องค์การการค้าโลก
World Trade Organization (อังกฤษ) Organisation mondiale du commerce (ฝรั่งเศส) Organización Mundial del Comercio (สเปน) | |
สํานักงานใหญ่ ณ เจนีวา | |
ชาติสมาชิก ชาติสมาชิกซึ่งมีสหภาพยุโรปเป็นตัวแทนด้วย ชาติสังเกตการณ์ ชาติที่ไม่เข้าร่วม | |
ก่อตั้ง | 1 มกราคม พ.ศ. 2538 |
---|---|
ประเภท | องค์การระหว่างรัฐบาล |
วัตถุประสงค์ | ลดภาษีและลดอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ |
สํานักงานใหญ่ | ศูนย์วิลเลียม แรปพาร์ด เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ |
พิกัด | 46°13′27″N 06°08′58″E / 46.22417°N 6.14944°E |
ภูมิภาคที่รับผิดชอบ | ทั่วโลก |
สมาชิก | 164 ประเทศ (160 รัฐสมาชิกสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, ฮ่องกง, มาเก๊า และไต้หวัน)[1] |
ภาษาทางการ | อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน[2] |
ผู้อำนวยการ | อึงโกซี อะโคนโจ-อิเวลา[3] |
งบประมาณ | 197.2 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2020[4] |
พนักงาน | 640 คน[5] |
เว็บไซต์ | www |
องค์การการค้าโลก (อังกฤษ: World Trade Organization, WTO; ฝรั่งเศส: Organisation mondiale du commerce, OMC; สเปน: Organización Mundial del Comercio, OMC) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างชาติ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาต่อรอง ตกลงและขจัดข้อขัดแย้งในเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ทางการค้าและการบริการระหว่างประเทศสมาชิก องค์การการค้าโลกทำหน้าที่ห้ามการเลือกปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้า แต่มีการกำหนดข้อยกเว้นไว้เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของชาติ และเป้าหมายที่สำคัญอื่น ๆ
องค์การการค้าโลกจัดตั้งขึ้นแทนที่ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariffs and Trade) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิก 164 ประเทศและดินแดน.[6]
องค์การการค้าโลกมีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ทั้งสิ้น 197 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 7,000 ล้านบาท) มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสำนักเลขาธิการ 640 คน เลขาธิการคนปัจจุบันชื่ออึงโกซี อะโคนโจ-อิเวลา
องค์การการค้าโลกทำหน้าที่ดูแลข้อตกลงย่อยทางการค้าเป็นจำนวนมากที่มีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีข้อตกลงทางการค้าที่อยู่ในอาณัติขององค์การการค้าโลกราว 60 ข้อตกลง ข้อตกลงที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariff and Trade; GATT) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้, ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services, GATS) และ ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของการค้า (The agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, TRIPS)[7]
ประวัติ
[แก้]ก่อนจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้นมาได้นี้ บรรดาประเทศสมาชิกทั้งปวงในโลกต่างประชุมเจรจาเรื่องนี้อยู่หลายปี ในที่สุดจึงสามารถทำความตกลงกันได้และลงนามในความตกลงกันเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2537 เรียกว่าความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก องค์การการค้าโลกมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยอิสระในส่วนที่เกี่ยวพันกับองค์การ องค์การการค้าโลกได้รับการก่อตั้งขึ้นเนื่องจากบรรดาประเทศภาคีความตกลงต่างเล็งเห็นว่า มีความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายจะต้องดำเนินการเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ ขยายการผลิตและการค้าสินค้าและบริการ ในขณะที่ให้มีการใช้ทรัพยากรของโลกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนาอย่างถาวร เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ จึงจำเป็นต้องกำหนดรูปแบบที่จะประกันว่า ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) จะได้รับส่วนแบ่งจากความเติบโตของการค้าระหว่างประเทศที่พอเพียง และสอดคล้องกับความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ทั้งยังเห็นพ้องกันที่จะพัฒนาระบบการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade System) ซึ่งรวมทุกเรื่องเข้าด้วยกันและมีผลในทางปฏิบัติและมีความคงทนถาวรมากขึ้น โดยรวมเข้าไว้ซึ่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์)
ผลของความพยายามในการเปิดเสรีทางด้านการค้าในอดีต และผลทั้งหมดของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย หน้าที่สำคัญขององค์การการค้าโลก ได้แก่
- อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตาม การบริหาร และการดำเนินการเพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ของความตกลงนี้ และความตกลงการค้าพหุภาคี
- จัดให้มีเวทีเพื่อการเจรจาระหว่างสมาชิกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าพหุภาคีของสมาชิกเหล่านั้น
- บริหารความเข้าใจว่าด้วยกฎและวิธีดำเนินการที่ใช้บังคับการระงับข้อพิพาท
- บริหารกลไกทบทวนนโยบายทางการค้า และร่วมมือตามที่เหมาะสมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกับธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Members and Observers เก็บถาวร 10 กันยายน 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at WTO official website
- ↑ Languages, Documentation and Information Management Division เก็บถาวร 24 ธันวาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at WTO official site
- ↑ "Nigeria's Ngozi Okonjo-Iweala confirmed as WTO chief". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-02-15. สืบค้นเมื่อ 2021-03-01.
- ↑ "WTO Secretariat budget for 2020". WTO official site. สืบค้นเมื่อ 20 February 2021.
- ↑ "WTO – What is the WTO? – What we stand for". www.wto.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 June 2019. สืบค้นเมื่อ 28 March 2019.
- ↑ Members and Observers WTO official site
- ↑ "Legal texts – the WTO agreements". WTO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 May 2010. สืบค้นเมื่อ 30 May 2010.