อสุภ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
อสุภ [อะ-สุ-พะ] จาก อ- (คำอุปสรรค; "ไม่") + สุภ ("งาม" "สวย" "ดี") แปลว่า "ไม่งาม ไม่สวย ไม่ดี" คือไม่น่าชื่นชม น่าเกลียด น่าระอา ใช้ว่า อสุภะ ก็ได้ เป็นหนึ่งใน กรรมฐาน 40 แต่จะกระทำได้ไม่สูงกว่าปฐมฌาณ เพราะเป็นอารมณ์คิดพิจารณามากกว่าอารมณ์เพ่ง(เป็นอารมณ์วิปัสนามากกว่าอารมกรรมฐาน) เป็นกรรมฐานที่มุ่งกระทำต่อราคะจริต และกามารมณ์ คือ ค้นคว้าหาความจริงจากวัตถุที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ที่คนมัวเมา หลงใหลว่าสวยสดงดงาม ซึ่งเป็นการฝืนกฎแห่งความเป็นจริง เป็นเหตุของความทุกข์ไม่มีสิ้นสุด เอามาตีแผ่ให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติสามารถจำแนกได้หลายประการ เช่น ในบุคคลผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่มีราคะจริตเป็นปกติ จะใช้อสุภกรรมฐานในการยับยั้ง หรือ ต่อสู้เมื่อเกิดราคะ (ราคะจริต ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ปรารถนาในเรื่องเพศเสมอไป ผู้ที่ชอบสิ่งของ-ร่างกายสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยปรุงแต่ง ก็เป็นราคะจริตเช่นกัน เพราะสภาพแท้จริงไม่ได้เป็นดังที่เห็น-ชอบ) จะทำให้อารมณ์ราคะระงับลงได้ อีกประการหนึ่งคือเพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกายตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ว่าเป็นของไม่งาม ฯลฯ ทำให้ผู้ปฏิบัติตัดความสงสัยในพระธรรม (วิจิกิจฉา) ด้วยการดูของจริง และเกิดความเข้าใจสภาพที่แท้จริงตามไตรลักษณ์จนนำไปสู่ความรู้แจ้งในการที่จะปฏิเสธการมีภพมีชาติ หรือ การมีร่างกายที่เต็มไปด้วยทุกข์อีก (สักกายทิฏฐิ) แม้ภิกษุผู้บวชในบวรพุทธศาสนาเป็นสมมติสงฆ์ หรือ ที่เป็นพระอริยะบุคคลต่ำกว่าพระอนาคามี จะใช้อสุภกรรมฐานเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการประหัตประหารราคะ ทั้งในเรื่องสัมผัสระหว่างเพศ หรือ เรื่องอื่น ๆ ที่ข้องในกามทั้งปวง (นี่เองภิกษุผู้ปฏิบัติดี หรือ พระสุปฏิปันโนจะสามารถระงับความต้องการทางเพศลงได้ ด้วยการพิจารณาอสุภกรรมฐาน ทั้งกายของตนเองและของผู้อื่น ว่าเป็นของไม่งาม ไม่ยั่งยืน ตามสภาพความเป็นจริง) สรุป คือ อสุภกรรมฐานเป็นกรรมฐานสำหรับระงับราคะ หรือ กามารมณ์ โดยตรง ช่วยให้มองสิ่งต่าง ๆ ไปตามสภาพความเป็นจริง ตัดอวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ นำไปสู่การรู้แจ้ง และพระนิพพาน ซึ่งผู้ที่เจริญเป็นพื้นฐาน แล้วเจริญวิปัสนาญาณต่อไปจะเป็นทางสู่พระอนาคามีผล และพระอรหัตผลในที่สุด อสุภ ในคำวัดใช้หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ ซึ่งท่านกำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้กล่าวไว้โดยรวม 10 อย่างคือ
- อุทธุมาตกะ ซากศพที่พองขึ้นอืด ท่านสอนเพื่อเป็นที่สบายของบุคคลผู้มีความกำหนัดในทรวดทรง สันฐาน เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ของทรวดทรงสันฐาน ว่ามีสภาพไม่คงที่ ในที่สุดก็ต้องขึ้นอืดพอง เหม็นเน่า เป็นสิ่งโสโครกไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจอย่างนี้
- วินีลกะ ซากศพที่เขียวคล้ำ มีสีแดง เขียว ขาว ปะปนกันไปตามสภาพ ท่านสอนไว้เพื่อเป็นที่สบายของบุคคลที่มีความพอใจหนักไปทางรักใคร่ผิวพรรณที่ผุดผ่อง เพราะกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ผิวพรรณนั้นไม่ได้สวยจริง ในที่สุดก็จะกลายเป็นผิวพรรณที่มีสีเลอะเทอะ เลอะเลือน แปดเปื้อนไปด้วยสิ่งโสโครกที่ผิวพรรณนั้นหุ้มห่อไว้ จะหลัง่ไหลออกมากลายเป็นของน่าเกลียดโสโครก
- วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลเยิ้ม ท่านสอนไว้เป็นที่สบายสำหรับบุคคลที่มีความยินดีในผิวพรรณที่ปรุงด้วยเครื่องหอม เอามาฉาบไว้ อสุภนี้แสดงให้เห็นว่า เครื่องหอมที่ประทินผิวนั้นไม่มีความหมาย ในที่สุดก็ต้านทานสิ่งโสโครกที่อยู่ภายในไม่ได้ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ของโสโครกที่มีอยู่ภายในจะทะลักออกมาทับถมเครื่องหอมให้หายไปตามสภาพที่เป็นอยู่จริง
- วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดกลางตัว ท่านสอนไว้เป็นที่สบายสำหรับผู้ที่กำหนัดยินดีในร่างกายที่เป็นแท่งทึบ มีเนื้อล่ำที่พอกพูนนูนออกมา เป็นเครื่องบำรุงราคะของผู้ที่มักมากในเนื้อแท่งที่กำเริบ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ร่างกายนี้มิใช่แท่งทึบตามที่คิดไว้ ความจริงเป็นโพรงข้างใน เต็มไปด้วยตับ ไต ไส้ ปอด และสิ่งโสโครก
- วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน เว้าแหว่ง ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกาย กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ส่วนของกล้ามเนื้อบางช่วงที่ตนใคร่ปรารถนานั้น ในไม่ช้าก็ต้องวิปริตสลายตัวไป และเต็มไปด้วยสิ่งโสโครก ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจในที่สุด
- วิกขิตตกะ ซากศพที่มีมือ เท้า ศีรษะขาดหายไป ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้ที่กำหนัดยินดีในลีลา อิริยาบถ มีการย่าง ก้าวไป ถอยกลับ คู้-เหยียดแขนขา ของเพศตรงข้าม หรือ เป็นผู้ใคร่ในอิริยาบถ พอใจกำหนัดยินดีในท่อนกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนั้น อารมณ์กรรมฐานในข้อนี้แสดงให้เห็นว่า อวัยวะต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวอิริยาบถนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่สามารถจะรวมกลุ่มกันได้ตลอดกาล ตลอดสมัย ในที่สุดก็ต้องกระจัดพลัดพราย เป็นท่อนน้อย ท่อนใหญ่ตามที่ปรากฏนี้
- หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกบั่นเป็นท่อน ๆ นำมาวางใกล้ ๆ กัน (ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว) ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในข้อต่อ คือ ร่างกายที่มีอาการ 32 ครบถ้วน คนประเภทนี้รักไม่เลือก ถ้าเห็นว่าเป็นคนที่มีอวัยวะไม่บกพร่องเป็นรักได้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า การติดต่อของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนี้ ไม่จีรังยั่งยืน ในไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากกันตามกฎของธรรมดา
- โลหิตกะ ซากศพที่ถูกประหารมีเลือดไหลนอง ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้กำหนัดยินดีในร่างกายที่ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ คือบูชาอาภรณ์มากกว่าเนื้อแท้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าอาภรณ์นั้นไม่สามารถจะรักษาแท่งทึบของก้อนเนื้อที่รองรับเครื่องประดับไว้ได้ ในไม่ช้าสิ่งสกปรกโสโครกภายในจะหลั่งไหลออกมาในที่สุด เครื่องประดับ หรือ อาภรณ์อันเป็นที่เจริญตามิได้มีอำนาจในการต้านทานกฎของธรรมดาไว้ได้เลย
- ปุฬุวกะ ซากศพที่เน่าเฟะคลาคล่ำด้วยตัวหนอน ท่านสอนไว้เป็นที่สบายสำหรับผู้กำหนัดยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นของเรา แต่กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอนที่กำลังกินอยู่ ถ้าร่างกายนี้เป็นของเราจริง เจ้าของร่างคงไม่ปล่อยให้หนอนกัดกินเป็นอาหารได้
- อัฏฐิกะ ซากศพที่เหลือแต่โครงกระดูก ท่านสอนไว้เป็นที่สบายของผู้มีกำหนัดยินดีในฟันที่ราบเรียบขาวเป็นเงางาม กรรมฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า กระดูกและฟันนี้ต้องหลุดถอนเป็นธรรมดา ไม่คงสภาพสวยสดงดงามให้ชมอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยได้ ตัวไม่ทันตายฟันก็หลุดออกก่อนแล้ว ฟันที่ว่านั้นก็ไม่ได้สวยจริง ถ้าปล่อยไว้ไม่ชำระขัดสีเพียงวันเดียว สีขาวไข่มุขนั้นจะกลายเป็นสีเหลืองเพราะสิ่งโสโครกที่ฟันเกาะไว้ แม้ตัวเจ้าของเองก็ไม่อาจทนได้
อสุภกรรมฐานที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสอนมีอยู่ด้วยกัน 10 อย่างดังนี้ ท่านผู้ปฏิบัติจงเลือกเพื่อกำจัดราคะ เลือกตามที่เหมาะสมกับความรู้สึกเดิมที่มีความกำหนัดยินดีอยู่นั้นเพื่อผลในการปฏิบัติในส่วนวิปัสนาญาณ เพื่อมรรคผลต่อไป
อสุภ นิยมใช้คู่กับคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น อสุภกถา อสุภกรรมฐาน อสุภนิมิต อสุภาวนา อสุภสัญญา
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) (พระมหาวีระ ถาวโร(ฤๅษีลิงดำ) ' ' คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยพระมหาวีระ ถาวโร ศิษย์หลวงพ่อปานวัดบางนมโค อยุธยา วัดท่าซุง อุทัยธานี