เหตุฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ
จุดทิ้งเศษกระดูกและขี้เถ้า (1) ,นักประดาน้ำกำลังจมหากระดูกของวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ (2) ,เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำสารภาพที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ (3)
แผนที่
วันที่4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ที่ตั้ง
ประเภทฆาตกรรม, การลักพาตัว, การเผานั่งยาง, การข่มขู่
เหตุจูงใจต้องการให้ยกฟ้องในคดีโอ้นหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง[1]
เป้าหมายพนิดา ศกุนตะประเสริฐ
ผู้เข้าร่วม
  • บรรยิน ตั้งภากรณ์
  • มานัส ทับนิล
  • ณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์
  • ชาติชาย เมณฑ์กูล
  • ประชาวิทย์ ศรีทองสุข
  • ธงชัย วจีสัจจะ
เสียชีวิตวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ อายุ 67 ปี
พิพากษาลงโทษ6
พิพากษาลงโทษบรรยิน:
ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ซ่อนเร้นทำลายศพ
มานัส:
สนับสนุนให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ณรงค์ศักดิ์:
ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ชาติชาย, ประชาวิทย์, ธงชัย:
ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โทษบรรยิน, ณรงค์ศักดิ์:
จำคุกตลอดชีวิต; เปลี่ยนเป็นโทษประหารชีวิต
มานัส:
จำคุก 33 ปี 4 เดือน; เปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต
ชาติชาย, ประชาวิทย์, ธงชัย:
จำคุกตลอดชีวิต

วีรชัย ศกุนตะประเสริฐ (พ.ศ. 2495/2496 - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) เป็นพี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ถูกชาย 5 คนลักพาตัวจากหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนถูกฆาตกรรมด้วยการต่อยที่ท้อง[2] แล้วนำศพไปเผานั่งยางที่เขาใบไม้[3] โดยผู้บงการการลักพาตัวเเละฆาตกรรมในคดีนี้คือบรรยิน ตั้งภากรณ์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ 2 สมัย[4]

ภูมิหลัง[แก้]

บรรยิน ตั้งภากรณ์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคนหลายคน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2534 นางสาวรสรินทร์ ศรีนุกูล ซึ่งตั้งครรภ์อ่อน ๆ ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อำเภอพยุหะคีรีหลังจากเดินทางกลับจากร้านอาหารครัวชัยนาท[5] บรรยินได้อ้างว่ารสรินทร์หักหลบรถสิบล้อ เเล้วรถไปชนต้นสะเดา ส่งผลให้รสรินทร์เสียชีวิต ญาติได้ตั้งข้อสงสัยว่ารสรินทร์ขับรถไม่เป็นและไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แต่ทำไมถึงเป็นคนขับรถ[6] แต่คดีดังกล่าวอัยการสั่งไม่ฟ้อง[7] ต่อมาบรรยินได้เเต่งงานกับวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ซึ่งครอบครัวประกอบอาชีพธุรกิจก่อสร้าง ต่อมาสราวุธซึ่งเป็นน้องชายของเธอถูกยิงเสียชีวิตในปี พ.ศ 2553 และบรรยินถูกสงสัยว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมคนมีชื่อเสียงหลายคนในจังหวัดนครสวรรค์[8] ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558 บรรยินได้ขับรถเล็กซัสไปรับชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด ไปตีกอล์ฟด้วยกัน ต่อมารถยนต์ของบรรยินชนกับต้นยูคาลิปตัสที่ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9[9] และชูวงษ์ถูกพบว่าเสียชีวิต ส่วนบรรยินไม่ได้รับบาดเจ็บ[10] บรรยินได้ให้การว่าขับรถด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอ้างว่าสาเหตุที่รถชนต้นไม้มาจากรถยนต์คันอื่นสวนมา[11] เเต่กองพิสูจน์หลักฐานพบว่าก่อนถึงที่เกิดเหตุ 900 เมตร ได้ขับด้วยความเร็ว 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งไม่เพียงพอให้ชูวงษ์เสียชีวิตได้[12][13] ต่อมาเจ้าหน้าที่กองปราบปรามได้รวมรวมหลักฐานเเละพบว่ากัญฐณา ศิวาธนพล, อุรชา วชิรกุลฑล, ศรีธรา พรหมา, และบรรยิน ตั้งภากรณ์ ได้ร่วมกันโอนหุ้น AECS ของชูวงษ์ ให้อุรชาซึ่งเป็นโบรกเกอร์ ก่อนจะขายหุ้นดังกล่าวเป็นมูลค่า 40 ล้านบาท[14] 2 สัปดาห์ต่อมา ทั้งสี่คนได้ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารการขยายหุ้น OSK เป็นมูลค่า 84 ล้านบาท[15] และพบหลักฐานเป็นหุ้นของชูวงษ์ที่ถูกขายเป็นเงินสดไปแล้ว 200 ล้านบาท กองปราบปรามได้เเจ้งข้อหาลักทรัพย์ ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมหรือรับของโจร กับกัญฐณา, อุรชา, ศรีธรา และบรรยิน[16] โดยคดีโอนหุ้นจะนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีพนิดา ศกุนตะประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นเจ้าของสำนวนคดี[17][18]

การก่อเหตุ[แก้]

ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2563 บรรยินได้สั่งมานัสกับณรงค์ศักดิ์ขับรถฟอร์ดเอเวอเรสต์ จากจังหวัดนครสวรรค์มายังกรุงเทพมหานคร เพื่อสะกดรอยพนิดา ศกุนตะประเสริฐ โดยสลับไปใช้ยานพาหนะต่าง ๆ จนทราบถึงกิจวัตรของวีรชัยเเละพนิดา โดยทราบว่าวีรชัยจะนั่งเเท็กซี่จากบ้านพักที่ถนนวรจักร มาส่งพนิดาที่หน้าศาลอาญากรุงเทพเทพใต้[19] และวีรชัยมารับพนิดากลับในช่วงเย็น ต่อมาบรรยิน มานัส เเละณรงค์ศักดิ์ ได้เตรียมรถโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์ และติดตั้งป้ายทะเบียนปลอม ณรงค์ศักดิ์ได้ซื้อน้ำมันเบนซิน 95 เเละเตรียมยางรถยนต์เเละเเผ่นสังกะสีไว้ที่เขาใบไม้ในอำเภอตาคลี[20][21]

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บรรยินได้ขับรถโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์ มายังด้านตรงข้ามของศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาเวลา 17.30 น. วีรชัยได้ลงจากเเท็กซี่ ก่อนที่ บรรยิน, ณรงศักดิ์ ชาติชาย และประชาวิทย์ บรรยินที่ใส่ชุดตำรวจพร้อมกับหมวกกันน็อกเเละหน้ากากอนามัย ได้ไปขอตรวจบัตรประชาชน หลังจากนั้นณรงศักดิ์ได้ล็อกตัววีรชัย ส่วนชาติชายได้ดันตัววีรชัยขึ้นไปบนรถยนต์โตโยต้าที่จอดอยู่ตรงข้ามศาลเเพ่งกรุงเทพใต้แล้วขับรถยนต์ไปที่ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษสุรวงศ์ แล้วมุ่งหน้าไปทางทางพิเศษประจิมรัถยา ก่อนจะมุ่งหน้าไปทางอำเภอบางบัวทอง ระหว่างนั้นกลุ่มคนร้ายได้นำเทปกาวมาปิดปากแล้วนำถุงผ้ามาคลุมที่ศีรษะ ต่อมาพนิดาได้โทรหาวีรชัย บรรยินได้รับสายเเละบอกว่าวีรชัยประสบอุบัติเหตุ หลังจากนั้นพนิดาไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ไม่พบตัวของวีรชัย จึงไปแจ้งตำรวจเเล้วโทรหาวีรชัยอีกครั้ง แต่บรรยินได้รับสายและข่มขู่ให้ยกฟ้องในคดีโอนหุ้นและให้คืนเงิน ต่อมาวีรชัยได้ขัดขืน ณรงค์ศักดิ์จึงต่อยวีรชัยเข้าที่สีข้าง แล้วขับรถไปตามเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 เพื่อไปยังจังหวัดนครสวรรค์ วีรชัยได้เสียชีวิตในระหว่างทาง[22] กลุ่มผู้ก่อเหตุจึงได้เปลี่ยนจากการข่มขู่ผู้พิพากษามาเป็นการอำพรางศพ ต่อมารถยนต์โตโยต้าได้ขับมาถึงสวนนกชัยนาท มานัสได้ขับรถฟอร์ดเอเวอเรสต์ มาเปลี่ยนคนจากรถโตโยต้า แล้วขับนำหน้าเพื่อดูการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมากลุ่มคนร้ายได้ขับรถมาถึงเขาใบไม้ ในอำเภอตาคลีซึ่งได้เตรียมอุปกรณ์ในการเผานั่งยาง[23][24]

หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายได้นำศพของวีรชัยมาเผานั่งยาง แล้วนำเศษเถ้ากระดูกขนาดเล็กและเเหวนของวีรชัยไปทิ้งที่พื้นที่รกร้างในบ้านวังตามา ตำบลนิคมเขาบ่อเเก้ว อำเภอพยุหะคีรี หลังจากนั้นได้นำเถ้ากระดูกที่เผาไม่หมดใส่ถุงปุ๋ย เเล้วนำไปทิ้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานตะเคียนเลื่อน ตำบลกลางแดด อำเภอเมืองนครสวรรค์[25] ส่วนอุปกรณ์ในการเผานั่งยางและทรัพย์สินของวีรชัย รวมถึงโทรศัพท์มือถือ ถูกทิ้งลงแม่น้ำปิงที่หน้าวัดไทรใต้ ในเขตเทศบาลนครสวรรค์[26][27][28]

การสืบสวนเเละการการจับกุม[แก้]

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หลังจากพนิดา ศกุนตะประเสริฐซึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้เเจ้งตำรวจว่าวีรชัยซึ่งเป็นพี่ชายของเธอถูกกลุ่มคนร้ายที่ไม่ทราบกลุ่มลักพาตัวแเละจะกักขังวีรชัยไว้จนกว่าพนิดาจะยกฟ้องในคดีโอนหุ้น แล้วต้องคืนหุ้นที่อายัดไว้ทั้งหมด[29] พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้สั่งการให้ พล.ต.ท. สุทิน ทรัพย์พ่วง, พล.ต.ต. จิรภพ ภูริเดช และ พล.ต.ต. สันติ ชัยนิรามัย ให้สืบสวนคดี กองปราบปรามได้สืบสวนจนทราบว่าบรรยิน มานัสเเละณรงค์ศักดิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของวีรชัย ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ของกองปราบปรามได้รวมรวมหลักฐานเป็นพยานหลักฐาน, ข้อมูลกล้องวงจรปิดของศาล, ข้อมูลการใช้รถ และข้อมูลของการใช้โทรศัพท์ ก่อนจะรวบรวมหลักฐานเเละออกหมายจับบรรยิน มานัสเเละณรงค์ศักดิ์[30]

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เมื่อเวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่กองปราบปรามเเละหนุมานกองปราบได้เปิดปฎิบัติการตรวจค้น 21 จุด ตรวจค้นในจังหวัดนครสวรรค์ 19 จุด เเละกรุงเทพมหานคร 2 จุด ต่อมาในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ของกองปราบปรามได้ตรวจค้นบ้านของบรรยินในตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมืองนครสวรรค์[31] เมื่อเวลา 06.00 น. บรรยินและลูกน้อง 2 คนได้ถูกกองปราบปรามควบคุมตัวที่จังหวัดนครสวรรค์[32] เมื่อเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่กองปราบปรามได้นำหลักฐานที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุประกอบด้วยรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าสีดำเเดง รองเท้า หมวกกันน็อกสีเทา 2 ใบ และเสื้อผ้า[33] ต่อมาเวลา 15.00 น. ตำรวจกองปราบปรามเเละหนุมานกองปราบได้นำตัวบรรยินมายังกองปราบปราม บรรยินได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้าที่ยิ้มเเย้มว่า "ยังงง ๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะถูกคุมตัวตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 23 ก.พ. และมั่นใจว่าตัวเองบริสุทธิ์[34] เพราะไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้และจนถึงขณะนี้ยังติดต่อทนายความไม่ได้"[35][36] หลังจากที่เจ้าหน้าที่กองปราบปรามได้เเจ้งข้อหากับบรรยินก่อนจะนำตัวเข้าห้องควบคุมตัว[37] บรรยินได้ตอบคำถามกับสื่อมวลชนว่า"ผมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาครับ"[38][39][40][41][42]

สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวว่าแรงจูงใจในคดีนี้มาจากคดีการเสียชีวิตของชูวงศ์ เเซ่ตั้งและคดีโอนหุ้นชูวงศ์[43][44] ก่อนการลักพาตัววีรชัย 1 ชั่วโมงได้มีกล้องวงจรปิดจับภาพคนร้ายอย่างน้อย 3 คนมาดักรอที่หน้าศาล[45][46] และการจับตัวประกันเพื่อต่อรองเป็นเหตุร้ายเเรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในศาลยุติธรรมมาก่อน[47]

การจับกุมบรรยินเกิดจากมีผู้ร่วมก่อเหตุคนหนึ่งได้รับสารภาพว่าได้ก่อเหตุฆาตกรรมอำพรางวีรชัยเเล้วนำศพไปทิ้งลงเเม่น้ำในจังหวัดนครสวรรค์ โดยบรรยินมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย[48][49]

การสืบสวน[แก้]

ต่อมา มานัสกับณรงค์ศักดิ์ ได้รับสารภาพที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เเละพบไปชี้จุดที่ก่อเหตุฆาตกรรม เผานั่งยางและทิ้งชิ้นส่วนร่างกายลงเเม่น้ำ ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมธงชัย, ประชาวิทย์และชาติชายที่จังหวัดนครสวรรค์[50][51] จากการสอบสวนมานัส มานัสได้สารภาพว่าเขาเป็นคนจัดหาคนมาก่อเหตุเเละมีหน้าที่ในการขับรถรับ-ส่งผู้ก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุลักพาตัวประกอบด้วยธงชัย, ประชาวิทย์, ชาติชายและณรงค์ศักดิ์[52][53] ในช่วงบ่ายอาสาสมัครนักประดาน้ำกู้ภัยตาคลี ได้งมพบโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องพร้อมกับซิมการ์ด ที่เเม่น้ำปิง หน้าวัดไทรใต้ โดยห่างจากตลิ่ง 5 - 10 เมตร โดยหนึ่งใดผู้ก่อเหตุได้รับสารภาพว่านำโทรศัพท์มือถือทิ้งลงบริเวณนี้[54] ในเวลา 16.00 น. หนุมานกองปราบได้คุมควบตัวประชาวิทย์, ชาติชายและธงชัย ไปยังกองปราบปราม ผ่านทางประตูหนีไฟ โดยณรงค์ศักดิ์, ชาติชายและประชาวิทย์ได้รับสารภาพในชั้นสอบสวน ส่วนบรรยิน, มานัสและธงชัยได้ปฎิเสธในการก่อคดี ต่อมาเวลา 20.30 น. เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เดินทางไปยังพื้นที่รกร้าง ที่บ้านวังตามา ตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว อำเภอพยุหะคีรี หลังจากที่หนึ่งในผู้ก่อเหตุได้รับสารภาพว่านำร่างของวีรชัยไปเผานั่งยางที่บริเวณพื้นที่รกร้างของบ้านวังตามา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบเศษกระดูก,เศษยางรถยนต์ที่เผาไม่หมดและเเหวนของวีรชัย[55][56]

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผลตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ พบว่าคราบเลือดบนโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์เป็นของวีรชัย[57] ส่วนแหวนรูปเต่าและหัวเข็มขัดที่พบในพื้นที่รกร้างในบ้านวังตามาเป็นของวีรชัย[58]เมื่อเวลา 05.30 น. เจ้าหน้าที่กองปราบปรามเเละหนุมานกองปราบได้ควบคุมตัวณรงค์ศักดิ์, ชาติชายและประชาวิทย์ไปแผนแผนประกอบคำสารภาพ 2 จุดได้เเก่บ้านของบรรยินที่ซอยรัชดา 33 แขวงจตุจักร ซึ่งใช้ในการวางแผน และริมถนนใต้ต้นโพธิ์ตรงข้ามศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แขวงยานนาวา ซึ่งเป็นจุดลักพาตัว[59] ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน นักประดาน้ำที่เเม่น้ำปิง บริเวณหน้าวัดไทรใต้ ได้งมพบโทรศัพท์มือถือเอไอเอส ลาวาสีดำ[60] ต่อมาเวลา 13.00 น. นักประดาน้ำได้งมที่ตอม่อสะพานตะเคียนเลื่อน ตำบลกลางเเดด และพบกระดูก 7 ชิ้น โดย 2 ชิ้นเป็นกระดูกของมนุษย์ โดยกระดูกชิ้นที่ 7 ไม่ใช่กระดูกมนุษย์[61] ในเวลา 22.00 น. เจ้าหน้าที่ได้พบโทรศัพท์มือถือ ซัมซุง ฮีโร่ 1 เครื่องเเละซิมโทรศัพท์ โดยเป็นโทรศัพท์มือถือที่ผู้ก่อเหตุใช้ประสานงานในการก่อเหตุ[62]

รถฟอร์ดเอเวอร์เรส สีดำของบรรยิน ซึ่งใช้ในคดีฆาตกรรมวีรชัย

เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังบรรยินและผู้ร่วมก่อเหตุ 5 คน เป็นเวลา 12 วัน โดยได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีนี้มีโทษสูงและผู้ก่อเหตุมีอิทธิพลซึ่งอาจไปข่มขู่พยาน[63] ต่อมาเวลา 16.30 น. กรมราชฑัณฑ์ได้นำตัวบรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วม 5 คนจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[64] ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้รับตัวบรรยินเเละผู้ร่วมก่อเหตุ 5 คน เข้าสู่เรือนจำ โดยได้ปฎิบัติตามขั้นตอนของการรับตัวผู้ต้องขัง[65] ซึ่งจะเเยกผู้ก่อเหตุไปคุมขังอยู่คนละเเดนและดูเเลด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด[66] ซึ่งบรรยินทึ่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน โดยบรรยินนำยามารับประทานเอง ถ้ายาหมด แพทย์ของโรงพยาบาลกรมราชฑัณฑ์จะนำยามาให้[67][68]และศาลได้ปฎิเสธการประกันตัวผู้ก่อเหตุทั้งหมด[69] ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดเผยหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิดที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในช่วงเวลา 10.26 น. ได้เเสดงถึงรถยนต์โตโยต้าวีโก้ สีขาวของธงชัยจอดอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ผู้โดยสารในรถโตโยต้าวีโก้ประกอบด้วยชาติชาย ธงชัยและประชาวิทย์[70] ต่อมา 10.29 น. รถฟอร์ดเอเวอร์เรส สีดำของบรรยิน มานัสเป็นคนขับ บรรยินนั่งที่ด้านหน้าเเละณรงศักดิ์นั่งที่ด้านหลัง หลังจากรถฟอร์ดของบรรยินได้เข้ามาใกล้รถของธงชัย ธงชัยได้นั่งหลังรถ ณรงศักดิ์ได้พาตัวประชาวิทย์กับชาติชายไปนั่งหลังรถ ชาติชายกับประชาวิทย์เป็นลูกน้องของธงชัย[71] และธงชัยได้ลงจากรถมาไหว้บรรยินแล้วพูดคุยกันเล็กน้อย ก่อนจะขับรถออกไปตอน 10.30 น.[72] และกองปราบปรามได้นำหมายค้นฟาร์มไก่ของธงชัยที่บ้านดอนวัด อำเภอเมืองนครวรรค์ โดยพบรถกระบะโตโยต้าวีโก้สีขาวและพบรถจักรยานยนต์ฮอนด้าเวฟสีเเดงถูกบรรทุกที่ท้ายรถกระบะ เจ้าหน้าที่กองปราบปรามจึงยึดไปตรวจสอบ โดยสายชล เข็มทองซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านดอนวัด ได้ปรากฏตัวว่าเป็นเจ้าของรถกระบะและมีหน้าที่ในการดูเเลฟาร์มไก่ของธงชัย โดยสายชลได้ระบุว่ารถกระบะเป็นของสายชลซึ่งธงชัยยืมมาใช้ถูกยืมมาเป็นเวลานานเเล้ว ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นของธงชัย โดยใช้ในการเดินทางในฟาร์มไก่ โดยสายชลได้กล่าวเสริมว่าในฐานะที่เขาสนิทสนมเเละอยู่กับธงชัยเป็นเวลานานกับธงชัย หรือที่เรียกติดปากว่าดาบอ็อด โดยสายชลได้กล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าธงชัยอยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุ และไม่เชื่อว่าประชาวิทย์เเละชาติชาย ซึ่งเป็นลูกน้องของธงชัย มีส่วนร่วมในการก่อเหตุ เพราะทั้งสองเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งไม่น่าจะมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมเหมือนที่มีการนำเสนอข่าว[73]

รถกระบะโตโยต้าวีโก้ ที่คล้ายกับรถของธงชัย
วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
วงจรปิดชัด! รถ "พ.ต.ท.บรรยิน" พบทีมอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา, วิดีโอยูทูบ

ในวันเดียวกัน พล.ต.ต. จิรภพ ภูริเดช ได้เปิดเผยว่า สื่อบางสื่อนำเสนอว่าธงชัยได้อยู่ที่หน้าศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ บริเวณซอยเจริญกรุง 63 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พล.ต.ต. จิรภพได้ยืนยันว่าธงชัยไม่อยู่ที่หน้าศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ในวันเเละเวลาดังกล่าว เพราะธงชัยอยู่ที่งานศพที่จังหวัดนครสวรรค์[74] แต่ยืนยันได้ว่าบรรยินอยู่ในที่เกิดเหตุ พล.ต.ต. จิรภพ ได้ยืนยันในความผิดของธงชัยแต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของคดี[75][76] เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดสืบพยานล่วงหน้า โดยได้นำพยานมาเบิกความ 4 ปาก โดยประกอบด้วย บุคคลที่ณรงค์ศักดิ์สั่งให้ไปซื้อน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 20 ลิตร ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยเขาได้เบิกความว่า เขาไม่ทราบว่าณรงค์ศักดิ์ให้ซื้อน้ำมันไปเพื่อะไร โดยที่ผ่านมาเขาถูกณรงค์ศักดิ์ให้ไปซื้อน้ำมันหลายครั้ง เเต่ครั้งนี้เป็นครั้งเเรกที่ณรงค์ศักดิ์ให้ไปซื้อน้ำมันมากขนาดนี้ ส่วนพยานอีกคนได้เบิกความว่าเมื่อวันที่ 5 มกราคม วราภรณ์ ตั้งภากรณ์ซึ่งเป็นภรรยาของบรรยินได้ใช้ให้ไปซื้อซิมการ์ด 1 อัน แต่เขาไม่ทราบว่า ให้มาซื้อไปทำอะไร และเขายอมรับว่าเขารู้จักณรงค์ศักดิ์ และเขาเคยเห็นณรงค์ศักดิ์มาที่บ้านของบรรยินหลายครั้ง[77][78]

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ผลตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ของกะโหลกศีรษะและชิ้นส่วนกระดูกที่พบในพื้นที่รกร้างของบ้านวังตามา[79] เป็นของวีรชัย[80]

ในวันที่ 2 มีนาคม เมื่อเวลา 10.00 น. กองปราบปรามได้เปิดเผยว่าจะเรียกตัวพยานวึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของบรรยินและพยานคนสำคัญมาให้การ ประมาณ 20 ปาก เพื่อให้สำนวนคดีมีความเเน่นหนาเเละรัดกุมมากขึ้น โดยได้ทำหนังสือออกหมายเรียก ร.อ.จักรวาล ตั้งภากรณ์ มาเข้าพบที่กองปราบปราม ในวันที่ 4 มีนาคม ในช่วงเลา 10.00 - 11.00 นาฬิกา เพื่อชี้เเจ้งถึงที่มาของรถโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์ที่ถูกใช้ในการลักพาตัว เนื่องจากการสืบสวนพบว่าจักรวาลเป็นคนไปยืมรถจาก พ.ต.ท.ประเสริฐ ผลประสาร เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ และพนักงานสอบสวนได้เตรียมออกหมายเรียกให้วราภรณ์ ตั้งภากรณ์ซึ่งเป็นภรรยาของบรรยิน มาให้การในสัปดาห์หน้า เนื่องจากเคยสอบปากคำวราภรณ์ไปแล้วเมื่อบรรยินถูกจับกุม เเต่วราภรณ์ให้การสับสน จึงต้องเชิญมาให้การอีกครั้งเพื่อความชัดเจนและสืบสวนว่าวราภรณ์มีส่วนร่วมกับการก่อคดีนี้หรือไม่ เนื่องจากวราภรณ์เป็นคนให้คนงานในบ้านไปซื้อซิมการ์ดที่ถูกใช้ในการก่อเหตุ ,ชื่อผู้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ซึ่งถูกใช้ในการก่อเหตุ เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดบีดับบลิวบี เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นของวราภรณ์ และที่ดินที่พบชิ้นส่วนของวีรชัยเป็นของวราภรณ์[81] โดยในวันเดียวกันนักประดาน้ำได้งมพบกับกระดูกไหปลาร้า,กระดูกแขนท่อนบน และข้อต่อของกระดูกสันหลังของวีรชัยที่แม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลกลางแดด อำเภอเมืองนครสวรรค์[82]

ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการกองปราบปรามได้เปิดเผยถึงการหยุดงมหาชิ้นส่วนของวีรชัยว่า ในขณะนี้ชิ้นส่วนกระดูกที่นักประดาน้ำงมรวมกับชิ้นส่วนกระดูกที่พบจากจุดที่เผานั่งยางที่พบ โดยผลการตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการเป็นของวีรชัย จากการนำดีเอ็นเอไปเปรียบเทียบกับพี่ชายของวีรชัยพบว่าดีเอ็นเอจีบคู่ใกล้เคียงกว่าพนิดาซึ่งเป็นผู้หญิง โดยากการตรวจสอบพบว่าดีเอ็นเอตรงกับวีรชัย จึงยืนยันได้ว่ากระดูกที่พบเป็นของวีรชัย ซึ่งสำหรับเศษกระดูกที่พบนั้นสามารถระบุได้ว่าวีรชัยได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นถึงนักประดาน้ำจะหยุดงมก็ไม่เป็นไร[83]

ในวันที่ 5 มีนาคม เมื่อเวลา 10.00 น. ร.อ.จักรวาล ตั้งภากรณ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของบรรยินได้เข้ามาให้ปากคำที่กองปราบปราม หลังจากที่เขาเลื่อนการเดินทางมาให้ปากคำเมื่อวานเนื่องจากติดธุระ โดยก่อนจักรวาลจะเข้าให้ปากคำ เขาได้กล่าวว่าการเข้าพบตำรวจครั้งนี้ไม่รู้สึกหนักใจอะไร โดยเชื่อว่าสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น และยอมรับว่ารถโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์เป็นรถที่จักรวาลเคยนำไปใช้งานจริง โดยรถคันนี้เป็นของตำรวจนายในจังหวัดพิจิตรซึ่งรู้จักเป็นการส่วนตัว โดยถูกนำไปใช้ในการหาเสียงลงสมัครเลือกตั้งเมื่อหลายปีก่อน หากบรรยินนำรถไปใช้งานจริง ก็น่าจะไปยืมมาจากทีมหาเสียงของจักรวาล แต่ยืนยันว่าไม่ทราบว่ารถถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุเเละไม่ได้มีส่วนข้องกับการก่อเหตุ ต่อมาเวลา 12.00 น. หลังจากการให้ปากคำเสร็จสิ้นจักรวาลได้เปิดเผยว่า เขายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อคดี ส่วนรถถูกยืมมาตั้งเเต่ปีพ.ศ. 2561 เพื่อใช้ในการหาเสียงของเขาเเละลูกชายของบรรยิน โดยได้มีการใช้รถหมุนเวียนเพื่อใช้หาเสียง เเต่เมื่อเสร็จสิ้นการหาเสียง เขาไม่ทราบว่าทีมงานนำรถไปให้ใครใช้บ้าง[84]

ในวันที่ 10 มีนาคม เมื่อเวลา 13.30 น. วราภรณ์ ตั้งภากรณ์ได้เดินทางมายังกองปราบปรามตามวันที่นัดให้ปากคำ โดยวราภรณ์ได้กล่าวกับสื่อมวลชนก่อนให้ปากคำว่า"วันนี้มาตามนัดหมาย ตนเตรียมเอกสารต่างๆมาชี้แจงเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น" หลังจากให้ปากคำในเวลา 17.00 น.วราภรณ์ได้เปิดเผยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของเธอ แต่ไม่ทราบที่ดินถูกใช้ในการเผาทำลายศพของวีรชัย โดยขอยืนยันในความบริสุทธิ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[85]โดยจากการสอบปากคำพบว่าวราภรณ์ได้รับสารภาพว่าให้คนงานไปซื้อซิมการ์ดโดยอ้างว่าต้องการนำมาใช้ในสำนักงานเนื่องจากค่ายของโทรศัพท์จัดโปรโมชั่นประหยัดค่าโทรศัพท์ แต่ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นมีใครนำเบอร์ไปใช้บ้าง ส่วนเรื่องที่ดินวราภรณ์ให้การว่าเป็นที่ดินที่ซื้อต่อมา โดยเคยไปยังพื้นที่ดังกล่าว 1 ครั้งเและจำไม่ได้ว่าเเปลงไหนอยู่บริเวณใดบ้าง และไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุใช้ที่ดินในการเผานั่งยางศพของวีรชัยเนื่องไม่ทราบว่ามีการก่อเหตุ โดยพนักงานสอบสวนยังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของวราภรณ์ทั้งหมดและจะนำไปพิจารณาควบคู่กับหลักฐานอื่นๆ เพื่อหาข้อเท็จจริง[86]

ผู้ก่อเหตุ[แก้]

  • พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 57 ปี ขณะก่อเหตุ ภูมิลำเนาจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ 2 สมัย[87]
  • มานัส ทับนิล อายุ 67 ปีขณะก่อเหตุ ภูมิลำเนาจังหวัดนครสวรรค์[88]
  • ณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ อายุ 48 ปีขณะก่อเหตุ ภูมิลำเนาจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเคยติดคุกและเพิ่งพ้นโทษเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเขามีลูก 1 คน
  • ประชาวิทย์ หรือ ตูน ศรีทองสุข อายุ 33 ปีขณะก่อเหตุ ภูมิลำเนาจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเป็นลูกน้องคนสนิทของธงชัย โดยเขามักจะเป็นคนขับรถให้กับธงชัย ซึ่งธงชัยมักจะจ้างเขามาช่วยงานในช่วงที่มีการจัดการเเข่งขันชนไก่เเละงานต่างๆของหมู่บ้าน[89]
  • ชาติชาย เมณฑ์กูล อายุ 31 ปีขณะก่อเหตุ ภูมิลำเนาจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเป็นลูกน้องคนสนิทของธงชัย ซึ่งธงชัยมักจะจ้างเขามาช่วยงานในช่วงที่มีการจัดการเเข่งขันชนไก่เเละงานต่างๆของหมู่บ้าน[90]
  • ดาบตำรวจธงชัย วจีสัจจะ หรือ ส.จ.อ็อด อายุ 63 ปีขณะก่อเหตุ ภูมิลำเนาจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์และเป็นเจ้าของฟาร์มไก่ โดยเขาสนิทกับบรรยินตั้งเเต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมาบรรยินลาออกจากการเป็นตำรวจเเล้วเข้าสู่การเมือง ธงชัยก็ลาออกจากการเป็นตำรวจแล้วเข้าสู่การเมือง โดยเขาได้ช่วยเหลือบรรยินในงานต่างๆ[91][92][93]

แผนการแหกคุก[แก้]

แผนการแหกคุกของบรรยิน ตั้งภากรณ์ โดยบรรยินได้วางแผนให้นักโทษอีกคนลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อแลกกับการให้บรรยินออกไปจากเรือนจำ แต่แผนดังกล่าวเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สืบทราบได้ก่อน[94][95][96] โดยก่อนแผนการเเหกคุกบรรยินได้ขอให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพย้ายไปเเดนที่มีความสะดวกสะบายเเละสิทธิพิเศษต่างๆ แต่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพปฎิเสธเนื่องจากผิดระเบียบและกฏของกรมราชฑัณฑ์[97] บรรยินจึงข่มขู่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพให้ปล่อยตัวบรรยิน มิฉะนั้นจะลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[98]

แผนการแหกคุกของบรรยิน ตั้งภากรณ์
ที่ตั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เหตุจูงใจต้องการได้รับการปล่อยตัว
ผู้เข้าร่วมบรรยิน ตั้งภากรณ์, สุธน ทองศิริ ,ณัฐพล นรการ
ผลแผนการล้มเหลวเนื่องจากกรมราชทัณฑ์สืบทราบได้ก่อน
พิพากษาลงโทษบรรยิน ตั้งภากรณ์
ข้อหากระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาลหลุดพ้นจากการคุมขังโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
โทษจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท

การสืบสวน[แก้]

ในช่วงต้นของเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนของกองปราบปรามได้จับกุมสุธน ทองศิริ หรือ โจ อายุ 42 ปี ที่บ้านพักในซอยลาดพร้าว 130 เขตบางกะปิ โดยสุธนมีหมายจับในคดีลักทรัพย์[99] โดยสุธนเพิ่งถูกประกันตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยสุธนได้ให้การว่า เขาได้รับการประกันตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพจากความช่วยเหลือของทนายความของบรรยิน โดยมีข้อเเลกเปลี่ยนกับการทำงานสำคัญ 2 เรื่อง[100] โดยเรื่องที่ 1 คือ หาวิธีชิงตัวบรรยินจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรื่องที่ 2 คือ หากเรื่องที่ 1 ล้มเหลวให้ลักพาตัวภรรยาผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ต่อรองกับผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อให้ช่วยในการหลบหนีจากเรือนจำ โดยสุธนยังได้รับเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับพ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นลูกน้องเก่าของบรรยิน โดยให้ติดต่อนำตัวมาร่วมวางแผน แต่นุกูลไม่ร่วมวางแผนด้วย[101] ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบว่ามีผู้ร่วมก่อเหตุอีกคนเป็นอดีตนักโทษที่ชื่อว่าณัฐพล นรการ หรือ ท็อป อายุ 30 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ โดยณัฐพลเป็นคนจังหวัดนครสวรรค์ โดยระหว่างที่ณัฐพลถูกคุมขัง ณัฐพลได้สนิทกับบรรยิน ต่อมาณัฐพลได้รับการประกันตัวโดยญาติของเขา ณัฐพลก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจับกุมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยณัฐพลได้รับคำสั่งให้ช่วยเหลือบรรยิน[102] ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการกองปราบปรามได้เปิดเผยว่าจากการสืบสวนของกองปราบปรามพบว่ามีหลักฐานชัดเจนในเรื่องแผนของการชิงตัวบรรยินโดยการวางระเบิดข้างเรือนจำ โดยมีทั้งพยานหลักฐานและเอกสารที่จะใช้ในการดำเนินคดี โดยในขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานก่อนจะเเจ้งข้อหาบรรยิน โดยจะไม่ให้น้ำหนักคำให้การของณัฐพลเนื่องจากการสอบสวนอย่างละเอียดเเล้วพบว่าเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีมูลความจริง[103] หลังจากที่เจ้าหน้าที่เรือนจำทราบแผนการเเหกคุกจึงย้ายตัวบรรยินจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมายังเรือนจำกลางบางขวาง[104][105]

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการกองปราบปรามได้กล่าวถึงความคืบหน้าคดีว่า ในขณะนี้ได้สอบพยานไปแล้วหลายปากและจะดำเนินคดีกับบรรยินเท่านั้น ถึงยังไม่กระทำความผิด แต่เป็นการจ้างวานที่สำเร็จไปแล้ว จึงมีโทษ 1/3 ของทั้งหมด[106] ส่วนณัฐพลเเละสุธนยังไม่ได้ก่อเหตุถึงแม้จะถูกว่าจ้างมา ดังนั้นจึงไม่เเจ้งข้อหากับสุธนและณัฐพล[107] โดยพนักงานสอบสวนของกองปราบปรามได้นัดหมากรณ์ กันเที่ยงซึ่งเป็นทนายความที่ประกันตัวสุธน[108] และพ.ต.ท. นุกูลให้มาให้ปากคำ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2563 ส่วนวรภัทร ตั้งภากรณ์ ลูกชายของบรรยินให้มาให้ปากคำวันที่1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[109][110]

ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 กรณ์ กันเที่ยงได้เข้าพบพนักงานสอบสวนโดยกรณ์ได้ยอมรับว่าได้รับจ้างจากญาติของสุธนเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท เนื่องจากญาติของสุธนไม่สามารถเข้าเยี่ยมและประกันตัวได้และเนื่องจากการระบาดของโรคโควิค-19 ทำให้สุธนไม่มีงาน[111] และกรณ์ได้ปฎิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการเเหกคุกหรือชิงตัวของบรรยิน[112] ส่วนพ.ต.ท.นุกูล แสงศิริได้เข้าพบพนักงานสอบสวนและยืนยันว่าได้ได้รับการติดต่อจากสุธนให้มาช่วยวางแผนแหกคุก แต่ปฎิเสธไป[113]

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 วรภัทร์ ตั้งภากรณ์ ลูกชายของบรรยินได้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนของกองปราบปราม โดยได้กล่าวก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนว่าไม่รู้เห็นกับแผนการชิงตัวและไม่รู้จักกับสุธนซึ่งเป็นอดีตนักโทษของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยจากการสืบสวนพบว่าโดยวรภัทร์เป็นเพื่อนกับณัฐพล นรการ[114]

ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดเผยความคืบหน้าว่า วราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ได้โอนเงินจำนวน35,000 บาท[115] ให้กับกรณ์ เมื่อเวลาเช้าของวันที่สุธนถูกประกันตัว และถอนเงินจำนวน27,000 บาท จากบัญชีของกรณ์ ซึ่งวราภรณ์ไม่เคยทำธุรกรรมทางการเงินกับกรณ์ ซึ่งจากการสอบปากคำวราภรณ์กับกรณ์ ทั้งสองได้ให้การปฎิเสธ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น[116][117]

แผนการ[แก้]

จากคำให้การของณัฐพลเขาได้ให้การว่า จะมีคนนำระเบิดมาวางที่ข้างเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างสถานการณ์ หลังจากนั้นเเรงระเบิดจะล้มเสาธงที่สนามหญ้าของเรือนจำแล้วบรรยินจะปีนเสาธงแล้วถูกเฮลิคอปเตอร์รับตัวไป[118] ซึ่งจากการสอบสวนของกองปราบปรามพบว่าเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีมูลความจริง[119]ส่วนแผนการจากคำให้การของสุธน เขาได้ให้การว่า ให้หาคนช่วยเหลือในการพาบรรยินเเหกคุก หรือ ชิงตัวบรรยินบนทางด่วนระหว่างถูกควบคุมตัวไปขึ้นศาล[120] แต่หากแผนการไม่สำเร็จ ให้ลักพาตัวภรรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในจังหวัดลำปางเพื่อต่อรองให้ปล่อยตัวบรรยินออกจากเรือนจำ โดยกองปราบปรามได้ยืนยันถึงหลักฐานในแผนตามคำให้การของสุธน[121][122]

ปฎิกิริยา[แก้]

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงเเผนการแหกคุกของบรรยินว่า เคยเห็นแต่ในภาพยนตร์ในNetflixและคิดว่าหากทำได้ก็แสดงว่ากรมราชทัณฑ์บกพร่องแต่มาตรการรักษาความปลอดภัย โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะทำได้อยู่แล้วส่วนเรื่องจริงจะเป็นเช่นไรก็ให้ไปสอบสวน ทั้งนี้ได้ย้ำกับกรมราชทัณฑ์ไปแล้วว่าให้ดูแลสอดส่องพฤติกรรมของผู้ต้องขังให้ดี แต่ขออย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ทุกวันเพราะคนทำก็ทำไม่ทัน ซึ่งหากผลสอบสวนออกมาเป็นเช่นไรผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนแหกคุกก็จะต้องถูกลงโทษ[123][124]

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการเเหกคุกของบรรยินว่า ไม่ทราบเรื่องเพราะกระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้รายงาน หลังจากที่นักข่าวถามว่าถ้าเกิดการเเหกคุกขึ้นจริงถือว่าน่ากังวลหรือไม่ วิษณุจึงตอบว่า"แล้วคุณกังวลมั้ย คุณจะให้ผมสนุกหรือไง ทำอย่างกับในหนัง"[125]

การพยายามฆ่าตัวตายของบรรยิน[แก้]

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2563 เวลา 18.00 น. บรรยินได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยการเเขวนคอขณะถูกคุมขังเดี่ยวในเรือนจำกลางบางขวาง แต่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางบางขวางสามารถช่วยชีวิตบรรยินไว้ได้[126] โดยสาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตายมาจากการถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมายังเรือนจำกลางบางขวางเนื่องจากแผนการพยายามเเหกคุก[127]

การพิจารณาคดีและคำตัดสิน[แก้]

ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาบรรยินในความผิดฐานกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาลหลุดพ้นจากการคุมขังโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยจากการไต่สวนเเละพิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่าย พบว่าบรรยินมีความผิดจริง ศาลจึงพิพากษาจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท[128]

การพิจารณาคดี[แก้]

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดชได้เเถลงสรุปสำนวนการสอบสวนก่อนจะส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อฟ้องคดีกับบรรยินและผู้ก่อเหตุร่วม 5 คน โดยได้กล่าวว่าสำนวนคดีเสร็จสมบูรณ์เเล้ว ซึ่งสอบปากคำพยานไป 111 คน ผู้ต้องหา 6 คน โดยสำนวนคดีมีทั้งหมด 11 แฟ้ม 4,259 หน้า โดยจะส่งสำนวนคดีให้กับอัยการในวันนี้ ซึ่งจะเเจ้งข้อหาร่วมกันข่มขืนใจและพยายามข่มขืนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นปฏิบัติการตามหน้าที่,ซ่องโจร,ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดความผิด,ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ,ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่จนถึงแก่ความตาย,ซ่อนเร้นทำลายศพและร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ โดยบรรยินถูกเเจ้งข้อหาสวมเครื่องเเบบของเจ้าพนักงานหรือประดับของเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิเพิ่มเติม[129] พล.ต.ต.จิรภพได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในขณะนี้ยังไม่พบว่าวราภร ตั้งภากรณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ โดยเป็นเจ้าของที่ดินที่กลุ่มผู้ก่อเหตุนำศพของวีรชัยไปเผานั่งยางในที่ดินของเธอ ส่วนจักรวาล พี่ชายของบรรยิน ซึ่งเป็นผู้ให้ยืมรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์ ไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากเป็นการยืมโดยบริสุทธิ์ใจเเละจักรวาลไม่ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวจะถูกใช้ก่อเหตุ[130][131][132] ในวันที่ 18 พฤษภาคม เจษฎา อรุณชัยภิรมย์ซึ่งเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนของกองปราบปราม[133] โดยหลังจากการพิจารณาสำนวนการสอบสวนคณะทำงานจะเสนอความคิดเห็นไปยังเจษฎา อรุณชัยภิรมย์ซึ่งเป็นอธิบดีอัยการคดีปราบปรามการทุจริต และสิริญา อินทามระซึ่งเป็นรองอธิบดีอัยการคดีปราบปรามการทุจริตให้สั่งฟ้องบรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วม 5 คน โดยพนักงานสอบสวนได้มีความคิดเห็นควรไม่สั่งฟ้องชายไทยนิรนามซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนที่ 7 เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าชายไทยนิรนามคนนั้นไปร่วมก่อเหตุกับบรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วม 5 คน โดยอัยการได้มีความคิดเห็นตามพนักงานสอบสวนให้ไม่สั่งฟ้องชายไทยนิรนาม ในวันเดียวกัน พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลนัดสอบปากคำบรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วม 5 คน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่บรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วม 5 คนถูกคุมขังอยู่เนื่องจากการระบาดของโรคโควิค-19[134]

ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้สอบคำให้การบรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วม 5 คน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังจากที่ศาลได้อ่านคำฟ้องและอธิบายคำฟ้องโดยณรงค์ศักดิ์รับสารภาพทุกข้อหา ส่วนผู้ก่อเหตุคนอื่นๆแถลงให้การปฎิเสธ โดยศาลได้นัดตรวจสอบพยานหลักฐาน ในวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 13.30 น. โดยให้บรรยิน และทนายความของบรรยินกับมานัสมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 10.00 น.[135] ส่วนมานัสเเละผู้ก่อเหตุคนอื่นๆพร้อมกับทนายความให้เดินทางมาตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานกับเจ้าพนักงานคดีในวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 10.00 น.และเวลา 13.30 น. จะนัดตรวจสอบพยานหลักฐาน[136]

ในวันที่ 22 มิถุนายน 08.00 น. บรรยินได้ถูกเบิกตัวจากเรือนจำกลางบางขวางมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตามวันที่นัดตรวจสอบพยาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับอาวุธคุ้มกันรถเรือนจำเพื่อป้องกันคนมาชิงตัว[137] บรรยินได้เเถลงการ์ณต่อศาลในเรื่องขอแถลงคัดค้านพยานโจทย์และขยายเวลาส่งบัญชีพยานเนื่องจากไม่มีเวลาตรวจสอบสำนวนฟ้องของโจทย์ และขอเพิ่มเวลาในการนัดตรวจสอบพยานหลักฐานจาก30 วัน เป็น60 วัน และกล่าวปฎิเสธการลักพาตัวเเละฆาตกรรมวีรชัยโดยอ้างว่าถูกกลั่นเเกล้งใส่ความเเละในวันที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้น[138] โดยบรรยินยังได้ขอพบกับภรรยาเเละลูก เนื่องจากลูกชายของเขากำลังศึกษาในด้านของทนายความ เเต่ศาลปฎิเสธคำขอโดยให้เหตุผลว่าข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์ที่อนุญาตให้ถ่ายทอดการพิจารณาคดีกับบุคคลภายนอกที่ห้องอื่น แต่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในห้องพิจารณคดี[139] เนื่องจากต้องดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด[140] เมื่อเวลา 12.20 น. บรรยินได้ชู 3 นิ้ว ให้กับสื่อมวลชน[141] ขณะบรรยินถูกควบคุมตัวขึ้นรถของเรือนจำเพื่อกลับไปยังเรือนจำกลางบางขวาง[142][143]

ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดสืบพยาน โดยบรรยินได้ถอนคำให้การที่ปฎิเสธทุกข้อหาเป็นรับสารภาพ โดยรับสารภาพว่าเป็นคนลักพาตัวเเละสังหารวีรชัยและเเต่งชุดตำรวจไปขอตรวจประชาชนวีรชัยที่หน้าศาลเเพ่งกรุงเทพใต้เเล้วลักพาตัว[144] ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานอีกครั้งในเดือนตุลาคม[145]

คำตัดสิน[แก้]

ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ได้เบิกตัวบรรยินจากเรือนจำกลางบางขวาง และผู้ก่อเหตร่วม 5 คนจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมายังศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลางเพื่อฟังคำพิพาษาคดีฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ[146] โดยบรรยินในชั้นสอบสวนบรรยินได้ให้การปฎิเสธ แต่รับสารภาพในชั้นศาล โดยศาลได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตบรรยิน แต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ศาลได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตมานัสในความผิดฐานสนับสนุนให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงพิพากษาจำคุกจำคุก 33 ปี 4 เดือน ส่วนชาติชาย, ประชาวิทย์, ธงชัย และณรงค์ศักดิ์ ศาลได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตแต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต[147][148] แต่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ไม่เห็นพ้องกับการลดโทษของศาลชั้นต้น จึงพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตมานัสและธงชัย และเเก้โทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิตกับบรรยินเเละณรงค์ศักดิ์ เนื่องจากณรงค์ศักดิ์รับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานจึงไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ[149] ส่วนบรรยินศาลได้ให้เหตุผลว่าเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี และมีทนายความที่ช่วยแก้ต่างให้ ย่อมทราบถึงขั้นตอนและวิธีพิจารณาความว่ายังสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาคําพิพากษา แต่บรรยินเเละผู้ก่อเหตุร่วมได้ใช้ใช้วิธีที่ผิดกฎหมายเพื่อบังคับและข่มขู่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และการก่อเหตุในที่สาธารณะโดยไม่ยําเกรงต่อกฎหมาย จึงถือว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทําผิดลักษณะนี้อีก ดังนั้นจึงไม่สมควรลดโทษบรรยิน[150][151]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. แบบอย่างงานสืบสวน
  2. เผย “พี่ชายผู้พิพากษา” ถูกต่อยท้องดับคารถ ก่อนเผาอำพรางโยนทิ้งแม่น้ำ
  3. ย้อนรอยคดี"บรรยิน" อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  4. หลักฐาน ป.มัดแน่น "บรรยิน" รับ "อุ้มฆ่า" พี่ชายผู้พิพากษา
  5. อดีตสารวัตรบรรยิน
  6. มันก็ไม่แปลก???..."ผัว-เมีย"ก็ต้องทำแบบนี้ด้วยกันอยู่แล้ว พบอีกหลักฐานมัด "บรรยิน-อุรชา"!!!
  7. หลักฐานมัด'บรรยิน'สัมพันธ์'อุรชา' ป.รื้อคดีอดีตเมียดับปริศนาเป็นแนวทาง
  8. เปิดประวัติ “บรรยิน” คนใกล้ชิดรอบตัวล้วนตายปริศนา
  9. เรียกสอบ จับพิรุธ 'อุรชา' ถึงบรรยิน
  10. ยื่นประกันชั้นศาล ‘บรรยิน’ วาง5ล้าน-พ้นคุก!
  11. ลูก'เสี่ยชูวงษ์'นักธุรกิจหมื่นล. ร้อง'ประยุทธ์'สางปมดับบิดา
  12. ป.เดินหน้า สางปมดับเสี่ยจืด
  13. ย้อนรอย 1 ปี คดีหุ้นมรณะ"ชูวงษ์"
  14. โบรกเกอร์สาว พร้อมภรรยา 'บรรยิน' เข้าให้ปากคำคดีโอนหุ้น 'เสี่ยชูวงษ์'
  15. ก.ล.ต.ลงดาบ 'บล.เออีซี-ผู้บริหาร' กรณีเสี่ยชูวงษ์
  16. ศาลสั่งอายัดทรัพย์พริตตี้สาว ชี้คดีโอนหุ้น ‘เสี่ยชูวงษ์’ มีพิรุธเพียบ
  17. ส่องตำรวจ : คดีนี้...หนักกว่าคดีเก่าเยอะ
  18. ไต่สวนพยานล่วงหน้าคดีฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เบิกตัวบรรยินและพวกเข้าฟังด้วย[ลิงก์เสีย]
  19. พลิกรับสารภาพ! อดีตส.ส. 'บรรยิน' สั่งอุ้มฆ่าโหด ต่อรองคดีหุ้นชูวงษ์-อ้างขาดสติ
  20. ผ่าคดี “พ.ต.ท.บรรยิน” จากหุ้น “เสี่ยชูวงษ์” ถึงอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา ทีม “บิ๊กแป๊ะ” จับยกแก๊ง
  21. 'บรรยิน' สารภาพกลางศาลฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เล่าแผนสุดเลือดเย็น
  22. 3 ผู้ต้องหาอุ้มพี่ผู้พิพากษาพลั้งมือทุบตายกลางทาง พบจุดเผา 2 ที่ ใช้ฆ่าและตบตาตำรวจ (คลิป)
  23. สมุนโหดซัดทอดบรรยิน ลงมือเอง จับฆ่าเผานั่งยาง
  24. แจ้ง 6 ข้อหาหนัก’บรรยิน’-พวก ฝากขังศาลพรุ่งนี้ มั่นใจหลักฐานมัดแม้นไม่พบศพ’พี่ชาย’ท่านเปา
  25. ชัด! แก๊งโหด เผานั่งยางพี่ชายผู้พิพากษา คุม 3 คนทำแผน "จุดอุ้ม"
  26. ผ่าคดี “พ.ต.ท.บรรยิน” จากหุ้น “เสี่ยชูวงษ์” ถึงอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา ทีม “บิ๊กแป๊ะ” จับยกแก๊ง
  27. เปิดพฤติการณ์ ‘บรรยิน-พวก’ ปฏิบัติการอุ้มฆ่าเผา นั่งยางอำพรางศพ พี่ชายผู้พิพากษา
  28. เจอแล้ว จุดเผานั่งยาง พบซากกระดูก-แหวน รวบเพิ่มอีก 3 แก๊ง "บรรยิน"
  29. หลักฐานวงจรปิด มัดแน่น บรรยิน อุกอาจ บุกอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา หน้าศาล ซ้ำโทรขู่ ให้ยกฟ้อง
  30. ป.รวบ พตท.บรรยินกับพวก อุ้มฆ่าเผา พี่ชายผู้พิพากษาฯ
  31. ด่วน ! กองปราบจู่โจมค้นบ้านบรรยิน
  32. เลขที่ 1 วิภาวดีฯ : อุ้มต่อรองคดี
  33. "บิ๊กแป๊ะ"บินด่วนตาคลี ตรวจหลักฐานสำคัญคดีพี่ชายผู้พิพากษา
  34. หิ้ว"บรรยิน"ถึง"กองปราบฯ"เจ้าตัวยัง"งง"ลั่นมั่นใจบริสุทธิ์
  35. คุมตัว พ.ต.ท.บรรยิน มาสอบปากคำ พร้อมคำพูดสุดมั่นใจ
  36. เผยคำพูดแรก "บรรยิน" หลังกองปราบบุกรวบ โยงคดีฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  37. กองปราบสอบ "บรรยิน" 2 ชม. ปฏิเสธไม่รู้เรื่อง ภาพวงจรปิดหลักฐานหน้าศาล
  38. จับ "บรรยิน-พวก" พันฆ่าอำพรางพี่ชายผู้พิพากษา
  39. 'บรรยิน' ยืนยันบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาฯ
  40. ป.รวบ พตท.บรรยินกับพวก อุ้มฆ่าเผา พี่ชายผู้พิพากษาฯ
  41. "บรรยิน" ตั้งป้อมสู้ เมียมาเยี่ยมวันที่ 2-ผบก.ป.ชี้ไม่มีศพ แต่มีกระดูก
  42. ผบ.ตร.นำทีมรวบ "บรรยิน" พัวพันอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา
  43. หลักฐานวงจรปิด มัดแน่น บรรยิน อุกอาจ บุกอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา หน้าศาล ซ้ำโทรขู่ ให้ยกฟ้อง
  44. "เลขาศาลยุติธรรม" ยันกรณีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาเป็นเหตุร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  45. ศาลส่งภาพวงจรปิด อุ้มพี่ชายผู้พิพากษาให้ ตร.
  46. เลขาฯศาล ยันเหตุอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาร้ายแรง กระทบอิสระในการพิจารณาคดี
  47. “โฆษกศาล”แจงเหตุอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา ต่อรองล้มคดี
  48. จับ "บรรยิน-พวก" พันฆ่าอำพรางพี่ชายผู้พิพากษา
  49. กองปราบ บุกรวบ ‘บรรยิน’ และพวก พัวพันคดีฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาใน จ.นครสวรรค์
  50. แฉขบวนการอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา รวบได้หมด 6 คน แยกสอบเครียด
  51. จับเพิ่มอีก 3 ผู้ต้องหาอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  52. ตำรวจตามจับเครือข่าย ‘บรรยิน’ เพิ่มอีก3 คน
  53. คุมทีม อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ชี้จุด หลังสารภาพ เตรียมฝากขัง บรรยิน กับพวก 6คน
  54. ประดาน้ำนครสวรรค์ เจอมือถือพี่ชายผู้พิพากษา ที่แก๊งอุ้มโยนทิ้งน้ำแล้ว
  55. เจอแล้ว จุดเผานั่งยาง พบซากกระดูก-แหวน รวบเพิ่มอีก 3 แก๊ง "บรรยิน"
  56. ชัด! แก๊งโหด เผานั่งยางพี่ชายผู้พิพากษา คุม 3 คนทำแผน "จุดอุ้ม"
  57. พบหลักฐานสำคัญในรถ เชื่อเป็นคันที่ใช้ อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ยัดถุงทิ้งเจ้าพระยา
  58. คราบเลือดบน’สปอร์ตไรเดอร์’ รถของกลาง ยันเป็นของพี่ชาย’ผู้พิพากษา’
  59. ชัด! แก๊งโหด เผานั่งยางพี่ชายผู้พิพากษา คุม 3 คนทำแผน "จุดอุ้ม"
  60. หลักฐานเศษกระดูกมัด "บรรยิน" ฆ่าเผานั่งยาง
  61. เจอกระดูก 7 ชิ้น ส่งพิสูจน์ ใช่ชิ้นส่วนศพพี่ชายผู้พิพากษาหรือไม่
  62. พบเครื่อง 2 มือถือ "แก๊งบรรยิน" โทรขู่ผู้พิพากษา โยนทิ้งน้ำปิง
  63. “บรรยิน” คอตกส่งเข้าเรือนจำ ศาลไม่ให้ประกันตัว
  64. ศาลไม่ให้ประกัน บรรยิน-พวก' เข้าเรือนจำชั้นฝากขัง
  65. คดีอุกฉกรรจ์ ส่งตัว "บรรยิน" เข้าแดนความมั่นคง
  66. ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับฝากขัง 'บรรยิน-พวก' อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  67. สืบพยาน 4 ปาก มัดแก๊งฆ่าเผาทมิฬ
  68. ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเผย “บรรยิน” ป่วยเบาหวาน จับแยกขังกับลูกน้อง
  69. ศาลไม่ให้ประกัน "บรรยิน-พวก" คดีอุ้มพี่ผู้พิพากษา พบดักเฝ้าเหยื่อก่อนก่อเหตุ
  70. เปิดอกพ่อ “ตูน” แก๊งบรรยินไม่ประกันลูก ถ้าผิดจริง ส่วนเพื่อนชี้ “กลัวผี” ไม่ฆ่าพี่ผู้พิพากษา (คลิป)
  71. เปิดวงจรปิดมัดชัด 'บรรยิน' รวมตัวทีมอุ้มฆ่า
  72. ไม่ผิดตัว นาทีต่อนาที วงจรปิดมัด"บรรยิน"รวมตัวทีมอุ้ม
  73. ค้นฟาร์มไก่”สจ.อ๊อด”หาหลักฐานอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา
  74. ญาติ สจ.อ๊อด แฉยับ คนปริศนาหลอกใช้ไปฆ่าพี่ผู้พิพากษา งัดภาพอยู่วัดไม่ฆ่าคน (คลิป)
  75. ผู้การกองปราบยันหลักฐานเอาผิด ‘ส.จ.อ๊อด’ แน่นหนา ถึงไม่อยู่วันอุ้มฆ่าพี่ ‘ผู้พิพากษา’
  76. ศาลสืบพยาน พ.ต.ท.บรรยิน อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  77. สืบพยาน 4 ปาก มัดแก๊งฆ่าเผาทมิฬ
  78. ศาลสืบพยาน พ.ต.ท.บรรยิน อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  79. เผยผลดีเอ็นเอ 'กะโหลกศีรษะ-คราบเลือด' เป็นของพี่ชายผู้พิพากษา
  80. ดีเอ็นเอกะโหลก-คราบเลือดมัดแก๊งฆ่าเผาทมิฬ บรรยิน อ่วมจ่อโดนอีก 7 ข้อหา
  81. หมายเรียกเรืออากาศเอก พี่ชาย “บรรยิน” ปมยืมรถใช้อุ้มพี่ชายผู้พิพากษา
  82. งมพบกระดูกอีก 3 ชิ้น 4 มีนาคม เค้นปากพี่ชายบรรยิน-ปมยืมรถ (คลิป)
  83. เรืออากาศเอกจักรวาล พี่ชาย “บรรยิน” เลื่อนพบกองปราบ อ้างไม่สะดวก
  84. เรืออากาศเอกจักรวาล พี่ชาย “บรรยิน” พบกองปราบ ให้ข้อมูลสำคัญ ปมยืมรถ
  85. ยังไม่แจ้งข้อหา เมีย "บรรยิน" รับเป็นเจ้าของไร่ ไม่รู้ผัวใช้เผานั่งยาง
  86. สอบ “เมียบรรยิน” อ้างซิมที่ซื้อเอาไว้ไม่รู้ผัวไปใช้อุ้มฆ่า
  87. ผบ.ตร.นำทีมรวบ "บรรยิน" พัวพันอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา
  88. “บรรยิน” กลับคำรับสารภาพอุ้มฆ่า "พี่ชายผู้พิพากษา"
  89. เปิดอกพ่อ “ตูน” แก๊งบรรยินไม่ประกันลูก ถ้าผิดจริง ส่วนเพื่อนชี้ “กลัวผี” ไม่ฆ่าพี่ผู้พิพากษา (คลิป)
  90. “เปรี้ยว” แก๊งอุ้มพี่ผู้พิพากษา โวยถูกซ้อมให้รับสารภาพ ป้ายันหลานใจเสาะ สัตว์ยังไม่ฆ่า (คลิป)
  91. ค้นฟาร์มไก่”สจ.อ๊อด”หาหลักฐานอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา
  92. ญาติ สจ.อ๊อด แฉยับ คนปริศนาหลอกใช้ไปฆ่าพี่ผู้พิพากษา งัดภาพอยู่วัดไม่ฆ่าคน (คลิป)
  93. จนท.เซ่นไหว้ขอพระแม่คงคาเปิดทางหาหลักฐานพี่ชายผู้พิพากษาถูกชำแหละทิ้งเจ้าพระยา
  94. แฉแผนลับ แหกคุกช่วย บรรยิน ระเบิดเรือนจำ จับเมียผบ.ต่อรอง
  95. 'บรรยิน' สารภาพกลางศาลฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เล่าแผนสุดเลือดเย็น
  96. หน่วยหนุมาน คุม "บรรยิน" มาศาลฯ คดีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา
  97. บางขวางขังเดี่ยวบรรยิน ใช้'ชุดหนุมาน'คุมไปศาล
  98. 'บรรยิน' ผูกคอหวังฆ่าตัวตายในคุก จนท.ช่วยทัน
  99. หลายหมื่นหนีอาญา! เบื้องหลังไล่ล่า “บรรยิน” จัดฉาก อุ้มฆ่า ทลายแผนแหกคุก
  100. "บิ๊กแป๊ะ"ชมกองปราบทำคดีไม่ซี้ซั้วเชื่อ"บรรยิน"วางแผนแหกคุกจริง
  101. หยุดแผนแหกคุก
  102. “ฮอลลีวู้ด” ชิดซ้าย “สตอลโลน” ชิดขวา “บรรยิน”กับ แผนแหกคุก สุดเว่อร์วัง ?
  103. อ้างโดนปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ ลิ้นบรรยิน ปัดแผนแหกคุก (คลิป)
  104. สรุปในโพสต์เดียว “บรรยิน” วางแผนแหกคุก
  105. หยุดแผนแหกคุก
  106. เรียกพยาน 3 ปากสอบคดี "บรรยิน" วางแผนแหกคุก
  107. ขยายผลแผน “บรรยิน” แหกคุก พบตัวละครเพิ่ม เตรียมประเคน 4 ข้อหาถึงในเรือนจำ
  108. สอบพยานเพิ่ม 5 ปาก หาหลักฐานมัดขบวนการวางแผนชิงตัว "พ.ต.ท.บรรยิน"
  109. กองปราบเตรียมเรียกอดีตส.ส.-ทนายสอบ จับ "บรรยิน" วางแผนแหกคุก
  110. เตรียมออกหมายเรียกสอบ อดีต ส.ส.นุกูล-สนิทบรรยิน (คลิป)
  111. ทนาย "บรรยิน" เข้าให้ปากคำ ยืนยันไม่รู้แผนแหกคุก
  112. ทนายกรณ์ปัดเกี่ยวข้องแผนชิงตัว ยันไม่รู้จัก "บรรยิน-นุกูล"
  113. ยืนยันไม่เกี่ยว
  114. ลูกชาย "บรรยิน" ให้ปากคำ ยืนยันไม่เกี่ยวข้องแผนชิงตัว
  115. แฉ! พบพิรุธ ‘เมียบรรยิน’ โอนเงินให้ทนายประกันตัว ‘โจ’ คนสนิทบรรยิน ออกจากคุก
  116. ตำรวจพบเส้นทางเงินภรรยา "บรรยิน" โอนให้ทนายประกันตัวโจ
  117. เมียบรรยินพบกองปราบ แจงปมเอี่ยวแผนแหกคุก หลังพบโอนเงินประกันตัวลูกสมุน
  118. "บิ๊กแป๊ะ"ชมกองปราบทำคดีไม่ซี้ซั้วเชื่อ"บรรยิน"วางแผนแหกคุกจริง
  119. "บรรยิน" เครียดฆ่าตัวในเรือนจำปมแผนแตกแหกคุก
  120. แฉแผนลับ แหกคุกช่วย บรรยิน ระเบิดเรือนจำ จับเมียผบ.ต่อรอง
  121. อ้างโดนปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ ลิ้นบรรยิน ปัดแผนแหกคุก (คลิป)
  122. สรุปในโพสต์เดียว “บรรยิน” วางแผนแหกคุก
  123. นายกฯ เชื่อแผนแหกคุก "พ.ต.ท.บรรยิน" เป็นไปไม่ได้ สั่งราชทัณฑ์คุมเข้มสอดส่องนักโทษทุกคน
  124. นายกฯ เผยถึงแผนแหกคุก "บรรยิน" ถามกลับ "ดูหนังมากไปหรือเปล่า"
  125. อ้างโดนปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ ลิ้นบรรยิน ปัดแผนแหกคุก (คลิป)
  126. 'บรรยิน' ผูกคอหวังฆ่าตัวตายในคุก จนท.ช่วยทัน
  127. "บรรยิน" เครียดฆ่าตัวในเรือนจำปมแผนแตกแหกคุก
  128. คุกอีก 3 ปี บรรยิน สั่งคนช่วยพาแหกคุกหนี-จับเมีย ผบ.เรือนจำต่อรอง แต่แผนล่ม
  129. ส่งฟ้อง 'บรรยิน-6ราย' 9 ข้อหา อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาขู่ล้มคดี
  130. ส่งสํานวนฟ้องบรรยิน-สมุน เล่นหนัก-อุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา
  131. สรุปสำนวน
  132. "บรรยิน"ไม่รอดอัยการสั่งฟ้องอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาเจอ 10 ข้อหาหนัก
  133. นัดตรวจพยานหลักฐาน "บรรยิน" คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  134. ฟ้องบรรยินคดีอุ้ม ฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  135. เผย 10 ข้อหาฉกรรจ์ บรรยิน ขึ้นศาลอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษา ส่ง "หนุมาน" คุมเข้ม
  136. ศาลสอบปากคำจำเลย อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา “บรรยิน” ยืนกรานปฏิเสธ
  137. ตรึงกำลังเข้มคุม “บรรยิน” ขึ้นศาลฯ คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  138. นัดตรวจพยานหลักฐาน "บรรยิน" คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  139. 'บรรยิน' ปฏิเสธคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ศาลนัดตรวจหลักฐาน 22 มิ.ย.นี้
  140. นัดตรวจพยานหลักฐาน "บรรยิน" คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  141. “บรรยิน”ชู 3 นิ้วระหว่างกลับเรือนจำบางขวาง
  142. "บรรยิน" ชู3นิ้ว ลั่นกลางศาล ไม่มีแผนแหกคุก
  143. ราชทัณฑ์จัดกำลังคุมเข้ม "บรรยิน" ขึ้นศาลพรุ่งนี้
  144. “บรรยิน” กลับคำรับสารภาพอุ้มฆ่า "พี่ชายผู้พิพากษา"
  145. “บรรยิน” กลับคำรับสารภาพ แต่งชุดตำรวจอุ้มฆ่าเผาพี่ชายผู้พิพากษาจริง
  146. ศาลนัดชี้ชะตา "บรรยิน" พร้อมพวก ก่อคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  147. คุกบรรยิน - 4 สมุน ตลอดชีวิต ลดโทษประหารคดีดังอุ้มฆ่าเผาพี่ชายผู้พิพากษา
  148. ศาลสั่งประหาร "บรรยิน" คดีอุ้มฆ่าฯ สารภาพเหลือโทษ "คุกตลอดชีวิต"
  149. ศาลอุทธรณ์แก้โทษ “บรรยิน” เป็นประหารชีวิต คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  150. ศาลฯแก้โทษให้ประหารชีวิต 'บรรยิน' กับมืออุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
  151. ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องบางมาตรา บรรยิน กับพวก อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา