ข้ามไปเนื้อหา

บุญยอด สุขถิ่นไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญยอด สุขถิ่นไทย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 4
ดำรงตำแหน่ง
23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
(3 ปี 138 วัน)
ก่อนหน้าพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
รชฏ พิสิษฐบรรณกร
ถัดไปอนุชา บูรพชัยศรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556
(2 ปี 159 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด17 กันยายน พ.ศ. 2508 (59 ปี)
เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
ประชาธิปัตย์ (2550–2566)
รวมไทยสร้างชาติ (2566)
ลายมือชื่อ

บุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้ประกาศข่าวแนวหน้าออนไลน์, อดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[1], อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต เขต 4 กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2551-2554) และแบบบัญชีรายชื่อ (พ.ศ.​ 2554​ -2556) พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงอดีตนักจัดรายการวิทยุชาวไทย

ประวัติ

[แก้]

นายบุญยอด เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2508 ที่ย่านลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีอาชีพขายของชำ มีชื่อเล่นว่า "ฝัด" แปลว่า "ผู้รู้"[2] จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง[3] และ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ - คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม - อดีตผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 และ ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 17 - อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน, สถาบันพระปกเกล้า ปี พ.ศ. 2552

การทำงาน

[แก้]

วงการข่าว

[แก้]

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เริ่มทำงานทางด้านโฆษณาที่บริษัทโอกิลวี่ จากนั้นจึงเริ่มทำงานในสายข่าว โดยเข้าเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคในช่อง 7 นาน 3 ปี แล้วจึงลาไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อกลับมาจึงข่าวอ่านช่วงภาคค่ำทางช่อง 5 อยู่ 2 ปี จากนั้นจึงได้หันไปทำงานทางด้านวิทยุสไมล์ เรดิโอ 5 ร่วมกับ อัญชะลี ไพรีรัก และงานด้านสายข่าว ในปี พ.ศ. 2539 นายบุญยอดได้เป็นพิธีกรรายการวาไรตี้ตอนเช้าทางช่อง 9 คือ รายการ"สวัสดีบางกอก" ส่วนในปี พ.ศ. 2542 นายบุญยอดได้เป็นพิธีกรรายการตอบปัญหาทางวิชาการชื่อ "เกมคนเก่งกับแอลจี" และเป็นผู้ประกาศ พิธีกร และนักจัดรายการวิทยุอิสระเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 ได้กลับมาอ่านข่าวกับทางช่อง 3 อีกครั้ง ในรายการ ข่าววันใหม่ อันเป็นการรายงานข่าวประจำวันช่วงดึกคู่กับอริสรา กำธรเจริญ รวมทั้งได้ร่วมงานกับทางเอเอสทีวีด้วยช่วงสั้น ๆ

ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2550 นายบุญยอด ได้ถูกปลดออกจากช่อง 3 ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่าเป็นเพราะตนเองได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร[4][5][6] รวมประสบการณ์การทำงานเป็นสื่อมวลชนทั้งหมด 18 ปี[7]

ใน ปี พ.ศ. 2558 นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ ในรายการ ข่าวฟ้าวันใหม่ ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 06.05 - 07.50 น. เริ่มวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม แต่ภายหลังลาออก

ปัจจุบัน เป็นผู้ประกาศข่าว และเอ็กซ์คลูซีฟโปรดิวเซอร์ ของสำนักข่าวแนวหน้าออนไลน์

การเมือง

[แก้]

นายบุญยอดได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 นายบุญยอดได้เบอร์ 32 ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนมาเป็นลำดับที่ 18 ซึ่งถือเป็นลำดับสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากได้รับร้องเรียนว่าขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้จึงได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540

บุญยอด ได้ลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ในเขต 4 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ โดยร่วมทีมกับ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และ นายสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งได้รับเลือกทั้ง 3 คน[8] โดยนายบุญยอดได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 ของเขต รวม 113,280 คะแนน ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[9] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย

ในปี 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 42[10] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 บุญยอดได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในวันรุ่งขึ้นและได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566

โดยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2566 เขาลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อสังกัดของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในลำดับที่ 31[11]แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก่อนที่จะลาออกจากพรรค เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และรับตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[12]

วงการบันเทิง

[แก้]

นายบุญยอด ได้เคยร่วมแสดงภาพยนตร์ เรื่อง “ผู้หญิง 5 บาป” ซึ่งเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ได้มีผู้เข้าไปโพสต์ข้อความไว้ในเว็บไซต์ประชาไท ถึงการร่วมเล่นภาพยนตร์ของนายบุญยอด เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาล่อแหลมต่อเรื่องทางเพศ ทางวัฒนธรรมอย่างมาก ทำให้นายบุญยอด ฟ้องเว็บไซต์ประชาไท และหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ ประมาณ 20 ล้านบาท เพราะตนอยู่ในวงการมา 20 ปี ทำรายการสารประโยชน์มาตลอด และจะนำเงินที่ได้ ไปให้สื่อดังกล่าวที่เกี่ยวข้อง ไปอบรมจริยธรรม ให้ทำสื่ออย่างมีคุณธรรม ไม่เอียงข้าง แต่อย่างไรก็ตามนายบุญยอดไม่ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งนำเสนอข่าวดังกล่าวด้วยเช่นกัน[13] หลังจากมีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล เว็บไซต์ประชาไท ยอมเขียนชี้แจงว่านายบุญยอด สุขถิ่นไทยไม่ได้แสดงหนังโป๊ แต่อย่างใด และยังคงเป็นบุคคลที่มิได้มีความเสื่อมเสียทางจริยธรรม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มติครม. 14 มีนาคม 2566
  2. "จาก"คนจอแก้ว"สู่โลก"ละครการเมือง" บุญยอด สุขถิ่นไทย". มติชน. 2012-06-24. สืบค้นเมื่อ 2017-01-15.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-17. สืบค้นเมื่อ 2008-01-11.
  4. "ช่อง 3" ปลดฟ้าแลบ "บุญยอด สุขถิ่นไทย" เจ้าตัวเชื่อการเมือง เหตุชอบสวนทางรัฐฯ
  5. เปิดใจ บุญยอด สุขถิ่นไทย "ทำสื่อวันนี้ไม่ต่างจากยุค รสช."[ลิงก์เสีย]
  6. บุญยอด สุขถิ่นไทย เล่าข่าวดี...ไม่ต้องใส่สีตีไข่
  7. "สน.อาสาฯ ต้านนิรโทษกรรม 13 08 56 เบรก3". บลูสกายแชนแนล. 2013-08-13.
  8. http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=50570&NewsType=2&Template=1
  9. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
  10. เปิด 150 รายชื่อผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์
  11. "เลือกตั้ง 2566 : เปิดลำดับบัญชีรายชื่อ 100 คน "พรรครวมไทยสร้างชาติ"". pptvhd36.com.
  12. เกิดอะไรขึ้น 'บุญยอด' ลาออกพ้นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ
  13. "สำลักจริยธรรม บุญยอด'เล่นหนังโป๊!'โกโบริน'จี้ขับพ้นสภาฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-20. สืบค้นเมื่อ 2009-02-16.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖ เก็บถาวร 2013-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๑๓, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๖๐, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓