ข้ามไปเนื้อหา

อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย ในการเดินทางครั้งแรกที่นิวยอร์กฮาร์เบอร์ วันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1914
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่ออาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย (RMS Aquitania)
ตั้งชื่อตามกัลลิอาอากวีตานิอา[3]
เจ้าของ
ผู้ให้บริการคูนาร์ดไลน์
ท่าเรือจดทะเบียนสหราชอาณาจักร ลิเวอร์พูล, สหราชอาณาจักร
เส้นทางเดินเรือ
  • เซาแทมป์ตัน–นิวยอร์ก (1914) (1920–1939) (1945–1948) (1945–1950)
  • เซาแทมป์ตัน–แฮลิแฟกซ์ (1948–1950)
Ordered8 ธันวาคม 1910[1]
อู่เรือจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี, ไคลด์แบงก์, สกอตแลนด์[1]
Yard number409[2]
ปล่อยเรือธันวาคม 1910
Christened21 เมษายน 1913 โดยเคาน์เตสแห่งเดอร์บี
สร้างเสร็จ1914
ส่งมอบเสร็จ24 พฤษภาคม 1914
Maiden voyage30 พฤษภาคม 1914[1]
บริการ1914–1950
หยุดให้บริการ1950
รหัสระบุ
  • หมายเลข IMO: 1135583
  • หมายประจำเรือ: 135583
ความเป็นไปปลดระวางในปี 1949 และแยกชิ้นส่วนในปี 1950[1]
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน): 45,647 ตันกรอส[4]
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 49,430 ตัน
ความยาว: 901 ฟุต (274.6 เมตร)[4]
ความกว้าง: 97 ฟุต (29.6 เมตร)[4]
ความสูง:
  • 164 ฟุต (50 เมตร) จากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ
  • 94 ฟุต (28.6 เมตร) จากกระดูกงูถึงดาดฟ้าเรือบด
กินน้ำลึก: 36 ฟุต (11 เมตร)[1]
ดาดฟ้า: 10 ชั้น
ระบบพลังงาน: กังหันไอน้ำ Parsons ขับใบจักรโดยตรง กำลัง 59,000 แรงม้า (44,000 กิโลวัตต์) [4]
ระบบขับเคลื่อน: 4 × ใบจักร[4]
ความเร็ว:
  • ปกติ: 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)
  • สูงสุด: 25 นอต (45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 29 ไมล์ต่อชั่วโมง)[4]
ความจุ:
  • 1914: 3,230 คน แบ่งเป็น[1]
  • ชั้นหนึ่ง 618 คน
  • ชั้นสอง 614 คน
  • ชั้นสาม 2,004 คน
  • 1926: 2,200 คน แบ่งเป็น [1]
  • ชั้นหนึ่ง 610 คน
  • ชั้นสอง 950 คน
  • ชั้นสาม 640 คน
  • ลูกเรือ: 972 คน[1]

    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย (อังกฤษ: RMS Aquitania) เป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติอังกฤษของสายการเดินเรือคูนาร์ด ให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 ถึง 1950 ออกแบบโดยเลนเนิร์ด เพสเกตต์ และสร้างโดยบริษัทจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี เมืองไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ ปล่อยลงน้ำในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1913[5] ออกเดินทางครั้งแรกในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 จากลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อาควิเทเนียเป็นเรือลำที่สามในโครงการเรือเดินสมุทรเร็วขนาดใหญ่จำนวนสามลำของคูนาร์ดไลน์ซึ่งนำโดยอาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย (RMS Lusitania) และอาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (RMS Mauretania) อาควิเทเนียเป็นเรือเดินสมุทรสี่ปล่องไฟลำสุดท้ายที่ปลดระวาง

    ไม่นานหลังจากอาควิเทเนียเริ่มให้บริการ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ได้ปะทุขึ้น ในช่วงเวลานี้เรือถูกดัดแปลงเป็นเรือลาดตระเวนเสริมก่อนจะถูกใช้เป็นเรือขนส่งทหารและเรือพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการทัพกัลลิโพลี และกลับมาให้บริการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอีกครั้งในปี ค.ศ. 1920 ร่วมกับอาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย และอาร์เอ็มเอส เบเรนแกเรีย (RMS Berengaria) ในช่วงเวลานี้เรือได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือที่สวยงามที่สุดลำหนึ่ง โดยผู้โดยสารมักเรียกเรือด้วยชื่อเล่นว่า "เรือที่สวยงาม" (The Ship Beautiful)[4] แม้จะมีการควบรวมกิจการระหว่างคูนาร์ดไลน์กับไวต์สตาร์ไลน์ในปี ค.ศ. 1934 แต่อาควิเทเนียก็ยังคงให้บริการต่อไป เดิมทีบริษัทวางแผนจะปลดประจำการและแทนที่ด้วยเรืออาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (RMS Queen Elizabeth) ในปี ค.ศ. 1940

    ทว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น จึงทำให้เรือลำนี้ยังคงต้องให้บริการต่อไปอีก 10 ปี ในช่วงสงครามจนถึงปี ค.ศ. 1947 เรือได้ทำหน้าที่เป็นเรือขนส่งทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำทหารแคนาดาที่ประจำการอยู่ในยุโรปกลับบ้าน และถูกใช้ในการขนส่งผู้อพยพไปยังแคนาดาหลังสงคราม จนกระทั่งคณะกรรมการการค้าตัดสินว่าเรือไม่เหมาะสมสำหรับการบริการเชิงพาณิชย์อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้อาควิเทเนียจึงถูกปลดประจำการในปี ค.ศ. 1949 และถูกขายในปีถัดมา

    หลังทำหน้าที่เป็นเรือโดยสารนาน 36 ปี อาควิเทเนียปิดฉากอาชีพด้วยการเป็นเรือที่มีอายุการใช้งานยาวนานที่สุดของคูนาร์ดไลน์ ซึ่งเป็นสถิติที่คงอยู่ถึง 6 ปีก่อนจะถูกทำลายโดยเรืออาร์เอ็มเอส ไซเทีย (RMS Scythia) ที่มีอายุการใช้งาน 37 ปี ในปี ค.ศ. 2004 สถิติการให้บริการของอาควิเทเนียตกไปอยู่อันดับที่ 3 เมื่อเรืออาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ 2 (RMS Queen Elizabeth II) กลายเป็นเรือที่มีอายุการใช้งานยาวนานที่สุดของคูนาร์ดไลน์

    ทั้งนี้ผู้โดยสารมักเรียกอาควิเทเนียด้วยชื่อเล่นว่า "เรือที่สวยงาม" เนื่องจากการตกแต่งภายในอันสวยงาม และ "เรือเก่าแก่ของคูนาร์ด" (Cunard's Old Reliable) เนื่องจากบทบาทในช่วงสงคราม

    ภูมิหลัง

    [แก้]
    อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก และไททานิก คู่แข่งสำคัญของอาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย และมอริเทเนีย

    ต้นกำเนิดของเรืออาควิเทเนียมีที่มาจากการแข่งขันกันระหว่างสองบริษัทเดินเรือชั้นนำของอังกฤษนั่นคือไวต์สตาร์ไลน์กับคูนาร์ดไลน์ เรือโอลิมปิก ไททานิก และบริแทนนิกลำใหม่ของไวต์สตาร์ล้วนมีขนาดใหญ่กว่าเรือรุ่นล่าสุดของคูนาร์ดอย่างลูซิเทเนียและมอริเทเนียประมาณ 15,000 ตันกรอส ถึงแม้เรือแฝดของคูนาร์ดจะมีความเร็วมากกว่าเรือของไวต์สตาร์อย่างเห็นได้ชัด แต่เรือของไวต์สตาร์กลับถูกมองว่าหรูหรากว่า เพื่อรักษาบริการเรือด่วนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกรายสัปดาห์ คูนาร์ดจึงจำเป็นต้องมีเรืออีกลำ และตัดสินใจสร้างเรือเลียนแบบเรือชั้นโอลิมปิกของไวต์สตาร์ แม้จะแลกกับความเร็วแต่เรือลำใหม่ของคูนาร์ดจะมีขนาดใหญ่และหรูหรากว่า[4][6][7]

    แผนการสร้างเรือลำใหม่นี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1910 วิศวกรได้ร่างแบบเบื้องต้นหลายแบบเพื่อกำหนดแนวทางหลักของเรือ โดยตั้งเป้าหมายความเร็วเฉลี่ยไว้ที่ 24 นอต ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน บริษัทก็ได้ยื่นข้อเสนอการก่อสร้างไปยังอู่ต่อเรือหลายแห่งก่อนจะตัดสินใจเลือกจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี (John Brown & Company) ซึ่งเคยสร้างเรือลูซิเทเนียมาก่อน คูนาร์ดตั้งชื่อเรือลำใหม่นี้ว่า "อาควิเทเนีย" เพื่อให้มีความต่อเนื่องกับชื่อของเรือแฝดลำก่อนหน้า โดยทั้งสามลำมีชื่อตามมณฑลของจักรวรรดิโรมันโบราณได้แก่ ลูซีตานิอา (Lusitania), เมารีตานิอา (Mauretania) และกัลลิอาอากวีตานิอา (Gallia Aquitania)[8]

    การออกแบบ การสร้าง และการเปิดตัว

    [แก้]
    อาควิเทเนียระหว่างการสร้างในปี 1913

    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย ได้รับการออกแบบโดยเลนเนิร์ด เพสเกตต์ (Leonard Peskett) นาวาสถาปนิกของคูนาร์ดไลน์[4] เรือลำนี้เป็นเรือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากไม่มีเรือแฝดที่มีขนาดหรือการตกแต่งภายในที่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต่างกับลูซิเทเนียกับมอริเทเนีย หรือโอลิมปิกกับไททานิก เพสเกตต์ได้วาดแผนให้เรือลำนี้มีขนาดใหญ่และกว้างกว่าลูซิเทเนียและมอริเทเนีย (ยาวกว่าประมาณ 40 เมตร (130 ฟุต)) แม้จะมีปล่องไฟขนาดใหญ่ 4 ต้น แลดูคล้ายกับเรือแฝดความเร็วสูงชื่อดัง แต่เพสเกตต์ยังออกแบบโครงสร้างบนของเรือให้มีลักษณะ "โปร่งโล่งด้วยกระจก" ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเรือลำเล็กกว่าอย่างอาร์เอ็มเอส คาร์เมเนีย (RMS Carmania) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานการออกแบบของเขาเอง จุดเด่นอีกอย่างที่ดัดแปลงมาจากเรือคาร์เมเนียคือการเพิ่มช่องระบายอากาศทรงสูง 2 ตัวที่หัวเรือ แม้ว่าจะมีขนาดภายนอกที่ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก แต่ระวางขับน้ำและระวางบรรทุกกลับมีขนาดน้อยกว่า[9] ปลายปี ค.ศ. 1910 ขณะวางกระดูกงูของอาควิเทเนีย เพสเกตต์ได้เดินทางไปกับเรือโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1911 เพื่อสัมผัสประสบการณ์บนเรือที่มีขนาดเกือบ 50,000 ตัน รวมทั้งศึกษาและเก็บข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับเรือลำใหม่ของบริษัท[9]

    อาควิเทเนียถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือของบริษัทจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี ในเมืองไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สร้างเรือส่วนใหญ่ของคูนาร์ด[5] กระดูกงูถูกวางบนพื้นที่เดียวกันกับที่เคยใช้สร้างเรือลูซิเทเนีย และต่อมาก็ได้ถูกใช้สร้างเรือควีนแมรี ควีนเอลิซาเบธ และควีนเอลิซาเบธ 2 อีกด้วย[10] ในวันพิธีปล่อยเรือ ตัวเรืออาควิเทเนียถูกทาด้วยสีเทาอ่อนเพื่อใช้ในการถ่ายภาพเช่นเดียวกับเรือมอริเทเนีย ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในสมัยนั้นสำหรับเรือลำแรกในชั้นใหม่ เพราะสีนี้จะทำให้เส้นสายของเรือมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในภาพถ่ายขาวดำ หลังพิธีปล่อยตัวเรือก็ถูกทาสีดำอีกครั้งขณะอยู่ในอู่แห้ง[11]

    อาควิเทเนียก่อนปล่อยลงน้ำไม่นาน

    หลังจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง อาควิเทเนียกลายเป็นหนึ่งในเรือรุ่นใหม่ลำแรก ๆ ที่มีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด[4] เรือชูชีพ 80 ลำรวมถึงเรือยนต์ 2 ลำที่ติดตั้งอุปกรณ์วิทยุไร้สายมาร์โคนีถูกบรรจุไว้ในทั้งเดวิตแบบคอหงส์ (swan-neck) และแบบเวลิน (Welin) ที่ทันสมัยกว่า[12] นอกจากนี้ยังมีการสร้างท้องเรือสองชั้นและห้องผนึกน้ำที่ออกแบบมาเพื่อให้เรือยังคงลอยน้ำได้แม้จะมีน้ำท่วมห้องถึงห้าห้อง[13] ตามข้อกำหนดกระทรวงทหารเรืออังกฤษ อาควิเทเนียได้รับการออกแบบมาให้สามารถดัดแปลงเป็นเรือพาณิชย์ลาดตระเวนติดอาวุธได้ และตัวเรือยังได้รับการเสริมความแข็งแรงเพื่อติดตั้งปืนสำหรับใช้งานในบทบาทดังกล่าว เรือลำนี้มีระวางขับน้ำประมาณ 49,430 ตัน แบ่งเป็นตัวเรือ 29,150 ตัน เครื่องจักร 9,000 ตัน และถ่านหิน 6,000 ตัน[14]

    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย ถูกปล่อยลงน้ำในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1913 หลังได้รับการทำพิธีโดยอลิซ สแตนลีย์ เคาน์เตสแห่งดาร์บี จากนั้นจึงมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า ตกแต่งภายใน และปรับแต่งรายละเอียดต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 13 เดือน โดยการติดตั้งทั้งหมดนี้ได้รับการควบคุมดูแลโดยอาร์เทอร์ โจเซฟ เดวิส (Arthur Joseph Davis) และชาลส์ มิวส์ (Charles Mewès)[9] วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 เรือได้รับการทดสอบเดินเรือและสามารถทำความเร็วได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 นอต ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม เรือเดินทางมาถึงแม่น้ำเมอร์ซีย์และจอดอยู่ที่ท่าเรือเป็นเวลา 15 วันเพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่และตกแต่งขั้นสุดท้ายก่อนออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์[15]

    ลักษณะเฉพาะของเรือ

    [แก้]
    ภาพวาดทางเทคนิคฝั่งกราบขวาของอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย

    อาควิเทเนียเป็นเรือลำแรกของคูนาร์ดไลน์ที่มีความยาวเกิน 900 ฟุต (270 เมตร)[9] และมีความแตกต่างจากเรือเดินสมุทรสี่ปล่องไฟบางลำเช่น เรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิกของไวต์สตาร์ไลน์ อาควิเทเนียไม่มีปล่องไฟปลอม แต่ละปล่องถูกใช้งานเพื่อระบายควันจากหม้อไอน้ำของเรือ[16][17]

    ไอน้ำถูกผลิตโดยหม้อไอน้ำสกอตช์แบบปลายคู่ (double-ended Scotch boilers) จำนวน 21 ตัว แต่ละตัวมีเตาไฟ 8 เตา ยาว 22 ฟุต (6.7 เมตร) และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 ฟุต 8 นิ้ว (5.4 เมตร) ถูกจัดไว้ในห้องหม้อไอน้ำ 4 ห้อง[18] แต่ละห้องมีเครื่องไล่เถ้า 7 ตัวซึ่งมีกำลังสูบประมาณ 4,500 ตันต่อชั่วโมง และสามารถใช้เป็นเครื่องสูบน้ำท้องเรือฉุกเฉินได้อีกด้วย[18]

    ไอน้ำถูกส่งไปขับเคลื่อนกังหันไอน้ำพาร์สันส์ในห้องเครื่อง 3 ห้องในระบบขยายแรงดันสามช่วง (triple expansion system) สำหรับ 4 เพลาใบจักร[18] ห้องเครื่องยนต์กราบซ้ายติดตั้งกังหันแรงดันสูงเดินหน้า (หนัก 240 ตัน ยาว 40 ฟุต 2 นิ้ว (12.2 เมตร) ขยายแรงดันสี่ช่วง) และกังหันถอยหลัง (หนัก 120 ตัน ยาว 22 ฟุต 11 นิ้ว (7.0 เมตร)) สำหรับเพลาใบจักรซ้าย ห้องเครื่องยนต์กลางติดตั้งกังหันแรงดันต่ำสองตัวที่สามารถเดินหน้าและถอยหลังได้ในตัวเดียวกัน (ยาว 54 ฟุต 3 นิ้ว (16.5 เมตร) ขยายแรงดันเก้าช่วงในกังหันเดินหน้า และสี่ช่วงในกังหันถอยหลัง) สำหรับเพลาใบจักรกลางสองเพลา และห้องเครื่องยนต์กราบขวาติดตั้งกังหันแรงดันปานกลางเดินหน้า (ยาว 41 ฟุต 6.5 นิ้ว (12.7 เมตร)) และกังหันแรงดันสูงถอยหลัง (เหมือนกับกังหันแรงดันสูงกราบซ้าย) สำหรับเพลาใบจักรขวา[18][19]

    ห้องไฟฟ้าตั้งอยู่บนชั้น G ใต้ระดับน้ำ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของบริติชเวสติงเฮาส์ขนาด 400 กิโลวัตต์ 4 เครื่อง ผลิตไฟกระแสตรง 225 โวลต์พร้อมระบบไฟฟ้าฉุกเฉินจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด 30 กิโลวัตต์บนชั้น A[20] จ่ายไฟให้กับหลอดไฟประมาณ 10,000 ดวงและมอเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 180 ตัว[20] อาควิเทเนียมีหวูดไอน้ำทำจากทองเหลืองติดตั้งอยู่ที่ปล่องไฟต้นที่ 1 และ 2

    สัดส่วนเรือ

    [แก้]
    • ความยาว: 901 ฟุต (274.6 เมตร)
    • ความกว้าง: 97 ฟุต (29.6 เมตร)
    • ความสูง:
      • 164 ฟุต (50 เมตร) จากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ
      • 94 ฟุต (28.6 เมตร) จากกระดูกงูถึงดาดฟ้าชั้นเรือบด
    • กินน้ำลึก: 36 ฟุต (11 เมตร)
    • ขนาด: 45,647 ตันกรอส, ระวางขับน้ำ 49,430 ตัน

    ความเร็ว

    [แก้]
    • ความเร็วบริการ: 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)
    • ความเร็วสูงสุด: 25 นอต (45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 29 ไมล์ต่อชั่วโมง)

    ลักษณะทั่วไป

    [แก้]
    • ปล่องไฟ: 4 ตัว สูงตัวละ 70 ฟุต (21 เมตร) ใช้เส้นเคเบิลตรึงปล่องละ 10 คู่ รวมทั้งหมด 20 เส้น ติดหวูดไอน้ำบนปล่องที่ 1 และ 2
    • การทาสี: ปลายปล่องไฟทาสีดำ ตัวปล่องทาสีแดง (สีแดงคูนาร์ด) มีแถบสีดำ 3 แถบคาดรอบปล่อง, โครงสร้างบนทาสีขาวงาช้าง, ตัวเรือทำสีดำ, ท้องเรือใต้ระดับน้ำทาสีแดง มีแถบสีขาวคั่นระหว่างตัวเรือกับท้องเรือ, ใบจักรสีทองบรอนซ์
    • หัวเรือ: เสากระโดงเรือ 1 ต้น, สมอเรือ 2 ตัว, ปั้นจั่น 7 ตัว สำหรับสมอเรือ 1 ตัว, ช่องสินค้า 2 ช่อง
    • ท้ายเรือ: เสากระโดงเรือ 1 ต้น, สะพานเทียบเรือ, หางเสือ 1 ตัว, สมอเรือ 2 ตัว, ปั้นจั่น 3 ตัว, ช่องสินค้า 1 ช่อง
    • ห้องเก็บสินค้า: 10 ห้อง (ห้องมาตรฐาน 5 ห้อง, ห้องแช่แข็ง 2 ห้อง, ห้องเก็บสัมภาระ 2 ห้อง และห้องไปรษณีย์ 1 ห้อง)
    • ใบจักร: 4 เพลา เพลาละ 4 พวง
    • ดาดฟ้า: 10 ชั้น; ชั้นเรือบด, ชั้น A–H และชั้นห้องเครื่อง
    • เรือบด: 80 ลำ, มีเครื่องยนต์ 2 ลำพร้อมวืทยุไร้สาย
    • ความจุผู้โดยสาร:
      • ค.ศ. 1914: 3,230 คน แบ่งเป็นชั้นหนึ่ง 618 คน, ชั้นสอง 614 คน และชั้นสาม 2,004 คน
      • ค.ศ. 1926: 2,200 คนแบ่งเป็น ชั้นหนึ่ง 610 คน, ชั้นสอง 950 คน และชั้นสาม 640 คน
    • ลูกเรือ: 972 คน

    ภายใน

    [แก้]
    ห้องรับประทานอาหารผู้โดยสารชั้นหนึ่ง

    ในปี ค.ศ. 1914 อาควิเทเนียมีความจุในการบรรทุกผู้โดยสาร 3,220 คน (ชั้นหนึ่ง 618 คน ชั้นสอง 614 คน และชั้นสาม 2,004 คน) แต่หลังจากการปรับปรุงใหม่ในปี ค.ศ. 1926 จำนวนตัวเลขก็ลดลงเหลือชั้นหนึ่ง 610 คน ชั้นสอง 950 คน และชั้นนักท่องเที่ยว 640 คน แม้ว่าข้อกำหนดเดิมจะระบุจำนวนลูกเรือไว้ที่ 972 คน แต่บางครั้งเรือลำนี้ก็บรรทุกลูกเรือประมาณ 1,100 คน[8]

    แม้ว่ารูปลักษณ์ของอาควิเทเนียจะขาดความเพรียวบางคล้ายเรือยอช์ตเหมือนดังเรือแฝดอย่างมอริเทเนียและลูซิเทเนีย แต่ความยาวและความกว้างที่เพิ่มขึ้นทำให้ห้องส่วนกลางมีขนาดใหญ่และกว้างขวางมากขึ้น พื้นที่ส่วนกลางของเรือออกแบบโดยอาร์เทอร์ โจเซฟ เดวิส สถาปนิกชาวอังกฤษจากบริษัทตกแต่งภายในมิวส์แอนด์เดวิส (Mewès and Davis) ที่เคยดูแลการก่อสร้างและตกแต่งโรงแรมริตซ์ในกรุงลอนดอน และตัวเดวิสเองก็เคยออกแบบธนาคารหลายแห่งในเมืองนั้น ชาลส์ มิวส์ หุ้นส่วนของเขาได้ออกแบบการตกแต่งภายในของโรงแรมริตซ์ในกรุงปารีส และได้รับการว่าจ้างโดยอัลเบิร์ต บัลลิน จากสายการเดินเรือแฮมเบิร์กอเมริกา (HAPAG) ของเยอรมันให้ตกแต่งภายในเรือเอสเอส อเมริกา (SS Amerika) ลำใหม่ของบริษัทในปี ค.ศ. 1905[9]

    บันไดใหญ่ของอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย

    ในช่วงหลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มิวส์ได้รับมอบหมายให้ตกแต่งเรือลำใหม่ขนาดยักษ์ทั้งสามลำของสายการเดินเรือ HAPAG ได้แก่เรือเอสเอส อิมเพอเรเตอร์, วาเทอร์แลนด์ และบิสมาร์ค ในขณะที่เดวิสได้รับมอบหมายให้ตกแต่งเรืออาควิเทเนีย[9] ในข้อตกลงระหว่างคูนาร์ดไลน์และแฮมเบิร์กอเมริกาไลน์ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน มิวส์และเดวิสได้ทำงานแยกกัน โดยเมเวสทำงานในเยอรมัน และเดวิสทำงานในอังกฤษ แต่ละฝ่ายไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดงานของตนให้ฝ่ายตรงข้ามทราบได้ แม้ว่าข้อตกลงนี้จะถูกละเมิดไปแล้วเกือบจะแน่นอน แต่การตกแต่งภายในชั้นหนึ่งของอาควิเทเนียส่วนใหญ่เป็นผลงานของเดวิส ห้องรับประทานอาหารแบบหลุยส์ที่ 16 นั้นได้รับอิทธิพลจากผลงานของมิวส์ในเรือของ HAPAG แต่ดูเหมือนว่าการทำงานร่วมกันมายาวนานหลายปีจะทำให้ผลงานของนักออกแบบทั้งสองแทบจะแยกไม่ออกเลยทีเดียว อันที่จริงเดวิสควรได้รับเครดิตสำหรับห้องสูบบุหรี่สไตล์คาโรลีนและห้องรับรองสไตล์ปัลลาดีโอ ซึ่งเป็นการตีความรูปแบบของสถาปนิกจอห์น เวบบ์[21]

    อาร์เทอร์ โจเซฟ เดวิส ผู้ออกแบบภายในของอาควิเทเนีย

    ชั้นสองมีห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่นหลายห้อง ห้องสูบบุหรี่ ร้านกาแฟ และยิมเนเซียม ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่หาได้ยากในชั้นสองของเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรของอังกฤษในสมัยนั้น ชั้นสามมีพื้นที่ส่วนกลางหลายแห่ง ระเบียงทางเดิน และห้องน้ำรวมสามห้อง[21] ห้องโดยสารของอาควิเทเนียให้ความสะดวกสบายอย่างมาก ชั้นหนึ่งประกอบด้วยห้องชุดสุดหรู 8 ห้องที่ตั้งชื่อตามจิตรกรชื่อดัง ห้องโดยสารชั้นหนึ่งจำนวนมากมีห้องน้ำแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ห้องโดยสารชั้นสองมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ส่วนใหญ่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3 คนแทนที่จะเป็น 4 คนตามมาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกของชั้นสามนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าเรือลำอื่น ๆ อย่างมาก ขณะที่เรือส่วนใหญ่ของคูนาร์ดจะจำกัดพื้นที่ชั้นสามที่ไว้บริเวณส่วนหน้าของเรือ แต่บนอาควิเทเนียพื้นที่ดังกล่าวกลับทอดยาวไปตลอดความยาวของเรือ และมีพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่หลายแห่ง ห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่สามห้อง และระเบียงทางเดินทั้งกลางแจ้งและแบบปิด[22]

    ตลอดระยะเวลา 35 ปีของการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในเรืออาควิเทเนียมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่น การเพิ่มโรงภาพยนตร์ในระหว่างการปรับปรุงเรือระหว่างปี ค.ศ. 1932–1933[23] และการปรับปรุงชั้นนักท่องเที่ยวในช่วงทศวรรษที่ 1920 เพื่อมอบความสะดวกสบายที่มากขึ้นให้กับผู้โดยสารที่มีงบประมาณจำกัด[24]

    ช่วงต้นและสงครามโลก

    [แก้]
    ไปรษณียบัตรรูปอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย

    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ทำการเดินเรือครั้งแรกในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 ภายใต้การบัญชาการของกัปตันวิลเลียม ทอมัส เทอร์เนอร์ และเดินทางถึงนครนิวยอร์กในวันที่ 5 มิถุนายน[1][14] การเดินทางครั้งนี้และการมาถึงนครนิวยอร์กได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก[25] เพียง 15 วันก่อนหน้านั้น เรือเอสเอส วาเทอร์แลนด์ ของเยอรมันซึ่งเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้นได้เริ่มให้บริการเป็นครั้งแรก การเดินทางครั้งแรกนี้ถือเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของชาติในสายตาสื่อมวลชน[26] อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ถูกบดบังไปด้วยการอับปางของเรืออาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟไอร์แลนด์ (RMS Empress of Ireland) ที่รัฐเกแบ็กในวันก่อนหน้า ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่า 1,000 คน[27] ไม่มีผู้โดยสารคนใดยกเลิกการเดินทางบนอาควิเทเนียเลย แม้ว่าเหตุการณ์เรือไททานิกอับปางจะก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวอย่างมากก็ตาม[15] ในการเดินทางเที่ยวแรกนี้ อาควิเทเนียบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 1,055 คนซึ่งคิดเป็นเพียงหนึ่งในสามของความจุทั้งหมด เหตุผลที่ทำให้ผู้โดยสารจำนวนน้อยกว่าปกตินั้นเป็นเพราะความเชื่อโชคลางที่ทำให้ผู้คนบางกลุ่มไม่กล้าเดินทางในเที่ยวแรกของเรือลำใหม่[ต้องการอ้างอิง] การเดินทางครั้งนี้ทำให้ทั้งลูกเรือและบริษัทพอใจเป็นอย่างยิ่ง ความเร็วเฉลี่ยตลอดการเดินทางระยะทาง 3,181 ไมล์ทะเล (5,891 กิโลเมตร; 3,661 ไมล์) วัดจากลิเวอร์พูลถึงเรือไฟนำทางที่ช่องแคบแอมโบรสอยู่ที่ 23.1 นอต (42.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 26.6 ไมล์ต่อชั่วโมง)[14] โดยคำนวณเวลาที่หยุดเรือ 5 ชั่วโมงเนื่องจากหมอกและภูเขาน้ำแข็ง[28] เรือลำนี้สามารถทำความเร็วเกิน 25 นอตได้ในช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนี้การใช้ถ่านหินของเรือยังน้อยกว่าลูซิเทเนียและมอริเทเนียอย่างเห็นได้ชัด ผู้โดยสารหลายคนต่างเพลิดเพลินกับการเดินทาง ในเที่ยวขากลับความสำเร็จของเรือก็ยังคงอยู่ โดยเรือบรรทุกผู้โดยสารทั้งหมด 2,649 คนซึ่งเป็นสถิติใหม่สำหรับเรือโดยสารของอังกฤษที่ออกจากนิวยอร์ก[29]

    เอชเอ็มเอชเอส อาควิเทเนีย ทำหน้าที่เป็นเรือพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

    เมื่ออาควิเทเนียเดินทางถึงท่าเรือต้นทางก็ได้รับการปรับปรุงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการนำข้อสังเกตที่ได้จากการเดินทางข้ามมหาสมุทรสองครั้งแรกมาปรับใช้ (เป็นเรื่องปกติสำหรับเรือโดยสารหลังจากการเดินทางไปกลับครั้งแรก)[29] ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนและตลอดเดือนกรกฎาคมของปีนั้นมีการเดินทางไปกลับอีกสองครั้ง เลนเนิร์ด เพสเกตต์ สถาปนิกของเรือได้เดินทางไปกับเรือในเที่ยวเหล่านั้นเพื่อบันทึกข้อบกพร่องและช่องทางในการปรับปรุงต่าง ๆ ตลอดการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 6 ครั้งแรกมีผู้โดยสารทั้งหมด 11,208 คนเดินทางไปกับเรือลำนี้ แต่การให้บริการของเรือก็ถูกขัดขวางอย่างฉับพลันด้วยการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งทำให้เรือต้องหยุดให้บริการผู้โดยสารเป็นเวลา 6 ปี[30][31]

    ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1914 อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรียถูกลอบปลงพระชนม์ และโลกก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งในไม่ช้า อาควิเทเนียถูกแปลงเป็นเรือพาณิชย์ลาดตระเวนติดอาวุธในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งมีการเตรียมการไว้ในขั้นตอนการออกแบบเรือลำนี้ ในวันที่ 8 สิงหาคมหลังจากที่ถอดเอาส่วนตกแต่งออกและติดตั้งปืนใหญ่ เรือลำนี้ก็ถูกส่งออกไปลาดตระเวน ในวันที่ 22 สิงหาคมเรือลำนี้ได้ชนเข้ากับเรืออีกลำชื่อแคนาเดียน ไม่นานหลังจากนั้นกระทรวงทหารเรือก็ตระหนักว่าเรือโดยสารขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งานสูงเกินไปที่จะนำไปใช้เป็นเรือลาดตระเวน ต่อมาในวันที่ 30 กันยายนเรือจึงได้รับการซ่อมแซม ถอดอาวุธ และส่งกลับคืนคูนาร์ดไลน์[32][4]

    ภาพถ่ายเรือแอควิเทเนียที่ถูกแปลงเป็นเรือขนส่งทหารและทาสีลายพราง ถ่ายที่เมืองแฮลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา เมื่อปี 1918

    หลังจากไม่ได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1915 อาควิเทเนียก็ถูกกระทรวงทหารเรือเรียกตัวกลับมาและปรับเปลี่ยนให้เป็นเรือขนส่งทหาร จากนั้นก็ทำการเดินทางไปยังดาร์ดาเนลส์ บางครั้งก็แล่นคู่กับเรือบริแทนนิกหรือมอริเทเนีย ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของปีนั้นมีทหารประมาณ 30,000 นายถูกขนส่งด้วยเรือลำนี้ไปยังสนามรบ[32] ต่อมาอาควิเทเนียถูกแปลงเป็นเรือพยาบาล และทำหน้าที่ในบทบาทนั้นในช่วงการทัพกัลลิโพลี[1][33] ในปี 1916 ปีที่เรือธงของไวต์สตาร์ไลน์และหนึ่งในคู่แข่งสำคัญของอาควิเทเนียคือ เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก ได้อับปางลง อาควิเทเนียถูกส่งกลับไปยังแนวหน้าเพื่อขนส่งทหาร และในปี 1917 เรือก็ถูกจอดนิ่งอยู่ที่ช่องแคบโซเลนต์[1][34] ในปี 1918 ภายใต้การบัญชาการของกัปตันเจมส์ ชาลส์ เรือลำนี้ก็ได้กลับมาแล่นในทะเลหลวงอีกครั้งในฐานะเรือขนส่งทหาร โดยทำหน้าที่ขนส่งทหารจากอเมริกาเหนือไปยังบริเตน เรือออกเดินทางจากท่าเรือแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย เป็นจำนวนหลายเที่ยว ที่ท่าเรือแห่งนี้ศิลปินและช่างภาพหลายคนรวมถึงแอนโทนีโอ เจคอบเซนก็ได้บันทึกภาพลายพรางของเรือลำนี้ไว้ ในครั้งหนึ่งอาควิเทเนียได้ขนส่งทหารมากกว่า 8,000 นาย และตลอดระยะเวลา 9 ครั้งของการเดินทาง เรือได้ขนส่งทหาทั้งหมดประมาณ 60,000 นาน ในช่วงเวลาดังกล่าวเรือได้ชนเข้ากับเรือยูเอสเอส ชอว์ (DD-68) ทำให้ส่วนหัวเรือรบพังยับเยิน อุบัติเหตุครั้งนี้มีลูกเรือของเรือรบอเมริกันเสียชีวิตถึง 12 นาย[35]

    หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 อาควิเทเนียก็ถูกปลดประจำการทางทหาร ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1919 เรือได้ชนเข้ากับเรือบรรทุกสินค้าของอังกฤษชื่อลอร์ดดัฟเฟอริน (Lord Dufferin) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้ลอร์ดดัฟเฟอรินอับปางลง และอาควิเทเนียก็ได้ช่วยเหลือลูกเรือทั้งหมดเอาไว้[36] ต่อมาลอร์ดดัฟเฟอรินถูกกู้ขึ้นมาและนำไปเกยตื้น[37]

    ระหว่างสงคราม

    [แก้]

    ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 อาควิเทเนียเริ่มให้บริการแบบ "รัดเข็มขัด" (austerity service) ของคูนาร์ดไลน์ ระหว่างเซาแทมป์ตัน แชร์บูร์ และนิวยอร์ก ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันอาควิเทเนียก็ถูกนำเข้าอู่เรืออาร์มสตรองวิทเวิร์ธในนิวคาสเซิล เพื่อทำการปรับปรุงเรือสำหรับให้บริการหลังสงคราม เรือถูกเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้น้ำมันแทน ซึ่งช่วยลดจำนวนลูกเรือในห้องเครื่องได้มาก[1][38] อุปกรณ์และงานศิลปะดั้งเดิมที่ถอดออกไปเมื่อคราวปรับปรุงเรือเพื่อใช้ทางทหารถูกนำออกมาจากคลังและติดตั้งใหม่ ในช่วงเวลานี้มีการสร้างห้องควบคุมเรือชั้นบนขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ร้องเรียนเกี่ยวกับทัศนวิสัยเหนือหัวเรือ ห้องควบคุมเรือชั้นที่สองนี้สามารถพบเห็นได้ในภาพถ่ายในช่วงหลัง และห้องควบคุมเรือชั้นล่างเดิมก็มีการติดแผ่นเหล็กปิดหน้าต่าง[39]

    ทศวรรษที่ 1920

    [แก้]
    อาควิเทเนียหลังการปรับปรุงใหม่ในปี 1920 ภาพนี้ถูกถ่ายในช่วงทศวรรษที่ 1930

    อาควิเทเนียกลับมาให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1920 โดยออกเดินทางจากลิเวอร์พูลพร้อมผู้โดยสาร 2,433 คน การเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เรือสามารถรักษาความเร็วได้ดี ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันนั้นประหยัดกว่าการใช้ถ่านหินอย่างมาก[40] การเดินทางมาถึงท่าเรือนิวยอร์กของเรือลำนี้ถูกบันทึกเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Manhatta ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีรุ่นบุกเบิกในปี 1921 โดยแสดงภาพเรือที่ถูกเรือลากจูงผลักไปยังจุดหมายปลายทาง เดือนต่อ ๆ มาก็เป็นไปในทิศทางที่ดีเช่นกัน แม้ว่าจะมีการนัดหยุดงานของพนักงานต้อนรับบนเรือในเดือนพฤษภาคม 1921[41] ในช่วงต้นทศวรรษ อาควิเทเนียเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่เพียงลำเดียวที่ให้บริการของคูนาร์ดไลน์ เนื่องจากมอริเทเนียกำลังซ่อมแซมหลังเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้นปี 1921 จึงเป็นปีพิเศษสำหรับอาควิเทเนีย โดยในปีนั้นได้เรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป 30 ครั้ง (ไปกลับ 15 เที่ยว) และทำลายสถิติโดยขนส่งผู้โดยสารไปทั้งหมด 60,587 คน (26,331 คนในชั้นสาม) ซึ่งเฉลี่ยมากกว่า 2,000 คนต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง[42] ในปีต่อมา มอริเทเนียก็กลับมาร่วมให้บริการกับคูนาร์ดไลน์อีกครั้ง อาควิเทเนียจึงได้ร่วมให้บริการกับมอริเทเนียและเบเรนแกเรีย (เดิมคือเอสเอส อิมเพอเรเตอร์ ของเยอรมัน) ซึ่งทั้งสามลำนี้รวมกันเป็นที่รู้จักในชื่อ "เดอะบิกทรี" (The Big Three)[4][43]

    ในปี ค.ศ. 1924 สหรัฐมีการออกกฎหมายจำกัดคนเข้าเมืองใหม่ ทำให้จำนวนผู้โดยสารชั้นสามลดลงอย่างมากจากจำนวนกว่า 26,000 คนที่อาควิเทเนียขนส่งในปี 1921 ลดลงเหลือประมาณ 8,200 คนในปี 1925 ส่งผลให้จำนวนลูกเรือลดลงเหลือประมาณ 850 คนจากเดิม 1,200 คน[43] ชั้นสามจึงไม่ใช่กุญแจสำคัญในการทำกำไรของเรือลำนี้อีกต่อไป คูนาร์ดไลน์จึงต้องปรับตัว ชั้นสามค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นชั้นท่องเที่ยว ซึ่งให้บริการที่ดีในราคาประหยัด ในปี 1926 เรือได้ผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่ซึ่งลดจำนวนผู้โดยสารเหลือประมาณ 2,200 คนจากเดิม 3,300 คน[44]

    อย่างไรก็ตาม คูนาร์ดไลน์ได้ประโยชน์จากการห้ามจำหน่ายสุราในสหรัฐซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1919 เนื่องจากเรือของสหรัฐถือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสหรัฐตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนเรือเหล่านั้นได้ ผู้โดยสารที่ต้องการดื่มจึงเลือกเดินทางด้วยเรือของอังกฤษแทนเพื่อที่จะทำเช่นนั้น[45] อาควิเทเนียประสบความสำเร็จอย่างมากและสร้างผลกำไรให้กับบริษัทเป็นจำนวนมาก ในปี 1929 เรือได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยมีการเพิ่มห้องน้ำในห้องโดยสารชั้นหนึ่งหลายห้องและปรับปรุงห้องโดยสารชั้นท่องเที่ยว แม้จะมีคู่แข่งรายใหม่เช่น เรือเอสเอส เบรเมิน ของเยอรมันเข้ามาให้บริการ แต่อาควิเทเนียก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากหลังจากให้บริการมาแล้ว 15 ปี[46]

    วิกฤตการณ์ในปี 1929 และผลกระทบที่ตามมา

    [แก้]

    หลังจากเกิดเหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์ตกในปี ค.ศ. 1929 เรือหลายลำได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง อาควิเทเนียเองก็ประสบปัญหาเช่นกันเนื่องจากมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถจ่ายค่าโดยสารราคาแพงได้ คูนาร์ดไลน์จึงส่งอาควิเทเนียไปล่องเรือสำราญราคาถูกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่ต้องการหลีกหนีการห้ามจำหน่ายสุราในประเทศของตน[47] นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาอีกประการหนึ่งนั่นคือเรือเอสเอส เบรเมิน และเอสเอส ยูโรปา ของสายการเดินเรือนอร์ทด็อยท์เชอร์ล็อยท์สามารถคว้ารางวัลบลูริบบันด์และลูกค้าไปได้เป็นจำนวนมาก[48] ในปี 1934 จำนวนผู้โดยสารบนอาควิเทเนียลดลงเหลือประมาณ 13,000 คนจากเดิม 30,000 คนในปี 1929[49] แม้กระนั้น เรือลำนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก และในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 อาควิเทเนียเป็นเรือที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสามรองจากเรือโดยสารของเยอรมันอีกสองลำ[47]

    อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ คือเรือเดินสมุทรที่เข้ามาแทนอาควิเทเนียในปี 1940 ซึ่งเดิมทีมีแผนจะปลดประจำการอาควิเทเนีย แต่ด้วยสงครามโลกครั้งที่สองทำให้เรือถูกเลื่อนการปลดระวางออกไป

    เพื่อให้เรือยังคงทันสมัย คูนาร์ดไลน์ได้ทำการปรับปรุงเรืออาควิเทเนียโดยเพิ่มโรงภาพยนตร์เข้าไประหว่างปี ค.ศ. 1932– 1933 ในขณะเดียวกัน เพื่อปรับปรุงฝูงเรือให้ทันสมัย บริษัทได้สั่งสร้างเรือควีนแมรี แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้บริษัทไม่สามารถระดมทุนสร้างเรือได้เต็มจำนวน บริษัทจึงตัดสินใจควบรวมกิจการกับคู่แข่งอย่างไวต์สตาร์ไลน์ในปี 1934 เพื่อดำเนินการสร้างเรือควีนแมรีให้สำเร็จซึ่งได้เริ่มให้บริการในปี 1936[50] "ซี. อาร์. บอนซอร์ ผู้เขียนในปี 1963 กล่าวว่า "ตั้งแต่ปี 1936 เป็นต้นมา มีความจำเป็นต้องเร่งความเร็วสูงสุดของอาควิเทเนีย เพื่อให้สามารถแล่นคู่กับควีนแมรีได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการเดินทางด้วยความเร็ว 24 นอตจึงกลายเป็นเรื่องปกติ[51]

    อาควิเทเนียเกยตื้นในช่องแคบโซเลนต์เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1934 แต่สามารถลอยตัวได้อีกครั้งในวันเดียวกัน[52] การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทกลายเป็นสายการเดินเรือคูนาร์ด–ไวต์สตาร์ไลน์ ทำให้เกิดเรือส่วนเกินจำนวนมากภายใต้การเป็นเจ้าของโดยบริษัทเดียว ดังนั้นเรือเก่าเช่นมอริเทเนียและโอลิมปิกจึงถูกปลดประจำการและส่งไปยังโรงงานรื้อเรือทันที อย่างไรก็ตาม อาควิเทเนียกลับไม่ได้ถูกปลดประจำการแม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม[53] วันที่ 10 เมษายน 1935 อาควิเทเนียเกยตื้นอย่างหนักที่ทอร์นโนลล์ ในช่องแคบโซเลนต์ใกล้กับเมืองเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยความช่วยเหลือของเรือลากจูงสิบลำในช่วงน้ำขึ้นสูง เรือก็สามารถลอยตัวได้อีกครั้ง[1] เมื่อเรือโดยสารลำใหม่ อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (RMS Queen Elizabeth) มีกำหนดเข้าประจำการในปี 1940 หนังสือพิมพ์ต่างคาดการณ์ว่าอาควิเทเนียจะถูกขายเป็นเศษเหล็กในปีนั้น เนื่องจากควีนเอลิซาเบธเข้ามาแทนที่เรือลำนี้ในเส้นทางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ อย่างไรก็ตาม ผลงานและประสิทธิภาพของเรือยังคงสร้างความพอใจให้กับบริษัทและสงครามโลกครั้งที่สองได้ก็ปะทุขึ้น ทำให้เรือเดินสมุทรลำเก่านี้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ในปี 1939 จำนวนผู้โดยสารที่ร่ำรวยบนเรือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ในขณะนั้นเรือลำนี้จะมีอายุถึง 26 ปีแล้วก็ตาม[54]

    สงครามโลกครั้งที่สอง

    [แก้]

    อาควิเทเนียซึ่งมีความจุบรรทุกทหารปกติ 7,400 นายเป็นหนึ่งในกลุ่มเรือโดยสารขนาดใหญ่และเร็วพิเศษเพียงไม่กี่ลำที่สามารถแล่นบนทะเลได้โดยอิสระโดยไม่ต้องมีเรือคุ้มกัน และสามารถขนส่งทหารจำนวนมากได้ ทำให้ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจทั่วโลกตามความต้องการ[55] กลุ่มเรือเหล่านี้มักถูกเรียกว่า "สัตว์ประหลาด" จนกระทั่งลอนดอนขอให้หยุดใช้คำนี้ เรือเหล่านี้ประกอบด้วยอาควิเทเนีย, ควีนแมรี, ควีนเอลิซาเบธ, มอริเทเนีย II, อีล-เดอ-ฟร็องส์ และนิวอัมสเตอร์ดัม โดยมีกลุ่ม "สัตว์ประหลาดน้อย" ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สามารถแล่นได้อย่างอิสระพร้อมกำลังพลจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็นส่วนใหญ่ของกำลังพลและการปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของสงคราม[56]

    อาควิเทเนียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

    แผนการแทนที่อาควิเทเนียด้วยเรือควีนเอลิซาเบธที่ทันสมัยกว่าในปี 1940 นั้นต้องถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1939[4] ในวันที่ 16 กันยายน 1939 อาควิเทเนียจอดอยู่ที่ท่าเรือ 90 ในนครนิวยอร์ก เพื่อรอการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นเรือขนส่งทหารร่วมกับเรือควีนแมรี ใกล้เคียงกันที่ท่าเรือ 88 ก็มีเรือโดยสารของฝรั่งเศสจอดอยู่คือ เอสเอส อีลเดอฟร็องส์ (SS Île de France) และเอสเอส นอร์ม็องดี (SS Normandie)[1][4] อาควิเทเนียกลับเซาแทมป์ตันและถูกเรียกเข้าประจำการในวันที่ 18 พฤศจิกายน[57]

    ภารกิจขนส่งทหารครั้งแรกของอาควิเทเนียคือการนำทหารแคนาดาไปยังสกอตแลนด์ในขบวนเรือ TC1 ร่วมกับเรืออาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟบริเตน, เอ็มเพรสออฟออสเตรเลีย, ดัชเชสออฟเบดฟอร์ด, มอนาร์กออฟเบอร์มิวดา, เรือหลวงเอชเอ็มเอส ฮูด, วอร์สไปท์, บาแรม, เรโซลูชัน, รีพัลส์, และฟิวเรียส ในเดือนธันวาคม 1939[1] ในระหว่างนั้นมีการวางแผนการขนส่งทหารจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จำนวนมากไปยังสุเอซและแอฟริกาเหนือ โดยมีแผนสำรองว่าอาจเปลี่ยนเส้นทางไปยังสหราชอาณาจักรหากสถานการณ์จำเป็น โดยการขนส่งครั้งนี้จะใช้รหัส "US" และมอบหมายให้เรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกขนาดใหญ่ลำต่าง ๆ เข้าร่วมปฏิบัติการ[58] กองเรือเร็วที่ได้รับการกำหนดรหัสเป็น US.3 ประกอบด้วยเรืออาควิเทเนียและเรือโดยสารขนาดใหญ่ได้แก่ ควีนแมรี, มอริเทเนีย II, เอ็มเพรสออฟบริเตน, เอ็มเพรสออฟแคนาดา, เอ็มเพรส ออฟเจแปน และแอนดีส[59] อาควิเทเนีย, เอ็มเพรสออฟบริเตน และเอ็มเพรสออฟเจแปน หลังจากรับทหารนิวซีแลนด์ขึ้นเรือที่เวลลิงตันในเดือนพฤษภาคมแล้ว ก็ได้แล่นออกไปพร้อมกับการคุ้มกันจากเรือเอชเอ็มเอเอส แคนเบอร์รา, ออสเตรเลีย และเอชเอ็มเอ็นซีเอส เลแอนเดอร์ เพื่อมารวมกับกองกำลังออสเตรเลียที่ซิดนีย์ในวันที่ 5 พฤษภาคม 1940[60] เมื่อมาถึงซิดนีย์ เรือควีนแมรีและมอริเทเนียได้เข้าร่วมขบวนเรือ และขบวนเรือก็ออกเดินทางในวันเดียวกัน โดยในวันรุ่งขึ้นเรือเอ็มเพรสออฟแคนาดาจากเมลเบิร์นก็ได้เข้าร่วมขบวนเรือด้วย ก่อนจะแวะจอดที่ฟรีแมนเทิลระหว่างวันที่ 10–12 พฤษภาคม และจะเดินทางต่อไปยังโคลัมโบตามแผนการเดิม[60] วันที่ 15 พฤษภาคม ขณะที่กำลังเดินทางไปยังโคลัมโบครึ่งทาง ขบวนเรือก็ถูกสั่งเปลี่ยนเส้นทางเนื่องจากกองทัพเยอรมันบุกเข้าไปในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว ปลายทางสุดท้ายจึงเปลี่ยนเป็นเมืองกูร็อก ประเทศสกอตแลนด์ โดยจะเดินทางผ่านเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ และฟรีทาวน์ ประเทศเซียร์ราลีโอน ที่ซึ่งจะมีการเสริมกำลังคุ้มกันด้วยเรือต่าง ๆ รวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินเอชเอ็มเอส เฮอร์มีส และเอชเอ็มเอส อาร์กัส และเรือลาดจระเวนประจัญบานเอชเอ็มเอส ฮูด[61] ขบวนเรือมาถึงแม่น้ำไคลด์และจอดเทียบท่าที่กูร็อกในวันที่ 16 มิถุนายน 1940[62]

    อาควิเทเนียถูกทาสีเป็นสีเทาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

    ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1941 อาควิเทเนียซึ่งถูกทาสีใหม่เป็นสีเทาอย่างเรือรบในขณะนั้น ได้เดินทางมาถึงสิงคโปร์ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และได้ออกเดินทางจากที่นั่นไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียเรือลาดตระเวนเอชเอ็มเอเอส ซิดนีย์ ของออสเตรเลีย ซิดนีย์ได้เข้าร่วมในยุทธนาวีกับเรือลาดตระเวนเสริมคอร์โมรันของเยอรมัน มีการคาดเดาที่ยังไม่ได้รับการยืนยันมากมายว่าคอร์โมรันได้คาดหวังที่จะพบกับเรืออาควิเทเนีย หลังจากสายลับในสิงคโปร์ได้แจ้งให้ลูกเรือของคอร์โมรันทราบถึงการออกเดินทางของเรือลำนี้ และวางแผนที่จะซุ่มโจมตีในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกของเพิร์ท แต่กลับพบกับเรือซิดนีย์ในวันที่ 19 พฤศจิกายนแทน ทั้งสองลำสูญเสียไปหลังจากการต่อสู้ที่ดุเดือด ในเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน ขณะที่เรืออาควิเทเนียกำลังเดินทางจากสิงคโปร์ไปยังซิดนีย์ ได้พบเห็นและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรือเยอรมัน 26 คน แต่เรือได้รักษาความเงียบทางวิทยุและไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ จนกระทั่งเข้าใกล้แหลมวิลสันส์พรอมอนทอรีในวันที่ 27 พฤศจิกายน[63] กัปตันได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามหยุดช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรืออับปาง[1] ไม่มีผู้รอดชีวิตจากเรือซิดนีย์เลย

    เดือนธันวาคมได้เห็นการปะทุของสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิก ตามมาด้วยการรุกคืบของญี่ปุ่นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมุ่งหน้าสู่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกำลังป้องกันใหม่[64] วันที่ 28 ธันวาคม อาควิเทเนียพร้อมด้วยเรือขนส่งขนาดเล็กอีกสองลำได้ออกเดินทางจากซิดนีย์โดยบรรทุกทหารออสเตรเลีย 4,150 นาย และอุปกรณ์หนัก 10,000 ตัน มุ่งหน้าไปยังพอร์ตมอร์สบี ในนิวกินี (ในวันเดียวกัน ยูเอสเอส ฮิวส์ตัน และเรือรบสหรัฐลำอื่น ๆ ที่อพยพมาจากทางเหนือได้เดินทางมาถึงเมืองดาร์วินโดยมียูเอสเอส เพนซาโคลา และส่วนหนึ่งของกองเรือคุ้มกันฟิลิปปินส์ที่ถูกเปลี่ยนเส้นทางอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 ไมล์ทะเล (480 กิโลเมตร)) อาควิเทเนียกลับถึงซิดนีย์อีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 1942[65] ภารกิจต่อไปคือการเสริมกำลังให้กับสิงคโปร์และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ โดยเรืออาควิเทเนียจะทำหน้าที่ขนส่งทหารออสเตรเลีย (ซึ่งอุปกรณ์ของพวกเขาอยู่ในขบวนเรือ MS.1) ในฐานะขบวนเรือเดี่ยว MS.2 ภายใต้การคุ้มกันของเรือเอชเอ็มเอเอส แคนเบอร์รา[66] เรือลำนี้เป็นเพียงพาหนะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเคลื่อนพลจำนวนมากขนาดนี้ เดิมทีมีการพิจารณาให้ขนส่งไปยังสิงคโปร์โดยตรง แต่เนื่องจากความเสี่ยงจากเครื่องบินที่จะโจมตีทรัพย์สินที่มีค่าและกำลังพลจำนวนมากจึงทำให้แผนการเปลี่ยนไป แทนที่จะเดินทางต่อไป อาควิเทเนียได้ออกเดินทางจากซิดนีย์ในวันที่ 10 มกราคม และถึงอ่าวราไตที่ช่องแคบซุนดาในวันที่ 20 มกราคม ที่นั่นมีการถ่ายย้ายกำลังพล 3,456 นาย (รวมถึงทหารเรือ ทหารอากาศ และพลเรือนบางส่วน) [66] โดยมีกำลังทหารเรือคุ้มกันไปยังเรือขนาดเล็ก 7 ลำ (6 ลำในจำนวนนั้นเป็นเรือของบริษัทเคพีเอ็มของเนเธอร์แลนด์) ซึ่งจะเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ในฐานะขบวนเรือ MS.2A[66] อาควิเทเนียกลับไปยังซิดนีย์ในวันที่ 31 มกราคม[66]

    อาควิเทเนียที่อู่ทหารเรือบอสตันในเดือนกันยายน ค.ศ. 1942

    เนื่องจากสหรัฐเข้าร่วมสงคราม อาควิเทเนียซึ่งในขณะนั้นสามารถบรรทุกกำลังพลได้ 4,500 นายได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขนส่งทหารจากสหรัฐไปยังออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากต้องทำการซ่อมแซมที่จำเป็นจึงทำให้แผนการดังกล่าวล่าช้าออกไป เนื่องจากความลึกของตัวเรือของอาควิเทเนียเป็นอันตรายต่อท่าเรือในออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก[67] อาควิเทเนียจึงใช้เวลาในเดือนมีนาคมและเมษายน 1942 ขนส่งกำลังพลจากชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาไปยังฮาวาย[68][69] ต่อมาอาควิเทเนียถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายกำลังพลจากสหรัฐไปยังอังกฤษ โดยออกเดินทางจากนครนิวยอร์กในวันที่ 30 เมษายน ในขบวนเรือขนาดใหญ่ที่ขนส่งทหารราว 19,000 นาย[70]วันที่ 12 พฤษภาคม 1942 อาควิเทเนียได้บรรทุกกำลังพลที่กูร็อกเพื่อมุ่งหน้าไปยังสงครามในตะวันออกกลาง โดยออกเดินทางในขบวนเรือ WS19P เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พร้อมด้วยเรือพิฆาตและเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้าย แต่เนื่องจากความเร็วที่มากกว่า อาควิเทเนียจึงแยกตัวออกเดินทางเพียงลำเดียวในวันที่ 7 มิถุนายน โดยใช้รหัสขบวนเรือว่า WS19Q[71] ท่าเรือแรกที่จอดคือที่เมืองฟรีทาวน์ (แอฟริกาตะวันตก) เป็นเวลา 48 ชั่วโมงในวันที่ 11 มิถุนายน จากนั้นก็จอดที่เมืองไซมอนส์ทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้เป็นเวลา 3 วันในวันที่ 20 มิถุนายน ต่อมาก็จอดที่เมืองอันต์ซีรานานา ประเทศมาดากัสการ์ เป็นเวลา 48 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน และจอดที่สตีเมอร์พอยต์ ในเมืองเอดินเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในวันที่ 3 กรกฎาคม ก่อนจะปล่อยผู้โดยสารที่ท่าเรือเทฟวิก ประเทศอียิปต์ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1942[72] การเดินทางกลับมีเส้นทางผ่านเมืองดีเอโกซัวเรซ เคปทาวน์ ฟรีทาวน์ และมุ่งหน้าไปยังบอสตัน "ภายในเดือนกันยายน อาควิเทเนียได้เข้าร่วมภารกิจขนส่งทหารรูปแบบสามเหลี่ยม ระหว่างสหรัฐ สหราชอาณาจักร และมหาสมุทรอินเดีย[73]

    อาควิเทเนีย (ซ้าย) และเอสเอส อีลเดอฟร็องส์ ในระหว่างปฏิบัติการแพมเฟล็ต

    ในฐานะส่วนหนึ่งของการเคลื่อนย้ายกำลังพลออสเตรเลียครั้งใหญ่จากแอฟริกาเหนือเพื่อกลับไปป้องกันประเทศออสเตรเลียและเริ่มปฏิบัติการรุกในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ เรืออาควิเทเนีย, ควีนแมรี, อีลเดอฟร็องส์, นิวอัมสเตอร์ดัม และเรือพาณิชย์ลาดตระเวนติดอาวุธ เอชเอ็มเอส ควีนออฟเบอร์มิวดา (HMS Queen of Bermuda) ได้ร่วมกันขนส่งกองพลที่ 9 ของกองทัพออสเตรเลียกลับไปยังซิดนีย์ในปฏิบัติการแพมเฟลตระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943[74]

    ในช่วงการเตรียมการสำหรับการบุกครองยุโรปในปี ค.ศ. 1944 การส่งกำลังบำรุงไปยังอังกฤษนั้นต้องพึ่งพาอาควิเทเนียและ "เรือยักษ์" ลำอื่น ๆ เป็นอย่างมาก และไม่มีการเตรียมการใด ๆ เพื่อรองรับการหยุดให้บริการของเรือเหล่านี้เพื่อการขนส่งอื่น ๆ[75]

    การขึ้นเรือในช่วงสงครามที่นิวยอร์กมีรายละเอียดอธิบายไว้ในรายละเอียดการเดินทางของกลุ่มพิเศษกองทัพเรือที่ 56 (Special Navy Advance Group 56 - SNAG 56) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นโรงพยาบาลฐานทัพเรือหมายเลข 12 ที่โรงพยาบาลโรยัลวิกตอเรีย เมืองเน็ตลีย์ ประเทศอังกฤษ เพื่อรับผู้บาดเจ็บจากนอร์ม็องดี หน่วยงานนี้ถูกส่งไปยังเจอร์ซีย์ซิตีผ่านทางรถไฟ โดยใช้เส้นทางที่อ้อมคดเคี้ยว จากนั้นภายใต้การปกปิดของความมืด พวกเขาก็ขึ้นเรือเฟอร์รีข้ามฟากไปยังท่าเรือ 86 ที่ถูกปกปิดในนิวยอร์ก ที่นั่นมีวงดนตรีบรรเลงเพลงและสภากาชาดแจกกาแฟและโดนัทเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พวกเขาจะขึ้นเรือ "N.Y. 40" ซึ่งเป็นรหัสเรียกของท่าเรือนิวยอร์กสำหรับเรืออาควิเทเนีย เรือออกเดินทางในเช้าวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1944 โดยบรรทุกทหารเรือราว 1,000 นาย และทหารบก 7,000 นาย โดยเดินทางถึงเมืองกูร็อก ประเทศสกอตแลนด์ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์[76]

    ในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ทำหน้าที่ทางทหาร อาควิเทเนียได้แล่นเรือเป็นระยะทางมากกว่า 500,000 ไมล์ และขนส่งทหารเกือบ 400,000 นาย[1][77] ไปและกลับจากสถานที่ที่ห่างไกล เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แปซิฟิกใต้ กรีซ และมหาสมุทรอินเดีย[78] ไมเคิล แกลลาเกอร์ นักประวัติศาสตร์ของคูนาร์ดกล่าวว่า "วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ให้เครดิตแก่เรืออาควิเทเนีย, ควีนแมรี, และควีนเอลิซาเบธ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปยุติเร็วขึ้นหนึ่งปี"

    หลังสงครามและปลดระวาง

    [แก้]
    ในช่วงปีสุดท้ายของการให้บริการ อาควิเทเนียยังคงใช้สีตัวเรือเป็นสีเทาตามแบบที่ใช้ในช่วงสงคราม แต่ปล่องไฟที่ทาสีในตามแบบของคูนาร์ดไลน์

    หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเป็นเรือขนส่งทหาร เรือถูกส่งคืนให้กับคูนาร์ด–ไวต์สตาร์ไลน์ในปี 1948 และได้รับการปรับปรุงเพื่อกลับมาให้บริการขนส่งผู้โดยสาร จากนั้นจึงถูกใช้ในการขนส่งเจ้าสาวสงครามและบุตรของพวกเขาไปยังแคนาดาภายใต้สัญญาเช่าจากรัฐบาลแคนาดา บริการครั้งสุดท้ายนี้สร้างความผูกพันพิเศษระหว่างอาควิเทเนียกับเมืองแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทางของการเดินทางอพยพเหล่านี้[79][4]

    ภาพจิตรกรรมฝาผนังของเรืออาควิเทเนีย 'เรือที่สวยงาม'

    อาควิเทเนียออกเดินทางในเที่ยวเรือเชิงพาณิชย์ครั้งสุดท้ายจากแฮลิแฟกซ์ไปยังเซาแทมป์ตันระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม ค.ศ. 1949 หลังจากทำหน้าที่เสร็จสิ้น อาควิเทเนียก็ถูกปลดประจำการในเดือนธันวาคม 1949 เมื่อใบรับรองของคณะกรรมการการค้าหมดอายุ เนื่องจากสภาพของเรือเสื่อมโทรม และการปรับปรุงเรือให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยใหม่โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับอัคคีภัยนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ดาดฟ้ารั่วในสภาพอากาศเลวร้าย ผนังกั้นน้ำและปล่องไฟนั้นผุกร่อนจนสามารถแทงนิ้วทะลุผ่านได้ มีข่าวลือว่าในระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวันของบริษัทบนเรือ มีเปียโนตกลงมาจากดาดฟ้าชั้นบนทะลุผ่านหลังคาของห้องอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องเท็จ[4][80]

    หลังให้บริการมานานหลายปี เรืออาควิเทเนียได้สิ้นสุดอาชีพลงที่ฟาสเลน ประเทศสกอตแลนด์ โดยถูกนำไปตัดเป็นเศษเหล็กในปี 1950

    หลังจากการเดินทางครั้งสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ค.ศ. 1950 จากเซาแทมป์ตันไปยังฟาสเลน เรือลำนี้ก็ถูกขายให้กับบริษัทสหกิจเหล็กกล้าแห่งอังกฤษ (British Iron and Steel Corporation) เพื่อนำไปตัดเป็นเศษเหล็กในราคา 125,000 ปอนด์ ที่ฟาสเลน ประเทศสกอตแลนด์[1] การรื้อถอนเรือใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี และแล้วเสร็จในที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 1951[80] นี่เป็นการปิดฉากอาชีพการเดินเรือที่ครอบคลุมระยะทาง 3 ล้านไมล์ในการเดินทางไปกลับ 450 เที่ยว อาควิเทเนียได้ขนส่งผู้โดยสาร 1.2 ล้านคน ตลอดระยะเวลาการให้บริการทางทะเลที่ยาวนานเกือบ 36 ปี ทำให้เป็นเรือด่วนที่ให้บริการยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 อาควิเทเนียเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ลำเดียวและลำสุดท้ายที่ให้บริการและรอดจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นเรือโดยสารสี่ปล่องไฟลำสุดท้ายที่ถูกขายเป็นเศษเหล็ก[77] สามารถชมพวงมาลัยเรือและแบบจำลองเรืออาควิเทเนียในมาตราส่วนที่ละเอียดได้ที่นิทรรศการของคูนาร์ดไลน์ ณ พิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งแอตแลนติก ในเมืองแฮลิแฟกซ์

    ในปี 1963 นักเขียนทางทะเล เอ็น. อาร์. พี. บอนเซอร์ ได้เขียนถึงอาควิเทเนียไว้ว่า "คูนาร์ดไลน์ได้รับเรือลำเก่าของพวกเขากลับคืนมาในปี 1948 แต่ก็ไม่คุ้มค่าที่จะซ่อมแซม ในช่วง 35 ปีที่ให้บริการ อาควิเทเนียได้แล่นไปแล้วกว่า 3 ล้านไมล์ และนอกเหนือจากเรือกลไฟของอัลแลนไลน์อีกหนึ่งหรือสองลำแล้ว ก็ไม่มีเรือลำใดให้บริการภายใต้เจ้าของเดียวมายาวนานเท่านี้"[81][82][83]

    แกลเลอรี

    [แก้]
    ภาพวาดทางทหารแสดงให้เห็นถึงเรืออาร์เอ็มเอส อาควิเทเนียในรูปแบบดั้งเดิมของปี 1914 (กราบขวา)
    ภาพวาดทางทหารแสดงให้เห็นถึงเรืออาร์เอ็มเอส อาควิเทเนียในรูปแบบดั้งเดิมของปี 1914 (กราบขวา) 
    ห้องรับประทานอาหารชั้นหนึ่ง
    ห้องรับประทานอาหารชั้นหนึ่ง 
    ห้องสูบบุหรี่ชั้นหนึ่ง
    ห้องสูบบุหรี่ชั้นหนึ่ง 
    บันไดใหญ่
    บันไดใหญ่ 
    สระว่ายน้ำชั้นหนึ่ง
    สระว่ายน้ำชั้นหนึ่ง 
    ห้องรับรองชั้นหนึ่ง
    ห้องรับรองชั้นหนึ่ง 
    ท้ายของอาควิเทเนีย ภาพถ่ายนี้ถูกบันทึกไว้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 1914 ไม่นานก่อนการเดินทางครั้งแรกของเรือในปลายเดือนเดียวกัน
    ท้ายของอาควิเทเนีย ภาพถ่ายนี้ถูกบันทึกไว้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 1914 ไม่นานก่อนการเดินทางครั้งแรกของเรือในปลายเดือนเดียวกัน 
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย เมื่อคราวสร้างเสร็จในปี 1914
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย เมื่อคราวสร้างเสร็จในปี 1914 
    เรือพยาบาล เอชเอ็มเอชเอส อาควิเทเนีย (HMHS Aquitania) ในปี 1916 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
    เรือพยาบาล เอชเอ็มเอชเอส อาควิเทเนีย (HMHS Aquitania) ในปี 1916 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 
    ภาพวาดของเอชเอ็มที อาควิเทเนีย (HMT Aquitania) ในลายพรางที่โดดเด่นเฉพาะตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
    ภาพวาดของเอชเอ็มที อาควิเทเนีย (HMT Aquitania) ในลายพรางที่โดดเด่นเฉพาะตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 
    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1919 ถูกทาสีด้วยลายพรางตาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1919 ถูกทาสีด้วยลายพรางตาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย กับอาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (ด้านหน้าขวา) และอาร์เอ็มเอส โอลิมปิก ของไวต์สตาร์ไลน์ (ด้านซ้ายสุด) ที่เซาแทมป์ตันในช่วงต้นทศวรรษที่ 1920
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย กับอาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (ด้านหน้าขวา) และอาร์เอ็มเอส โอลิมปิก ของไวต์สตาร์ไลน์ (ด้านซ้ายสุด) ที่เซาแทมป์ตันในช่วงต้นทศวรรษที่ 1920 
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย ในช่วงทศวรรษที่ 1920
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย ในช่วงทศวรรษที่ 1920 
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย เกยตื้นอย่างรุนแรงบนโขดหินทอร์นโนลล์ นอกชายฝั่งเซาแธมป์ตัน ในเดือนเมษายน 1935
    อาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย เกยตื้นอย่างรุนแรงบนโขดหินทอร์นโนลล์ นอกชายฝั่งเซาแธมป์ตัน ในเดือนเมษายน 1935 
    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ระหว่างการถูกรื้อถอนในช่วงปลายปี 1950
    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ระหว่างการถูกรื้อถอนในช่วงปลายปี 1950 

    อ้างอิง

    [แก้]
    1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 Pocock, Michael. "MaritimeQuest – Aquitania (1914) Builder's Data". www.maritimequest.com. สืบค้นเมื่อ 6 April 2018.
    2. "HMS Aquitania". Scottish Built Ships: the history of shipbuilding in Scotland. Caledonian Maritime Research Trust. สืบค้นเมื่อ 27 July 2017.
    3. Chirnside 2008, p. 8.
    4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 "TGOL – Aquitania". thegreatoceanliners.com. สืบค้นเมื่อ 12 June 2021.
    5. 5.0 5.1 "'Aquitania (1914 – 1950 ; 45,674 tons ; Served in two World Wars)". chriscunard.com. 2009. สืบค้นเมื่อ 11 January 2009.
    6. Le Goff 1998, p. 37
    7. Le Goff 1998, p. 33
    8. 8.0 8.1 Chirnside 2008, p. 8
    9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 Chirnside 2008, p. 13
    10. "About QE2". สืบค้นเมื่อ 2009-05-02. Queen Elizabeth 2 : About QE2 : General Information. Retrieved 2 May 2009
    11. Piouffre 2009, p. 52.
    12. International Marine Engineering & (July 1914), pp. 281–282.
    13. Chirnside 2008, p. 14
    14. 14.0 14.1 14.2 International Marine Engineering & (July 1914), p. 277.
    15. 15.0 15.1 Chirnside 2008, p. 19
    16. Chirnside 2008, pp. 58–59
    17. Chirnside 2008, p. 40
    18. 18.0 18.1 18.2 18.3 International Marine Engineering & (July 1914), p. 282.
    19. Chirnside 2008, pp. 14–15
    20. 20.0 20.1 International Marine Engineering & (July 1914), p. 283.
    21. 21.0 21.1 Chirnside 2008, p. 10
    22. Chirnside 2008, p. 88
    23. Chirnside 2008, p. 45
    24. Aquitania, Down the Years, Mark Chirnside's Reception Room. Accesses 24 February 2013
    25. Newspaper articles heralding the new ship on her maiden trip to New York
    26. Le Goff 1998, p. 52
    27. Le Goff 1998, p. 28
    28. The Detroit Times 'Aquitania' Sets New Record For Ocean Passage' June 5 1914
    29. 29.0 29.1 Chirnside 2008, p. 23
    30. Chirnside 2008, p. 26
    31. The Pine Bluff Daily Graphic; "Government Assumes Control of Aquitania For Transport Purposes" July 31, 1914
    32. 32.0 32.1 Chirnside 2008, p. 27
    33. Le Goff 1998, p. 55
    34. Chirnside 2008, p. 33
    35. Chirnside 2008, p. 34
    36. "Lord Reading's ship in collision". The Times. No. 42038. London. 3 March 1919. col E, p. 10.
    37. "Casualty reports". The Times. No. 42038. London. 3 March 1919. col A, p. 16.
    38. Le Goff 1998, p. 54
    39. Chirnside 2008, p. 35
    40. Chirnside 2008, p. 36
    41. Chirnside 2008, p. 42
    42. Chirnside 2008, p. 44
    43. 43.0 43.1 Chirnside 2008, p. 43
    44. Chirnside 2008, p. 49
    45. Chirnside 2008, p. 51
    46. Chirnside 2008, p. 52
    47. 47.0 47.1 Chirnside 2008, p. 62
    48. Le Goff 1998, p. 73
    49. Chirnside 2008, p. 91
    50. Chirnside 2008, p. 64
    51. Bonsor, C. R. "North Atlantic Seaway" c. 1963
    52. "Casualty reports". The Times. No. 46661. London. 25 January 1934. col G, p. 20.
    53. Chirnside 2008, p. 66
    54. Chirnside 2008, p. 67
    55. Navy Department 1945, p. 40.
    56. Gill 1968, pp. 36–37.
    57. Chirnside 2008, p. 74
    58. Gill 1968, pp. 84–85, 103, 112.
    59. Gill 1968, p. 103.
    60. 60.0 60.1 Gill 1968, p. 113.
    61. Gill 1968, pp. 113–114.
    62. Gill 1968, p. 114.
    63. Gill 1957, p. 452.
    64. Gill 1957, pp. 486–512.
    65. Gill 1957, p. 512.
    66. 66.0 66.1 66.2 66.3 Gill 1957, p. 523–524.
    67. Leighton et al., p. 158, 203.
    68. Leighton et al., p. 158.
    69. Gill 1968, p. 37.
    70. Leighton et al., p. 362.
    71. "WS (Winston Specials) Convoys in WW2 – 1942 Sailings". www.naval-history.net. สืบค้นเมื่อ 6 April 2018.
    72. Diary LAC A Richardson, 1230298
    73. Leighton et al., p. 364.
    74. Gill 1968, p. 287.
    75. Leighton et al., p. 298.
    76. Hudson 1946, pp. 7–11.
    77. 77.0 77.1 Chirnside 2008, p. 89
    78. Chirnside 2008, p. 76
    79. Chirnside 2008, p. 85
    80. 80.0 80.1 Chirnside 2008, p. 86
    81. North Atlantic Seaway: An Illustrated History of the Passenger Services Linking the Old World with the New, with 1960 Supplement Hardcover – 1960 by N. R. P. Bonsor with later succeeding volumes updated
    82. British passenger liners of the five oceans, a record of the British passenger lines and their liners from 1838 to the present day (1963 when published) by Charles Robert Vernon Gibbs, LCCN 63-23868, ASIN B000KF490M
    83. Business Reference Services: Ships and Ship Registers: Sources of Information Library of Congress referral page Retrieved 27 May 2017

    บรรณานุกรม

    [แก้]

    แหล่งข้อมูลอื่น

    [แก้]