ข้ามไปเนื้อหา

เมตตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในศาสนาพุทธ เมตตา เป็นหลักธรรมหนึ่งในพรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเป็นปัจจัยให้เกิดพรหมวิหารอื่นได้

ลักษณะของเมตตา

[แก้]

ในวิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิเทส แสดงลักษณะของเมตตาพรหมวิหารไว้ว่า

  • เมตตามีอาการประพฤติเกื้อกูลเป็นลักษณะ
  • มีการน้อมนำเข้าไปเกื้อกูลประโยชน์ในสัตว์เป็นรส
  • มีการบำบัดความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการที่ปรากฏ)
  • มีการเห็นสัตว์เป็นที่ชอบใจ คือไม่โกรธเคือง ไม่ขุ่นเคืองในขณะนั้นเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้)
  • มีการเข้าไปสงบความพยาบาทเป็นสมบัติ
  • มีความเสน่หาเป็นวิบัติ

ตามอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระธัมมสังคณีปกรณ์ ทุกนิกเขปกถา เหตุโคจฉกะ พระบาลีนิทเทอโทสะ (1062) ได้แสดงลักษณะของเมตตาไว้ว่า

  • เมตตามีชื่อว่าไมตรี เนื่องจากเป็นกิริยาที่สนิทสนม
  • เมตตามีชื่อว่าการเอ็นดู เพราะคอยปกป้องคุมครอง
  • เมตตามีชื่อว่าความแสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูล
  • เมตตามีชื่อว่าความสงสาร เนื่องจากคอยหวั่นไหวตามไปด้วย

ดังนั้น การจะแสดงว่ามีเมตตาต่อบุคคลใด จึงต้องมีลักษณะดังกล่าว ซึ่งหากว่าไม่ใช่อาการเหล่านี้ จิตขณะนั้นอาจเป็นโลภะหรือโทสะซึ่งเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เมตตา

อานิสงส์ของเมตตา

[แก้]

ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เมตตาวรรคที่ 1 เมตตาสูตร และในอังคุตรนิกาย เอกาทสนิบาต เมตตาสูตร ได้สรุปอานิสงส์ของเมตตาไว้ดังนี้

  • ย่อมหลับเป็นสุข
  • ย่อมตื่นเป็นสุข
  • ย่อมไม่ฝันลามก (คืออกุศลทั้งหลาย)
  • ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย
  • ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย
  • เทวดาย่อมรักษา
  • ไฟ ยาพิษ หรือศาสตรา ย่อมไม่กล้ำกราย
  • จิตย่อมตั้งมั่นโดยเร็ว
  • สีหน้าย่อมผ่องใส
  • เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ
  • เมื่อไม่แทงตลอดคุณที่ยิ่งยอด (เป็นพระอรหันต์) ย่อมเข้าถึงพรหมโลก

การแผ่เมตตา

[แก้]

บทสวดแผ่เมตตาโดยทั่วไป จะกล่าวว่าขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ทั้งสิ้นเถิด แต่ในขุทกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค เมตตากถา ได้แสดงไว้ว่า "เมตตาเจโตวิมุตติ แผ่ไปโดยไม่เจาะจงด้วยอาการ 5 เมตตาเจโตวิมุตติ แผ่ไปโดยเจาะจงด้วยอาการ 7 เมตตาเจโตวิมุตติ แผ่ไปสู่ทิศทั้งหลายด้วยอาการ 10" ซึ่งในวิสุทธิมรรคได้แสดงไว้ว่าผู้จะแผ่เมตตาดังกล่าวได้ต้องบรรลุอัปปนาสมาธิแล้วคือได้ฌานจิตแล้ว ดังนั้น ตามอรรถกถาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ผู้ยังไม่บรรลุฌานจิตจึงไม่อาจแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งปวงได้ แต่สามารถมีเมตตาต่อสัตว์หรือบุคคลได้

อ้างอิง

[แก้]