กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กระทรวงการต่างประเทศ)
กระทรวงการต่างประเทศ
ตราบัวแก้ว เป็นตราประจำกระทรวงการต่างประเทศ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง14 เมษายน พ.ศ. 2418; 148 ปีก่อน (2418-04-14)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กระทรวงต่างประเทศ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี8,015.1433 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
รัฐมนตรี
รัฐมนตรีช่วย
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • เอกศิริ ปิณฑะรุจิ, ปลัดกระทรวง[2]
  • บุษฎี สันติพิทักษ์[3], รองปลัดกระทรวง
  • ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ, รองปลัดกระทรวง
  • ณัฐพล ขันธหิรัญ, รองปลัดกระทรวง
  • ต้องฤดี มากบุญ, รองปลัดกระทรวง
หน่วยงานลูกสังกัด
เว็บไซต์www.mfa.go.th

กระทรวงการต่างประเทศ (อังกฤษ: Ministry of Foreign Affairs) เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านการต่างประเทศของประเทศไทย รัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ กระทรวงมีหน้าที่กำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศสำหรับราชอาณาจักรไทย กระทรวงได้ส่งคณะทูตไทยไปปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก

ประวัติ

ภาพถ่ายวังสราญรมย์เมื่อปี 1954 ขณะที่เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศมีปลัดกระทรวงคนแรก ได้แก่ พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถึง 1 กันยายน พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้า นิกรเทวัญ เทวกุล [4] ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 หลวงสิทธิสยามการ (เทียนฮ็อก ฮุนตระกูล) ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ [5]

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 นาย วิสูตร อรรถยุกติ [6]ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 หม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ[7]

มีเสนาบดีคนแรก ไดแก่ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี

ใน เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ได้มีการแต่งตั้งให้ บุษยา มาทแล็ง เป็น หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ[8] คนแรกของกระทรวง

ที่ตั้ง

กระทรวงการต่างประเทศ เคยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ถนนสนามไชย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 จนถึงปี พ.ศ. 2535 ต่อจากนั้นจึงได้ย้ายที่ทำการมายังเลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงาน องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO ซีโต้ หรือ สปอ.) นอกจากนั้นยังมีอาคารสำนักงานในสังกัด คือ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ และสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว 19 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวง

ตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นรูปเทพยดานั่งในดอกบัว ถือดอกบัวข้างขวา ถือวชิระข้างซ้ายนั้น เป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศ ตรานี้มีปรากฏใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบัวแก้วเป็นตราซึ่งเจ้าพระยาพระคลังใช้ประทับในเอกสารของกรมท่า (ซึ่งต่อมาในสมัยปัจจุบันได้ปรับรูปมาเป็น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม) และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาต่าง ๆ

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตราสำคัญในราชการไทยมีสามดวง คือตราพระคชสีห์สำหรับสมุหพระกลาโหม ซึ่งใช้ในราชการด้านการทหารทั่วไป ตราพระราชสีห์สำหรับสมุหนายก ใช้ในราชการด้านมหาดไทย และตราบัวแก้วประจำตำแหน่งพระคลัง (ซึ่งดูแลกิจการกรมท่า และการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศด้วย) กฎหมายไทยที่เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" ก็เป็นเพราะมีการประทับตราทั้งสามดวงนี้ ซึ่งมีตราบัวแก้วรวมอยู่ด้วยดวงหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการด้านการคลัง (กรมพระคลังมหาสมบัติ) ออกจากกรมท่า ตราบัวแก้วจึงเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ กรมท่า และต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดระบบราชการใหม่โดยแบ่งเป็น 12 กระทรวง ตราบัวแก้ว จึงเป็นตราประจำเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และกลายมาเป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศจนปัจจุบัน การใช้ตราบัวแก้วในปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้ประทับในเอกสารทางราชการเหมือนเช่นในสมัยโบราณแล้ว (ตราสำหรับเอกสารราชการไทยทั้งหมด รวมทั้งที่ใช้ในเอกสารราชการของกระทรวงการต่างประเทศด้วย คือตราครุฑ) แต่ถือเป็นตราประจำกระทรวง เป็นเครื่องหมายสังกัดในเครื่องแบบของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และยังเป็นตราประจำสโมสรสราญรมย์ อันเป็นสโมสรของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

ในปี พ.ศ. 2418 ถึง ปี พ.ศ. 2474 ใช้นามกระทรวงว่ากระทรวงต่างประเทศ[9] และในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 จึงเปลี่ยนเป็นกระทรวงการต่างประเทศ[10] จนถึงปัจจุบัน

กระทรวงการต่างประเทศมีเพลงประจำกระทรวง คือเพลง "บัวแก้ว" ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย หลวงวิจิตรวาทการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สีประจำกระทรวง

ธงราชทูต
ธงกงสุล

สีประจำกระทรวง คือสี "กรมท่า" (หรือสีน้ำเงินเข้ม) เป็นอนุสรณ์ถึงประวัติของกระทรวงการต่างประเทศที่สืบมาตั้งแต่กรมท่า ในสมัยจตุสดมภ์

อนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา มีการกำหนดให้มีธงประจำตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศด้วย และต่อมาได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้มีลักษณะเป็นธงชาติ (ธงไตรรงค์) มีวงกลมสีน้ำเงินหรือสีกรมท่าอยู่ตรงกลางธงชาติ กลางวงนั้นมีรูปช้างเผือกยืนอยู่ หันหน้าเข้าหาเสาธง หากเป็นธงประจำตำแหน่งเอกอัครราชทูต (ซึ่งพระราชบัญญัติธงเรียกว่า ธงราชทูต) ให้ใช้รูปช้างเผือกทรงเครื่องพร้อมยืนบนแท่น หากเป็นธงประจำตำแหน่งกงสุลใหญ่ (ซึ่งพระราชบัญญัติธงเรียกว่า ธงกงสุล) ให้ใช้รูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องและไม่ยืนบนแท่น (ธงราชทูตนี้มีลักษณะคล้ายธงราชนาวีไทย ซึ่งเป็นธงชาติไทยและมีช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ในวงกลมกลางธงเช่นเดียวกัน แต่ธงราชนาวีใช้วงกลมสีแดงกลางธง)

หน่วยงานในสังกัด

หน่วยงานด้านการบริหาร

หน่วยงานด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีกับภูมิภาคต่างๆ

หน่วยงานด้านความสัมพันธ์พหุภาคี

หน่วยงานด้านความเชี่ยวชาญ หรือการบริการเฉพาะทาง

หน่วยงานในสังกัด (นอกประเทศไทย)

กระทรวงการต่างประเทศ มีหน่วยงานในสังกัดอยู่นอกประเทศไทย คือ สำนักงานตัวแทนทางการทูตและการกงสุลของไทยในต่างประเทศ (ซึ่งถือว่าอยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวง) ประกอบไปด้วย สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ไทย สำนักงานคณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การระหว่างประเทศต่างๆ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย(ไทเป)ประจำไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลไทยใช้เป็นจุดติดต่อกับไต้หวัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 93 แห่งใน 70 กว่าประเทศทั่วโลก มีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่เป็นนักการทูตและที่ทำงานฝ่ายกงสุล รวมทั้งที่ปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ประมาณ 700 คน นอกประเทศไทย

ในทางกลับกัน รัฐบาลมิตรประเทศได้มาเปิดสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศอยู่ในประเทศไทย 74 แห่ง สถานกงสุลต่างประเทศ 13 แห่ง และสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศมาตั้งอยู่ในประเทศไทย 32 องค์การ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นจุดติดต่อระหว่างรัฐบาลไทยกับหน่วยงานต่างประเทศเหล่านี้ด้วย

สำนักงานตัวแทนทางการทูตของประเทศไทย มีฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) และในหลักการ ประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งผู้แทนทางการทูตระดับเอกอัครราชทูต (Ambassador) ไปประจำการในต่างประเทศและรับผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตของรัฐต่างประเทศมาประจำในประเทศของตนได้ แต่ในประวัติศาสตร์การทูตก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตามธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศในยุคนั้น การส่งผู้แทนทางการทูตไปประจำในต่างประเทศในระดับเอกอัครราชทูต เป็นสิทธิพิเศษที่มหาประเทศในยุคนั้น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สงวนไว้สำหรับพวกตนด้วยกันเองเท่านั้น สยามในฐานะประเทศเล็กจึงไม่มีสิทธิส่งผู้แทนในระดับเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศ สามารถส่งได้เพียงอัครราชทูต (Envoy) และตั้งได้เพียงสถานอัครราชทูต (Legation) ประจำต่างประเทศ ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตกับต่างประเทศครั้งแรกกับประเทศญี่ปุ่น ในฐานะมิตรร่วมรบในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศได้เปลี่ยนเป็นถือว่า ประเทศต่างๆ ไม่ว่าเล็กใหญ่ มีความเสมอภาคกันและสามารถส่งผู้แทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตได้ด้วยกันทุกประเทศ

สำนักงานตัวแทนทางกงสุลของรัฐบาลไทย มีฐานะเป็นสถานกงสุลใหญ่หรือสถานกงสุล (Consulate-General หรือ Consulate) ในระบบของกระทรวงการต่างประเทศไทย ราชการฝ่ายการทูตและราชการฝ่ายกงสุลไม่ได้แยกออกจากกันโดยเด็ดขาดเหมือนเช่นในระบบของบางประเทศ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทยเมื่อออกไปประจำการในต่างประเทศสามารถมีโอกาสเป็นได้ทั้งนักการทูตหรือเจ้าพนักงานกงสุล กงสุลมีหน้าที่ช่วยเหลือและคุ้มครองพลเมืองของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุลในดินแดนของประเทศผู้รับ และเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและไมตรีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ กงสุลแตกต่างจากเอกอัครราชทูตตรงที่เอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนจากประมุขแห่งรัฐหนึ่งไปประจำประมุขของอีกรัฐหนึ่ง เอกอัครราชทูตไทยประจำอีกประเทศหนึ่งมีได้เพียงคนเดียว และโดยปกติจะประจำการอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมืองหลวงของประเทศผู้รับ ขณะที่กงสุลไทยในแต่ละประเทศอาจมีได้หลายคน ประจำอยู่ในเมืองสำคัญต่าง ๆ ของประเทศผู้รับ (ที่มิใช่เมืองหลวง) เพื่อให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในท้องถิ่นนั้น ๆ ของประเทศผู้รับ ทั้งคนไทยที่พำนักอยู่เป็นประจำและที่เดินทางไปเยือน (เช่น การให้บริการต่ออายุหนังสือเดินทางและออกเอกสารเดินทางชั่วคราวให้หากทำหาย การช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยาก เจ็บป่วย หรือต้องคดีในต่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกด้านทะเบียนราษฎร เช่นการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ออกสูติบัตรและมรณบัตร ผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร และจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร) และอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวกับทางราชการไทยแก่พลเมืองของประเทศนั้นในภูมิภาคที่กงสุลประจำอยู่ด้วย (เช่น การตรวจลงตราหนังสือเดินทางต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรหรือที่เรียกกันว่า "การให้วีซ่า" และการรับรองเอกสารต่างๆ) ทั้งนี้ ภายในสถานเอกอัครราชทูตไทยเองที่เมืองหลวงก็จะมีฝ่ายกงสุลสังกัดอยู่ด้วยเช่นกัน และตามระบบ เอกอัครราชทูตไทยจะเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของกงสุลไทยในเมืองอื่นๆ ในประเทศนั้นๆ (ถ้ามี)ด้วย

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ กิจการด้านการทูตและกิจการด้านการกงสุลอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาระหว่างประเทศสองฉบับ คือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (Vienna Convention on Diplomatic Relations of 1961) และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (Vienna Convention on Consular Relations of 1963)

อนึ่ง รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศยังได้แต่งตั้งบุคคลสัญชาติต่างประเทศเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำเมืองต่างๆ บางแห่งที่ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำอยู่ด้วย

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. มติ ครม.ตั้ง ‘เอกสิริ’ เป็นปลัด กต.คนใหม่ โยก ‘ศรัณย์’ ไปเป็นทูตฝรั่งเศส
  3. เช็ก มติ ครม. แต่งตั้งครบทุกตำแหน่ง ที่นี่
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/1181_1.PDF
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/2495.PDF
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/021/796.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2491/D/028/1682.PDF
  8. คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563
  9. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/2052.PDF
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-15. สืบค้นเมื่อ 2017-08-07.
  11. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๕๘

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น