ข้ามไปเนื้อหา

เปรียญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เปรียญ (อ่านว่า ปะเรียน) บาเรียน ก็เรียก เป็นคำใช้เรียกภิกษุสามเณรผู้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไปจนถึง 9 ประโยค เรียกว่า พระเปรียญ หรือ พระเปรียญธรรม สามเณรเปรียญ หรือ สามเณรเปรียญธรรม มีอักษรย่อว่า ป. หรือ ป.ธ. (เทียบเท่ามัธยมศึกษา)

เปรียญ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า บาเรียน หรือ ปริญญา[1] หมายถึง “พระที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมบาลี” หรือ “พระนักเรียนบาลี” นั่นเอง ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนคำว่า บาเรียน เป็น เปรียญ[2] ปัจจุบันจึงใช้เรียกหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยว่า "หลักสูตรเปรียญ" [3]

การเป็นเปรียญนั้นพระเจ้าแผ่นดินมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดแต่งตั้ง จึงเรียกพระเปรียญอีกอย่างหนึ่งว่า พระมหา โบราณเรียกว่า พระมหาเปรียญ คำว่า มหา ใช้เรียกเฉพาะภิกษุเท่านั้น มิได้ใช้เรียกสามเณรเปรียญด้วย

ปัจจุบันเรียกพระภิกษุสามเณรที่สอบได้พระปริยัติธรรมตั้งแต่ เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไปว่า "พระมหาเปรียญ" หรือ "สามเณรเปรียญ" [4] ภิกษุสามเณรเปรียญมีสิทธิใส่วุฒิการศึกษาต่อท้ายชื่อได้ เช่น พระมหาวุฒิ ป.6 หรือ ป.ธ.6 (อ่านเต็มว่า เปรียญ 6 ประโยคหรือเปรียญธรรม 6 ประโยค)

ศาลาที่ใช้สำหรับทำการเรียนการสอนว่า ศาลาการเปรียญ คือศาลาหรืออาคารที่พระภิกษุใช้เป็นที่เล่าเรียน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ทองย้อย แสงสินชัย. (๒๕๕๖). บาลีวันละคำ. (ม.ป.ท.).
  2. ประวัติการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในประเทศไทย
  3. หลักสูตรการศึกษา"บาลีสนามหลวง"
  4. "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บาเรียน หมายถึง ผู้เล่าเรียน,ผู้รู้ธรรม,ผู้คงแก่เรียน,เปรียญ, เปรียญ หมายถึง ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่3ประโยคขึ้นไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-25. สืบค้นเมื่อ 2007-04-11.

ดูเพิ่ม

[แก้]