ผู่อี๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จักรพรรดิผู่อี๋)
ผู่อี๋
溥儀
พระบรมฉายาลักษณ์จักรพรรดิผู่อี๋ ป. ทศวรรษ 1930–1940
จักรพรรดิต้าชิง
รัชสมัยที่หนึ่ง2 ธันวาคม ค.ศ. 1908 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912
ก่อนหน้าจักรพรรดิกวังซฺวี่
ถัดไปล้มเลิกราชาธิปไตย
ผู้สำเร็จราชการ
อัครมหาเสนาบดี
รัชสมัยที่สอง1 – 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1917[a]
อัครมหาเสนาบดีจาง ซวิน
จักรพรรดิแมนจู
ครองราชย์1 มีนาคม ค.ศ. 1934 – 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945
ก่อนหน้าตัวเอง ในฐานะผู้บริหารสูงสุด
ถัดไปยกเลิกตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี
ผู้บริหารสูงสุดแห่งแมนจู
ในตำแหน่ง18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 – 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปตัวเอง ในฐานะจักรพรรดิ
นายกรัฐมนตรีเจิ้ง เสี้ยวซฺวี
ประสูติ07 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906(1906-02-07)
ตำหนักฉุนชินหวัง กรุงปักกิ่ง จักรวรรดิชิง
สวรรคต17 ตุลาคม ค.ศ. 1967(1967-10-17) (61 ปี)
โรงพยาบาลวิทยาลัยสหการแพทย์ปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ฝังพระศพสุสานปฏิวัติปาเป่าชาน ต่อมานำอัฐิไปฝัง ณ สุสานราชวงศ์ฮว่าหลง มณฑลเหอเป่ย์
มเหสี
รัชศก
  • ต้าชิง
    • เซฺวียนถ่ง (宣統; ค.ศ. 1909–1912, ค.ศ. 1917)
  • แมนจูกัว
    • ต้าถง (大同; ค.ศ. 1932–1934)
    • คังเต๋อ (康德; ค.ศ. 1934–1945)
ราชวงศ์อ้ายซินเจว๋หลัว
ราชวงศ์
พระราชบิดาฉุนชินหวังไจ้เฟิง
พระราชมารดากัวเอ่อเจีย โย่วหลัน
(สืบสายโลหิต)
จักรพรรดินีเสี้ยวติ้งจิ่ง
(มารดาบุญธรรม)
Wang Lianshou
(มารดาบุญธรรม)
ตราประทับ[b]
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม溥儀
อักษรจีนตัวย่อ溥仪
จักรพรรดิเซฺวียนถ่ง
อักษรจีนตัวเต็ม宣統帝
อักษรจีนตัวย่อ宣统帝

ผู่อี๋[c] (7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 – 17 ตุลาคม ค.ศ. 1967) เป็นจักรพรรดิจีนพระองค์ที่สิบเอ็ดและพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง พระองค์ครองราชย์เมื่อมีพระชนมพรรษาเพียง 2 พรรษาใน ค.ศ. 1908 จนกระทั่งถูกบังคับให้สละราชสมบัติเมื่อพระชนมพรรษา 6 พรรษาใน ค.ศ. 1912 เนื่องจากการปฏิวัติซินไฮ่ ภายใต้การครองราชย์ในรัชสมัยแรกทรงมีพระปรมาภิไธยว่า จักรพรรดิเซฺวียนถ่ง (จีน: 宣統帝) อันเป็นชื่อรัชศกที่หมายถึง "การประกาศความเป็นหนึ่งเดียว"

ผู่อี๋กลับขึ้นสู่ราชสมบัติต้าชิงอีกครั้งจากความช่วยเหลือของนายพลจาง ซวิน ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 พระองค์อภิเษกสมรสแบบคลุมถุงชนกับจักรพรรดินีวั่นหรงใน ค.ศ. 1922 ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1924 พระองค์ทรงถูกเนรเทศออกจากพระราชวังต้องห้ามและหนีหลบภัยไปที่เทียนจิน ณ ช่วงเวลานี้ อดีตจักรพรรดิเริ่มเข้าประจบทั้งขุนศึกที่กำลังต่อสู้กันเพื่อควบคุมสาธารณรัฐจีน กับญี่ปุ่นซึ่งปรารถนาทีทจะครอบครองจีนมาอย่างช้านาน เมื่อญี่ปุ่นเข้าบุกครองแมนจูเรียใน ค.ศ. 1932 ผู่อี๋จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐหุ่นเชิดแมนจูกัวที่ก่อตั้งโดยญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อรัชศกว่า "ต้าถง"

ต่อมาผู่อี๋ได้ประกาศตนเป็นจักรพรรดิแมนจูใน ค.ศ. 1934 โดยนักเขียน เวิน ยฺเหวียนหนิง ได้กล่าวเสียดสีผู่อี๋ว่า "เป็นผู้ถือสถิติโลกสำหรับจำนวนครั้งที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถขึ้นครองราชย์และสละราชสมบัติได้"[1] ผู่อี๋มีอำนาจปกครองแต่ในนามภายใต้ชื่อรัชศก "คังเต๋อ" จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1945 โดยในรัชสมัยที่สามนี้ พระองค์ทรงถือว่าเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของญี่ปุ่น เนื่องจากพระองค์มีบทบาทเพียงลงนามในกฤษฎีกาที่ญี่ปุ่นมอบให้เท่านั้น ผู่อี๋ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประทับอยู่ ณ พระราชวังภาษีเกลือ ที่ซึ่งพระองค์ทรงสั่งข่มเหงข้าราชบริพารอยู่เป็นประจำ พระองค์เริ่มเหินห่างจากจักรพรรดินีวั่นหรงมากขึ้น เนื่องจากการเสพติดฝิ่นของพระมเหสีในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีการรับนางสนมเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับคู่รักชาย ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสงครามใน ค.ศ. 1945 ผู่อี๋จึงลี้ภัยออกจากเมืองหลวง แต่สุดท้ายก็ถูกกองทัพโซเวียตที่เข้ายึดครองประเทศจับกุมตัวไว้ ผู่อี๋ได้รับการส่งตัวผู้ให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1950 ซึ่งหลังจากการจับกุม ผู่อี๋ก็มิได้พบเห็นจักรพรรดินีวั่นหรงอีกเลย เนื่องจากพระองค์ถึงแก่กรรมด้วยความอดอยากในเรือนจําจีนเมื่อ ค.ศ. 1946

ผู่อี๋เป็นจำเลยในการพิจารณาคดีโตเกียว และต่อมาถูกคุมขังและได้รับการศึกษาใหม่ในฐานะอาชญากรสงครามเป็นเวลา 10 ปี โดยหลังจากการปล่อยตัวใน ค.ศ. 1959 ผู่อี๋ได้ประพันธ์บันทึกความทรงจำ (จากความช่วยเหลือของนักเขียนผี) และเข้าเป็นสมาชิกกิตติมาศักดิ์ประจำสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีนและสภาประชาชนแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำได้เปลี่ยนแปลงความคิดของผู่อี๋เป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ทรงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งสําหรับการกระทําขณะเป็นจักรพรรดิ ผู่อี๋เสด็จสวรรคตเยี่ยงสามัญชนใน ค.ศ. 1967 และอัฐิของพระองค์ได้รับการฝังไว้ในสุสานเชิงพาณิชย์ใกล้กับสุสานหลวงตะวันตกแห่งราชวงศ์ชิง

บรรพชน[แก้]

ผู่อี๋ขณะมีอายุได้ 3 ปี (ขวาสุด) ยืนถัดจากฉุนชินหวังพระบิดาและผู่เจี๋ยพระอนุชา

สายบิดา[แก้]

ปู่ทวดของผู่อี๋คือจักรพรรดิเต้ากวัง หลังจากนั้นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิเต้ากวง คือจักรพรรดิเสียนเฟิง ก็ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ [2][3]

ปู่ของผู่อี๋ ฉุนชินหวังอี้เซฺวียน เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 7 ของจักรพรรดิเต้ากวัง และเป็นพระโสทรานุชากับจักรพรรดิเสียนเฟิง ภายหลังจากพระจักรพรรดิเสียนเฟิงสวรรคตแล้ว จักรพรรดิถงจื้อ พระราชโอรสพระองค์เดียวในพระจักรพรรดิเสียนเฟิงได้ขึ้นสืบราชสมบัติ[4]

จักรพรรดิถงจื้อสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา โดยไม่มีพระราชโอรส และผู้ที่มาสืบราชสมบัติต่อคือ จักรพรรดิกวังซวี่ โอรสในฉุนชินหวังอี้เซฺวียน และท่านผู้หญิงเย่เหอนาลา วานเจิน (ขนิษฐาในพระนางซูสีไทเฮา) สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่สวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรส[5]

ผู่อี๋ จึงสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี โดยผู่อี๋เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ของฉุนชินหวังไจ้เฟิง ซึ่งเป็นโอรสของอี้เซฺวียน และท่านผู้หญิงหลิงกิยา พระสนมของพระองค์ เดิมท่านผู้หญิงหลิงกิยาเคยเป็นคนรับใช้ที่ตำหนักของเจ้าชายฉุนอี้เซฺวียน พื้นเพเป็นชาวฮั่นแซ่หลิว (劉) และเมื่อเป็นสนมของฉุนชินหวังจึงเปลี่ยนเป็นชื่อแมนจูว่า หลิงกิยา เพราะฉะนั้นฉุนชินหวังไจ้เฟิง จึงเป็นพี่น้องร่วมชนกเดียวกับสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่และเป็นทายาทสืบราชบัลลังก์ที่อยู่ในลำดับแรก[6]

ผู่อี๋เป็นสมาชิกราชสกุลอ้ายซินเจว๋หลัวในสายที่ผูกพันกันแน่นกับเผ่าเย่เหอนาลาของพระนางซูสีไทเฮา พระนัดดาของพระนางซูสีไทเฮา คือจักรพรรดินีหลงยฺวี่ พระพันปีหลวง ก็เป็นพระมเหสีในจักรพรรดิกวังซวี่

พระอนุชาของผู่อี๋คือ เจ้าชายผู่เจี๋ย ซึ่งต่อมาได้สมรสกับพระญาติของจักรพรรดิโชวะแห่งญี่ปุ่น คือ ฮิโระ ซางะ ซึ่งกฎมณเฑียรบาลในเรื่องการสืบราชสมบัตินั้นให้ผู่เจี๋ยสืบราชบัลลังก์จากผู่อี๋ซึ่งไม่มีบุตรได้[7][8]

เจ้าชายผู่เริ่น พระอนุชาของพระองค์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นจีน คือ จิน โหย่วจือ อาศัยอยู่ที่ประเทศจีน โดยในปี 2006 จิน โหยว่จือได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อศาลเกี่ยวกับสิทธิในรูปของผู่อี๋และความเป็นส่วนตัว โดยได้กล่าวอ้าวว่าสิทธิของเขาได้ถูกละเมิดจากงานจัดแสดง "จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายและราชวงศ์"[9]

ส่วนญาติห่าง ๆ ของผู่อี๋ คือ ผู่ เซี่ยจ้าย[10] เป็นนักดนตรีซึ่งเล่นกู่เจิ้งและเป็นศิลปินภาพเขียนจีน[11]

สายมารดา[แก้]

พระราชมารดาของผู่อี๋คือ โย่วหลัน เป็นลูกสาวของ หรงลู่ รัฐบุรุษและนายพลจากเผ่ากวาเอ่อร์เจีย โดยยงลู่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำของสายอนุรักษนิยมในราชวงศ์ชิง และเป็นผู้สนับสนุนที่ซื่อสัตย์ของพระนางซูสีไทเฮา โดยพระนางได้ตอบแทนความซื่อสัตย์ของหรงลู่ จึงได้ให้บุตรสาวของเขา (พระมารดาของผู่อี๋) เสกสมรสเพื่อเข้ามาในกลุ่มราชวงศ์

เผ่ากวาเอ่อร์เจีย เป็นหนึ่งในเผ่าที่ทรงอำนาจมากที่สุดของชาวแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิง แม่ทัพเอ๋าไป้ ผู้บัญชาการทางทหารผู้ทรงอิทธิพลและรัฐบุรุษซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการระหว่างต้นรัชสมัยของจักรพรรดิคังซี ก็มาจากเผ่ากวาเอ่อร์เจีย[12]

พระนามและพระเกียรติยศ[แก้]

พระนาม[แก้]

ชื่อของผู่อี๋สะกดเป็นอักษรโรมันได้เป็น "Puyi" หรือ "Pu-yi" ส่วนในภาษาไทยนั้นนิยมเขียนว่า "ปูยี" แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการออกเสียงให้ใกล้เคียงกับภาษาจีนว่า "ผู่อี๋" พระนามหรือชื่อตามธรรมเนียมของแมนจูหลีกเลี่ยงที่จะใช้ชื่อเผ่าหรือชื่อสกุลกับชื่อตัวพร้อมกัน ซึ่งขัดแย้งกับประเพณีของจีน โดยประเพณีแล้วชื่อของผู้ปกครองมักเป็นคำต้องห้าม การกล่าวชื่อตัวของอดีตจักรพรรดิหรือแม้กระทั่งการใช้อักษรจีนจากพระนาม ก็อาจจะถูกลงโทษได้ภายใต้กฎหมายประเพณีโบราณของจีน ภายหลังจากผู่อี๋ถูกถอดอิสริยศเนื่องจากถูกขับไล่ออกจากพระราชวังต้องห้ามในปีค.ศ. 1924 ผู่อี๋ ก็ใช้ชื่อว่า นายผู่อี๋ หรือ มิสเตอร์ผู่อี๋ (Mr. Pu-yi; จีนตัวย่อ: 溥仪先生; จีนตัวเต็ม: 溥儀先生; พินอิน: Pǔyí Xiānsheng) ส่วนชื่อสกุล อ้ายซินเจว๋หลัว ไม่ใคร่มีผู้ใดใช้เรียก

ผู่อี๋มีนามภาษาอังกฤษว่า เฮนรี (Henry) ซึ่งพระอาจารย์ชาวสกอตแลนด์ เรจินัล จอห์นสตัน เป็นผู้คัดเลือกจากพระนามของกษัตริย์อังกฤษตั้งถวายให้ หลังจากที่พระองค์ทรงร้องขอ[13][14]

คำนำหน้านามและพระอิสริยยศ[แก้]

เมื่อดำรงตำแหน่งจักรพรรดิจีนเมื่อระหว่างปีค.ศ. 1908 ถึง ค.ศ. 1912 และระหว่างการฟื้นฟูราชวงศ์ชิงระยะสั้นในปีค.ศ. 1917 ศักราชในรัชสมัยพระองค์ใช้ชื่อว่า "เซฺวียนถ่ง" และพระนามของพระองค์ก็ถูกเรียกว่า "จักรพรรดิเซฺวียนถ่ง" (จีนตัวย่อ: 宣统皇帝; จีนตัวเต็ม: 宣統皇帝; พินอิน: Xuāntǒng Huángdì; เวด-ไจลส์: Hsüan1-t'ung3 Huang2-ti4) ในระหว่างการขึ้นครองราชสมบัติในสองช่วงเวลาดังกล่าว

ในฐานะที่ผู่อี๋เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ครองอำนาจของจีน ผู้อี๋ยังเป็นที่รู้จักในฐานะ "จักรพรรดิพระองค์สุดท้าย" (จีน: 末代皇帝; พินอิน: Mòdài Huángdì; เวด-ไจลส์: Mo4-tai4 Huang2-ti4) ในประเทศจีนและทั้งโลก บางส่วนก็เรียนขานผู่อี๋ว่า "จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง" (จีน: 清末帝; พินอิน: Qīng Mò Dì; เวด-ไจลส์: Ch'ing1 Mo4-ti4)

เนื่องจากการสละราชสมบัติ ผู่อี๋ยังถูกเรียกว่า "ซุนตี้" (จีน: 遜帝; พินอิน: Xùn Dì; แปลตรงตัว: "จักรพรรดิสละราชย์") หรือ "เฟ่ยตี้" (จีนตัวย่อ: 废帝; จีนตัวเต็ม: 廢帝; พินอิน: Fèi Dì; แปลตรงตัว: "จักรพรรดิที่ถูกถอด") หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ชิง" (จีน: ; พินอิน: Qīng) ซึ่งเติมด้านหน้าคำทั้งสองดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู่อี๋เป็นสมาชิกราชวงศ์ชิง

เมื่อผู่อี๋ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองของประเทศแมนจู ในขณะดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารสูงสุดนั้น ได้มีการใช้ชื่อศักราชว่า "ต้าถ่ง" (大同) และเมื่อผู่อี๋ขึ้นเป็นพระจักรพรรดิของแมนจูตั้งแต่ปีค.ศ. 1934 ถึง 1945 ใช้ชื่อศักราชว่า "คังเต๋อ" (康德) และพระองค์ก็เป็นที่รู้จักในพระนาม "จักรพรรดิคังเต๋อ" (康德皇帝) ในช่วงเวลาที่ขึ้นครองราชสมบัติ

ประวัติ[แก้]

จักรพรรดิจีน (1908–1912)[แก้]

ผู่อี๋ ถูกซูสีไทเฮาเลือกให้เป็นจักรพรรดิในขณะที่พระนางประชวรหนักอยู่บนพระแท่นบรรทม[5] ผู่อี๋ขึ้นเป็นจักรพรรดิในขณะที่มีพระชนมายุ 2 พรรษากับอีก 10 เดือน ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 1908 มีพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระจักรพรรดิเซฺวียนถ่ง ชีวิตในการเป็นจักรพรรดิของพระองค์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักราชวังมายังตำหนักเจ้าชายฉุนเพราะนำตัวพระองค์ไปเป็นจักรพรรดิ โดยผู่อี๋ได้ทำการขัดขืนหรือกรีดร้องในขณะที่เจ้าหน้าที่ของพระราชวังสั่งให้ขันทีอุ้มพระองค์[15] ฉุนชินหวังพระบิดาของพระองค์ ได้ขึ้นเป็นองค์ชายผู้สำเร็จราชการ (攝政王) ในระหว่างพิธีราชาภิเษกที่พระที่นั่งไท่เหอ พระบิดาได้อุ้มจักรพรรดิที่ยังทรงเยาว์ขึ้นไปยังบนบัลลังก์ ผู่อี๋ได้ตกใจฉากที่อยู่ต่อหน้าและเสียงอึกทึกของกลองและเสียงเพลงในพิธีราชาภิเษก และหลังจากนั้นผู่อี๋ก็เริ่มร้องไห้ พระบิดาของพระองค์ไม่สามารถที่จะทำสิ่งใดได้นอกจากพูดปลอบพระองค์ด้วยวลีอมตะว่า "อย่าร้องไห้ เดี๋ยวมันก็จบในอีกไม่ช้านี้"

แม่นมของผู่อี๋ เหวิน เฉาหว่าง เป็นเพียงคนเดียวที่สามารถควบคุมพระองค์ได้ เพราะฉะนั้นเธอจึงได้ตามพระองค์เข้าพระราชวังต้องห้าม ผู่อี๋ไม่ได้เจอแม่ผู้ให้กำเนิดพระองค์ เป็นระยะเวลาถึง 7 ปี โดยเขาได้ผูกพันกับ เหวิน เฉาหว่าง และยอมรับว่าเธอเป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถควบคุมพระองค์ได้ แต่เธอก็ได้ออกจากพระราชวังต้องห้ามเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ภายหลังจากที่ผู่อี๋อภิเษกสมรส ในบางโอกาสพระองค์ก็พาแม่นมของเธอมาที่พระราชวังต้องห้าม รวมทั้งที่แมนจูกัว เพื่อมาเยี่ยมพระองค์ ภายหลังผู่อี๋ได้รับอภัยโทษจากรัฐบาลในปีค.ศ. 1959 พระองค์ได้ไปเยี่ยมบุตรบุญธรรมของเธอและได้เรียนรู้ว่าเธอนั้นได้อุทิศตนเพื่อเป็นแม่นมของเขาแต่เพียงเท่านั้น[16]

การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนผู่อี๋เป็นไปได้โดยยาก ในการเลี้ยงดูให้พระองค์เป็นผู้มีสุขภาพที่ดีดังเช่นเด็กปกติ ตลอดทั้งคืน พระองค์ถูกเลี้ยงดูดังเช่นเทพเจ้าและไม่สามารถที่จะประพฤติตัวได้อย่างเด็กคนอื่นทั่วไป ในชีวิตวัยผู้ใหญ่ของพระองค์ ยกเว้นแม่นมของพระองค์ ล้วนเป็นคนแปลกหน้าทั้งหมด,เป็นเหมือนญาติห่าง ๆ,ไม่คุ้นเคยและไม่สามารถที่จะอบรมพระองค์ได้ ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ไหน จะมีคนคุกเข่าคำนับให้กับพระองค์จนกระทั่งเห็นพระองค์เดินไปจนลับสายตา ในไม่นานพระองค์ในวัยเยาว์ก็ทรงค้นพบว่าพระองค์ทรงมีอำนาจอย่างล้นพ้น พระองค์ทรงใช้อาวุธกับขันทีและทุบตีด้วยความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ

สละราชสมบัติ[แก้]

จักรพรรดิผู่อี๋ในปีค.ศ. 1922

ฉุนชินหวัง พระบิดาของผู่อี๋ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการถึงวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1911 เมื่อพระนางหลงยู่เข้าควบคุมอำนาจเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่[2]

พระนางหลงยู่เป็นผู้ลงพระนามาภิไธยใน "พระบรมราชโองการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง" (清帝退位詔書) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ภายหลังจากการปฏิวัติซินไฮ่ ภายใต้การต่อรองโดยขุนศึกหยวน ซื่อไข่ (นายพลแห่งกองทัพเป่ยหยาง) กับสมาชิกราชวงศ์ในปักกิ่ง และกลุ่มสาธารณรัฐในทางใต้[17] โดยมีการลงนามเพื่อก่อตั้ง สาธารณรัฐจีน

ผู่อี๋เหลือเพียงตำแหน่งในราชวงศ์และได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของสาธารณรัฐจากพิธีสารซึ่งจะถือว่าจะปฏิบัติพระองค์ให้เท่าเทียบกับกษัตริย์ของต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตราสารรับประกัน ข้อตกลงที่ให้พระสันตะปาปายังคงเกียรติยศและเอกสิทธิ์เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์อิตาลี[18] ผู่อี๋และสมาชิกราชวงศ์ยังได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ได้ในส่วนเหนือของพระราชวังต้องห้าม (พระตำหนักส่วนพระองค์) และในพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน เงินช่วยเหลือสนับสนุนราชวงศ์มีจำนวนสูงถึง 4 ล้านเหรียญและจ่ายโดยรัฐบาลสาธารณรัฐให้แก่สมาชิกราชวงศ์ แต่ว่าเงินจำนวนนี้ทางวังไม่เคยได้รับเต็มจำนวนและถูกยกเลิกในเวลาต่อมาไม่กี่ปีหลังจากนั้น

การฟื้นฟูราชวงศ์ชิง (1917)[แก้]

ในปีค.ศ. 1917 จาง ซวินได้นำผู่อี๋กลับขึ้นมาเป็นจักรพรรดิที่มีอำนาจอีกครั้งระหว่างวันที่ 1 ถึง 12 กรกฎาคม[19] จางได้มีคำสั่งให้ทหารในกองทัพของเขาไว้หางเปียเพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่องค์พระจักรพรรดิ ระหว่างช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู ได้มีระเบิดขนาดเล็กหล่นลงมายังพระราชวังต้องห้ามโดยเครื่องบินของสาธารณรัฐ ก่อให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย[20] อาจนับได้ว่าเป็นปฏิบัติการทางอากาศครั้งแรกที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออก การฟื้นฟูนอกจากจะล้มเหลวแล้วยังได้ก่อให้เกิดการต่อต้านไปทั่วประเทศ และมีการแทรกแซงจากขุนศึกต้วน ฉี่รุ่ย[21]

ผู่อี๋ถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามโดยขุนศึก เฟิง ยู่เสียง ในปีค.ศ. 1924

พำนักในนครเทียนสิน (1924-1932)[แก้]

หลังจากที่ถูกขับไล่ออกจากพระราชวังต้องห้าม ผู่อี๋ใช้เวลาสองถึงสามวันอยู่ที่ตำหนักของพระบิดา หลังจากนั้นก็ไปอาศัยอยู่ที่สถานทูตญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราวประมาณ 1 ปีครึ่ง[14] ในปี 1925 ผู่อี๋ได้ย้ายไปยัง Quiet Garden Villa ในเขตปกครองของญี่ปุ่นในเทียนจิน[22]ระหว่างช่วงเวลานั้น ผู่อี๋และบรรดาที่ปรึกษาของเขา เฉิน เป่าเซิน, เจิง เสี่ยวซู และ โหล เซินยู่ ได้ถกเถียงกันเกี่ยวกับการฟื้นฟูเขาเป็นจักรพรรดิ โดยเจิงและโหลได้เสนอให้ขอความช่วยเหลือจากภายนอก แต่เฉินไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ในเดือนสิงหาคม 1931 ผู่อี๋ส่งจดหมายถึง จิโร มินามิ รัฐมนตรีว่าการสงครามของญี่ปุ่น บ่งบอกความภายในว่าเขาต้องการที่จะกลับมาเป็นจักรพรรดิ[23] เขายังไปเยี่ยม เคนจิ โดอิฮาระ หัวหน้าหน่วยจารกรรมของกองทัพคันโต ผู้ซึ่งมีความปรารถนาจะให้ผู่อี๋เป็นผู้นำแห่งแมนจูกัว ในเดือนพฤศจิกายน 1931 ผู่อี๋และ เจิง เสี่ยวซู เดินทางไปยังแมนจูเรียเพื่อตกลงเกี่ยวกับแผนการตั้งรัฐแมนจูกัวให้สำเร็จ รัฐบาลจีนออกคำสั่งจับผู่อี๋ข้อหาเป็นกบฏแต่ไม่สามารถที่จะทำได้เพราะไม่สามารถฝ่าการคุ้มครองของญี่ปุ่นได้[14] เฉิน เป่าเซิน เดินทางกลับสู่ปักกิ่งที่ซึ่งเขาได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1933

หัวหน้าฝ่ายบริหารและจักรพรรดิแห่งแมนจู (1932–1945)[แก้]

ผู่อี๋ในตำแหน่งจักรพรรดิแห่งแมนจู

ในวันที่ 1 มีนาคม 1932 ผู่อี๋ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศแมนจูซึ่งจัดตั้งโดยญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาจากนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นรัฐที่เป็นหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยผู่อี๋ได้ดำรงตำแหน่งเป็น ต้าถ่ง (大同) ในปี 1934 ผู่อี๋ก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งแมนจูกัวโดยมีพระปรมาภิไธยว่า คังเต๋อ (康德) เขาไม่ค่อยพอใจที่ได้เป็นแค่ตำแหน่ง "ผู้บริหารสูงสุดของรัฐ" และต่อมาได้เป็น "จักรพรรดิแห่งแมนจู" เพราะผู่อี๋ต้องการที่จะฟื้นฟูราชวงศ์ชิง โดยผู่อี๋ประทับอยู่ที่พระราชวัง (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งแมนจูกัว) ในช่วงเวลาที่เขาเป็นจักรพรรดิ ในการขึ้นครองบัลลังก์ของเขา เขาได้โต้เถียงกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งกาย โดยทางญี่ปุ่นต้องการให้เขาใส่ชุดเครื่องแบบแมนจูกัว เพราะว่าผู่อี๋ถือว่าเป็นการหยามเกียรติอย่างมากที่ให้ใส่ชุดใด ๆ นอกจากเสื้อคลุมยาวโบราณของแมนจู เพื่อความประนีประนอมเขายอมสวมเครื่องแบบทหารแบบตะวันตกในการขึ้นครองบัลลังก์[24] (เป็นจักรพรรดิจีนเพียงพระองค์เดียวที่ได้สวมเครื่องแบบตะวันตกในวันขึ้นครองราชย์) และสวมเสื้อคลุมมังกรสำหรับการประกาศการขึ้นครองราชที่หอสักการะฟ้าเทียนถัน[25]

ผู่เจี๋ยพระอนุชาของผู่อี๋ผู้ซึ่งเสกสมรสกับเจ้าหญิงฮิโระ ซางะ พระญาติห่าง ๆ ของจักรพรรดิโชวะ ประกาศว่าเป็นรัชทายาทของผู่อี๋ การเสกสมรสนี้นี้เป็นอุบายทางการเมืองที่จัดการโดย ชิเงรุ ฮนโจ แม่ทัพกองทัพคันโต หลังจากนั้นผู่อี๋ไม่สามารถพูดคุยอย่างเปิดเผยกับพระอนุชาและปฏิเสธที่จะเสวยพระกระยาหารที่จัดเตรียมโดย ฮิโระ ซางะ ผู่อี๋ถูกบังคับให้เซ็นข้อตกลงว่าถ้าเขามีโอรส จะต้องถูกส่งตัวไปญี่ปุ่นเพื่อเลี้ยงดูตามแบบที่นั่น[26]

จากปี 1935 ถึงปี 1945 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพคันโต โยะชิโอะกะ ยะซุโนริ (吉岡安則)[27]ได้ถูกมอบหมายให้ไปเป็นนักการทูต เขาเป็นสายลับให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่น ควบคุมผู่อี๋ผ่านความกลัว, การขู่และคำสั่งโดยตรง[28] เขาพยายามที่จะสังหารผู่อี๋หลายครั้งตลอดช่วงเวลานั้น รวมทั้งการแทงผู่อี๋โดยคนใช้ของวังในปี 1937[14] ระหว่างที่ผู่อี๋เป็นจักรพรรดิแห่งแมนจูกัว ชีวิตครอบครัวของเขาถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากญี่ปุ่น ซึ่งในตอนนั้นกำลังเพิ่มความเป็นญี่ปุ่นเข้าไปในแมนจูเรีย เพื่อที่จะขัดขวางผู่อี๋ในการประกาศตัวแยกเป็นเอกราช เขาได้ไปเลี้ยงฉลองเป็นเกียรติแก่ตัวเขาเองซึ่งจัดขึ้นโดยประชาชนชาวญี่ปุ่นระหว่างที่เขาได้ไปเยือนที่นั่น แต่เขาก็ยังคงต้องอ่อนน้อมต่อพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ[29] สิ่งนี้ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่า การยอมรับวัฒนธรรมหรือพิธีกรรมจีนโบราณ เช่น การเรียกว่า "ฝ่าบาท" แทนการใช้ชื่อตัว มาจากความสนใจของผู้อี๋เองหรือมาจากการวางข้อกำหนดของญี่ปุ่นซึ่งใช้ในราชวงศ์ญี่ปุ่นอยู่แล้ว

ระหว่างช่วงเวลาเหล่านั้นผู้อี๋มีความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับกฎหมายจีนโบราณและศาสนา[30](เช่นลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธ) แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้รับอนุญาตโดยญี่ปุ่น ผู้สนับสนุนเก่าแก่ของผู่อี๋ถูกกำจัดไปทีละน้อยและเอารัฐมนตรีพวกที่สนับสนุนญี่ปุ่นเข้ามาแทนที่[31] ระหว่างช่วงเวลานี้ชีวิตของผู่อี๋ประกอบไปด้วยการลงนามในกฎหมายที่จัดเตรียมโดยญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่, การสวดมนต์, ปรึกษาโหรและมีกำหนดการเยือนอย่างเป็นทางการไปทั่วประเทศ[14]

ชีวิตช่วงบั้นปลาย (1945–1967)[แก้]

ผู่อี๋ (ขวา) และ นายทหารของสหภาพโซเวียต

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู่อี๋ถูกจับโดยกองทัพแดงของโซเวียตในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ขณะที่จะพยายามจะหลบหนีทางเครื่องบินไปญี่ปุ่น[32] โซเวียตพาเขาไปยังเมืองแถบไซบีเรีย ชิต้า โดยเขาอาศัยอยู่ในสถานพยาบาล ต่อมาเขาถูกย้ายไปยังเมือง ฮาบารอฟสค์ ใกล้กับชายแดนจีน

ในปี 1946 เขาได้ไปให้การเป็นพยานที่ศาลทหารระหว่างประเทศแห่งตะวันออกไกลที่โตเกียว[33] ในรายละเอียดเกี่ยวกับความไม่พอใจของเขาที่ได้รับการปฏิบัติจากญี่ปุ่น

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้เหมา เจ๋อตง เข้ามามีอำนาจในประเทศจีนในปี ค.ศ. 1949 ผู่อี๋ถูกส่งตัวกลับจีนหลังจากการต่อรองกันระหว่างจีนและสหภาพโซเวียต[34][35] ยกเว้นในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อถูกย้ายไปฮาร์บินเขาใช้ชีวิตถึงสิบปีในศูนย์จัดการอาชญากรสงครามในฟู่ฉวนในมณฑลเหลียวหนิงจนกระทั่งเขาประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ผู่อี๋กลับปักกิ่งในปี 1959 โดยได้รับอภัยโทษเป็นพิเศษจากประธานเหมา เจ๋อตง และใช้ชีวิตเฉกเช่นสามัญชนในปักกิ่งกับน้องสาวเป็นเวลาหกเดือนก่อนที่จะย้ายไปยังโรงแรมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล ผู่อี๋บอกว่าจะสนับสนุนและทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์โดยการเป็นคนสวนในสถาบันพฤษศาสตร์ เมื่ออายุ 56 ปี ผู่อี๋ได้แต่งงานกับหลี่ ชูเสียน ซึ่งเป็นพยาบาล เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1962 ต่อมาเขาได้ทำงานเป็นบรรณาธิการแผนกวรรณกรรมที่สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ โดยมีรายได้ 100 หยวน ต่อเดือน[36] และเป็นที่ทำงานที่ผู่อี๋ทำจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ด้วยการได้รับกำลังใจจากประธาน เหมา เจ๋อตงและนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน ผู่อี๋ได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเอง ว๋อ เต๋อ เฉียน ปาน เชิง (จีน: 我的前半生; พินอิน: Wǒ Dè Qián Bàn Shēng; แปลตรงตัว: "ครึ่งหนึ่งของชีวิตข้าพเจ้า"; แปลออกมาเป็นภาษาไทย จากจักรพรรดิสู่สามัญชน) ในทศวรรษที่ 60 พร้อมกับ หลี่ เหวินด้า ซึ่งเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ประชาชนปักกิ่ง ในเวอร์ชันหนังสือของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในบท ข้าพเจ้าปฏิเสธที่จะยอมรับความผิดของข้าพเจ้า เขาทำแถลงการณ์พิจารณาคำให้การของเขาที่การไต่สวนอาชญากรสงครามโตเกียว ความว่า:[37]


ตอนนี้เรารู้สึกละอายใจที่จะให้การว่า เราเก็บเรื่องบางเรื่องที่รู้ไว้เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรับโทษจากประเทศของตน เราไม่ได้หมายถึงที่กล่าวหาว่าเราร่วมมือกับพวกจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ เป็นเวลานาน ไม่ทั้งที่ว่าเรายอมทำตามแต่โดยดีหลังวันที่ 18 กันยายน 1931 แต่กำลังหมายถึงเรื่องที่เรายอมพูดในสิ่งที่พวกญี่ปุ่นกดดันและบังคับเราให้ทำตามที่เขาต้องการต่างหาก
เรายืนยันคำเดิมว่าเราไม่ได้ทรยศชาติเพียงแต่ถูกบังคับตัวไว้ เราไม่ได้ร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้นกับญี่ปุ่น แล้วจดหมายที่เอามาอ้างว่าเราเขียนถึงจิโร มินามิ นั่นก็เป็นของปลอม เราปกปิดความผิดก็เพราะต้องปกป้องตัวเอง[23]

— คำให้การของผู่อี๋

ถึงแก่กรรม[แก้]

เหมา เจ๋อตง เริ่มต้นทำการการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในปี ค.ศ. 1966 โดยกองกำลังเยาวชนกึ่งทหารซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ยุวชนแดง (Red Guard) มองผู่อี๋ว่าเป็นสัญลักษณ์ของจักวรรดิจีน ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่ง่ายในการโจมตี ผู่อี๋อยู่ในสถานที่ภายใต้การคุ้มกันของสำนักรักษาความปลอดภัยท้องถิ่น ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งอาหาร, ค่าตอบแทนและสิ่งของหรูหราอื่น รวมถึงโซฟาและโต๊ะของเขาจะถูกถอดออกไป ทำให้เขาไม่ถูกประจานในที่สาธารณะแบบที่หลายคนถูกกระทำอย่างเป็นธรรมดาสามัญในช่วงเวลานั้น แต่อย่างไรก็ตามผู่อี๋ก็เข้าสู่ช่วงวัยชราและมีสุขภาพย่ำแย่ลง ผู่อี๋ถึงได้ถึงแก่กรรมอย่างสามัญชนในกรุงปักกิ่งด้วยโรคมะเร็งในไตและโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1967 ขณะมีอายุได้ 61 ปี[38]

ตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลานั้น ร่างของผู่อี๋ต้องทำพิธีเผา ในตอนแรกอัฐิของผู่อี๋บรรจุไว้ที่สุสานปฏิวัติปาเป่าซานเคียงข้างกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนและบุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงของประเทศ (สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสุสานของเหล่าสนมและขันทีก่อนมีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน)

ในปี ค.ศ. 1995 เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเชิงพาณิชย์ ภรรยาม่ายของผู่อี๋ได้ย้ายอัฐิของเขาไปยังสุสานที่ตั้งขึ้นในเชิงพาณิชย์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนทางด้านการเงิน สุสานตั้งอยู่ใกล้กับสุสานราชวงศ์ชิงตะวันออก ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้ใต้ 120 กิโลเมตร ซึ่งมีจักรพรรดิของราชวงศ์ชิงฝังอยู่ 4 พระองค์ และจักรพรรดินี 3 พระองค์ เจ้าชายและเจ้าหญิงรวมถึงสนมอีก 69 พระองค์[39]

ค​ร​อ​บ​ครัวและภรรยา[แก้]

ผู่อี๋กับพระนางวั่นหรง
  • ผู่อี๋มีพี่น้องทั้งร่วมบิดามารดาและร่วมบิดาเดียวกัน 10 คน มีอยู่ 2 คนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีนและราชวงศ์ชิง
  • พระจักรพรรดินี (皇后 ฮองเฮา)
  • พระราชเทวี (貴妃 กุ้ยเฟย)
    • หมิงเสียนกุ้ยเฟย (明賢貴妃) หรือ ถาน อวี้หลิง (譚玉齡) อภิเษกสมรสในปี 1937 สวรรคตในปี 1942
  • พระราชเทวี (妃 เฟย)
    • ซูเฟย (淑妃) หรือ เหวิน ซิ่ว (文繡) อภิเษกสมรสในปี 1922 และหย่าในปี 1931
  • สนมขั้นกุ้ยเหริน (貴人)
    • สนมฝูกุ้ยเหริน (福貴人) หรือ หลี่ อวี้ฉิน (李玉琴) อภิเษกสมรสในปี 1943 และหย่าในปี 1958
  • หลี่ ชูเสียน (李淑賢) สมรสในปี 1962 สถาปนาเป็น“เซี่ยวรุ่ยหมิ่นฮองเฮา”

(ผู้อ้างสิทธิ์ในตำแหน่งจักรพรรดินีจีน)

ฐานันดรศักดิ์และพระบรมราชอิสริยยศ[แก้]

  • ค.ศ. 1906 – 1908: เจ้าชายผู่อี๋
  • ค.ศ. 1908 – 1912: สมเด็จพระจักรพรรดิเซฺวียนถ่งแห่งต้าชิง
  • ค.ศ. 1912 – 1934: จักรพรรดิผู่อี๋ (พระยศแต่ในนาม)
  • ค.ศ. 1934 – 1945: สมเด็จพระจักรพรรดิคังเต๋อแห่งแมนจู
  • ค.ศ. 1945 – 1967: นายผู่อี๋ อ้ายซินเจว๋หลัว

ราชตระกูล[แก้]

การนำเสนอในสื่อ[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

  • The Last Emperor (Chinese title 火龍, literally means Fire Dragon), ภาพยนตร์ฮ่องกงในปี 1985 กำกับโดย Li Han-hsiang ผู้รับบทจักรพรรดิผู่อี๋คือ Tony Leung Ka-fai
  • จักรพรรดิโลกไม่ลืม, ภาพยนตร์ชีวประวัติของจักรพรรดิผู่อี๋ในปี 1987 กำกับโดย แบร์นาโด แบร์โตลุชชี ซุน หลง รับบทเป็นจักรพรรดิผู่อี๋ในวัยผู้ใหญ่
  • Aisin-Gioro Puyi (愛新覺羅·溥儀), ภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติของจักรพรรดิผู่อี๋ในปี 2005 ผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี โดยเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ 10 บุคคลในประวัติศาสตร์
  • The Founding of a Party, a 2011 Chinese film directed by Huang Jianxin and Han Sanping. Child actor Yan Ruihan played Puyi.
  • 1911 ใหญ่ผ่าใหญ่, ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในปี 2011 กำกับโดยเฉินหลงและจาง ลี่ ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องการก่อตั้งสาธารณรัฐจีนในช่วงที่ซุน ยัดเซ็น ได้ก่อการปฏิวัติซินไฮ่เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง จักรพรรดิผู่อี๋ในวัย 5 พรรษารับบทโดยนักแสดงเด็ก Su Hanye แม้จักรพรรดิผู่อี๋จะปรากฏตัวในภาพยนตร์เพียงช่วงสั้น ๆ แต่ก็เป็นฉากสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าจักรพรรดิทรงได้รับการปฏิบัติจากราชสำนักอย่างไรก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติเมื่อทรงมีพระชนม์ได้ 6 พรรษา[40]

ละครโทรทัศน์[แก้]

  • The Misadventure of Zoo, a 1981 Hong Kong television series produced by TVB. Adam Cheng played an adult Puyi.
  • Modai Huangdi (末代皇帝; literally means The Last Emperor), a 1988 Chinese television series based on Puyi's autobiography From Emperor to Citizen, with Puyi's brother Pujie as a consultant for the series. Chen Daoming starred as Puyi.
  • Feichang Gongmin (非常公民; literally means Extraordinary Citizen), a 2002 Chinese television series directed by Cheng Hao. Dayo Wong starred as Puyi.
  • Ruten no Ōhi — Saigo no Kōtei (流転の王妃·最後の皇弟; Chinese title 流轉的王妃), a 2003 Japanese television series about Pujie and Hiro Saga. Wang Bozhao played Puyi.
  • Modai Huangfei (末代皇妃; literally means The Last Imperial Consort), a 2003 Chinese television series. Li Yapeng played Puyi.
  • จักรพรรดิโลกไม่ลืม (末代皇帝传奇; ความหมายตามตัว ตำนานปัจฉิมจักรพรรดิ), ละครโทรทัศน์ร่วมทุนสร้างของฮ่องกงและประเทศจีนในปีค.ศ. 2014 ความยาว 59 ตอนตอนละ 45 นาที นำแสดงโดย จ้าว เหว่ยเซียน

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในระหว่างวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 1917 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 ในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์แมนจู ผู่อี๋กลับขึ้นสู่ราชสมบัติอีกครั้งและประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ด้วยการสนับสนุนจากจาง ซวิน ผู้ประกาศตนเป็นอัครมหาเสนาบดี อย่างไรก็ตาม การประกาศตนเองของผู่อี๋และจางไม่เคยได้รับการยอมรับทั้งจากสาธารณรัฐจีน (ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาลจีนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียว), ประชาชนจีนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่นานาประเทศ
  2. พระราชลัญจกรประจำจักรพรรดิคังเต๋อ
  3. จีน: 溥儀
    ชื่อรอง: เย่าจี (曜之)

อ้างอิง[แก้]

  1. Wen, Yuan-ning (2018). "Emperor Malgre Lui" (Feb. 8, 1934), in Imperfect Understanding: Intimate Portraits of Modern Chinese Celebrities. Cambria Press. p. 117.
  2. 2.0 2.1 Rawski, Evelyn S (2001). The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institutions. University of California Press. p. 287,136. ISBN 978-0-520-22837-5.
  3. "Xianfeng Emperor". Cultural China. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-01. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  4. "Tongzhi Emperor". Cultural China. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-07. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  5. 5.0 5.1 Joseph, William A (2010). Politics in China: An Introduction. Oxford University Press, USA. p. 45. ISBN 978-0-19-533531-6.
  6. "The Vicissitudes of Prince Chun's Mansion". The Australian National University China Heritage Project. 12 December 2007. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  7. Vandergrift, Kate. "Meeting the Last Emperor's Brother". Society for Anglo-Chinese Understanding. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-13. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  8. "Pu Jie, 87, Dies, Ending Dynasty Of the Manchus". New York Times. 2 March 1994. สืบค้นเมื่อ 2008-04-27. Pu Jie, the younger brother of the last Emperor of China, died on Monday in Beijing. He was 87.
  9. Xiao Guo (18 July 2006). "Socialist Laws Protect Feudal Emperor's Rights". China Daily.
  10. Pu Yi 1988, p 425
  11. "溥雪斋(1893~1966 ):古琴演奏家。出生在清代皇族家庭。". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2012-04-24.
  12. Crossley, Pamela Kyle (1991). Orphan Warriors. Princeton University Press. pp. 31–46. ISBN 978-0-691-00877-6.
  13. Pu Yi. 1988, p. 113
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 Blakeney, Ben Bruce (19 July 1945). "Henry Pu Yi". Life Magazine: 78–86.
  15. Behr, Edward (1998). The Last Emperor. Futura. pp. 63, 80. ISBN 978-0-7088-3439-8.
  16. Pu Yi 1988, pp 70-76
  17. Rhoads, Edward J M (2001). Manchus & Han: Ethnic Relations and Political Power in Late Qing and Early Republican China, 1861-1928. University of Washington Press. pp. 226, 227. ISBN 978-0-295-98040-9.
  18. Luzzatti, Luigi (2010). God in Freedom: Studies in the Relations Between Church and State. Kessinger Publishing, LLC. pp. 423, 424. ISBN 978-1-161-41509-4. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  19. Hutchings, Graham (2003). Modern China: A Guide to a Century of Change. Harvard University Press. p. 346. ISBN 978-0-674-01240-0.
  20. Stone of Heaven, Levy, Scott-Clark p 184
  21. Bangsbo, Jens; Reilly, Thomas; Williams, A. Mark (1996). Science and Football III. Taylor & Francis. p. 272. ISBN 978-0-419-22160-9.
  22. Rogaski, Ruth (2004). Hygienic Modernity: Meanings of Health and Disease in Treaty-Port China. University of California Press. p. 262. ISBN 978-0-520-24001-8.
  23. 23.0 23.1 Yamasaki, Tokoyo (2007). Two Homelands. University of Hawaii Press. pp. 487–495. ISBN 978-0-8248-2944-5. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  24. Pu Yi 1988, p 275
  25. Pu Yi 1988, p 276
  26. Pu Yi 1988, p 288-290
  27. "Yasunori Yoshioka, Lieutenant-General (1890–1947)". The Generals of WWII — Generals from Japan. Steen Ammentorp, Librarian DB., M.L.I.Sc. สืบค้นเมื่อ 17 August 2010.
  28. Pu Yi 1988, p 284-320
  29. Pu Yi 1988, p 281
  30. Pu Yi 1988, p 307
  31. Pu Yi 1988, p 298
  32. Mydans, Seth (11 June 1997). "Li Shuxian, 73, Widow of Last China Emperor". The New York Times.
  33. "Former Manchurian Puppet". The Miami News. 16 August 1946.
  34. "Russia Giving Puyi to China". The Milwaukee Journal. 27 March 1946.
  35. Lancashire, David (30 December 1956). "Last Manchu Ruler Grateful to Jailers". Eugene Register-Guard.
  36. Schram, Stuart (1989). The Thought of Mao Tse-Tung. Cambridge University Press. p. 170. ISBN 978-0-521-31062-8.
  37. Pu Yi (1988). "I Refuse To Admit My Guilt". From Emperor to Citizen: The Autobiography of Aisin-Gioro Pu Yi. Oxford University Press, USA. pp. 329, 330. ISBN 978-0-19-282099-0. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  38. "Pu Yi, Last Emperor of China And a Puppet for Japan, Dies. Enthroned at 2, Turned Out at 6, He Was Later a Captive of Russians and Peking Reds". Associated Press in New York Times. 19 October 1967. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21. Henry Pu Yi, last Manchu emperor of China and Japan's puppet emperor of Manchukuo, died yesterday in Peking of complications resulting from cancer, a Japanese newspaper reported today. He was 61 years old.
  39. Courtauld, Caroline; Holdsworth, May; Spence, Jonathan (2008). Forbidden City: The Great Within. Odyssey. p. 132. ISBN 978-962-217-792-5.
  40. "1911 Movie at IMDB".


ก่อนหน้า ผู่อี๋ ถัดไป
จักรพรรดิกวังซวี่
จักรพรรดิจีน
(ค.ศ. 1908 - 1912)
ไม่มี; สิ้นสุดระบอบจักรพรรดิ
ไม่มี; ทรงเป็นองค์แรก
จักรพรรดิแห่งแมนจู
(ค.ศ. 1932 - 1945)
ไม่มี; ประเทศแมนจูล่มสลาย
ผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์จีน
(ค.ศ. 1912 - 1967)
องค์ชายผู่เจี๋ย