ยัน ฟัน ไอก์
ยัน ฟัน ไอก์ | |
---|---|
ยัน ฟัน ไอก์ ใน ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?), ค.ศ.1433. หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน | |
เกิด | ก่อนค.ศ.1390 หรือ 1395 |
เสียชีวิต | 9 กรกฎาคม ค.ศ.1441 บรูช (ปัจจุบันคือประเทศเบลเยียม) |
การศึกษา | โรเบิร์ต กัมปิน? |
ผลงานเด่น | ฉากแท่นบูชาเกนต์, ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี, Madonna of Chancellor Rolin, Annunciation, Madonna in the Church |
ขบวนการ | จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก, สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนเหนือ |
Patron(s) | John III, Duke of Bavaria, หลังจากนั้นคือฟิลิปที่ 3 ดยุกแห่งเบอร์กันดี |
ยัน ฟัน ไอก์ (ดัตช์: Jan van Eyck; ราวก่อน ค.ศ. 1395 - ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1441) เป็นจิตรกรสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ทำงานที่บรูช และถือกันว่าเป็นจิตรกรคนสำคัญของยุโรปในคริสต์ศวรรษที่ 15
สิ่งหนึ่งที่มักจะเข้าใจผิดกันเกี่ยวกับ ฟัน ไอก์ ว่าเป็นผู้ริเริ่มการใช้สีน้ำมันในการวาดภาพ มาจากข้อเขียนของจอร์โจ วาซารี ผู้เขียน "ชีวิตจิตรกร" ในคริสต์ศวรรษที่ 16 แต่ที่แน่ ๆ คือฟัน ไอก์มีความสำเร็จเป็นอันมากจากการใช้วิธีการวาดภาพด้วยสีน้ำมัน
ยัน ฟัน ไอก์มักจะมีชื่อเกี่ยวข้องกับฮือเบิร์ต ฟัน ไอก์ ผู้เป็นจิตรกรและเป็นพี่ชาย และทั้งสองคนมาจากมาไซก์ ในประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน พี่ชายอีกคนหนึ่ง แลมเบิร์ตมีชื่อกล่าวในเอกสารของราชสำนักเบอร์กันดี และสันนิษฐานกันว่าคงเป็นจิตรกรด้วยและอาจจะเป็นผู้ที่ดูแลการปิดโรงฝึกงานของยัน ฟัน ไอก์ที่บรูช[1] ฟัน ไอก์อีกผู้หนี่งคือ บาร์เตเลอมี ฟัน ไอก์ (Barthélemy van Eyck) ผู้ทำงานอยู่ทางใต้ของฝรั่งเศสก็เข้าใจว่าจะเป็นญาติกัน
ชีวิตเบื้องต้น
[แก้]วันเกิดของยัน ฟัน ไอก์ไม่เป็นที่ทราบ หลักฐานแรกที่แสดงชื่อของยัน ฟัน ไอก์มาจากศาลของดยุกจอห์นที่ 3 แห่งบาวาเรีย-ชเตราบิงที่เดอะเฮก ลงปี ค.ศ. 1422 กล่าวถึงค่าจ้างฟัน ไอก์ในฐานะช่างเขียนประจำสำนัก ซึ่งชึ้ให้เห็นว่าฟัน ไอก์ต้องเกิดก่อน ค.ศ. 1395 หรือก่อนหน้านั้น นักวิชาการสันนิษฐานอายุจากภาพเหมือนตนเองว่าอาจจะเป็นก่อน ค.ศ. 1395 [1]
ชื่อเสียง
[แก้]หลังจากดยุกจอห์นที่ 3 เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1425 ฟัน ไอก์ก็ไปทำงานกับฟิลิปที่ 3 ดยุกแห่งเบอร์กันดี ฟัน ไอก์อาศัยอยู่ที่ลีลหนึ่งปี ก่อนที่จะย้ายไปบรูชที่ซึ่งเขาตั้งหลักแหล่งจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1441 หลักฐานหลายฉบับที่พิมพ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กล่าวถึงกิจการต่าง ๆ ที่ฟัน ไอก์ทำระหว่างที่เป็นช่างเขียนในสำนักของฟีลิป นอกจากจะเป็นช่างเขียนแล้ว ฟัน ไอก์ยังถูกส่งตัวไปทำงานอื่น ๆ โดยฟีลิปด้วย นอกจากจะเขียนภาพเหมือนสองภาพของอิซาเบลลาแห่งโปรตุเกสซึ่งฟัน ไอก์เขียนให้ฟีลิปในฐานะเป็นผู้แทนคนหนึ่งที่ไปขอตัวอิซาเบลลาในปี ค.ศ. 1428-1429 แล้วก็ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับงานเหล่านั้นเท่าใดนัก
ในฐานะช่างเขียนประจำสำนักของดยุกฟีลิปนั้น ฟัน ไอก์ได้รับค่าใช้จ่ายเป็นอย่างดี เงินค่าจ้างประจำปีเป็นจำนวนสูงเมื่อเริ่มแรกและสูงขึ้นเท่าตัวเพียงในระยะเวลาสองสามปีต่อมา นอกจากนั้นก็ยังได้รับเงินโบนัสต่างหาก ค่าตัวสูงของฟัน ไอก์ทำให้เขาเป็นช่างเขียนที่ต่างไปจากช่างเขียนสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก เพราะช่างเขียนคนอื่น ๆ ต้องพึ่งค่าจ้างเขียนต่อชิ้นเพื่อความอยู่รอด ฉะนั้นงานของฟัน ไอก์ต้องเป็นงานที่ยอมรับกันว่าเป็นงานที่มีฝีมือดี จากที่เห็นจากหลักฐานที่เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. 1435 เมื่อดยุกฟีลิปตำหนิผู้ดูแลการคลังว่าไม่ได้จ่ายเงินประจำปีให้กับฟัน ไอก์ และกล่าวว่าถ้าไม่จ่ายแล้วฟัน ไอก์ไปทำงานกับคนอื่น จะหาผู้มีความสามารถทั้งทางการเขียนภาพและทางวิทยาศาสตร์ได้ที่ไหน นอกจากนั้นดยุกผู้นี้ยังเป็นพ่อทูลหัวของลูกของฟัน ไอก์ และยังเลี้ยงภรรยาของฟัน ไอก์หลังจากฟัน ไอก์เสียชีวิตไปแล้ว และหลายปีต่อมาก็ยังให้ทุนช่วยให้ลูกสาวของฟัน ไอก์ได้เข้าคอนแวนต์ได้อีกด้วย