โรงเรียนนาน้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนนาน้อย
Nanoi School
ข้อมูล
ชื่ออื่นน.น.
ประเภทรัฐ
  • โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอของรัฐ
  • โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลาง
คำขวัญเรียนดี วินัยดี มีมารยาทงาม
สถาปนาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ 2510
ผู้ก่อตั้งนายดิลก นิมกุล ร่วมกับข้าราชการทุฝ่าย ประชาชนพ่อค้าคหบดีในอำเภอนาน้อย
เขตการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่าน เขต 1
สำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1—6 สหศึกษา
จำนวนนักเรียน1,185 คน
สีดำ-เหลือง
เพลงมาร์ช นาน้อย
เว็บไซต์www.nanoi.ac.th

โรงเรียนนาน้อย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ในสมัยนั้นมีนายดิลก นิยมกุล เป็นศึกษาธิการอำเภอนาน้อย ร่วมกับข้าราชการทุกฝ่าย พ่อค้าประชาชนคหบดีในอำเภอนาน้อยและผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ในปีการศึกษา 2507 ได้บริจาคทุนสร้างอาคารชั้นเดียว 4 ห้องเรียน กว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตร มุงหลังคาด้วยสังกะสี พื้นไม้ ฝาไม้ รวมค่าอุปกรณ์และแรงงาน 32,000 บาท สร้างเสร็จ เมื่อปี 2509 เรียบร้อยสมบูรณ์ใช้เป็นอาคารชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2509 จำนวนหนึ่งห้องเรียน มีนักเรียน 34 คน นายประพันธ์ พันธุปาล เป็นครูใหญ่ นายภูชิชย์ อาจองค์ เป็นครูประจำชั้นทางโรงเรียนประชาบาลส่งครูมาช่วยอีก 1 คน คือนายเกียรติพงษ์ อะทะวัน

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2512 ได้ที่ว่างเปล่าจากป่าช้าบ้านนาราบอีก 17 ไร่ 2 งาน ของปศุสัตว์อำเภอนาน้อยอีก 2 งาน รวมเป็น 18 ไร่ ต่อมาปี พ.ศ. 2515 ได้ที่ป่าช้าบ้านนาราบ เพิ่มอีก 29 ไร่ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 47 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคาร 1 หลัง จำนวน 8 ห้องเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ คมช. รุ่น 11 และได้รับงบประมาณสร้างอาคารเกษตร 1 หลัง อาคารอุตสาหกรรม 1 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารแบบ 216 จำนวน 8 ห้องเรียน จำนวน 7,427,000 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารแบบ 216 เพิ่มอีก 10 ห้อง และในปีถัดมา ได้รับงบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์ จำนวน 400,000 บาท บ้านพักครู 1 หลัง บ้านพักนักการภารโรง 1 หลัง

ในปี พ.ศ. 2521 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารชั่วคราว 7 ห้องเรียน โรงฝึกงานคหกรรม-อุตสาหกรรม 1 หลัง ส้วม 18 ที่นั่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ( ปีงบประมาณ 2523 ) โรงเรียนได้เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมเพื่อพัฒนาชนบท (มพ.ช.) ของสำนักโครงการพิเศษ (สศศ) กรมสามัญศึกษารุ่นที่ 2 สิ้นสุดโครงการ ปี พ.ศ 2527 ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 โรงเรียนได้รับพระราชทานโรงเรียนมัธยมศึกษา (ขนาดกลาง) ดีเด่นของประเทศ และในปีถัดมา ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคาร แบบ cs 213 B 1 หลัง จำนวน 500,000 บาท

ในปี พ.ศ. 2535 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 216 ล ปรับปรุง 29 (พิเศษ) 1 หลัง จำนวน 7,236,660 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้รับอนุมัติให้ เปิดการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 โรงเรียนสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล)กว้าง 4 เมตร ยาว 50 เมตร โดยใช้งบประมาณจากกรม ฯ รวม 80,000 บาท ( แปดหมื่นบาทถ้วน ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 โรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างหอประปา ขนาดจุน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 10 เมตร กว้าง 4 เมตร และในวันที่ 20 ตุลาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนนาน้อย และพระราชทานวัสดุ ครุภัณฑ์ ทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนนาน้อย ทรงเยี่ยมราษฎรอำเภอนาน้อย,นาหมื่นและทรงปลูกต้นดอกเสี้ยวขาวเป็นที่ระลึก (ต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน)

ในปี พ.ศ. 2541 โรงเรียนนาน้อยได้เข้าร่วมโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย รองผู้อำนวยการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา (คุณพรชัย จุฑามาศ) ได้มาประสานการเข้าร่วมโครงการฯ โดยตรง (20 ก.พ. 2541) และในปีถัดมา ผู้อำนวยการหรินทร์ สุขสันต์ศิริกุล ปฏิบัติราชการที่โรงเรียนนาน้อย ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 วันพืชมงคล โรงเรียนนาน้อยได้รับคัดเลือกจากสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องในพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ณ สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร เป็นโรงเรียน 1 ใน 3 โรงเรียน สังกัดกรมสามัญศึกษา ที่ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการครั้งนี้

ในปี พ.ศ 2546 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้ปรับปรุงอาคารฝึกงานเก่าเป็นอาคารประชุมเสี้ยวดอกขาว เพื่อให้การบริการชุมชน และโรงเรียนได้รับพระราชทานรางวัลโรงเรียนส่งเสริมพุทธศาสนาดีเด่น ต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม 2548 โรงเรียนนาน้อยได้รับคัดเลือกจากสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และเข้ารับป้ายพระราชทาน ณ โรงเรียนคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โรงเรียนผ่านการประเมินโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน

ในปี พ.ศ. 2550 ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เปิดศูนย์การเรียนรู้ในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาสหวิทยาการท้องถิ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ได้ปรับปรุงอาคารฝึกงานเป็นอาคารบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อชุมชนขึ้น สร้างโรงรถนักเรียน บริเวณบ้านพักครูเดิมจัดทำป้ายโรงเรียนบริเวณหน้าประตูโรงเรียน จัดสร้างอาคารเพิ่มดำเนินงานสหกรณ์โรงเรียนจำนวน 1 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้งบประมาณสร้างห้องน้ำนักเรียนเพิ่มเติม บริเวณด้านหลังบ้านพักผู้อำนวยการโรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 จัดสร้างทางเดินเชื่อมอาคารเรียนระหว่างอาคาร 2 และอาคาร 4 คู่กับทางเดินเดิมเพื่อกันฝน สร้างเสาธงใหม่ ปรับปรุงสถานที่จอดรถยนต์ ห้องสมุดและบ้านพักผู้อำนวยการ และในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการรื้อถอน อาคาร 1 ปรับปรุงใต้ถุนอาคาร 4 ให้เป็นห้องประชุมเพื่อให้บริการแก่นักเรียน โดยเปิดใช้ครั้งแรกในงานวันครูประจำปีการศึกษา 2554 ปรับปรุงด้านล่างอาคาร 3 ให้เป็นห้องปฏิบัติการทางการเรียน เพื่อรองรับกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น

ในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการสร้างสนามฟุตซอล ปรับปรุงอาคารเกษตร ปรับปรุงอาคาร 2เพื่อใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ปรับปรุงห้องเสี้ยวดอกขาว ปรับปรุงระบบน้ำประปาในโรงเรียน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและขยายอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนได้รับรางวัลสถานศึกษาพอเพียง ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการต่อเติมห้องเสี้ยวดอกขาวเป็นธนาคารโรงเรียน สร้างห้องเรียนชั่วคราว (ห้องเกษตร) ต่อเติมโรงจอดรถนักเรียน จัดทำห้องน้ำนักเรียนด้านหลังของอาคารเสี้ยวดอกขาว จำนวน 8 ห้องปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์และจัดทำห้องน้ำด้านหลังของอาคารอเนกประสงค์จำนวน 10 ห้อง จัดสร้างอาคารห้องเรียนพิเศษ 1 หลัง จำนวน 4 ห้องเรียน และสร้างอาคารเกษตรแบบชั้นเดียวจำนวน 1 หลัง และในปี พ.ศ. 2557 – 2558 ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงกรองน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สร้างอาคารคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 หลัง สร้างบ้านพักของนักเรียนทุน AFS จำนวน 1 หลัง สร้างห้องน้ำครูหลังอาคาร 2 จำนวน 1 หลัง สร้างโรงจอดรถของคณะครูจำนวน 2 หลัง ต่อเติมโรงจอดรถของนักเรียน สร้างบ้านพักนักเรียนจำนวน 2 หลัง ปรับปรุงห้องเรียนอาคาร 4 โดยการปูกระเบื้อง และปรับปรุงอาคารเรียนอาคาร 2 โดยการเปลี่ยนหลังคาและทาสี

อ้างอิง[แก้]