แมนนี ปาเกียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แมนนี่ ปาเกียว)
แมนนี ปาเกียว
ชื่อจริงเอ็มมานูเอล ดาปิดราน ปาเกียว
ฉายาเดอะแพ็คแมน
(The Pac Man)
เดอะเดสทรอยเยอร์
(The Destroyer)
รุ่นไลท์ฟลายเวท
ฟลายเวท
ซูเปอร์ฟลายเวท
แบนตั้มเวท
ซูเปอร์แบนตั้มเวท
เฟเธอร์เวท
ซูเปอร์เฟเธอร์เวท
ไลท์เวท
เวลเตอร์เวท
ซูเปอร์ไลท์เวท
ซูเปอร์เวลเตอร์เวท
ส่วนสูง166 เซนติเมตร
เกิด17 ธันวาคม พ.ศ. 2521 (45 ปี)
จังหวัดบูคิดโนน
ชกทั้งหมด71
ชนะ62
ชนะน็อก39
แพ้7 (แพ้น็อก 3)
เสมอ2
ผู้จัดการไมเคิล คอนซ์
ค่ายมวยท็อปแรงก์โปรโมชัน
เทรนเนอร์เฟรดดี โรช
ปาเกียว กับ เฟรดดี โรช เทรนเนอร์

แมนนี ปาเกียว (อังกฤษ: Manny Pacquiao) นักมวยสากล, นักบาสเกตบอล และนักการเมืองชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของฉายา เดอะแพ็คแมน (The Pac Man) นับเป็นนักมวยสากลอาชีพที่ได้เป็นแชมป์โลก 8 รุ่น คนแรกของโลก (ในสถาบัน WBA, WBC,IBF,WBO และเดอะริง)​

ประวัติ[แก้]

แมนนี ปาเกียว เกิดวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ที่เมืองบูคิดโนน ประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อเต็มว่า เอ็มมานูเอล ดาปิดราน ปาเกียว (Emmanuel Dapidran Pacquiao) ในครอบครัวที่ยากจนมากที่เมืองบูคิดนอน ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ โดยเป็นลูกชายคนที่ 2 ในบรรดาลูก ๆ ทั้งหมด 4 คน ของ โรซาลิโอ และ ดิโอนิเซีย ปาเกียว ทั้งคู่แยกทางกันตั้งแต่ปาเกียวยังเล็ก ๆ ปาเกียวขึ้นชกมวยด้วยความยากจน ขึ้นชกมวยสากลอาชีพครั้งแรกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2538 ที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ได้ค่าตัวครั้งแรก 100 เปโซ โดยส่งเงินมาช่วยเหลือครอบครัวตลอด[1]

แมนนี ปาเกียว ถือเป็นนักมวยฟิลิปปินส์ที่ไม่เหมือนกับนักมวยฟิลิปปินส์รายอื่น ๆ ด้วยเป็นมวยทรหด หมัดหนักทั้งซ้ายและขวา จิตใจห้าวหาญไม่กลัวใคร และสภาพร่างกายแข็งแกร่ง โดยปาเกียวสามารถเอาชนะนักมวยไทยที่มีฝีมือเก่งกาจได้ถึง 2 คน คือ โชคชัย โชควิวัฒน์ และ ฉัตรชัย สาสะกุล โดยเฉพาะฉัตรชัย เป็นการเอาชนะน็อกไปโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนด้วย ในประเทศไทย และยังเป็นผู้แย่งตำแหน่งแชมป์โลก WBC ในรุ่นฟลายเวทไปจากฉัตรชัย ถือเป็นแชมป์โลกครั้งแรกของปาเกียว อย่างไรก็ตาม ปาเกียวก็เสียตำแหน่งแชมป์ดังกล่าวคืนให้กับนักมวยชาวไทย ด้วยการแพ้น็อก เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม ไปเพียงยกที่ 3 ซึ่งเป็นการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 2 ของปาเกียว โดยก่อนการชกปาเกียวมีปัญหาเรื่องการลดน้ำหนักตัวอย่างมาก จนทำให้ต้องเสียตำแหน่งไปเมื่อไม่สามารถทำน้ำหนักให้อยู่ในพิกัดได้[2] ซึ่งเม็ดเงินถือเป็นนักมวยเพียง 1 ใน 5 คนที่สามารถเอาชนะปาเกียวได้ และเป็นเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่สามารถน็อกปาเกียวลงได้

หลังจากนั้นปาเกียวก็ได้เดินทางไปชกมวยและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบัน แมนนี ปาเกียว กลายเป็นนักมวยระดับโลก และเป็นนักมวยชาวเอเชียรายแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 8 รุ่น นับว่าเป็นแชมป์โลกชาวเอเชียคนแรกที่ทำได้ถึงเช่นนี้ เพราะโดยปกติจะไม่มีโอกาสของนักมวยชาวเอเชียถึงเพียงนี้ อีกทั้งยังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นนักมวยที่ดีที่สุดในโลกปอนด์ต่อปอนด์ มักได้รับการติดต่อให้ไปชกที่สหรัฐอเมริกาบ่อย ๆ มีค่าตัวไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท เคยปะทะฝีมือกับยอดนักมวยระดับโลกมาแล้วหลายคน ซ้ำยังเอาชนะได้อีกต่างหาก เช่น มาร์โก อันโตนิโอ บาร์เรรา, เอริก โมราเลส, ฆวน มานูเอล มาร์เกซ, ออสการ์ เดอ ลา โฮยา, ริกกี แฮตตัน, อันโตนิโอ มาร์การิโต เป็นต้น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนักกีฬาชาวฟิลิปปินส์ที่ชาวโลกรู้จักดีที่สุด และเป็นหนึ่งในชาวฟิลิปปินส์ที่ชาวโลกรู้จักดีที่สุดเทียบเท่าประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย เลยทีเดียว นอกจากนี้ ปาเกียวยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชิญธงชาติฟิลิปปินส์ ในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แม้ว่าตัวปาเกียวเองจะไม่ได้ร่วมการแข่งขันด้วยก็ตาม

ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปาเกียวขึ้นชิงแชมป์โลก องค์กรมวยโลก (WBO) รุ่นเวลเตอร์เวท กับ มีเกล กอตโต​ นักมวยชาวปวยร์โตรีโก การชกเป็นไปอย่างดุเดือดโดย ปาเกียว สามารถส่ง กอตโต ลงไปนอนให้กรรมการนับ 8 ได้ในยกที่ 2 และ 3 และหลังจากนั้นปาเกียวก็เป็นไล่ชก กอตโต อยู่ฝ่ายเดียวจนกรรมการยุติการชกในยกที่ 12 ทำให้ ปาเกียวสามารถคว้าเข็มขัดแชมป์โลกเส้นที่ 7 มาครองได้สำเร็จ และนับเป็นนักมวยคนแรกของโลกที่ได้แชมป์โลกมากถึง 8 รุ่น และถือว่าเป็นนักมวยอันดับหนึ่งของโลกเมื่อเทียบกันแล้วปอนด์ต่อปอนด์ในยุคปัจจุบัน

ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปาเกียวขึ้นชกป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก WBO รุ่นเวลเตอร์เวทของ โดยพบกับ ฆวน มานูเอล มาร์เกซ นักมวยชาวเม็กซิกันที่เคยพบกันมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 3 ครั้ง แม้ปาเกียวจะเป็นฝ่ายที่เอาชนะไปได้ก่อนหน้าถึง 2 ครั้ง และเสมอหนึ่งครั้ง แต่ฝ่ายมาร์เกซอ้างว่าตนเองต่างหากที่สมควรเป็นผู้ชนะ สำหรับผลการชกในครั้งนี้ ปรากฏว่าปาเกียวเป็นฝ่ายเดินเข้าหามาร์เกซ แต่ถูกมาร์เกซดักสวนกลับไปได้หลายครั้ง จนหมด 12 ยก สภาพการณ์น่าจะเป็นมาร์เกซเป็นผู้ชนะคะแนน แต่เมื่อมีการประกาศคะแนนออกมาแล้ว ปรากฏว่ากรรมการทั้ง 3 ท่าน ให้มาร์เกซเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ คือ 114-114 ,115-113 และ 116-112 ค้านสายตาแฟนมวยในสนามและทั่วโลกที่นั่งชมการถ่ายทอดผ่านหน้าจอโทรทัศน์เป็นอย่างมาก[3]

ต่อมา ปาเกียวเป็นฝ่ายแพ้คะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ต่อ ทิโมธี แบรดลีย์ นักมวยผิวสีชาวอเมริกัน อดีตแชมป์โลก WBC รุ่นซูเปอร์ไลท์เวท ที่ทำน้ำหนักขึ้นมา และไม่เคยแพ้ใคร ด้วยคะแนน 113-115 ทั้ง 3 เสียง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555[4]

จากนั้น ในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน ปาเกียวเปิดโอกาสให้มาร์เกซชกล้างตาอีกรอบเป็นครั้งที่ 4 ปรากฏว่าปาเกียวเป็นฝ่ายโดนมาร์เกซที่อยู่ในวัย 39 ปีแล้ว ชกลงไปนับ 8 ก่อนในยกที่ 4 จากนั้นปาเกียวได้นับ 8 คืนมาในยกที่ 5 และสามารถเรียกเลือดจากดั้งจมูกของมาร์เกซได้ แต่ในปลายยกที่ 6 ปาเกียวขณะโถมตัวบุกเข้ามา โดนหมัดขวาสวนของมาร์เกซเข้าเต็มคาง หน้าคว่ำลงไปนอนกับพื้นเวทีอย่างหมดสภาพ กรรมการยุติการชกทันที ทำให้ปาเกียวเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปในยกนี้ ด้วยเวลา 02.59 นาที ทำให้มาร์เกซเอาชนะปาเกียวได้เป็นครั้งแรกในการชกของทั้งคู่ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยถือว่าเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดของมาร์เกซ ขณะที่ปาเกียวนับเป็นการแพ้ติดต่อกันถึง 2 ครั้ง[5]

ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557 ปาเกียวได้มีโอกาสพบกับแบรดลีย์อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ปาเกียวมีความมุ่งมั่นมากที่จะเอาชนะแบรดลีย์ให้ได้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ปาเกียวในขณะนี้ไม่ใช่ปาเกียวคนเดิมอีกแล้ว เพราะทั้งน้ำหนักหมัด และจังหวะความเร็วที่เคยเป็นจุดเด่น ก็ลดลงเป็นอย่างมาก ผลการชกปรากฏว่า ปาเกียวเป็นฝ่ายชนะคะแนนแบบเป็นเอกฉันท์ต่อแบรดลีย์ด้วยคะแนน 118-110, 116-112 และ 116-112 ทำให้ได้กลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง[6] [7]

ล่าสุด แมนนี ปาเกียว ได้เซ็นสัญญาชกกับ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ นักมวยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งสถิติการชกยังไม่เคยเสมอหรือแพ้ใคร เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทั้งคู่ได้รับการจับตาและคาดหมายว่าควรจะได้ชกเพื่อพิสูจน์ฝีมือกันมานานแล้ว โดยกำหนดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ที่เอ็มจีเอ็มการ์เดนอารีนา ในนครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าค่าตัวของทั้ง 2 น่าจะไม่น้อยกว่า 250 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8,000 ล้านบาท) สำหรับ เมย์เวทเทอร์ จูเนียร์ จะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 60 ขณะที่ ปาเกียว จะยอมรับส่วนแบ่งที่น้อยกว่า คือ ร้อยละ 40 รวมทั้งยังมีรายได้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นตามมาอีก เช่น ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดผ่านดาวเทียม [8]

ผลการชก ปรากฏว่า ปาเกียวเป็นฝ่ายเดินเข้าหาและออกหมัดเข้าใส่ ขณะที่เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เน้นการชกอยู่วงนอก และเต้นพลิ้วหลบหมัดของปาเกียวไปได้หลายครั้ง ในยกที่ 6 และ 8 ปาเกียวสามารถไล่เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เข้าไปที่มุมและรัดหมัดชุดใส่ได้ แต่ในยกต่อ ๆ มา เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ กลับมาชกในรูปแบบเดิม เมื่อครบ 12 ยก ปาเกียวเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอย่างเป็นเอกฉันท์ 118-110, 116-112 และ 116-112 [9] ซึ่งปาเกียวเชื่อว่า ตนน่าจะเป็นฝ่ายชนะมากกว่า [10] โดยหลังการชก ปาเกียวได้เปิดเผยว่า หัวไหล่ขวาของตนนั้นเกิดอาการกล้ามเนื้อฉีกขาดก่อนการชกราว 3 สัปดาห์ ทำให้ไม่สามารถออกหมัดขวาได้อย่างเต็มที่ และต้องเข้ารับการผ่าตัดหลังการชก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพักรักษาตัวนานร่วมปี [11]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ปาเกียวนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งเดิมเคยนับถือนิกายโรมันคาทอลิกมาก่อน[12] ชีวิตครอบครัว ปาเกียวสมรสกับจินกี้ จาโมร่า เมื่อปี พ.ศ. 2541 ขณะที่จินกี้อายุได้ 18 ปี ปาเกียวอายุ 19 ปี ปัจจุบันทั้งคู่มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน ปาเกียวเป็นนักมวยที่ไว้ผมยาวกว่านักมวยทั่วไป โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่าเนื่องจากชื่นชอบบรูซ ลี จึงไว้เลียนแบบ[1]

การเมือง[แก้]

ในปี พ.ศ. 2550 แมนนี ปาเกียวได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในระดับเทศบาลของกรุงมะนิลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งไปแบบขาดลอย[1]

ปาเกียวกับการเล่นบาสเกตบอล

ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2553 ปาเกียวได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดซารังกานี ในการเลือกตั้งทั่วไป และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ขาดลอยจากคู่แข่งเป็นอย่างมาก[13] ซึ่งปาเกียวมีความสนใจในการเมืองมานานแล้ว และยังเปรยหลายครั้งว่า หากได้เล่นการเมืองและได้รับเลือกตั้งอาจจะแขวนนวมเนื่องจากครอบครัวต้องการให้เลิกชกมวย[14]

บาสเกตบอล[แก้]

นอกจากนี้แล้ว แมนนี ปาเกียวยังชื่นชอบการเล่นบาสเกตบอลอีกด้วย โดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ฝึกสอนและผู้เล่นของทีมเกีย โซเรนตอส โดยปาเกียวได้ลงแข่งบาสเกตบอลอาชีพเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557 โดยสวมเสื้อหมายเลข 17 ได้ทำการลงแข่งเป็นเวลา 10 นาที กับทีม แบล็ควอเตอร์ อีลิท ในลีกบาสเกตบอลอาชีพของฟิลิปปินส์ ซึ่งปาเกียวทำคะแนนได้ 1 คะแนนอีกด้วย[15]

เกียรติประวัติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สารคดีพิเศษประวัติ แมนนี ปาเกียว ทางช่อง 7: วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
  2. "Manny Pacquiao vs Medgoen Singsurat". ยูทิวบ์. 26 May 2008. สืบค้นเมื่อ 23 November 2014.
  3. ค้านสายตา!มาร์เกซไล่ถลุงปาเกียว12ยกแต่แพ้คะแนน จากสนุกดอตคอม
  4. "แบร็ดลีย์" ทำช็อก!! แย่งเข็มขัดจาก "ปาเกียว"เก็บถาวร 2012-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
  5. Juan Manuel Marquez knocks out Manny Pacquiao in sixth round (อังกฤษ)
  6. ""ปาเกียว-แบร็ดลีย์" ภาค 2 / ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์". ผู้จัดการออนไลน์. 8 April 2014. สืบค้นเมื่อ 13 April 2014.[ลิงก์เสีย]
  7. "Presented by PlayStation... Manny Pacquiao wins by Unanimous Decision. Scores: 116-112 (x2), 118-110". Top Rank Boxing. 13 April 2014. สืบค้นเมื่อ 13 April 2014.
  8. "ดรีมไฟต์! 'ปาเกียว-ฟลอยด์' พร้อมชก 2 พ.ค. นี้". ไทยรัฐ. 2015-02-20. สืบค้นเมื่อ 2015-02-23.
  9. "อึ้งทั้งสังเวียน! 'ฟลอยด์' พลิ้ว ชกชนะคะแนน 'ปาเกียว' เอกฉันท์". ไทยรัฐ. 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2015-05-03.
  10. "ปาเกียวเซ็งเชื่อตัวเองน่าชนะมากกว่า". เดลินิวส์. 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2015-05-03.
  11. "ปาเกียว เผยไหล่ฉีกก่อน 'ซูเปอร์ไฟท์' 3 สัปดาห์". smmsport.com. 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2015-05-07.[ลิงก์เสีย]
  12. แม่ 'ปาเกียว' ชี้ลูกชายโดนน็อก เพราะเปลี่ยนนิกาย จากไทยรัฐ
  13. แมนนี ปาเกียว นักมวยชื่อดัง กลายเป็นส.ส.ตากาล็อก[ลิงก์เสีย]
  14. ช็อก!ปาเกียวอาจแขวนนวม เหตุแม่รบเร้าให้เลิกมานาน[ลิงก์เสีย]
  15. ""ปาเกียว"ทำ 1 แต้ม ประเดิมการเล่นบาสเกตบอลลีกอาชีพ". ไทยพีบีเอส. 8 October 2014. สืบค้นเมื่อ 23 November 2014.[ลิงก์เสีย]
  16. WBA designates Manny Pacquiao as Champion in Recess

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า แมนนี ปาเกียว ถัดไป
ฉัตรชัย อีลิทยิม แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBC
4 ธันวาคม 2541 – 17 กันยายน 2542

เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม
เลห์โลโฮโนโล เลดวาบา แชมป์โลกรุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท IBF
23 มิถุนายน 2544 – 26 กรกฎาคม 2546

อิสราเอล บัสเกซ
ฆวน มานูเอล มาร์เกซ แชมป์โลกรุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท WBC
15 มีนาคม 2551 – 16 กรกฎาคม 2551

อุมเบร์โต โซโต
เดวิด ดิแอซ แชมป์โลกรุ่นไลท์เวท WBC
28 มิถุนายน 2551 – 24 กุมภาพันธ์ 2552

เอ็ดวิน บาเลโร
ริคกี แฮตตัน แชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ไลท์เวท IBO
2 พฤษภาคม 2552 – 15 มกราคม 2553

คริส แวน เฮอร์เดน
มีเกล กอตโต แชมป์โลกรุ่นเวลเตอร์เวท WBO
14 พฤศจิกายน 2552 - 10 มิถุนายน 2555

ทิโมธี แบรดลีย์
เซร์ฆิโอ มาร์ติเนซ แชมป์โลกรุ่นซูเปอร์เวลเตอร์เวท WBC
13 พฤศจิกายน 2553 - 8 กุมภาพันธ์ 2554

ซาอุล อัลบาเรซ
ทิโมธี แบรดลีย์ แชมป์โลกรุ่นเวลเตอร์เวท WBO
13 เมษายน 2557 - 2 พฤษภาคม 2558

ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์