายลงมามากต่อมาก พระเจ้ามังระตกพระทัยจึงได้สร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นหลายองค์ เพื่อล้างบาปและบรรจุไว้ในพระสถูปที่ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ด้วยทรงเข้าพระทัยว่าเป็นเพราะบาปกรรมที่พระองค์กระทำไว้[61]

การกอบกู้เอกราช[แก้]

ความแตกต่างระหว่างเสียกรุงครั้งที่ 1 กับเสียกรุงครั้งที่ 2[แก้]

ตอนที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมารบพุ่งอย่างกษัตริย์ กรุงศรีอยุธยาประสบภัยสงครามที่ต้องเสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่พบกับความบอบช้ำมากนัก เพราะการสงคราม สมัยพระเจ้าบุเรงนองมีลักษณะของการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจักรวรรดิพุกามของพม่า มากกว่าการทำสงครามเพื่อปล้นสะดมทำลายล้าง บ้านเมืองฝ่ายตรงข้าม[62] แต่ครั้งพระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะมารบพุ่ง อย่างโจร[63] กล่าวคือขาดกำลังที่จะยกหักเข้าชิงชัยในพระนคร แต่เที่ยวปล้นสะดมอยู่โดยรอบเป็นเวลานานถึง 3 ปี กว่าจะสามารถหักเอากรุงศรีอยุธยาได้

หลังศึกอลองพญาในปีพ.ศ. 2303 กรุงศรีอยุธยาได้ยอมเป็นที่พึ่งให้กับชนกลุ่มน้อยของพม่า เมื่อสำนึกถึงอำนาจของราชวงศ์อลองพญาซึ่งได้คุกคามตนอยู่แล้ว ก็ต้องการผลักอำนาจนั้นให้อยู่ไกลศูนย์กลางของตนออกไป มีเมืองที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นแดนกันกระทบของราชอาณาจักร ในพ.ศ. 2304 อยุธยาได้ส่งทัพขึ้นไปทางเหนือหมายจะช่วยเชียงใหม่ ซึ่งมีศุภอักษรมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่ก็ไม่ทันการณ์[64] แม้ในปี พ.ศ. 2307 หุยตองจาเจ้าเมืองทวายเป็นกบฏต่อพม่า เมื่อถูกปราบปรามก็พาครอบครัวอพยพหนีมาเมืองมะริด และทางอยุธยาก็ตกลงใจจึงได้รับหุยตองจาไว้ในอุปถัมภ์[65]

ในรัชกาลของพระเจ้ามังระนั้น มีการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่างๆ การแทรกแซงของอยุธยา ในเขตอิทธิพลตามประเพณีของราชวงศ์อลองพญา จึงเป็นการส่งเสริมการกบฏของแว่นแคว้นต่างๆ ในพม่าไปโดยปริยาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่พระเจ้ามังระจะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยาลง จุดมุ่งหมายของการสงครามในครั้งนี้ไม่ใช่การขยายพระบรมเดชานุภาพมาเอาเมืองอยุธยาเป็นเมืองออก แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ การทำให้ราชอาณาจักรอยุธยาแตกสลายลง หรืออ่อนแอลงขนาดที่จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่หัวเมืองขึ้นของพม่าได้อีก ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า การรับตัวหุยตองจาไว้โดยไม่ได้ส่งตัวให้แก่พม่า เมื่อได้รับคำขอนี้คือสาเหตุสงครามในครั้งสุดท้าย[66]

ความคิดที่จะตีอยุธยาของพระเจ้ามังระอาจมีนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในพ.ศ. 2306 ก่อนหน้านั้นพระองค์เสด็จมาในกองทัพของพระราชบิดา เมื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2303 หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ก็ได้ตระเตรียมงานด้านการบริหารราชอาณาจักรไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถทำสงครามได้หลายด้านและหลายครั้งในรัชกาล ประสบการณ์ในการรบกับประเทศไทยทำให้ทรงรู้จุดอ่อนของราชอาณาจักรอยุธยาพอสมควร และทำให้ได้เตรียมการอันจำเป็น สำหรับการเอาชัยชนะเหนืออยุธยาในเวลาต่อมา

แผนการของพม่าในการพิชิตกรุงศรีอยุธยาก็คือ การส่งทัพมากระหนาบกรุงศรีอยุธยา สองทางทั้งจากทางใต้และทางเหนือ พระเจ้ามังระทรงดำริว่าอยุธยาเป็นราชอาณาจักรที่แข็งแกร่ง เพราะว่างเว้นจากศึกสงคราามมานานและจะส่งแต่ทัพทางเหนือ อันมีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพเพียงด้านเดียวก็จะไม่เพียงพอ จึงโปรดให้มังมหานรธานำทัพมาทางใต้อีกด้านหนึ่งด้วย

กองทัพทั้งสองมีภารกิจอื่นที่ต้องทำก่อน แต่เป็นภารกิจที่จะช่วยเสริมกำลังให้แก่เป้าหมายหลัก คือการตีกรุงศรีอยุธยาอยู่ด้วย กองทัพเนเมียวสีหบดีเดินทัพมาทางหัวเมืองชานเพื่อกะเกณฑ์ผู้คนเข้ามาสมทบ แล้วยกเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ผ่านทางเชียงตุง เนเมียวสีหบดีมีหน้าที่ต้องปราบกบฏในล้านนา ซึ่งก็สามารถกระทำได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากสิ้นฤดูฝนในพ.ศ. 2307 ได้ยกขึ้นไปปราบเมืองล้านช้างได้หมด จากนั้นยกกลับมาค้างฤดูฝนที่ลำปางในพ.ศ. 2308 ในระหว่างนั้นได้กะเกณฑ์ผู้คนในหัวเมืองล้านนาและล้านช้าง รวมทั้งเจ้าฟ้าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเข้าสมทบในกองทัพ เตรียมการยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยา[67]

กองทัพเนเมียวสีหบดีเคลื่อนกำลังจากลำปางในฤดูแล้งของ พ.ศ. 2308 ส่วนทัพมังมหานรธามีภารกิจที่ต้องปราบกบฏที่ทวายก่อน และพักค้างฝนที่ทวายในพ.ศ. 2308 ขณะเดียวกันก็กะเกณฑ์ผู้คนจากหงสาวดี เมาะตะมะ มะริด และทวาย ตะนาวศรีเข้าสมทบในกองทัพจนเข้าหน้าแล้งของพ.ศ. 2308 จึงได้เคลื่อนทัพเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมกับทัพของเนเมียวสีหบดีเพื่อมาบรรจบกันที่อยุธยาตามนัดหมาย

จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นรายงานว่า พม่าได้บุกเข้าราชบุรีและกาญจนบุรี ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2308 แต่กว่ากองทัพพม่าจะเข้ามาตั้งประชิดพระนครก็เป็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 นับเป็นเวลากว่าปีระหว่างนั้น พม่าก็มาตั้งค่ายอยู่ที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน[68] (คือตอกระออมและดงรังหนองขาวในพระราชพงศาวดารไทย) ต่อเรือรบอยู่ที่นั่น เพื่อทำการศึกแรมปีก่อนจะตีกรุงศรีอยุธยาได้[69]

ส่วนทัพของเนเมียวสีหบดีที่มาจากทางเหนือนั้น หลักฐานไทยและพม่าไม่ตรงกันนักในด้านยุทธศาสตร์ พระราชพงศาวดารฉบับหอแก้วกล่าวว่า เมืองแรกที่ถูกยึดได้คือบ้านตากซึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่า แต่ก็ถูกยึดและปล้นสะดมเมืองตลอดจนจับตัวเจ้าเมืองไปด้วย การปราชัยที่ตากทำให้เจ้าเมืองระแหงและกำแพงเพชรต่างยอมจำนนแต่โดยดี เพื่อมิให้ถูกปล้นสะดมเมืองดังเช่นที่เมืองตากต้องโดน

ดังนั้น ในการยกทัพมาครั้งนี้ทัพทั้งสองจึงต่างมาพักค้างฝนกัน ที่ชายพระราชอาณาเขตคือลำปางและทวาย เพื่อให้มีเวลาทำการแก่อยุธยาได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ได้เตรียมการที่จะทำการแรมปี เพราะต้องใช้เวลาในการตัดขาดกรุงศรีอยุธยาออกจากกำลังไพร่พลที่พึงหาได้ในหัวเมือง อันนับได้ว่าเป็นการตีจุดอ่อนที่สุดของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

ยุทธวิธีที่กองทัพทั้งสองของพม่าใช้ในการปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายนั้นตรงกันคือ หากเมืองใดต่อสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเชลย เป็นการลงโทษเมื่อตีเมืองได้ เมืองใดยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีก็เพียงแต่กะเกณฑ์ผู้คนเสบียงอาหารใช้ในกองทัพ โดยไม่ลงโทษ นอกจากนี้พม่ายังใช้การกระจายกำลังออกเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองทั่วไปในท้องถิ่นภาคกลางฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

บาทหลวงฝรั่งเศสรายงานใน พ.ศ. 2308 ว่า “ ...เกิดเสียงลือกันขึ้นด้วยว่ากองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเอาใจออกห่างจากไทย ไปเข้ากับพม่า... ” [70] ด้วยวิธีเช่นนี้แม้ว่ากองทัพพม่ามิได้มีกำลังพลมากนัก ในระยะต้นก็สามารถเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาและพิชิตได้ในที่สุด แต่ความสำเร็จเช่นนี้ของพม่าก็เกิดขึ้น ได้เพียงเพราะระบบการป้องกันตนเอง ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาพังสลายลงเนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพ ของการจัดการปกครองหัวเมืองและกำลังคน

กองทัพทั้งสองของพม่ามาบรรจบกันในปลาย พ.ศ. 2308 โดยทัพทางเหนือตั้งที่ปากน้ำประสบห่างจากอยุธยาไม่ถึง 2 กิโลเมตร ในระหว่างนั้นก็กระจายกำลังกันเที่ยวเกลี้ยกล่อมปราบปรามหัวเมือง ดังที่กล่าวแล้วการล้อมกรุงก็ยังไม่สู้จะกวดขันนัก จึงปรากฏว่ามีราษฎรจากบ้านนอกหลบหนีภัยพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงวันละมากๆ เสมอมาและเสบียงอาหารในกรุงก็ยังคงบริบูรณ์ดีอยู่ เพราะเข้าใจว่าจะยังสามารถลาดหาเสบียงอาหารมาเก็บไว้ได้ต่อไป ดังปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า "...เมื่อพม่าเข้าตั้งประชิดพระนครและล้อมกรุงอย่างกวดขันขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 นั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ดี มีแต่ขอทานเท่านั้นที่อดตาย..." [71]

สภาพของกรุงศรีอยุธยาถูกตัดขาดจากหัวเมืองของตนเองมาเป็นเวลาต่อเนื่องกันเกือบ 2 ปีเต็ม จึงไม่มีรัฐบาลกลางที่จะอำนวยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักรไว้ได้อีก ชัยชนะของพม่านั้นจึงได้จากการทำลายราชอาณาจักรอยุธยา ส่วนการยึดเมืองอยุธยานั้นเป็นผลตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[72]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • บูญเทียม พลายชมภู. พม่า ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพ : โอเดียนสโตร์ , 2548
  • เทพมนตรี ลิมปพยอม, เกร็ดความรู้คราวเสียกรุง, คัดลอกจากวารสาร สยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับที่ 16 ประจำเดือน เมษายน 2537
  • ประพิณ ออกเวหา. อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดบุ๊ค, 2546
  1. วารสารราชบัณฑิตยสถาน
  2. ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : The Knowledge Center, พ.ศ. 2548. หน้า 2 ISBN 974-9517-04-0
  3. ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ในฐานะนักประวัติศาสตร์
  4. 30ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2531.หน้า 269
  5. ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : The Knowledge Center, พ.ศ. 2548. หน้า 3 ISBN 974-9517-04-0
  6. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบกับพม่าฉบับรวมเล่ม พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร ๒๕๒๔ หน้า ๒๕๖-๒๕๗
  7. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า, หน้า 311-314
  8. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์. สามกรุง. พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๑ หน้า ๑๐๐.
  9. จรรยา ประชิตโรมรัน. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536 หน้า 56 ISBN 974-584-663-5
  10. ๕๓ พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓. หน้า ๒๔๕-๒๔๖. (ISBN 9742777519)
  11. ๕๓ พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓. หน้า ๒๔๖. (ISBN 9742777519)
  12. ๕๓ พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓. หน้า ๒๔๗. (ISBN 9742777519)
  13. นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2539 หน้าที่ 136-137 ISBN 974-7120-82-8
  14. นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2539 หน้าที่ 137 ISBN 974-7120-82-8
  15. กรมศิลปากร. ประชุมพงศวดาร ภาคที่ ๓๙. หน้า ๕๘-๖๐.
  16. การศาสนา,กรม. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๔. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา,๒๕๒๘. หน้า ๗
  17. กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานบรรจุศพ คุณพ่อไต้ล้ง พรประภา วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๑) หน้า ๖๐๓-๖๐๔
  18. ภัทรธาดา. เอกสารบรรยายพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ชลบุรี:พฤษภาคม ๒๕๒๔) หน้า ๙-๑๐.
  19. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีสหวัฏ(อุดม)ปัญญาสุข. 21 พฤษภาคม 2540 หน้า140
  20. คุรุสภา. ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖. พระนคร : คุรุสภา ๒๕๑๖, หน้า ๑๘๘.
  21. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์สันนิษฐานเอาไว้ว่า มังมหานรธาน่าจะถึงแก้กรรมในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2309 ภึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2310
  22. คุรุสภา. ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖. พระนคร : คุรุสภา ๒๕๑๖, หน้า ๑๘๘-๑๘๙.
  23. ๕๓ พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓. หน้า ๒๕๒. (ISBN 9742777519)
  24. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์, พลโท. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยอดนาวิกโยธินไทย ในผ่านศึกฉบับพิเศษ : วันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ 2537 หน้า 17
  25. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์, พลโท. สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2541 หน้า 17-18 ISBN 9743213074
  26. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์, พลโท. สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2541 หน้า 18 ISBN 9743213074
  27. มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมป์. ประวัติศาสตร์ชาติไทย, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547 หน้า 79-80 ISBN 974-92746-2-8
  28. ศิลปากร,กรม. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๖.
  29. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบกับพม่าฉบับรวมเล่ม (พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร ๒๕๒๔) หน้า ๓๑๐
  30. มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมป์. ประวัติศาสตร์ชาติไทย, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547 หน้า 83. ISBN 974-92746-2-8
  31. กรมศิลปากร. จดหมายเหตุและบาดหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น, 2511 หน้า 85
  32. กรมศิลปากร. จดหมายเหตุและบาดหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น, 2511 หน้า 86
  33. กรมศิลปากร. จดหมายเหตุและบาดหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น. 2511 หน้า 87
  34. กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. (พระนคร : องค์การค้าครุสภา, 2505). 123.-127
  35. กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. (พระนคร : องค์การค้าครุสภา, 2505), 135-137
  36. จรรยา ประชิตโรมรัน. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2537 หน้า 169 ISBN 974-584-663-5
  37. สุเนตร ชุตินธรานนท์, สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ 2310) : ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง, กรุงเทพฯ : ศยาม, 2544 หน้าที่ 68
  38. อาทร จันทวิมล. ประวัติของแผ่นดินไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2537 หน้า 229 ISBN 974-584-663-5
  39. อนันต์ อมรรตัย. คำให้การชาวกรุงเก่า. กรุงเทพฯ : จดหมายเหตุ, 2510 หน้า 168 ISBN 9748789578
  40. จรรยา ประชิตโรมรัน, การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2537 หน้า 171-176 ISBN 974-584-663-5
  41. พงศาวดารพม่ากล่าวว่า เป็นเวลาประมาณตี 4, สุเนตร ชุตินธรานนท์, สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ 2310) : ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง, กรุงเทพฯ : ศยาม, 2544 หน้าที่ 68
  42. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์. สามกรุง. พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๑ หน้า ๑๒๑-๑๒๒
  43. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์. สามกรุง. พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๑ หน้า ๑๒๒
  44. บันทึกเรื่องราวเป็นภาษาฮอลันดา. แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 2 เล่ม 2, 2511 หน้า 23
  45. กรมศิลปากร. ประชุมพงศวดาร ภาคที่ ๓๙. หน้า ๖๓-๖๔.
  46. อาทร จันทวิมล. ประวัติของแผ่นดินไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2546 หน้า 230 ISBN 9749179706
  47. ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2531. หน้า 270
  48. แปลโดย ส.ศิวรักษ์. History of the Kingdom of Siam, สังคมศาสตร์ปริทัศน์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 4, 2510 หน้า 58-65
  49. ชนสวัสดิ์ ชมพูนุท, ม.ร.ว.. พระราชประวัติ ๙ มหาราช. พระนคร : พิทยาคาร ๒๕๑๔, หน้า ๒๖๖.
  50. จรรยา ประชิตโรมรัน, พลตรี. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2536 หน้า 185 - 186 ISBN 974-584-663-5
  51. สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ 2310) : ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2544 หน้า 112 ISBN 974-315-313-6
  52. พระพุทธรูปยืน ทองหล่อหนัก 53,000 ชั่ง (44,166.66 กิโลกรัม) ในสมัยนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ ประดิษฐานในพระวิหารหลังกลาง วัดพระศรีสรรเพชญ์)
  53. ทวน บุญยนิยม , 2513 : 48-50
  54. กรมศิลปากร. จดหมายเหตุและบาทหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น, 2511 หน้า 82
  55. ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติเล่ม 9, พระนคร : ก้าวหน้า , 2508 : 420
  56. แปลโดย ส.ศิวรักษ์. History of the Kingdom of Siam, สังคมศาสตร์ปริทัศน์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 4, 2510 หน้า 57
  57. อาทร จันทวิมล. ประวัติของแผ่นดินไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2546 หน้า 229 ISBN 9749179706
  58. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ไทยรบพม่า. หน้า 319-321
  59. จรรยา ประชิตโรมรัน, พลตรี. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬา, 2536 หน้า 196 - 199
  60. รอง ศยามานนท์. แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ปีที่ 18 เล่ม 1 มกราคม 2527 – ธันวาคม 2527 หน้า 39 - 46
  61. [1]เรียกข้อมูลวันที่ 14 กรกฎาคม 2547
  62. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. พระมหาธรรมราชากษัตราธิราช. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546 หน้า 35 ISBN 974-322-818-7
  63. ทวน บุญยนิยม , 2513 : 57
  64. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). หน้า 542
  65. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ไทยรบพม่า. หน้า 311
  66. อนันต์ อมรรตัย. คำให้การชาวกรุงเก่า. กรุงเทพฯ : จดหมายเหตุ, 2510 หน้า 167 ISBN 9748789578
  67. ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดบุ๊ดเซ้นเตอร์, 2548 หน้า 18-22 ISBN 974-9517-04-0
  68. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39, 2508 : 409-414
  69. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 หน้า 263
  70. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39, 2508 หน้า 412
  71. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39, 2508 หน้า 414
  72. วีณา โรจนราธา. กรุงแตก พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กรุงสยามพริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2540 หน้า 132-137 ISBN 978-974-02-0003-1