เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือพยาบาลหลวง (เอชเอ็มเอชเอส) บริแทนนิก
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่อเอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (HMHS Britannic)
เจ้าของ ไวต์สตาร์ไลน์
ผู้ให้บริการสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ราชนาวี
ท่าเรือจดทะเบียนลิเวอร์พูล, อังกฤษ
Ordered1911
อู่เรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์, เบลฟาสต์, ไอร์แลนด์เหนือ
Yard number433[1]
ปล่อยเรือ30 พฤศจิกายน 1911
เดินเรือแรก26 กุมภาพันธ์ 1914
สร้างเสร็จ12 ธันวาคม 1915
บริการ23 ธันวาคม 1915 (เรือพยาบาล)
หยุดให้บริการ21 พฤศจิกายน 1916
รหัสระบุ
ความเป็นไปชนกับทุ่นระเบิดของ SM U-73 และอับปางในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1916 ใกล้กับเกาะเคีย ในทะเลอีเจียน
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: ชั้นโอลิมปิก
ขนาด (ตัน): 48,158 ตันกรอส
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 53,200 ตัน
ความยาว: 882.9 ฟุต (269.1 เมตร)
ความกว้าง: 94 ฟุต (28.7 เมตร)
ความสูง: 175 ฟุต (53 เมตร) (วัดจากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ)
กินน้ำลึก: 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.5 เมตร)
ความลึก: 64 ฟุต 6 นิ้ว (19.7 เมตร)
ดาดฟ้า: 10 ชั้น; 7 ชั้นสำหรับผู้โดยสาร, 3 ชั้นสำหรับลูกเรือ โดยมี Sun deck, Boat (ชั้น A), Promenade (ชั้น B), C-G, ชั้นท้องเรืออีก 2 ชั้น (เป็นพื้นที่สำหรับหม้อน้ำ, เชื้อเพลิง, เครื่องยนต์, ห้องผนึกน้ำ, ประตูกั้นน้ำ หรือพื้นทีสำหรับเพลาใบจักร เป็นต้น)
ระบบพลังงาน:
  • หม้อไอน้ำแบบปลายคู่ 24 เตา และแบบปลายเดี่ยว 5 เตา[2]
  • เครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบไอน้ำแบบ Triple Expansion จำนวน 2 เครื่อง ขับเคลื่อนโดยตรงกับใบจักรซ้าย-ขวา ให้กำลัง 32,000 แรงม้า (12,000 kW) และไอน้ำความดันต่ำที่ผ่านการใช้จากเครื่องยนต์ทั้งสองชุดจะเข้าสู่เครื่องยนต์กังหันไอน้ำความดันต่ำ ขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์สู่ใบจักรกลาง ให้กำลัง 18,000 แรงม้า (15,000 kW) ให้กำลังรวม 50,000 แรงม้า (37,000 kW)
ระบบขับเคลื่อน: ใบจักร 3 ตัว ทำจากสัมฤทธิ์ โดยใบจักรกลางมีขนาด 16 ฟุต 6 นิ้ว ดุมใบจักรเป็นกรวยครอบ พวงใบจักรมี 4 ใบ ส่วนใบจักรซ้ายและขวามีขนาด 23 ฟุต 6 นิ้ว ไม่มีกรวยครอบที่ดุม พวงใบจักรมี 3 ใบ
ความเร็ว:
  • ความเร็วบริการ: 21 นอต (39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 24 ไมล์ต่อชั่วโมง)
  • ความเร็วสูงสุด: 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)
ความจุ: ผู้โดยสาร 3,309 คน

เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (อังกฤษ: HMHS Britannic อ่านว่า /brɪˈtænɪk/) หรือชื่อเต็มคือ เรือพยาบาลหลวงบริแทนนิก (His Majesty's Hospital Ship Britannic) เป็นเรือพยาบาลสัญชาติอังกฤษ เป็นเรือลำสุดท้ายและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการเรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิกของสายการเดินเรือไวต์สตาร์ (White Star Line) และเป็นเรือลำที่สองของไวต์สตาร์ที่ใช้ชื่อ 'บริแทนนิก' เธอเป็นเรือฝาแฝดของอาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic) และอาร์เอ็มเอส ไททานิก (RMS Titanic) และตั้งใจจะเข้ามาประจำการในฐานะเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นเรือพยาบาลเสียก่อนในปี 1915 จนกระทั่งอับปางลงในทะเลอีเจียน ใกล้กับเกาะเคีย, ประเทศกรีซในเดือนพฤศจิกายน 1916 ในช่วงเวลานั้นเธอเป็นเรือพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก[ต้องการอ้างอิง]

เรือบริแทนนิกได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยมากที่สุดในบรรดาเรือทั้งสามลำ โดยมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบระหว่างการก่อสร้างเนื่องจากได้รับบทเรียนจากการอับปางของไททานิก เธอถูกจอดไว้ที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ (Harland and Wolff) ในเมืองเบลฟาสต์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะถูกเกณฑ์ไปเป็นเรือพยาบาล และทำหน้าที่ระหว่างสหราชอาณาจักรและดาร์ดะเนลส์ ระหว่างปี 1915–1916

ในเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 1916 เรือบริแทนนิกได้ชนทุ่นระเบิดของกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันใกล้กับเกาะเคีย ประเทศกรีซ และอับปางในอีก 55 นาทีต่อมา คร่าชีวิตผู้คนไป 30 คนจากทั้งหมด 1,066 คน และผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือจากน้ำและเรือชูชีพ ซึ่งนับเป็นเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[3]

ต่อมาไวต์สตาร์ไลน์ได้รับมอบเรือเดินสมุทรเอสเอส บิสมาร์ค (SS Bismarck) จากเยอรมัน เพื่อเป็นการชดเชยสำหรับการสูญเสียเรือบริแทนนิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าปฏิกรรมสงคราม และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอาร์เอ็มเอส มาเจสติก (RMS Majestic)

ในปี 1975 ได้มีการค้นพบซากเรือโดยฌาคส์ คูสโต (Jacques Cousteau) ซึ่งนับเป็นเรือโดยสารที่จมอยู่ใต้ทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก[4]

การเปลี่ยนแปลงการออกแบบ[แก้]

แบบจำลองต้นแบบของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก (RMS Britannic) ในปี ค.ศ. 1914

เดิมขนาดของเรือบริแทนนิกจะคล้ายกับเรือพี่สาวของเธอ แต่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงในขณะที่กำลังก่อสร้างหลังจากการอับปางของเรือไททานิก ด้วยระวางบรรทุก 48,158 ตัน ทำให้เธอใหญ่กว่าเรือพี่สาวของเธอในแง่ของพื้นที่ภายใน แต่ไม่ได้ทำให้เธอเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากเรือเดินสมุทรเอสเอส วาเทอร์แลนด์ (SS Vaterland) ของเยอรมัน ครองตำแหน่งนี้อยู่ด้วยระวางบรรทุกที่สูงกว่ามาก[5]

การเปลี่ยนแปลงหลังการอับปางของไททานิก[แก้]

แนวคิดของศิลปินเกี่ยวกับอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก (RMS Britannic) หากเป็นเรือเดินสมุทร

อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก มีรูปลักษณ์ตัวเรือคล้ายกับเรือพี่สาวของเธอ แต่หลังจากการอับปางเรือไททานิกและการไต่สวนที่ตามมา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบหลายอย่างกับเรือบริแทนนิก โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนการเปิดตัวเรือ เช่น การเพิ่มความกว้างลำเรือเป็น 94 ฟุต (29 เมตร) เพื่อให้สามารถทำตัวเรือสองชั้น (double hull) ตามแนวห้องเครื่องยนต์และห้องหม้อไอน้ำได้ และเพิ่มความสูงของกำแพงกั้นน้ำ 6 ใน 15 แห่ง ขึ้นไปที่ดาดฟ้าชั้น B

นอกจากนี้ ยังเพิ่มขนาดของเครื่องยนต์กังหันไอน้ำเป็น 18,000 แรงม้า (13,000 กิโลวัตต์) จากเดิมที่เป็น 16,000 แรงม้า (12,000 กิโลวัตต์) ที่ติดตั้งบนเรือสองลำก่อนหน้าเพื่อชดเชยความกว้างของลำเรือที่เพิ่มขึ้น และกำแพงกั้นน้ำได้รับการปรับปรุงให้เรือยังสามารถลอยลำอยู่ได้หากมีน้ำท่วมอย่างน้อย 6 ห้อง[6]

เครนดาวิตไฟฟ้าบนเรือบริแทนนิก

การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดคือ การติดตั้งดาวิต (davits; เครนแขวนเรือชูชีพ) ที่มีลักษณะคล้ายกับเครนขนาดใหญ่ (crane-like davits) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและสามารถเก็บเรือชูชีพได้ถึง 6 ลำในตัวเดียว เดิมได้รับการออกแบบให้ติดตั้ง 8 ตัว แต่มีเพียง 5 ตัวเท่านั้นที่ติดตั้งจริงก่อนจะเข้าประจำการในสงคราม ซึ่งต่างจากดาวิตแบบเวลิน (Welin-type davits) ที่ควบคุมด้วยมือบนเรือไททานิกและโอลิมปิก[7][8]

เครนดาวิตไฟฟ้าได้รับการออกแบบให้สามารถปล่อยเรือชูชีพไปยังอีกฝั่งของเรือได้โดยที่ไม่มีปล่องไฟกีดขวาง ทำให้สามารถปล่อยเรือชูชีพได้ทั้งหมดทุกลำ แม้ว่าเรือจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งก็ตาม ดังนั้นเครนดาวิตทั้ง 5 ตัวจึงถูกติดตั้งไว้ระหว่างปล่องไฟเพื่อจุดประสงค์นี้

ลิฟต์ซึ่งก่อนหน้านี้จะหยุดที่ดาดฟ้าชั้น A ได้รับการปรับปรุงให้สามารถขึ้นไปถึงดาดฟ้าชั้นเรือบดได้[9]

เรือบริแทนนิกมีเรือชูชีพทั้งหมด 48 ลำ แต่ละลำบรรทุกคนได้อย่างน้อย 75 คน ดังนั้น เรือชูชีพสามารถบรรทุกคนได้อย่างน้อย 3,600 คน ซึ่งเกินความจุสูงสุดของเรือที่ 3,309 คน

ลักษณะเฉพาะของเรือ[แก้]

แผนผังและแบบดาดฟ้า (deck plan) บางส่วนของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก

สัดส่วนเรือ[แก้]

  • ความยาว: 882.9 ฟุต (269.1 เมตร)
  • ความกว้าง: 94 ฟุต (28.7 เมตร)
  • ความสูง: 175 ฟุต (53 เมตร) จากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ
  • ความสูงตัวเรือ: 64 ฟุต 6 นิ้ว (19.7 เมตร)
  • กินน้ำลึก: 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.5 เมตร)
  • น้ำหนัก: 48,158 ตันกรอส (GRT)
  • ระวางขับน้ำ: 53,200 ตัน

ลักษณะทั่วไป[แก้]

  • สี: ปล่องไฟทาสีเหลืองทั้งปล่อง, ตัวเรือและโครงสร้างบนเรือ (superstructure) ทาสีขาว โดยมีแถบสีทองคาดระหว่างตัวเรือกับโครงสร้างบนเรือ, สัญลักษณ์กาชาดสีแดง 6 จุด และแถบสีเขียวคาดกลางตลอดความยาวตัวเรือ, ท้องเรือใต้แนวน้ำทาสีแดง
  • ปล่องไฟ: 4 ปล่อง แต่ละปล่องสูง 62 ฟุต (18.8 เมตร) กว้าง 19 ฟุต (5.7 เมตร) ยาว 24.5 ฟุต (7.4 เมตร) ใช้เส้นเคเบิลตรึงปล่องละ 12 เส้น ทำมุม 3.27 องศาจากแนวตั้งฉาก ติดหวูดไอน้ำทุกปล่อง ใช้ระบายควัน 3 ปล่องแรก ส่วนปล่องสุดท้ายใช้ระบายอากาศและทำให้ดูสมดุล
  • เสากระโดงเรือ: 2 ต้น ที่หัวเรือและท้ายเรือ สูงต้นละ 154.1 ฟุต (47 เมตร)
  • หัวเรือ: ออกแบบให้มีที่ตัดน้ำแข็งทางหัวเรือ, สมอเรือ 2 ตัว, ปั้นจั่นยกสมอ 1 ตัว, เสากระโดงเรือ 1 ต้น และช่องขนสินค้า
  • ท้ายเรือ: หางเสือ 1 ตัว, สะพานเทียบเรือ, ปั้นจั่นยกสินค้า 4 ตัว
  • วัสดุสร้างเรือ: โครงเรือทำจากเหล็ก, โครงสร้างภายในทำจากไม้, เปลือกเรือภายในและภายนอกทำจากเหล็กกล้า, พื้นดาดฟ้าเรือปูด้วยไม้สัก, ปล่องไฟทำจากเหล็กกล้า, เสากระโดงเรือทำจากไม้สนสปรูซ
  • ดาดฟ้า: 10 ชั้น; 7 ชั้นสำหรับผู้โดยสาร และ 3 ชั้นสำหรับลูกเรือ โดยมีซันเด็ค (Sun deck), ชั้นเรือบด (Boat deck), Promenade (ชั้น A-B), ชั้น C-G, ชั้นท้องเรืออีก 2 ชั้น (สำหรับหม้อน้ำ, เชื้อเพลิง, เครื่องยนต์, ห้องผนึกน้ำ, ประตูกั้นน้ำ และเพลาใบจักร)
  • ปั้นจั่นดาวิตไฟฟ้า (crane-like davits): 8 ตัว จุเรือชูชีพได้ตัวละ 6 ลำ รวมทั้งหมด 48 ลำ (ติดตั้งจริงเพียง 5 ตัว รวมทั้งหมด 30 ลำ)
  • เรือชูชีพ: 48 ลำ แต่ละลำบรรทุกคนได้อย่างน้อย 75 คน ดังนั้นสามารถบรรทุกคนได้อย่างน้อย 3,600 คน ซึ่งเกินความจุสูงสุดของเรือที่ 3,309 คน
  • ตำแหน่งห้องวิทยุสื่อสาร: ชั้นเรือบด กราบซ้าย ถัดจากห้องสะพานเดินเรือ
  • ตะเกียงส่งสัญญาณ: 2 ดวง ติดตั้งทั้งกราบซ้ายและขวา บริเวณปีกสะพานเดินเรือชั้นเรือบด
  • สมอเรือ: 2 ตัว ตำแหน่งกราบซ้ายและขวาหัวเรือ หนัก 27 ตัน/ตัว
  • ปั้นจั่นไฟฟ้า: 6 ตัว; 2 ตัว บนชั้น C ด้านหน้าโครงสร้างบนเรือ ใกล้กับช่องสินค้า (Well deck), 2 ตัว บนชั้น B ค่อนไปทางท้ายเรือ, 2 ตัว บนชั้น C ด้านหลังโครงสร้างบนเรือ ใกล้กับช่องสินค้า (Well deck)
  • โกดังสินค้า: 9 แห่ง (ห้องมาตรฐาน 6 ห้อง ห้องแช่แข็ง 2 ห้อง และห้องไปรษณีย์ 1 ห้อง)
  • ลิฟต์สินค้า: 2 ตัว (ตัวแรกจากชั้น A ไปชั้น D, ตัวที่สองจากชั้น D ไปชั้น G และลงท้องเรือโดยบันได)
  • กำแพงกั้นน้ำ: 15 แนว แบ่งเป็น 16 ห้อง พร้อมประตูประตูผนึกน้ำทำงานด้วยไฟฟ้า
  • ความจุผู้โดยสาร: 3,309 คน
  • ลูกเรือ: ประมาณ 900 คน

ระบบพลังงาน[แก้]

กังหันไอน้ำแรงกันต่ำของเรือบริแทนนิก
  • เชื้อเพลิง: ถ่านหิน
  • หม้อไอน้ำ: 29 ตัว ติดตั้งในห้องหม้อไอน้ำ 6 ห้อง แบ่งเป็น:
    • หม้อไอน้ำแบบเติมถ่านได้ 2 ฝั่ง (double-ended) 24 เตา (6 ช่องเตาต่อหม้อน้ำ 1 ตัว)
    • หม้อไอน้ำแบบเติมถ่านได้ฝั่งเดียว (single-ended) 5 เตา (3 ช่องเตาต่อหม้อน้ำ 1 ตัว)
  • อัตราสิ้นเปลือง: ถ่านหิน 825 ตัน/วัน
  • น้ำจืด 14,000 แกลลอน/วัน

ระบบขับเคลื่อน[แก้]

  • เครื่องยนต์: เครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบไอน้ำแบบ Triple Expansion จำนวน 2 เครื่อง ขับเคลื่อนโดยตรงกับใบจักรซ้าย-ขวา ให้กำลัง 32,000 แรงม้า (12,000 กิโลวัตต์) และไอน้ำความดันต่ำที่ผ่านการใช้จากเครื่องยนต์ทั้งสองชุดจะเข้าสู่เครื่องยนต์กังหันไอน้ำความดันต่ำ ขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์สู่ใบจักรกลาง ให้กำลัง 18,000 แรงม้า (15,000 กิโลวัตต์) ให้กำลังรวม 50,000 แรงม้า (37,000 กิโลวัตต์)
  • ใบจักร: 3 ตัว ทำจากสัมฤทธิ์ โดยใบจักรกลางมีขนาด 16 ฟุต 6 นิ้ว (5 เมตร) ดุมใบจักรเป็นกรวยครอบ พวงใบจักรมี 4 ใบ ส่วนใบจักรซ้ายและขวามีขนาด 23 ฟุต 6 นิ้ว (7.1 เมตร) ไม่มีกรวยครอบที่ดุม พวงใบจักรมี 3 ใบ
  • หางเสือ: 1 ตัว หนัก 102.6 ตัน ยึดด้วยพานพับ 6 จุด

ความเร็ว[แก้]

  • ความเร็วสูงสุด: 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)
  • ความเร็วบริการ: 21 นอต (39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 24 ไมล์ต่อชั่วโมง)

ประวัติ[แก้]

จุดกำเนิด[แก้]

ในปี ค.ศ. 1907 เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้จัดการทั่วไปของไวต์สตาร์ไลน์ และลอร์ดเพียร์รี ประธานอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ได้ตัดสินใจสร้างเรือเดินสมุทรจำนวนสามลำที่มีขนาดที่ไม่มีเรือลำไหนเทียบได้ เพื่อมาแข่งขันกับเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) และอาร์เอ็มเอส มอริทาเนีย (RMS Mauretania) ของคิวนาร์ดไลน์ ไม่ใช่ในด้านของความเร็ว แต่เป็นในด้านความหรูหราและความปลอดภัย[10] ชื่อของเรือทั้งสามลำได้รับการตัดสินใจในภายหลังและแสดงถึงความตั้งใจของผู้ออกแบบเรือ ได้แก่: โอลิมปิก, ไททานิก และบริแทนนิก[11]

การก่อสร้างเรือโอลิมปิกและไททานิกได้เริ่มขึ้นก่อนในปี ค.ศ. 1908 และ 1909 ตามลำดับ[12] เรือทั้งสองลำนั้นมีขนาดใหญ่มากจนจำเป็นต้องสร้างปั้นจั่นสนามขนาดใหญ่พิเศษโดยเฉพาะ ที่เรียกกันว่าปั้นจั่นสนามอาร์รอล (Arrol Gantry) และขยายขนาดของสถานที่ก่อสร้างเพื่อให้กว้างพอที่จะสร้างเรือทั้งสองลำพร้อมกันได้[13]

เรือทั้งสามลำได้รับการออกแบบให้มีความยาว 270 เมตร และมีน้ำหนักรวมมากกว่า 45,000 ตัน ส่วนความเร็วที่ออกแบบไว้คือประมาณ 22 นอต ซึ่งต่ำกว่าความเร็วของเรือลูซิทาเนีย และมอริทาเนีย แต่ก็ยังสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์[14]

ข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนชื่อ[แก้]

ปั้นจั่นสนามอาร์รอล (Arrol Gantry) สูงตระหง่านเหนือตัวเรือบริแทนนิก ในปี ค.ศ. 1914

มีข่าวลือว่า เดิมเรือบริแทนนิกจะใช้ชื่อว่า 'ไจแกนติก' (Gigantic) แต่ถูกเปลี่ยนไปในภายหลัง เพื่อไม่ให้ชื่อไปแข่งขันหรือหรือสร้างการเปรียบเทียบกับเรือไททานิก[15][16]

หลักฐานหนึ่งคือโปสเตอร์ของเรือที่มีชื่อ 'ไจแกนติก' อยู่ด้านบน และหลักฐานอื่น ๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ของอเมริกันในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 ที่รายงานว่าไวต์สตาร์ไลน์จะสร้างเรือชื่อ 'ไจแกนติก' และหนังสือพิมพ์อื่น ๆ จากทั่วโลก ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและหลังจากการอับปางของเรือไททานิก[17][18][19][20]

เรื่องดังกล่าวทั้งไวต์สตาร์ไลน์และอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ได้ปฏิเสธมาโดยตลอด[21][22]

ทอม แมคคลัสกี้ (Tom McCluskie) นักประวัติศาสตร์และผู้เก็บเอกสารสำคัญของฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ ระบุว่าเขา "ไม่เคยเห็นการอ้างอิงอย่างเป็นทางการถึงชื่อ ไจแกนติก ที่ถูกใช้หรือเสนอสำหรับเรือลำที่สามของโครงการเรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิก"[23][24] แต่ส่วนที่ถูกเขียนด้วยลายมือในสมุดสั่งซื้อในเดือนมกราคม ค.ศ. 1912 เป็นเพียงการอ้างถึงความกว้างของเรือเท่านั้น ไม่ใช่ชื่อของเรือแต่อย่างใด[24]

การก่อสร้าง[แก้]

ปล่องไฟของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ขณะกำลังถูกขนส่งไปที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์

กระดูกงูของเรือบริแทนนิกถูกวางในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 ที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ ในเบลฟาสต์ บนพื้นที่เดิมที่ใช้สร้างเรือโอลิมปิก ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและเงินของอู่ต่อเรือ[8] การส่งมอบเรือมีกำหนดการในช่วงต้นปี ค.ศ. 1914[25] แต่เนื่องจากการปรับปรุงเรือที่ซึ่งเป็นผลมาจากการอับปางของเรืไททานิก ทำให้เรือบริแทนนิกต้องเสร็จล่าช้าออกไปจนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914[26]

พิธีปล่อยเรืออาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ลงน้ำ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ขณะกำลังตกแต่งเรือ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1914

อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 ในพิธีปล่อยเรือมีการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสื่อมวลชน และมีงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่การเปิดตัวเรือ[27] หลังจากนั้นก็เริ่มทำการตกแต่งเรือ และนำเรือเข้าอู่แห้งในเดือนกันยายนเพื่อติดตั้งใบจักร[28]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เริ่มต้นขึ้น อู่ต่อเรือทั้งหมดที่มีสัญญากับกรมทหารเรือ (Admiralty) จะได้รับความสำคัญในการใช้วัสดุสร้างเรือก่อน ส่วนเรือโดยสารทั้งหมดรวมถึงเรือบริแทนนิกถูกชะลอออกไป จึงทำให้งานตกแต่งเรือบริแทนนิกดำเนินการไปอย่างช้า ๆ[29]

ทางการทหารเรือต้องการเรือจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเรือลาดตระเวนติดอาวุธหรือขนส่งทหารในสงคราม ซึ่งกรมทหารเรือจะจ่ายเงินให้บริษัทเจ้าของเรือ เพื่อใช้เรือของพวกเขา แต่ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเรือระหว่างการปฏิบัติการนั้นสูง[29]

ดัดแปลงเป็นเรือพยาบาล[แก้]

เรือบริแทนนิก หลังจากการดัดแปลงเป็นเรือพยาบาล

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 เรือบริแทนนิกเสร็จสิ้นการทดสอบเครื่องยนต์ในการจอดเทียบท่า และเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าประจำการฉุกเฉินในช่วงสงคราม ซึ่งมีการแจ้งล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น ในเดือนเดียวกันนั้นยังมีการสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งแรกของเรือเดินสมุทรพลเรือนในสงคราม เมื่อเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) ของคิวนาร์ดไลน์ ถูกตอร์ปิโดยิงใส่และอับปางลงใกล้กับชายฝั่งไอร์แลนด์โดยเรือดำน้ำเยอรมัน SM U-20[30]

ในเดือนต่อมา กรมทหารเรือตัดสินใจใช้เรือโดยสารที่เพิ่งได้รับมาจากการร้องขอเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการลำเลียงทหารในการทัพกัลลิโพลี ซึ่งเรือลำแรกที่ออกเดินทางคือเรืออาร์เอ็มเอส มอริทาเนีย (RMS Mauretania) และอาร์เอ็มเอส แอควิทาเนีย (RMS Aquitania) ของคิวนาร์ดไลน์

การยกพลขึ้นบกที่กัลลิโพลีได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหายนะสำหรับทหารอังกฤษ และจำนวนผู้เสียชีวิตก็มากขึ้น ความต้องการเรือพยาบาลขนาดใหญ่สำหรับการรักษาและอพยพผู้บาดเจ็บก็เกิดขึ้น เรือแอควิทาเนียถูกเปลี่ยนไปทำหน้าที่เป็นเรือพยาบาลในเดือนสิงหาคม จากนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 เรือบริแทนนิกก็ได้รับการร้องขอให้เป็นเรือพยาบาล หลังจากจอดเทียบท่าอยู่ในเบลฟาสต์[ต้องการอ้างอิง]

อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ถูกทาสีใหม่ด้วยสีขาวทั้งลำ และได้รับลวดลายใหม่เป็นสัญลักษณ์กาชาดสีแดงขนาดใหญ่และแถบสีเขียวคาดกลางตลอดความยาวเรือ และได้รับการเปลี่ยนคำนำหน้าเป็น "เอชเอ็มเอชเอส (HMHS)" (His Majesty's Hospital Ship; เรือพยาบาลหลวง)[29] และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตันชาร์ลส์ อัลเฟรด บาร์ตเลตต์ (Charles Alfred Bartlett)[31]

ภายในมีเรือการติดตั้งเตียง 3,309 เตียง และห้องผ่าตัดอีกหลายห้อง พื้นที่สาธารณะถูกเปลี่ยนเป็นห้องพักสำหรับผู้บาดเจ็บ ห้องพักบนชั้น B ถูกเปลี่ยนเป็นห้องพักของแพทย์ ห้องรับประทานอาหารและห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งบนชั้น D ถูกเปลี่ยนเป็นห้องผ่าตัด[31] และติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1915[29]

เข้าประจำการครั้งแรก[แก้]

เอชเอ็มเอส บริแทนนิก เดินทางมาถึงมูดรอสในการเดินทางครั้งแรก

หลังจากได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1915 ที่ลิเวอร์พูล เรือบริแทนนิกได้รับมอบหมายให้จัดทีมแพทย์ซึ่งประกอบด้วยพยาบาล 101 คน เจ้าหน้าที่ชั้นประทวน 336 นาย และเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตร 52 นาย รวมทั้งลูกเรือ 675 คน[31]

เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก ขณะกำลังรับผู้บาดเจ็บจากเรือเอชเอ็มเอชเอส กาเลก้า (HMHS Galeka) ที่มูดรอส

ในวันที่ 23 ธันวาคม เรือบริแทนนิกเดินทางออกจากเมืองลิเวอร์พูลเพื่อไปยังท่าเรือมูดรอส บนเกาะเลมนอส ในทะเลอีเจียนเพื่อนำทหารที่ป่วยและบาดเจ็บกลับมา เธอเข้าร่วมกับเรืออีกหลายลำในเส้นทางเดียวกัน รวมทั้งเรือโอลิมปิก, มอริทาเนีย และแอควิทาเนีย[32][33] และแวะพักที่เนเปิลส์เพื่อเติมถ่านหินก่อนจะเดินทางต่อไปยังมูดรอส หลังจากที่กลับมายังอังกฤษ เธอได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลลอยน้ำนอกเกาะไวต์เป็นเวลา 4 สัปดาห์[34]

การเดินทางครั้งที่สามเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 4 เมษายน ค.ศ. 1916[35]

เรือบริแทนนิกสิ้นสุดการรับราชการทหารในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1916 จึงได้เดินทางกลับไปยังเบลฟาสต์เพื่อดัดแปลงกลับมาเป็นเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินชดเชยให้กับไวต์สตาร์ไลน์เป็นเงิน 75,000 ปอนด์ (8,346,643 ปอนด์ในปัจจุบัน) การดัดแปลงกินเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกขัดจังหวะด้วยการเรียกคืนเรือกลับเข้ามารับราชการทหารอีกครั้ง[36]

ถูกเรียกกลับ[แก้]

เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก แวะที่เนเปิลส์เพื่อเติมถ่านหิน ภาพถูกถ่ายระหว่างปี ค.ศ. 1915–16

กรมทหารเรือเรียกคืนเรือบริแทนนิกกลับเข้าประจำการในฐานะเรือพยาบาลอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1916 และกลับสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเที่ยวที่สี่ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน[37]

ในวันที่ 29 กันยายน ระหว่างทางไปเนเปิลส์ เธอได้พบกับพายุที่รุนแรงแต่เรือไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ[38]

ในวันที่ 9 ตุลาคม เรือบริแทนนิกออกเดินทางเป็นครั้งที่ห้า จากเซาแทมป์ตันไปยังมูดรอส เมื่อเรือมาถึงมูดรอส ลูกเรือได้ถูกกักตัวเนื่องจากเกิดการเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ[39]

ชีวิตบนเรือเป็นไปตามกิจวัตร; เวลา 06.30 น. ผู้ป่วยถูกปลุกให้ตื่น และทำความสะอาดสถานที่, เวลา 06.30 น. เสิร์ฟอาหารเช้า จากนั้นกัปตันออกตรวจเรือ, เวลา 12.30 น. เสิร์ฟอาหารกลางวัน ผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการไปเดินเล่นสามารถทำได้จนถึงเวลาเสิร์ฟน้ำชาในเวลา 16.30 น., เวลา 20:30 น. ผู้ป่วยเข้านอนและกัปตันออกตรวจเรืออีกครั้ง[40] บนเรือมีชั้นเรียนแพทย์สำหรับฝึกอบรมพยาบาล[41]

เดินทางเที่ยวสุดท้าย/อับปาง[แก้]

ที่ตั้งของเกาะเคีย ในหมู่เกาะซิคละดีส ในทะเลอีเจียน
ช่องแคบระหว่างเกาะมาโครนิซอส (ขวา) และเกาะคีย์ (ซ้าย) ซึ่งเรือบริแทนนิกอับปางลงใกล้กับเกาะคีย์ (จุด X)

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางครั้งที่ห้าครั้งไปยังเขตสงครามตะวันออกกลาง เรือบริแทนนิกได้กลับมายังสหราชอาณาจักรเพื่อส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ

เรือบริแทนนิกออกจากเซาแทมป์ตันไปยังเมืองเลมนอสเมื่อเวลา 14:23 น. ของวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งที่หกของเธอไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[31] เรือแล่นผ่านยิบรอลตาร์ในเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน และมาถึงเนเปิลส์ในเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อแวะเติมถ่านหินตามปกติ[42]

พายุทำให้เรือต้องเทียบท่าอยู่ที่เนเปิลส์จนถึงบ่ายของวันที่ 19 กันยายน แล้วจึงออกเดินทางต่อ พายุสงบลงในเช้าวันที่ 20 กันยายน เรือแล่นผ่านช่องแคบเมสซีนาโดยไม่มีปัญหาใด ๆ และอ้อมแหลมมะตะบันในช่วงรุ่งสางของวันที่ 21 พฤศจิกายน ในตอนเช้า เรือบริแทนนิกแล่นด้วยความเร็วสูงสุดเข้าสู่ช่องแคบเคีย[42]

ขณะนั้นบนเรือมีผู้โดยสาร 1,066 คน แบ่งเป็นลูกเรือ 673 คน, เสนารักษ์ทหารบก (Royal Army Medical Corps; RAMC) 315 คน, พยาบาล 77 คน และกัปตัน[43]

เสียงระเบิดบนเรือ[แก้]

พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 รายงานข่าวการอับปางของเรือพยาบาลเอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก

เวลา 08:12 น. ของวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 ได้เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นระหว่างโกดังสินค้าที่ 2 และ 3 ทำให้เรือเกิดการสั่นสะเทือนอย่างแรง[44] สาเหตุของเสียงไม่ปรากฏแน่ชัดในเวลานั้น ต่อมามีการเปิดเผยว่าเรือได้ชนกับทุ่นระเบิดใต้น้ำที่เรือดำน้ำ SM U-73 ของฝ่ายเยอรมันวางไว้

ปฏิกิริยาบนเรือเกิดขึ้นในทันที แพทย์และพยาบาลบางคนออกจากตำแหน่งที่ยืนอยู่ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนบนเรือไม่รู้สึกถึงแรงระเบิด และคิดว่าเรือแค่ชนกับเรือลำเล็ก แต่ความรุนแรงของสถานการณ์ก็ปรากฏชัดขึ้นในไม่ช้า[45] แรงระเบิดได้สร้างความเสียหายให้กับกำแพงกั้นน้ำระหว่างโกดังสินค้าที่ 1 กับส่วนหน้าเรือ[44] กำแพงกั้นน้ำ 4 ห้องแรกถูกน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว อุโมงค์คนคุมไฟและห้องหม้อไอน้ำ 6 ห้องได้รับความเสียหายอย่างหนักและกำลังถูกน้ำท่วม[44]

กัปตันบาร์ตเลตต์สั่งให้ปิดประตูกันน้ำทันที, ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ และสั่งให้ลูกเรือเตรียมเรือชูชีพ[44]

สัญญาณ SOS ถูกส่งออกไปในทันที และเรืออีกหลายลำในบริเวณนั้นได้รับ เช่น เอชเอ็มเอส สเคิร์จ (HMS Scourge) และเอชเอ็มเอส เฮโรอิก (HMS Heroic) แต่เรือบริแทนนิกไม่ได้รับสัญญาณตอบกลับมา เนื่องจากกัปตันบาร์ตเลตต์และเจ้าหน้าที่วิทยุไร้สายบนเรือไม่ทราบว่าแรงระเบิดทำให้สายรับข้อความบนเสากระโดงเรือขาดออก หมายความว่าแม้ว่าเรือจะยังสามารถส่งสัญญาณวิทยุได้ แต่เธอก็ไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป[46]

เนื่องจากอุโมงค์คนคุมไฟเสียหาย ทำให้ประตูกันน้ำระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 6 และ 5 ไม่สามารถปิดได้อย่างสนิท[44] น้ำจึงไหลไปทางท้ายเรือไปยังห้องหม้อไอน้ำที่ 5 ซึ่งถึงขีดจำกัดของเรือแล้ว (เรือจะสามารถลอยอยู่ได้ หากกำแพงกั้นน้ำถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 6 ห้อง)[47]

กำแพงกั้นน้ำที่สำคัญถัดไปคือ ระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 5 และ 4 และประตูไม่เสียหายและน่าจะรับประกันความอยู่รอดของเรือได้ อย่างไรก็ตาม มีช่องหน้าต่างเปิดอยู่ ซึ่งได้จมอยู่ใต้น้ำภายในไม่กี่นาทีหลังจากการระเบิด เนื่องจากพยาบาลได้เปิดช่องหน้าต่างเพื่อระบายอากาศในห้องผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเรือเริ่มจม น้ำก็เริ่มทะลักเข้าหน้าทางต่างและไหลไปยังท้ายเรือจากกำแพงกั้นระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 5 และ 4 จึงทำให้น้ำท่วมห้องกั้นน้ำมากกว่า 6 ห้อง และเรือบริแทนนิกไม่สามารถลอยลำอยู่ได้[47]

ปฏิบัติการอพยพ[แก้]

ภาพการจมของเรือบริแทนนิก

เพียง 2 นาทีหลังจากการระเบิด คนงานที่อยู่ในท้องเรือชั้นล่างสุดถูกอพยพ, ในเวลาประมาณ 10 นาที เรือบริแทนนิกก็อยู่ในสภาพเหมือนกันกับ 1 ชั่วโมงหลังจากที่เรือไททานิกชนกับภูเขาน้ำแข็ง, 15 นาที ช่องหน้าต่างที่เปิดอยู่บนดาดฟ้าชั้น E ก็จมอยู่ใต้น้ำ, น้ำที่เข้าสู่ส่วนท้ายของเรือจากกำแพงกั้นน้ำระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 4 และ 5 ได้ทำให้เรือบริแทนนิกเอียงไปทางกราบขวาอย่างรวดเร็วเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่ท่วมเข้ามาทางกราบขวาเรือ[48]

กัปตันบาร์ตเลตต์ได้ออกคำสั่งให้นำเรือไปยังเกาะที่ใกล้ที่สุดเพื่อพยายามนำเรือไปเกยหาด แต่ผลกระทบจากการเอียงของเรือ และน้ำหนักของหางเสือทำให้การพยายามนำเรือไปเกยหาดภายใต้กำลังของเรือทำได้ยาก เนื่องจากแรงระเบิดทำให้เฟืองบังคับเลี้ยวของเรือหลุดออก ซึ่งทำให้เรือไม่สามารถเลี้ยวได้จากพังงา ต่อมากัปตันได้สั่งให้เร่งความเร็วใบจักรกราบซ้ายให้ขับด้วยความเร็วที่สูงกว่าใบจักรกราบขวา ซึ่งช่วยให้เรือแล่นเข้าหาเกาะได้บ้าง[48]

เวลา 08:25 น. มีการเตรียมอพยพคนบนเรือ กัปตันบาร์ตเลตต์ออกคำสั่งให้เตรียมเรือชูชีพ แต่ยังไม่อนุญาตให้หย่อนเรือลงไปในน้ำ ทุกคนนำสิ่งของที่มีค่าที่สุดติดตัวไปด้วยก่อนที่จะอพยพออกไป อนุศาสนาจารย์ของเรือกู้พระคัมภีร์ของเขา ผู้ป่วยและพยาบาลไม่กี่คนรวมตัวกัน เสนารักษ์ทหารบก (Royal Army Medical Corps) ตรวจสอบห้องโดยสารเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้บนเรือ[48]

เวลา 08:30 น. เรือเริ่มเอียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกเรือคนอื่น ๆ เริ่มกลัวว่าเรือจะเอียงมากเกินไป พวกเขาจึงตัดสินใจนำเรือชูชีพลำแรกลงน้ำโดยไม่รอคำสั่ง[48] มีเรือชูชีพ 2 ลำถูกนำลงน้ำที่ฝั่งกราบซ้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถูกใบจักรเรือที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำและยังไม่หยุดหมุนฟันเรือชูชีพแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนทำให้มีผู้เสียชีวิต[49]

หลังจากนั้น กัปตันบาร์ตเลตต์ออกคำสั่งให้หยุดเรือและการทำงานของใบจักรเรือโดยทันที เนื่องจากเห็นว่าเรือไม่สามารถเดินทางไปยังเกาะที่ใกล้ที่สุดได้ทันเวลา

ช่วงเวลาสุดท้าย[แก้]

เรือบริแทนนิกกำลังจะอับปาง

เวลา 08:50 น. ผู้ที่อยู่บนเรือส่วนใหญ่ขึ้นเรือชูชีพและปล่อยเรือชูชีพไปได้ 35 ลำ เมื่อถึงจุดนี้ กัปตันบาร์ตเล็ตต์สรุปว่าเรือบริแทนนิกกำลังจมช้าลง ดังนั้นเขาจึงสั่งให้หยุดการอพยพและสั่งให้สตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่ด้วยความหวังว่าเขาจะยังสามารถนำเรือไปขึ้นฝั่งได้[50]

เวลา 09:00 น. กัปตันบาร์ตเลตต์ได้รับแจ้งว่าน้ำท่วมได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากเรือเคลื่อนไปข้างหน้า และท่วมมาถึงชั้น D แล้ว เมื่อเห็นว่าไม่สามารถที่จะไปถึงฝั่งได้ทันเวลา กัปตันบาร์ตเลตต์จึงออกคำสั่งสุดท้ายให้ดับเครื่องยนต์และเป่าหวูดเรือยาวเป็นครั้งสุดท้ายสองครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณให้สละเรือ[51]

เมื่อน้ำท่วมถึงสะพานเดินเรือ กัปตันและลูกเรือก็เดินขึ้นไปบนดาดฟ้าและลงไปในน้ำ ว่ายน้ำไปขึ้นเรือชูชีพแบบพับได้ ซึ่งพวกเขายังคงประสานงานปฏิบัติการอพยพต่อไป[52]

เวลา 09:05 น. เรือบริแทนนิกค่อย ๆ ตะแคงไปทางกราบขวาและปล่องไฟก็พังลงมาทีละปล่องในขณะที่เรือจมลงอย่างรวดเร็ว เมื่อท้ายเรือโผล่พ้นน้ำ หัวเรือก็ชนกับก้นทะเล เนื่องจากความยาวของเรือบริแทนนิกนั้นมากกว่าระดับความลึกของน้ำ (บริเวณนั้นมีความลึกเพียง 400 ฟุต (122 เมตร)​ เท่านั้น) แรงกระแทกทำให้หัวเรือเสียหายอย่างหนัก ก่อนที่ทั้งลำจะจมลงสู่ก้นทะเลใกล้กับเกาะคีย์ (Kea Island) ในเวลา 09:07 น. ซึ่งเป็นเวลา 55 นาทีหลังการระเบิด[51] มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 30 คน ที่เหลือได้ทำการลงเรือชูชีพและเอาตัวรอดได้สำเร็จ เนื่องจากพยาบาลและลูกเรือมีการฝึกซ้อมมาอย่างดี

เหตุการณ์เรือบริแทนนิกอับปาง นับเป็นเหตุการณ์เรือที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อับปาง[53]

ไวโอเล็ต เจสโซป (Violet Jessop) หนึ่งในผู้รอดชีวิต ซึ่งเคยรอดชีวิตจากการอับปางของเรือไททานิก และเรือโอลิมปิกเมื่อครั้งที่ชนกับเรือหลวงฮอว์ค (HMS Hawke) บรรยายถึงวินาทีสุดท้ายของเรือว่า:[54]

"หัวเรือจมลงเล็กน้อย จากนั้นก็จมลงและยังคงจมลงเรื่อย ๆ สิ่งของทั้งหมดบนดาดฟ้าตกลงไปในทะเลเหมือนกับของเล่นเด็ก จากนั้นเรือก็ตะแคงอย่างน่ากลัว ท้ายเรือตั้งขึ้นไปในอากาศหลายร้อยฟุต จนกระทั่งเสียงกึกก้องสุดท้าย เรือก็หายไปในความลึก เสียงของเรือที่ดังก้องอยู่ในน้ำด้วยความรุนแรงที่ไม่นึกไม่ฝัน...."

การช่วยเหลือผู้รอดชีวิต[แก้]

เรือเดินสมุทร[แก้]

ซากเรือ[แก้]

ผลหลังจากการจม[แก้]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

การอับปางของเรือถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง "บริแทนนิค" ในปี 2000 นำแสดงโดยเอ็ดเวิร์ด อัตเตอร์ตัน, อแมนด้า ไรอัน, แจ็กเกอลีน บิสเซ็ต และจอห์น ริส-เดวีส์ เป็นเรื่องราวสมมติที่มีสายลับชาวเยอรมันก่อวินาศกรรมในเรือลำนี้ เนื่องจากเรือได้แอบขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์

สารคดีของบีบีซี 2 เรื่อง โศกนาฏกรรมเรือแฝดของไททานิก – หายนะของบริแทนนิก (Titanic's Tragic Twin – the Britannic Disaster) ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2016 นำเสนอภาพของซากเรือในปัจจุบันและพูดคุยกับญาติของผู้รอดชีวิต[55]

นวนิยายเรื่อง The Deep ในปี 2020 มีฉากส่วนหนึ่งอยู่บนเรือบริแทนนิก และไททานิก และมีเนื้อหาเกี่ยวกับการอับปางของเรือทั้งสองลำ[56]

โปสการ์ด[แก้]

โปสการ์ดของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก
Large hull of a ship in its shipyard, painted grey above the waterline and red below
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในอู่ต่อเรือก่อนพิธีปล่อยเรือ
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในอู่ต่อเรือก่อนพิธีปล่อยเรือ 
Steamship shown at sea, with smoke pouring from three of her four stacks, and two sailboats in the foreground. The ship is mostly black, painted white at and above the open decks.
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในลำเรือสีของไวต์สตาร์ ตามที่เธอตั้งใจไว้
อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก ในลำเรือสีของไวต์สตาร์ ตามที่เธอตั้งใจไว้ 

อ้างอิง[แก้]

  1. Lynch (2012), p. 161.
  2. "HMHS Britannic (1914) Builder Data". MaritimeQuest. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2008.
  3. Vladisavljevic, Brana. "Titanic's sister ship Britannic could become a diving attraction in Greece". Lonely Planet. Retrieved 9 October 2021.
  4. "HMHS Britannic", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2023-07-28, สืบค้นเมื่อ 2023-07-29
  5. Chirnside 2011, p. 217.
  6. Chirnside 2011, p. 220.
  7. Chirnside 2011, p. 224.
  8. 8.0 8.1 Piouffre 2009, p. 307.
  9. Bonsall, Thomas E. (1987). "8". Titanic. Baltimore, Maryland: Bookman Publishing. p. 54. ISBN 978-0-8317-8774-5.
  10. Chirnside 2011, p. 12.
  11. Piouffre 2009, p. 41
  12. Chirnside 2011, p. 19.
  13. Chirnside 2011, p. 14.
  14. Chirnside 2011, p. 18.
  15. Bonner, Kit; Bonner, Carolyn (2003). Great Ship Disasters. MBI Publishing Company. p. 60. ISBN 0-7603-1336-9.
  16. Lynch (2012), p. 161.
  17. "24 Apr 1912 – WHITE STAR'S NEXT GREAT LINER. – Trove". Trove.nla.gov.au. 24 เมษายน 1912. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2022.
  18. "25 Nov 1911 – A MAMMOTH STEAMER. – Trove". Trove.nla.gov.au. 25 พฤศจิกายน 1911. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2022.
  19. The Madison Daily Leader เก็บเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 ที่เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2018
  20. Las Vegas Optic: "1,000 FOOT SHIP MAY DOCK IN NEW YORK" เก็บเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 ที่เวย์แบ็กแมชชีน, 21 พฤศจิกายน 1911..สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2018.
  21. Bonsall, Thomas E. (1987). "8". Titanic. Baltimore, Maryland: Bookman Publishing. p. 54. ISBN 978-0-8317-8774-5.
  22. "HMHS Britannic". ocean-liners.com. เก็บจากต้นฉบับเมื่อ 19 ธันวาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2006.
  23. Joshua Milford: What happened to Gigantic? เก็บถาวร 5 มีนาคม 2016 ที่เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2014.
  24. 24.0 24.1 Mark Chirnside: Gigantic Dossier เก็บถาวร 3 มีนาคม 2016 ที่เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าชม 1 พฤษภาคม 2012.
  25. Chirnside 2011, p. 216.
  26. Chirnside 2011, p. 242.
  27. Chirnside 2011, p. 238.
  28. Chirnside 2011, p. 239.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 Chirnside 2011, p. 240.
  30. Le Goff 1998, p. 50
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 Chirnside 2011, p. 241.
  32. Chirnside 2011, p. 92.
  33. Chirnside 2011, p. 94.
  34. Chirnside 2011, p. 244.
  35. Chirnside 2011, p. 245.
  36. Chirnside 2011, p. 246.
  37. Chirnside 2011, p. 247.
  38. Chirnside 2011, p. 249.
  39. Chirnside 2011, p. 250.
  40. Chirnside 2011, p. 243.
  41. Chirnside 2011, p. 254.
  42. 42.0 42.1 Chirnside 2011, p. 253.
  43. "Sinking". Hospital Ship HMHS Britannic. เก็บจากต้นฉบับเมื่อ 10 สิงหาคม 2015.
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 Chirnside 2011, p. 260.
  45. Chirnside 2011, p. 259.
  46. Chirnside 2011, p. 256.
  47. 47.0 47.1 Chirnside 2011, p. 258.
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 Chirnside 2011, p. 257.
  49. Chirnside 2011, p. 258.
  50. Chirnside 2011, p. 260.
  51. 51.0 51.1 Chirnside 2011, p. 261.
  52. « Britannic » เก็บถาวรเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2009 ที่เวย์แบ็กแมชชีน, Titanic-titanic.com. เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม 2009.
  53. "PBS Online – Lost Liners – Britannic". PBS. เก็บจากต้นฉบับเมื่อ 14 ตุลาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2008.
  54. Gleick, Elizabeth; Carassava, Anthee (26 October 1998). "Deep Secrets". Time International (South Pacific Edition). No. 43. p. 72.
  55. Rees, Jasper (5 December 2016). "Titanic's Tragic Twin: The Britannic Disaster felt under-researched but the survivor testimony was grimly fascinating – review". เดอะเดลีเทเลกราฟ. ลอนดอน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2023.
  56. "'The Deep' book review – Voyage of nightmares and memories". เดอะนิวอินเดียนเอ็กซ์เพรส. เก็บจากต้นฉบับเมื่อ 17 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]