เครื่องเบญจรงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องเบญจรงค์ยุคกรุงศรีอยุธยา

เครื่องเบญจรงค์ คือ เครื่องปั้นเคลือบที่เขียนลายโดยวิธีลงยา โดยส่วนที่เรียกว่า เบญจรงค์ เป็นการเขียนลวดลายลงบนงานที่ผลิตด้วยสี 5 สี โดยทั่วไปเป็นสีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว (หรือสีคราม)[1]

ประวัติ[แก้]

เมื่อสยามได้เริ่มติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับอิทธิพลในการนำเข้าเครื่องใช้ไม้สอยจากหลากหลายประเทศรวมถึงประเทศจีน ในขณะนั้นสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้มีการสั่งทำเครื่องเบญจรงค์จากจีนมีลักษณะคล้ายกับเครื่องถ้วยเขียนสี วัสดุทำจากเนื้อดินสีขาว น้ำเคลื่อบชั้นดีมันวาวเรียบ ลวดลาย สีสันสดสวย รูปทรงและลวดลายผสมผสานศิลปวัฒนธรรมไทยจีน เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มเจ้านายชั้นสูงในสมัยนั้น

จนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เครื่องเบญจรงค์ได้รับความนิยมมากขึ้น มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ลายเทพพนมนรสิงห์ ลายประจ่ายาม ลายก้านขด ลายวิชาเยนทร์ ลายเบญจมาศ เป็นต้น ภายในภาชนะนิยมเคลือบด้วยสีเขียวขุ่น เริ่มมีการเขียนลายสอดเส้นทองเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า ลายน้ำทอง จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชสำนักยังนิยมสั่งผลิตและนำเข้าเครื่องถ้วยต่าง ๆ จากประเทศจีน ช่างหลวงจากสยามเดินทางไปกับเรือสำเภาเพื่อกำกับการวาดลายของช่างจีน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เครื่องเบญจรงค์มีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านของลวดลาย ได้แก่ ลายครุฑยุดนาค ซึ่งเป็นพระราชลัญจรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลายเทพพนม ลายราชสีห์ และเกิดการผูกลวดลายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก อาทิ ลายนกไม้ ลายก้านต่อดอก ลายกุหลาบน้ำทอง เป็นต้น[2]

นับแค่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องเบญจรงค์ยังคงรูปแบบและลวดลายดังเช่นในอดีต เกิดโรงงานผลิตเครื่องเบญจรงค์ขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาทิ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พิจิตร ชลบุรี ลำปาง เชียงใหม่ นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน เครื่องเบญจรงค์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งยุโรป และเอเชีย[3]

ลักษณะ[แก้]

เครื่องเบญจรงค์ในอดีต ใช้เพียงห้าสี ได้แก่ สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว (หรือสีคราม) แต่ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์รูปแบบและสีสันให้มีมากกว่าห้าสีหลักนี้มากมาย สีที่ใช้ในอดีตเป็นสีที่เกิดจากการเผาแร่ผสมกับน้ำยาเคลือบ วาดลวดลายลงบนภาชนะก่อนนำไปเข้าเตาเผา จนได้เป็นเครื่องเบญจรงค์ที่สดสวยมันวาว

ลายที่นิยมเขียน ได้แก่ ลายเทพพนม ลายนรสิงห์ ลายก้านขด และลายกระหนก ลายเทพพนมนรสิงห์ ลายประจำยาม ลายบัวเจ็ดสี ลายเบญจมาศ ลายวิชาเยนทร์ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น ลวดลายในช่วงที่ช่างจีนเขียนอาจดูแปลกตาไปเช่น ลายเทพพนมที่เทวดาแลดูอ้วนและพุงพลุ้ย ด้วยศิลปะปลายพู่กันของช่างจีน ส่วนเอกลักษณ์ของการใช้น้ำทองวาดลวดลายบนเครื่องกระเบื้องซึ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง รุ่งเรือง และความสงบของบ้านเมืองในยุคนั้น ลวดลายเครื่องเบญจรงค์ออกแบบโดยช่างหลวง มีสีขาวเป็นพื้นบ้าง สีเบญจรงค์บ้าง และเขียนลวดลายทับสีพื้นอีกชั้นหนึ่ง โดดเด่นด้วยลายน้ำทองซึ่งมีการเผาสีทองในประเทศไทย

เครื่องเบญจรงค์เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเซรามิก (Ceramics) ใช้เนื้อดินประเภทพอร์ซเลน (Porcelain ware) มีเนื้อดินที่ใช้เรียกว่า เครื่องขาว ซึ่งเนื้อดินที่ใช้ทำในประเทศไทย มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ดินระนอง ดินสุราษฎร์ ดินลำปาง ปัจจุบันสีที่ใช้เป็นสีเคมีสำเร็จรูป เรียกว่า สีบนเคลือบ (Over glaze)[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เครื่องเบญจรงค์". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  2. 2.0 2.1 "เครื่องใช้เบญจรงค์ของไทย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  3. "เครื่องเบญจรงค์". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง.