กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กระทรวงต่างประเทศ)
กระทรวงการต่างประเทศ
ตราบัวแก้ว
ภาพรวมกระทรวง
ก่อตั้ง14 เมษายน พ.ศ. 2418; 149 ปีก่อน (2418-04-14)
กระทรวงก่อนหน้า
  • กระทรวงต่างประเทศ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี8,015.1433 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
รัฐมนตรี
รัฐมนตรีช่วย
ฝ่ายบริหารกระทรวง
  • เอกศิริ ปิณฑะรุจิ, ปลัดกระทรวง[2]
  • บุษฎี สันติพิทักษ์[3], รองปลัดกระทรวง
  • ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ[4], รองปลัดกระทรวง
  • ณัฐพล ขันธหิรัญ, รองปลัดกระทรวง
  • ต้องฤดี มากบุญ, รองปลัดกระทรวง
ลูกสังกัดกระทรวง
เว็บไซต์www.mfa.go.th

กระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ: Ministry of Foreign Affairs) เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านการต่างประเทศของประเทศไทย รัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ กระทรวงมีหน้าที่กำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศสำหรับราชอาณาจักรไทย กระทรวงได้ส่งคณะทูตไทยไปปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก

ประวัติ[แก้]

ภาพถ่ายวังสราญรมย์เมื่อปี 1954 ขณะที่เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศมีปลัดกระทรวงคนแรก ได้แก่ พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถึง 1 กันยายน พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้า นิกรเทวัญ เทวกุล [5] ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 หลวงสิทธิสยามการ (เทียนฮ็อก ฮุนตระกูล) ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ [6]

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 นาย วิสูตร อรรถยุกติ [7]ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 หม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ[8]

มีเสนาบดีคนแรก ไดแก่ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี

ใน เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ได้มีการแต่งตั้งให้ บุษยา มาทแล็ง เป็น หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ[9] คนแรกของกระทรวง

ที่ตั้ง[แก้]

กระทรวงการต่างประเทศ เคยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ถนนสนามไชย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 จนถึงปี พ.ศ. 2535 ต่อจากนั้นจึงได้ย้ายที่ทำการมายังเลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงาน องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO ซีโต้ หรือ สปอ.) นอกจากนั้นยังมีอาคารสำนักงานในสังกัด คือ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ และสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว 19 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวง[แก้]

ตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นรูปเทพยดานั่งในดอกบัว ถือดอกบัวข้างขวา ถือวชิระข้างซ้ายนั้น เป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศ ตรานี้มีปรากฏใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบัวแก้วเป็นตราซึ่งเจ้าพระยาพระคลังใช้ประทับในเอกสารของกรมท่า (ซึ่งต่อมาในสมัยปัจจุบันได้ปรับรูปมาเป็น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม) และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาต่าง ๆ

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตราสำคัญในราชการไทยมีสามดวง คือตราพระคชสีห์สำหรับสมุหพระกลาโหม ซึ่งใช้ในราชการด้านการทหารทั่วไป ตราพระราชสีห์สำหรับสมุหนายก ใช้ในราชการด้านมหาดไทย และตราบัวแก้วประจำตำแหน่งพระคลัง (ซึ่งดูแลกิจการกรมท่า และการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศด้วย) กฎหมายไทยที่เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" ก็เป็นเพราะมีการประทับตราทั้งสามดวงนี้ ซึ่งมีตราบัวแก้วรวมอยู่ด้วยดวงหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการด้านการคลัง (กรมพระคลังมหาสมบัติ) ออกจากกรมท่า ตราบัวแก้วจึงเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ กรมท่า และต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดระบบราชการใหม่โดยแบ่งเป็น 12 กระทรวง ตราบัวแก้ว จึงเป็นตราประจำเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และกลายมาเป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศจนปัจจุบัน การใช้ตราบัวแก้วในปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้ประทับในเอกสารทางราชการเหมือนเช่นในสมัยโบราณแล้ว (ตราสำหรับเอกสารราชการไทยทั้งหมด รวมทั้งที่ใช้ในเอกสารราชการของกระทรวงการต่างประเทศด้วย คือตราครุฑ) แต่ถือเป็นตราประจำกระทรวง เป็นเครื่องหมายสังกัดในเครื่องแบบของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และยังเป็นตราประจำสโมสรสราญรมย์ อันเป็นสโมสรของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

ในปี พ.ศ. 2418 ถึง ปี พ.ศ. 2474 ใช้นามกระทรวงว่ากระทรวงต่างประเทศ[10] และในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 จึงเปลี่ยนเป็นกระทรวงการต่างประเทศ[11] จนถึงปัจจุบัน

กระทรวงการต่างประเทศมีเพลงประจำกระทรวง คือเพลง "บัวแก้ว" ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย หลวงวิจิตรวาทการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สีประจำกระทรวง[แก้]

ธงราชทูต
ธงกงสุล

สีประจำกระทรวง คือสี "กรมท่า" (หรือสีน้ำเงินเข้ม) เป็นอนุสรณ์ถึงประวัติของกระทรวงการต่างประเทศที่สืบมาตั้งแต่กรมท่า ในสมัยจตุสดมภ์

อนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา มีการกำหนดให้มีธงประจำตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศด้วย และต่อมาได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้มีลักษณะเป็นธงชาติ (ธงไตรรงค์) มีวงกลมสีน้ำเงินหรือสีกรมท่าอยู่ตรงกลางธงชาติ กลางวงนั้นมีรูปช้างเผือกยืนอยู่ หันหน้าเข้าหาเสาธง หากเป็นธงประจำตำแหน่งเอกอัครราชทูต (ซึ่งพระราชบัญญัติธงเรียกว่า ธงราชทูต) ให้ใช้รูปช้างเผือกทรงเครื่องพร้อมยืนบนแท่น หากเป็นธงประจำตำแหน่งกงสุลใหญ่ (ซึ่งพระราชบัญญัติธงเรียกว่า ธงกงสุล) ให้ใช้รูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องและไม่ยืนบนแท่น (ธงราชทูตนี้มีลักษณะคล้ายธงราชนาวีไทย ซึ่งเป็นธงชาติไทยและมีช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ในวงกลมกลางธงเช่นเดียวกัน แต่ธงราชนาวีใช้วงกลมสีแดงกลางธง)

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

หน่วยงานด้านการบริหาร

หน่วยงานด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีกับภูมิภาคต่างๆ

หน่วยงานด้านความสัมพันธ์พหุภาคี

หน่วยงานด้านความเชี่ยวชาญ หรือการบริการเฉพาะทาง

หน่วยงานในสังกัด (นอกประเทศไทย)[แก้]

กระทรวงการต่างประเทศ มีหน่วยงานในสังกัดอยู่นอกประเทศไทย คือ สำนักงานตัวแทนทางการทูตและการกงสุลของไทยในต่างประเทศ (ซึ่งถือว่าอยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวง) ประกอบไปด้วย สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ไทย สำนักงานคณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การระหว่างประเทศต่างๆ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย(ไทเป)ประจำไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลไทยใช้เป็นจุดติดต่อกับไต้หวัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 93 แห่งใน 70 กว่าประเทศทั่วโลก มีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่เป็นนักการทูตและที่ทำงานฝ่ายกงสุล รวมทั้งที่ปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ประมาณ 700 คน นอกประเทศไทย

ในทางกลับกัน รัฐบาลมิตรประเทศได้มาเปิดสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศอยู่ในประเทศไทย 74 แห่ง สถานกงสุลต่างประเทศ 13 แห่ง และสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศมาตั้งอยู่ในประเทศไทย 32 องค์การ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นจุดติดต่อระหว่างรัฐบาลไทยกับหน่วยงานต่างประเทศเหล่านี้ด้วย

สำนักงานตัวแทนทางการทูตของประเทศไทย มีฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) และในหลักการ ประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งผู้แทนทางการทูตระดับเอกอัครราชทูต (Ambassador) ไปประจำการในต่างประเทศและรับผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตของรัฐต่างประเทศมาประจำในประเทศของตนได้ แต่ในประวัติศาสตร์การทูตก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตามธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศในยุคนั้น การส่งผู้แทนทางการทูตไปประจำในต่างประเทศในระดับเอกอัครราชทูต เป็นสิทธิพิเศษที่มหาประเทศในยุคนั้น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สงวนไว้สำหรับพวกตนด้วยกันเองเท่านั้น สยามในฐานะประเทศเล็กจึงไม่มีสิทธิส่งผู้แทนในระดับเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศ สามารถส่งได้เพียงอัครราชทูต (Envoy) และตั้งได้เพียงสถานอัครราชทูต (Legation) ประจำต่างประเทศ ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตกับต่างประเทศครั้งแรกกับประเทศญี่ปุ่น ในฐานะมิตรร่วมรบในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศได้เปลี่ยนเป็นถือว่า ประเทศต่างๆ ไม่ว่าเล็กใหญ่ มีความเสมอภาคกันและสามารถส่งผู้แทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตได้ด้วยกันทุกประเทศ

สำนักงานตัวแทนทางกงสุลของรัฐบาลไทย มีฐานะเป็นสถานกงสุลใหญ่หรือสถานกงสุล (Consulate-General หรือ Consulate) ในระบบของกระทรวงการต่างประเทศไทย ราชการฝ่ายการทูตและราชการฝ่ายกงสุลไม่ได้แยกออกจากกันโดยเด็ดขาดเหมือนเช่นในระบบของบางประเทศ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทยเมื่อออกไปประจำการในต่างประเทศสามารถมีโอกาสเป็นได้ทั้งนักการทูตหรือเจ้าพนักงานกงสุล กงสุลมีหน้าที่ช่วยเหลือและคุ้มครองพลเมืองของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุลในดินแดนของประเทศผู้รับ และเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและไมตรีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ กงสุลแตกต่างจากเอกอัครราชทูตตรงที่เอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนจากประมุขแห่งรัฐหนึ่งไปประจำประมุขของอีกรัฐหนึ่ง เอกอัครราชทูตไทยประจำอีกประเทศหนึ่งมีได้เพียงคนเดียว และโดยปกติจะประจำการอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมืองหลวงของประเทศผู้รับ ขณะที่กงสุลไทยในแต่ละประเทศอาจมีได้หลายคน ประจำอยู่ในเมืองสำคัญต่าง ๆ ของประเทศผู้รับ (ที่มิใช่เมืองหลวง) เพื่อให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในท้องถิ่นนั้น ๆ ของประเทศผู้รับ ทั้งคนไทยที่พำนักอยู่เป็นประจำและที่เดินทางไปเยือน (เช่น การให้บริการต่ออายุหนังสือเดินทางและออกเอกสารเดินทางชั่วคราวให้หากทำหาย การช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยาก เจ็บป่วย หรือต้องคดีในต่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกด้านทะเบียนราษฎร เช่นการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ออกสูติบัตรและมรณบัตร ผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร และจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร) และอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวกับทางราชการไทยแก่พลเมืองของประเทศนั้นในภูมิภาคที่กงสุลประจำอยู่ด้วย (เช่น การตรวจลงตราหนังสือเดินทางต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรหรือที่เรียกกันว่า "การให้วีซ่า" และการรับรองเอกสารต่างๆ) ทั้งนี้ ภายในสถานเอกอัครราชทูตไทยเองที่เมืองหลวงก็จะมีฝ่ายกงสุลสังกัดอยู่ด้วยเช่นกัน และตามระบบ เอกอัครราชทูตไทยจะเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของกงสุลไทยในเมืองอื่นๆ ในประเทศนั้นๆ (ถ้ามี)ด้วย

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ กิจการด้านการทูตและกิจการด้านการกงสุลอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาระหว่างประเทศสองฉบับ คือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (Vienna Convention on Diplomatic Relations of 1961) และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (Vienna Convention on Consular Relations of 1963)

อนึ่ง รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศยังได้แต่งตั้งบุคคลสัญชาติต่างประเทศเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำเมืองต่างๆ บางแห่งที่ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำอยู่ด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. มติ ครม.ตั้ง ‘เอกสิริ’ เป็นปลัด กต.คนใหม่ โยก ‘ศรัณย์’ ไปเป็นทูตฝรั่งเศส
  3. เช็ก มติ ครม. แต่งตั้งครบทุกตำแหน่ง ที่นี่
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/1181_1.PDF
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/2495.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/021/796.PDF
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2491/D/028/1682.PDF
  9. คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/2052.PDF
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-15. สืบค้นเมื่อ 2017-08-07.
  12. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๕๘

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]