สุสานแต้จิ๋ว
รายละเอียด | |
---|---|
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2442 |
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ชนิด | สุสานจีน |
รูปแบบ | สาธารณะ |
เจ้าของ | สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย |
ขนาด | 136,000 ตร.ม. (85 ไร่) |
จำนวนหลุมศพ | มากกว่า 10,000 |
หมายเหตุ | เป็นสุสานขนาดใหญ่ในตัวเมืองชั้นในกรุงเทพ ที่มีการปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ |
สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว | |
---|---|
ประเภท | สวนระดับชุมชน |
ที่ตั้ง | เขตสาทร กรุงเทพมหานคร |
พื้นที่ | 85 ไร่ |
เปิดตัว | พ.ศ. 2539 |
ผู้ดำเนินการ | สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว และสำนักงานเขตสาทร |
สถานะ | 04.00 - 20.00 น. ทุกวัน |
สุสานแต้จิ๋ว (ตัวเต็ม: 潮州義山 อ่านในภาษาแต้จิ๋วว่า "แต้จิ๋วหงี่ซัว") เป็นสุสานสาธารณะจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ในปัจจุบันประมาณ 85 ไร่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442 หรือประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บนถนนจันทน์บริเวณซอยวัดปรก 1 ถนนจันทน์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สุสานแต้จิ๋วถือเป็น 1 ใน 3 สุสานสาธารณะจีนในกลุ่มสุสานวัดดอน หรือป่าช้าวัดดอน[1] ที่ประกอบด้วยสุสานวัดดอนกุศลของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง[2] และสุสานไหหลำ แต่สุสานทั้ง 2 แห่งได้ถูกรื้อออกไปแล้ว
สุสานแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย เดิมสุสานแห่งนี้ ไม่ใช่ของสมาคมแต้จิ๋วฯ แต่ภายหลังได้โอนการบริหารและงานดูแลรักษาแก่สมาคมเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งหมด โดยสมาคมแต้จิ๋วฯ จะเป็นผู้ก่อสร้างหลุมฝังศพเอง และให้ถือเป็นลักษณะการเช่า ไม่ใช่การซื้อขาด ปัจจุบันสุสานแต้จิ๋วได้รับการดูแลรักษาพื้นที่โดยชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว ในช่วงก่อตั้งใหม่ การบริหารสุสานนำเอาต้นแบบมาจากสิงคโปร์ คือระบบ กงซีซัว (ลักษณะเป็นหลุมฮวงซุ้ย) ซึ่งไม่มีการเก็บเงิน “แบบหงี่ท่ง” (บริการฟรี) โดยในช่วงแรกของสุสาน คือในปี พ.ศ. 2449 มีรายชื่อคนที่ถูกนำมาฝังรวมแล้วกว่า 4,267 ชื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่เข้ามาบุกเบิก ใช้แรงงานหนักเพื่อการพัฒนาประเทศ แล้วมาเสียชีวิตที่กรุงเทพ เนื่องจากระบบสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพยังไม่ดี การฝังศพที่นี่มี 2 รูปแบบคือ มีศพที่ฝังในลักษณะของฮวงซุ้ย จำนวน 7,961 ศพ ศพที่บรรจุเฉพาะอัฐิอีก 1,800 กว่าศพ และศพที่ไม่มีญาติ บรรจุรวมกันไว้ อีกมากกว่าหมื่นศพ[3] มีค่าดูแลรักษาหลุมละ 800-1,000 บาทต่อปี[4]
ปัจจุบันพื้นที่สุสานแต้จิ๋ว ได้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนในพื้นที่ ผ่านการเข้ามาปรับปรุงพื้นที่โดยสำนักงานเขตสาทรและเจ้าของพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า "สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว"[5] ปัจจุบันสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงดูแลและพัฒนาพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขตสาทร ถึงอย่างไรก็ดีสุสานแต้จิ๋วถือเป็นสวนเอกชน ที่เปิดเป็นสาธารณะประโยชน์ ไม่ถูกจัดเป็นสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครเนื่องจากที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย
สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว มีเวลาเปิดบริการทุกวันระหว่างเวลา 04.00 - 20.00 น. ถือได้ว่าเป็นสวนชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้พื้นที่ของสุสานจีน ภายในยังประกอบด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น ซึ่งแตกต่างจากสุสานจีนทั่ว ๆ ไป ที่โดยปกติแล้วต้องโปร่งโล่งตามคติความเชื่อชาวจีนดั้งเดิม
ที่ตั้ง
[แก้]ขอบเขตสุสาน
[แก้]สุสานวัดดอนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ซอยโรงน้ำแข็ง 5 และสุสานไทยอิสลาม (กุโบร์มัสยิดยะวา)
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ซอยวัดปรก 1 และซอยเย็นจิต 12
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนกุศลทอง และโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ซอยเจริญราษฎร์ 3 สุสานไหหลำ และวัดปรก
ลักษณะทางกายภาพโดยรอบ
[แก้]บริเวณโดยรอบสุสานยังสามารถแบ่ง ประเภทการใช้งานของอาคารและที่ดินได้หลายประเภทด้วยกัน เช่น
- แหล่งชุมชน ประกอบด้วยชุมชนทั้งไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยซิกข์ ชาวไทยฮินดู ชาวไทยมุสลิม และชาวมอญ มีการตั้งที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นตลอดทุกทิศโดยรอบสุสาน ที่อยู่อาศัยส่วนมากเป็นอาคารเดี่ยว หรือ อาคารพาณิชย์ คสล. ความสูงระหว่าง 2-5 ชั้น ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล หอพัก และร้านค้า
- แหล่งธุรกิจและที่พักอาศัยระดับไฮเอน เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรมห้าดาว รวมถึงอาคารออฟฟิศ ซึ่งตั้งแนวตลอดถนนสาทร หรือทางทิศเหนือของสุสาน
- สถานพยาบาล ประกอบด้วยสถานพยาบาลเอกชนหนึ่งแห่ง คือ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
- ศาสนสถาน มีความหลากหลายตามเชื้อชาติและคติความเชื่อโดยรอบสุสาน อาทิเช่น วัดปรกซึ่งเป็นวัดมอญ วัดวิษณุ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วัดบรมสถล หรือ วัดดอน ซึ่งเป็นวัดพุทธ นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานที่มีสุสานควบคู่กันด้วย คือ มัสยิดยะวาและสุสานมุสลิม ซึ่งตั้งอยู่ติดกับขอบเขตสุสานวัดดอนทางทิศเหนือ
- สถานศึกษา ประกอบด้วยโรงเรียนเอกชน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ โรงเรียนสังกัดรัฐบาล ได้แก่ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนนิพัทธ์วิทยา และโรงเรียนวัดดอน
ประวัติ
[แก้]ภูมิหลัง
[แก้]ในอดีตบริเวณพื้นที่โดยรอบวัดดอนเรียกว่า ทุ่งวัดดอน เป็นทุ่งทางตอนใต้ของพระนคร ด้านที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เดิมเรียกว่า "บ้านทวาย" ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้นเมืองทวายขึ้นตรงกับกรุงเทพ และมีชาวทวายติดตามมากรุงเทพ โดยมาตั้งบ้านเรือนอยู่นอกป่าช้าวัดสระเกศไปพลางก่อน จากนั้นบางส่วนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดคอกกระบือ (วัดยานนาวา) ทางตอนใต้ของพระนคร จึงได้เรียกขานย่านนี้ว่า บ้านทวาย ชาวทวายจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2340 บนที่ดอนของบ้านทวาย ที่เรียกขานว่า "วัดดอนทวาย" หรือวัดบรมสถลในปัจจุบัน[6] แต่ต่อมามีชาวมลายูมุสลิมซึ่งมาจากทางเมืองตานีมาตั้งถิ่นฐาน แต่ละชุมชนมลายูก็มีมัสยิดเป็นของตน และบ้านทวายก็ได้ชื่อว่า "บางคอแหลม" ซึ่งคอแหลม ก็แผลงมาจากภาษามลายู บริเวณบางคอแหลมทุกวันนี้ ยังปรากฏชุมชนชาวมลายู และมัสยิดอยู่หลายแห่ง
ต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4–5 ได้มีชาวชวาที่เดินทางทางทะเลมาพร้อมกับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ชาวชวาเหล่านี้เป็นพวกที่หลบหนีการกดขี่ของดัตช์มาหาชีวิตใหม่ในกรุงเทพ ทำให้ที่ตั้งโดยรอบสุสานในปัจจุบัน ยังประกอบด้วยชุมชนชาวชวาที่มีมัสยิดยะวาเป็นศูนย์กลาง และกุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิมอีกด้วย
ความเจริญได้เข้าสู่พื้นที่โดยรอบที่ตั้งสุสานมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการตัดถนนอย่างฝรั่งสายแรกของไทย คือถนนเจริญกรุง ทำให้ความเจริญหลั่งไหลออกมาจากพระนครตามถนนเจริญกรุงนี้ กลายเป็นถิ่นฐานใหม่ของฝรั่ง และจีน จนความเจริญได้ขยายเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน และได้กลายเป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งการเงิน และแหล่งชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ[7]
การก่อตั้งสุสาน
[แก้]สุสานวัดดอน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442 หรือในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่ตรอกจันทร์ ยานนาวา ในช่วงเวลาดังกล่าว บริเวณโดยรอบสุสานยังเป็นเพียงพื้นที่ชานเมืองที่ประกอบด้วยโคกและทุ่งนา การฝังในสุสานนี้ เกิดขึ้นครั้งแรก ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2443 ตามประวัติเล่าว่า บุคคลแรกที่ฝังยุในสุสานนี้ ชื่อ “อื้อกิมไถ่” เป็นชาวจีน แต้จิ๋ว มาจากสิงคโปร์
การบริหารก่อตั้งสุสานเริ่มต้นเอาแบบมาจากสิงคโปร์ คือระบบ กงซีซัว (ลักษณะเป็นหลุมฮวงซุ้ย) ซึ่งไม่มีการเก็บเงิน “แบบหงี่ท่ง” (บริการฟรี) นับตั้งแต่ก่อตั้งสุสานนี้มาได้เพียง 6 ปี มีรายชื่อที่นามาฝังรวมแล้วถึง 4,267 ชื่อ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงมีไม่ถึง 8% รุ่นอายุ 20-30 ปี มากที่สุดประมาณ 70% รองลงมาคืออายุ 40-50 ปี ส่วน 60-70 ปี น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นคนจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ที่อพยพมาได้รับการสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพไม่ดีซึ่งส่วนใหญ่เป็น ชายหนุ่มที่เดินทางเข้ามาบุกเบิกทำงานหนักเพื่อการพัฒนาประเทศ แล้วมาเสียชีวิตที่เมืองไทย
ปัจจุบัน
[แก้]เดิมสถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่สมาคมแต้จิ๋วเป็นผู้ดูแล แต่ภายหลังได้มีการโอนการบริหาร ให้แก่สมาคมแต้จิ๋วฯ เป็นผู้ดำเนินการ จึงมีการเปลี่ยนแปลงโดยทางสมาคมแต้จิ๋วฯ จะเป็นผู้ก่อสร้างหลุมฝังศพเอง และให้ถือเป็นลักษณะการเช่า ไม่ใช้การซื้อ จากนั้นหลายปีต่อมา ทางสมาคมแต้จิ๋วฯ ได้ก่อตั้งสานักงานขึ้นในเนื้อที่ 10 ไร่ ส่วนที่เป็นสุสานเหลือเนื้อที่อยู่ประมาณ 85 ไร่ เนื่องจากทางการได้เวนคืนที่ดินไปจำนวน 4 ไร่ เพื่อก่อสร้างแนวถนนเจริญราษฎร์[1]
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมาสำนักงานเขตสาทร ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ในส่วนสุสานให้พื้นที่สาธารณะ โดยชมรมนักวิ่งสุขภาพสมาคมแต้จิ๋วซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมของสมาคมฯ ได้เข้ามาบริหารลานสุขภาพให้สุสานมีความสวยงาม ร่มรื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเยาวชนมาใช้เป็นที่ออกกำลังกาย [8]
การใช้ประโยชน์ที่ดินภายในสุสานแต้จิ๋ว
[แก้]การจัดสรรพื้นที่นอกเหนือจากหลุมฝังศพ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนพิธีกรรม ส่วนนันทนาการ และส่วนบริการ
ส่วนพิธีกรรม
[แก้]เป็นส่วนหลักของสุสานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีศพภายในพื้นที่ ได้แก่ [9]
- ศาลเจ้าที่ 2 แห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าแป๊ะกงชิงเฮงเก็ง ตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูสุสานวัดดอนนอกรั้วสุสานติดต่อกับวัดปรกยานนาวา และศาลเจ้าฟู่เต๊อะแป๊ะกง ตั้งอยู่ภายในสุสานทางทิศใต้
- อาคารทำพิธี (潮州義山礼堂) เป็นอาคารสำหรับประกอบพิธีในร่ม ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารฝึกซ้อมเทควันโด
- ศาลบรรพชนชาวแต้จิ๋ว (潮州公祠) เป็นศาลสำหรับบรรจุป้ายวิญญาณของชาวจีนแต้จิ๋วที่มาบรรจุไว้ในสุสานแต้จิ๋ว
- ศาลาไต้ฮงกง ตั้งอยู่ใจกลางสุสานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นที่สถิตของเทพไต้ฮงกง บริเวณด้านหน้ามีลานพิธีสำหรับการไหว้สักการะ
- บ่วงหยิ่งหมอ (万人墓) หรือหลุมบรรจุอัฐิรวม เป็นหลุมขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าสุสาน
ส่วนนันทนาการ
[แก้]ประกอบด้วย สนามบาสเกตบอล 2 สนาม สนามตะกร้อ 1 สนาม สนามแบตมินตัน 1 สนาม สนามเด็กเล่น 2 แห่ง ฟิตเนสในร่ม 1 หลัง อาคารเรียนและฝึกซ้อมเทควันโด ลานแอโรบิค ลานโยคะ ซุ้มศาลา สนามหญ้าขนาดหย่อม[5] และทางสัญจรสำหรับการวิ่งหรือเดิน
ส่วนบริการ
[แก้]ประกอบด้วยอาคารบรรจุอัฐิรวมซึ่งตั้งใกล้กับส่วนพิธีกรรม ที่ทำการสุสานและฌาปนกิจสมาคมแต้จิ๋ว ตั้งอยู่ติดต่อพื้นที่สำหรับจอดรถ ประมาณ 15-20 คัน นอกจากนี้ยังมีร้านค้าประมาณ 6 ร้าน ห้องน้ำ 3 แห่ง ตู้บริการน้ำดื่มสาธารณะ และศาลาอเนกประสงค์[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล. "ฮาโลวีน: ป่าช้าวัดดอน ลดทอนความหวาดกลัว ด้วยสวนสุขภาพในสุสานกลางกรุง". บีบีซีไทย.
- ↑ "พิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณไร้ญาติ เทศกาลเช็งเม้ง ณ สุสานวัดดอนกุศล (สุสานเก่าของมูลนิธิ) เขตสาทร กรุงเทพฯ". pohtecktung.org/. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง. สืบค้นเมื่อ 26 June 2022.
- ↑ "ยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ กับการพัฒนา ป่าช้าวัดดอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
- ↑ ลิมป์สุทธิรัชต์, วธิชาธร (2014). โครงการสวนสาธารณะแต้จิ๋ว. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
{{cite book}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) - ↑ 5.0 5.1 5.2 จันทร์พรหม, กนกวรรณ (2017). การจัดการพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง: กรณีศึกษาสุสานแต้จิ๋ว กรุงเทพมหานคร (PDF). คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 26 June 2022.
- ↑ บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. "เขตวัดยานนาวา". มติชน.
- ↑ จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์. (2560). สืบค้นข้อมูลเมื่อ 20 มกราคม 2564.
- ↑ ชูชัย ศุภวงศ์ และ ยุวดี คาการณ์ไกล. ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว. (2549). หนังสือทำเนียบชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว. บรรณาธิการ. (2540). ประชาสังคม. หน้า 10-12
- ↑ Lee, Khai Sin. REVITALIZING TIO CHEW CHINESE CEMETERY THROUGH A DESIGN OF AN ELDERLY CENTER (PDF). Chulalongkorn University. Faculty of Architecture. p. 65-86. สืบค้นเมื่อ 24 June 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สุสานแต้จิ๋ว
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์