ข้ามไปเนื้อหา

กระเบื้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tile)
ตัวอย่างของกระเบื้องรูปแบบต่าง ๆ

กระเบื้องคือวัตถุที่บางและมักมีรูปร่างจตุรัสหรือสี่เหลี่ยม กระเบื้องผลิตขึ้นจากวัสดุซึ่งสึกกร่อนยากเช่น เซรามิก หิน โลหะ ดินเผา หรือแม้แต่แก้ว และโดยทั่วไปไว้ใช้มุงหลังคา ปูพื้น บุผนัง หรือใช้บนวัตถุอื่น ๆ เช่นโต๊ะ ในบางกรณีคำว่ากระเบื้องสามารถหมายถึงวัตถุอีกแบบที่คล้ายกันแต่ผลิตมาจากวัสดุน้ำหนักเบาอย่างเช่นเพอร์ไลต์ ไม้ และใยแร่ (mineral wool) ซึ่งไว้ใช้สำหรับผนังและเพดาน

กระเบื้องสามารถมีรูปร่างที่ซับซ้อนได้เช่นกระเบื้องโมเสก กระเบื้องส่วนใหญ่ทำจากเซรามิกซึ่งเคลือบเงาสำหรับใช้ภายในและไม่เคลือบสำหรับใช้มุงหลังคา แต่วัสดุอื่นก็มีใช้ด้วยเช่น แก้ว ไม้ก๊อก คอนกรีต วัสดุเชิงประกอบอื่น ๆ และหิน กระเบื้องหินมักทำจากหินอ่อน โอนิกซ์ หินแกรนิตหรือหินชนวน

อิฐสีและงานกระเบื้องตกแต่ง

[แก้]
กระเบื้องนวศิลป์ในบรัสเซลส์ (เบลเยียม)

งานกระเบื้องตกแต่งหรือศิลปะกระเบื้อง (tile art) แตกต่างจากงานโมเสกซึ่งประกอบขึ้นจากกระเบื้องเทสเซรา (tessera) ชิ้นเล็ก ๆ แต่ละสีที่ทำจากแก้ว เซรามิก หรือหินที่ถูกจัดตำแหน่งอย่างไม่สม่ำเสมอ รูปแบบการปูกระเบื้องมีหลายรูปแบบเช่น แบบก้างปลา (Herringbone pattern) แบบก่ออิฐ แบบออฟเซ็ต แบบตาราง แบบกังหัน แบบตะกร้าสาน แบบทแยงมุม แบบเชฟรอน และแบบปาร์เกต์ (Parquetry) โดยสามารถมีขนาด รูปร่าง ความหนา และสีที่ต่างกันไป[1]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ตะวันออกกลาง

[แก้]
ภาพนูนที่ทำจากกระเบื้องอิฐเคลือบ ส่วนหนึ่งของการตกแต่งแบบอะคีเมนิดที่พระราชวังดาไรอัสในซูซา (Palace of Darius in Susa)

หลักฐานของอิฐเคลือบที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งเป็นอิฐเคลือบซึ่งถูกค้นพบในวิหารอีลาไมท์ที่ โชกา ซานบิล (Chogha Zanbil) โดยมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยเอลาไมท์ยุคกลาง (1500 - 1100 ปีก่อนคริสตกาล)[2] อิฐเคลือบและอิฐสีถูกใช้เพื่อสร้างประติมากรรมแบบนูนต่ำในเมโสโปเตเมียโบราณ ที่โด่งดังเช่นประตูอิชตาร์แห่งบาบิโลน (ราวปี 575 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งปัจจุบันบางส่วนถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในกรุงเบอร์ลิน[3] และส่วนอื่น ๆ ในที่อื่น[4]

อิฐตากแห้งหรืออิฐดินดิบ (Adobe) เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างอาคารในเมโสโปเตเมีย[5] ซึ่งเป็นที่ซึ่งอุดมไปด้วยดินเหนียวแม่น้ำตามแนวแม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีส การขาดแคลนหินในบริเวณนี้อาจเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอิฐเตาเผาขึ้นมาใช้แทน[6][7] อิฐเผาถูกนำมาใช้เป็นชั้นป้องกันด้านนอกกำแพงซึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากอิฐตากแห้งของอาคารสำคัญต่าง ๆ เช่นวิหาร ซิกกุรัต และวัง อิฐดินเหนียวเผาเป็นวัสดุที่คงทนมากที่สุดชนิดหนึ่ง การผลิตอิฐเผาคือการนำก้อนดินเหนียวมาเผาในเตาเผาอิฐ โดยใช้แม่พิมพ์ไม้ในการผลิตเหมือนอิฐตากแห้ง[6]

อิหร่านโบราณ

[แก้]

อาคารในสมัยของจักรวรรดิอะคีเมนิดถูกตกแต่งด้วยกระเบื้องอิฐเคลือบอย่างเช่นในพระราชวังของดาไรอัสมหาราชที่ซูซา (Susa) และอาคารต่าง ๆ ในเปอร์เซเปอลิส[8]

ต่อมาในจักรวรรดิซาเซเนียน ได้มีการนำกระเบื้องลวดลายเชิงเรขาคณิต, ดอกไม้, ต้นไม้, สัตว์ปีก และผู้คน ที่ถูกเคลือบหนาถึงหนึ่งเซนติเมตรมาใช้[8]

อิสลาม

[แก้]
กระเบื้องดินเผาที่ทาสีเคลือบ (ceramic glaze) หลากสีลงบนพื้นหลังเคลือบสีขาว (อิหร่าน คริสต์ศตวรรษที่ 19)
มูการ์นา (muqarna) เคลือบเทอร์คอยส์ตีมูริด สมัยครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในชาห์อิซินดา (Shah-i-Zinda)

กระเบื้องโมเสกแบบอิสลามช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่ในประเทศอิหร่านทำขึ้นจากอิฐเคลือบและเป็นเครื่องตกแต่งลวดลายเรขาคณิตข้างในมัสยิดและมอโซเลียม (mausoleum) กระเบื้องเทอร์คอยส์ได้รับความนิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 และถูกนำมาใช้บนกำแพงมัสยิดสำหรับคำจารึกกูฟีย์ (Kufic) ตัวอย่างที่ดีได้แก่มัสยิดซีเยดในเอสแฟฮอน (Seyyed Mosque (Isfahan)) (ค.ศ. 1122), โดมแห่งแมรอเฆฮ์ (Dome of Maraqeh) (ต.ศ. 1147) และมัสยิดใหญ่แห่งโกนอบอด (Jameh Mosque of Gonabad) (ค.ศ. 1212)[8]

Tilework in Jameh Mosque of Isfahan, Isfahan, Iran

ยุคทองของงานกระเบื้องเปอร์เซียเริ่มต้นในสมัยจักรวรรดิตีมูร์ เทคนิคโมแรฆ (moraq) เป็นเทคนิคการปูกระเบื้องโมเสก โดยเป็นการวางกระเบื้องสีต่าง ๆ ที่ถูกตัดออกเป็นรูปร่างเรขาคณิตชิ้นเล็ก ๆ และเทปูนปลาสเตอร์เหลวลงระหว่างแต่ชิ้นเพื่อประกอบเข้ากัน หลังจากที่แข็งตัวแล้ว กระเบื้องแต่ละแผ่นจะถูกนำไปประกอบบนผนังของอาคารต่าง ๆ กระเบื้องโมเสกแบบนี้ไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะบนพื้นผิวเรียบเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปปูทั้งด้านนอกและด้านในของโดมด้วย ตัวอย่างของการใช้เทคนิคนี้ในจักรวรรดิตีมูร์ที่โดดเด่น เช่น มัสยิดใหญ่แห่งแยซด์ (Jame mosque of Yazd) (ค.ศ. 1324–1365), มัสยิดโกแฮร์ชอด (Goharshad Mosque) (ค.ศ. 1418), มัดเราะซะฮ์ข่านในชีรอซ (Madrassa of Khan in Shiraz) (ค.ศ. 1615) และมัสยิดเมาลานา (Molana Mosque) (ค.ศ. 1444)[8]

กระเบื้องอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญในยุคสมัยนี้คือกระเบื้องกิริฮ์ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือสายทาบหรือกิริฮ์สีขาว มิหร็อบ (Mihrab) ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของมัสยิดมักเป็นตำแหน่งที่มีงานกระเบื้องซึ่งประณีตและซับซ้อนที่สุด มิหร็อบยุคคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่มัดเราะซะฮ์ Imami ในแอสแฟฮอนเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการผสมผสานทางสุนทรียภาพระหว่างศิลปะอักษรวิจิตรอิสลาม (Islamic calligraphy) และลายวิจิตรนามธรรม โค้งแหลม (Ogive) ซึ่งวางกรอบของช่องเว้าของมิหร็อบมีจารึกในอักษรกูฟีย์ซึ่งถูกใช้ในอัลกุรอานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 9[9]

มัสยิดชาห์ในเอสแฟฮอน อิหร่าน

มัสยิดชาห์ในเอสแฟฮอนเป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกในอิหร่านจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดมของมัสยิดนี้เป็นตัวอย่างของงานกระเบื้องโมเสกที่สำคัญ และห้องภาวนาฤดูหนาวในมัสยิดมีกระเบื้องกูเอร์ดา เซกา (cuerda seca) ที่มีความวิจิตรมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กระเบื้องหลากหลายรูปแบบถูกผลิตขึ้นมาเพื่อปูโถงรูปแบบซับซ้อนรูปแบบต่าง ๆ เป็นลวดลายโมเสก ผลลัพธ์เป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีและสิ่งประดับที่น่าอัศจรรย์ใจ[9]

ในสมัยซาฟาวิด เทคนิค แฮฟต์แรงก์ (haft rang แปลว่า 'เจ็ดสี' ในภาษาเปอร์เซีย) มักถูกใช้ในการประดับแทนกระเบื้องโมเสก โดยเป็นการทาสีลงบนกระเบื้องสี่เหลี่ยมธรรมดา เคลือบ และเผา นอกเหนือจากเหตุผลทางเศรษฐกิจแล้ว เทคนิคแฮฟต์แรงก์ยังทำให้ศิลปินสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง มันยังคงเป็นที่นิยมจนถึงสมัยกอญัรเมื่อตัวเลือกสีมีมากขึ้นด้วยสีเหลืองและสีส้ม[8] สีเจ็ดสีที่ถูกใช้ในกระเบื้องแฮฟต์แรงก์ได้แก่สีดำ, สีขาว, สีน้ำเงิน, สีเทอร์คอยส์ (Turquoise (color)), สีแดง, สีเหลือง และสีฟอว์น (Fawn (colour))[10]

ประเพณีอิทธิพลเปอร์เซียเหล่านี้ (Persianate) ได้กระจายต่อเนื่องไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของโลกอิสลาม ที่น่าจดจำเช่นเครื่องปั้นดินเผาอิซนิค (İznik pottery) จากประเทศตุรกีภายใต้จักรวรรดิออตโตมันในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17[11]

พระราชวังโทพคาปึ ภาพจากซ้ายไปขวา (1) กระเบื้องในพระราชวังโทพคาปึ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี (2) ห้องสมุดเอนเดรึน (Enderun library) (3) หน้าต่างห้องชุดของมกุฎราชกุมาร


รูปนกฟีนิกซ์เหนือประตูของมัดเราะซะฮ์นาดีร์ดีวอนเบย์กี (Nadir Divan-Begi Madrasah) เมืองบุคอรอ (Bukhara) ประเทศอุซเบกิสถาน
งานกระเบื้องซัลลีจญ์ (Zellige) ในวังอัลฮะดีม (Palace El-Hedine) เมืองแม็กแน็ส ประเทศโมร็อกโก

อาคารอิสลามในบุคอรอ (Bukhara) ในเอเชียกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) มีเครื่องประดับลวดลายดอกไม้ที่ซับซ้อนเช่นเดียวกัน[12] ในเอเชียใต้ การตกแต่งด้วยงานกระเบื้องกอชอนี (Qashani) จากเปอร์เซียได้ถูกรับมาใช้ในมุลตานและสินธ์ในประเทศปากีสถาน[13] มัสยิดวะซีร์ ข่าน ในลาฮอร์เป็นหนึ่งในตัวอย่างของงานกระเบื้องที่ได้รับอิทธิพลจากกระเบื้องกอชอนีหรือ kashi-kari จากสมัยจักรวรรดิโมกุล[14]

วัฒนธรรมกระเบื้องซัลลีจญ์ (zellige) ของประเทศโมร็อกโกเป็นกระเบื้องพื้นเมืองที่ยังคงมีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน เป็นการนำกระเบื้องสีชิ้นเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างที่หลากหลายเพื่อสร้างลวดลายเรขาคณิตคล้ายกับกระเบื้องโมเสก[15][16]

อนุทวีปอินเดีย

[แก้]

ห้องที่มีพื้นกระเบื้องที่ทำมาจากดินเหนียวซึ่งมีการตกแต่งด้วยลวดลายวงกลมเชิงเรขาคณิตถูกค้นพบในโบราณสถานที่กาลีพังคาน (Kalibangan), โกต บาลา (Kot Bala) และอัลลอฮ์ดิโน (Allahdino) [17][18]

กระเบื้องถูกนำมาใช้ในศรีลังกาโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ในรูปของหินเรียบและหินขัดบนพื้นและในสระน้ำ กระเบื้องจากช่วงเวลานี้สามารถพบได้ในกุฏฏัมปกกุณะ (Kuttam Pokuna) ในเมืองอนุราธปุระ และที่อื่น ๆ[19]

เอเชียตะวันออก

[แก้]

ตัวอย่างของกระเบื้องเซรามิกหรืออิฐเคลือบที่ใช้ในการตกแต่งในเอเชียตะวันออกเช่นเจดีย์กระเบื้องเคลือบนานกิงซึ่งถูกสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15[20] ถูกทำลายลงไปในคริสต์ศตวรรษที่ 19[21] และถูกสร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 2015[22]

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[แก้]

ไทย

[แก้]
ภาพส่วนหนึ่งของพระปรางค์วัดอรุณฯ งานกระเบื้องก่อนมีการบูรณะครั้งล่าสุดระหว่าง พ.ศ. 2556 ถึง 2560[23]

ตัวอย่างของการใช้กระเบื้องในการตกแต่งที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่นพระปรางค์วัดอรุณฯซึ่งถูกตกแต่งด้วยลวดลายที่ทำจากงานกระเบื้องที่มีรูปร่างและสีต่าง ๆ กว่า 120 ลวดลาย[23]

การใช้งานกระเบื้องในรูปแบบต่าง ๆ มีในประเทศไทยมาแต่อดีต โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างในวัด ในงานศึกษาเกี่ยวกับกระเบื้องยุคสุโขทัย มักพบเศษกระเบื้องกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณรอบโบสถ์วิหาร[24] ตัวอย่างเช่น ซี่ลูกกรงของพนังกำแพงแก้วของวัดมังกรในเมืองเก่าสุโขทัยซึ่งยังหลงเหลืออยู่เป็นสังคโลก[25] ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น ยังมีการผลิตเครื่องกระเบื้องสังคโลกจนเมื่อทำสงครามกับพม่า คนในเมืองสุโขทัยถูกกวาดต้อนและเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระเบื้องก็ถูกทิ้งไป วัดส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ ซึ่งหยาบ มีสีดิน สีอิฐ[24] กระเบื้องเคลือบกลายเป็นของหายากและมีราคาสูง วัดที่ใช้กระเบื้องเคลือบก็จะถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก[24] เช่นวัดบรมพุทธารามซึ่งถูกเรียกอีกชื่อว่าวัดกระเบื้องเคลือบ[26]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อค้าขายกับจีนทำให้ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมทั้งวัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่งจากประเทศจีนมาใช้[27] ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกระเบื้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่นกระเบื้องดินเผา กระเบื้องเคลือบ ภาชนะอย่างเครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยลายครามน้ำเงินขาว ทั้งเป็นภาชนะทั้งใบหรือเป็นเศษกระเบื้อง หรือที่เป็นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ วงกลมอยู่แล้วประกอบในลวดลายปูนปั้น[28] ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 จึงนำมาตกแต่งวัด เช่น วัดเทพธิดา[29] วัดเฉลิมพระเกียรติ[30] วัดราชโอรสาราม[28][31] และวัดกัลยาณมิตร[28][32] มีการตั้งโรงเผากระเบื้องเคลือบใช้เองที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[28] จนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการใช้กระเบื้องที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ซึ่งมีลวดลายทั้งในแบบไทย จีน และตะวันตก และมีการนำกระเบื้องสีเบญจรงค์แบบไทยมาตกแต่งโบสถ์ วิหาร และพระเจดีย์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม[33] แต่เป็นกระเบื้องสั่งทำจากจากประเทศจีน[34][24]

ตะวันตก

[แก้]
กระเบื้องเอ็นคอสติก (encaustic tile) ยุคกลางที่คลีฟแอบบีย์ ประเทศอังกฤษ

กระเบื้องเขียนลายถูกใช้เป็นจำนวนมากในยุโรปยุคกลาง บางส่วนมีรูปแบบที่ซับซ้อนมาก ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ เรื่องราวทางศาสนาและฆราวาสถูกวาดบนกระเบื้อง เช่นกระเบื้องปูพื้นจินตภาพในจิตกรรมสีน้ำมันชื่อ แม่พระรับสาร ที่ วอชิงตัน ดี.ซี. (Annunciation (van Eyck, Washington)) ของ ยัน ฟัน ไอก์ ใน ค.ศ. 1434 ซึ่งแสดงฉากในพันธสัญญาเดิม "กระเบื้องทริง" จากโบสถ์ในเมืองทริง (Tring) ที่พิพิธภัณฑ์บริติชซึ่งแสดงภาพฉากสมัยเด็กจากชีวิตของพระเยซู อาจถูกใช้ปูผนังแทนพื้น[35] ในขณะที่ "กระเบื้องเชิร์ตซี" ซึ่งมาจากแอบบีย์ในเมืองเชิร์ตซี (Chertsey) จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 แสดงภาพฉากการต่อสู้ระหว่างริชาร์ดใจสิงห์กับเศาะลาฮุดดีน[36] กระเบื้องตัวอักษรยุคกลาง (Medieval letter tiles) ถูกใช้ปูพื้นของโบสถ์เพื่อจารึกข้อความต่าง ๆ ในศาสนาคริสต์[37]

เครื่องกระเบื้องเดลฟท์สีน้ำเงินและขาวลายสัตว์ประหลาดทะเล สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17

เครื่องกระเบื้องเดลฟท์ซึ่งเป็นกระเบื้องที่มีลายภาพวาดสีขาวน้ำเงินซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์[38] ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กระเบื้องเดลฟท์ได้รับอิทธิพลจากกระเบื้องจีน[39] และถูกส่งออกไปทั่วทั้งทวีปยุโรปจนเริ่มหมดความนิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18[40][41] ราชวังสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลายแห่งมีห้องที่ผนังทั้งหมดถูกปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ตัวอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่เช่นที่ พิพิธภัณฑ์กาโปดิมอนเต (Museo di Capodimonte) ที่เมืองนาโปลี พระราชวังมาดริด (Royal Palace of Madrid) และพระราชวังอารังฆูเอซ (Royal Palace of Aranjuez)[42]

ตู้คีออสนวศิลป์ตอนปลาย (ค.ศ. 1923) ที่ลัสปัลมัสเดกรันกานาเรียซึ่งถูกปูด้วยกระเบื้องจากมานิเซส ประเทศสเปน
กระเบื้องในผับในเมืองยูเทรกต์
จากซ้ายไปขวา (1) อาซูเลฌู ดือ ตาเปตึ หรือกระเบื้องอาซูเลโฆแบบพรม (คริสต์ศตวรรษที่ 17) ณ พิพิธภัณฑ์ไรญาโดนาลียูโนร์ เมืองแบฌา ประเทศโปรตุเกส (2) ภาพยุทธการที่บูซากู (Battle of Buçaco) บนกระเบื้องอาซูเลโฆ (3) กระเบื้องอาซูเลโฆสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใน กาซา เด โลส อาซูเลโฆส (Casa de los Azulejos) เม็กซิโกซิตี

กระเบื้องอาซูเลโฆหากอ่านตามภาษาสเปน หรืออาซูเลฌูตามภาษาโปรตุเกส (Azulejo) มาจากกระเบื้องซัลลีจญ์ทั้งตัวกระเบื้องเองและชื่อของมัน[43][44] กระเบื้องอาซูเลโฆเป็นเอกรงค์สีขาวน้ำเงินและมีลวดลายเป็นรูปภาพ หรืออาจมีสีอื่น สิ่งก่อสร้างแนวบารอกมีการใช้กระเบื้องอาซูเลโฆ กระเบื้องอาซูเลโฆยังถูกนำมาใช้ในสถาปัตยกรรมละตินอเมริกัน[45][46][47]

ภาพการตกแต่งด้วยกระเบื้องอาซูเลโฆซึ่งยังมีใช้ในปัจจุบัน

ประเทศโปรตุเกสและเมืองเซาลูอีสยังคงธรรมเนียมการใช้กระเบื้องอาซูเลโฆมาถึงปัจจุบัน โดยถูกใช้ตกแต่งอาคาร เรือ[48] และแม้แต่ก้อนหินเองก็ตาม

งานกระเบื้องถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้งในสมัยวิกตอเรีย เนื่องจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกและการเคลื่อนไหวทางศิลปหัตถกรรม (Arts and Crafts movement) กระเบื้องลายหรือกระเบื้องที่ปูเป็นลวดลายถูกผลิตแบบมวลรวมด้วยเครื่องจักรเรียบพอสำหรับการปูพื้นและราคาถูกลง และถูกนำมาปูพื้นและผนังเช่นในโบสถ์ โรงเรียน และอาคารสาธารณะ รวมไปถึงโถงทางเดินและห้องน้ำภายในบ้าน

การใช้งาน

[แก้]
หลังคาปูกระเบื้อง "หางบีเวอร์" (beaver tail) ใน ดิงเคิลส์บืล (Dinkelsbühl), เยอรมนี
กระเบื้องปูพื้นในประเทศไซปรัส

กระเบื้องมุงหลังคา

[แก้]

กระเบื้องมุงหลังคาถูกออกแบบสำหรับใช้กันฝนและความร้อน กระเบื้องทำขึ้นจากวัสดุตามดั้งเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ดินเผา หินแกรนิต หรือหินชนวน หรือวัสดุสมัยใหม่ เช่น คอนกรีต แก้ว[49] และพลาสติก กระเบื้องมุงหลังคามีรูปทรงที่หลากหลาย

กระเบื้องปูพื้น

[แก้]
การผลิตกระเบื้องโมเสก
กระเบื้องหินปูพื้นลานกลางอาคาร (Patio) รัฐฮาวาย สหรัฐฯ ค.ศ. 1960

กระเบื้องปูพื้นมีทั้งเซรามิก หิน ยาง พลาสติก หรือแม้แต่แก้ว ซึ่งอาจถูกทาสีหรือเคลือบ หรือเป็นกระเบื้องโมเสกซึ่งถูกปูเป็นลวดลาย กระเบื้องปูพื้นถูกปูลงบนปูนซึ่งประกอบด้วยทราย ซีเมนต์ และสารเติมแต่งน้ำยาง ช่องว่างระหว่างกระเบื้องแต่ละแผ่นจะถูกเติมด้วยยาแนว (grout) ที่อาจถูกขัดหรือไม่ด้วยกระดาษทราย แต่โดยดั้งเดิมแล้วจะใช้ปูน

ในการผลิตกระเบื้องหินแกรนิตและหินอ่อน หินจะถูกนำมาตัดก่อนนำมาขัดถูผิวด้านบน[50] ในขณะที่กระเบื้องหินธรรมชาติชนิดอื่นเช่นหินชนวนใช้วิธีการกะเทาะด้านบนหินให้แยกออกจากกัน[51]

กระเบื้องฝ้าเพดาน

[แก้]

กระเบื้องฝ้าเพดานหรือแผ่นฝ้าเพดานเป็นแผ่นกระเบื้องซึ่งถูกนำมาใช้กับเพดานของอาคาร เพดานเหล่านี้มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่นเพดานแขวน ซึ่งอยู่ต่ำลงมาจากเพดานโครงสร้าง สำหรับการถอดประกอบที่สะดวก เพดานซับเสียงเพื่อทำให้คุณสมบัติทางเสียงของห้องดีขึ้น หรือเพดานขึงตึงซึ่งทำจากอะลูมิเนียมหรือพลาสติก PVC เพื่อปกปิดงานท่อ สายไฟต่าง ๆ[52]

กระเบื้องฝ้าเพดานอาจถูกทำมาจากวัสดุหลายอย่าง เช่นฝ้าเพดานแผ่นยิปซัม ฝ้าเพดานไฟเบอร์ซีเมนต์ ฝ้าเพดานไม้ ฝ้าเพดานไวนิล และฝ้าเพดานอะลูมิเนียม[53] ตัวอย่างของฝ้าเพดานที่ทำมาจากอิฐเช่นเพดานโค้งกาตาลัน (Catalan vault)

นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นสิ่งกีดขวางการแพร่กระจายของเปลวไฟและควัน การทำลาย การเคลื่อนย้าย หรือการถอดกระเบื้องฝ้าเพดานออกจะทำให้เซนเซอร์ตรวจจับและหัวกระจายน้ำดับเพลิงทำงานได้ช้าลงและปล่อยให้ไฟลามได้เร็วขึ้น[54]

วัสดุและกระบวนการ

[แก้]

เซรามิก

[แก้]
กระเบื้องพอร์ซเลนปูพื้นขนาด 6นิ้วx6นิ้ว

กระเบื้องอาจทำจากวัสดุเซรามิกเช่นเครื่องดินเผา (earthenware) เครื่องหิน (stoneware) และเครื่องเคลือบดินเผา[55] ในขณะที่เทอราคอตตา (Terracotta) เป็นวัสดุซึ่งตามดั้งเดิมถูกนำมาใช้ทำกระเบื้องมุงหลังคา[56]

กระเบื้องพอร์ซเลน

[แก้]

กระเบื้องพอร์ซเลนเป็นกระเบื้องหรือแผ่นปูพื้นโมเสกเซรามิกซึ่งผลิตจากส่วนผสมของวัสดุต่าง ๆ ผ่านการขึ้นรูปด้วยการอัดแบบแห้ง (dry pressing) และได้ออกมาเป็นแผ่นกระเบื้องที่มีความหนาแน่น เนื้อละเอียด และเรียบ มีผิวหน้าที่คมชัดและมีเนื้อตัน กระเบื้องชนิดนี้มักมีสีที่สว่างและสดใส อิงตามมาตรฐานเอเอสทีเอ็ม C242[57]

หินอ่อน

[แก้]
บ้านของ เจสัน แมกนัส ที่ซิเรเน ประเทศลิเบีย

ชาวโรมันมักปูพื้นห้องชั้นล่างด้วยกระเบื้องโมเสกซึ่งทำจากหินอ่อนก้อนสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ วางต่อกันเป็นรูปแบบที่มีสีสัน และใช้กระเบื้องหินอ่อนขนาดใหญ่รูปสีเหลี่ยมจตุรัส วงกลม ฯลฯ ในห้องที่รับรองคนจำนวนมาก เพราะกระเบื้องโมเสกไม่สามารถทนจำนวนคนได้เป็นเวลานาน และอิฐมีไว้ใช้กับทางเดินทั่วไปเท่านั้น[58]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หนังสือศัพทานุกรมสำหรับงานหินอ่อนให้นิยามกับกระเบื้องไว้ว่าเป็นแผ่นที่ทำมาจากหินหรือหินอ่อนซึ่งถูกตัดเป็นชิ้นส่วนรูปร่างต่าง ๆ เช่นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปแปดเหลี่ยม ฯลฯ[59]

จากซ้ายไปขวา (1) บ้านของ เจสัน แมกนัส ที่ซิเรเน ประเทศลิเบีย (2) กระเบื้องหินอ่อนในแตร์เม ตาอูรีเน (terme taurine) (3) และ (4) งานฝังประดับวัสดุที่เฮอร์คิวเลเนียม

หินกรวด

[แก้]

คล้ายกับกระเบื้องโมเสกหรือลวดลายชนิดอื่น ๆ กระเบื้องหินกรวดเป็นกระเบื้องที่ทำจากหินกรวดก้อนเล็ก ๆ ที่ติดกับแผ่นรองอย่างหนึ่ง โดยมักออกแบบมาเป็นลวดลายที่ประสานเข้ากันเพื่อให้การติดตั้งในตอนสุดท้ายดูเข้ากันและไม่มีรอยต่อ

พิมพ์ลาย

[แก้]

การพิมพ์กระเบื้องใช้เทคนิคการพิมพ์และการดัดแปลงศิลปะและภาพถ่ายดิจิทัล การพิมพ์ลงบนกระเบื้องได้หลากหลายชนิดด้วยคุณภาพเทียบเท่ากับภาพถ่ายเป็นไปได้ด้วยการพิมพ์สีระเหิด (Dye-sublimation printing) การพิมพ์แบบพ่นหมึก หมึกพิมพ์เซรามิก และโทนเนอร์เซรามิก[60] ภาพแรสเตอร์/บิตแมปถูกจัดเตรียมในซอฟต์แวร์แก้ไขรูปภาพ (Image editing) โดยการจับภาพดิจิทัลด้วยเครื่องกราดภาพหรือกล้องดิจิทัล เทคนิคการพิมพ์ลงบนกระเบื้องแบบพิเศษที่ใช้ความร้อนและความดันหรือเตาเผาที่อุณหภูมิสูงถูกใช้เพื่อถ่ายโอนภาพลงบนสารตั้งต้นบนกระเบื้อง เทคนิคการลงสีลงบนกระเบื้องมีเช่น การพิมพ์สกรีนแบบแบน การพิมพ์สกรีนแบบหมุนซึ่งมีสองรูปแบบคือการใช้ล้อหมุนซิลิโคนที่แกะลวดลายด้วยเลเซอร์ หรือล้อหมุนที่เอาลวดลายจากการสกรีนแบบแบนมาอยู่ในรูปวงล้อแทนเพื่อให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องและไม่ต้องหยุดทำทีละแผ่น และการพิมพ์กระเบื้องแบบพ่นหมึกโดยตรง (DCIJP)[61] กระเบื้องเหล่านี้ถูกใช้ปูผนังของห้องครัว ห้องน้ำ หรือใช้ทางพาณิชย์ในร้านอาหาร โรงแรม และห้องพักแขก เป็นเครื่องตกแต่ง

คณิตศาสตร์ของการปูกระเบื้อง

[แก้]

กระเบื้องบางรูปร่างสามารถปูเรียงซ้ำกันให้คลุมพื้นผิวอันหนึ่งได้โดยไม่เหลือช่องว่าง ตัวอย่างเช่นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก รูปร่างเหล่านี้กล่าวได้ว่าสามารถเทสเซลเลต (จาก tessella ภาษาละตินแปลว่า 'กระเบื้อง') และการปูกระเบื้องในรูปแบบนี้เรียกว่าเทสเซลเลชัน ลวดลายการปูกระเบื้องหลากสีแบบอิสลาม (Islamic geometric pattern) บางรูปแบบมีความซับซ้อนและคล้ายกับการปูกระเบื้องแบบเพนโรส (Penrose tiling) เช่นกระเบื้องกิริฮ์ (Girih tiles)[62]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Ceramic Tile History". Traditional Building. 15 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2021.
  2. Razmjou, S. (2004). "Glazed bricks in the Achaemenid period.". ใน Stoellner, T.; Deutsches Bergbau-Museum Bochum (บ.ก.). Persiens Antike Pracht. Bergbau, Handwerk, Archäologie (PDF) (ภาษาอังกฤษ). Deutsches Bergbau-Museum. p. 383. ISBN 9783937203119. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2022. During archaeological excavations at Dur-Untashi, modern Chogha Zanbil, some examples of glazed bricks from Middle Elamite period were found by R. Ghirshman (1966, 110-111). They are decorated and painted on one peripheral surface and being glazed and used on the walls.
  3. Maso, Felip (5 January 2018). "Inside the 30-Year Quest for Babylon's Ishtar Gate". National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 3, 2018. สืบค้นเมื่อ 14 May 2018.
  4. Fletcher, Alexandra (19 ธันวาคม 2013). "A loan from Berlin: a lion from Babylon". The British Museum Blog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022.
  5. Tunalı, Selma (2014). "ADOBE STRUCTURES AS OUR CULTURAL HERITAGE AND THEIR FEATURES". PROCEEDINGS 2nd MEDITERRANEAN INTERDISCIPLINARY FORUM ON SOCIAL SCIENCES AND HUMANITIES, MIFS 2014, 26-28 November, Almeria, Spain. 2nd MEDITERRANEAN INTERDISCIPLINARY FORUM ON SOCIAL SCIENCES AND HUMANITIES. อัลเมรีอา สเปน: European Scientific Institute. pp. 103–113. ISBN 9786084642312. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022.
  6. 6.0 6.1 Hnaihen, K. H. (2020). "The Appearance of Bricks in Ancient Mesopotamia" (PDF). Athens Journal of History. 6 (1): 73–96. doi:10.30958/ajhis.6-1-4. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2021 – โดยทาง Academia.
  7. Stone, E. C.; Lindsley, D. H.; Pigott, V.; Harbottle, G.; Ford, M. T. (1998). "From Shifting Silt to Solid Stone: The Manufacture of Synthetic Basalt in Ancient Mesopotamia". Science. 280 (5372): 2091–2093. doi:10.1126/science.280.5372.2091. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 "Iran: Visual Arts: history of Iranian Tile". Iran Chamber Society. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ตุลาคม 2010.
  9. 9.0 9.1 Fred S. Kleiner (2008). Gardner's Art Through The Ages, A Global History. p. 357. ISBN 9780495410591.
  10. "Kashi Haft Rang (Seven-Colored Tiles) of Shiraz". Visit Iran. Ministry of Cultural Heritage, Tourism and Handicrafts. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 ตุลาคม 2020.
  11. "LACMA: Los Angeles County Museum of Art". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-05. สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.
  12. Ebaid, S.; Ghaly, N. (2013). "Ceramic mihrabs in religious buildings in Bukhara during 16th C." (PDF). Mediterranean Archaeology and Archaeometry. กรีซ. 13 (2): 43–56. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 เมษายน 2018.
  13. Sajidullah; Shar, B. K.; Brohi, M. A. (2020). "A Walkthrough of Traditional Process of Kashikari In Sindh: A Case Study of Nasarpur" (PDF). Engineering science and technology international research journal. 4 (4): 36–42. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มกราคม 2021.
  14. Salman, M., Documentation and conservation of Wazir Khan Mosque, Lahore, Pakistan (PDF), Aga Khan Cultural Service - Pakistan, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 มีนาคม 2022
  15. Pollock, S. (7 มิถุนายน 2018). "Crafting mosaic tile is an endangered tradition. Here are the folks keeping it alive". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2022.
  16. Martin, H. (6 มกราคม 2022). "The Moroccan Tile Trend Designers Can't Seem to Get Enough Of". Architectural Digest. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2022.
  17. Indian History (ภาษาอังกฤษ). ทาทา แมคกรอ-ฮิล เอดูเคชัน. 1926. ISBN 9781259063237. kalibangan tiles.
  18. McIntosh, Jane (2008). The Ancient Indus Valley: New Perspectives (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. ISBN 9781576079072.
  19. Embuldeniya, P. (2018). "Art in the Ancient Water Management System of Sri Lanka" (PDF). Journal of the Centre for Heritage Studies. 1: 155–162. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022.
  20. Dreyer, Edward L. (2007). Zheng He: China and the Oceans in the Early Ming Dynasty, 1405–1433. New York: Pearson Longman. p. 135-144. ISBN 9780321084439.
  21. Jonathan D. Spence. God's Chinese Son, New York 1996
  22. Yu, Elaine (2016-09-16). "Nanjing's Porcelain Tower: Ancient 'world wonder' brought back to life". CNN. สืบค้นเมื่อ 2017-02-28.
  23. 23.0 23.1 สงสกุล, พลวุฒิ (16 สิงหาคม 2017). "ส่องพระปรางค์ วัดอรุณฯ บูรณะตามหลักวิชา กรมศิลป์ไม่ห้ามหากวัดนำกระเบื้องทำวัตถุมงคล". เดอะสแตนดาร์ด. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2022.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 Thai Studies CU (29 กันยายน 2018). "กระเบื้องในศิลปะไทย". สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2022.
  25. "วัดมังกร". www.muangkaosukhothai.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  26. "วัดบรมพุทธาราม (วัดกระเบื้องเคลือบ) และสะพานบ้านดินสอ". www.museumthailand.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  27. สุขพลับพลา, ปิยมาศ (2006). "การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว". NAJUA: History of Architecture and Thai Architecture. 4: 120–137. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มกราคม 2022 – โดยทาง ThaiJO.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 พันธุภากร, ภรดี (2007). "เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบดินเผาในงานประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม" (PDF). วารสารเซรามิกส์ (26): 49–54. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2022.
  29. พิทักษ์บ้านโจด, ศุภกิจ (23 มีนาคม 2019). "วัดเทพธิดารามฯ พระอารามหลวงในสมัย ร.3 ที่งดงามในแบบจีน". becommon.co. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ธันวาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  30. "วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร". thailandtourismdirectory.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  31. "'วัดราชโอรสฯ ต้นแบบวัดไทยสไตล์จีน". MGR Online. 5 พฤษภาคม 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  32. "รักษ์วัดรักษ์ไทย : หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ สถิต ณ วัดกัลยาณมิตร". MGR Online. 5 มกราคม 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  33. สุภากร, วลัญช์ (1 มีนาคม 2020). "วัดราชบพิธฯ วิจิตรศิลปกรรมกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์-งานประดับมุก". กรุงเทพธุรกิจ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  34. เรือนอินทร์, พรรณราย (29 มกราคม 2020). "150 ปีแห่งความงดงาม สมโภชวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ศุภมงคลสมัยในรัตนโกสินทรศก 238". มติชนออนไลน์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม 2022.
  35. "The Tring Tiles". พิพิธภัณฑ์บริติช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2015.
  36. "Chertsey tiles: Richard and Saladin". พิพิธภัณฑ์บริติช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2015.
  37. Klamt, C. (2004). "Letters van baksteen in een cistercienzerklooster: het Ave Maria te Zinna". ใน Stuip, R. E. V. (บ.ก.). Meer dan muziek alleen: in memoriam Kees Vellekoop. Utrechtse bijdragen tot de mediëvistiek (ภาษาดัตช์). Vol. 20. Hilversum: Uitgeverij Verloren. pp. 195–210. ISBN 9065507760.
  38. Caiger-Smith (1973), pp. 127, 131.
  39. Caiger-Smith (1973), p. 129.
  40. Caiger-Smith (1973), p. 140.
  41. Jörg, C. J. A. (1999–2000). "Oriental Export Porcelain and Delftware in the Groningen Museum". ใน Groninger Museum; Kyushu Ceramic Museum; Japan Airlines (บ.ก.). Ceramics Crossed Overseas: Jingdezhen, Imari and Delft from the collection of the Groningen Museum. pp. 10–11.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  42. Battie, D. (1990). Sotheby's concise encyclopedia of porcelain. ลอนดอน: Conran Octopus. pp. 104–105. ISBN 9781850292517 – โดยทาง Archive.org.
  43. "azulejo – definition of azulejo in Spanish". Oxford Living Dictionaries. Oxford University Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2020.
  44. "Azulejos: gallery and history of handmade Portuguese and Spanish tiles". www.azulejos.fr. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2020.
  45. Geraldes, C. F. M.; Pais, A. N.; Mimosol, J. M. (2017). "The integration of azulejos in the modernist architecture of portugal as a unique case in europe". ใน Menezes, M.; Costa, D. R.; Rodrigues, J. D. (บ.ก.). IMaTTe2017- Intangibility Matters – International conference on the values of tangible heritage, Lisbon, LNEC, May 29-30, 2017. Proceedings (PDF). Intangibility Matters – International conference on the values of tangible heritage – IMaTTe 2017. ลิสบอน. pp. 139–147. ISBN 9789724922959 – โดยทาง ResearchGate. With the increasing international appreciation of Portuguese azulejos, spurred not only by the acknowledgement of their integration in Baroque architecture as a unique heritage, [...] in Portugal as cultural heritage and the raison d'être of their integration, not only in Portuguese, but also in Brazilian architecture [...]{{cite conference}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  46. Toussaint, M. (1 มกราคม 1962). Arte colonial en México [Colonial art in Mexico]. Imprenta Universitaria.
  47. Toussaint, M.; Murillo, G. (1924). Iglesias de México. Vol. IV. Tipos poblanos. เม็กซิโก: Publications of the Secretariat of Finance. pp. 79, 81, 83, 85.
  48. "Archived copy". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2016.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  49. Yoneda, Y. (20 มกราคม 2014). "SolTech's Beautiful Glass Roof Tiles Heat Your Home With Solar Energy". Inhabitat. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2022.
  50. Mezadre, S. D. B. B.; Bianco, M. D. F. (2014). "Polishing Knowledge: A Study of Marble and Granite Processing". BAR-Brazilian Administration Review [online]. 11 (3): 310. doi:10.1590/1807-7692bar2014365. ISSN 1807-7692. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2022. The main processing activities include block cutting, resin coating(3), honing(4) (only in the BA unit) and polishing(5).
  51. "The manufacturing of slate". National Slate Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2022.
  52. Dirisu, J. O.; Fayomi, O. S. I.; Oyedepo, S. O. (2019). "Thermal Emission and heat transfer characteristics of ceiling materials: a necessity". Energy Procedia. 157: 331–342. doi:10.1016/j.egypro.2018.11.198. ISSN 1876-6102.
  53. "ฝ้าเพดานบ้านมีกี่ประเภท ควรเลือกแบบไหนดี". www.jorakay.co.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2022.
  54. United States Congress Office of Compliance (2008), Missing Ceiling Tiles., วอชิงตัน ดี.ซี., เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 เมษายน 2021
  55. "What are ceramics?". Science Learning Hub. 27 เมษายน 2010. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2021.
  56. Maldonado, Eduardo (19 พฤศจิกายน 2014). Environmentally Friendly Cities: Proceedings of Plea 1998, Passive and Low Energy Architecture, 1998, Lisbon, Portugal, June 1998 (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 9781134256228. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 พฤษภาคม 2018.
  57. Dodd, A. E. (1994). "Porcelain Tile" (PDF). ใน Murfin, D. (บ.ก.). Dictionary of Ceramics (ภาษาอังกฤษ) (3rd ed.). Institute of Materials/Pergamon Press. p. 239. ISBN 9781591249627. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 ธันวาคม 2021. Porcelain Tile. US term defined (ASTM - C242) as a ceramic mosaic tile or PAVER (q.v.) that is generally made by dust-pressing and of a composition yielding a tile that is dense, finegrained, and smooth, with sharplyformed face, usually impervious. The colours of such tiles are generally clear and bright.
  58. Viollet-le-Duc, Eugène (1856). "Carrelage". Dictionnaire raisonné de l’architecture française du xie au xvie siècle (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 3.
  59. Morisot, J. M. R. (1814). "Vocabulaire de la marbrerie". Tableaux détaillés des prix de tous les ouvrages du bâtiment. Vocabulaire des arts et métiers en ce qui concerne les constructions (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 5 (2 ed.). ปารีส: Nouzou. p. 3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 ธันวาคม 2021. Carreau. Ce sont des tranches de pierre ou de marbre taillées en morceaux de diverses grandeurs, de forme carrée, octogone ou losange [...]
  60. "Inkjet Decoration of Ceramic Tiles". digitalfire.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010.
  61. เลิศพรม, วิรัช (2009). "เทคโนโลยีการพิมพ์ลายบนกระเบื้องเซรามิก" (PDF). วารสารเซรามิกส์ (32): 81–86. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 19 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2021.
  62. Lu, P. J.; Steinhardt, P. J. (2007). "Decagonal and Quasi-Crystalline Tilings in Medieval Islamic Architecture". ไซเอินซ์. 315 (5815): 1106–1110. Bibcode:2007Sci...315.1106L. doi:10.1126/science.1135491. PMID 17322056. S2CID 10374218.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Caiger-Smith, A. (1973). Tin-Glaze Pottery in Europe and the Islamic World: The Tradition of 1000 Years in Maiolica, Faience and Delftware. Faber and Faber. ISBN 0571093493.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]