จักรพรรดินีวั่นหรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดินีวั่นหรง
จักรพรรดินีแห่งแมนจูกัว
ดำรงพระยศพ.ศ. 2477 – พ.ศ. 2488
ถัดไปฮิโระ ซางะ
จักรพรรดินีจีน
ดำรงพระยศพ.ศ. 2465 – พ.ศ. 2467
ก่อนหน้าจักรพรรดินีหลงยฺวี่
ถัดไปฮิโระ ซางะ
พระราชสมภพ13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449
สวรรคต20 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (39 พรรษา)
พระราชสวามีจักรพรรดิผู่อี๋
ราชวงศ์ชิง
พระราชบิดาหร่ง หยวน

จักรพรรดินีเสี้ยวเค่อหมิ่น (จีน: 孝恪愍; พินอิน: xiàokèmǐn) หรือ จักรพรรดินีหว่านหรง หรือพระนามลำลองว่า หว่านจิง (จีน: 婉容; พินอิน: wǎnróng; เวด-ไจลส์: wan-jung) หรือพระนามแรกประสูติว่า โกวปู้โลว หว่านหรง (จีน: 郭布羅·婉容; พินอิน: guōbùluō·wǎnróng) (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2489) เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์สุดท้ายของประเทศจีนด้วยเป็นสมเด็จพระมเหสีในผู่อี๋ฮ่องเต้ สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจีน จักรพรรดินีหว่านหรงทรงสืบเชื้อสายจากวงศ์สกุลด๋าหว่อ (Daur People) จากมองโกเลียลึกตั้งแต่ครั้งโบราณกาล สมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงนั้นต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งแมนจูกัว (หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ "จักรวรรดิแมนจูกัว")

สมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงกับฉลองพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดินีแบบแมนจู

พระราชประวัติ[แก้]

โกวปู้โลว วั่นหรง (มีความหมายว่า ผู้มีใบหน้าอันเลอโฉม) เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหร่ง หยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในสมัยราชวงศ์ชิง และเป็นบุคคลผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในสมัยแมนจูกัวอีกด้วย พระองค์จึงมาจากตระกูลที่ร่ำรวยและโดดเด่นที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์ต้าชิง พระองค์เสด็จพระราชสมภพในบ้านของพระราชบิดา ณ บ้านเลขที่ 37 ถนนเม่าเอ๋อ หูท่ง ซอยทิศใต้หลัวกู่ เขตตงเฉง เมืองปักกิ่ง (No. 37, Maoer hutong, South Luogu Lane, Dongcheng District, Beijing) เนื่องจากพระราชบิดาเป็นผู้มีความคิดสมัยใหม่ที่จะให้เหล่าธิดาได้มีการศึกษา พระองค์จึงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมิชชั่นนารีของอเมริกันในเมืองเทียนสินและในระหว่างช่วงเวลาในพระราชวังต้องห้าม โดยอิซาเบล อินแกรม (Isabel Ingram) ผู้สอนส่วนพระองค์ชาวอเมริกันถวายพระนามเป็นภาษาอังกฤษแด่พระองค์ว่า อลิซาเบธ[1]

อภิเษกสมรส[แก้]

เมื่อจักรพรรดิผู่อี๋มีพระชนมายุครบ 16 พรรษา วั่นหรงได้ถูกเลือกจากพระสนมผู้ใหญ่ในวังโดยมีการคัดเลือกสตรีจากตระกูลมั่งคั่งหลายคนเป็นภาพส่งไปถวายจักรพรรดิผู่อี๋ ซึ่งเป็นจักรพรรดิที่ไม่มีพระราชอำนาจแต่ยังได้สิทธิ์ในการดำรงพระอิสริยศและพำนักอยู่ในพระราชวังต้องห้ามจักรพรรดิผู่อี๋ไม่ทรงทราบว่าจะทรงเลือกใครเพราะพระองค์ไม่ทรงสามารถแยกหน้าตาของสตรีในภาพออก พระองค์จึงทรงเลือกเหวินซิ่ว แต่พระสนมในวังกลับไม่พอใจในการตัดสินพระทัย พระสนมเก่าจึงจัดการประชุมขึ้นในวัง สุดท้ายจักรพรรดิผู่อี๋จึงต้องทรงยอมเลือกวั่นหรง เพราะวั่นหรงหน้าตาดีกว่าและมาจากตระกูลที่มั่งคั่งร่ำรวยกว่าจึงเหมาะสมกับตำแหน่งจักรพรรดินีมากกว่าเหวินซิ่ว วั่นหรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิผู่อี๋ ทั้งสองพระชนมายุเท่ากัน เหวินซิ่วที่มาอยู่ในพระราชวังต้องห้ามก่อนแล้วได้ต้อนรับวั่นหรง การอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในเวลา 3.00 นาฬิกา ของวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 การอภิเษกสมรสไม่ได้ราบรื่นนัก เมื่อจักรพรรดิผู่อี๋ทรงสนพระทัยพระชายาในคืนสมรสอย่างน้อยนิด มีบันทึกว่าจักรพรรดิผู่อี๋ได้กลับไปบรรทมโดยไม่ได้ทรงมีอะไรกันกับพระชายาเลย ในพิธีอภิเษกสมรสมีของขวัญราคาแพงจำนวนมากที่มอบให้แก่จักรพรรดินีวั่นหรงและครอบครัวของจักรพรรดินี แม้จักรพรรดิจะไม่เคยแสดงความสนพระทัยจักรพรรดินีและพระสนมเหวินซิ่วเลยก็ตาม

ภาพของวั่นหรงที่ถูกส่งไปถวายจักรพรรดิผู่อี๋
จักรพรรดินีวั่นหรง(ประทับนั่งกลาง)พร้อมพระสหาย

พระชนม์ชีพในพระราชวังต้องห้าม[แก้]

ทั้งจักรพรรดิผู่อี๋และจักรพรรดินีวั่นหรงต่างก็ไม่มีพระทายาทเลย นักประวัติศาสตร์บางคนได้กล่าวว่าทั้งสองพระองค์ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กันเลยตลอดเวลาที่ทรงอยู่ด้วยกัน บ้างก็ว่าเกิดจากการที่จักรพรรดิผู่อี๋เป็นหมัน บ้างก็ว่าจักรพรรดิผู่อี๋โปรดการมีเพศสัมพันธ์กับเหล่ามหาดเล็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการยากยิ่งที่จะอภิปรายกันไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม

จักรพรรดินีวั่นหรงทรงเริ่มติดฝิ่นตั้งแต่พระองค์ยังเป็นวัยรุ่น ตามบันทึกของจักรพรรดิผู่อี๋ ซึ่งแฟชั่นของวัยรุ่นในสมัยนั้นคือการสูบซิการ์และฝิ่นวันละหน่อยทำให้ลืมความเจ็บปวดได้

พระชนม์ชีพของจักรพรรดินีวั่นหรงในพระราชวังต้องห้ามมักจะเป็นพระราชกิจวัตรเกี่ยวกับพระพิธีกรรมและพระราชพิธีอยู่บ่อย ๆ พระองค์ทรงประทับอยู่ดึกเพื่อติวหนังสือกับอิซาเบล อินแกรม พระอาจารย์ชาวต่างชาติ เป็นเวลาถึง 2.00 นาฬิกาในทุก ๆ วัน จักรพรรดิผู่อี๋มักจะขัดจังหวะการเรียนของจักรพรรดินีด้วยการทรงพระดำเนินเข้าไปทอดพระเนตรว่าจักรพรรดินีกำลังทรงทำอะไรอยู่ ทรงเล่นมุขและโทรศัพท์หาจักรพรรดินีอยู่บ่อย ๆ ถึงแม้ว่าจักรพรรดินีจะถูกขัดจังหวะบ้าง แต่พระองค์ก็ยังคงเป็นนักเรียนเรียนดีและบ่อยครั้งที่จะทำให้พระอาจารย์ประทับใจในความฉลาดของพระองค์

พระสหายและพระญาติของพระองค์มักมาเยี่ยมเยีอนพระองค์อยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกันกับการที่พระองค์ทรงใช้เวลากับจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดินีโปรดการอ่านนิยายโรแมนติกและนิยายลึกลับ โปรดเล่นเปียโน โปรดการอ่านและเขียนเป็นภาษาอังกฤษ โปรดสุนัข โปรดการถอดคำประพันธ์ยุคราชวงศ์ถังด้วยพระองค์เอง และโปรดการฉายพระฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถทั้งสมัยใหม่และเป็นทางการแบบจีนเป็นอย่างมาก

จักรพรรดินี (ประทับนั่ง) เรจินอล จอนห์สตัน (ซ้าย) และอิซาเบล อินแกรม (ขวา)

การย้ายออกจากพระราชวังต้องห้าม[แก้]

หลังจากที่จักรพรรดิผู่อี๋ถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามโดยขุนศึกเฟิง ยู่เสียง ในปี พ.ศ. 2467 ทั้งจักรพรรดิผู่อี๋และจักรพรรดินีวั่นหรงก็ได้ทรงหลบหนีเข้าไปพำนักอยู่ในเขตปกครองของญี่ปุ่นที่เทียนจิน และความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ก็เริ่มร้าวฉานขึ้น

จักรพรรดินีวั่นหรงและจักรพรรดิผู่อี๋ที่เมืองเทียนจิน

สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งแมนจูกัว[แก้]

ด้วยความหวังที่จะฟื้นฟูราชวงศ์ชิงของจักรพรรดิผู่อี๋ เนื่องจากกองทัพของเจียงไคเช็กได้เข้าบุกรุกและทำลายสุสานบรรพบุรุษของราชวงศ์ชิงรวมทั้งทำลายสุสานและพระศพของพระนางซูสีไทเฮาและยังได้ขโมยไข่มุกดำและพระมาลาของพระนางซูสีไทเฮาไปทำเป็นรองเท้าให้เป็นของขวัญกับภรรยาของเจียงไคเช็ก จึงทำให้จักรพรรดิผู่อี๋พิโรธเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงยอมรับข้อเสนอของญี่ปุ่นในการเป็นประมุขของรัฐ (หุ่นเชิด) แมนจูกัว และย้ายที่ประทับไปอยู่ที่เมืองฉางชุน และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น "ซิงกิง" ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 ทั้งจักรพรรดิผู่อี๋และจักรพรรดินีวั่นหรงก็ได้เข้าไปประทับที่พระราชวังแบบรัสเซีย ทั้งสองพระองค์ต่างใช้พระชนม์ชีพอย่างสงบสุขและทรงพอพระทัยกับพระชนม์ชีพและการออกงานสังคมสมัยใหม่มาก

ขณะพำนักที่เทียนสินจักรพรรดินีวั่นหรงทรงใช้พระนามว่า "เอลิซาเบธ" และจักรพรรดิผู่อี๋ทรงใช้พระนามแบบตะวันตกว่า "เฮนรี่" จักรพรรดิทรงใช้เวลาร่วมกับจักรพรรดินีมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ก็เข้าสู่จุดตึงเครียด เมื่อในที่สุดพระสนมเหวินซิ่วขอร้องให้จักรพรรดิทรงหย่ากับเธอในปี พ.ศ. 2474จักรพรรดิทรงดุด่าว่ากล่าวจักรพรรดินีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าพระสนมเหวินซิ่วถูกบังคับโดยจักรพรรดินีให้หย่ากับจักรพรรดิจริงหรือไม่ มีหลายทฤษฎีว่าพระสนมเหวินซิ่วเบื่อหน่ายกับชีวิตที่ไร้ความสุขของตัวเธอเอง พระสนมเหวินซิ่วต้องการความรักมากกว่าความมั่งคั่งในยศและทรัพย์สิน เธอจึงได้ขอให้หย่า หลังจากการหย่าพระสนมเหวินซิ่วก็ไม่ได้กลับมาหาอดีตสามีอีกเลย

จักรพรรดินีโปรดการสูบยาสูบ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาทั่วไปของผู้หญิงจีนในสมัยนั้น พระองค์ทรงผสมยาสูบกับฝิ่นในปริมาณน้อยเพื่อเป็นการผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามพระองค์เป็นนักสูบตัวยง ประกอบกับการที่พระราชสวามีไม่ทรงสนพระทัยพระองค์ และการใช้พระชนม์ชีพอยู่อย่างอ้างว้างของพระองค์ ต่อมาจักรพรรดิและจักรพรรดินีจึงทรงแยกห้องบรรทม นาน ๆ ครั้งจึงจะเสด็จออกมาเสวยพระกระยาหารพร้อมกัน จักรพรรดินีตระหนักว่าพระราชสวามีของพระองค์เป็นเพียงจักรพรรดิหุ่นเชิดเท่านั้น ไม่มีอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น

ความล้มเหลวในชีวิตคู่[แก้]

มีข่าวลือในปี พ.ศ. 2483 ว่าจักรพรรดินีวั่นหรงทรงตั้งพระครรภ์กับมหาดเล็กรับใช้ของพระองค์ซึ่งเป็นคนขับรถและยังเป็นผู้หาฝิ่นมาให้พระองค์อีกด้วย จักรพรรดิผู่อี๋สามารสั่งประหารก็ได้แต่ไม่ทรงทำ เพียงแต่ทรงเนรเทศคนขับรถคนนั้นออกไป พอจักรพรรดินีให้กำเนิดทารกเพศหญิงขึ้นมา แพทย์ทำคลอดชาวญี่ปุ่นได้ฉีดยาให้เด็กคนนั้นเสียชีวิตทันทีที่เกิด แต่ในบันทึกของจักรพรรดิกล่าวว่าจักรพรรดิทรงฆ่าเด็กคนนั้นด้วยการทรงโยนใส่เตาไฟ ซึ่งจักรพรรดิทรงบันทึกสิ่งเหล่านี้ลงในหนังสือพระราชประวัติของพระองค์ แต่ข้อความถูกลบก่อนหนังสือจะถูกตีพิมพ์ หลังจากนั้นจักรพรรดินีก็ทรงติดฝิ่นอย่างหนัก โดยสูบฝิ่นถึงวันละ 2 ออนซ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2481 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 โดยเอ็ดเวิร์ด เบอฮ์ (Edward Behr) แพทย์กล่าวว่าจักรพรรดินีทรงสูบฝิ่นตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเต็มไปกว่า 740 ออนซ์

เนื่องจากทรงติดฝิ่นอย่างหนัก พระองค์เริ่มมีพระอาการวิกลจริต ไม่เสด็จไปร่วมงานวันเกิดหรือแม้กระทั่งงานเลี้ยงวันปีใหม่ และความสัมพันธ์กับจักรพรรดิได้หยุดลงเมื่อพระราชบิดาของจักรพรรดินีไม่มาเยี่ยมจักรพรรดินีที่แมนจูกัวอีกเลย เนื่องจากรับไม่ได้ที่ลูกสาวเปลี่ยนไป มีเรื่องเล่าว่าในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำครั้งหนึ่ง จักรพรรดินีเสวยพระกระยาหารตะวันตกอย่างมูมมาม ทำให้เป็นที่สะอิดสะเอียนของแขกทั้งหลายผู้มาร่วมงาน

จักรพรรดิอ้างว่าพระชายาทรงงมงายกับความเชื่อในโชคชะตา และหากทรงเจอกับอะไรที่เป็นโชคร้าย จักรพรรดินีจะทรงกระพริบพระเนตรหรือทรงพระดำเนินหนี จักรพรรดิอ้างว่าจักรพรรดินีมีพระอาการวิตกอย่างหนักเหมือนผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิต จักรพรรดิทรงให้รายละเอียดอีกว่า "นางไม่เคยบอกข้าพเจ้าถึงความรู้สึก ความหวัง และความเศร้าโศกเสียใจของนางให้กับข้าพเจ้าเลยแม้แต่น้อย" จักรพรรดิทรงทราบว่าพระชายากำลังทรงติดฝิ่นอย่างหนักและจักรพรรดิทรงไม่สามารถยอมรับและอดทนได้อีกต่อไป

จักรพรรดินี ณ พระราชวังต้องห้าม
คะวะชิมะ โยะชิโกะ หรือ อ้ายซินเจว๋หลัว เสียนยฺหวี่ เจ้าหญิงเชื้อสายราชวงศ์แมนจู ที่ทำงานให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น

จากบันทึกของสายลับญี่ปุ่น คะวะชิมะ โยะชิโกะ (川岛芳子, Kawashima Yoshiko) หรือในชื่อรองที่รู้จักกันดีว่า 'ตงเจิน' (東珍, Eastern Jewel - มณีบูรพา) ระบุว่า จักรพรรดินีทรงเกลียดแมนจูกัวและรัฐบาลญี่ปุ่นมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและพระองค์ตกอยู่ในสภาวะจิตใจตกต่ำ พระพลานามัยอ่อนแอลง และที่สำคัญที่สุดคือความรักของพระองค์ที่ต้องจบลงอย่างน่าเศร้าจากความเย็นชามากเกินไปของพระราชสวามี

สืบเนื่องมาจากการที่จักรพรรดิไม่ทรงเอาพระทัยใส่พระชายา ต่อมาไม่นานจักรพรรดิจึงอภิเษกสมรสกับถัน อวี้หลิง นักเรียนวัย 16 ปี ในปี พ.ศ. 2480 โดยถัน อวี้หลิง ไปรับตำแหน่งแทนที่พระสนมเหวินซิ่ว พระองค์ทรงเรียกถัน อวี้หลิง ว่า 'เป็นการทำโทษแก่วั่นจิง' แต่จักรพรรดิไม่ทรงมองพระสนมถัน อวี้หลิง เป็นภรรยา กลับมองว่าเธอเป็นเพียงของประดับชิ้นหนึ่ง พระองค์ได้ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า "นางเป็นแค่สนมในนามนำหน้าเท่านั้น ข้าพเจ้าประสงค์จะเก็บนางไว้เหมือนนกที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรง จนกระทั่งนางได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2485" เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ถูกเชื่อโดยองค์หญิงซะงะ ฮิโระว่าจักรพรรดิโปรดการเล่นสวาทกับผู้ชายด้วยกันเอง และมีมหาดเล็กซึ่งเป็นชายรักชาย (Bisexual) อยู่ด้วย โปรดการมีเพศสัมพันธ์แบบนี้อยู่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

จักรพรรดิทรงอยากทราบความเป็นจริงอย่างยิ่งว่าเหตุใดจึงทำให้จักรพรรดินียังทรงอดทนอยู่ต่อ แม้ทรงถูกละเลยมาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่น่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงจีนสมัยใหม่ และยังทรงสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากจักรพรรดินีทรงขอหย่ากับพระองค์ จักรพรรดิยังคงเชื่อว่าสาเหตุที่อดีตพระสนมเหวินซิ่วขอหย่ากับพระองค์เป็นเพราะเธอมองเห็นว่าความรักและการดูแลเอาใจใส่สำคัญมากกว่าเงินทองและยศฐาบรรดาศักดิ์ ทรงคิดว่านั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้จักรพรรดินียังประทับอยู่กับพระองค์ เพื่อเพียงได้อยู่ในนามของจักรพรรดินีเท่านั้น

ในขณะที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2488 สหภาพโซเวียตก็ได้บุกเข้ามายึดแมนจูกัว จักรพรรดิทรงพยายามหลบหนีจากแมนจูกัวทางเครื่องบิน และทรงทิ้งจักรพรรดินีไว้ ส่วนพระญาติในราชวงศ์ก็พยายามที่จะหลบหนีทหารโซเวียตด้วยเช่นกัน

จักรพรรดินีหว่านหรงและองค์หญิงซะงะ ฮิโระ และสมาชิกคนอื่น ๆ ถูกจับในขณะที่พยายามที่จะหลบหนีเข้าชายแดนเกาหลี ซึ่งจุดหมายปลายทางคือญี่ปุ่น โดยทหารโซเวียต ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489

บั้นปลายชีวิตของจักรพรรดินีหว่านหรง[แก้]

จักรพรรดินีหว่านหรง

ในยุคบั้นปลายชีวิตของจักรพรรดินีหว่านหรง ครั้งสุดท้ายที่สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ได้เห็นสมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงคือที่แมนจูกัว ตอนที่พระองค์กำลังขึ้นเครื่องบินเพื่อหลบหนีไปที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเครื่องบินมีขนาดเล็ก ผู่อี๋เลือกเฉพาะผู่เจี๋ยผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ พระนัดดาชาย 3 องค์ และหมอหนึ่งคนให้ไปกับพระองค์ พระองค์ทรงเลือกเฉพาะคนที่สำคัญกับอาณาจักรใหม่ของพระองค์เท่านั้น สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ทรงมีแนวโน้มที่จะรักษาชีวิตของพระองค์เองมากกว่าคนอื่น ๆ ในพระราชวงศ์ บางข้อมูลกล่าวว่าพระองค์ทรงมีความคิดว่าทหารจะประนีประนอมกับนักคุมขังเพศหญิงมากกว่าเพศชาย พระองค์จึงเห็นสมควรว่า พระนางหว่านหรงและพระสนมจะไม่ต้องมาระเหเร่ร่อนกับพระองค์ พระองค์จึงปล่อยพระนางเดินทางด้วยรถไฟ แต่แผนหลบหนีของพระองค์ก็ทรงล้มเหลวโดยกองพันทหารของโซเวียตเป็นผู้บุกมาจับกุมเองระหว่างที่กำลังเตรียมการนำเครื่องบินหลบหนีของพระองค์ขึ้น

สมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงเป็นที่อยากรู้อยากเห็นอย่างมากกับสายตาของสาธารณชนที่ตั้งใจมาดูพระนางในห้องคุมขังที่คุกในหยานจิ พระนางทรงหมดสติบนพื้นที่มีแต่กองพระบังคนเบาและพระอาเจียนของพระนางหว่านหรงเอง ทำให้เป็นที่น่าหดหู่กับผู้ที่มาพบเห็นเป็นอย่างมาก บ่อยครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงจะตะโกนออกคำสั่งผู้คุมห้องคุมขังเหมือนสมัยที่พระนางยังพำนักอยู่ที่พระราชวังต้องห้ามเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พวกผู้คุมจะหัวเราะทุกครั้งที่พระนางแสดงพระอิริยาบถเหมือนสมัยที่ยังอยู่พำนักในพระราชวังต้องห้าม หว่านหรงทรงมีเจ้าหญิงซะงะ ฮิโระและพระราชธิดาคอยดูแลสรงน้ำให้กับพระนางหว่านหรงผู้กำลังจะสิ้นพระทัยขณะที่ยังทรงถูกขังอยู่ด้วยกันในห้องคุมขัง จนกระทั่งเจ้าหญิงซะงะ ฮิโระะและพระราชธิดา ได้ทรงถูกย้ายออกจากคุก ทรงเหลือแต่เพียงสมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงอยู่พระนางเดียวในคุกอย่างสิ้นหวังและเดียวดาย

สมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงเสด็จสวรรคตในคุกที่เมืองหยานจิน ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพราะพระอาการข้างเคียงที่มาจากที่พระองค์ทรงพยายามเลิกฝิ่น ด้วยพระชนมายุเพียง 39 พรรษา พระบรมศพถูกเผาในสุสานของคุกที่เมืองหยานจิน เป็นงานศพที่เรียบง่ายและไม่สมกับพระอิสริยยศของจักรพรรดินี โดยที่สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ทราบข่าวของหว่านหรงในอีก 3 ปีต่อมาขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋เองก็ยังทรงถูกคุมขังอยู่ในคุก จากคำพูดของสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋เองว่า "ทางของเราแยกจากกันตอนที่ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้ การเสพติดฝิ่นของเธอหนักมากและร่างกายของเธอได้อ่อนแอลงไปอย่างมาก เธอตายในอีกไม่กี่ปีต่อมาในคุกที่หยานจิน"

แต่สิ่งที่น่าสนใจจริง ๆ คือคำพูดในบันทึกของสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ "ข้าพเจ้าได้สมรสกับภรรยาสี่คน มเหสีหนึ่งคน สนมเอกหนึ่งคน และสนมรองอีกสองคน แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเธอไม่ได้เป็นภรรยาจริงของข้าพเจ้า พวกเธอมีไว้เพื่อประดับหน้าเท่านั้น พวกเธอทั้งหมดเป็นผู้โชคร้ายของข้าพเจ้า...ถ้าโชคชะตาของพวกเธอไม่ได้มาพร้อมกับการเกิดของพวกเธอ บั้นปลายชีวิตของพวกเธอคงจะไม่ได้เป็นเช่นนี้" เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าข้อมูลส่วนนี้ได้ถูกผู้อื่นแต่งเติมลงไปหรือไม่ อย่างไรก็ดีก็เป็นข้อความที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ข้อมูลจากในประเทศจีน[แก้]

เป็นการยากที่จะอธิบายได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์นั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร บ้างก็หาว่าสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋เป็นเกย์บ้าง เป็นหมันบ้าง เห็นภรรยาสตรีทุกคนเป็นเพียงเครื่องมือบ้าง แต่ว่ามีนักวิชาการหลายรวมทั้งโกวปู้โลว หลั่นเคี๋ยวพระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงคนแย้งว่าหนังสือบันทึกของหมอ เอ็ดเวิร์ด เบอฮ์ และจากภาพยนตร์ The Last Emperor นั้นถูกบิดเบือนความจริงเป็นอย่างมาก หลักฐานทั้งสองนั้นอยู่บนพื้นฐานของบันทึกสารภาพของผู่อี๋ซึ่งเป็นบันทึกสารภาพที่ผู่อี๋ถูกบังคับให้เขียนขึ้นในคุกนักโทษทางการเมืองเพื่อที่จะให้ผู่อี๋ได้มีโอกาสกลับตัวกลับใจและถูกปล่อยตัวเป็นอิสระจากคุก หลังจากนั้นบันทึกสารภาพเหล่านี้ก็ได้ถูกนำไปเป็นโฆษณาชวนเชื่อโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อแสดงให้เห็นว่าทางพรรคนั้นมีความเมตตาและทำให้เห็นว่าทางพรรคได้ชี้ทางแสงสว่างในชีวิตใหม่ให้กับทุก ๆ คนได้ ข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติของผู่อี๋ถูกเขียนโดยชาวอเมริกันนั้นส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นเรื่องอื้อฉาว, แบ่งชนชั้น และไม่แม่นยำ หรือไม่ก็รวมทั้งสามอย่างไว้ด้วยกัน เพราะในสมัยนั้นโลกตะวันตกยังใส่ร้ายป้ายสีโลกตะวันออกอย่างมากต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของประเทศจีนคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันด้วย แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลที่ถูกเขียนขึ้นมาจากในประเทศจีนนั้นมีข้อมูลมากมายที่ล้นหลาม สามารถที่จะล้มล้างข้อมูลที่ถูกเขียนโดยชาวตะวันตกได้อย่างรุนแรง

ข้อมูลจากในประเทศจีนแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์แบบพี่น้องหรือเพื่อนสมัยเด็กมากกว่าความสัมพันธุ์แบบสามี-ภรรยา เพราะว่าสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋นั้นแทบจะไม่มีเพื่อนเลยตั้งแต่พระองค์ยังเด็กเนื่องจากการที่ถูกควบคุมให้เป็นเพียงสัญลักษณ์อยู่ในพระราชวังต้องห้ามเท่านั้นและทั้งสองพระองค์ต่างมารู้จักกันได้จากการคลุมถุงชน พระนางหว่านหรงเข้ามามีบทบาทในชีวิตของสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ครั้นการอภิเษกสมรสโดยการถูกคลุมถุงชน (โดยมีเหล่าพระสนมเก่าของฮ่องเต้องค์เก่าก่อนหน้านั้นในวังเป็นผู้เลือกให้ ถึงแม้ว่าผู่อี๋จะเลือกเหวินซิ่วก่อนแล้วก็ตาม) ตั้งแต่ทั้งสองมีพระชนมมายุเพียงแค่ 16 พรรษา สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋มักจะใช้เวลาแทบทั้งชีวิตของพระองค์ไปกับหว่านหรงและค่อนข้างที่จะแสดงออกถึงความหึงหวงและเอ็นดูในพระนางอย่างเงียบ ๆ ในขณะที่พระนางทรงเรียนหนังสือและเล่นกับเพื่อน ๆ ด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ยังเป็นที่ปฏิบัติโดยจักรพรรดิผู่อี๋ต่อเนื่องไปจนถึงภายหลังที่ย้ายไปหนีภัยอยู่ที่เทียนสิน แต่ผู่อี๋ก็ได้เกิดความวิตกและเครียดเพิ่มมากขึ้นด้วยหลังจากหลายเหตุการณ์ เช่นที่สนมเอกเหวินซิ่วได้หย่าจากพระองค์ไป, การถูกไล่ออกจากพระราชวังต้องห้ามไปอยู่ที่แมนจูกัวภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นและรวมถึงการที่สุสานราชวงศ์ชิงถูกทำลายและปล้นโดยกองทัพก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็กอีก แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระนางหว่านหรงนั้น ทรงเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ผู้ซึ่งสูญเสียแทบทุกสิ่งที่พระองค์รัก และเนื่องด้วยจากการที่จักรพรรดิผู่อี๋ทรงสนิมสนมกับผู่เจี๋ย ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์และเช่นเดียวกันกับโกวปู้โลว หลั่นเคี๋ยวผู้ซึ่งเป็นน้องชายแท้ ๆ ของหว่านหรงด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระนางหว่านหรงทรงเป็นศูนย์รวมความมั่นคงทางความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องของทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน

อนุสรณ์สถาน[แก้]

ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2549 พระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรง โกวปู้โลว ลุ่นฉี (Gobulo Runqi) ได้สร้างอนุสรณ์สถานให้กับสมเด็จพระจักรพรรดินีหว่านหรงในด้านทิศตะวันตกของสุสานราชวงศ์ชิง ถึงแม้ว่าในสุสานของพระนางจะไม่ได้บรรจุพระศพของพระนางไว้ก็ตาม แต่สุสานของพระนางนั้นได้รับการบรรจุพระฉาย (กระจก) ถือส่วนพระองค์ไว้แทน[2]

สุสานราชวงศ์ชิง

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า จักรพรรดินีวั่นหรง ถัดไป
สมเด็จพระจักรพรรดินีเสิ้ยวติ้งจิง
จักรพรรดินีจีน
(พ.ศ. 2465พ.ศ. 2467
อ้างสิทธิในราชบัลลังก์
พ.ศ. 2467 - พ.ศ. 2489)
องค์หญิงฮิโระ ซะงะ
ตั้งจักรวรรดิ
จักรพรรดินีแห่งแมนจูกัว
(พ.ศ. 2477พ.ศ. 2488
อ้างสิทธิในราชบัลลังก์
พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2489)
องค์หญิงฮิโระ ซะงะ